fbpx
อัฟกานิสถาน: ควันสงครามไม่เคยหายไป

อัฟกานิสถาน: ควันสงครามไม่เคยหายไป

อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม[1] เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ภาพทรงจำอันเลือนลาง

 

หากพูดถึงอัฟกานิสถาน หลายคนอาจจะมีองค์ความรู้น้อยมากเกี่ยวกับประเทศนี้ หากจะรู้จักอะไรสักอย่างเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน ก็คงเป็นเรื่อง ‘แผ่นดินแห่งสงครามและการนองเลือด’  หรือ ‘แหล่งกบดานของผู้ก่อการร้ายอย่างอุซามะ บินลาเด็น’ รวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายชื่อก้องโลกที่ทุกคนรู้จักในนาม ‘ฏอลิบัน’

หากจะเรียกว่า นี่เป็นภาพทรงจำเกี่ยวกับอัฟกานิสถานของคนส่วนใหญ่ ก็คงไม่ผิดนัก

แต่ความจริงแล้ว เมืองในหุบเขาอย่างอัฟกานิสถานถือเป็นพื้นที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของโลก เพราะเป็นอู่อารยธรรมที่ทิ้งร่องรอยของวัฒนธรรมเอเชียใต้และอาณาจักเปอร์เซียในอดีต รวมทั้งเป็นพื้นที่รอยต่อของ ‘ภูมิภาคเอเชียใต้-เอเชียกลาง’ อย่างที่รับรู้ในปัจจุบัน

อัฟกานิสถานเคยถูกปกครองโดยราชวงศ์โมกุลและเป็น ‘เส้นทางสายไหม’ อีกทั้ง ‘มหานครคาบูล’ ก็มีภาพประทับแห่งการต่อสู้หลังสงครามอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังมีเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ ตั้งแต่หน้าตาของผู้คน การแต่งกาย และหมวกอัฟกัน ซึ่งถือเป็นจุดขายของคนในประเทศนี้

ปกติผมเป็นหนึ่งในคนที่ชอบสวมหมวกอัฟกัน (มีหลายแบบ แต่รูปทรงคล้ายกัน) ซึ่งมีให้เห็นมากมายในประเทศเรา สาเหตุที่หมวกนี้โด่งดังก็เพราะสวมใส่ง่ายและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวมุสลิมอัฟกัน หมวกอัฟกันถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากอากาศหนาว หมวกจึงทำจากขนแกะและพับซ้อนกัน 2-3 ชั้น และสาเหตุที่ชาวไทยมุสลิมสวมใส่อาจจะเป็นเพราะการสำนึกในชาติพันธุ์ที่มีรกรากมาจากอัฟกานิสถานหรือปากีสถาน ซึ่งทั้งสองมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน บางครั้งชาวไทยเชื้อสายปาทานหรือผู้เคยมีพื้นเพจากพื้นที่แห่งนี้เรียกตัวเองว่า ‘กาโบ’ ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่มาจาก ‘กรุงคาบูลของอัฟกานิสถาน’ นั่นเอง

 

ที่มา: https://www.alhannah.com

 

ที่มา: https://seengar.com/

 

ภาพของผู้เขียน (ซึ่งเป็นหมวกอีกแบบ มีสายตระกูลเดียวกันจากอัฟกานิสถาน)

 

สมัยเรียน ณ ประเทศอินเดีย ผมมีเพื่อนชาวอัฟกานิสถานหลายคน ซึ่งส่วนมากจะได้ทุนการศึกษาจากรัฐบาลอินเดีย พวกเขาเป็นคนมีอัธยาศัยค่อนข้างดี การแต่งกายและหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งผสมความเป็นเอเชียกลางไว้บ้างในรูปร่างและโครงหน้า ชาวอัฟกันมีความอดทน ขยันและจริงใจ เพราะพวกเขามาจากสมรภูมิสงครามและมีความลำบากค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียใต้ โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานในปี 2018 และ 2019 อยู่อยู่ที่ร้อยละ 1.0 และ 2.3 ตามลำดับ

สำหรับภาพทรงจำรวมๆ สำหรับคนนอกอย่างผมและผู้อ่านนั้น อัฟกานิสถานค่อนข้างเป็นหนึ่งในแผ่นดินปิดและผู้คนทั่วไปมักขาดข้อมูลข่าวสารพอสมควรเมื่อเทียบกับอินเดีย ปากีสถานและประเทศอื่นๆ ในเอเชียใต้

 

อัฟกานิสถานในความเป็นจริง

 

อัฟกานิสถานเป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อมต่อทวีปยุโรป พื้นที่เอเชียใต้และเอเชียกลาง ซึ่งมีอาณาเขตติดกับประเทศต่าง ๆ เช่น ทางตะวันออกติดกับปากีสถาน ตะวันออกเฉียงเหนือติดกับอินเดียและจีน ส่วนภาคเหนือติดกับทาจิกิสถาน อุซเบกิสถานและเติร์กมิสถาน ส่วนทางตะวันตกติดกับอิหร่าน ด้วยเหตุนี้อัฟกานิสถานจึงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น ซึ่งจะเห็นได้จากชาติพันธุ์ปัชโตถือว่ามีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ประมาณร้อยละ 42 ส่วนทาจิกประมาณร้อยละ 27 และอื่น ๆ เช่น ฮาซารา อุซเบก

ภาษาราชการที่ใช้ในอัฟกานิสถานเป็นภาษาของชาวเปอร์เซียชื่อว่า ดารี (Dari) เป็นหลัก ซึ่งภาษาดารีมีความใกล้เคียงกับภาษาฟาร์ซีของชาวอิหร่านและประชาชนในอัฟนิสถานหลายชาติพันธ์ุก็สามารถใช้ภาษาดารีในการสื่อสารได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งบางส่วนของชาวปัชตุนก็ยังคล่องแคล่วกับการใช้ภาษาดารีเช่นเดียวกัน ส่วนชาวปัชตุนที่เหลือก็ใช้ภาษาของตนที่เรียกว่า ปัชโต (Pashto) เป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ทั้งดารีและปัชโต จึงเป็นภาษาราชการของอัฟกานิสถาน (Mohammad Ali, Louis DupreeVictor P. PetrovMarvin G. WeinbaumFrank Raymond AllchinNancy Hatch Dupree 2019)

จากการสำรวจในปี 2018  ประชากรในอัฟกานิสถานมีเพียง 29,674,000 คน มีพื้นที่ชนบทประมาณร้อยละ 76.4 ส่วนพื้นที่เมืองประมาณร้อยละ 23.6  แม้จะมีพื้นที่เพียงน้อยนิด ประชากรชาวอัฟกานิสถานกลับโดนคุกคามจากศัตรูภายนอกมาโดยตลอด ทำให้ประเทศนี้มีบาดแผลแห่งการนองเลือดอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากอาณานิคมอังกฤษและมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียต

ความจริงแล้ว อัฟกานิสถานถูกปกครองโดยอาณาจักรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมองโกล (Mongol Empire) ตีมุริด (Timurid) ราชวงศ์โมกุล (Mughals) หรือแม้กระทั่งอัฟชาริด (Afsharid) จากชาวเปอร์เซีย อย่างไรก็ตาม แม้อัฟกานิสถานจะหลุดพ้นจากการปกครองของอาณาจักรเหล่านั้นได้ไม่นาน แต่อาณานิคมอังกฤษก็ได้เข้ามามีบทบาทในอัฟกันตั้งแต่ปี 1932 จนเป็นที่มาของสงครามระหว่างอัฟกันและอังกฤษครั้งที่ 1 ในปี 1839-1842 ครั้งที่ 2 ในปี 1878-1880 และครั้งที่ 3 ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 1919 ทำให้อัฟกานิสถานได้รับเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษสำเร็จในวันที่ 19 สิงหาคม 1919

หลังยุคอาณานิคม กษัตริย์อามานุลลอฮฺ คาน (Amanullah Khan) ได้นำอัฟกานิสถานสู่การปฏิรูประบบต่าง ๆ ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการทูตเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีผู้หนุนนโยบายดังกล่าวคือ มะมูด ตาร์ซี (Mahmud Tarzi) ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและพ่อตาของท่านอามานุลลอฮฺ คาน อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้มีการล้มล้างราชวงศ์ การลอบสังหารผู้นำและสงครามกลางเมืองเกิดขึ้น ส่งผลให้ระบบการปกครองถูกนำโดยนายกรัฐมนตรี อีกทั้งมีพรรคการเมืองเกิดขึ้น โดยเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์อย่าง People’s Democratic Party of Afghanistan (PDPA) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสหภาพโซเวียต การลอบสังหารผู้นำของพรรค PDPA โดยรัฐบาล ในปี 1978 เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิวัติรัฐบาลและการเข้ามามีอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน เนื่องจากการเชื้อเชิญของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อัฟกานิสถาน

PDPA ก็ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนนหนทาง โรงเรียน จัดระบบการศึกษา รวมทั้งฝึกกองกำลังทหารให้กับอัฟกานิสถาน ด้วยการสนับสนุนเงินทุนกว่า 1 พันกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี 1978 หลังจากนั้น มีการลงนามร่วมกันระหว่าง PDPA และสหภาพโซเวียตเพื่อสนับสนุนการฝึกกองกำลังทหารในอัฟกานิสถาน ในทางกลับกัน PDPA ก็ใช้อำนาจในทางการเมืองเพื่อขจัดฝ่ายตรงข้ามและผู้เห็นต่างด้วยการฆ่าประชาชนเกือบ 30,000 คนและคุมขังอีกประมาณ 20,000 คน

ทั้งหมดนี้ทำให้ PDPA เริ่มถูกต่อต้านในปี 1979 ส่งผลให้ทหารของสหภาพโซเวียตเข้ามายึดพื้นที่ในอัฟกานิสถานและปราบปรามผู้เห็นต่าง ซึ่งเป็นกลุ่มมุญาฮิดีน (Mujahideen) กลุ่มนักรบมุสลิม จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนและฝึกอบรมกองกำลังติดอาวุธดังกล่าวโดยกองทัพสหรัฐอเมริกาและซาอุดิอาระเบีย มีการคาดการณ์ว่า มีการสนับสนุนทั้งเงินและอาวุธสงครามให้กับกองกำลังมุญาฮิดีนมากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างกองกำลังในการต่อต้านสหภาพโซเวียต จะเห็นได้ว่า แต่ปี 1979 สหภาพโซเวียตก็เข้ามาสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ของตนเอง ส่วนสหรัฐอเมริกาก็เข้ามาสนับสนุนนักรบมุสลิมอัฟกานิสถานเพื่อคานอำนาจของสหภาพโซเวียต เนื่องจากยุคนี้คือสมรภูมิสงครามเย็น ซึ่งทั้งมหาอำนาจสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาต้องการแย่งมวลชนและนำเสนออุดมการณ์ของตนเอง

จนกระทั่งปี 1989 กลุ่มติดอาวุธมุญาฮิดีนได้รุกไล่กองกำลังสหภาพโซเวียตออกไปจากพื้นที่ โลกเข้าสู่ช่วงการสิ้นสุดสงครามเย็น และสหภาพโซเวียตก็แตกสลายในเวลาต่อมา สหรัฐอเมริกาจึงเป็นผู้สนับสนุนหลักสำคัญในการสู้รบของกองกำลังมุสลิมติดอาวุธชุดนี้ นักวิเคราะห์อย่าง W. Michael Reisman และ Charles H. Norchi ผู้เชี่ยวชาญจาก Yale Law School ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า ความรุนแรงครั้งดังกล่าวในอัฟกานิสถานส่งผลให้มีผู้สูญเสียกว่า 2 ล้าน 5 แสนคน นอกจากนี้ ยังมีผู้อพยพจากอัฟกานิสถานไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลกมากกว่า 6 ล้านคน (W. Michael Reisman และ Charles H. Norchi)

แม้สหรัฐอเมริกาเคยเป็นผู้สนับสนุนกองกำลังติดอาวุธมุสลิมอัฟกานิสถานและเป็นผู้ฝึกกองกำลังนี้มาด้วยตนเอง แต่หลังจากเหตุการณ์ 9/11 กรณีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (World Trade Center) ถูกลอบโจมตี สหรัฐอเมริกาก็กลับกลายเป็นผู้นำกองกำลังนานาชาติเพื่อต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย โดยใช้ชื่อยุทธศาสตร์ครั้งนี้ว่า ‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ (War on Terror) ในอัฟกานิสถาน ซึ่งถือเป็นสงครามที่มีความยืดเยื้อเรื้อรังอยู่หลายปี ตั้งแต่ 2001-2014 ส่งผลให้เกิดการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา สถาบันครอบครัว ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งวิถีชีวิตของผู้คน

 

ควันสงครามไม่เคยหายไป

 

แม้ในทางการทหาร สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2001 ได้สิ้นสุดลงหลังประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2013 ว่า “The Global War on Terror was over” (Paul D. Shinkman, 2013) และการสู้รบในพื้นที่ดังกล่าวก็ได้จบลงแล้วตามการประกาศอย่างเป็นทางการของโอบามาในวันที่ 28 ธันวาคม 2014 แต่ในความเป็นจริง กองกำลังทหารต่างชาติกว่า 13,000 นายโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาก็ยังคงอยู่ในอัฟกานิสถานเพื่อปฏิบัติภารกิจที่ชื่อว่า ‘Resolute Support’ (Kay Johnson, 2014) ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 สหรัฐอเมริกาก็ถอนกองกำลังออกจากสมรภูมิอัฟกานิสถานอีกจำนวน 7,000 นาย และยังคงอยู่ในพื้นที่เกือบ 7,000 นาย (CFR, 2020 และ Thomas Gibbons-Neff and Mujib Mashal, 2018)

การประกาศดังกล่าวอาจจะหมายถึง การยุติกองกำลังทหารในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในพื้นที่ แต่ความจริง ร่องรอยแห่งสงครามยังคงอยู่และระอุตลอดเวลา โดยเฉพาะ ‘บาดแผล’ ที่มหาอำนาจได้ทิ้งไว้เบื้องหลัง นั่นคือ ชีวิตของเด็ก ๆ และการเป็นอยู่ที่ค่อนข้างเวทนา เด็กเหล่านี้ต้องต่อสู้กับความโหดหินที่ค่อนข้างลำบากในชีวิต จากการสำรวจในปี 2018 ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า “มีคนหนุ่มสาวอัฟกานิสถานได้เสียชีวิตจากสงครามเป็นจำนวนมาก ระยะเวลา 10 ปีมีเด็กเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บมากกว่า 20,000 คน ซึ่งแค่เพียงปีเดียวมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 927 คน อีกทั้งยังมีเด็กอีก 3.7 ล้านคนที่ต้องหยุดโรงเรียน และกว่า 1 ล้านคนที่ไร้ที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งเรื่องของสุขภาพและการศึกษาเป็นจำนวนมาก” (Dan Stuart, 2019)

ตั้งแต่ปี 2001 นายทหารต่างชาติก็เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 3,500 นาย ซึ่งในจำนวนนั้นมีทหารอเมริกากว่า 2,200 นาย (Kay Johnson, 2014) องค์การสหประชาชาติได้ประเมินในปีดังกล่าวว่า ความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างยาวนานได้ก่อให้เกิดการคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 8,050 คน ในจำนวนดังกล่าวนั้น มีผู้ที่ไม่มีส่วนร่วมกับสงครามเสียชีวิตถึง 337 คน ซึ่งแน่นอนว่า ร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตในสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าวคือเด็ก และยังมีอีกหลายชีวิตที่ตกสำรวจ (Andrew Quilty 2018, 30-31)

ในโลกภาษาอังกฤษ มีงานเขียนจำนวนมากที่เล่าเรื่องราวของชาวอัฟกานิสถานอย่างจับใจ หนึ่งในนั้นคือบทความเรื่อง When War Comes Home” โดย Andrew Quilty ซึ่งพยายามถ่ายทอดชีวิตของเด็ก 7 คนที่เป็นมรดกสงครามที่มหาอำนาจต่างทิ้งไว้ บทความบอกเล่าถึงชีวิตของผู้คนที่ประสบชะตากรรมท่ามกลางสมรภูมิสงครามอย่างแหลมคม และแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงได้เปลี่ยนชีวิตและครอบครัวของเด็กอัฟกานิสถานในชนบทไปมากเพียงใด

Quilty ได้เล่าถึงชีวิตสาวน้อยในเมืองคาบูล วัย 11 ขวบชื่อ ‘ซีมา’ (Sema) ที่สูญเสียคุณพ่อเนื่องจากเหตุระเบิด เธอกล่าวว่า “หลังพ่อออกไปทำงานในเช้าวันนั้น ก็ไม่กลับมาหาเราอีกเลย เมื่อเราได้รับข่าวการจากไปของพ่อ พวกเราต่างไม่เชื่อ และพี่สาวยังคงเตือนตัวเองว่า พ่อไปทำงานต่างถิ่น ไม่นานก็กลับมา” นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าของนาเว็ด (Naveed) แห่งเมืองบัลก์ (Balkh) ที่สูญเสียขาเพราะเหตุระเบิด เขาสำเร็จการศึกษาและเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรพิเศษเกี่ยวกับการปกป้องเด็ก นาเว็ดได้กล่าวว่า “ผ่านมาปีกว่าแล้วที่ผมฝันและรู้สึกว่ายังมีขา แต่เมื่อตัวเองตื่นขึ้นแล้วเพ่งมอง ผมก็ไม่เห็นขาของตนเอง บางครั้งนึกสงสัยจึงลองไปจับดู ผมจึงแน่ใจว่า ขาของตนได้หายไปเสียแล้ว”  (Dan Stuart, 2019)

อีกเรื่องที่สะเทือนใจอย่างยิ่งคือ เรื่องราวครอบครัวของอิบรอฮีม คิล (Ibrahim Khil) ซึ่งต้องวุ่นวายทั้งคืนขณะมีหัวจรวดพุ่งเข้ามาในบ้านเมื่อปี 2008 จนสมาชิกในครอบครัวจำนวน 7 คนได้รับผลกระทบ คุณแม่และน้องฝาแผดของครอบครัวเสียชีวิต ส่วนมัรวาอายุ 4 ขวบ อามานอายุ 5 ขวบ ราเบียอายุ 7 ขวบ มันกัลอายุ 8 ขวบ สูญเสียขาข้างขวา ส่วนบาชิรอายุ 9 ขวบสูญเสียขาข้างซ้าย แฝดชายอีก 2 คนคือ อับดุลรอชีดและชาฟิกุลลอฮฺสูญเสียขาทั้งสองข้าง หลังโศกนาฎกรรมครั้งนี้ เด็กเหล่านั้นก็ยังคงเดินไปโรงเรียนด้วยอะไหล่เทียมของตนเองพร้อมความหวังที่ว่า “ตัวเองจะสามารถมีชีวิตดีขึ้นได้ หากไม่มีการศึกษา พวกเขาจะไม่มีอะไรอีกเลย” (Andrew Quilty 2018, 31-37)

ความรุนแรงดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในอัฟกานิสถานเท่านั้น เพราะจากการสรุปในปี 2019 พบว่า เด็กกว่า 420 ล้านคนหรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของเด็กทั่วโลกยังคงอยู่ในสมภูมิแห่งความขัดแย้ง ซึ่งเพิ่มจากปี 2016 จำนวน 30 ล้านคน (Dan Stuart, 2019) โดยเด็กในสมรภูมิความขัดแย้งทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากความรุนแรงไม่ต่างกัน จะเห็นได้ว่า แม้สงครามและความรุนแรงจะจบลง แต่บาดแผลที่ถูกทิ้งไว้เป็นของกำนัลและพินัยกรรมต่างหน้ากลับมิได้จบลงตามไปด้วย นอกจากนี้ บาดแผลดังกล่าวอาจเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ถูกผลิตซ้ำการล้างแค้นและสร้างความชังอย่างไม่รู้จบ

อย่างไรก็ตาม พวกเราอาจสร้างสันติภาพร่วมกันได้ผ่านการเปิดรับความเชื่อที่หลากหลาย ทำความเข้าใจความคิดที่เห็นต่าง รวมทั้งการเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

ด้วยประการทั้งปวง สันติภาพในสังคมเราจะต้องงอกเงยผ่านการดำเนินชีวิตในทุกย่ำย่างด้วย ‘สติ’ และ ‘ขันติ’ พร้อมทั้งลด ‘ทิฐิ’ และ ‘อคติ’ เพราะทั้งหมดเหล่านี้คือ ‘ท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของสันติภาพในโลกเรา’

 


[1] ดร.อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา (AR-5) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

  1. Andrew Quilty. (2018). 7 Afghan Children Learn to Walk Again After an Explosion. October 25, 2018. เข้าถึงเมื่อ 28 สิงหาคม 2563 จาก https://time.com/longform/afghan-family/
  2. Andrew Quilty. (2018). When War Comes Home. Time, November 5, 2018: 26-37.
  3. (2020). The U.S. War in Afghanistan 1999 – 2020. เข้าถึงเมื่อ 31 สิงหาคม 2563 จาก https://www.cfr.org/timeline/us-war-afghanistan?gclid=EAIaIQobChMImODwk8_E6wIVzgorCh3MSgk2EAAYASAAEgJ0K_D_BwE
  4. Dan Stuart. (2019). ‘War on Children’ Afghanistan Award Winning. เข้าถึงเมื่อ April 8, 2019. จาก https://www.savethechildren.net/news/war-children-afghanistan-award-winning-photography
  5. Kay Johnson. (2014). S.-led mission in Afghanistan ends combat role; thousands of foreign troops remain. December 28, 2014. เข้าถึงเมื่อ 31 สิงหาคม 2563 จาก https://www.reuters.com/article/us-afghanistan-war-idUSKBN0K60FB20141228
  6. Mohammad Ali, Louis DupreeVictor P. PetrovMarvin G. WeinbaumFrank Raymond AllchinNancy Hatch Dupree. (2019). Afghanistan Britannica. October 3, 2019. เข้าถึงเมื่อ 28 สิงหาคม 2563 จาก https://www.britannica.com/place/Afghanistan/Drainage
  7. Paul D. Shinkman. (2013). Obama: ‘Global War on Terror’ Is Over. May 23, 2013. เข้าถึงเมื่อ 31 สิงหาคม 2563 จาก https://www.usnews.com/news/articles/2013/05/23/obama-global-war-on-terror-is-over
  8. Thomas Gibbons-Neff and Mujib Mashal. (2018). S. to Withdraw About 7,000 Troops From Afghanistan, Officials Say. December 20, 2018. เข้าถึงเมื่อ 31 สิงหาคม 2563 จาก https://www.nytimes.com/2018/12/20/us/politics/afghanistan-troop-withdrawal.html
  9. Michael Reisman และ Charles H. Norchi. “Genocide and the Soviet Occupation of Afghanistan. เข้าถึงเมื่อ 31 สิงหาคม 2563 จาก  http://www.paulbogdanor.com/left/afghan/genocide.pdf

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save