fbpx

เวียดเทล: แบบแผนการทำธุรกิจสมัยใหม่ของกองทัพเวียดนาม

“กองทัพของเรามี 2 ภารกิจ: พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องปิตุภูมิ และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสร้างเศรษฐกิจ”

                                     มติพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม จากการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 4 ปี 1976[1]

ข่าวที่ว่าเสาสัญญาณโทรศัพท์จำนวน 80 ต้นของบริษัทมายเทล (Mytel) ในพม่าถูกกองกำลังพิทักษ์ประชาชนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติทำลายทั่วประเทศเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไม่ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับตัดมาดอว์ (กองทัพพม่า) เท่านั้น หากแต่ส่งผลสะเทือนถึงกองทัพประชาชนเวียดนาม (Vietnam People’s Army) ด้วย เพราะมายเทลเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเวียดเทล (Viettel) ของกระทรวงกลาโหมเวียดนาม (49%) เมียนมาร์ เนชั่นแนล เทเลคอมโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของ 11 บริษัท (23%) และ สตาร์ไฮ (Star High) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ เมียนมาร์ อีโคโนมิค คอร์เปอร์เรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทของตัดมาดอว์ (28%) ประชาชนชาวพม่าพากันคว่ำบาตรบริษัททางด้านโทรคมนาคมของกองทัพนับแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ สำนักงานเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ของบริษัทมายเทลถูกโจมตีบ่อยครั้ง นับแต่เดือนเมษายนหลังจากที่กองทัพตัดมาดอว์ทำการปราบปรามประชาชนอย่างหนัก[2]

ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพทั้งสองผ่านการร่วมทุนทางธุรกิจ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของอองซาน ซูจีเมื่อปี 2017 ไม่ได้มีเป้าหมายในเชิงพาณิชย์เท่านั้น หากแต่ตัดมาดอว์หมายมั่นปั้นมือให้เวียดเทล เป็นต้นแบบในการพัฒนาธุรกิจเพื่อความมั่นคงด้วย เพราะกองทัพตัดมาดอว์และกองทัพประชาชนเวียดนามก็เหมือนกับกองทัพอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ มีบทบาทหน้าที่มากกว่าการป้องกันประเทศ แต่มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและทำธุรกิจไปพร้อมกันด้วย ในกรณีของตัดมาดอว์นั้นธุรกิจของกองทัพส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงกองทัพเป็นหลักใหญ่ (แต่อาจจะเข้ากระเป๋าของผู้นำเหล่าทัพมากกว่าก็เป็นได้ เพราะไม่มีการตรวจสอบชัดเจน) แต่ดูเหมือนว่าผู้นำเวียดนามมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่านั้น 

บทความนี้ต้องการสำรวจธุรกิจกองทัพประชาชนเวียดนาม โดยเน้นที่บริษัทเวียดเทล ซึ่งไม่เพียงเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามที่ดำเนินการโดยกระทรวงกลาโหมเท่านั้น บริษัทนี้ยังประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างมากและขยายการลงทุนไปในต่างประเทศ ทั้งในเอเชียและแอฟริกา ทั้งยังมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันประเทศอีกด้วย 

         วิสาหกิจทหาร

แนวคิดที่จะให้กองทัพเวียดนามมีบทบาทในทางเศรษฐกิจ มีมาตั้งแต่สมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามครั้งที่ 4 ในปี 1976 แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะแรกส่วนใหญ่จะมุ่งไปในเรื่องการขุดค้นทรัพยากรและการผลิตเพื่อหารายได้เลี้ยงกองทัพและพัฒนาพื้นที่ในเขตทหารเป็นหลักใหญ่ โดยกำหนดให้เขตทหารเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังไม่ได้มุ่งไปในเชิงพาณิชย์เต็มที่ จนกระทั่งมีการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตามแนวทางโด่ยเม่ย (Doi Moi) ในปี 1986

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังการถอนทหารจากกัมพูชาตอนปลายทศวรรษ 1980 ที่ทำให้เวียดนามจำเป็นต้องปฏิรูปกองทัพเพื่อความอยู่รอด มีการลดกำลังพลลงจาก 1.26 ล้านคนในปี 1987 เหลือไม่เกิน 500,000 คนในอีก 6 ปีต่อมา[3] และที่สำคัญมีการปรับโครงสร้างหน่วยงานในกองทัพอย่างขนาดใหญ่ โดยเปลี่ยนหน่วยงานทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นหน่วยก่อสร้างและการผลิต ให้มีสภาพเป็นบริษัทธุรกิจในหลายกิจการเช่น การพัฒนาที่ดิน ที่อยู่อาศัย การเกษตร ขนส่ง เหมืองแร่ อัญมณี และการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ทางด้านพลังงาน ในปี 1993 พบว่ากองทัพเวียดนามมีวิสาหกิจประกอบธุรกิจอยู่มากถึง 300 แห่ง มีกำลังทหารมากกว่า 70,000 นายทำงานในเชิงพาณิชย์

วิสาหกิจทหารนั้นเหมือนรัฐวิสาหกิจทั่วๆ ไปคือ ขาดประสิทธิภาพ ไม่คล่องตัว ขาดทักษะในการประกอบธุรกิจ และประสบกับภาวะขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับเอกชนและธุรกิจต่างประเทศ กองทัพเวียดนามจำเป็นต้องปฏิรูปวิสาหกิจทหารหลายครั้งนับแต่การปฏิรูปโด่ยเม่ยเป็นต้นมา ครั้งสำคัญที่สุดคือในปี 2007 เมื่อเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ซึ่งตอนนั้นกองทัพประชาชนเวียดนามเป็นเจ้าของวิสาหกิจอยู่ 140 แห่ง และยังเข้าไปมีหุ้นมากบ้างน้อยบ้างในบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจอื่นอีก 20 แห่ง พรรคคอมมิวนิสต์ออกมติบังคับให้เหล่าทัพ ตำรวจและกระทรวงต่างๆ โอนกิจการให้เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กฎหมายว่าด้วยรัฐวิสาหกิจฉบับเดียวกัน แต่การดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะกองทัพและหน่วยงานต่างๆของรัฐไม่ต้องการสูญเสียรายได้สำคัญไป ดังนั้นจึงปรากฏว่ามีเพียงรัฐวิสาหกิจขนาดเล็กที่ขาดทุนเท่านั้นที่ถูกโอนย้ายหรือยุบทิ้งไป

สมุดปกขาวกระทรวงกลาโหมเวียดนามที่ออกมาในปี 2009 ยังระบุว่ากองทัพประชาชนเวียดนาม ยังมีวิสาหกิจขนาดใหญ่อยู่ 10 แห่ง รวมทั้ง Truong Son Construction, Military Petrol General Corporation, General Corporation No.28, Thanh An General Corporation, General Corporation No.15, Tan Gang General Corporation, Flight Service General Corporation และ Viettel-Military Telecommunication General Corporation และบริษัทที่บริหารเขตเศรษฐกิจ-การป้องกันประเทศ (Economic-Defense Zone) อีก 22 แห่ง[4] 

แต่สมุดปกขาวของกระทรวงกลาโหมที่ออกในอีก 10 ปีต่อมา คือในปี 2019 ระบุว่าหน่วยเศรษฐกิจของกองทัพมีอยู่ประเภทเดียว คือหน่วยเศรษฐกิจป้องกันประเทศ ซึ่งนิยามว่าเป็นกลไกสำคัญในการผสมผสานการพัฒนาเศรษฐกิจ การป้องกันประเทศและความมั่นคงเข้าด้วยกัน แต่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาเป็น 28 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการโยกย้ายประชากรตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมกลุ่มประชาชนและสร้างชุมชนตามชายแดนและพื้นที่ห่างไกล[5] ไม่ปรากฏว่ามีบัญชีรายชื่อวิสาหกิจขนาดใหญ่ของกองทัพที่ดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด แต่มีการประมาณการตามสื่อมวลชนว่า ในปี 2016 กองทัพเวียดนามยังมีบริษัทธุรกิจน้อยใหญ่อยู่ในมือมากถึง 88 แห่ง[6] แต่แหล่งอื่นเช่น เว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า กระทรวงกลาโหมเวียดนามน่าจะยังถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ในรัฐวิสาหกิจ 17 แห่ง รวมทั้ง Thai Son Corporation, Technological Application & Products, High Technology Applicaiton และ Viettel [7] ตัวเลขนี้น่าจะมาจากรายงานของสื่อมวลชนเวียดนามที่อ้างคำพูดของ พลตรี เหวียน วัน ดึ๊ก อธิบดีกรมโฆษณาและฝึกอบรมกระทรวงกลาโหมที่ว่า ภายในปี 2020 กองทัพประชาชนเวียดนามจะลดจำนวนบริษัทธุรกิจจาก 88 (ในปี 2018) ให้เหลือ 17 แห่ง[8]

กล่าวแต่เฉพาะเวียดเทลนั้นตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 1989 ในชื่อ SIGELCO หรือ Electronic and Communication Equipment ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งในชื่อต่างๆ กันเช่น Military Electronics and Telecommunication Company ในเดือนกรกฎาคม 1995 แต่ให้เรียกสั้นๆ ว่า Viettel ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อรับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจทางด้านโทรคมนาคมภายใต้การบริหารของบริษัท Signal Corp แต่ก็ยังมีธุรกิจอื่นๆ อยู่บ้าง เช่นออกสิ่งพิมพ์ในนาม Viettel Post ในเดือนกรกฎาคม 1997

ธุรกิจของเวียดเทลเริ่มเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูในช่วงปี 2000-2009 หลังจากได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจให้บริการโทรทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Voice over internet protocol – VoIP) เป็นรายแรกของเวียดนามในปี 2000 ซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จอย่างมากในเวลาเพียง 9 เดือนก็ถึงจุดคุ้มทุน ก่อนที่จะให้บริการทางไกลข้ามประเทศด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน

ในปี 2003 กระทรวงกลาโหมเปลี่ยนชื่อบริษัทอีกครั้งเป็น Military Telecommunication Company แต่ชื่อย่อก็ยังเรียกว่าเวียดเทลเหมือนเดิมเพราะเริ่มเป็นที่คุ้นเคยและติดตลาดแล้ว ในปี 2004 กระทรวงกลาโหมดึงเวียดเทลจาก Signal Corp เพื่อควบคุมและบริหารเองและเริ่มให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

ปี 2005 มีการปรับปรุงโครงสร้างบริษัทพร้อมกับการเปลี่ยนชื่อจาก Military Telecommunication Company เป็น Military Telecommunication Corporation และบางแผนกในบริษัทแยกตัวออกไปเป็นบริษัทลูก เวียดเทลเริ่มขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศครั้งแรกในปี 2009 ในประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดคือกัมพูชา ในชื่อ Metfon ในเดือนกุมภาพันธ์ และลาวในชื่อ Unitel ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างมากในเวียดนาม ซึ่งในปี 2009 นั้น บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเวียดเทลครองตลาดมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ให้บริการลูกค้า 42.5 ล้านเลขหมาย

เวียดเทลตั้งเป้าเป็นบริษัทโทรคมนาคมระดับโลกอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษที่ 3 คือหลังปี 2010 โดยมุ่งการลงทุนไปยังประเทศขนาดเล็กที่ค่อนข้างล้าหลังทางด้านเทคโนโลยี และประการสำคัญคือระบอบการเมืองเป็นแบบอำนาจนิยมแต่ไร้เสถียรภาพเสียเป็นส่วนใหญ่

เวียดเทลเริ่มธุรกิจที่เฮติในชื่อ Natcom ในปี 2010 โมซัมบิคในชื่อ Movitel ในปี 2012 ติมอร์เลสเตในชื่อ Telmor ในปี 2013 แคเมอรูนในชื่อ Nexttle ในปี 2014 เปรูในชื่อ Bitel ในปี 2014 แทนซาเนียในชื่อ Halotel ในปี 2015 บูลันดีในชื่อ Lumitel ในปี 2015 และล่าสุดคือพม่าในชื่อ Mytel ปี 2018 ซึ่งมีประเด็นที่จะต้องกล่าวถึงเล็กน้อยในที่นี้ เพราะคู่สัญญาเป็นบริษัททหารเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้ผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคมในพม่า แต่ดูเหมือนเวียดเทลจะพอใจกับการทำธุรกิจกับตัดมาดอว์ค่อนข้างมาก เว็บไซต์ของเวียดเทลระบุว่า มายเทลสามารถบรรลุเป้า 1 ล้านเลขหมายในเวลาแค่ 10 วันหลังจากเปิดตัวและทำได้ถึง 3 ล้านเลขหมายในเวลา 3 เดือน

ประการสำคัญคือธุรกิจของเวียดเทลชักพาให้กองทัพประชาชนเวียดนามและตัดมาดอว์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น นายทหารระดับสูงของสองกองทัพเดินทางเยือนกันมิได้ขาดนับแต่ปี 2017 และล่าสุดก่อนการยึดอำนาจ พลเอก มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าเดินทางเยือนฮานอยในเดือนธันวาคม 2019 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ โดยที่ พลโท ฟาน วัน ซาง เสนาธิการใหญ่ (Chief of General Staff ตำแหน่งเทียบเท่าผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ได้เน้นย้ำว่า การร่วมทุนของบริษัททางด้านโทรคมนาคมของสองฝ่ายคือส่วนสำคัญของความร่วมมือของกองทัพทั้งสอง[9] 

ปัญหาที่ฮานอยวิตกกังวลในเวลานี้คือ เมื่อธุรกิจตัดมาดอว์ตกเป็นเป้าการโจมตีของประชาชนที่ไม่พอใจการยึดอำนาจ เวียดเทลก็ตกเป็นเป้าไปด้วย ซึ่งนี่อาจจะเป็นเหตุให้รัฐบาลเวียดนามต้องแสดงท่าทีทางการทูตร่วมกับนานาชาติในการประนามการรัฐประหารในพม่าในการประชุมสหประชาชาติเมื่อเดือนมิถุนายน 2021 ซึ่งโดดเด่นและผิดแผกไปจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นของพม่าอย่างไทย ลาว และกัมพูชา ซึ่งแสดงท่าทีเกรงใจพม่าอย่างยิ่งด้วยการงดออกเสียง

มั่งคั่ง มั่นคง

เวียดเทลมีการปรับโครงสร้างอีกครั้งในปี 2018 เพื่อให้บริษัทมีลักษณะสากลมากขึ้น มีระเบียบ เป็นระบบ ที่สำคัญยังเป็นสมบัติของกองทัพที่ไม่เพียงแต่ทำธุรกิจเพื่อผลกำไรเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นหัวหอกในการพัฒนาเทคโนโลยีในการป้องกันประเทศได้ด้วย

รัฐบาลออกกฤษฎีกาที่ 05/2018/ND-CP เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2018 เพื่อให้เป็นธรรมนูญของบริษัท[10] ซึ่งก็เริ่มต้นจากการเปลี่ยนชื่อบริษัทเสียใหม่ให้เป็น Military Industry and Telecoms Group และชื่อย่อก็ยังคงเป็น Viettel เหมือนเดิม โดยระบุว่า เวียดเทลเป็นวิสาหกิจทางด้านกลาโหมและความมั่นคง เป็นนิติบุคคลซึ่งดำเนินงานโดยกระทรวงกลาโหม ภายใต้กฎหมายของตัวเอง กฎหมายรัฐวิสาหกิจและกฎหมายอื่น มีหน้าที่หลัก 2 ด้านด้วยกันคือ 

1) ทางด้านกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ เวียดเทลจะต้องสร้างและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เครือข่าย และการสื่อสารโทรคมนาคม ต้องปรับปรุงและสนับสนุนเครือข่ายข้อมูลทางทหารทั้งในยามสงบและยามสงคราม และพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการทางทหารได้ทันท่วงที ทำหน้าที่ในการวิจัย พัฒนา ออกแบบ ผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ ที่ใช้ในทางการทหาร เป้าหมายทางด้านความมั่นคงของเวียดเทล คือสร้างอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เชื่อมโยงอุตสาหกรรมทหารเข้ากับอุตสาหกรรมแห่งชาติ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางด้านทหารและยุทโธปกรณ์ สร้างความมั่นคงให้กับโครงข่ายข่าวสารข้อมูลของประเทศในยามสงครามและสร้างระบบแบ็กอัปในยามสงบ

2) ด้านการผลิตและธุรกิจ เวียดเทลประกอบธุรกิจตามที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย ลงทุนและสนับสนุนในบริษัทลูกเพื่อธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ดำเนินการตามสิทธิและภาระผูกพันที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดเอาไว้ในแผนธุรกิจ

ขอบข่ายการดำเนินธุรกิจของเวียดเทลที่บัญญัติไว้ในกฤษฎีกาดังกล่าวทำได้ค่อนข้างกว้างขวาง ได้แก่การค้าผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารทางวิทยุ โทรทัศน์ มัลติมีเดีย อี-คอมเมิร์ช จัดการ ให้คำปรึกษา สำรวจ ออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง ซ่อมแซม และให้เช่าอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม วิจัย พัฒนา ผลิต ซ่อมบำรุง นำเข้า ส่งออก ยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ทางทหาร รวมถึงเคมีภัณฑ์ วัตถุระเบิด ยานพาหนะ ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร นอกจากนี้ยังสามารถวิจัยพัฒนา และทำธุรกิจที่เกี่ยวกับ crypto ได้ทั้งหมด อีกทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก เช่น วิจัยตลาด โฆษณาประชาสัมพันธ์ บริการให้คำปรึกษา และโปรโมตสินค้าหรือการค้าก็สามารถทำได้ด้วย

เนื่องจากเวียดเทลเป็นวิสาหกิจของทหารและดำเนินการโดยกระทรวงกลาโหม กฎหมายกำหนดให้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามควบคุมวิสาหกิจแห่งนี้ผ่านกรรมาธิการทหารของพรรค ส่วนความสัมพันธ์กับองค์กรทางด้านสังคมการเมืองอื่นๆให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โครงสร้างองค์กรของเวียดเทล ประกอบไปด้วยตำแหน่งหลักคือ ประธาน ผู้จัดการและรอง ฝ่ายบัญชีและการตรวจสอบภายใน โดยกฎหมายระบุเอาไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งประธานและผู้จัดการเวียดเทลได้จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของกองทัพประชาชนเวียดนามเท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องเป็นทหารเท่านั้น อาจจะตีความได้ว่าเป็นพลเรือนก็ได้แต่ต้องสังกัดกองทัพ

หลังจากการปรับปรุงโครงสร้างและเปลี่ยนชื่อบริษัทให้สอดคล้องแล้ว เวียดเทลเริ่มหันความสนใจไปทางธุรกิจด้านความมั่นคงมากขึ้น โดยตั้งบริษัทขึ้นมาคือ Viettel Cyber Security Company เมื่อปี 2019 เพื่อดูแลทางด้านระบบความปลอดภัยให้ตลาดของเวียดเทลทั้ง 11 แห่งทั่วโลกรวมทั้งเวียดนามเอง ความมั่นคงทางด้านไซเบอร์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับโลกยุคปัจจุบัน

สื่อมวลชนรายงานโดยอ้างสถิติของกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศของเวียดนามว่า แค่เพียง 3 เดือนของปี 2019 เวียดนามถูกโจมตีทางไซเบอร์ถึง 620 ครั้ง[11] ในปี 2020บริษัทนี้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มคณะทำงานป้องกันการหลอกลวงทางคอมพิวเตอร์ (Anti-Phishing) ซึ่งเป็นเครือข่ายของสมาคมที่ตั้งขึ้นในปี 2003 เพื่อต่อต้านอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันมีบริษัทมากกว่า 2,000 แห่งเข้าร่วม อันจะทำให้บริษัทในเครือของเวียดเทลแห่งนี้สามารถเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านไซเบอร์ทั่วโลก ในการนี้เวียดเทลได้เอาโปรแกรมทางด้านข่าวกรองที่สร้างขึ้นในเวียดนามเองเข้าไปร่วมกับกลุ่มนี้ด้วย แม้ว่าโปรแกรมนี้จะเพิ่งได้รับการพัฒนาขึ้นไม่นาน แต่การที่ได้เอาโปรแกรมของตัวเองเข้าไปโชว์ในระดับสากลก็เป็นการยกระดับและส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของเวียดเทลในด้านนี้ได้เป็นอย่างดี[12]

แต่ที่ถือว่าน่าจับตามองคือ มีข่าวว่าเวียดเทลกำลังพัฒนาต้นแบบอากาศยานไร้คนขับ (Uninhabited Aerial Vehicle) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘โดรน’ ที่อาจจะติดอาวุธได้ ความจริงเวียดนามตั้งใจจะพัฒนาโดรนเพื่อใช้ในงานด้านข่าวกรองมานานแล้ว เพราะมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับจีนบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีและพาราเซลในทะเลจีนใต้ วิสาหกิจของเวียดนามหลายแห่งรวมทั้งเวียดเทลจึงพัฒนาอากาศยานไร้คนขับเพื่อใช้สำหรับตรวจการณ์

จากการสืบค้นพบว่าในงานแสดงอาวุธภายในประเทศในโอกาสครบรอบ 75 ปีกองทัพประชาชนเวียดนาม เมื่อเดือนธันวาคม 2019 กองทัพได้จัดแสดง UAV SC -3G (ภาพประกอบ1) เป็นโครนตรวจการณ์ขนาดเล็กผลิตโดยเวียดเทล น้ำหนัก 26 กิโลกรัมบินได้เร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปฏิบัติการได้ 3 ชั่วโมงในระยะทาง 50 กิโลเมตร สามารถปฏิบัติภารกิจควบคุมชายแดนได้

แบบที่จัดแสดงนั้นติดกล้องถ่ายภาพและเซ็นเซอร์ตรวจจับคลื่นความร้อน ถ่ายภาพได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนเพื่อส่งข้อมูลแบบ high resolution ไปยังศูนย์ควบคุมได้ มีรายงานว่าเคยใช้ในการตรวจชายแดนมาแล้ว แต่ยังไม่เคยเห็นแบบที่ใหญ่พอจะติดขีปนาวุธจากอากาศสู่พื้นได้ นอกจาก blog ของ Kai Lin Tay ผู้ช่วยวิจัยที่เขียนให้สถาบันศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติ (International Institute for Strategic Studies) เมื่อเดือนตุลาคม 2020[13] ยังไม่มีแหล่งอื่นใดที่ระบุว่า เวียดเทลกำลังพัฒนาโดรนขนาดกลาง หนึ่งเครื่องยนต์แบบหางแฝดที่อาจจะใช้ประกอบอาวุธได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้จะไม่มีมูลเอาเสียเลย เพราะเคยมีรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่นเวียดนามว่า เวียดเทลเคยจัดแสดงแบบ (mockup) ของโดรนขนาดกลาง หางแฝดที่มีท่อขีปนาวุธ (ภาพประกอบ 2) พร้อมกับรายงายว่าบริษัทมีแผนจะผลิตโดรนที่มีขนาดใหญ่พอจะมีพิสัยบินไกล 300-400 กิโลเมตรสำหรับลาดตระเวนและตรวจการณ์[14] จากวันนั้นถึงปัจจุบันก็ 7 ปีแล้วความคิดและการดำเนินงานน่าจะพัฒนาไปไกลมากแล้ว 

(ภาพประกอบ 1) UAV SC -3G ผลิตโดยเวียดเทล ที่จัดแสดงในโอกาสครบรอบ 75 ปีกองทัพประชาชนเวียดนามในปี 2019
(ภาพประกอบ 2) โมเดลโดรนขนาดกลางของเวียดเทลที่เชื่อว่าสามารถติดขีปนาวุธอากาศสู่พื้นได้

เรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรเหนือบ่ากว่าแรงสำหรับเวียดนาม สิ่งที่ยืนยันได้ว่าเวียดเทลกำลังสนใจพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธคือรายงานข่าวของสื่อมวลชนเล็กๆ ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2019 ที่ว่า บุย กวาง ฮุย เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของบริษัท VTA Telecom Corporation ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Viettel ในนิวเม็กซิโก ถูกศาลพิพากษาจำคุก 12 เดือน 1 วัน ฐานพยายามส่งออกเทคโนโลยีขีปนาวุธโดยไม่ได้รับอนุญาต เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบในระหว่างที่สหรัฐฯ และเวียดนามกำลังกระชับความสัมพันธ์กันเพื่อคานอำนาจกับจีน แต่ก็ถูกค้นพบโดยนักข่าวในท้องถิ่นชื่อ Mark Harris ที่เขียนเรื่องโทรคมนาคมให้กับเว็บไซต์ OneZero รายงานว่า ฮุยพยายามจะสั่งซื้อและส่งออกอุปกรณ์นำวิถี turbojet Teledyne J402-CA-400 ที่ใช้กับขีปนาวุธ Hapoon ที่ใช้สำหรับการโจมตีเรือ

เรื่องราวแบบเดียวกับหนังสายลับทั่วไปเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2013 เมื่อเวียดเทลส่งเด็กหนุ่มอนาคตไกลไปฟลอริดา เพื่อส่งเสริมการขายหรือหาโอกาสลงทุนกับชาวเฮติและเปรู เขาก็เลยจดทะเบียนตั้งบริษัท VTA เพื่อขายบัตรโทรทางไกลต่างประเทศด้วยวัตถุประสงค์จะขยายตลาดในสหรัฐฯ ให้เวียดเทล แต่สิ่งที่ฮุยทำระหว่างที่อยู่ในสหรัฐฯ คือ เที่ยวหาอุปกรณ์ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้กับอากาศยานหรือดาวเทียมในเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงที่ใช้กับขีปนาวุธและตอร์ปิโดด้วย

เรื่องที่พาให้เขาพบกับคุกตารางเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2015 เมื่อเขาติดต่อบริษัทในฟลอริดาเพื่อขอซื้อระบบแกะรอยวิดีโอ ซึ่งบังเอิญว่าถูกจัดอยู่ในหมวดอุปกรณ์ทางทหารและถูกจำกัดการส่งออก รายงานการสืบสวนเชื่อว่าเขาสามารถส่งออกอุปกรณ์นั้นไปได้ เพราะจ่ายเงินพิเศษให้ผู้ขายเพื่อลบรายการซื้อขายออกไปเพื่อเลี่ยงกฎหมายและการตรวจสอบ แต่ก็ด้วยวิธีแบบนี้ที่ทำให้เขาจนแต้ม เมื่อโดนเอฟบีไอล่อซื้อด้วยการตั้งบริษัทกระดาษเพื่อส่งออกอุปกรณ์ต้องห้ามเหล่านั้น

ฮุยติดกับดักในเดือนมีนาคม 2016 เมื่อเขาอีเมลสั่งของด้วยข้อความว่า “We also have other requirement on turbines jet engine with spec as follow: turbojet Teledyne J402-CA-400. Major application: Harpoon.” (เราต้องการสั่งอีกรายการหนึ่งเกี่ยวกับเครื่องยนต์เจ็ต คือเทอร์โบเจ็ตของเทเลไดน์ เจ 402 ซีเอ 400 ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของฮาร์ปูน) เจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่ล่อซื้อก็ได้แจ้งให้ฮุยรู้แล้วว่าอุปกรณ์นี้ห้ามส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่จะทำให้ได้ถ้ายอมจ่ายแพง ฮุยรู้ว่าเขาขออนุญาตส่งของพวกนี้ไปเวียดนามไม่ได้อยู่แล้ว เพราะตอนนั้นสหรัฐฯ ยังไม่ยกเลิกห้ามค้าอาวุธกับเวียดนาม แต่ถ้าการข่าวเขาดีกว่านั้นสักหน่อยเขาควรจะรอ เพราะประธานาธิบดี บารัค โอบามา ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามขายอาวุธให้เวียดนามเมื่อเดือนพฤษภาคม 2016 แต่เนื่องจากความผิดของฮุยสำเร็จไปแล้วตั้งแต่สั่งซื้อและจ่ายเงิน เขาถูกดำเนินคดีในเดือนตุลาคมปีนั้น การพิจารณาคดีใช้เวลาเป็นปี เขาสมควรจะถูกจำคุกถึง 20 ปี แต่เนื่องจากรับสารภาพและสหรัฐฯ ก็ยกเลิกการห้ามขายอาวุธแล้ว เขาก็เลยติดคุกแค่ปีเดียวก่อนถูกส่งตัวกลับเวียดนาม

ข่าวไม่ได้แจ้งว่าเขามีชะตากรรมอย่างไรในปัจจุบัน แต่เวียดเทลทำความสะอาดบริษัทในสหรัฐฯ ด้วยการไล่พนักงานที่เชื่อว่าจะรู้เห็นเรื่องนี้ออก และแจ้งกับทางสหรัฐฯ ว่าจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย[15]

สรุป

ข้อถกเถียงของเวียดนามเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพอาจจะแตกต่างจากประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่านักวิชาการที่ศึกษาเรื่องเวียดนามอาจจะยังไม่ลงรอยนักว่า กองทัพประชาชนเวียดนามยอมรับหลักการพลเรือนเป็นใหญ่ (civilian supremacy) อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังไม่เคยมีในประวัติศาสตร์หลังจากการรวมชาติในปี 1975 ที่กองทัพแสดงความขัดแย้งกับรัฐบาลหรือพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นหน่วยการเมืองอย่างชัดเจน จนถึงขนาดจะต้องใช้กำลังในการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล สิ่งที่กองทัพเวียดนามพยายามทำคือ การแสวงหาความเป็นเอกภาพกับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้การนำของพลเรือน มีบางครั้งที่ผู้นำทางทหารได้เป็นผู้นำในพรรค แต่พวกเขาเหล่านั้นก็เข้าสู่อำนาจตามแนวทางที่พรรคคอมมิวนิสต์กำหนด และทำหน้าทางการเมืองมากกว่าจะเข้าไปแสวงหาอำนาจหรือผลประโยชน์ให้กองทัพ

กองทัพประชาชนเวียดนามดูเหมือนจะยอมรับภาระหน้าที่ 2 อย่างที่กำหนดโดยพรรคคอมมิวนิสต์หลังการเสร็จสิ้นภารกิจในการรวมชาติในปี 1975 เป็นต้นมา ที่ให้ทำหน้าที่ในการป้องกันประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมๆ กัน แม้ว่าความจำเป็นในการเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ระบบตลาด รวมถึงการถูกบีบบังคับจากระเบียบทางเศรษฐกิจของโลกหลังการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกแล้ว ทำให้เวียดนามต้องปรับปรุงกลไกทางเศรษฐกิจหลายอย่าง ซึ่งก็รวมทั้งวิสาหกิจที่อยู่ในมือกองทัพ ให้เป็นระบบและอยู่ระเบียบเดียวกับโลก แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว กองทัพประชาชนเวียดนามไม่ได้ยอมทำตามแนวทางนั้นเสียทั้งหมด หากแต่เลือกที่จะรักษาและเปลี่ยนหน่วยธุรกิจของกองทัพเองให้ตอบสนองต่อภารกิจของกองทัพให้ได้อย่างเหมาะสม

แต่ทางแพร่งของกองทัพเวียดนามคือ ภารกิจ 2 อย่างนี้ขัดกันโดยสภาพ กล่าวคือ การรักษาความมั่นคงแห่งชาตินั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่การทำธุรกิจต้องแสวงหากำไรโดยพยายามรักษาต้นทุนให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปัญหาคือจะจัดลำดับความสำคัญนี้อย่างไร เวียดเทลดูเหมือนจะเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่ง แต่ถึงที่สุดแล้ว เวียดเทลในฐานะบริษัทธุรกิจก็อาจจะจำเป็นต้องเลือกว่าจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ระหว่างการลงทุนเพื่อความมั่นคงของชาติและการแสวงหากำไรทางธุรกิจ 

ตารางการลงทุนของเวียดเทลในต่างประเทศ

ประเทศระบอบการเมืองตรายี่ห้อ สินค้าและบริการ
กัมพูชาอำนาจนิยมโทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ต, บรอดแบนด์
ลาวสังคมนิยมคอมมิวนิสต์โทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ต, บรอดแบนด์
เฮติลูกผสม (ทหารสลับกับการเลือกตั้ง)โทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ต, บรอดแบนด์
โมซัมบิค ประชาธิปไตยเสรีโทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ต, บรอดแบนด์
ติมอร์เลสเต ประชาธิปไตยเสรีโทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ต, บรอดแบนด์
แคเมอรูนประชาธิปไตยเสรีโทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ต, บรอดแบนด์
เปรูประชาธิปไตยเสรีโทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ต
แทนซาเนียอำนาจนิยมโทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ต, บรอดแบนด์
บูลันดีอำนาจนิยมโทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ต, บรอดแบนด์
พม่าเผด็จการทหารโทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ต, บรอดแบนด์
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน


[1] The Communist Party of Vietnam Selected document from 1st -12th National Congress (Hanoi: The Gioi Publisher, 2018) p. 488

[2] “over 80 Myanmar Military owned Telecom Tower Destroyed Nationwide “ The Irrawaddy 13 September 2021 (https://www.irrawaddy.com/news/burma/over-80-myanmar-military-owned-telecom-towers-destroyed-nationwide.html)

[3] Thayer, C. A. The political economy of military-run enterprises in Vietnam. In Chambers, P., & Waitoolkiat, N. (Eds.) Khaki Capital: The Political Economy of the Military in Southeast Asia. Copenhagen: NIAS,2017 p. 138

[4] Ministry of National Defense. Vietnam National Defense. (Hanoi: Ministry of National Defence, 2009) p. 118- 119.

[5] Ministry of National Defense 2019 Vietnam National Defense (Hanoi: Ministry of National Defense, 2019) p.94-95,125-127  

[6] Prashanth Parameswaran “Can Vietnam Get Its Military Out Of Business” The Diplomat 16 June 2018 (https://thediplomat.com/2018/06/can-vietnam-get-its-military-out-of-business/)

[7] International Trade Administration. Vietnam-Country Commercial Guide: Defense and Security Sector 15 September 2021 (https://www.trade.gov/country-commercial-guides/vietnam-defense-and-security-sector)

[8] Viet Tuan “Defense Ministry cuts back on business activities” VN Express 11 October 2018 (https://e.vnexpress.net/news/business/economy/defense-ministry-cuts-back-on-business-activities-3822311.html)

[9] “Myanmar Commander in Chief of Defense Service visits Vietnam” Nhan Dan 19 December 2019 (https://en.nhandan.vn/politics/item/8240802-myanmar-commander-in-chief-of-defence-services-visits-vietnam.html)

[10] ต้นฉบับโปรดดู https://thuvienphapluat.vn/van-ban/doanh-nghiep/decree-05-2018-nd-cp-the-charter-of-viettel-445079.aspx?v=d

[11] “Viettel establishes cyber security company” Vietnam plus 13 April 2019 (https://en.vietnamplus.vn/viettel-establishes-cyber-security-company/150997.vnp)

[12] “Viettel Cyber Security Company joins global anti-phishing organization” Nhan Dan 23 December 2020 (https://en.nhandan.vn/scitech/item/9426702-viettel-cyber-security-company-joins-global-anti-phishing-organisation.html)

[13] Kai Lin Tay “Beyond ISR: Is Vietnam developing an armed UAV?” Military balance blog IISS 16 October 2020 (https://www.iiss.org/blogs/military-balance/2020/10/vietnam-uav-isr)

[14] Nguyen Tran “Viettel develops many products for defense” Vietnam plus 3 July 2014 (https://www.vietnamplus.vn/viettel-phat-trien-nhieu-san-pham-phuc-vu-quoc-phong/247489.vnp)

[15] Mark Harris “Exclusive the Vietnamese cell phone company that tries to smuggle missile parts—and the spies who stopped it” One Zero 18 June 2019 (https://onezero.medium.com/exclusive-the-vietnamese-cellphone-company-that-tried-to-smuggle-missile-parts-and-the-spies-who-29c89e8b6b9a) VOA ภาคภาษาเวียดนาม ซึ่งเป็นกระบอกเสียงรัฐบาลสหรัฐ ได้นำเรื่องนี้มาเสนอเช่นกันเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2019 อ่านได้ใน https://www.voatiengviet.com/a/phoi-bay-vu-an-nhan-vien-viettel-bi-my-bo-tu-vi-buon-lau-vu-khi/5004759.html  

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save