fbpx
สุขภาพทางการเงิน คนอเมริกันคนไทย - ทำไมคล้ายๆ กัน

สุขภาพทางการเงิน คนอเมริกันคนไทย – ทำไมคล้ายๆ กัน

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

ในระยะหลังนี้ มีรายงานใหม่ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะรายงานที่สำรวจจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ต่างๆ รวมกับรายงานอื่นๆ แล้วนำมาวิเคราะห์ซ้ำอีกทีในแบบ meta-analysis มีรายงานหนึ่งที่เพิ่งออกมาแล้วผมคิดว่าน่าสนใจ แม้จะเป็นรายงานของคนอเมริกัน แต่กลับมีอะไรหลายอย่างคลับคล้ายสถานการณ์ในไทยไม่น้อย

 

รายงานที่ว่าก็คือ U.S. Financial Health Pulse (ไปดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่นี่) ซึ่งจัดทำโดย Center for Financial Services Innovation หรือ CFSI อันเป็นองค์กรที่พยายามใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของบริการทางการเงินในอเมริกา ไม่ใช่เพื่อให้บริการกับคนร่ำรวยนะครับ แต่เป้าหมายนั้นมุ่งตรงไปที่บริการทางการเงินให้กับคนรายได้ต่ำและคนรายได้ปานกลางในอเมริกา ซึ่งก็รวมทั้งเรื่องธุรกรรมต่างๆ การออม และเครดิตทั้งหลาย แถมยังลงทุนในนวัตกรรมด้านฟินเทค (fintech) ใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ ‘ชีวิตทางการเงิน’ ของคนอเมริกันทั่วไปดีขึ้นด้วย องค์กรนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฟอร์ด (Ford Foundation) เป็นหลัก ซึ่งก็น่าสนใจดีว่าองค์กรธุรกิจใหญ่ๆ อย่างฟอร์ด ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย

รายงานนี้ เขาไปสำรวจด้วยหลายวิธี โดยร่วมมือกับ University of Southern California Dornsife Center for Economic and Social Research ภายใต้โครงการใหญ่ที่น่าตื่นเต้นมากๆ โครงการนี้ชื่อ Understanding America Study (ดูรายละเอียดได้ที่นี่)

(ผมไม่รู้ว่าคนอื่นตื่นเต้นไหม แต่ผมตื่นเต้น เพราะคิดว่าคนอเมริกันก็ออกจะวิเคราะห์วิจารณ์ประเทศตัวเองกันอย่างหนักหนาสาหัสมาตลอดอยู่แล้ว แต่กระนั้นก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Understanding America Study หรือการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจอเมริกาออกมาอีก แล้ว ‘ประเทศกูมี’ ที่ขาดแคลนการวิเคราะห์วิจารณ์ประเทศตัวเองนั้น จะ ‘เข้าใจ’ ประเทศตัวเองได้อย่างไรกัน)

แต่ในที่นี้ จะไม่ชวนคุยถึง Understanding America Study ในภาพใหญ่นะครับ เพราะจะชวนคุณมาดูเฉพาะเรื่องทางการเงินของคนอเมริกันเท่านั้น เนื่องจากดูไปดูมา ผมว่ามันมีอะไรหลายอย่างคล้ายกับสังคมไทยไม่น้อย

เขาบอกว่า แม้อเมริกาจะบอกว่าประเทศของตัวเองเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น แต่ในทางการเงิน คนอเมริกันนับล้านๆ กำลังดิ้นรนและยากลำบาก (ฟังดูคุ้นๆ ไหมครับ เพราะ ‘ประเทศกูมี’ ก็บอกว่าเศรษฐกิจดี๊ดี แต่ไม่รู้ทำไมคนหาเช้ากินค่ำดูหน้าดำคร่ำเครียดจังเลย) โดยตัวเลขสรุปรวบยอดให้เห็นภาพใหญ่นั้น บอกว่าคนอเมริกันที่ financially healthy หรือว่ามีสุขภาพทางการเงินดี ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง คือมีการใช้จ่าย การออม การยืม และการวางแผนทางการเงิน ด้วยวิถีที่ทำให้ตัวเองสามารถแข็งแกร่งและติดตามโอกาสใหม่ๆ ในอนาคตได้นั้น มีอยู่แค่ 28 เปอร์เซ็นต์ หรือ 70 ล้านคนเท่านั้น

คนส่วนใหญ่ คือ 55 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 138 ล้านคน อยู่ในสภาวะที่เรียกว่า financially coping หรือยังต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ คืออยู่ตรงขอบๆ ยังชักหน้ามาปิดหลังได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะหล่นลงไปจากเวทีนี้ และอีก 17 เปอร์เซ็นต์ หรือ 42 ล้านคน อยู่ในภาวะ financially vulnerable หรือเปราะบางทางการเงิน คือต้องต่อสู้ในแทบทุกมิติทางการเงินของชีวิต

ตัวบ่งชี้สำคัญในรายงานนี้ที่อยากชวนคุณมาใช้ ‘วัด’ ตัวคุณเองด้วย มีอยู่ 8 เรื่อง ได้แก่

 

ตัวบ่งชี้ที่ 1: มีการใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้หรือเปล่า

พบว่าคนอเมริกัน 47 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าตัวเองใช้เงินเท่ากับหรือมากกว่ารายได้ที่หามาได้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดย 41 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเป็นภาวะที่ไม่ปกติในชีวิต แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ 26 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังนั้นเกิดขึ้นอย่างถาวร และต้องหันหน้าเข้าหาการกู้เงิน โดยคนที่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ถึง 43 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าจำเป็นต้องกู้

 

ตัวบ่งชี้ที่ 2: จ่ายค่าใช้จ่ายทุกอย่างตรงเวลาไหม

ในกลุ่มคนที่มีความเปราะบางทางการเงิน 93 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าไม่สามารถจ่ายเงินทุกอย่างได้หมด และ 87 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเงินคืนภาษีที่ได้มานั้น ต้องเอาไปจ่ายจนหมด ไม่มีเหลือเก็บ

 

ตัวบ่งชี้ที่ 3: มีเงินสดที่นำมาใช้ได้เฉพาะหน้ามากพอไหม

เรื่องนี้น่าสนใจนะครับ เพราะเขาลงลึกไปถึงเงินในบัญชีธนาคารกันเลยทีเดียว โดยเขาบอกว่า คนในกลุ่ม financially healthy นั้น มีเงินในบัญชีเฉลี่ย 44,000 เหรียญ (ก็ราวๆ หนึ่งล้านสามแสนบาท) ส่วนกลุ่ม financially coping จะมีเงินเฉลี่ยที่ 3,500 เหรียญ (หรือราวๆ แสนกว่าบาทนิดๆ) ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ financially vulnerable มีเงินให้ใช้น้อยมาก คือแค่ 300 เหรียญ (ราวๆ หมื่นบาท)​ เท่านั้นเอง

แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนจนไม่เก็บเงินนะครับ จากการสำรวจพบว่าไม่ว่าจะอยู่กลุ่มไหน ก็จะออมเงินทั้งนั้น แต่เนื่องจากรายจ่ายสูงเกินกว่ารายได้ บางกลุ่มจึงเหลือเก็บได้แค่นี้ เลยไม่รู้จะทำอย่างไร

 

ตัวบ่งชี้ที่ 4: แล้วถ้าเป็นเงินออมระยะยาวล่ะ (เช่นเงินที่เก็บไว้ใช้ตอนเกษียณ)

เงินก้อนนี้ไม่เหมือนเงินในข้อที่ 3 นะครับ เพราะส่วนใหญ่เป็นเงินที่เอาออกมาใช้ไม่ได้ เช่น เงินที่นายจ้างสมทบให้แบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนต่างๆ เขาพบว่าคนกลุ่ม financially healthy มีเงินก้อนนี้เฉลี่ย 106,000 เหรียญ กลุ่ม financially coping มีอยู่ 25,000 เหรียญ ส่วนกลุ่มสุดท้ายมีแค่ 4,000 เหรียญ เท่านั้น

 

ตัวบ่งชี้ที่ 5: มีหนี้ที่จัดการได้แค่ไหน

ไม่ใช่เรื่องผิดปกตินะครับที่คนเราจะเป็นหนี้ เช่น ต้องกู้มาซื้อบ้านซื้อรถอะไรทำนองนั้น แต่คำถามก็คือ เงินที่เรากู้มานั้น เรา ‘จัดการ’ ได้แค่ไหน ซึ่งก็พบว่าในกลุ่มที่จัดการกับหนี้ไม่ได้ (คือมีหนี้มากเสียจนใช้ไม่หมด) 27 เปอร์เซ็นต์ ของทุกกลุ่มบอกว่าต้องเอาเงินไปใช้หนี้จนไม่เหลือเงินเก็บหลังเกษียณ 13 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่ม financially coping บอกว่า เป็นหนี้เสียจนเกษียณไม่ได้ ต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆ และ 42 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่ม financially vulnerable บอกว่าเป็นหนี้จนไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลอะไรได้เลย ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ 38 เปอร์เซ็นต์ ของทุกกลุ่ม บอกว่าตัวเองไม่น่าจะมีชีวิตที่ปลอดหนี้ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

ตัวบ่งชี้ที่ 6: มีเครดิตสกอร์ที่ดีหรือเปล่า

ตรงนี้ค่อนข้างคละๆ นะครับ เพราะ 15 เปอร์เซ็นต์ บอกว่ามีเครดิตสกอร์ที่ค่อนข้างดี 12 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าแย่ และ 6 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าไม่รู้เลยว่าตัวเองมีเครดิตสกอร์เท่าไหร่

 

ตัวบ่งชี้ที่ 7: มีประกันที่เหมาะสมหรือเปล่า

เรื่องนี้เรื่องใหญ่มากสำหรับสังคมอเมริกัน เพราะชีวิตแทบจะขึ้นอยู่กับการทำประกันภัยในแทบทุกมิติ

เขาพบว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของคนกลุ่ม financially coping นั้น ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่าประกันของตัวเองจะมากพอคุ้มครองได้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน กลุ่ม financially vulnerable ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะตัวเลขนี้พุ่งขึ้นไปที่ 79 เปอร์เซ็นต์ แล้วที่สำคัญก็คือ คนในทั้งสองกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าจะต้องซื้อหาประกันให้ตัวเองตั้งแต่ต้นด้วยนะครับ เพราะการซื้อประกันต้องใช้เงินเพิ่ม นั่นทำให้ยิ่งเกิดความเสี่ยงทางการเงินมากขึ้นไปอีก

 

ตัวบ่งชี้ที่ 8: มีการวางแผนการใช้จ่ายล่วงหน้าแค่ไหน

เรื่องนี้คนอเมริกัน 48 เปอร์เซ็นต์ บอกว่ามีการทำบัญชีค่าใช้จ่ายนะครับ และ 41 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าได้กันเงินเอาไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินแล้ว

 

ข้อสรุปอีกสองสามอย่างที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเป็นคนที่ตอนเด็กๆ ต้องต่อสู้ดิ้นรนทางการเงิน (แปลว่าเกิดมาในครอบครัวที่ฐานะยากจนน่ะนะครับ) พอโตขึ้นก็มักจะยังต้องต่อสู้ดิ้นรนต่อไปอีกไม่สิ้นสุด พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเลื่อนชั้นทางฐานะและทางสังคมในสังคมอเมริกันนั้น เกิดได้ยากขึ้นกว่าเดิมมาก โดยคนผิวดำและคนฮิสแปนิกจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากกว่าคนกลุ่มอื่น (มีรายงานของ Pew Research Center บอกว่าคนเอเชียกลับกันนะครับ เพราะคนเอเชียรวยขึ้น) โดยรายงานของ CFSI นี้บอกด้วยว่า การศึกษาและการมีงานทำจะช่วยชดเชยผลของเรื่องนี้ได้

รายงานนี้ยังบอกด้วยว่า ค่าแรงในอเมริกานั้น ถ้านับจากปี 1973 แล้ว เพิ่มขึ้นแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเรื่องบ้าน อาหาร และสุขภาพ เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า นั่นทำให้ค่าครองชีพหรือ costs of living สูงขึ้นตามไปด้วย และเป็นสิ่งที่ทำให้คนอยู่ได้ยากขึ้น

ผลการสำรวจนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นกำลังอยู่ในขาขึ้น (แต่ตอนนี้อาจจะไม่ค่อยขึ้นเท่าไหร่แล้วนะครับ) อัตราการว่างงานต่ำ และนักการเมืองก็กำลังเฉลิมฉลองบอกว่าเศรษฐกิจของประเทศแข็งแกร่ง ทว่าพอมองไปที่คน ‘รากหญ้า’ จริงๆ (ซึ่งในที่นี้คือคนชั้นกลางอเมริกัน) เราจะพบว่าภาพไม่ได้สวยสดงดงามเหมือนที่พวกนักการเมืองป่าวประกาศเลย

ถ้าพอมีเวลา อยากชวนมาอ่านรายงานฉบับนี้แบบละเอียดๆ เพราะเขาสรุปมาให้เป็นตัวเลขและอินโฟกราฟิกที่อ่านง่ายเอาไว้แล้วครับ

อ่านแล้วอาจต้องลองถามตัวเองว่า เอ…ประเทศของคุณมี แล้วประเทศฉันล่ะ มีสภาวะแบบนี้ด้วยเหมือนกันหรือเปล่าหนอ รวยกระจุก จนกระจาย

 

ทำไมถึงเป็นแบบนี้?

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save