fbpx
อเมริกาบ้าตัวเลข : ว่าด้วยการสร้างชาติด้วยข้อมูล

อเมริกาบ้าตัวเลข : ว่าด้วยการสร้างชาติด้วยข้อมูล

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

“ข้อมูลเมื่อมาถูกที่ถูกเวลา อานุภาพของมันร้ายกว่าอาวุธสงครามเสียอีก”

ซีรีส์เรื่อง Westworld (2018 – ปัจจุบัน)

 

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา นอกเหนือจากท่าทีของโดนัลด์ ทรัมป์ที่เรียกได้ว่าเป็นสีสันของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน อีกอย่างหนึ่งที่เป็นพระเอกก็คือ ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ที่บรรดาสำนักข่าวเก็บเกร็ดมาเล่าสู่กันฟัง มันให้ความรู้สึกไม่แตกต่างจากการดูซุปเปอร์โบว์ลจริงๆ

สำหรับประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่าง ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี หรือออสเตรีย ประวัติศาสตร์ของพวกเขาคือ โบราณสถาน ศิลาจารึก หรือคัมภีร์ต่างๆ ฯลฯ แต่สำหรับสหรัฐฯ ประเทศเกิดใหม่ ประเทศแห่งการอพยพ ประเทศที่ใครต่อใครมักพูดอย่างดูแคลนว่าเป็นดินแดนไร้ราก เป็นหม้อหลอมทางวัฒนธรรมแกงโฮะที่รวมทุกอย่างไว้ด้วยกัน ด้วยความที่สร้างประเทศมาไม่ถึง 300 ปีจากการเป็นดินแดนอาณานิคมจนกระทั่งได้รับอิสรภาพ เติบโตมาพร้อมกับความหลากหลายของผู้คนและความเชื่อในเสรีภาพในการใช้ชีวิต

ท่ามกลางความไร้รากของสหรัฐฯ พวกเขากลับสามารถสร้างความมั่งคั่งจนกลายเป็นมหาอำนาจ

และเบื้องหลังนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะ ‘ข้อมูล’

เรื่องนิสัยบ้าตัวเลขของคนอเมริกันนี่สะท้อนออกมาในทุกๆ อย่างนะครับ ที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ กีฬาของคนอเมริกัน ตัวเลขสถิติต่างๆ เป็นความบันเทิงที่ไม่น้อยไปกว่าการขับเคี่ยวกันของผู้เล่นในสนาม

ความสนอกสนใจในข้อมูลและตัวเลขเหล่านี้มีที่มาครับ กล่าวคือในสมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สหรัฐฯ ได้เรียนรู้การเก็บข้อมูลต่างๆ จากประเทศแม่อยู่พอสมควร ครั้นเมื่อเป็นอิสระ อเมริกายังคงให้ความสำคัญต่อการเก็บข้อมูลต่างๆ นอกเหนือจากข้อมูลประชากร ส่วนหนึ่งเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในยุคแรกเป็นไปอย่างรวดเร็วทั้งการค้าฝ้าย ค้าทาส การทำเหมือง การเป็นศูนย์กลางของการส่งสินค้า

รวมถึงในยุคถัดมาเมื่อเฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตรถยนต์ฟอร์ดเริ่มคิดหาทางการปรับเปลี่ยนการผลิตโดยใช้การผลิตแบบสายพานเข้ามา นำสหรัฐฯ ไปสู่การเป็นประเทศผู้นำการผลิตสินค้าแบบ mass production อย่างแท้จริง การเกิดขึ้นของการผลิตแบบใหม่ทำให้เกิดชนชั้นกลาง พร้อมกันนั้น ก็เกิดนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงการเก็บข้อมูลครั้งใหญ่ เพราะระบบสายพานก็เข้ามาเปลี่ยนกระบวนการการเก็บข้อมูลด้วยเช่นกัน โดยระบบสายพานทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำ ทำให้พวกเขาสามารถเห็นต้นทุนและข้อมูลของแต่ละส่วนอย่างชัดเจนมากขึ้น

ในต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อเริ่มมีสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ มากขึ้น มหาวิทยาลัยเหล่านี้สร้างนักวิจัยและเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลใหม่ๆ จุดเปลี่ยนของวิวัฒนาการของการเก็บข้อมูลอาจอยู่ที่ปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งก็คือช่วงปี 1889 เป็นต้นมา หน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เริ่มเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มผลิตผลของประเทศ (Productivity Trend Index) ขึ้นมาเพื่อศึกษาผลผลิตที่ได้จากภาคแรงงานต่อชั่วโมงในการทำงาน เพื่อหาทางพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับภาคเอกชนและกลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศ ทั้งหมดที่ว่าก็นำไปสู่การก่อตั้ง United State Census Berue (UCB) ในเวลาต่อมา

UCB ถือเป็นหน่วยงานที่ทำการสำรวจประชากรและเก็บรวบรวมสถิติสำคัญหลายอย่างของประเทศไว้ หน่วยงานนี้ก่อตั้งเมื่อปี 1907 และกลายเป็นหนึ่งในรากฐานทางวัฒนธรรมของสหรัฐฯ นั่นก็คือจะทำอะไรต้องมีข้อมูล ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาก็กลายร่างเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลประชากรของประเทศมากที่สุดในโลก ทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผยให้ประชาชน ทุกสิบปีสหรัฐอเมริกาจะสำรวจและวิเคราะห์ทุกแง่มุมของประชากรโดยใช้งบประมาณสูงมาก เงินที่ใช้มาจากการแบ่งสันปันส่วนจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐมารวมกันเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูล และใช้เป็นฐานในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ

เบ้าหลอมความเชื่อเรื่องข้อมูลแบบนี้ ทำให้วงการอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาต่างให้ความสำคัญกับตัวเลขและข้อมูลไม่แพ้กัน เห็นได้ทั้งจากวงการธุรกิจ ทุกวันนี้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีบริษัทวิจัยข้อมูลมากที่สุดในโลกและครอบคลุมเกือบทุกด้านของความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ตั้งแต่เก็บข้อมูลการใช้ยาสีฟันของพวกเรา กาแฟที่เราดื่มไป จนถึงข้อมูลเรื่องการเคลื่อนที่ของแสงในจักรวาล

สหรัฐฯ ยังเป็นชาติแรกของโลกในการคิดค้นการเก็บข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ โปรแกรมการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลอย่างวินโดวส์ หรือแมคอินทอช หล่อหลอมให้ข้อมูลเป็นเรื่องใกล้ตัวคนอเมริกันเข้าไปอีก ความจริงที่ว่าคนอเมริกันเป็นคนกลุ่มแรกของโลกที่มีโอกาสได้ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลก่อนชาติไหน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเอาเครื่องมือเหล่านี้ไปพัฒนาการเก็บข้อมูลของตัวเองได้ในวงกว้างก่อนส่วนอื่นของโลก และสามารถต่อยอดพัฒนาข้อมูลของตัวเองได้โดยอิสระ ไม่ต้องพูดถึงว่าเมื่อมีอินเทอร์เน็ตตามาในยุคทศวรรษที่ 1970 นั้น ยิ่งทำให้การเก็บข้อมูลของสหรัฐฯ ทำได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นเท่าไหร่

จุดเปลี่ยนอีกครั้งของการเก็บข้อมูลของสหรัฐฯ ก็คือหลังเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐอเมริกาหันมาให้ความสนใจในการเก็บข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจัง และเก็บถี่ขึ้นมากกว่าการเก็บสำมะโนประชากรปกติ ทำให้ทุกวันนี้สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีข้อมูลเกี่ยวกับประชากรของตัวเองมากที่สุดและหลากหลายที่สุดในโลก แม้ว่าจะมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัวที่เข้มงวด แต่กระนั้น คนอเมริกันส่วนหนึ่งก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการทำเช่นนี้หลังเหตุการณ์ 9/11 และการก่อการร้ายอีกหลายครั้งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคุณจะพอใจหรือไม่ คนอเมริกันก็ถูกเก็บข้อมูลทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวอยู่ทุกวัน รัฐบาลกลางยังทำงานร่วมกับเอกชนในการนำข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงกลาโหมและเอฟบีไอของสหรัฐฯ ที่ร่วมมือกับอเมซอนผ่านบริการ Amazon Cloud ในการติดตามลูกค้าที่ซื้อสินค้าสุ่มเสี่ยงต่อการนำเอาไปทำเป็นอาวุธสังหารได้ โดยเฉพาะช่วงหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 เพื่อป้องกันเหตุร้ายและยังมองหากลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะก่อเหตุกราดยิงแบบ mass shooting ซึ่งเกิดถี่มากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ข้อมูลที่มีมากมายและเก็บมาอย่างยาวนานของสหรัฐฯ ก็เหมือนกับบ่อน้ำมันดิบ ณ เวลานี้พวกเขาพร้อมแล้วที่จะขุดและใช้มันให้เป็นขุมทรัพย์ซึ่งแน่นอนว่าการที่ประเทศอื่นๆ จะไล่ตามให้ทัน โดยเฉพาะมหาอำนาจใหม่อย่างจีน แม้ว่าดูเหมือนจะพอตีตื้นได้บ้าง ก็ยังห่างกันหลายขุม แต่ก็ประมาทไม่ได้จริงๆ ซึ่งนั่นก็ไม่แปลกที่สหรัฐฯ พยายามกีดกันความก้าวหน้าของจีนในทุกรูปแบบ

ครั้งหน้าถ้าไม่ลืม ผมมาชวนคุยกันเรื่องขุมพลังใหม่อย่างจีนกับข้อมูลที่พวกเขามีว่า พญาอินทรีย์อย่างอเมริกาควรกลัวแค่ไหนกับการมาถึงของมังกรยักษ์แห่งเอเชีย

 

อ้างอิง

Chapter W Productivity and Technological Development : Productivity Indexes (Series W 1-81)

Americans’ Views About Data Collection and Security

Combining Data – A General Overview

Data Linkage Infrastructure

Deconstructing the Digital Divide: Identifying the Supply and Demand Factors That Drive Internet Subscription Rates

Internet Data Collection

Data Collection Methods

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save