fbpx
เทรนด์ประชากรอเมริกัน ภาพสะท้อนเทรนด์ประชากรโลก

เทรนด์ประชากรอเมริกัน ภาพสะท้อนเทรนด์ประชากรโลก

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

นันทภัค คูศิริรัตน์ ภาพประกอบ

 

ทุกๆ ปี จะมีการจัดประชุมของเหล่านักประชากรศาสตร์ในอเมริกาที่มารวมตัวกันเป็น Population Association of America โดยปีนี้ คนเหล่านี้ไปชุมนุมรวมตัวกันที่เดนเวอร์ในโคโลราโด เพื่อถกเถียงหารือกันถึง ‘เทรนด์’ หรือแนวโน้มประชากรในอเมริกา ว่าจะเป็นอย่างไร

ผลสรุปที่ได้ออกมานั้นน่าสนใจมากนะครับ โดย Pew Research Center เขาไปเก็บข้อมูลแยกแยะออกมาเป็นเรื่องๆ ก็เลยจะนำข้อมูลเหล่านี้มาเล่าต่อ เพราะแม้ว่าเทรนด์พวกนี้ไม่ใช่เทรนด์ของไทย แต่ก็มีหลายอย่างคล้ายกัน และถึงไม่คล้าย ก็เป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เราเห็นหรือวางแผนประชากรของเราได้เหมือนกัน

 

1. ปีหน้า คือ 2019 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อเมริกันเลย ที่ชนชาวมิลเลนเนียลส์ จะมีจำนวนมากกว่าเหล่าเบบี้บูมเมอร์

 

ถามว่าเทรนด์นี้บอกอะไรเราได้บ้าง

แรกสุด ก็ต้องบอกคุณก่อนว่า เบบี้บูมเมอร์ (ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วถึงความบูม) เป็นกลุ่มประชากรที่ ‘ครองโลก’ มานานยาว โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือคุณประยุทธ์ ประวิตร ที่ครองอำนาจยาวนานตามสัญญาอยู่ในเมืองไทยตอนนี้ รวมไปถึงผู้คนที่นอนหลับในการประชุมตัดสินอนาคตชาติทั้งหลาย – ก็ล้วนแต่เป็นเบบี้บูมเมอร์

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่นั่นเอง ที่เบบี้บูมเมอร์จะคิดทำนโยบายต่างๆ เพื่อเบบี้บูมเมอร์ หรือไม่ก็เพื่ออนาคตของโลก (หรือของประเทศ) ในแบบที่เบบี้บูมเมอร์เห็นว่าควรจะเป็น โดยใช้อุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อของตัวเป็นเครื่องมือในการนำทาง

ในอเมริกาเมื่อปี 2016 มิลเลนเนียลส์มีจำนวน 71 ล้านคน และค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนเกือบจะมีจำนวนมากเท่ากับเบบี้บูมเมอร์ (คือ 74 ล้านคน) แล้ว ดังนั้น จึงคาดการณ์กันว่า ถ้าโลกไม่แตกไปเสียก่อน อย่างไรเสีย มิลเลนเลียลส์ก็จะต้องมีจำนวนมากกว่าเบบี้บูมเมอร์แน่ๆ ในปี 2019 ซึ่งเหล่ามิลเลนเนียลส์นั้นหมายถึงคนที่มีอายุ 22 ถึง 37 ปี ในปี 2018

ตอนนี้ มิลเลนเนียลส์ถือเป็นแรงงานที่มากที่สุดของสหรัฐฯ แล้วนะครับ คือมีสัดส่วนอยู่ที่ 35% แซงเจนเนอเรชั่น X ไปเมื่อปี 2016 ส่วนบูมเมอร์นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะหลุดไปเป็นอันดับสามนานมาแล้ว เนื่องจากจำนวนมากเกษียณอายุตัวเองไป

แต่เรื่องสำคัญกว่าตลาดแรงงานก็คือการเมือง เพราะในสังคมประชาธิปไตยเขาใช้วิธีโหวตกัน ดังนั้นถ้ามิลเลนเนียลส์มีจำนวนมากกว่าบูมเมอร์ ก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ในปี 2016 มิลเลนเนียลส์ที่เลือกตั้งได้มี 27% บูมเมอร์มี 31% คือไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ แต่กระนั้นก็ต้องบอกด้วยว่า มิลเลนเนียลส์ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันแค่ 51% (ของประชากรมิลเลนเนียลส์ท้ั้งหมด) ในขณะที่บูมเมอร์ออกมา 69% ก็แปลว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจจะยังไม่เกิดขึ้นแบบฉับพลันทันทีเท่าไหร่นัก

 

2. คนอเมริกันที่จะอยู่ในครอบครัวหลากรุ่นมีมากขึ้น

 

คำว่าหลากรุ่นหรือ Multigenerational นั้น หมายถึงการที่ในครอบครัวหนึ่งๆ มีคนหลายๆ รุ่นอยู่รวมกัน ซึ่งเรื่องนี้อาจฟังดูไม่ค่อยแปลกเท่าไหร่สำหรับคนไทยในชนบท เพราะเราอยู่กันมาแบบมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาอยู่แล้ว และมีสำนึกแบบ Collectivism คืออยู่กันเป็นแบบรวมหมู่ มีลำดับชั้นทางสังคมและวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเป็นแบบแผน

แต่ในสังคมอเมริกัน ในราว 60 ปี ที่ผ่านมา การอยู่หลากรุ่นในครอบครัวเป็นเรื่องที่ลดน้อยลงอย่างมาก ในปี 1950 คนอเมริกันที่อยู่ในครอบครัวหลากรุ่นมีอยู่ราว 21% แต่พอถึงปี 1960 ก็ลดลงเหลือเพียง 15% จากนั้นก็เหลือ 13% 12% ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาหลังปี 2000 ไต่ขึ้นมาที่ 15% 17% จนถึง 20% ในปี 2016

20% ในปี 2016 นั้น ต้องบอกว่า ‘เยอะ’ กว่า 21% ในปี 1950 มากนะครับ เพราะประชากรเพิ่มขึ้นมาก ในปี 1950 ประชากรที่อยู่กันแบบหลากรุ่นนั้นมีแค่ 32.2 ล้านคนเท่านั้น แต่ในปี 2016 ตัวเลขนี้พุ่งขึ้นไปที่ 64.0 ล้านคน เลยทีเดียว

ฟังดูเผินๆ เราอาจคิดว่า นี่ไง ในที่สุดคนอเมริกันก็หันกลับมาให้คุณค่าของครอบครัวมากขึ้น คือกลับมาอยู่บ้านกันมากขึ้น เพราะเราคิดว่าช่วง 60 ปี ที่ผ่านมา คนหนุ่มสาวนิยมออกไปอยู่เองนอกบ้านกันมาก คือแยกบ้านออกไปหลังเรียนจบหรือแม้แต่ตอนเข้ามหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ ดังนั้นการที่มีครอบครัวหลากรุ่นมากขึ้น ย่อมแปล (โดยใช้แว่นของความเป็นไทยๆ ไปมอง) ได้ว่าคนเหล่านี้กลับมา ‘อยู่บ้าน’ กันมากขึ้น

แต่ที่จริงต้องบอกว่า ปัจจุบันนี้ สังคมอเมริกันมีสิ่งที่เรียกว่า Shared Household หรือการอยู่ร่วมกันแบบ ‘แชร์กัน’ คือเป็น ‘ครัวเรือน’ หรือ Household ที่อาจไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดแบบครอบครัวอยู่ด้วย โดย Shared Household นั้น มีจำนนวนมากถึง 78.6 ล้านคน หรือราว 32% ของประชากรผู้ใหญ่ในอเมริกาทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการแชร์กันระหว่างคนที่อยู่หลากรุ่นด้วย ดังนั้น แนวคิดของครอบครัวหลากรุ่นที่ว่า จึงอาจไม่เหมือนกับครอบครัวปู่ย่าตายายแบบไทยๆ เสียทีเดียว

 

3. คนยังคงไม่อยากแต่งงาน

 

การแต่งงานกันแบบเป็นสถาบัน มีการรับรองทางกฎหมายและศาสนานั้น ยังคงมีแนวโน้มจะลดต่ำลงเรื่อยๆ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนอเมริกันเลิกมีความสัมพันธ์กันนะครับ ทว่าตัวเลขของ ‘คู่’ ที่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน (Cohabitation Among Unmarried Partners) นั้น เพิ่มจำนวนสูงขึ้น ในปี 2016 มีจำนวนมากถึง 18 ล้านคน คือเพิ่มขึ้น 29% นับจากปี 2007

แล้วคู่ที่อยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงานนี่ ไม่ได้แปลว่าไม่มีลูกนะครับ เพราะตัวเลขของ ‘พ่อแม่ที่ไม่ได้แต่งงาน’ (Unmarried Parents) ไม่ว่าจะแบบแยกทางกันเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือที่ยังอยู่ด้วยกัน ก็เพิ่มสูงขึ้น จากในปี 1968 มีอยู่แค่ 7% ในปี 2017 เพิ่มพุ่งขึ้นไปเป็น 25% เลยทีเดียว หรือพูดได้ว่า คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ที่อาศัยอยู่กับลูกในครัวเรือนเดียวกันนั้น มีอยู่ 1 ใน 4 ที่ไม่ได้แต่งงาน

ที่สำคัญ ยังพบด้วยว่าคนที่แต่งงานกับไม่แต่งงานนี่ มีช่องว่างทางการศึกษาระหว่างกันด้วยนะครับ อย่างในปี 2015 ผู้ใหญ่อายุ 25 ปีขึ้นไป ที่เรียนจนจบมหาวิทยาลัยนั้น มีอยู่ 65% ที่แต่งงาน แต่ถ้าเป็นคนที่เรียนน้อยกว่านั้น จะมีสัดส่วนคนที่แต่งงานอยู่ที่ 55% หรือต่ำกว่า แต่ถ้าเป็นราว 25 ปีก่อนหน้านี้ ไม่มีคนกลุ่มไหนเลยที่มีอัตราการแต่งงานต่ำกว่า 60%

เรื่องศาสนาก็มีส่วน เพราะถ้าดูประชากรกลุ่มที่นับถือศาสนาที่เคร่งๆ เช่น มอร์มอน, เพรสไบทีเรียน หรือลูเธอรัน พบว่าราว 6 ใน 10 จะแต่งงงาน แต่กลุ่มอื่นจะน้อยกว่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เป็น Atheist นั้น จะแต่งงานเพียง 4 ใน 10 เท่านั้นเอง

 

4. โลกจะมีผู้อพยพเพิ่มขึ้น แต่ผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ น้อยลง

 

จากตัวเลขล่าสุดของสหประชาชาติ พบว่าจำนวนคนที่อาศัยอยู่นอกประเทศที่ตัวเองเกิดในปี 2017 มีจำนวนมากถึง 250 ล้านคน โดยประเทศในแอฟริกา อย่างเช่น ซูดานใต้, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, เอริเทรีย, นามิเบีย, รวันดา, บอตสวานา, ซูดาน หรือบูรุนดี คือ 8 ใน 10 ประเทศแรกที่ผู้คนอพยพออกนอกประเทศตัวเองมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2010 แต่แน่นอน ประเทศที่มีประชากรอพยพออกอันดับหนึ่ง หนีไม่พ้นซีเรีย ซึ่งประมาณว่าในปี 2017 มีผู้อพยพชาวซีเรียมากถึงราว 6,860,000 คน ซึ่งผู้อพยพเหล่านี้ ส่วนหนึ่งจะเข้าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ดี ตัวเลขของผู้อพยพที่เป็น ‘ผู้ลี้ภัย’ แบบ Refugee ในสหรัฐอเมริกานั้น ลดลงนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา โดยการลดลงนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศเลย พบว่ามีอยู่ 46 รัฐ ที่ผู้อพยพลดลง แต่ถ้าดูผู้อพยพแยกตามศาสนา จะพบว่าผู้อพยพที่เป็นคริสต์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้อพยพที่เป็นมุสลิมลดลง ตัวเลขพวกนี้จึงบอกอะไรๆ ได้หลายอย่าง

 

5. คนมาเรียนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

 

ที่น่าสนใจก็คือ แม้เหล่า Refugee จะลดจำนวนลง แต่นักศึกษาใหม่ที่สมัครเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของอเมริกากลับเพิ่มขึ้น คือมีการสมัครเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ถ้าเทียบจากปี 2008 และ 2016 คือจาก 179,000 ราย มาเป็น 364,000 ราย โดยเกินครึ่งเป็นนักศึกษาที่มาจากจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ (คือสามชาตินี้คิดเป็น 54%)

อีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาพำนักในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ก็คือกลุ่มคนจากเอลซัลวาดอร์, กัวเตมาลา หรือฮอนดูรัส เพิ่มขึ้น 25% ถ้าเทียบระหว่างปี 2007 กับ 2015 แต่คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยเรียกตัวเองว่าเป็นฮิสแปนิก (Hispanic) กันแล้ว

 

5 เทรนด์ประชากรอเมริกันที่ว่ามาทั้งหมดนี้ แม้บางอย่างจะเป็นเรื่องเฉพาะ (เช่นเรื่องฮิสแปนิก) แต่หลายเรื่องก็เป็นเทรนด์หรือแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย จึงสะท้อนให้เราเห็นความเป็นไปในโลกหลายอย่าง

ที่สำคัญก็คือ เทรนด์เหล่านี้จะช่วยเป็นฐานให้เราวางแผนประชากรของไทยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save