fbpx
อยากเข้าใจมาเลเซีย ต้องเข้าใจ ‘เชื้อชาตินิยม’

อยากเข้าใจมาเลเซีย ต้องเข้าใจ ‘เชื้อชาตินิยม’

ผู้โดยสารชาวไทยคนหนึ่งลงจากเครื่องบินที่สนามบินนานาชาติ KLIA จับแท็กซี่เข้ากรุงกัวลาลัมเปอร์ในยามบ่าย คนขับเชื้อสายมลายูวัยกลางคนมองผ่านกระจกมองหลัง ยิ้มอย่างเป็นมิตรแล้วยิงคำถามยอดนิยม “Where are you from?” (คุณมาจากไหน)

“ไทยแลนด์”  ผู้โดยสารตอบ
“หรือครับ แล้วคุณเป็นคนจีนหรือเปล่า” คนขับเหลือบมองกระจกอีกครั้งด้วยท่าทางสนอกสนใจ
“ไม่ใช่.. ไอมาจากไทยแลนด์ ไม่ใช่ไต้หวัน ไทยแลนด์ แบงค็อก ยูโนว์?”
“เยสไอโนว์.. แต่ว่าคุณเป็นคนจีนหรือเปล่า..”  


เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปก่อนแท็กซี่จะถึงจุดหมาย ผู้โดยสารลงจากรถด้วยความฉงนว่าเหตุใดคนขับจึงไม่รู้ความแตกต่างระหว่างคนไทยกับคนจีน ส่วนคนขับนั้นเล่าก็ดูท่าจะงุนงงกับหลากทฤษฎีว่าด้วยคนไทยมาจากไหนที่ผู้โดยสารสาธยายแทนคำตอบ

เวลาผ่านไปนับปีกว่านัยยะแห่งคำถามนั้นจะกระจ่าง คำถามธรรมดาจากปากของคนขับรถธรรมดาแท้จริงแล้วเป็นสิ่งไม่ธรรมดาในสายตาผู้รู้สังคมการเมืองมาเลเซีย เพราะมันเป็นการเปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนเข้าสู่ปมอันลึกซึ้งซับซ้อนอันเป็นสักษณะเฉพาะของมาเลเซีย นั่นคือปม ‘เชื้อชาตินิยม’ หยั่งรากลึกลงในใจของทุกสถาบันและคนทุกหมู่เหล่ามานับชั่วคน

สำหรับชาวมาเลเซีย ‘เชื้อชาติ’ สำคัญกว่า ‘สัญชาติ’ เพราะมันเป็นสิ่งละเอียดอ่อนที่ต้องจัดการอย่างระมัดระวังในชีวิตประจำวันเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอันไม่พึงประสงค์ 

บาดแผลจากเหตุรุนแรงในประวัติศาสตร์ที่ยังทิ้งรอยเป็นความอ่อนไหวทางสังคมทำให้สังคมมาเลเซียมี ‘กฏที่ไม่ได้เขียนไว้’ ซึ่งคอยกำกับท่าทีในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างๆ อย่างเหมาะสมตามอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ กฏแบบเดียวกันยังพบในวิถีปฏิบัติของสถาบันหรือองค์กรวิชาชีพบางแห่ง เช่น สื่อมวลชนมาเลเซียจะไม่ระบุเชื้อชาติของบุคคลผู้ตกเป็นข่าวเพื่อเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่ามีทัศนะแบ่งแยกทางเชื้อชาติ และปัญหาที่อาจมาจากกลุ่มคนที่อ่อนไหวในเรื่องอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ เป็นต้น 

ดูเผินๆ สังคมมาเลเซียดูจะจัดการกับความหลากหลายเชื้อชาติได้อย่างราบรื่น แต่ลึกลงไปกลับพบว่า วาทกรรมเชิงแบ่งแยกเชื้อชาติยังแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงระดับโครงสร้าง อันรวมถึงวิธีคิดที่ฝังลึกในระบบราชการ Khoo Kay Kim นักประวัติศาสตร์ชาวมาเลเซียยกตัวอย่างถึงแบบฟอร์มของทางราชการ ซึ่งในช่อง ‘สัญชาติ’ (Bangsa) ที่ให้ประชาชนเลือก มีการระบุตัวเลือกทางเชื้อชาติคือ ‘มลายู’ ‘จีน’ และ ‘อินเดีย’ แทนที่จะเป็น ‘มาเลเซีย’ เพียงอย่างเดียว

สำหรับประเทศขนาดกลางที่มีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 80 กลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกัน มาเลเซียถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติไม่น้อย ประชากรต่างเชื้อชาติในมาเลเซียดำเนินชีวิตแบบสมัยใหม่ร่วมกันในทางการศึกษาและการงาน แต่หากเป็นทางครอบครัววัฒนธรรมและศาสนานั้น แต่ละกลุ่มมีอัตลักษณ์เฉพาะตนที่ไม่ปะปนกับกลุ่มอื่น 

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซียระบุว่าใน พ.ศ. 2562 มาเลเซียมีประชากรทั้งหมด 32.5 ล้านคน แบ่งเป็นประชากรเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลาม หรือกลุ่ม ‘ภูมิบุตร’  69 เปอร์เซ็นต์ เชื้อสายจีน 22.8 เปอร์เซ็นต์ เชื้อสายอินเดีย  6.8 เปอร์เซ็นต์ และอื่นๆ อีก 1 เปอร์เซ็นต์  แม้ประชากรกลุ่มภูมิบุตรจะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ แต่ประชากรเชื้อชาติอื่นโดยเฉพาะจีนก็ยังมีเปอร์เซ็นต์สูงจนอาจเรียกได้ว่าเป็นประชากรกลุ่มน้อยที่มีขนาดใหญ่ แถมยังมีนัยสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจไม่น้อย 

ปมต้องห้ามหนึ่งเดียว

ความขัดแย้งทางเชื้อชาติในมาเลเซียเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดมาเนิ่นนานหากสภาพแวดล้อมเป็นใจ สูตรของระเบิดชนิดนี้มีองค์ประกอบคือ สัดส่วนด้านเชื้อชาติของประชากร ความรุนแรงในประวัติศาสตร์ การครอบงำทางการเมือง วิถีการกระจายความมั่งคั่ง และความไม่ไว้วางใจระหว่างกันของประชากรต่างเชื้อชาติ  

นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์เชื้อชาตินิยมในมาเลเซียเป็นเมล็ดพันธุ์นำเข้าที่อังกฤษปลูกไว้ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 อันเป็นช่วงที่เจ้าอาณานิคมแสวงความร่ำรวยจากทรัพยากรดีบุก ทอง และไม้ ในคาบสมุทรมลายาและเกาะขนาดใหญ่รายรอบ ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษมาพร้อมกับทฤษฎีเชื้อชาติตามแบบยุโรป แล้วใช้มันในการจัดระบบการผลิตและกำหนดโครงสร้างสังคมด้วยจุดมุ่งหมายในการแสวงหาทรัพยากร 

ในขณะที่อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลักของชาวมลายูในพื้นที่ ชาวจีนที่อยู่ในมลายามาแต่เดิมมักเป็นพ่อค้าและช่างฝีมือ  เมื่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่และสวนยางเติบโตในอาณัติของอาณานิคม อังกฤษก็นำเข้าแรงงานจีนและอินเดียเข้ามาทำหน้าที่กุลีในเหมืองและสวนยาง มีชาวจีนไม่น้อยทำหน้าที่เป็นกุ๊กให้นายชาวอังกฤษ ส่วนชาวอินเดียและศรีลังกาที่รู้ภาษาอังกฤษเข้ามาทำหน้าที่เสมียน 

หลังจากที่มาเลเซียประกาศเอกราช คนเหล่านี้ก็ตั้งรกรากกลายเป็นประชากรมาเลเซีย ลูกหลานของเขายังยึดอาชีพที่คล้ายคลึงกับต้นตระกูล โดยลูกหลานของเสมียนอินเดียและศรีลังกามักยึดอาชีพทนายความ ส่วนลูกหลานของแรงงานชาวอินเดียจำนวนหนึ่งก็ยังคงเป็นแรงงาน ขณะที่แรงงานชาวจีนก็ปะปนกับชาวจีนดั้งเดิมแล้วทำการค้าขายจนกลายเป็นเครือข่าย SME สารพัดชนิดรวมทั้งกิจการร้านอาหาร เป็นที่มาของชาใส่นมและขนมปังปิ้งทาเนยหนาในร้านอาหารจีนตามท้องถนนในมาเลเซียปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม อังกฤษไม่ได้ทิ้งไว้แค่มรดกทางอาชีพ แต่ยังทิ้งมรดกทางความคิดที่เอื้อต่อวิถีเชื้อชาตินิยมในมาเลเซียจนถึงทุกวันนี้

อังกฤษจากมาเลเซียไปใน พ.ศ. 2500 รัฐต่างๆ ในคาบสมุทรมลายา รวมตัวกับเกาะซาบาห์ ซาราวัก และสิงคโปร์ ประกาศตัวเป็นสหพันธรัฐมาเลเซียใน พ.ศ. 2506 เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ยึดระบบรัฐสภาเลียนแบบระบบเวสมินสเตอร์ (Westminster) ของอังกฤษ แม้สหพันธรัฐมาเลเซียจะสมาทานระบบการเมืองแบบสมัยใหม่ แต่ลึกลงไปพรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างพร้อมใจดำเนินวิถีทางการเมืองแบบเชื้อชาตินิยม ด้วยการประกาศตนเป็นตัวแทนเฉพาะประชากรเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง

ระบบพรรคการเมืองแบ่งเป็นแนวร่วมรัฐบาลและแนวร่วมฝ่ายค้าน โดยแต่ละกลุ่มประกอบไปด้วยพรรคตัวแทนกลุ่มเชื้อชาติ ตัวอย่างเช่นพรรคอัมโน (United Malays National Organisation: UMNO) ประกาศเป็นตัวแทนชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายู ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอย่างดีเอพี (Democratic Action Party: DAP) เป็นตัวแทนชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน เป็นต้น  พูดง่ายๆ คือการแบ่งแยกทางเชื้อชาติในมาเลเซียได้ข้ามเส้นจากพื้นที่ทางเศรษฐกิจในยุคอาณานิคมไปสู่พื้นที่ทางการเมืองอย่างเต็มรูปหลังประกาศเอกราช

สัญญานเตือนว่าการเมืองเชื้อชาตินิยมอาจไม่ใช่หนทางที่ดีสำหรับมาเลเซีย มาถึงเพียงหกปีหลังการรวมชาติ ในรูปของการจลาจลทางเชื้อชาติและการสังหารหมู่ชาวจีนในกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2512 เหตุการณ์ ‘May 13’ นั้นไม่ได้ทำให้ผู้นำทางการเมืองหยุดทบทวนแต่ประการใด ตรงข้ามกลับทำให้ช่องว่างทางเชื้อชาติขยายกว้างขึ้นด้วยนโยบายที่ร้ายกาจกว่าเก่า ‘May 13’ ฝังความหวาดกลัวและไม่ไว้วางใจระหว่างพลเมืองลงในสังคม และทำให้ประเด็นเชื้อชาตินิยมกลายเป็นปมประการเดียวที่แตะต้องไม่ได้ในมาเลเซียจนถึงปัจจุบัน

การนองเลือดในวันนั้นเกิดขึ้นหลังการประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งพรรคดีเอพีในฝั่งฝ่ายค้านได้รับชัยชนะเหนือพรรคเอ็มซีเอ (Malaysian Chinese Association: MCA) ซึ่งเป็นพรรคฐานเสียงคนจีนในปีกรัฐบาลในรัฐสลังงอร์และเปรัก วันนั้น สมาชิกพรรคดีเอพีแห่แหนฉลองชัยชนะไปตามท้องถนนกรุงกัวลาลัมเปอร์ ก่อนจะปะทะกับกลุ่มชาวมลายูจนเหตุการณ์บานปลาย บันทึกหลายฉบับระบุว่าสถานการณ์เริ่มรุนแรงถึงชีวิตเมื่อกลุ่มชายชาวมลายูบุกเข้าโจมตีเและสังหารชาวจีนตามบ้านเรือนและท้องถนนทั้งในกัวลาลัมเปอร์และในรัฐสลังงอร์ที่ล้อมรอบกัวลาลัมเปอร์ การโจมตีดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสองวัน 

แม้บันทึกของทางการมาเลเซียไม่ระบุตัวกลุ่มบุคคลผู้ก่อความรุนแรง แต่รายงานของนายบ๊อบ รีส (Bob Reece) ผู้สื่อข่าวนิตยสารฟาร์อีสเทิร์นอีโคโนมิกรีวิว (Far Eastern Economic Review) ประจำมาเลเซียผู้อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่า พรรคอัมโนระดมกลุ่มยุวชนล่วงหน้าเพื่อเตรียมเดินขบวน ก่อนจะเกิดการโจมตีชาวจีนและปะทะกับประชาชนเชื้อสายจีนและอินเดียในชุมชนต่างๆ ในตอนค่ำ แม้จะมีการประกาศเคอร์ฟิวแล้ว แต่เขายังเห็นกลุ่มเยาวชนมลายูถือมีดและไม้ไผ่ปลายแหลมตั้งขบวนเดินอยู่ตามถนน 

นอกจากนายรีสแล้ว นักวิเคราะห์หลายรายยังเชื่อว่าการจราจลครั้งนี้เป็นการจัดการทางการเมือง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากพลเมืองเชื้อสายมลายูทั่วไป คำให้การของชาวจีนผู้อยู่ในสถานการณ์บางรายระบุว่า เพื่อนบ้านมลายูพยายามปกป้องพวกเขาด้วยการให้ซ่อนตัว หลังเหตุการณ์ยุติลง ทางการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิต 196 ราย แต่แหล่งข่าวนักการทูตให้สัมภาษณ์นิตยสารต่างประเทศว่ายอดผู้เสียชีวิตมีราว 600 ราย

หลังการนองเลือด รัฐบาลอัมโนประกาศภาวะฉุกเฉินให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และจัดตั้งสภาปฏิบัติการแห่งชาติทำหน้าที่แทนรัฐสภา ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เติงกูอับดุล ราห์มาน (Tunku Abdul Rahman) นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียลาออกจากตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี อับดุล ราซัก ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

พรรคอัมโนภายใต้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ อับดุล ราซัก เริ่มปรับกระบวนการเมืองของตนด้วยการชูอุดมการณ์ ‘มลายูเป็นใหญ่’ (Ketuanan Melayu) หรือระบอบการเมืองบนฐานของความมั่นคงและมั่งคั่งที่ไม่มีใครจะทำลายได้ของชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายู อุดมการณ์นี้กลายเป็นอาวุธทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้อัมโนครอบครองฐานเสียงชาวมลายูส่วนใหญ่ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น หัวหน้าพรรคอัมโนผูกขาดตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานกว่า 60 ปีก่อนจะพ่ายแพ้เป็นการชั่วคราวต่อแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2561

อุดมการณ์มลายูเป็นใหญ่ได้รับการปลูกฝังอย่างมีประสิทธิภาพในหมู่นักการเมืองพรรคอัมโนเอง ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่พรรคอัมโนประจำปี 2549 นายฮิชามูดดีน ฮูเซน (Hishammuddin Hussein) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบันที่ในครั้งนั้นเป็นประธานกลุ่มยุวชนอัมโน ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูกริชอันเป็นสัญลักษณ์ของพรรคอัมโนท่ามกลางเสียงโห่ร้องของสมาชิกพรรค รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์สเตรตส์ไทมส์ (Straits Times) ของสิงคโปร์อ้างคำพูดของผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งที่กล่าวว่า “อัมโนยอมเสี่ยงชีวิตและอาบเลือดเพื่อปกป้องเชื้อชาติและศาสนา อย่าเล่นกับไฟ ถ้าพวกเขาสร้างปัญหาต่อสิทธิของเรา  เราก็จะก่อปัญหาต่อสิทธิของพวกเขา” แม้ในรายงานจะไม่ระบุชื่อผู้กล่าวประโยคข้างต้น แต่เป็นที่รู้กันในมาเลเซียว่าเป็นคำพูดของนายฮิชามูดดีนนั่นเอง ผลของคำพูดนั้นทำให้ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งเชื้อชาติอื่นพากันหันเหจากแนวร่วมรัฐบาลเข้าสู่ฝ่ายค้านอย่างเห็นได้ชัดในการเลือกตั้งที่ตามมา สร้างผลกระทบรุนแรงต่อพรรคอัมโนจนนายฮิชามูดดีนต้องออกมาขอโทษต่อสาธารณะ

การนองเลือดปี 2512 ที่ตามมาด้วยชูอุดมการณ์มลายูเป็นใหญ่ ทำให้ประเด็นทางเชื้อชาติเป็นประเด็นของความกลัว เมื่อช่องว่างทางเชื้อชาติถูกสำทับด้วยการเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เสียงเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงที่แผ่วเบาอยู่แล้วก็แทบจะกลายเป็นความเงียบงัน   

เชื้อชาตินิยมกับหนามตำใจเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจ – การศึกษา

รัฐบาลอับดุล ราซักอ้างว่าการจลาจลฆ่าคนจีนเกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจระหว่างประชากรต่างเชื้อชาติ ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว ใน พ.ศ. 2513 รัฐบาลประกาศใช้ ‘นโยบายเศรษฐกิจใหม่’ หรือ ‘เอ็นอีพี’ (Malaysia’s New Economic Policy: NEP) ซึ่งให้สิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการศึกษาแก่ประชากรภูมิบุตร นับแต่นั้นเป็นต้นมา เอ็นอีพีที่แม้จะเปลี่ยนชื่อไปแล้วหลายครั้ง ก็ยังคงปรากฏอยู่ในรูปของแผนเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศ ทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจภายใต้อุดมการณ์มลายูเป็นใหญ่ จนบัดนี้ยังไม่มีผู้นำคนใดกล้าเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม

เอ็นอีพีนำไปสู่การให้สิทธิพิเศษทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการกลุ่มภูมิบุตร โดยเฉพาะในรูปของการเข้าถึงสัมปทานโครงการต่างๆ และการได้รับการหนุนช่วยจากรัฐ ผลที่ได้คือความบิดเบี้ยวทั้งในระดับโครงสร้างและการปฏิบัติ มีการดำเนินธุรกิจแบบประสานผลประโยชน์ระหว่างนักธุรกิจต่างเชื้อชาติแบบแปลกๆ เช่นในรูปแบบ ‘อาลีบาบา’ นั่นคือนักธุรกิจชาวจีน (บาบา) ผู้มีความสามารถในการจัดหาทุนและบริหารจัดการทางธุรกิจ จ่ายเงินให้นักธุรกิจเชื้อสายมลายู (อาลี) ผู้ได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจที่รัฐบาลกำหนดแล้วร่วมทุนกันเพื่อให้นักธุรกิจเชื้อสายจีนได้โอกาสในการทำธุรกิจที่ต้องการ โดยทั่วไป ธุรกิจนั้นจะมีชื่อนักธุรกิจมลายูปรากฏอยู่ในเอกสารอย่างเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริง นักธุรกิจชาวจีนคือผู้บริหาร ดำเนินการ และรับผลกำไร

นโยบายแบ่งแยกทางเชื้อชาติขยายขอบเขตไปถึงเรื่องพื้นฐานอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสด้านการศึกษา ที่เริ่มมีการกำหนดโควตาเข้ามหาวิทยาลัยไว้ 55 เปอร์เซ็นต์สำหรับนักเรียนกลุ่มภูมิบุตร หรือการทำโครงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่มหาวิทยาลัยสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งมีการออกเงินสนับสนุนให้นักเรียนเชื้อสายมลายูเข้าสู่โครงการดังกล่าว เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนมลายูได้เรียนสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะประยุกต์มากขึ้น ในขณะที่นักเรียนเชื้อชาติอื่นต้องออกเงินเอง หากจะเข้าคอร์สเดียวกันนี้

ในบรรดาประชากรนอกกลุ่มภูมิบุตรที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจใหม่นั้น ชนชั้นกลางนอกกลุ่มภูมิบุตรเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในการการจ้างงานและการศึกษามากที่สุด และพบว่าคนกลุ่มนี้ที่จำนวนมากเป็นพนักงานบริษัทหรือประกอบธุรกิจขนาดเล็กและกลาง เป็นกลุ่มที่มีระดับความตึงเครียดระหว่างชาติพันธุ์ที่รุนแรงที่สุด จึงไม่แปลกที่ชนชั้นกลางนอกกลุ่มภูมิบุตรจะเป็นฐานเสียงสำคัญของแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่องในการเลือกตั้งหลายสมัย รวมทั้งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดใน พ.ศ. 2561 ที่แนวร่วมฝั่งรัฐบาลบีเอ็น (Barisan Nasional: BN) ภายใต้การนำของพรรคอัมโนพ่ายแพ้ต่อแนวร่วมฝ่ายค้านพีเอช (Pakaran Harapan: PH) ซึ่งชูวาระปฏิรูปการเมืองและการสลายการเมืองเชื้อชาตินิยมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์   

ในครั้งนั้น ผู้ลงคะแนนเสียงชาวจีนที่เคยสนับสนุนพรรคเอ็มซีเอ ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนชาวจีนในแนวร่วมรัฐบาลอัมโน  พร้อมใจกันย้ายมาลงคะแนนเสียงให้พรรคดีเอพีในกลุ่มของฝ่ายค้าน จนทำให้พรรคเอ็มซีเอที่เคยใหญ่โตร่ำรวย กลายเป็นพรรคที่เหลือเสียงในสภาฯ เพียงเสียงเดียว ในขณะที่พรรคดีเอพีที่มีฐานใหญ่อยู่ที่ปีนังกลายเป็นพรรคที่มีฐานเสียงชาวจีนขนาดใหญ่หนึ่งเดียวของมาเลเซีย 

แต่รัฐบาลพีเอชก็ล้มลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากการย้ายมุ้งของ ส.ส. 11 คนไปเป็นแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับอัมโน ทำลายความฝันของการปฏิรูปลงอย่างไม่มีใครรู้ว่าจะกอบกู้คืนมาได้หรือไม่ 

เวลานี้ นโยบายเศรษฐกิจใหม่ยังคงดำรงอยู่ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองของพรรคมลายูนิยมและยังคงเป็นเหตุผลหลักของความหวาดระแวงแตกแยกระหว่างประชาชนกลุ่มภูมิบุตรและนอกภูมิบุตร พลเมืองภูมิบุตรจำนวนมากยังได้รับการปลูกฝังทางการเมืองให้มีความรู้สึกว่าตนเองมีสิทธิในฐานะผู้มาอยู่ก่อน และเชื่อว่าการเรียกร้องความเท่าเทียมกันของประชากรเชื้อสายจีนและอินเดียถือเป็นการคุกคามของพวก ‘Pendatang’ หรือ ‘ผู้มาจากที่อื่น’ ในขณะเดียวกัน พลเมืองนอกกลุ่มภูมิบุตรยังคงดำเนินชีวิตด้วยความขุ่นข้องหมองใจจากนโยบายที่พวกเขาเห็นว่าไม่ยุติธรรมและมีผลกระทบต่อโอกาสในชีวิตของตน 

อีกไม่นานเกินรอคงได้รู้กันว่า ในการเลือกตั้งอีกสองปีข้างหน้า ประชาชนมาเลเซียโดยเฉพาะกลุ่มภูมิบุตรจะลงคะแนนให้กับ ‘ความกลัว’ ด้วยการยืนยันสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบ่งแยกทางเชื้อชาติ เพื่อแลกกับการได้รับการคุ้มครองสิทธิพิเศษทางเชื้อชาติที่พรรคเหล่านั้นสัญญาว่าจะให้ หรือจะลงคะแนนให้ ‘ความหวัง’ ที่เชื่อว่าการแก้ปัญหาความแตกแยกทางเชื้อชาติเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับอนาคตของประเทศ 


เอกสารอ้างอิง

Bendeich, M. (2077, November 6). Malaysia’s political knife act: theatre or threat?. Reuters. Retrieved from < https://www.reuters.com/article/oukoe-uk-malaysia-politics-knife-idUKKLR30145020071106>   

Crouch, H. A. (1996). Government and society in Malaysia. Ithaca, NY: Cornell University Press.

Mayuri, M. L. (2015). No Malaysian is a ‘Pendatang’, eminent historian says as racial tensions flare. Malay Mail. Retrieved from https://www.malaymail.com/s/979395/no-malaysian-is-a-pendatang-eminent-historian-says-as-racial-tensions-flare  

Jomo, K.S. (2004) The New Economic Policy and Interethnic Relations in Malaysia. Identities, Conflict and Cohesion Programme Paper Number 7 September 2004. United Nations Research Institute for Social Development. Retrieved from http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=10.1.1.626.3570&rep=rep1&type=pdf

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save