fbpx

‘ใครปล่อยให้ไวรัสระบาดต้องรับผิดชอบ’ UK Covid-19 Public Inquiry การไต่สวนสาธารณะเพื่อหาผู้รับผิดต่อกรณีโควิด-19

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทันทีที่มีประกาศการจัดตั้งรัฐบาลผสมเพื่อไทยกับอีกหลายพรรค รวมทั้งภูมิใจไทยที่หัวหน้าพรรคเคยเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขในรัฐบาลประยุทธ์ ก็มีข่าวหญิงคนเสื้อแดงบุกเดี่ยวไปประท้วงที่หน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามถึงผู้ที่ต้องรับผิดชอบกรณีที่ญาติผู้ใหญ่ของตนเสียชีวิตด้วยไวรัสโควิด เพราะไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ปรากฏว่ารัฐมนตรีสาธารณสุขจะกลับมาได้ตำแหน่งใหญ่กว่าเดิมในรัฐบาลใหม่

หลายต่อหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมาย รวมทั้งชีวิตผู้คน แต่ไม่เคยมีการไต่สวนตรวจสอบว่า อะไรคือต้นเหตุของความผิดพลาดเหล่านั้น ใครจะต้องรับผิดชอบ และสังคมจะต้องเรียนรู้อะไรที่เป็นความจริง อะไรเป็นโฆษณาชวนเชื่อกลบเกลื่อนร่องรอยความผิดพลาด สมควรที่จะต้องมีมาตรการอะไรหรือวางกฎ ระเบียบไว้อย่างใดเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

จริงอยู่ที่ในทางสากลก็ยังไม่มีใครรู้ต้นตอเหตุการณ์ไวรัสโควิดระบาดไปทั่วโลก ซึ่งทำให้มีคนตายไปหลายสิบล้านคน แต่คำถามคือใครต้องรับผิดชอบ ทั้งยังมีความพยายามปกปิดตั้งแต่ต้นทาง ขาดความโปร่งใส แต่ในระดับประเทศก็ต้องหาวิธีการไต่สวนตรวจสอบกันภายในว่า ผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารสาธารณสุข มีวิธีจัดการกับปัญหาอย่างไรเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนในประเทศของตน หรือเกิดความผิดพลาดทางด้านนโยบายหรือวิธีปฏิบัติอย่างไรที่อาจทำให้มีคนตายมากกว่าเหตุสุดวิสัย และที่สำคัญคือใครจะต้องรับผิดชอบ 

Members of the Covid-19 Bereaved Families for Justice hold photos of relatives who died during the pandemic, as they demonstrate outside the venue for the UK Covid-19 Inquiry, ahead of its first day in west London on June 13, 2023. // JUSTIN TALLIS / AFP

สำหรับในประเทศไทย ยังไม่มีใครสนใจที่จะตรวจสอบดูว่า รัฐบาลไทยมีการตั้งรับและดูแลประชาชนอย่างไร โครงสร้างสาธารณสุขมีขีดความสามารถในการรับมือกับโรคระบาดอย่างไร การกำหนดนโยบาย การจัดซื้อจัดจัดจ้าง การใช้ทรัพยากรและในภาคปฏิบัติดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีความโปร่งใสในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงอย่างไรหรือไม่ หรือว่าเกิดการฉกฉวยทุจริตในภาวะวิกฤติที่ทำให้หาคนผิดยาก 

ในขณะที่สหราชอาณาจักรไวรัสโควิดคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 226,000 (ตัวเลขเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมปีนี้) เรียกว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากอันดับเจ็ดของโลก ซึ่งบรรดาญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตหลายแสนคนได้ตั้งกลุ่มรณรงค์เรียกร้องกดดันให้รัฐบาลตั้งกรรมการไต่สวนอิสระเพื่อหาผู้รับผิดชอบ สรุปบทเรียนวางมาตรการป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นในอนาคต และสมควรจะต้องมีการเยียวยาผู้เสียหาย ในขณะเดียวกัน บางประเทศในยุโรปได้ดำเนินการไต่สวนในประเทศของตนไปบ้างแล้ว 

การรณรงค์ในอังกฤษประสบความสำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 อดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันจำยอมใช้อำนาจตามกฎหมาย Public Inquiry Act 2005 ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนสาธารณะที่เป็นอิสระจากรัฐบาล มีอำนาจเต็มในการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ทั้งหมด ทั้งในภาครัฐและเอกชนมาให้ปากคำ โดยมีบารอนเนส เฮธเทอร์ ฮัลเลตท์ (Baroness Heather Hallett) อดีตผู้พิพากษาชื่อดังที่เคยมีผลงานไต่สวนเหตุการณ์สำคัญๆ  มาเป็นประธาน โดยมีขอบเขตการไต่สวนที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง อย่างเช่น

  • การเตรียมความพร้อมและขีดความสามารถในการรับมือไวรัส 
  • กระบวนการตัดสินใจ การกำหนดนโยบาย และธรรมาภิบาลของนักการเมือง
  • ผลกระทบของไวรัสโควิด ต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม
  • การจัดหาและกระจายวัคซีน การจัดกระบวนการป้องกันและรักษาผู้ป่วยโควิด
  • การจัดระบบป้องกันในภาคการดูแลผู้สูงวัย (care sector)
  • ระบบการจัดซื้อจัดจ้างหาอุปกรณ์ PPE
  • การจัดระบบ test and trace 
  • ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข
  • ผลกระทบที่มีต่อระบบการเรียนการสอนในระดับต่างๆ 
  • ผลกระทบที่มีต่อภาคบริการสาธารณะอื่นๆ 

คณะกรรมการไต่สวนชุดนี้ได้ประชุมชุดแรกโดยเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์รวม 69 คนมาให้ปากคำแล้ว รวมทั้งอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขสองท่าน และย้อนหลังไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมอรอนด้วย 

ขณะนี้คณะกรรมการอิสระกำลังเตรียมการประชุมไต่สวนระลอกสอง เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป โดยจะเริ่มรับฟังปากคำจากประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระบาด เช่น ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต โดยได้เปิดหน้าเพจออนไลน์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่งข้อความให้คณะกรรมการพิจารณาเพื่อเชิญมาให้ปากคำ 

การไต่สวนระลอกสองนี้จะเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันริชี ซูนัค มาให้ปากคำด้วย ซึ่งบารอนเนสฮัลเลตท์คาดว่าคงจะสรุปรายงานเบื้องต้นออกตีพิมพ์มาได้กลางปีหน้า และคาดว่ารายงานฉบับสมบูรณ์จะตีพิมพ์เปิดเผยได้ในปีถัดไป 

การไต่สวนสาธารณะในลักษณะเช่นนี้ มีประโยชน์ที่สังคมจะได้รับรู้ความจริงที่มักจะแอบซุกซ่อนอยู่ในระบบราชการที่ผู้มีอำนาจช่วยกันกลบเกลื่อนปกปิด ขัดขวางการควานหาผู้ผิด ปล่อยให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องระทมอยู่ในความขมขื่นต่อเนื่องยาวนานโดยหาคำตอบไม่ได้  ซึ่งในกรณีโควิดนี้มีผู้คนจำนวนหลายแสนคนที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป 

กฎหมาย Public Inquiry Act ที่มีการปรับปรุงแก้ไขมาหลายครั้งจนกระทั่งล่าสุดในปี 2005 นี้เป็นที่ยอมรับกันว่าได้ช่วยทำให้สหราชอาณาจักรมีความโปร่งใสมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่ อย่างกรณีไอร์แลนด์เหนือ ความขัดแย้งทางการเมืองจนเกิดการสูญเสีย หรืออย่างกรณีโศกนาฏกรรมไฟไหม้อาคารสงเคราะห์ Grenfell Tower ในลอนดอนที่มีคนตายจำนวนมากเมื่อปี 2017 และกรณีผู้ก่อการร้ายระเบิดรถไฟใต้ดินในลอนดอนเมื่อ 18 ปีก่อน เป็นต้น

ในอดีตที่ผ่านมาหลังจากการตีพิมพ์รายงานผลการไต่สวน เคยส่งผลให้นักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือหมดอนาคตทางการเมือง/ราชการไปเลยก็มี และในบางกรณีรัฐบาลต้องประกาศขอขมาทางสาธารณะและชดเชยเยียวยาผู้เสียหาย

อาจารย์เจสัน เบียร์ (Jason Beer KC) ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านการไต่สวนสาธารณะบอกว่า ภารกิจหลักของ Public Inquiry มีสามประการดังนี้

  1. เกิดเหตุอะไรขึ้น
  2. เกิดขึ้นได้อย่างไร และใครต้องรับผิดชอบ
  3. จะต้องมีมาตรการอะไรเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต 

แต่สิ่งที่สำคัญอยู่ในประการที่ 3 คือต้องกำหนดให้เป็นข้อผูกพันว่า รัฐบาลจะต้องรายงานต่อสาธารณะว่าจะดำเนินมาตรการใดบ้างเพื่อสนองตอบต่อข้อเสนอแนะต่างๆ ที่มาจากรายงานของคณะกรรมการไต่สวน Public Inquiry และต่อจากนั้นคณะกรรมาธิการในรัฐสภามีหน้าที่ต้องติดตามความคืบหน้าของการบังคับใช้มาตรการเหล่านั้นแล้วตีพิมพ์เปิดเผยในที่สาธารณะเป็นระยะๆ ซึ่งหากมีการดำเนินการตามขั้นตอนนี้แล้ว ก็เชื่อได้ว่า Public Inquiry มีความโปร่งใส สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง 

สำหรับในประเทศไทยก็เคยมีการไต่สวนสาธารณะในลักษณะคล้ายๆ กันที่พอจำกันได้คือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีศาสตราจารย์คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดเป็นประธาน หลังจากเกิดเหตุการณ์ปะทะกันรุนแรงในความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปี 2553 โดยมีข้อเสนอแนะให้สร้างความปรองดองหลายประการ ที่สำคัญ มีข้อแนะนำประการหนึ่งคือ ให้มีการทบทวนปรับปรุงประมวลกฎหมายมาตรา 112  ที่เป็นปมสร้างความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนาน เพราะมีนักการเมืองฉกฉวยใช้ความคลุมเครือของกฎหมายมาทำลายล้างฝ่ายที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างจากฝ่ายตน

คณะกรรมการ คอป. แต่งตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าใจว่าใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจตามกฎหมายเหมือน Public Inquiry Act 2005 ซึ่งเมื่อสรุปให้ข้อเสนอแนะออกมาแล้ว ก็ไม่มีอำนาจไปผูกโยงให้มีกระบวนการติดตามเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลต่อๆ มา ก็ไม่มีท่าทีว่าจะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปถือปฏิบัติ จนกระทั่งการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลจึงประกาศนโยบายที่จะขอเสนอปรับปรุง ม.112

ส่วนกรณีผู้เสียชีวิตจากโควิดนั้น สำหรับในประเทศไทย เคยมีข่าวว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมีมากถึง 4-5 ล้านคน แต่จำนวนคนที่ตายด้วยไวรัสโควิด ไม่มีข้อมูลตัวเลขยืนยันที่ชัดเจน ขาดการตรวจสอบอย่างโปร่งใส บ้างก็ว่าหลายพันคน บ้างก็ว่าหลายหมื่นคน ขึ้นอยู่กับวิธีระบุสาเหตุการเสียชีวิตที่ไม่มีการกำหนดตามมาตรฐานสากล 

นอกจากนี้ก็ยังมีคำถามเกี่ยวกับกระบวนการรับมือทางสาธารณสุข ระบบการจัดซื้อจัดหาวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ก็ยุ่งเหยิงไปด้วยข้อกล่าวอ้างที่โต้เถียงกัน ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันเป็นข้อเท็จจริงได้ชัด รวมทั้งมีการอ้างกฎหมาย ม. 112 มาข่มขู่คนที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนด้วย 

คำถามที่ยังคาใจญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจำนวนมากคือ การตายไปของบุคคลอันเป็นที่รักของตนนั้น เป็นเหตุสุดวิสัย หรือเป็นความผิดพลาดระดับนโยบาย หรือระดับผู้ปฏิบัติ หรือเพราะมีฉวยโอกาสการทุจริตบนความระทมทุกข์ของคนไทยนักแสนๆ คน

คำถามเหล่านี้ สำหรับผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปนั้น จะหาคำตอบได้จากไหน?

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save