fbpx
สหราชอาณาจักรสะบักสะบอม โดนโควิด-เบร็กซิต ปิดท้ายปี 2020

สหราชอาณาจักรสะบักสะบอม โดนโควิด-เบร็กซิต ปิดท้ายปี 2020

สมชัย สุวรรณบรรณ เรื่อง

หลังจากที่บอริส จอห์นสันชิงชัยได้เป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟแทน เทเรซา เมย์ แล้วก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายปีที่แล้ว ต่อมาเขาประกาศยุบสภาเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ได้เสียงท่วมท้นภายใต้แผนรณรงค์ Get Brexit Done ได้เสียงข้างมากในสภากว่าหกสิบเสียง เรียกว่ามากที่สุดตั้งแต่ยุคมาร์กาเรต แทตเชอร์เรืองอำนาจ ได้จัดตั้งรัฐบาลที่แข็งแกร่งเป็นชัยชนะซึ่งแม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่คาดฝัน ได้เดินเข้าทำเนียบถนนดาวนิง เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจในรัฐสภามากกว่าเทเรซา เมย์ จึงคาดหวังว่าในการเจรจาต่อรองกับสหภาพยุโรป Brexit Deal ฝ่ายตัวเองจะได้เปรียบและปิดดีลได้โดยเร็ว

ครบรอบหนึ่งปีหลังจากชัยชนะอันยิ่งใหญ่กลางเดือนธันวาคมนี้ กลับไม่มีงานฉลองที่ทำเนียบถนนดาวนิงตามที่คาดกันไว้ แต่มีข่าวลือเรื่องการหยั่งเสียงในหมู่ ส.ส. พรรครัฐบาลที่เริ่มก่อหวอดอยากจะเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค-นายกรัฐมนตรี เนื่องจากความล้มเหลวในการรับมือโคโรนาไวรัสระบาดจนมีผู้เสียชีวิตสะสมทะลุหลักเจ็ดหมื่นคน และมีท่าทีว่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่วนการเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรป ก็ผีเข้าผีออกไม่ได้หวานหมูได้ประโยชน์มากมายอย่างที่เคยคุยโม้ไว้ตอนหาเสียง

เสียงวิพากษ์วิจารณ์กระจายออกไปตามสื่อในยุโรปไล่ลงไปถึงสื่อในอเมริกาและออสเตรเลีย หลังจากประเทศต่างๆ กว่าสี่สิบประเทศประกาศระงับชั่วคราวเที่ยวบินเข้าสหราชอาณาจักร เมื่อรัฐมนตรีสาธารณสุขออกมายอมรับว่า โคโรนาไวรัสกลายพันธ์ุรหัส B117 ที่แพร่กระจายทางตอนใต้ของอังกฤษขยายตัวเร็วมากควบคุมไม่อยู่ จนบอริส จอห์นสันต้องประกาศยกระดับความเข้มงวดในหลายจังหวัดด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ รวมทั้งเมืองหลวงมหานครลอนดอนขึ้นระดับสูงสุดเสมือนล็อกดาวน์ (tier 4) ปิดร้านรวงที่ไม่จำเป็น และห้ามเดินทางข้ามเขตโดยไม่มีเหตุจำเป็น ทำให้แผนการฉลองคริสมาสต์ของหลายๆ ครอบครัวพังทลายลง

ซ้ำร้ายรัฐบาลฝรั่งเศสสั่งประกาศปิดพรมแดนชั่วคราวบริเวณท่าเรือข้ามฝากคาเลย์-โดเวอร์ ที่เป็นช่องทางผ่านของสินค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปเป็นเวลา 48 ชั่วโมง เพื่อหามาตรการสะกัดไวรัสทำให้การขนส่งสินค้าผ่านแดนสะดุดอย่างกะทันหันจนเกิดโกลาหล รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์มากกว่าสองพันคันเรียงจอดข้างทางหลวงมอเตอร์เวย์สาย 20 ยาวเหยียดหลายสิบกิโลเมตร ดูคล้ายๆ เป็นการซ้อมใหญ่ No Deal Brexit ถ้าทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงการค้ากันไม่ได้ เมื่อระบบการค้าเสรีล้มลงก็จะเกิดสภาพคล้ายๆ แบบนี้ เพราะกลไกศุลกากรของทั้งสองฝ่ายยังไม่พร้อมที่จะรองรับ

สื่อมวลชนอังกฤษที่ชอบตรวจสอบรัฐบาลก็คอยจับผิดจอห์นสันว่า ชอบให้คำสัญญาและโอ้อวดด้วยโวหารหรูๆ เรียกคะแนนนิยมไปวันๆ แต่พอถึงเวลาแล้วมักทำไม่ได้อย่างที่คุยโม้ไว้ อย่างเช่นกรณี Brexit ก็เช่นกัน เวลารณรงค์หาเสียงก็ชูสโลแกนว่า Get Brexit Done อ้างว่าเป็นเรื่องที่ง่ายมากเพราะทีมงานของตนเตรียมข้อตกลงใส่กล่องไว้พร้อมแล้ว เรียกว่า oven-ready deal แค่เอาไปอุ่นในเตาอบแล้วก็เอาออกมากินได้เลย ทำให้ได้คะแนนนิยมล้นหลามจนชนะเลือกตั้ง แต่การเจรจากลับยื้อกันไปมาจนเลยกำหนดเส้นตายก็ยังไม่สำเร็จ ต้องยืดเส้นตายไปเรื่อยๆ

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ผู้ว่าการธนาคารชาติอังกฤษ ออกมาเตือนว่าถ้าหากสหราชอาณาจักรต้องถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบ No Deal Brexit ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจจะร้ายแรงและยาวนานกว่าความเสียหายอันเป็นผลกระทบจากโคโรนาไวรัสระบาทหลายเท่านัก

สำหรับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากไวรัสระบาด หน่วยงาน Office for Budget Responsibility (OBR) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยที่ได้ทุนจากรัฐบาล ประเมินเมื่อเดือนที่แล้วว่า ในปี 2020 นี้เศรษฐกิจจะหดตัวลง 11.3% ซึ่งนับว่าสูงสุดในรอบสามร้อยปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1709 ที่เกิดภาวะหนาวแล้งอดอยากทั่วประเทศ ส่วนการกู้ยืมภาครัฐ ซึ่งหมายถึงหนี้สาธารณะในปีนี้จะสูงถึง 394 แสนล้านปอนด์ ซึ่งเท่ากับ 19% ของ GDP นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน อย่างไรก็ดีระดับการกู้ยืมในปีใหม่ 2021 จะมีแนวโน้มลดลงเป็น 164 แสนล้านปอนด์ และจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับในปีถัดๆ ไป ถ้าหากการลงทุนภาครัฐในโครงการใหญ่ๆ เพื่อสร้างงานเริ่มส่งผลตามเป้าหมายที่วางไว้

ตัวเลขที่น่ากังวลอีกชุดหนึ่งคือจำนวนคนว่างงาน แม้ว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการนำเงินภาษีออกมาอุดหนุนการจ้างงาน โดยช่วยจ่ายค่าแรงให้คนงานผ่านนายจ้าง 80% สำหรับกิจการที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวเพราะคำสั่งรัฐบาล เพื่อป้องกันมิให้นายจ้างปลดคนงานออก และมีการยืดอายุโครงการนี้ไปจนถึงเดือนเมษายนปีหน้าก็ตาม  แต่ OBR ก็ยังประเมินว่าจำนวนคนว่างงานจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประเมินว่าในปี 2021 จะมีคนว่างงานพุ่งสูงถึง 2.6 ล้านคนในไตรมาสสองของปีหน้าหรือประมาณ 7.5% ส่วนในปีนี้ก็มีรายงานว่าคนที่ตกงานแล้วไปยื่นขอสวัสดิการคนตกงานเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนคนในช่วงไตรมาสสามของปีนี้

ภาวะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรประทุขึ้นช่วงปลายปี 2008 เมื่อเกิด financial meltdown เริ่มจากอเมริกาแล้วกระจายไปทั่วโลก รัฐบาลใช้มาตรการรัดเข็มขัดควบคุมการใช้จ่ายติดต่อกันหลายปี งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมและสาธารณสุขได้รับผลกระทบมากที่สุดภายใต้รัฐบาลพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ทำให้ประชาชนระดับล่างได้รับความเดือดร้อน และช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำขยายถ่างออกมากเมื่อโดนโคโรนาไวรัสมาซ้ำเติม

เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาสื่อในอังกฤษลงข่าวกันครึกโครมว่า Unicef ประกาศโครงการฉุกเฉินจัดหาอาหารให้กับเด็กในครอบครัวยากจนเข้าขั้นวิกฤตในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 70 ปี ที่หน่วยงานของสหประชาชาติซึ่งมีภารกิจให้ความช่วยเหลือประเทศยากจนในโลกที่สาม ต้องมาจัดหาอาหารป้อนเด็กๆ ในประเทศที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคม

Unicef ประกาศจัดงบฉุกเฉิน 2.5 หมื่นปอนด์ให้ชุมชนในอำเภอ Southwark ซึ่งเป็นถิ่นยากจนทางทิศใต้ชานกรุงลอนดอน ตามคำร้องขอของโครงการ School Food Matters เพื่อจัดหาอาหารเช้าให้กับโรงเรียน 25 แห่ง ในช่วงวันหยุดเทศการคริสต์มาส-ปีใหม่ และช่วงปิดเทอมสองสัปดาห์ในเดือนกุมภาพันธ์ อันเป็นช่วงฤดูหนาวในอังกฤษ

Stephanie Slater เจ้าของโครงการ School Food Matters แถลงขอบคุณ Unicef ที่จัดงบฉุกเฉินมาให้อย่างทันท่วงที เพราะในช่วงที่โคโรนาไวรัสระบาดแบบนี้ ครัวเรือนระดับล่างๆ ของสังคมต้องกระเสือกกระสนมากในการหาอาหารมาป้อนเด็กๆ ที่กำลังเติบโต ในขณะที่สวัสดิการสังคมไม่พอเพียง

ทั้งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา YouGov Poll ได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานสาธารณะกุศล Food Foundation ให้ทำการสำรวจวิจัยปัญหาเด็กยากจนในอังกฤษ ผลการสำรวจพบว่า มีเด็กประมาณ 2.4 ล้านคน (ประมาณ 17%) อยู่ในครัวเรือนที่ไม่มีความมั่นคงทางอาหาร และภายในเดือนตุลาคมนี้ มีเด็กๆ เพิ่มขึ้นถึง 9 แสนคนไปลงทะเบียนเพื่อขอคูปองกินอาหารฟรีในโรงเรียน

สำหรับแฟนบอลพรีเมียร์ลีกก็อาจจะได้เคยยินข่าวว่านักเตะดาวรุ่ง มาร์คัส แรชฟอร์ด ศูนย์หน้าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลายเป็นหัวหอกรณรงค์ให้รัฐบาลจัดหาอาหารกลางวันฟรีให้กับเด็กยากจนทั่วประเทศ ในช่วงที่โรงเรียนปิดเทอม ทั้งนี้เพราะโคโรนาไวรัสได้ส่งผลทำให้ครัวเรือนอังกฤษจำนวนมากเดือดร้อน เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะตกงานหรือรายได้ลดลง

ตามปกติโรงเรียนระดับประถม-มัธยมต้น ส่วนใหญ่จะจัดหาอาหารกลางวันฟรีให้กับเด็กๆ ที่พ่อแม่มีรายได้น้อย แต่ในช่วงเวลาปิดเทอมเด็กๆ ในครอบครัวยากจนจริงๆ ก็จะไม่มีอาหารกินได้อย่างเต็มอิ่ม อันเป็นปัญหาที่ มาร์คัส แรชฟอร์ดรู้ดี เพราะตัวเขาเองก็เคยอดมื้อกินมื้อสมัยเป็นเด็กๆ

ผลของการรณรงค์ครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายจัดงบประมาณให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจัดหาอาหารกลางวันเพิ่มเติมในช่วงที่โรงเรียนปิดเทอมด้วย โฆษกของรัฐบาลออกมาแถลงว่า รัฐบาลจะดำเนินมาตรการสนับสนุนครอบครัวที่ยากจนตลอดในช่วงเวลาที่โคโรนาไวรัสระบาด โดยจัดเพิ่มงบประมาณหลายพันล้านปอนด์เข้าสู่ระบบสวัสดิการสังคม และจัดงบพิเศษอีก 170 ล้านปอนด์จัดอาหารสำหรับโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศในช่วงวันหยุดฤดูหนาว

การตัดสินใจที่ผิดพลาดและการวางยุทธศาสตร์ที่ไม่ตั้งอยู่บนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพราะมัวกังวลอยู่กับการเสียคะแนนนิยมทางการเมือง ทำให้การควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง บอริส จอห์นสันถูกตำหนิว่าลังเลใจไม่ยอมสั่งล็อกดาวน์ ในขณะที่ข่าวสารข้อมูลจากอิตาลีและสเปนเมื่อตอนต้นปี เป็นสถานการณ์ที่น่าตกใจอย่างยิ่ง แต่นายกรัฐมนตรีอังกฤษยังปล่อยให้มีการแข่งม้า แข่งฟุตบอล และปล่อยให้นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเดินทางกลับมาจากยุโรปที่ไวรัสกำลังระบาดโดยไม่มีการควบคุมกักตัว นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าถ้าหากตัดสินใจเด็ดขาดล็อกดาวน์ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น อังกฤษจะไม่สะบักสะบอมขนาดนี้

ส่วนการเจรจาการค้ากับสหภาพยุโรป ซึ่งข่าวล่าสุดดูเหมือนว่ามีการกล้อมแกล้มพยายามประนีประนอมให้ข้อตกลงผ่านให้ได้แบบหืดขึ้นคอเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะทางเศรษฐกิจอันจะเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย แต่เวลาที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องนำข้อตกลงเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายให้รัฐสภาของแต่ละประเทศในยุโรป 27 ประเทศและรัฐสภาที่เวสต์มินสเตอร์ที่ลอนดอนให้สัตยาบันโดยมีเวลาราชการเหลือเพียง 4-5 วันก่อนสิ้นปีที่ Brexit จะมีผลเป็นทางการ โดยที่สมาชิกสภาหลายพันคนต้องอ่านเอกสารข้อตกลงที่มีความยาวกว่าสองพันหน้าก่อนตัดสินใจยกมือรับรอง

ถ้าหากว่าผ่านกระบวนการรับรองออกมาได้ทางสองฝ่าย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะสภาเวสต์มินสเตอร์ที่มี ส.ส. รัฐบาลที่เรียกกันว่า Hard-core Brexiteers จ้องหาจุดอ่อนที่ว่าบอริส จอห์นสัน ปากกล้าขาสั่นแอบไปอ่อนข้อให้กับสหภาพยุโรปอย่างไรบ้างหรือไม่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save