ปรากฏการณ์โดนัลด์ ทรัมป์กับการล้มการเลือกตั้งในพม่า

ปรากฏการณ์โดนัลด์ ทรัมป์กับการล้มการเลือกตั้งในพม่า

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

คาดไม่ถึงว่าปรากฏการณ์โดนัลด์ ทรัมป์กำลังจะกลายเป็นปรากฏการณ์โดมิโนระดับโลกที่จะมีผู้นำทางการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายที่คุมกำลังนำมาใช้ในการปฏิเสธผลการเลือกตั้งทั่วไป โดยกล่าวหาว่าฝ่ายชนะคะแนนเสียงนั้นได้มาด้วยการโกงหรือทุจริตด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม แม้ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอน แต่ก็ออกมาประกาศและตีข่าวให้ใหญ่โตทั่วประเทศก่อน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ปฏิบัติการล้มการเลือกตั้งที่จะตามมาต่อไป

ใช่แล้ว ผมกำลังพูดถึงข่าวล่าสุดในเมียนมา เมื่อผู้นำกองทัพ นายพลอาวุโสมินอ่องลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและมีตำแหน่งเทียบเท่ารองประธานาธิบดีแห่งสาธารณัฐเมียนมาด้วย (ตามการแถลงของกองทัพบก) ได้เข้าจัดการรัฐบาลและการปกครองด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้กองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐได้อย่างเด็ดขาด เป็นการทำรัฐประหารที่ไร้รอยต่อของผู้ชำนาญการทหารพม่า (ผมใช้คำว่า ‘พม่า’ แทน ‘เมียนมา’ ตามอย่างอ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่อธิบายว่าเพื่อเป็นการต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพซึ่งต้องการลบประวัติศาสตร์พม่าแล้วเสนอให้ใช้เมียนมาแทน)

นายพลอาวุโสมินอ่องลายได้สอนวิธีการปฏิเสธผลการเลือกตั้งแล้วทำได้สำเร็จด้วยการใช้เครื่องมือของกองทัพคือการรัฐประหาร ซึ่งอันหลังนี้คือสิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์พยายามทำและวางแผนแล้วแต่ไม่สำเร็จ คือจะให้ผู้นำทหารในเพนตากอนช่วยประกาศฉุกเฉิน เพื่อให้รัฐบาลทรัมป์ได้อยู่ต่อไประหว่างสะสางเรื่องคะแนนการเลือกตั้ง แต่ปัญหาคือไม่มีผู้นำและแกนนำทหารอเมริกันคนไหนกล้าทำตาม จึงไม่มีการประกาศฉุกเฉินและหรืออ้างภัยต่อความมั่นคงเกิดขึ้นแต่อย่างใดระหว่างการเตรียมเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

ผมก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่า โดนัลด์ ทรัมป์เชื่อได้อย่างไรว่าคนอเมริกันที่มีการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมจะยอมรับการกระทำแบบเผด็จการทหารในโลกที่สามของเขาได้ แต่เมื่อได้ยินเสียงที่สนับสนุนเขาจากสมาชิกพรรครีพับลิกันในคองเกรสแล้ว ก็ต้องยอมเชื่อว่ามันอาจเป็นความจริงได้ว่า โลกยุคโควิด-19 อะไรๆ ที่ไม่คิดว่าจะเห็นก็อาจเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

เมื่อไม่ประสบผลสำเร็จในการใช้บริการจากกองทัพและเพนตากอน ทรัมป์จึงหันไปหากลุ่มและขบวนการขวาจัดและพวกไสยศาสตร์นิยมเช่น QAnon (คิวแอนนอน) กับพวกกลุ่มคลั่งชาติผิวขาวต่างๆ ให้ออกมาปลุกระดมและเคลื่อนไหวมวลชน กำหนดการคือวันที่ 6 มกราคม อันเป็นวันที่รัฐสภาคองเกรสจะมีการประชุมร่วมของสองสภาเพื่อทำการรับรองผลคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งว่าใครจะเป็นผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดีในที่สุด

ตามแผนการ คณะของทรัมป์วางแผนเข้าขัดขวางไม่ให้การประกาศผลคะแนนคณะผู้เลือกตั้งผ่านไปได้ ด้วยความร่วมมือของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกันรวมกันได้ร้อยกว่าคน จะเข้าชี่อกันยื่นคัดค้านการรับรองที่จะต้องทำไปทีละรัฐ กว่าจะเสร็จก็คงหลายชั่วโมง พวกนั้นวางแผนไม่ให้การประชุมจบลงได้ ระหว่างนั้นมวลชนของทรัมป์ที่รวมตัวกันอยู่หน้าตึกสภาคองเกรสก็จะพากันประท้วงและทำให้การประชุมไม่อาจดำเนินไปได้ ขณะนี้ฝ่ายเอฟบีไอและหน่วยข่าวกรองกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับบรรดาผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่งขยายไปเป็นการบุกและทำการโจมตีทำร้ายตำรวจรัฐสภา ทำลายข้าวของและห้องประชุม มีการเตรียมจับตัวไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี และแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนด้วย ทั้งหมดนั้นเข้าข่ายกระทำการอันเป็นการกบฏต่อรัฐบาลอเมริกัน และผู้ที่เป็นหัวหน้าใหญ่ในการสั่งการก็ไม่ใช่ใคร คือ โดนัลด์ ทรัมป์ นั่นเอง

พิจารณาจากข้อมูลเท่าที่ได้ ก็แสดงว่าโดนัลด์ ทรัมป์ได้คิดและวางแผนการยึดและขัดขวางการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไว้ไม่น้อยหรืออาจมากกว่านายพลอาวุโสมินอ่องลายและกระทั่งพลเอกประยุทธ์กับคสช.เสียด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้คติความเชื่อว่ารัฐประหารเป็นเชื้อโรคที่เกิดเฉพาะในประเทศโลกที่สามเท่านั้นไม่เป็นความจริงอีกต่อไป มันเกิดขึ้นได้ในทุกรัฐบาลและทุกประเทศ เพียงแต่ว่าโอกาสและความสำเร็จนั้นไม่เหมือนกัน สำหรับสหรัฐฯ โอกาสในการทำรัฐประหารหรือล้มการเลือกตั้งมีน้อยหรือแทบเป็นศูนย์และอาจติดลบด้วย ในขณะที่ในประเทศโลกที่สามนั้น โอกาสและความเป็นไปได้มีมากกว่าร้อยละ 50 ส่วนประเทศไหนจะได้เกือบเต็มร้อยก็ขึ้นกับประวัติศาสตร์และความเป็นมาของการก่อตั้งประเทศและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่าได้ดำเนินมาอย่างไรและมีผลประการใด

ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญที่อาจใช้ในการประเมินและวิเคราะห์ถึงความสำเร็จและไม่สำเร็จในการทำรัฐประหารต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นดูได้จากองค์ประกอบและที่มาทางชนชั้นของบรรดากลุ่มผู้นำประเทศและรัฐว่ามาจากไหนและประกอบเข้าอย่างไร มีความแตกต่างทางชนชั้นมากหรือน้อย หลังจากเข้ามาเป็นผู้นำแล้ว บรรดาผู้นำเหล่านั้นออกไปมีบทบาทและฐานะอะไรในสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ลองดูบรรดาคนที่ต่อมาเป็นผู้นำก่อสร้างประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยุคปฏิวัติมาถึงได้เอกราชและเริ่มสร้างรัฐบาลมหาชนที่มาจากการเลือกตั้งตั้งแต่วันแรก ชนชั้นนำเหล่านั้นเป็นคนผิวขาวมีการศึกษามีอาชีพในเมืองหรือไร่ขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมการเดินเรือ แม้เกิดในอเมริกาแต่พ่อแม่ปู่ย่าล้วนอพยพมาจากอังกฤษและประเทศยุโรปเหนือ จึงมีภาษาขนบธรรมเนียมความเชื่อศาสนาคริสเตียนเหมือนกัน อาจต่างนิกายบ้าง ตรงนี้จุดสำคัญต่อการก่อรูปของรัฐและประเทศต่อไปคือการมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นอันเดียวกันหรือใกล้เคียงกันที่สุด พูดง่ายๆ คือพูดจาภาษาการเมืองที่ร่วมกันได้ ทุกคนไม่มีฐานะทางสังคมที่สูงกว่าใคร ความได้เปรียบของอเมริกาเห็นได้จากการที่พื้นที่และวัฒนธรรมที่รองรับความเหลื่อมล้ำ-ไม่เท่ากันมีน้อยมากๆ เพราะอเมริกาไม่มีระบบกษัตริย์และขุนนางในสังคมตนเองเลย แค่นี้ก็ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองลดความรุนแรงและมีโอกาสในการประนีประนอมต่อรองระหว่างหัวหน้าและแกนนำกลุ่มต่างๆ ได้ง่ายกว่าที่อื่นๆ เช่นไทยที่มีฐานสังคมที่เหลื่อมล้ำสูงมากนับแต่เกิด

หากเปรียบเทียบคณะชนชั้นนำที่ก่อร่างสร้างประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับพม่า เห็นได้เลยว่ามีความแตกต่างกันอย่างหน้ามือกับหลังมือเลย บรรดาบิดาผู้สร้างสหรัฐฯ มีความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมืองในการสร้างสหรัฐฯ ที่เป็นเอกราชแยกจากอังกฤษแบบเดียวกัน คือการปกครองตนเอง (self-rule) บนผลประโยชน์ร่วมกันของชนชั้นนายทุนที่พวกเขาสังกัดอยู่ ไม่มีใครอยากกลับไปเป็นขุนนาง เจ้าที่ดินแบบผู้ดีอังกฤษที่ไม่เคยเป็น แม้มีความต่างกันบ้างในวิธีการทำงานและการสมาคมกัน แต่ที่ทุกคนยึดมั่นไม่มีใครออกนอกลู่นอกทางเลยคือการเคารพในทรัพย์สินส่วนตัวของปัจเจกชนที่ไม่อาจละเมิดได้ แม้แต่รัฐและรัฐบาล และนี่คือรากเหง้าของความขัดแย้งต่อมาในการมีทาส (ผิวดำ) และการเลิกทาส ที่ไม่อาจตกลงกันได้อย่างสันติในวิถีทางรัฐสภา แต่ก่อนจะถึงสงครามกลางเมือง ผู้นำการเมืองอเมริกันได้สร้างและทดลองระบอบประชาธิปไตยจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจของชนชั้นนำทุกกลุ่มและคณะพรรค จนไม่มีใครคิดว่าจะต้องใช้หรืออาศัยอำนาจนอกระบบมาจัดการในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

ตรงนี้ลองพิจารณาความเป็นมาทางชนชั้นของผู้นำการเมืองพม่านับแต่ยุคเอกราชจากอังกฤษมาบ้าง ลักษณะเด่นคือความไม่เป็นเอกภาพเลย กลุ่มผู้นำที่รวมตัวกันเป็นพรรคสันนิบาตประชาชนต่อต้านลัทธิฟาสซิสม์ (AFPFL – Anti-Fascist People’s League) ที่ต่อมาจะเป็นผู้ต่อรองในการได้เอกราชและจัดตั้งรัฐบาลชาติ กำเนิดมาจากขบวนการชาตินิยมต่อต้านการปกครองของอังกฤษที่มีหลากหลายความคิดและอุดมการณ์จากขวาถึงซ้าย จนเมื่อญี่ปุ่นบุกช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้กลุ่มตะขิ่นหนุ่ม (สาว) สามารถจัดตั้งกองทหาร (ชั่วคราว) ต่อสู้กับอาณานิคม หนึ่งในแกนนำนี้คือ อูอองซาน ผู้กลายมาเป็นผู้นำสำคัญของการตั้งรัฐบาลพม่าหลังได้รับเอกราช แต่แล้วก็ถูกลอบสังหารโดย อูซอ ผู้นำอนุรักษนิยมที่ก่อนนี้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยพม่ายังเป็นอาณานิคมอังกฤษอยู่

นอกจากบรรดาผู้นำขบวนการเอกราชและชาตินิยมไม่เป็นหนึ่งเดียวแล้ว ระหว่างแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคกรรมกรและชาวนา ยังมีบรรดาผู้นำชนกลุ่มน้อย เช่น กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ มอญ ยะไข่ ซึ่งต่างอยากได้เอกราชให้แก่ชนชาติของพวกตน แต่ถูกชนชาติพม่ายึดครองแต่ฝ่ายเดียว ผู้นำพม่าขับไล่กลุ่มต่างๆ ที่ไม่เป็นพม่าชั้นกลางออกไปจนหมด ทำให้รัฐบาลพม่าสมัยแรกเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพที่สุดทั้งทางวัตถุและทางความคิด

กล่าวโดยสรุป รัฐและรัฐบาลพม่าเริ่มต้นการปกครองประชาธิปไตยด้วยการไม่มีส่วนร่วมของคนอื่นๆ นอกจากผู้อยู่ในอำนาจมาก่อน อูนุเป็นนายกรัฐมนตรีจึงหันไปพึ่งศาสนาพุทธในการยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เมื่อไปไม่รอดก็เชิญให้นายพลเนวินขึ้นมาเป็นนายกฯ ต่อไป เนวินก็หันไปคว้าลัทธิสังคมนิยมในทางนามธรรม เข้ามาเป็นนโยบายของรัฐบาลและพรรครัฐบาล ซึ่งก็ไปไม่รอดอีกเช่นกัน ก่อนนี้พม่าเคยเป็นประเทศส่งออกข้าวที่มากสุดในโลก บัดนี้พม่าตกจนไทยก้าวขึ้นมาแซง ระบอบเนวินปกครองอยู่ถึง 26 ปี

ตรงข้ามกับพม่าสมัยเอกราช (ซึ่งรวมถึงหลายประเทศในอุษาคเนย์ระยะนั้นด้วย) บิดาผู้สร้างสหรัฐอเมริกาตั้งใจจำลองแบบและพยายามสร้างพิมพ์เขียวของระบบการเมืองประชาธิปไตยที่สอดคล้องและไปกันได้กับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก รวมทั้งสร้างอุดมการณ์ความเชื่อไปถึงศาสนาที่รองรับการเติบใหญ่ของชนชั้นนายทุนได้เป็นอย่างดี ดังเห็นได้จากคำขวัญในเหรียญควอเตอร์สหรัฐด้านหน้าที่มีรูปจำลองสลักของ จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรก พร้อมกับคำขวัญ Liberty ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งมีคำว่า In God We Trust เมื่อเทียบกับบรรดาประเทศยุโรปรุ่นพี่และพ่อที่ง่วนอยู่กับการล่าอาณานิคมและทำสงครามรักษาระบอบอาณานิคมกันจ้าละหวั่น สหรัฐฯ แทบไม่ต้องเสียเวลาและทรัพยากรไปกับเขาด้วย ยกเว้นสองแห่งที่ได้มาโดยบังเอิญคือฟิลิปปินส์กับคิวบาในสงครามกับสเปนปี 1898

จากนั้นสหรัฐฯก็เข้าสู่เวทีการเมืองระหว่างประเทศด้วยการเป็นผู้พิทักษ์รักษาและส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศและดินแดนต่างๆ บทบาทและหน้าที่ดังกล่าวสหรัฐฯ ได้มาด้วยการพัฒนาขึ้นไปเป็นฐานของการผลิตและค้นคว้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมต่างๆ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญยุโรป ซึ่งทยอยและหลั่งไหลอพยพเข้าไปพำนักลี้ภัยจากสงครามในยุโรป ทำให้อเมริกากลายเป็นฐานนำหน้าของการผลิตและการบริโภคของระบบทุนอุตสาหกรรมไปในที่สุด ระบบทุนนิยมสหรัฐฯ จึงมีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างจากประเทศตะวันตกด้วยกันเช่น มีภูมิประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล จากภาคตะวันออกไปถึงตะวันตก รองรับการเติบใหญ่และขยายตัวของชุมชนและเมืองได้อย่างสบาย มีผู้อพยพเข้ามาทำงานตลอดเวลา ทำให้ไม่เคยขาดแรงงานในการผลิตและบริโภค ทำให้ตลาดในประเทศของอเมริกาใหญ่พอที่จะรองรับและขับเคลื่อนระบบทุนในชาติได้เองไม่ต้องง้อตลาดภายนอกประเทศมากนัก มีการเคลื่อนย้ายสูงมากของผู้คน ซึ่งมีผลต่ออัตราการเจริญและความหลากหลายของระบบทุนสหรัฐฯ ที่สร้างความพอใจและความสุขตามสภาพแก่คนอเมริกันค่อนข้างสูง

เล่ามาอย่างยืดยาว เพื่อจะสรุปให้เข้ากับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในการเมืองอเมริกันว่า ความสำเร็จในการพัฒนาการเมืองอเมริกาดำเนินไปเคียงข้างกับทางเศรษฐกิจ กลุ่มนายทุนและนายทาสสมัยสร้างชาติร่วมมือกันสร้างระบบประชาธิปไตยขึ้นมาสำเร็จในระดับที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล พลเมืองส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนผิวดำและสตรีผิวขาวไม่ใช่คนกำหนดนโยบายและแนวทางตลอดจนอนาคตของประเทศอย่างจริงจัง นอกจากในทางความเชื่อ หากแต่เป็นนักการเมือง นักการทหาร นายทุนอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม และผู้ชำนาญการนักกฎหมายไปถึงผู้พิพากษาทั้งหมดเป็นผู้ชาย ที่ร่วมกันคิดและเสนอนโยบายทั้งหลายออกมาในแต่ละยุค นโยบายหลักๆ คือการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและความสะดวกสะบายในการใช้ชีวิต ดังนั้นจะกล่าวว่าระบบประชาธิปไตยอเมริกาอยู่ในมือของคณาธิปไตยก็ได้เหมือนกัน แต่ต้องยอมรับความจริงว่า คณาธิปไตยอเมริกาก็มีความหลากหลายและเปิดกว้างยอมรับคนนอกวงในที่มีความสามารถให้เข้ามาแบ่งเฉลี่ยอำนาจกับกลุ่มเก่าๆ อยู่เรื่อยๆ พอจะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน

นโยบายที่เป็นอำนาจนิยมและไม่เสรีอย่างจริงจังคือในเรื่องสิทธิทางการเมืองของคนผิวดำและผู้อพยพรวมถึงสตรีทั้งหลาย ทำให้นักการเมืองและพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ คือ รีพับลิกันและเดโมแครต ผลัดกันขึ้นมาครองอำนาจรัฐและรัฐบาลอย่างสันติและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้ เพราะอาศัยฐานเสียงเดียวกันคือคนผิวขาว

การที่โดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจไม่ดำเนินรอยตามนักการเมืองรุ่นก่อน นอกจากปัจจัยบุคลิกส่วนตัวของเขาที่เป็นนักธุรกิจที่ถนัดในการทำข้อต่อรองที่แทบเป็นไปไม่ได้ แต่ทรัมป์ชอบฝืนและท้าทายกฎกติกาทุกอย่างที่ขวางหน้า สำหรับการเลือกตั้ง เขาโปะเงินหมดหน้าตักโดยหวังว่ามวลชนเอียงขวาและนักการเมืองรีพับลิกันซึ่งพากันสยบยอมการเคลื่อนมวลชนผู้ลงคะแนนเสียงของทรัมป์ จะต้องทำตามความต้องการของเขาให้ได้ นั่นคือการทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนมาเป็นชัยชนะของทรัมป์ให้จงได้ ไม่ว่าจะด้วยกลเกมและวิธีการอะไรก็ตาม คิดอีกอย่างทรัมป์เชื่อมั่นและศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิฤทธิ์ของอำนาจระบบทุนที่เขาคร่ำหวอดมาค่อนชีวิตว่า จะดลบันดาลผลการเลือกตั้งให้ออกมาอย่างที่เขาต้องการ คราวนี้เขามีสินค้าที่คนอเมริกันขาวเอียงขวาต้องการ ซึ่งไม่เคยได้รับ เพราะไม่มีนักการเมืองหน้าไหนกล้าให้ ทำไมถึงจะไม่ลองเสี่ยง

ที่น่าสังเกตด้วยคือ มวลชนของทรัมป์คราวนี้เป็นคนผิวขาวส่วนมากอยู่ในชนบทนอกเมือง การศึกษาจำกัดหรือต่ำ เชื่อศาสนาอย่างสุดใจ ทำให้ศาสนจักรอีแวงเจลิคอลต้องหันมาคารวะทรัมป์แม้พฤติกรรมส่วนตัวจะขัดหลักศาสนาก็ตาม สุดท้ายที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ทรัมป์ในการรุกฆาตฝ่ายตรงข้ามคือการผูกขาดการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของเขาและพรรคพวกที่สามารถปลุกระดมและสร้างความจริง (ลวง) ให้สาวกของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากม่านหมอกและความคลุมเครือของความขัดแย้งระหว่างทรัมป์กับเสรีนิยมอเมริกาหมดไป ข้อน่าสนใจอันหนึ่งที่หากมองจากคนนอกอเมริกาทั่วโลกและได้รับผลพวงจากนโยบายอเมริกาในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จะพบความจริงข้อหนึ่งว่า สิ่งที่ทรัมป์ได้พูดและกระทำไปนั้น แม้จะฝืนธรรมเนียมปฏิบัติของนโยบายรัฐบาลอเมริกันปกติทั่วไป เช่น การเป็นผู้นำโลกในการแก้ปัญหาโลกในเรื่องต่างๆ อย่างสิทธิมนุษยชน โลกร้อน ฯลฯ แต่ทรัมป์กลับทำในสิ่งตรงข้าม คือประกาศว่าสหรัฐฯ จะไม่เป็นผู้นำโลกแบบนั้นอีกต่อไป จะไม่ช่วยเหลือใคร จนกว่าเขาจะได้ประโยชน์ก่อน ไม่สนทั้งนั้นว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชนหรือไม่ก็ตาม ถ้าไม่มีเงิน และไม่มีความจงรักภักดีต่อทรัมป์ที่เห็นได้ ก็อย่าหวังจะได้ความร่วมมือช่วยเหลืออะไรจากอเมริกา

หลายประเทศทั่วโลกนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาก็คงอยากประกาศและแสดงจุดยืนในข้อเท็จจริงให้คนเห็นว่า นโยบายและความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ที่สหรัฐฯ เคยให้แก่บรรดาประเทศและผู้คนเหล่านั้น ในที่สุดแล้วมันไม่ได้ช่วยอะไรพวกเขาจริงจัง นอกจากการทำให้เป็นสมุนและบริวารของอเมริกาในทางการเมืองระหว่างประเทศและในภูมิภาค ซึ่งสร้างความขัดแย้งทั้งใหญ่และน้อยไปทั่ว เกิดสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ไปทั่ว ที่ทำให้รัฐบาลไปไล่จับกุมและฆ่าประชาชนของตนเองเป็นจำนวนไม่น้อย ดังเช่นในกรณีประเทศไทย และอินโดนีเซียปี 1965

ถ้าหากสหรัฐฯ ยึดแนวทางนโยบายแบบทรัมป์มาตั้งแต่หลังสงครามโลก บางทีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย อาจจะไม่เป็นอย่างที่เราเป็นอยู่แบบนี้ก็ได้ สงครามเย็นระหว่างฝ่ายสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตก็จะไม่เกิดขึ้น ขบวนการปฏิวัติและต่อสู้เพื่อเอกราชและความเป็นตัวของตัวเองในประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็จะขยายตัว เติบใหญ่และอาจประสบความสำเร็จอย่างมีอนาคต พรรคคอมมิวนิสต์เล็กใหญ่ทั่วโลกอาจไม่ล่มสลาย และกลายเป็นพรรครัฐบาลไปค่อนโลก ที่สำคัญระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบซ้ายก็จะมีโอกาสพิสูจน์ฝีมือและน้ำยาว่าจะยกระดับและพัฒนาประเทศและสังคมให้ค่อยๆ ก้าวเข้าสู่สังคมที่ลดความขัดแย้งทางชนชั้นลง เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์ ที่ไร้ชนชั้นและความขัดแย้งทางชนชั้นและทางการเมือง อันเป็นยูโทเปียหรือโลกพระศรีอาริย์ในที่สุดได้จริงหรือไม่

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save