fbpx
สงครามไต่สวนถอดถอนทรัมป์ในวุฒิสภา : ความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในอเมริกา

สงครามไต่สวนถอดถอนทรัมป์ในวุฒิสภา : ความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในอเมริกา

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

แม้จะคาดเดาได้ว่าจุดจบของการไต่สวนถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะยุติลงอย่างไร แต่ผมก็ยินดีสละเวลาค่อนคืนนั่งดูการถ่ายทอดเกือบตลอด  ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์อเมริกา ผมคิดว่าโอกาสจะได้ดูการดำเนินญัตติการถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกในเวลาอันใกล้นี้คงหาไม่ได้ หรือยากมากๆ  ในประวัติศาสตร์ 233 ปีของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มีการดำเนินญัตติดังกล่าวเพียง 3 ครั้ง คือสมัยประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน (ค.ศ. 1868) ครั้งที่สองอีกศตวรรษต่อมาคือสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (ค.ศ. 1974) และครั้งที่สามคือสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน (ค.ศ. 1998)

แต่น่าสังเกตเหมือนกันว่า ในทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมานั้น ไม่มีประธานาธิบดีคนไหนโดนถอดถอนโดยวุฒิสภา จอห์นสันรอดไปเพราะขาดเพียง 1 คะแนนในการได้เสียง 2 ใน 3 สำหรับการถอดถอน นิกสันตัดสินใจลาออกก่อนเรื่องถึงวุฒิสภา และคลินตันก็หลุดเพราะเสียงถอดถอนไม่ถึงเกณฑ์อีกเช่นกัน

โดนัลด์ ทรัมป์จึงเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ที่ถูกดำเนินการพิจารณาในวุฒิสภาให้ถอดถอนจากตำแหน่ง ครั้งนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าครั้งที่เคยผ่านมา แสดงว่าการปะทะกันอย่างสูงสุดระหว่างรัฐสภาคองเกรส (ฝ่ายนิติบัญญัติ) กับทำเนียบขาว (ฝ่ายบริหาร) มีแนวโน้มและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้มากกว่าในอดีต  หรือเป็นเพราะภาวการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปอย่างมากจากแต่ก่อน จึงทำให้อำนาจอธิปไตยที่เป็นของและมาจากปวงชนมีความขัดแย้งอย่างไม่อาจประนีประนอมกันได้มากขึ้น หรือว่านี่เป็นสัญญาณของความเสื่อมคลายของระบบประชาธิปไตยที่ได้เกิดไปทั่วโลกในไม่กี่ปีมานี้

นี่เป็นโจทย์ให้คิดและติดตามกันต่อไป ดังนั้นผมจึงให้เวลาค่อนข้างมากในการติดตามฟังและดูการถ่ายทอดสดการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาญัตติการถอดถอนประธานาธิบดีอย่างใจจดใจจ่อ เพราะครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญอเมริกัน ว่ายังสามารถโต้คลื่นลมของการเปลี่ยนแปลงในการเมืองสหรัฐฯ และของโลกได้อย่างทันการณ์หรือไม่ (ตัวอย่างใกล้ตัวผม พิสูจน์ให้เห็นอย่างเป็นประจักษ์ว่า รัฐธรรมนูญสยามไม่อาจโต้คลื่นลมทางการเมืองได้แม้แต่ครั้งเดียว)

 

กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มจากสภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่วาระการตัดสินโดยวุฒิสภา ซึ่งเป็นกระบวนการสุดท้ายในการดำเนินการกล่าวหาต่อประธานาธิบดีเพื่อการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ  หลังจากสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ในกระบวนการแรก คือการรวบรวมหลักฐานข้อมูลทั้งหลายจนเสร็จสิ้น แล้วมีมติในสภาผู้แทนฯ ด้วยเสียงข้างมากปกติ ให้ดำเนินการถอดถอน ด้วยการทำญัตติการถอดถอน (Article of Impeachment) ซึ่งมี 2 ข้อกล่าวหา คือ หนึ่ง ประธานาธิบดีใช้อำนาจในทางไม่ชอบ (abuse of power) และ สอง การขัดขวางกระบวนการยุติธรรมของคองเกรส (obstruction of Congress)  จากนั้นให้ส่งญัตติการถอดถอนนี้ไปให้วุฒิสภาด้วยมือ คือเดินเอาไปให้ถึงห้องประชุมวุฒิสภาเลย ต่อมาวุฒิสภาก็เรียกประชุมสมาชิกสภาเพื่อกำหนดวาระและระเบียบในการพิจารณาต่อไป

ข้อสังเกตต่อกระบวนการขั้นแรกนี้ แม้กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรสามารถรวบรวมพยานบุคคลและเอกสารจำนวนหนึ่งมาได้ แต่เกือบทั้งหมดยังเป็นหลักฐานชั้นรอง คือไม่ใช่ตัวจริงซึ่งเป็นหลักฐานชั้นต้นที่ระบุว่าประธานาธิบดีพูดและทำอะไรอย่างเถียงไม่ได้ ประการต่อมา ข้อกล่าวหาเรื่องการใช้อิทธิพลและอำนาจไปบีบผู้นำต่างประเทศ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลอเมริกาได้เคยทำมาก่อนแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ พรรคเดโมแครตจึงต้องหาทางโยงการใช้อำนาจประธานาธิบดีครั้งนี้เข้ากับการรณรงค์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีนี้ต่อไป ซึ่งก็เป็นเรื่องการตีความมากกว่าหลักฐานในการกระทำความผิดต่อกฎหมาย จุดอ่อนเหล่านี้จะปรากฏชัดขึ้นเมื่อตัวแทนทนายและที่ปรึกษาของทรัมป์ออกมาตอบโต้และแก้ต่างให้นายของพวกเขาว่า ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การทำความผิดอาญาแต่ประการใด

กระบวนการพิจารณาไต่สวนถอดถอนในวุฒิสภามีสองขั้นตอน ขั้นแรกคือการนำเสนอหลักฐานและข้อกล่าวหาโดยผู้แทนจากสภาผู้แทนราษฎร เรียกว่า “คณะผู้จัดการ” (managers) ที่ประธานสภาผู้แทนฯ (Speaker of the House) แต่งตั้ง 7 คน ให้ทำหน้าที่เหมือนอัยการในการกล่าวโทษต่อประธานาธิบดีในที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา 100 คน ซึ่งแบ่งเป็นพรรครีพับลิกัน 53 คน และเดโมแครต 47 คน จากนั้นผู้แทนของทำเนียบขาวหรือประธานาธิบดี ได้แก่ ที่ปรึกษากฎหมาย นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย ก็ขึ้นมากล่าวแย้งและแก้ต่างให้กับประธานาธิบดี

ขั้นตอนที่สองอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายคือ ที่ประชุมใหญ่ของวุฒิสภาทำการซักถามและแสดงความเห็น และลงท้ายด้วยการลงมติว่าจะเย (yeh) หรือเน (Nay)

ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาก่อนถึงการเปิดประชุม ผู้นำของสองพรรคจะมาพูดคุยทำความตกลงกันก่อน ว่าจะดำเนินการอย่างไร มีกฎระเบียบอะไร เพราะความสำเร็จของกระบวนการถอดถอนอยู่ที่การทำให้วาระหรือญัตตินี้เป็นเรื่องของสองพรรค ไม่ใช่ของพรรคหนึ่งพรรคใด อันจะนำไปสู่ความแตกแยกในวุฒิสภา เพราะการถอดถอนประธานาธิบดีเป็นเรื่องใหญ่ คอขาดบาดตาย พอๆ กับการทำรัฐประหาร ถ้าผู้นำสองพรรคไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง โอกาสที่จะทำได้สำเร็จก็มีน้อย หรือถ้าตกปากทำสัญญาแล้วไม่มาตามนัด ก็จะเกิดความโกลาหล งานนี้กล่าวได้ว่ามีความเสี่ยงสูงไม่น้อย

ภารกิจอันใหญ่หลวงนี้จึงตกอยู่กับมิตช์ แมคคอนแนล (สมาชิกวุฒิสภารัฐเคนทักกี พรรครีพับลิกัน) หัวหน้าเสียงข้างมาก (Majority Leader) แต่เขาก็ไม่ยอมพูดคุยกับฝ่ายเดโมแครต เอาแต่ไปปลอบใจทรัมป์ที่ถูกกล่าวหาในการไต่สวนโดยคณะกรรมาธิการเดโมแครตอย่างหนัก ว่าเขาจะจัดการทำให้การพิจารณาของวุฒิสภารวบรัดและเสร็จเร็วที่สุด ทำให้ฝ่ายเดโมแครตหงุดหงิดและหาทางชักจูงให้รีพับลิกันหันมาสนับสนุนการพิจารณาถอดถอนอย่างจริงจัง

ชัค ชูเมอร์ (สมาชิกวุฒิสภารัฐนิวยอร์ก พรรคเดโมแครต) ซึ่งเป็นหัวหน้าเสียงข้างน้อย (Minority Leader) แสดงความเห็นด้วยความไม่พอใจต่อท่าทีของแมคคอนแนล ว่าไม่ยอมมาเจรจาพูดคุยกับเขาเลย แม้จะส่งสัญญาณให้อย่างไรก็ตาม อันเป็นการขัดหรือฝืนธรรมเนียมของหัวหน้าสองฝ่ายว่าก่อนเปิดการประชุม ควรจะต้องมีการตกลงในระเบียบและกฎเกณฑ์ทั้งหลายให้ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่ายเสียก่อน จะได้ไม่ต้องมาถกเถียงอภิปรายให้เสียเวลาในที่ประชุม ตรงกันข้าม แมคคอนแนลกลับใช้เวลาก่อนการเปิดประชุม ไปเจรจาตกลงกับประธานาธิบดีทรัมป์แทน ว่าจะหาทางจัดการทำให้การพิจารณาการถอดถอนครั้งนี้ยุติลงโดยเร็วที่สุด ในแง่ของมารยาททางการเมือง วุฒิสภาทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาตัดสิน กลับไปเจรจาตกลงเงียบๆ กับจำเลยว่าจะดำเนินคดีให้ไปในทางใด  นี่เป็นสัญญาณแรกๆ ของความผิดปกติของหัวหน้าเสียงข้างมากในวุฒิสภา

ใกล้วันประชุม แมคคอนแนลก็ออกกำหนดระเบียบและกติกาในการประชุมออกมา โดยแต่แรกเขาเสนอให้แต่ละฝ่ายคนละ 24 ชั่วโมงในเวลา 2 วัน แต่พอเปิดประชุมวุฒิสภา ก็ยอมเพิ่มให้อีก 1 วันเป็น 3 วัน แสดงว่าคงมีบางคนในรีพับลิกันไม่พอใจแผนของเขา ส่วนฝ่ายเดโมแครตนั้นไม่พอใจแผนของแมคคอนแนลแน่ๆ

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไร้ระเบียบและเพื่อประกันความเป็นกลางและเที่ยงตรงของสมาชิกวุฒิสภา จึงมีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดมาก ให้สมาชิกวุฒิสภาทุกคนต้องนั่งฟังอย่างจริงจัง จะมัวไปทำอย่างอื่นไม่ได้ ห้ามไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือ เฟซบุ๊ก ไลน์ วอตส์แอปป์ ห้ามคุยกัน ห้ามเดินไปมา (เหมือนสภาสารขัณฑ์) ห้ามกินขบเคี้ยวขนมและอาหารกล่อง ที่อนุญาตให้ดื่มได้คือ น้ำ และต่อมาคือนม เท่านั้น!!!

วันที่ 22 มกราคมเป็นวันแรกของการเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อทำหน้าที่คณะลูกขุนในการพิจารณาญัตติการถอดถอนประธานาธิบดี ตอนนี้เราจะเห็นการต่อสู้และลูกเล่นลูกชนของทั้งสองพรรคในการบรรลุจุดหมายของตนให้ได้  ในวันแรกของการเปิดประชุมวุฒิสภา พรรคเดโมแครตรู้ว่าการลงมติจะออกมาอย่างไร ดังนั้น เดโมแครตจึงแก้เกม ด้วยการเสนอญัตติเพิ่มเติมวาระรับพยานและการเรียกพยานโดยอาศัยอำนาจของสภา (Subpeona) รวม 11 ญัตติ แม้รู้ว่าเสียงข้างมากคงไม่ยอมให้ผ่านแน่ๆ แต่ก็ต้องทำ เพื่อหวังให้ผู้ชมได้เห็นและฟังคำเสนอถึงเหตุผลว่าทำไมจึงต้องเรียกพยานมาสอบปากคำด้วย

เริ่มด้วยประธานสภา เรียกให้ผู้เสนอญัตติกล่าวเปิดและแถลงเหตุผลว่าทำไมจึงต้องเสนอญัตติให้เรียกพยาน เริ่มจากมิก มัลเวนี หัวหน้าของเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาว ไล่มาถึงคนสุดท้ายซึ่งเป็นการปิดญัตตินี้ ว่าให้ประธานศาลสูงสุด ซึ่งมานั่งเป็นประธานในวุฒิสภา มีอำนาจในการพิจารณาเรียกพยานมาให้ปากคำได้ ญัตติสุดท้ายเป็นไม้เด็ดของเดโมแครตที่จะเสนอให้ประชาชนได้เห็นว่า รีพับลิกันไม่ยอมรับแม้กระทั่งการให้ประธานศาลสูงสุดเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะเรียกพยานไหม ผลการลงคะแนน ญัตติการเพิ่มเติมของเดโมแครตแพ้คะแนนทุกข้อ เป็นอันตกไป หลังจากใช้เวลา 17 ชั่วโมงจากบ่าย 2 ถึงตี 1กับ 50 นาที

จากนั้นจึงเข้าสู่วาระของการนำเสนอจากสองฝ่าย ฝ่ายกล่าวหาของสภาผู้แทนฯ เริ่มการอภิปรายก่อน จากหัวหน้าคณะคือส.ส.อดัม ชิฟฟ์ (แคลิฟอร์เนีย) เขาไม่ลังเลในการนำเสนอหลักฐานข้อมูลหลากหลายที่ได้จากการสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการข่าวกรองและการยุติธรรมที่พรรคเดโมแครตคุมอยู่ มีทั้งฉายสไลด์และวิดีโอประกอบการอภิปราย เขาเตรียมเนื้อหาการพูดมาอย่างละเอียด สังเกตว่าในที่ประชุมนี้ทุกคนมีการเตรียมบทในกระดาษมาก่อน ไม่ใช่การแถลงหรือปราศรัยสดๆ เหมือนการหาเสียง เพื่อทำเวลาให้ทันตามกำหนด และไม่ให้การพูดไหลออกไปตามอารมณ์ แม้จะมีการคุมและระเบียบอย่างเคร่งครัด ในวันที่สองหลังจากผู้แทนทำเนียบขาวขึ้นมาแถลงและแก้ต่าง พร้อมกับตอบโต้ประเด็นของตัวแทนเดโมแครต นำไปสู่การใช้ถ้อยคำและความหมายที่ไม่สุภาพและไม่เหมาะสม ทำให้ประธานที่ประชุม ประธานศาลสูงสุดถึงกับออกปากก่อนการพักการประชุมว่าขอให้ผู้แทนทั้งสองฝ่ายยุติการใช้ถ้อยคำและภาษาที่ไม่สุภาพเสีย

กล่าวโดยรวม ผู้จัดการจากสภาผู้แทนฯ ทั้งหมดพูดในประเด็นที่แบ่งหน้าที่กันอย่างรวบรัด ตรงประเด็น และง่ายต่อการทำความเข้าใจ หลักๆ คือประธานาธิบดีทรัมป์ใช้อำนาจของตำแหน่ง ไประงับการอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือประเทศยูเครนทางการทหาร ซึ่งกำลังสู้รบกับกองทหารรัสเซียที่พยายามเข้าบังคับควบคุมยูเครน การที่ทรัมป์กระทำการนี้ก็เพื่อจะให้ประธานาธิบดีคนใหม่เซเลนสกีต้องทำตามที่ทรัมป์ต้องการเสียก่อน สิ่งที่เขาต้องการคือให้ไปสอบสวนสองพ่อลูกไบเดนกรณีคอร์รัปชันในยูเครน และหาข้อมูลเรื่องยูเครนไปแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ปี 2016 พฤติกรรมทั้งหมดแสดงถึงการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ กระทำการเสมือนอยู่เหนือกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจเพื่อหวังให้ตัวเองชนะเลือกตั้งในปี 2020 ซึ่งเป็นการเอาผลประโยชน์ส่วนตัวเหนือความมั่นคงของประเทศ ทรัมป์กระทำลงไปโดยรู้แน่ๆ ว่าผิดกฎหมาย เพราะเจ้าหน้าที่ทั้งในสำนักงบประมาณและกระทรวงกลาโหมได้แจ้งความไม่ถูกต้องในการกระทำดังกล่าวให้เขาทราบ แต่ทรัมป์ก็ยังดึงดันและสั่งให้ลูกน้องไปทำตามที่ต้องการมาให้ได้ รวมถึงการเล่นงานหาทางไล่เอกอัครรัฐทูตประจำยูเครนออกจากตำแหน่ง เพราะเธอไม่สนองนโยบายและความต้องการของทรัมป์

วันต่อมาคณะทนายหน้าหอของทำเนียบขาวก็ขึ้นมาแก้ข้อกล่าวหาทั้งหลาย ประเด็นหลักๆ ในการตอบโต้คือการโจมตีว่าคณะกรรมาธิการข่าวกรองและยุติธรรมในสภาผู้แทนฯ ที่เป็นผู้รวบรวมหลักฐานและคำให้การของเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ได้กระทำไปอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องตามกระบวนการ เช่นไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายประธานาธิบดีได้เข้าไปให้การด้วย (แต่ทางฝ่ายเดโมแครตแย้งว่าได้ส่งจดหมายให้ทำเนียบขาวมาร่วมฟังและเสนอข้อมูลของตัวด้วย แต่ทรัมป์ตอบปฏิเสธว่าไม่ต้องการเข้าร่วมการสอบสวนที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการสร้างเรื่องและหาทางใส่ร้ายเขา) จากนั้นฝ่ายทำเนียบขาวก็เสนอทฤษฎีของตนว่า ทรัมป์กระทำไปอย่างเหมาะสมเรียบร้อยยิ่ง ไม่มีคำร้องเรียนจากประธานาธิบดียูเครนเลยแม้แต่น้อย

วันสุดท้ายเป็นการเปิดให้สมาชิกวุฒิสภาทั้งสองพรรคซักถามการนำเสนอของผู้จัดการฝ่ายเดโมแครต กับทนายทำเนียบขาว พอถึงวาระการซักถาม ก็ให้สมาชิกวุฒิสภาเขียนลงในบัตรสีเทาขนาด 5 คูณ 8 (แบบที่นักศึกษาสมัยโบราณใช้จดข้อมูลจากหนังสือในห้องสมุด ซึ่งเรียกว่า index card) แล้วส่งให้เสมียนสภา ซึ่งเดินนำไปให้ประธานที่ประชุมซึ่งได้แก่ประธานศาลสูงสุดจอห์น โรเบิร์ต เป็นผู้อ่านและให้แต่ละฝ่ายตอบ เป็นการตัดไม่ให้มีการลุกขึ้นใช้วาจาในการทิ่มแทงฝ่ายตรงข้าม

จากนั้นตัวแทนของแต่ละฝ่ายขึ้นมาตอบ ให้เวลาคนละไม่เกิน 5 นาที ปรากฏว่าสมาชิกวุฒิสภาของเดโมแครตก็เขียนคำถามให้ผู้จัดการจากสภาผู้แทนฯ ตอบ ไม่ถามทนายทำเนียบขาว เช่นกันสมาชิกวุฒิสภาของรีพับลิกันก็เขียนถามไปแต่ฝ่ายทนายทำเนียบขาวฝ่ายเดียวเช่นกัน เพราะจะช่วยให้ตัวแทนฝ่ายตนขึ้นมาตอบและเติมประเด็นที่ยังไม่กระจ่างหรือทำให้หนักแน่นน่าเชื่อถือขึ้น เรียกว่าเป็นการสู้กันทางการเมืองทุกนาทีและโอกาส

 

เมื่อฟังและดูบรรยากาศทั้งในและนอกห้องประชุม เห็นได้ชัดว่า การประชุมวุฒิสภาครั้งนี้ไม่เหมือนก่อนเลย ไม่มีบรรยากาศของการทำงานร่วมกันของทั้งสองพรรค การนำเสนอและการตอบโต้ก็หนักหน่วง ส่วนสมาชิกพรรคก็แสดงความเห็นนอกห้องประชุมไปในทิศทางของพรรคตัวเองทั้งนั้น กล่าวคือสมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกันก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นั่งฟังมาสองวันแล้ว ไม่เห็นมีอะไรใหม่เลย ที่พูดๆ มาก็ได้ยินมาก่อนแล้วทั้งนั้น วันหลังๆ ที่ทำท่าจะเป็นมติของพรรครีพับลิกันต่อการลงมติ คือถึงแม้ว่าข้อกล่าวหาของเดโมแครตเป็นจริง ก็ไม่มีน้ำหนักถึงขึ้นที่จะทำการถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้ มันเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมจริง แต่ก็ไม่หนักเหมือนความผิดขั้นสูงต่อประเทศและกฎหมายรัฐธรรมนูญ

สองสัปดาห์ของการพิจารณาญัตติการถอดถอนนี้ มี “ข้อมูลใหม่” ที่สั่นสะเทือนวุฒิสภา นั่นคือ นิวยอร์กไทมส์เปิดเผยบางตอนจากหนังสือที่เขียนโดยจอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของประธานาธิบดีทรัมป์คนล่าสุดที่เพิ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะทรรศนะไม่ตรงกัน เขายืนยันในหนังสือว่าทรัมป์บอกเขาเองว่าให้ผูกงบความช่วยเหลือยูเครนเข้ากับการสอบสวนเรื่องคอร์รัปชันของไบเดนทั้งพ่อและลูก พอมีข่าวว่าโบลตันให้หลักฐานชั้นต้นแบบนี้ ฝ่ายเดโมแครตก็รุกต่อว่าทำไมรีพับลิกันถึงไม่อยากฟังจากปากของคนที่อยู่ใกล้ทรัมป์ที่สุดในเรื่องนี้เล่า

เมื่อถึงวาระการลงมติว่าจะเรียกพยานใหม่เพิ่มอีกไหม เย็นและค่ำวันนั้นมีการเคลื่อนไหวและล็อบบี้กันอย่างคึกคัก จนในที่สุดทุกฝ่ายก็มุ่งจับตาว่าสมาชิกวุฒิสภารีพับลิกัน 4 คน จะโหวตให้กับญัตตินี้หรือไม่ นั่นคือมิตต์ รอมนีย์ (ยูทาห์) ซูซาน คอลลินส์ (เมน) ลิซ่า เมอร์โควสกี (อลาสกา) และลามาร์ อเล็กซานเดอร์ (เทนเนสซี) ผู้อาวุโสและมิตรใกล้ชิดของมิตช์ แมคคอนแนล เดโมแครตต้องได้ 4 เสียงนี้จึงจะพลิกมาเป็นเสียงข้างมากได้ ปรากฏว่ามีแค่สองคนแรกคือรอมนีย์กับคอลลินส์เท่านั้นที่ยินดีโหวตให้เดโมแครต เป็นอันว่าความหวังฟางเส้นสุดท้ายของเดโมแครตก็ลอยไปตามสายลม

สรุปวาทะเด็ดและมีพลังของสองพรรค ผมยกให้คนแรกคือ อดัม ชิฟฟ์ ประธานกรรมาธิการข่าวกรองและหัวหน้าคณะนำเสนอครั้งนี้ เขาปิดท้ายการเสนอปากเปล่าในญัตติการถอดถอนในข้อที่ 2 ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ใช้อำนาจขัดขวางการทำงานของสภาคองเกรส เขาปิดท้ายด้วยคำกล่าวว่า “ความถูกต้องมีความหมาย ความจริงมีความหมาย ถ้าปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้ว เราพ่ายแพ้” เราในที่นี้หมายถึงระบบประชาธิปไตยอเมริกาที่มีอายุกว่าสองศตวรรษ

อีกคนคือฝ่ายทนายของทรัมป์ ที่แสดงความเห็นทางกฎหมายอย่างพิสดาร จนได้รับเสียงก่นด่าและประณามไปทั่วประเทศ นั่นคือศาสตราจารย์อลัน เดอโชวิตซ์ (Alan Dershowitz) จากโรงเรียนกฎหมาย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้มีชื่อเสียงและฝากผลงานที่สร้างปฏิกิริยาแทบทุกครั้ง คราวนี้เขาได้รับการทาบทามให้มาทำงานให้ประธานาธิบดีทรัมป์ในการสู้ข้อกล่าวหาดังกล่าว เดอโชวิตซ์เสนอทฤษฎีกฎหมายพิสดารใหม่ใน 2 ประเด็น

หนึ่ง การทำผิดถึงขั้นถูกถอดถอนต้องเป็นความผิดอาญา ไม่ใช่แค่ความผิดเล็กๆ น้อยๆ ผู้คนพากันจำได้ว่า สมัยที่ประธานาธิบดีคลินตันถูกดำเนินการถอดถอน เขาเคยออกมาเล่นงานคลินตัน ด้วยการเสนอทฤษฎีว่า แม้การทำความผิดไม่ถึงขั้นเป็นคดีอาญา ก็ถูกถอดถอนได้ เพราะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและเป็นอันตรายต่อเสรีภาพประชาชน

อีกข้อหนึ่งที่เขาเสนออย่างไม่น่าเชื่อ เขากล่าวว่า “การที่ประธานาธิบดีทำอะไรที่เชื่อว่าจะช่วยให้เขาได้รับการเลือกตั้งอันเป็นผลประโยชน์ต่อสาธารณะ นั่นไม่ใช่การกระทำที่เรียกว่า ‘หมูไปไก่มา’ ที่ทำให้ถูกถอดถอนได้” นับเป็นตรรกะที่ประหลาดอย่างที่เนติบริกรไทยยังคิดไปไม่ถึง นั่นคือประธานาธิบดีทำอะไรก็เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวมทั้งนั้น  ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่าเป็นการกระทำที่เป็น “อาชญากรรมขั้นสูง” หรือไม่ถูกต้องแต่ประการใด

 

แล้วเมื่อวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ วุฒิสภาก็ได้ทำการลงมติในญัตติการถอดถอนประธานาธิบดีเรียบร้อยแล้ว ทรัมป์รอดพ้นการถูกถอดถอนได้ตามคาด เซอร์ไพรส์ใหญ่มีเพียงมิตต์ รอมนีย์ ที่ย้ายฝั่งมาลงมติถอดถอนทรัมป์ในข้อหาใช้อำนาจในทางไม่ชอบร่วมกับพรรคเดโมแครต ส่วนที่เหลือเป็นการลงคะแนนตามแนวทางของพรรค

สงครามถอดถอนทรัมป์ในรัฐสภาคองเกรสที่ผ่านมาเป็นดัชนีชี้ถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นและสร้างแรงสะเทือนต่อไปในการเมืองอเมริกัน ในคืนวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ก่อนหน้าการลงมติถอดถอนหนึ่งวัน ประธานาธิบดีทรัมป์แถลงถึง “สถานะของประเทศ” (State of the Union) ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีประธานในห้องประชุมร่วมของทั้งสองสภาคือ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี ซึ่งเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง กับแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อทรัมป์เดินเข้ามาถึงหน้าห้องประชุมพร้อมจะเปิดการปราศรัย เขายื่นสำเนาคำปราศรัยให้แก่เพนซ์และเพโลซี ซึ่งต่างยื่นมือมาจับมือทักทายตามธรรมเนียม ปรากฏว่าทรัมป์สะบัดก้นให้ประธานสภาฯ อย่างไม่เป็นมิตร และไม่ยอมจับมือด้วยหน้าตาเฉย เพโลซีเอาคืนด้วยการแนะนำองค์ปาฐกอย่างสั้นๆ แบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ว่า “สมาชิกของคองเกรส — ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ” แล้วก็นั่งลง ไม่สาธยายถึงสรรพคุณขององค์ปาฐกผู้ทรงเกียรติตามธรรมเนียมปฏิบัติแม้แต่นิดเดียว มิหนำซ้ำหลังจากทรัมป์ปราศรัยเสร็จ ขณะที่สมาชิกในห้องประชุมยืนขึ้นปรบมือ เพโลซีก็ลงมือฉีกคำปราศรัยของทรัมป์แผ่นแล้วแผ่นเล่าต่อหน้าทุกคน เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ถูกบันทึกในเทปวิดีโอของทุกสำนักข่าว

“เราจะปฏิบัติต่อเขาในฐานะของแขกของสภาผู้แทนฯ แต่เขาควรต้องให้ความเคารพต่อสภาฯ” เธอตอบนักข่าวภายหลังจากที่ตัดสินใจกระทำการดังกล่าว พร้อมกับบอกว่า “ทั้งหมดนี้เป็นคำแถลงที่ไม่เป็นความจริง” และ “ทรัมป์ได้ถูกถอดถอนไปตลอดกาล”

แน่นอนว่าสงครามระหว่างพรรคเดโมแครตกับประธานาธิบดีจะยังคงดำเนินต่อไป และร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save