fbpx
ส. ศิวรักษ์ 84

ส. ศิวรักษ์ 84

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

จิรศักดิ์ ไพรสานฑ์กุล ภาพ

 

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ ในวัย 84 ปี ยังมีชีวิตที่ตื่นเต้นและน่าสนใจอยู่เสมอ

4 ปีก่อน ในเดือนมีนาคม สุลักษณ์ออกรายการ ตอบโจทย์ ของภิญโญ ไตรสุริยธรรมา สนทนากับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ จนรายการนั้นถูกปิดไปเป็นข่าวดัง  หลังจากนั้นสุลักษณ์ก็เป็นข่าวดังอยู่เนืองๆ แม้ไม่ใช่ทางบวกนัก เป็นต้นว่าการเป็นหัวคะแนนเขียนบทความเชียร์ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ตอนลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือการวิจารณ์การเมืองฝั่งทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ จนสุลักษณ์ถูกตัดต่อภาพล้อเลียนเป็นผู้เฒ่าเต่าก็มี

หลังจากนั้น สุลักษณ์ก็เป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อออกมายืนข้างนักเรียนนักศึกษาที่ถูกรัฐบาลจับกุมเพราะเรียกร้องประชาธิปไตย ในปี 2558  ล่าสุด สังคมไทยรู้จัก สุลักษณ์มากขึ้นอีกครั้งในการให้ความเห็นเรื่องพุทธศาสนา กับดีเบตเรื่องวัดพระธรรมกายกับใครๆ และการพยายามไปประกันตัว ไผ่ ดาวดิน ที่จังหวัดขอนแก่น

อุปมาคนที่ไม่รู้จักสุลักษณ์ดีนักเหมือนคนตาบอดที่คลำช้าง  พิจารณาแง่หนึ่งก็คิดว่าเป็นอย่างหนึ่ง พิจารณาอีกแง่หนึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง  ต่อเมื่อมองรวมๆ แล้วจะพบว่าสุลักษณ์มีเสน่ห์เหลือเกิน  เป็นทั้งปัญญาชนสยาม  เป็นราชสีห์แห่งการพูด  เป็นผู้อุทิศชีวิตเพื่อความยุติธรรมในสังคม  ต่อสู้เพื่อให้เกิดความจริง ความดี และความงามในสังคมไทย  เป็นผู้ที่หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการแสวงหาทางเลือก  เป็นคนที่ฝ่ายซ้ายหาว่าเป็นขวา และฝ่ายขวาก็หาว่าเป็นซ้าย  จนเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากไม่เคารพนับถือสุลักษณ์เหมือนคนรุ่นก่อนอีกแล้ว เพราะไม่รู้สึกว่าเขามีจุดยืนอะไรเลย

ข้อเขียนเรื่อง “ส. ศิวรักษ์ 84” นี้ พยายามเขียนถึงชีวิตและงานของสุลักษณ์ในช่วงวัยต่างๆ ไล่มาจนถึงวิถีชีวิตและแง่มุมจากคนใกล้ชิดที่ใครหลายคนอาจจะไม่เคยได้สัมผัส เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้อ่านรู้จักสุลักษณ์มากขึ้น ก่อนที่จะไปอ่านงานเขียนของเขาทั้งในโลกออนไลน์และในหนังสือเล่ม แล้วตัดสินเอาเองว่า สุลักษณ์เป็นชายชรา ผู้เป็นปัญญาชนสยามคนสุดท้ายของบ้านเมืองนี้ ซึ่งยังมีคุณค่าต่อปัจจุบันและอนาคต  หรือว่าเป็นชายชราผู้ล้าหลัง หมดคุณค่าต่อสังคมไทยไปแล้ว

 84 ปี 84 เรื่อง ส. ศิวรักษ์ 

  1. สุลักษณ์เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1933 เมื่อตอนที่เขาเกิด ขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน จึงนับว่าเขาเกิดปลายปี พ.ศ. 2475 ที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเดือน 3 ของปีนั้น  ต่อมาเมื่อเปลี่ยนปฏิทินมาขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม  จึงต้องนับว่าเขาเกิดในปี พ.ศ. 2476  ฉะนั้น ปี 2560 นี้ เขาจึงมีอายุครบ 7 รอบนักษัตรคือ 84 ปี ไม่ใช่ 85 ปี
  1. ชื่อ “สุลักษณ์” มาจากการผสมชื่อจากพ่อและแม่ของเขา คือ นายเฉลิม และนางสุพรรณ เขามีชื่อเล่น 2 ชื่อ คือ “อีเหม่” โดยคุณนายทองโกย เหมะชะญาติตั้งให้ เพราะเห็นสุลักษณ์นั่งในเปลหัวเหม่  อีกชื่อหนึ่งคือ “แป๊ะ” ยายมีที่เลี้ยงดูสุลักษณ์ตั้งแต่เป็นทารกเป็นผู้ตั้งให้
  1. ปี 2486 สุลักษณ์เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเดียวกับที่พ่อของเขาเรียนมา  สุลักษณ์จบชั้น ม.8 จากที่นี่ โดยได้เป็นบรรณาธิการนิตยสาร อุโฆษสาร ของโรงเรียนด้วย  โดยที่ก่อนหน้านั้นตอนเรียนหนังสือก็ได้ทำนิตยสาร ยุววิทยา ร่วมกับเพื่อนๆ ในชั้น อาทิ อวบ สาณะเสน
  1. เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 รุนแรงขึ้นจนโรงเรียนในกรุงเทพมหานครถูกสั่งปิดเพื่อความปลอดภัย สุลักษณ์เลือกที่จะบวชสามเณรที่วัดทองนพคุณ แทนที่จะไปเรียนในต่างจังหวัด  เขาบวชเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2487 โดยมีพระสังวรวิมล (ชุ่ม ติสาโร) เจ้าอาวาส เป็นอุปัชฌาย์ และมีพระภัทรมุนี (อิ๋น ภทฺรมุนี) เป็นเจ้าคุณอาจารย์ที่ดูแลสุลักษณ์อย่างใกล้ชิด และเป็นผู้ที่มีพระคุณต่อเขาเป็นอย่างมาก
  1. สุลักษณ์เคยเล่าว่า ที่เขาสนใจความรู้ต่างๆ กว้างขวางตั้งแต่วัยเด็ก มาจากปัจจัย 3 ประการ คือ (1) นายเฉลิม ศิวรักษ์ พ่อผู้เลี้ยงลูกแบบเพื่อน สอนให้กล้าคิดกล้าคุย และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง (2) สุลักษณ์ชอบอยู่กับคนแก่ ชอบฟังคนแก่คุย สนใจเรื่องเก่า และไม่สนใจในสิ่งที่คนรุ่นเดียวกันสนใจเลย เช่น ชอบดูละครชาตรี ลิเก มากกว่าดูหนังฝรั่ง และ (3) การได้มาอยู่วัดทองนพคุณ ฟังเรื่องต่างๆ จากพระภัทรมุนี (อิ๋น ภทฺรมุนี) และผู้คนที่ไปมาหาสู่ท่าน
  1. หลังจากได้อ่าน ไทยรบพม่า พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อตอนเป็นสามเณรแล้ว สุลักษณ์ก็ชอบอ่านหนังสือต่างๆ เรื่อยมา จนรวบรวมเงินค่าขนมไปซื้อหนังสือ ลัทธิของเพื่อน ของเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มาเป็นสมบัติของตนเองเป็นเล่มแรก ในราคา 50 บาท เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2495

 

“แม้ผมจะรังเกียจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่บังคับให้เราแต่งตัวเป็นฝรั่ง ผมจึงเลี่ยงการแต่งตัวแบบนั้น แต่สิ่งเดียวที่ผมเห็นด้วยกับจอมพล ป. คือการใส่หมวก เพราะเราอยู่ในเมืองเรา แม้กระนั้นก็ไม่ควรบังคับใครๆ” – ส. ศิวรักษ์

 

  1. หลังจากอ่านมาก ก็ริเริ่มเขียนบทความ ในวัย 16 ปี มีผลงานตีพิมพ์เรื่องแรกในวารสาร พุทธจักร รายเดือน ฉบับพฤศจิกายน 2492 เรื่อง “ภายในดินแดนพุทธจักร” และในปีถัดมาก็มีผลงานเรื่อง “เก็บอิฐสมัยใหม่เข้าใจเกินตำรา” ในวารสารปาริชาต รายปักษ์ ฉบับตุลาคม 2493
  1. เมื่ออายุ 20 ปี ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเซนต์เดวิดส์ แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร จนสำเร็จการศึกษาทางปรัชญาและวรรณคดี  ที่นี่เองเขาได้ครูสอนปรัชญา ชื่อ Frank Richard Newte ผู้มุ่งความเป็นเลิศ และให้ความเป็นกันเองกับสุลักษณ์ในการสนทนาความรู้เรื่องต่างๆ
  1. การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยของสุลักษณ์ สิ่งที่เขาประทับใจนอกจากครู ก็คือเพื่อน ด้วยความที่มหาวิทยาลัยมีขนาดเล็กทำให้ได้รู้จักเพื่อนต่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ได้พบกัลยาณมิตรหลายคนจากที่แห่งนี้ เช่น Bob McCloy ซึ่งยังคบกันมาอยู่จนถึงทุกวันนี้
  1. ในปี 2501 อุปัชฌาย์ของสุลักษณ์ได้เลื่อนสมณศักดิ์ในราชทินนามว่า “พระเทพวิมล” เขาได้จัดพิมพ์หนังสือ เรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาในยุโรป เป็นของชำร่วย นับเป็นหนังสือเล่มแรกของเขาในบรรณพิภพ  โดยที่ในปีเดียวกันนั้นเอง  เขาได้รับเลือกให้เป็นบรรณาธิการหนังสือ สันนิบาต ของนักเรียนไทยในยุโรปทั้งหมด เพื่อฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
  1. หลังจากเรียนจบ เขาเข้าทำงานกับ BBC ในกรุงลอนดอน ในปี 2502 ต่อมาเมื่อ BBC ยุบการกระจายเสียงภาคภาษาไทย เขาไปสอนภาษาไทยที่ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน
  1. ความภาคภูมิใจสูงสุดในเวลาที่อยู่อังกฤษนั้น คือการได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประเทศอังกฤษ ในปี 2503 เพื่อออกอากาศทางวิทยุ BBC และยังได้ตามเสด็จไปประเทศเนเธอร์แลนด์อีกด้วย

 

“รูปวาดภรรยาผมเมื่ออายุครบ 3 รอบนักษัตร ฝีมือ พิศาล ทิพารัตน์ ผู้เป็นศิลปินคนสำคัญ และภรรยาผมก็มีคุณูปการกับผมมาโดยตลอดอย่างหาที่เปรียบมิได้” – ส. ศิวรักษ์

 

  1. ด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตอนไปเรียนอังกฤษ ไม่ว่าไปพักที่หอพักใดๆ สุลักษณ์จะนำพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ใส่กรอบเล็ก ๆ ตั้งไว้ที่ชั้นหนังสือทุกที่  ดังมีภาพถ่ายหลายภาพเป็นพยาน ปรากฏในหนังสือ ช่วงแห่งชีวิต แล้ว
  1. ตอนไปเรียนอังกฤษด้วยทุนส่วนตัวของที่บ้าน สุลักษณ์ตั้งใจว่าจะกลับมาเล่นการเมือง และอยากเป็นนายกรัฐมนตรี  เขาเห็นว่าสมัยนั้นนายกรัฐมนตรีหลายคนจบเนติบัณฑิตอังกฤษ จึงไปสอบด้วยจนได้เป็นเนติบัณฑิตแห่งสำนัก The Middle Temple เมื่อปี 2504
  1. แต่ความตั้งใจว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือการเอาดีทางการเมืองของเขาก็พลิกผันไป เขาเล่าว่าด้วยเหตุปัจจัยหลายเรื่อง โดยเฉพาะก็เมื่อพระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน ทรงเปรยว่า “คุณสุลักษณ์รู้ไหมว่าฉันมี ambition อยากเป็นคนเฝ้าหน้าส้วมสาธารณะ เพราะที่ลอนดอน ส้วมสะอาด นั่งหน้าส้วมมีเวลานั่งถักเสื้อผ้าก็ยังได้ และยังได้ติ๊บอีกด้วย”  สุลักษณ์เห็นว่าพระองค์ท่านเป็นเจ้านายผู้ใหญ่  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระบิดา ก็ทรงสถานะสูงสุดในทุกๆ ทาง แต่แล้วก็ต้องสิ้นพระชนม์ในต่างแดน จึงทำให้สุลักษณ์ฉุกคิดว่า ถึงจะไต่เต้าเอาดีทางการเมือง แม้จะสำเร็จไปถึงไหน ก็เป็นการสนองอัตตาตัวเอง ยิ่งกว่าอะไรอื่น
  1. เมื่อกลับมาทำงานในประเทศไทย คนของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาชักชวนให้เขาไปทำงานในคณะโฆษกรัฐบาล  สุลักษณ์บอกว่าไม่เชื่อใจในตัวเองว่าถ้าเข้าไปใกล้กับอำนาจแล้วจะไม่กลายเป็นคนเลวร้ายที่รับใช้ผู้มีอำนาจอย่างเซื่องๆ ไปเลยหรือไม่  จึงตอบปฏิเสธไปในที่สุด  แล้วมาเริ่มทำงานที่สำนักพิมพ์สังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยในปี 2505
  1. 18 ตุลาคม 2505 สุลักษณ์จัดพิมพ์หนังสือรวมบทร้อยกรอง ศิวพจนารถ เพื่อเป็นของชำร่วยในงานทำบุญเปตพลีอุทิศให้บิดา โดยหนังสือเล่มนี้สำนักพิมพ์ก้าวหน้าได้นำมาพิมพ์จำหน่ายในต้นปี 2506 ด้วย  นับว่าเป็นหนังสือเล่มแรกของสุลักษณ์ที่มีวางจำหน่าย
  1. ปี 2506–2512 สุลักษณ์เป็นบรรณาธิการวารสารของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยชื่อ สังคมศาสตร์ปริทัศน์  ซึ่งมีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้นักวิชาการไทยผลิตผลงานเป็นบทความและหนังสือออกมา  จนในที่สุดได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จนต้องมีฉบับนิสิตนักศึกษา และฉบับบัณฑิตด้วย  มีนักวิชาการบางนายกล่าวว่า สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นเวทีทางภูมิปัญญาที่สำคัญจนเป็นประกายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

 

“ผมรักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ อ่านเพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจ และอ่านเพื่อหาความรู้ ผมไม่ได้สายตาสั้นหรือสายตายาว แต่หมอเขาบอกว่าสายตาเอียง ไม่รู้ว่าเอียงซ้ายหรือเอียงขวา ในทางการเมือง ผมเอียงข้างไหน ขอให้วินิจฉัยกันเอง” – ส. ศิวรักษ์

 

  1. สุลักษณ์เป็นคนแรกๆ ในเมืองไทยที่นำเรื่องของทะไลลามะมาเผยแพร่  ปี 2507 เขาแปลหนังสือ แผ่นดินและประชากรของข้าพเจ้า อัตชีวประวัติทะไลลามะแห่งธิเบต ออกวางจำหน่าย  นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มทำนิตยสารภาษาอังกฤษเกี่ยวกับพุทธศาสนาด้วย 2 ปก คือ Visakha Puja นิตยสารของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ Seeds of Peace
  1. ในวัย 31 ปี สุลักษณ์สมรสกับนางสาวนิลฉวี พัฒโนทัย ชาวจังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2507 โดยกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เป็นเจ้าภาพงานแต่งงานให้ที่วังถนนเพชรบุรีของพระองค์ท่าน  เธอและเขามีลูก 3 คน คือ ฉิม ขวัญข้าว และมิ่งมานัส
  1. นอกจากได้รับพระเมตตาจากในกรมพิทยลาภฯ ในการประทานความรู้เรื่องต่างๆ แล้ว สุลักษณ์ยังได้ใกล้ชิดกับ ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดาองค์โตของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอีกด้วย  ท่านหญิงจงให้สัมภาษณ์สุลักษณ์หลายเรื่องจนสามารถตีพิมพ์เป็นหนังสือ สัมภาษณ์ ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุล ได้  นอกจากนี้ เมื่อคราวสุลักษณ์แต่งงาน  ท่านหญิงจงยังเป็นผู้เลือกแหวนแต่งงานให้ด้วย
  1. เมื่อกระแสทางภูมิปัญญาเริ่มจุดติด นิสิตนักศึกษาเริ่มสนใจใฝ่หาความรู้นอกรั้วมหาวิทยาลัย แต่โดยที่กฎอัยการศึกภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน  การรวมกลุ่มจัดอภิปรายจึงไม่สามารถทำได้ในสถานที่ปกติ  สุลักษณ์จึงขอพระสาสนโสภณ (เจริญ สุวฒฺฑโน) ใช้โบสถ์วัดรังสีสุธาวาส ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร เปิดชมรมปริทัศน์เสวนาขึ้น เป็นที่รวมตัวกันของนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ
  1. สุลักษณ์เคยสอนปรัชญาการเมืองในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนมีลูกศิษย์อยู่หลายรุ่น เขาเป็นคนแปลงานของเปลโต้ออกมาเป็นคนแรกๆ ต่อมารวมพิมพ์ในชื่อ โสกราตีส และเขียนหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาอยู่หลายเล่ม ทั้งตะวันตกและตะวันออก เช่น มนุษย์ที่แท้ และ ปรัชญาการเมือง
  1. ปี 2510 เมื่อสุลักษณ์อายุ 34 ปี เขาเปิดร้านหนังสือ “ศึกษิตสยาม” ที่สามย่าน เพื่อเป็นศูนย์สำหรับปัญญาชนและขายหนังสือที่ตลาดทั่วๆ ไปไม่ขาย ทั้งยังมีการจัดนิทรรศการชีวิตและผลงานของบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสังคม  นอกจากนี้ยังเป็นที่มาของการแจกเอกสารเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม 2516 อันนำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ

 

“ผมเขียนเรื่อง คันฉ่องส่องพระ ส่องเจ้า ฯลฯ โดยที่ได้ส่องตัวเองอยู่เนืองๆ หวังว่ากัลยาณมิตรจะช่วยกันส่องให้เห็นตัวผมอย่างจริงจังและช่วยตักเตือนมาด้วย” – ส. ศิวรักษ์

 

  1. ปี 2512 สุลักษณ์ตั้งมูลนิธิเสฐียรโกเศศขึ้นเพื่ออุดหนุนนักเขียน ศิลปิน ผู้ตกยากและแหวกกระแส โดยได้รับผลงานลิขสิทธิ์ของพระยาอนุมานราชธน (“เสฐียรโกเศศ”) มาเป็นทุนประเดิม ต่อมาได้นำนามปากกาของพระสารประเสริฐมาใช้เป็นชื่อคู่กันว่า มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
  1. 22 กุมภาพันธ์ 2514 โกมล คีมทอง ครุศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้นำนิสิตนักศึกษา ผู้ผันตัวออกไปเป็นครูในชนบท ถูกลอบสังหาร เพื่อนฝูงและบุคคลที่ใกล้ชิด ซึ่งมีสุลักษณ์เป็นคนสำคัญ ได้ร่วมกันตั้งมูลนิธิโกมลคีมทองขึ้น โดยเชิญ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มาเป็นประธาน และมีรองประธาน คืออาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปี 2516
  1. ปี 2515 สุลักษณ์ก่อตั้งบริษัทเคล็ดไทย (Klett Thai) โดยร่วมทุนกับบริษัท Klett จากเยอรมนี เพื่อมุ่งผลิตตำราเรียน และหนังสือต่างๆ ที่กว้างขวางหลากหลายขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ฝรั่งถอนหุ้นไป จึงเปลี่ยนเป็นเคล็ดไทย (Kled Thai) จนมาถึงทุกวันนี้ ทำธุรกิจทั้งสายส่งหนังสือและสำนักพิมพ์
  1. กลางปี 2519 สุลักษณ์รับเชิญไปปาฐกถาในโอกาส 200 ปีสหรัฐอเมริกา ประจวบกับเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคมขึ้นในเมืองไทย จึงได้อยู่ที่อังกฤษเป็นเวลาหลายเดือน โดยได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิมิตรไทยกับอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติ ช่วยประสานงานด้านข้อมูลข่าวสารทั้งในอังกฤษและนอกอังกฤษ จากนั้นในปี 2520–2521 ได้เดินทางไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ในสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยโตรอนโต ในแคนาดา
  1. ปี 2522 สุลักษณ์ตีพิมพ์หนังสือ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน ออกเผยแพร่ในท่ามกลางบรรยากาศที่ชื่อเสียงของอาจารย์ป๋วยถูกใส่ร้ายป้ายสีอย่างสุดๆ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นคนขายชาติ ฯลฯ แต่สุลักษณ์ก็กล้าที่จะยืนอยู่ข้างสัจจะ และรื้อฟื้นเกียรติคุณให้คนกลับมาเห็นคุณูปการที่อาจารย์ป๋วยได้สร้างไว้แก่สังคมไทยผ่านชีวิตสามัญธรรมดาของท่าน
  1. สุลักษณ์เป็นคนแรกๆ ในเมืองไทยที่นำแนวคิดเรื่องสันติวิธีเข้ามาเผยแพร่ ต่อมาขยายงานออกไปโดยกลุ่มลูกศิษย์ และสุลักษณ์ได้พยายามประสานศาสนธรรมต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างมีส่วนร่วมกับสังคม  ในปี 2523 ได้ตั้งคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา โดยมีทั้งพุทธ คาทอลิก โปรเตสแตนต์ และมุสลิมเป็นผู้บริหาร

 

“อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นกัลยาณมิตรคนสำคัญที่ทำให้ผมเข้าถึงความงาม ความไพเราะ ภาพพระพุทธนี้ อังคารเขียนให้ผมเมื่อต้องลี้ภัยไปต่างประเทศครั้งแรก นอกจากจะมีคุณค่าที่สำคัญยิ่งสำหรับผมแล้ว ยังนำให้ผมเข้าถึงพุทธธรรมและความงาม รวมถึงเป็นที่ระลึกแห่งมิตรภาพด้วย” – ส. ศิวรักษ์

 

  1. ปี 2526 สุลักษณ์เริ่มกิจกรรมอาศรมแปซิฟิกที่ประเทศมาเลเซีย และคิดที่จะทำอาศรมที่เมืองไทยให้พี่น้องเพื่อนฝูงได้ไปทดลองใช้ชีวิตที่แปลกไปจากธรรมดา เพื่อเป็นชุมชนอย่างใหม่ โดยได้เคยปรารภเรื่องนี้กับ ม.ร.ว. เสงี่ยม ในสมเด็จพระสวัสดิวัตนวิศิษฐ์ ซึ่งท่านอยากให้ทำประโยชน์ด้านการศึกษา เขาจึงได้ขอที่ดินนั้นมาให้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ก่อตั้งเป็น “อาศรมวงศ์สนิท”
  1. ในปี 2527 ระหว่างอภิปรายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุลักษณ์ได้รับข้อความว่ามีหมายจับรออยู่ที่บ้าน จึงประกาศว่าจะไปมอบตัว แต่ได้รับคำแนะนำทางโทรศัพท์ว่าอย่าเพิ่งมอบตัวเพราะจะโดนข้อหาเพิ่มกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และอาจถูกขยายผลเป็นความวุ่นวายทางการเมือง  ลูกศิษย์ของเขาจึงเตรียมหาทางหนีทีไล่ แต่ก็ถูกจับเสียก่อนในวันที่ 5 สิงหาคม  หลังจากถูกคุมขังอยู่หลายวันจึงรับอนุญาตให้ประกันตัว  โดยทางต่างประเทศได้ทำหนังสือประท้วงไปยังรัฐบาลไทยอยู่มิได้ขาด  กองทุนต่างประเทศได้ส่งเงินมาช่วยสู้คดี  ส่วนหนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวการประท้วงเหล่านี้   ต่อมาอัยการถอนฟ้อง เรื่องเป็นอันยุติ  นับเป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพครั้งแรกที่สุลักษณ์เผชิญ  โดยที่ในเหตุการณ์นี้มีการยึดหนังสือ ลอกคราบสังคมไทย ของเขาไปด้วย
  1. ปี 2530 สุลักษณ์ก่อตั้งสถาบันประดิษฐ์มนูธรรม เพื่อทำงานด้านชุมชนวิจัย คือให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการวิจัย ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือของนักวิจัย จัดเวทีไทยเพื่อพูดคุย อภิปราย และทำกิจกรรมร่วมกับทางสถาบันต่างๆ แต่ในปีถัดมา เปลี่ยนชื่อสถาบันนี้ที่อยู่ภายใต้ฉายาของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เป็น “สถาบันสันติประชาธรรม” เนื่องจากสถาบันแห่งนี้ดำเนินการประท้วงรัฐบาลที่ไม่ยอมให้ทะไลลามะเข้ามาร่วมประชุมในเมืองไทย  กรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เกรงว่าชื่อเสียงอาจารย์ปรีดี ผู้ล่วงลับ จะเสียหาย จึงไม่สบายใจ
  1. นอกจากที่สุลักษณ์จะได้มีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาลของเจ้านายหลายพระองค์ที่ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ตั้งแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในปี 2505  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ในปี 2506  ต่อมาในปี 2531 ได้จัดงาน 100 ปี ของพระยาอนุมานราชธน (“เสฐียรโกเศศ”) ปราชญ์ผู้มีผลงานมากมายในบรรณพิภพ โดยที่ท่านเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้รับเกียรติยศนี้
  1. หลังการรัฐประหารของ รสช. ผ่านไป 6 เดือน สุลักษณ์ปาฐกถาเรื่อง ประชาธิปไตยกับการรัฐประหาร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเป็นเหตุให้พลเอกสุจินดา คราประยูร แจ้งความจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ทำให้เขาต้องหนีออกนอกประเทศเพื่อความปลอดภัย โดยไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเรียวโกกุ ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และในช่วงนี้ PEN Club ที่ลอนดอนและโตรอนโตเลือกให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
  1. ปี 2536 เมื่อกลับประเทศไทยหลังที่ รสช. ปลาสนาการไป สุลักษณ์ได้รับรางวัลผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันนาโรปะ ซึ่งเทียบเท่าดุษฎีบัณฑิต และได้รับรางวัลศรีบูรพา สำหรับงานเขียนที่อุทิศเพื่อความยุติธรรมทางสังคมตลอด 30 ปี

 

“การแต่งตัวที่พอใจที่สุดคือการนุ่งโจงกระเบนและใส่เสื้อราชปะแตน โดยมีไม้เท้าคู่มือรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะก็ไม้เท้าอันนี้เคยเป็นของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดย ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุล ประทานมายังผมอีกต่อหนึ่ง ทั้งสองพระนามนี้เป็นปูชนียบุคคลซึ่งผมเทิดทูนตลอดมา” – ส. ศิวรักษ์

 

  1. ต่อมาในปี 2538 สุลักษณ์ได้รับรางวัลสัมมาอาชีวะ (Alternative Nobel Peace Prize) จากสวีเดน และได้นำเงินรางวัลนั้นมาก่อตั้ง เสมสิกขาลัย ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการศึกษาทางเลือก ภายใต้ร่มมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป  โดยใช้ชื่อนี้เป็นเกียรติแด่นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว
  1. สุลักษณ์ยืนหยัดอยู่ข้างคนเล็กคนน้อย และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เขาเป็นแกนนำในการต่อต้านคัดค้านการวางท่อก๊าซที่จังหวัดกาญจนบุรี จนถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2541  และในปีเดียวกันนั้นเองเขาได้รับรางวัล UNPO (Unrepresented Nation and People Organization) จากไต้หวัน สำหรับการอุทิศตนเพื่อสันติภาพและสันติวิธี
  1. สุลักษณ์เคยเข้าใจอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผิดไป เนื่องจากปักใจเชื่อว่าท่านรัฐบุรุษอาวุโสมัวหมองจากกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 แต่เมื่อสุลักษณ์แจ้งแก่ใจว่าตนเข้าใจผิด จึงได้ไปขอขมาอาจารย์ปรีดีที่เคยล่วงเกิน จนเมื่อท่านมีชาตกาลครบศตวรรษ สุลักษณ์เป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอชื่อให้ UNESCO ประกาศให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก และเป็นประธานภาคเอกชนในการจัดงานฉลองชาตกาล 100 ปี ดังกล่าว  รวมถึงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่เกียรติคุณของท่านผู้นี้
  1. ปี 2544 สุลักษณ์ก่อตั้งและเป็นประธานบริษัทสวนเงินมีมา จำกัด เพื่อเป็นองค์กรธุรกิจอย่างใหม่ที่ดำเนินงานด้านธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน โดยตระหนักถึงปัญหาสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และศักยภาพด้านในของมนุษย์
  1. 28 กรกฎาคม 2544 หลังจากการจากไปครบ 2 ปี ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สุลักษณ์ก่อตั้ง ป๋วยเสวนาคาร ขึ้น ณ วัดปทุมคงคา เยาวราช กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ทางด้านศิลปะและความงาม และให้เกิดความเชื่อมโยงกิจกรรมของคนรุ่นใหม่กับวัด โดยที่วัดนี้อยู่ใกล้กับบ้านเกิดของอาจารย์ป๋วย และท่านก็เคยบวชเณรที่นี่  อัฐิของอาจารย์ป๋วยก็เก็บไว้ที่พระระเบียงคดของวัดนี้
  1. ปี 2544 สุลักษณ์ร่วมเป็นคณะกรรมการของ Green Peace Southeast Asia ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร และได้รับรางวัล Gandhi Millennium Award

 

“ผมจบเพียงปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเซนต์ เดวิดส์ เมืองแลมปีเตอร์ แห่งแคว้นเวลส์ แต่ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางอักษรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธิเบต เมืองสารนาถ ประเทศอินเดีย ซึ่งปีที่ผมได้รับเกียรตินี้ ได้รับพร้อมกับอดีตประธานาธิบดีอินเดีย” – ส. ศิวรักษ์

 

  1. ปี 2545–2547 สุลักษณ์ได้รับเชิญไปเป็น The Lang Distinguished Visiting Professor ด้านการเปลี่ยนแปลงสังคม ที่มหาวิทยาลัยสวาร์ตมอร์ รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา  ต่อมาเป็นสมาชิกอาวุโสแห่งสถาบัน Harvard-Yenching มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา  แล้วได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ Kanh Visiting Fellow แห่ง Smith College สหรัฐอเมริกา จากนั้นได้รับเชิญเป็น Libra Professor แห่ง UM Libra Diversity, Peace Studies Program, University of Maine สหรัฐอเมริกา
  1. 31 มีนาคม 2548 ในวาระ 100 ปีชาตกาล คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ (“ศรีบูรพา”) สุลักษณ์มีส่วนสำคัญในการเฉลิมฉลอง นับแต่การเสนอชื่อให้ UNESCO ประกาศเป็นบุคคลสำคัญของโลก ไปจนถึงการจัดพิมพ์หนังสือต่างๆ
  1. ปี 2550 หนังสือ ค่อนศตวรรษประชาธิปไตยไทยที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ของสุลักษณ์ ถูกตำรวจเรียกเก็บเพราะมีข้อความที่ไม่เหมาะสม คล้ายๆ กับเมื่อปี 2527 ที่หนังสือ ลอกคราบสังคมไทย ถูกยึดเพราะหาว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
  1. 6 มีนาคม 2551 สุลักษณ์ได้รับปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก The Central Institute of Higher Tibetan Studies ณ สารนาถ พาราณสี ประเทศอินเดีย และในปีถัดมาได้รับรางวัลอุบาสกผู้อุทิศชีวิตเพื่อความยุติธรรมและสันติภาพของสังคม โดย Amarapura Maha Sangha Sobha ศรีลังกา และรางวัลสันติภาพนิวาโน จากประเทศญี่ปุ่น
  1. 9 มีนาคม 2555 สุลักษณ์เป็นประธานคณะกรรมการเตรียมงาน 100 ปีชาตกาล อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งครบ 100 ปีในปี 2559  ซึ่งได้รับการสานต่อในเวลาถัดมา ทั้งการจัดงานศิลปวัฒนธรรม งานวิชาการ ตลอดจนการพิมพ์หนังสือ Complete works ของอาจารย์ป๋วย เช่นเดียวกับที่เคยทำมาตั้งแต่สมัยงานพระยาอนุมานราชธน อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และศรีบูรพา
  1. วันวิสาขบูชา 2557 สุลักษณ์เป็นอธิการบดี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยพุทธเพื่อสังคม (INEB Institute) หลักสูตรนานาชาติเพื่อประยุกต์พุทธศาสนาให้สมสมัยและมีส่วนร่วมกับปัญหาต่างๆ ในสังคม  มีผู้เข้าเรียนจากหลายประเทศ ทั้งที่เป็นพุทธและไม่ใช่พุทธ

 

“ผมเกิดและเติบโตริมแม่น้ำและคลอง จึงรู้สึกเสียใจที่ชนชั้นนำปู้ยี้ปู้ยำกับแม่พระคงคาอย่างเลวร้าย ดังที่เขาทำลายแม่พระธรณีเช่นกัน ฉะนั้นไม่ว่าโอกาสใดที่ผมได้เข้าใกล้แม่น้ำ ผมจะรู้สึกสำนึกถึงบุญคุณของสายน้ำ ดังที่ผมนึกถึงบุญคุณของผืนดิน และลมหายใจที่ชีวิตของเราเป็นไปได้” – ส. ศิวรักษ์

 

  1. ยามว่าง สุลักษณ์มักอ่านหนังสือหรือถอดไพ่ โดยเปิดเพลงต่างๆ ฟังไปด้วย ไม่ว่าเพลงบรรเลงแบบฝรั่ง จีน ธิเบต หรือไทย  รวมถึงบทเสภา หรือละครร้องของไทยเดิมด้วย  นอกจากนี้ สุลักษณ์ยังชอบดูหนังสือและซีรีส์ เช่น สามก๊ก พระเจ้าอโศก รวมถึงพวกที่อิงจากประวัติศาสตร์ต่างๆ  อย่างไรก็ดี สุลักษณ์เป็นพวกไม่ทันต่อเทคโนโลยี เขาเปิดเครื่องเล่นแผ่น CD เองไม่เป็น จะต้องอาศัยภรรยา หรือลูกศิษย์ช่วยเหลืออยู่เสมอ
  1. มีคนแซว (ซึ่งก็จริง) ว่า ในยามชราเช่นนี้ แม้สุลักษณ์จะอาพาธเพียงใด แต่ถ้าได้จับไมโครโฟนพูดแล้วเป็นอันหายไปชั่วคราว สามารถพูดได้อย่างลื่นไหล  เขาเป็นคนที่จับประเด็นได้เก่ง สามารถเชื่อมโยงเกร็ดประวัติศาสตร์ต่างๆ หรือธรรมะในพุทธศาสนามาอธิบายเรื่องต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ  อีกทั้งยังมีลีลาการพูดเป็นของตัวเอง ที่ใครๆ ก็ต้องสะกิดใจเมื่อได้ฟัง  จนมีคนให้สมญาว่าเขาเป็น “ราชสีห์แห่งการพูด”
  1. ด้วยผลงานจำนวนมาก ทั้งหนังสือ และการอภิปรายในที่ต่างๆ ของสุลักษณ์ เขามีอิทธิพลไม่น้อยต่อคนในสังคมไทย ตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เรื่อยมา จนมีนักวิชาการทั้งไทยและเทศที่ทำวิจัยเรื่องปัญญาชนที่มีอิทธิพลทางภูมิปัญญาต่อสังคมไทยในรอบร้อยปี  จัดให้สุลักษณ์เป็น “ปัญญาชนสยาม” ผู้หนึ่งด้วย  และเขาเป็นคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
  1. ในบรรดาหนังสือที่สุลักษณ์จัดพิมพ์และเป็นบรรณาธิการ เขากล่าวว่า ชุดที่ภาคภูมิใจที่สุดที่ได้ทำคือ บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ที่เป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับพระยาอนุมานราชธน ครอบคลุมความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยในหลายสาขา ทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม นิรุกติศาสตร์ นาฏศิลป์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ  ที่พิเศษก็คือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเจ้านายชั้นสูงกับขุนนางธรรมดาๆ ผิดกับ สาส์นสมเด็จ ที่เป็นเรื่องที่เจ้านายเขียนถึงกันเอง
  1. แม้สุลักษณ์จะเป็นนักอ่านตัวยง ชอบอ่านหนังสือทั้งไทยและเทศ แต่เขาเป็นคนไม่สะสม  หนังสือจำนวนมากอุทิศให้ห้องสมุดสันติประชาธรรม มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป  หอสมุดภัทรานุสรณ์ วัดทองนพคุณ  และห้องสมุดที่อาศรมวงศ์สนิท จังหวัดนครนายก  ส่วนหนังสือใหม่ๆ ที่ได้มา อ่านเสร็จแล้วก็มักส่งต่อให้คนอื่นอยู่เสมอ  และถึงจะมีห้องสมุดอยู่ในบ้าน แต่เขาก็ไม่เคยจำได้ว่ามีอะไรอยู่ที่ไหน ต้องอาศัย ลัดดา วิวัฒน์สุระเวช คนจัดห้องสมุด คอยหาหนังสือให้อยู่เนืองๆ
  1. นอกจากจะไม่สะสมหนังสือแล้ว ของอื่นๆ ที่มีคนให้สุลักษณ์มา เขามักจะแจกจ่ายให้คนอื่นๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสมุดไดอารี กระเช้ารังนก (ซึ่งเขาไม่กินเลย บอกว่าบาป ที่จะต้องกินรังนก) กระเช้าผลไม้ เรื่อยไปจนถึงกางเกงใน Arrow ที่ลูกศิษย์นำมาให้เขา ก็เคยมีคนได้รับจากสุลักษณ์มาแล้ว

 

“เวลาผมจะออกจากบ้านย่อมต้องสะพายย่ามและสวมหมวก โดยมีไม้เท้าคู่ใจติดไปด้วย ภาพนี้กำลังลงจากเรือนไทยที่ได้มาจากจังหวัดอุทัยธานี บ้านเกิดของภรรยาผม” – ส. ศิวรักษ์

 

  1. ลายมือของสุลักษณ์ขึ้นชื่อว่าอ่านยากมาก เพราะความคิดแล่นเร็วกว่ามือที่เขียน จึงเขียนไว และหวัดมาก  หลายต่อหลายครั้งเมื่อเขียนเสร็จ เวลาสุลักษณ์อ่านบอกบทให้แอดมินเพจ Sulak Sivaraksa พิมพ์ตาม  สุลักษณ์จะพูดว่า “เอ… ผมก็อ่านที่ผมเขียน ไม่ออกเหมือนกัน ”(ฮา)  มีคนจำนวนน้อยที่อ่านลายมือเขาออก เช่น พัชรศิริ ยิ้มเมือง เลขาฯ ส่วนตัวของเขา  และลัดดา วิวัฒน์สุระเวช ผู้พิมพ์ดีดงานให้เขา
  1. ทุกวันนี้ เพจ Sulak Sivaraksa เป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่งานเขียนใหม่ๆ ของเขา สุลักษณ์ไม่ได้เล่นเอง มีแอดมิน 3-4 คน เล่นแทน  เขามักไต่ถามแอดมินเสมอๆ ว่า (1) ขายหนังสือได้บ้างไหม และ (2) มีใครมาด่าอะไรบ้าง เพราะสุลักษณ์ต้องการให้คนได้แสดงความเห็นได้ระบาย  เขาพูดขำ ๆ ว่า “ก็เขาด่าคนอื่นไม่ได้ ให้มาด่าเราบ้าง จะได้มีที่ระบาย
  1. สุลักษณ์เขียนหนังสือไว้หลายร้อยเล่ม ทั้งงานข้อเขียนเรื่องสังคมการเมือง พุทธศาสนา  ศิลปวัฒนธรรม  ประวัติบุคคล  รวมถึงงานแปลต่างๆ ด้วยงานจำนวนมากและอายุที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หลายครั้งสุลักษณ์ก็จำไม่ได้ว่าเคยเขียนอะไรไว้ที่ไหน  โชคดีที่เขามีแฟนพันธุ์แท้อย่างนิพนธ์ แจ่มดวง ที่สามารถบอกได้ทันทีเมื่อสุลักษณ์โทรศัพท์ถามว่า อยู่ที่เล่มไหน หน้าไหน  สุลักษณ์เปรยให้ฟังว่า “มีคนอย่างนี้อยู่ทั้งคน จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอะไรเล่า”
  1. สุลักษณ์ตระหนักดีว่า แม้เขาจะมีผลงานจำนวนมากในบรรณพิภพ แต่ก็หางานที่เป็นอมตะไม่ได้ เขาบอกว่านักเขียนที่จะเป็นอมตะ ต้องเขียนนิยาย แต่เขาก็ทำไม่สำเร็จ  อาจมีเพียงงานแปลของเขาเท่านั้นที่พอจะหลงเหลืออยู่บ้าง  เนื่องจากบทความส่วนมากของเขาเขียนขึ้นตามบริบทสังคม เมื่อกาลเวลาผ่านไป ผู้ที่มาชำระจะต้องทำเชิงอรรถอธิบายอะไรต่างๆ อีกไม่น้อย กว่าคนยุคหลังจะอ่านงานของเขาอย่างเข้าใจจริงๆ และก็จริงเช่นนั้นเพราะหนังสือแปลของเขา เช่น ประวัติศาสตร์จีน  มนุษย์ที่แท้  โสกราตีส  พวกนี้ได้รับการตีพิมพ์เกือบ 10 ครั้งแล้ว  ผิดกับหนังสือรวมบทความที่ออกมาอยู่เรื่อยๆ ที่ขายได้เพียง 1,000 – 1,500 เล่มเท่านั้น
  1. สุลักษณ์มีหนังสือแปลในภาษาอื่นๆ อยู่หลายเล่ม เช่น เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์ มีแปลออกแล้วทั้งภาษาอังกฤษ เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนิเซีย ฮินดี สิงหล ทมิฬ ธิเบต หรืออย่างเรื่อง The Wisdom of Sustainability มีแปลทั้งอังกฤษ สเปน ดัตช์ จีน ญี่ปุ่น พม่า เวียดนาม สิงหล เหลือก็แต่ภาษาไทย ที่คุณถนอมสิงห์ โกศลนาวิน กำลังจัดแปลและพิมพ์อยู่
  1. สุลักษณ์มีภาษาและไวยากรณ์เฉพาะตัว แบบที่เห็นแล้วจะรู้เลยว่านี่คือภาษา ส. ศิวรักษ์ เช่น จะมีคำว่า ปลาสนาการ เบียดเบียนบีฑา บรรสานสอดคล้อง นิมิตดีก็ที่… ฯลฯ  หรืออย่างชื่อหนังสือที่เป็นภาษาของเขาเอง ก็จะต้องมาแนวๆ “ลอกคราบ…” “คันฉ่องส่อง…” เป็นต้น

 

“อาศรมวงศ์สนิท เป็นสถานที่ซึ่ง ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน ยกให้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จัดทำเป็นอาศรมซึ่งเป็นสถานที่แหวกออกไปจากสังคมกระแสหลัก ผู้ที่สนใจใคร่รู้เกี่ยวกับสถานที่นี้ ดูต่อได้ที่ wongsanit-ashram.org” – ส. ศิวรักษ์

 

  1. สุลักษณ์เป็นคนใจร้อน ชอบสั่งงานทันทีที่นึกได้ แต่เขาไม่มีโทรศัพท์มือถือ ถ้าอยู่นอกบ้าน หรือมีคนสนิทอยู่ใกล้ตัว  สุลักษณ์จะเปิดสมุดโทรศัพท์แล้วว่าขานวานใช้บุคคลนั้นๆ โทรศัพท์ให้ตน  จนหลายครั้งคนที่ได้รับโทรศัพท์จากสุลักษณ์ก็จะงงๆ ว่าเขาเปลี่ยนเบอร์อยู่บ่อยๆ  และโทรมารับได้ แต่โทรกลับไม่ได้ เป็นต้น
  1. ใครมาพบสุลักษณ์ที่บ้าน เป็นอันต้องเซ็นชื่อในสมุดทุกราย แม้ว่าใครเหล่านั้นจะมาพบสุลักษณ์ที่บ้านบ่อยเพียงใดก็ตาม  สุลักษณ์จะบอกให้ใครๆ ที่มาเขียนชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้เสมอ  ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ 2 ประการ คือ (1) สุลักษณ์ยังคงเขียนไดอารีอยู่ทุกวัน  การเห็นชื่อคนในสมุดเซ็น จะช่วยทำให้เขานึกได้ว่าวันนี้ใครมาบ้าง คุยอะไรกันบ้าง และ (2) เวลามีเรื่องอยากคุย จะได้โทรศัพท์หาได้ง่ายๆ
  1. สุลักษณ์ไม่ชอบพิธีรีตอง  เวลาไปงานศพ ก็มักจะนำหนังสือไปฝากถวายพระที่มาสวด ไปพบเจ้าภาพ พูดคุยกันเล็กน้อยแล้วก็กลับ บางงานก็ไปตอนกลางวัน แทนที่จะเป็นตอนค่ำ แล้วให้เหตุผลว่า จะได้มีเวลาพูดคุยกับเจ้าภาพมากกว่า
  1. สุลักษณ์เป็นอุบาสกที่เข้าวัดฟังพระเทศน์ทุกครั้งที่มีวันพระใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เขาจะไปที่วัดทองนพคุณแต่เช้าตรู่ สวดมนต์เสร็จแล้วก็ฟังพระเทศน์  แม้ชราภาพจะครอบงำจนนั่งพื้นได้ไม่นาน แต่ก็ยังไปวัดอยู่อย่างสม่ำเสมอ
  1. เวลาไปไหนมาไหน สุลักษณ์มักมีผู้ติดตามไปด้วยตลอด ถือของให้บ้าง ถือย่ามให้บ้าง โดยมักชวนไปให้เหล่าลูกศิษย์วัยเยาว์ของเขาได้เปิดหูเปิดตาตามงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานสัมมนา งานนิทรรศการศิลปะ หรือการแสดงต่างๆ  และถึงแม้เขาจะไม่มีรถและคนขับประจำตัว  แต่ก็ได้รับความเกื้อกูลจากลูกเมีย และมิตรสหายขับรถรับส่งอยู่เนืองๆ  แม้ที่สุดก็มีขึ้นแท็กซี่บ้าง
  1. สุลักษณ์มีลักษณะคล้ายซานตาคลอสอยู่ประการหนึ่ง คือเขาชอบสะพายย่ามสีแดง (ย่ามนี้ได้มาจากพระที่ส่งมาให้) แล้วพกหนังสือหรือวารสารที่เขามีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ปาจารยสาร และ จุลสารป๋วย ใส่ย่ามไว้ เวลาไปไหนมาไหน พบปะใครๆ ที่เข้ามาทักทาย ก็จะหยิบหนังสือเหล่านี้ออกจากย่ามมอบให้เสมอๆ

 

“ผมบวชเณรที่วัดทองนพคุณ และสำนึกในบุญคุณของพระอารามแห่งนี้เรื่อยมา โดยภูมิใจในความพิเศษของสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมของวัดนี้ ดังท่านพระครูกสินสังวรได้ออกแบบหน้าต่างพระอุโบสถเป็นการล้อเลียนอย่างมีอารมณ์ขันอีกด้วย” – ส. ศิวรักษ์

 

  1. ความสัมพันธ์ของมนุษย์มาก่อนความขัดแย้งทางการเมือง สำหรับสุลักษณ์เห็นเช่นนั้น  แม้เขาจะมีลูกศิษย์หลากหลายขั้ว ทั้งเหลือง ทั้งแดง แต่สุลักษณ์ก็ยังคบหากับคนเหล่านี้อยู่เสมอ  เขาบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกัน แต่เราก็ยังรักกันได้เหมือนเดิม  จึงไม่แปลกที่จะเห็นภาพสุลักษณ์กับคนหลายฝ่ายหลายขั้ว  จนหลายคนก็ปรักปรำสุลักษณ์ไปต่างๆ นานา
  1. สุลักษณ์มักกล่าวว่าชีวิตของเขาโชคดีที่มีเพื่อนมาก เวลาไปต่างประเทศก็มักมีเพื่อนในประเทศต่างๆ เชิญไปบรรยาย แล้วพาเที่ยว  แต่ด้วยวัยที่มากแล้ว บางทีเขาไปในที่ที่เคยไปแล้วก็จะเบื่อ จะพักผ่อนในที่พัก แล้วให้ผู้ติดตามเขาได้มีโอกาสไปเที่ยวเอง เช่น คราวหนึ่งเขาไปญี่ปุ่นกับนักศึกษาธรรมศาสตร์คนหนึ่ง  สุลักษณ์พาเด็กหนุ่มคนนั้นไปถึงสถานที่จัดงานประชุมแล้วบอกว่า  “ออกไปเที่ยวเถอะ งานประชุมแบบนี้คุณไม่สนุกหรอก แล้วค่อยกลับมาเจอกันตอนเย็นนะ
  1. สุลักษณ์อุดหนุนคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ เช่น คอยหาเงินมาสนับสนุนให้ ปาจารยสาร อยู่รอดได้ โดยที่วารสารฉบับนี้มีสาราณียกรอายุน้อยๆ ทั้งสิ้น  หรือสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาที่สนใจจะทำกิจกรรมมารวมตัวกันที่ห้องสมุดสันติประชาธรรม ภายใต้ฉายาของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป  โดยที่สุลักษณ์ได้อุดหนุนคนรุ่นก่อนๆ มาก็ในลักษณะเช่นนี้  จนทุกวันนี้ศิษย์รุ่นหลังๆ ที่มารู้จักเขา ก็มาเจอเขากันก่อนจะบรรลุนิติภาวะกันทั้งนั้น
  1. ด้วยความที่สนิทสนมกับศิลปินหลายคน บ้านของสุลักษณ์จึงเหมือนหอศิลป์ขนาดย่อม เขามีงานศิลปะชิ้นเอกอยู่ไม่น้อย ทั้งภาพวาดของเฟื้อ หริพิทักษ์  อังคาร กัลยาณพงศ์  ช่วง มูลพินิจ  อวบ สาณะเสน  ปรีชา อรชุนกะ  พิริยะ ไกรฤกษ์  ฯลฯ  จนช่วงหลัง ๆ นี้ มักมีปัญหาอยู่เสมอในการหาที่แขวนภาพ
  1. ทุกเช้า สุลักษณ์จะเดินออกกำลังกายไปตามตรอกซอกซอยแถวบ้านเขา เขาเล่าให้ฟังว่า ขุนนางสมัยก่อนท่านก็เดินกันทั้งนั้น  พระยาอนุมานราชธนเดินจากบ้านซอยเดโชไปทำงานที่กรมศิลปากรก็มี  หรือพระยามานวราชเสวีก็มักเดินออกกำลังกายตอนเช้าๆ แบบนี้ เป็นต้น
  1. การแต่งตัวของสุลักษณ์เป็นลักษณะเฉพาะตัว เขาจะสวมหมวก สะพายย่าม และนุ่งชุดต่างๆ ตามโอกาส พิเศษสุดก็ต้องนุ่งโจงกระเบน  บางวันก็ลอยชาย  บางทีนุ่งกางเกงแพร  เดินถนนทีไร ชวนให้คนสงสัยไปต่างๆ ว่านี่เป็นพม่า เป็นเขมร เป็นธิเบต หรือเป็นแขกก็มี

 

“ความสุขของผมอย่างหนึ่งคือพักผ่อนหย่อนใจด้วยการฟังเพลงและถอดไพ่ ถอดไพ่นี่จะถือว่าเป็นการภาวนาอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะเราปล่อยวางทั้งหมดโดยไม่ยึดถืออะไรเลย และเวลาถอดไพ่ไม่ออกก็ได้รู้ว่านั่นแหละเป็นอุปสรรค เหมือนอย่างในชีวิตของเรา” – ส. ศิวรักษ์

 

  1. เรื่องอาหารการกิน สุลักษณ์มีศรีภรรยาของเขาเป็นคนดูแลให้ เธอมีฝีมือทำอาหารมาก สมัยหนึ่งเคยเปิดร้านขายอาหารข้างร้านหนังสือศึกษิตสยาม ที่สามย่าน  ส่วนของหวานเขาชอบกินไอศกรีมมาก โดยเฉพาะรสรัมเรซิน  สำหรับขนมไทย สุลักษณ์จะกินพวกที่ไม่หวานมาก เขาบอกว่าอย่างทองหยิบทองหยอดนี่ สู้ไม่ไหวเลย
  1. แม้สุลักษณ์จะเป็นจีนที่กลายเป็นไทย แต่เขาก็ชอบดื่มชา และใช้ตะเกียบในการกินอาหารที่บ้าน แม้กระทั่งเมนูนั้นจะเป็นสปาเก็ตตี้ !  ส่วนอาหารที่เขาชอบกินก็หลากหลายทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง และอินเดีย
  1. สุลักษณ์ไม่ดื่มเหล้า หรือเบียร์ เขาชอบดื่มไวน์  โดยมีคติประจำใจว่า “ไวน์ที่ดีคือไวน์ที่ฟรี”  ซึ่งมีคนอุปถัมภ์ค้ำจุนจัดหาไวน์มาให้สุลักษณ์เสมอๆ  บางช่วงที่ดื่มไวน์ เขาจะปรารภว่า “ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ สอนว่าให้จิบไวน์วันละแก้ว จะเป็นยาบำรุงหัวใจ”  พอถึงจุดที่ดื่มมาก ก็จะเล่นมุกว่า “ผมก็ดื่มแก้วเดียว ไม่ได้เปลี่ยนแก้ว แต่เติมเรื่อยๆ ”(ฮา)
  1. สุลักษณ์รู้ตัวดีว่าชื่อเสียงเป็นของปลอมที่ไม่ยืนนาน คนในปัจจุบันจำนวนน้อยเท่านั้นที่รู้จักเขา เขาไม่ใช่คนดังเช่นในสมัยก่อนอีกแล้ว  แต่เขาก็เข้าใจความข้อนี้ มักจะเล่าให้คนใกล้ตัวฟังเวลาขึ้นแท็กซี่แล้วคนขับบอกว่า “ลุงนี่หน้าคุ้น ๆ” อะไรทำนองนี้  หรือมีเรื่องชวนขันที่เขาเล่าเองว่า คราวหนึ่งไปเชียงใหม่ มีพนักงานต้อนรับในโรงแรมเรียกพรรคพวกให้มาต้อนรับเขาบอกว่า “นี่ๆ อาจารย์ ส. มาแล้ว” พรรคพวกถามด้วยความซื่อว่า “ส. ไหนเหรอ” คนนั้นตอบทันทีด้วยความมั่นใจว่า “ส. อาสนจินดา !”
  1. สุลักษณ์ตระหนักว่าการเรียนรู้จากคนเล็กคนน้อย คนปลายอ้อปลายแขม คือทางออกของประเทศ ความข้อนี้ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ได้เตือนสุลักษณ์ ตั้งแต่สมัยเขาทำ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เมื่อ 50 ปีก่อนว่า ถ้าทำวารสารวิชาการอย่างเดียว โดยไม่ลงไปเรียนรู้จริงๆ จากปัญหาที่เกิดขึ้นจากชาวบ้าน แล้วช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น  งานที่สุลักษณ์ทำก็ไม่ต่างอะไรกับการสำเร็จความใคร่ทางปัญญานั่นเอง
  1. สุลักษณ์ชอบอ่านเรื่องประวัติบุคคลทั้งไทยและเทศ ยิ่งกว่าอ่านนิยายหรือเรื่องแต่ง แล้วมักจะนำเรื่องราวของบุคคลเก่าๆ ที่จากพวกเราไปแล้ว มาเตือนสติสังคมร่วมสมัย เช่น เรื่องของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  อาจารย์ปรีดี พนมยงค์  อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ม.จ.สิทธิพร กฤดากร พระยาอนุมานราชธน ไปจนถึงเจริญ วัดอักษร และวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์

 

“สำเภาลำนี้ประดิษฐานอัฐิและอังคารของปู่ย่า และบิดามารดาของผม โดยที่เมื่อผมจากโลกนี้ไปแล้วก็จะได้นำอัฐิธาตุของผมมาบรรจุรวมกับต้นตระกูลในสำเภานี้ โดยถือว่าสำเภาจะนำพวกเราข้ามวัฏสงสารไปได้ เพื่อเข้าถึงการตรัสรู้ดังเช่นพระมหาสัตว์ได้ตรัสรู้ใต้โพธิพฤกษ์นั้นแล” – ส. ศิวรักษ์

 

  1. แม้ในยามชราเช่นนี้ ก็ไม่วายที่สุลักษณ์จะเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา มาตรา 112 อีกครั้ง  ล่าสุดถูกแจ้งข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” พระนเรศวร หลังจากที่เขาอภิปรายเรื่องการทำยุทธหัตถีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2557
  1. ถึงจะมีกิจกรรมให้ทำจำนวนมาก ทั้งปรากฏตัวในงานสาธารณะ ปาฐกถา อภิปราย ให้สัมภาษณ์นักข่าว พบปะมิตรสหายและลูกศิษย์ ฯลฯ แต่สุลักษณ์ก็มีช่วงเวลาที่เหงาๆ  นอกจากใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือ ดูซีรีส์แล้ว  การสนทนากับคนรุ่นหลังก็เป็นการคลายเหงาให้เขาได้ดี  คืนหนึ่งสุลักษณ์เคยเปรยกับนักศึกษาธรรมศาสตร์ก่อนที่เด็กคนนั้นจะกลับบ้านว่า “ตอนผมหนุ่มๆ ไปเฝ้า ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุล  ท่านบอกว่า ‘สุลักษณ์มาคุยกับคนแก่ นี่ได้บุญนะ’  เห็นจะจริง  ถึงคราวผม ก็มีคุณมาเป็นเพื่อนคุยเหมือนกัน
  1. สุลักษณ์ในวัย 84 ปี ไม่มีโรคประจำตัวอะไร มีปัญหาสุขภาพบ้าง เช่น เรื่องคัน เรื่องเส้นเลือด แต่ก็ได้รับการดูแลจากคนรอบกายอย่างใกล้ชิด  แต่หลังจากกลับจากอินเดียเมื่อต้นปี สุลักษณ์เริ่มไม่ค่อยได้ยิน แพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นคนพิการทางการได้ยิน  เขามักจะหยอดมุกว่า “ถ้าลูกเมียทิ้งไป ผมก็อยู่ได้แล้ว ได้ทั้งเบี้ยคนชรา ได้ทั้งเบี้ยคนพิการ
  1. สุลักษณ์สั่งเอาไว้ว่า เมื่อตายขอให้จัดการเผาบนกองฟอน คนจะได้ปลง และให้ลงแจ้งข่าวการตายของเขาหลังจากที่จัดการศพเรียบร้อยแล้ว คนจะไม่ได้ต้องลำบากมางาน  และสั่งไว้ว่าอย่าพิมพ์หนังสืองานศพเด็ดขาด เพราะในเวลาที่มีชีวิตอยู่ เขาได้พิมพ์หนังสือของตัวเองออกมามากแล้ว  นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้ตั้งมูลนิธิ ชื่ออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ เป็นอนุสรณ์ให้เขาด้วย
  1. สุลักษณ์เตรียมช่องเก็บอัฐิของเขาไว้แล้ว ที่เรือสำเภา ลานวัดทองนพคุณ คลองสาน ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับที่เก็บกระดูกพ่อและแม่ รวมถึงญาติๆ ของเขาด้วย เพราะเขาผูกพันกับวัดนี้มาตั้งแต่รุ่นคุณยาย เคยบวชเณรนี่ที่ มาทำกิจกรรมต่างๆ รับใช้พระอารามนี้อยู่เนืองๆ
  1. ในวาระ 84 ปี ส. ศิวรักษ์ ลูกศิษย์ลูกหาได้จัดทำของที่ระลึกให้แจกหรือจำหน่ายหลายรายการ ได้แก่ (1) หนังสือ ซ่อนไว้ในหลืบของกาลเวลา และ ปาจารยสาร ฉบับพิเศษ  (2) หนังสือเสียง ส. ศิวรักษ์  (3) หุ่นอาจารย์ ส. รุ่นหลอกเด็ก  (4) เหรียญหลวงตา ส.  (5) ผ้าพันคอ และ ผ้าขาวม้า ส.ศ.ษ.  (6) เสื้อ และ ถุงผ้า ส.ศ.ษ. และ (7) ปฏิทินช่วงแห่งชีวิต ส. ศิวรักษ์  หลายอย่างเป็นของหายากทันทีเมื่อเสร็จงานวันเกิด  กล่าวได้ว่า 7 รอบอายุของเขา  เขายังมีชีวิตที่เข้มข้น และเพลิดเพลินอยู่เสมอ

 

“อาจารย์สุลักษณ์ แม้จะมีวัยและร่างกายที่ไม่แข็งแรง แต่ก็ยังเข้มแข็งในงานเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ของสังคม ของโลก โดยเนื่องกับศาสนธรรมตลอดมาไม่เสื่อมคลาย ก็ยังทำหน้าที่ที่บางคนเรียกว่า เตือนสติสังคม เป็นต้น อยู่อย่างเอาจริงเอาจัง จึงขออนุโมทนา” – สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

 

หมายเหตุ: ภาพถ่ายและคำบรรยายภาพมาจาก ปฏิทินช่วงแห่งชีวิต ส. ศิวรักษ์ (2560)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save