fbpx
บทบาทขั้วการเมืองที่สามกับระบบรัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้งของอินเดีย

บทบาทขั้วการเมืองที่สามกับระบบรัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้งของอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับการเลือกตั้งระดับชาติของประเทศอินเดีย หรือ โลกสภา (Lok Sabha Election) ในวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา รอบนี้กินระยะเวลายาวนานถึง 39 วัน นอกจากขนาดพื้นที่และจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะทำให้การเลือกตั้งอินเดียรอบนี้มีความน่าสนใจแล้ว กระแสชาตินิยมที่ถูกจุดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้งจากปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ภาคเหนือของอินเดีย และความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งรอบนี้อาจกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองอินเดียหากพรรคบีเจพีสามารถกลับขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้ง ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนรอผลการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ แต่การเมืองก็คือการเมือง โดยเฉพาะการเมืองอินเดียที่ตัวแปรมีมากมายและหลากหลาย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคบีเจพีมาถึงจุดที่จะกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง เพราะในการเลือกตั้งปี 2004 อะตัล พิหารี วัชปายี (Atal Bihari Vajpayee) อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคบีเจพีที่ชนะเลือกตั้งในปี 1999 และสร้างความนิยมมากมายในช่วงที่เป็นรัฐบาลก็นำพาพรรคบีเจพีมาถึงจุดนี้เช่นเดียวกัน แต่น่าเสียดายที่พรรคบีเจพีแพ้ไม่เป็นรูปให้กับพรรคคองเกรส จึงเป็นคำถามคาใจใครหลายคนว่ารอบนี้พรรคบีเจพีจะพบชะตากรรมแบบเดิมอีกหรือไม่ ครั้งนี้เลยถือโอกาสกางหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเกมการเลือกตั้งอินเดียตลอดช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา และปัจจัยนั้นก็คือกลุ่มพันธมิตรขั้วที่สามในการเลือกตั้ง

 

กลุ่มพันธมิตรและการจัดตั้งรัฐบาลผสมในอินเดีย

 

นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 1989 อินเดียก็เริ่มมีระบบพันธมิตรในการเลือกตั้งขึ้น โดยเป็นการรวมตัวของพรรคขนาดกลางและเล็ก เพื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้ง โดยเป้าหมายตั้งต้นคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกลับเกินคาด เพราะถึงแม้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคคองเกรสจะได้จำนวนที่นั่งในสภาสูงที่สุด แต่กลายเป็นว่ากลุ่มพันธมิตร National Front สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ด้วยการสนับสนุนจากพรรคการเมืองทุกระดับที่ไม่ต้องการให้พรรคคองเกรสเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง และนี่ก็ถือเป็นจุดสิ้นสุดของระบบการบริหารที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียวครองเสียงเกินครึ่งของโลกสภา แต่ด้วยรัฐบาลผสมที่มีความหลากหลายของพรรคการเมืองทำให้ในช่วงเวลา 2 ปีรัฐบาลก็ต้องยุบสภา เพราะการขาดเสถียรภาพ มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีถึง 2 คน

ถึงแม้การเลือกตั้งปี 1991 พรรคคองเกรสจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง แต่คะแนนเสียงก็ไม่เกินครึ่งของโลกสภา ส่งผลให้ต้องตั้งรัฐบาลผสมภายใต้การสนับสนุนของพรรคการเมืองต่างๆ แต่ด้วยฐานคะแนนของพรรคคองเกรสที่มีมากถึง 244 เสียง จาก 545 เสียง ทำให้สามารถประคองรัฐบาลจนหมดสมัยได้สำเร็จ แต่การเลือกตั้งปี 1996 พรรคคองเกรสพ่ายแพ้ให้กับพรรคบีเจพีเป็นครั้งแรกด้วยจำนวน 140 ที่นั่งต่อ 161 ที่นั่ง ถึงแม้ว่าพรรคบีเจพีจะได้โอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล แต่นายกรัฐมนตรีอะตัล พิหารี วัชปายี ก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยแรกได้เพียง 16 วันเท่านั้น เพราะพรรคคองเกรสหันไปให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตร United Front จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สุดท้ายความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพันธมิตรกับพรรคคองเกรสก็นำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในปี 1998

การเลือกตั้งรอบนี้พรรคบีเจพีจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรของตัวเองในชื่อ National Democratic Alliance (NDA) พรรคบีเจพีและ NDA สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะมีพรรคพันธมิตรถอนตัว ส่งผลให้แพ้โหวตในสภาไป 1 เสียงจนต้องยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งในปีถัดมาคือปี 1999 และรอบนี้คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ NDA และเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองอินเดียที่กลุ่มพันธมิตรพรรคการเมืองสามารถบริหารประเทศตลอดสมัย 5 ปี โดยไม่มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

บทเรียนและนวัตกรรมใหม่ในการเลือกตั้งนี้ส่งผลให้ในการเลือกตั้งปี 2004 พรรคคองเกรสได้นำระบบนี้มาใช้บ้าง ส่งผลให้เกิดกลุ่มพันธมิตรในชื่อ United Progressive Alliance (UPA) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเฉพาะกิจจากปัญหาสุญญากาศทางการเมืองที่ไม่มีกลุ่มพันธมิตรหรือพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่งของโลกสภา พรรคคองเกรสจึงถือโอกาสสร้างพันธมิตรของตนเอง และเมื่อรวมเสียงกลุ่มพันธมิตรขั้วที่สามแล้วส่งผลให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ยุทธศาสตร์นี้ทำให้ NDAไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แม้จะได้ที่นั่งมากที่สุดในโลกสภา

ปรากฏการณ์เช่นนี้ส่งผลให้การเมืองอินเดียเปลี่ยนแปลงไป เกิดระบบสามกลุ่มพันธมิตรก่อนการเลือกตั้งประกอบไปด้วย NDA UPA และ Third Front หรือ กลุ่มพันธมิตรขั้วที่สามซึ่งหมายถึงกลุ่มพรรคการเมืองต่างๆ ที่เสนอทางเลือกนอกเหนือจากทั้งพรรคคองเกรสและพรรคบีเจพี ที่สำคัญนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการสู้ศึกเลือกตั้งแบบพันธมิตร หมายความว่าในจำนวนสมาชิกโลกสภาทั้ง 543 ที่นั่งจะไม่มีพรรคการเมืองใด แม้กระทั่งสองพรรคใหญ่อย่างคองเกรสและบีเจพีที่จะส่งผู้สมัครลงครบทุกเขตเลือกตั้ง

 

สำรวจพันธมิตรขั้วต่างๆ ในการเลือกตั้งอินเดีย 2019

 

การปะทะกันครั้งแรกอย่างเป็นทางการระหว่างพันธมิตรทั้งสามขั้วเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2009 ในครั้งนี้ UPA ได้รับความนิยมจนมีที่นั่งในโลกสภามากที่สุด อย่างไรก็ตามด้วยที่นั่งที่ไม่เกินครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ต้องขอรับเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อให้สามารถรักษาเสถียรภาพในโลกสภาได้ พรรคการเมืองบางส่วนในกลุ่มพันธมิตรขั้วที่สามจึงถูกเลือกให้เข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ระบบรัฐบาลผสมที่มีพรรคการเมืองนอกกลุ่มพันธมิตร ส่งผลให้คองเกรสไม่สามารถกำกับดูแลทิศทางการทำงานของรัฐบาลได้ จนเกิดการทุจริตในช่วงท้ายของการเป็นรัฐบาล ส่งผลให้การเลือกตั้งปี 2014 เกิดสึนามิทางการเมือง NDA สามารถคว้าชัยถล่มทลาย ได้ที่นั่งในโลกสภาสูงถึง 341 ที่นั่งโดยไม่ต้องพึ่งพันธมิตรขั้วที่สาม และที่สำคัญพรรคบีเจพีพรรคเดียวมีที่นั่งเกินครึ่งโลกสภาได้โดยไม่ต้องพึ่งพรรคใดๆ ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายปีนับแต่สิ้นสุดทศวรรษที่ 1980  ปัจจัยนี้ทำให้ทิศทางการทำงานของรัฐบาลเป็นไปในแนวทางที่พรรคบีเจพีต้องการ และรัฐบาลมีเอกภาพ

แต่ในความโชคดีก็มีโชคร้าย เพราะชัยชนะแบบเหนือความคาดหมายและความเคร่งครัดที่เกิดขึ้นในระหว่างการเป็นรัฐบาลของพรรคบีเจพีและ NDA ส่งผลให้พรรคร่วมรัฐบาลมองว่าการทำงานมีความเป็นเผด็จการมากเกินไป ขาดการหารือกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในช่วง 5 ปีของการเป็นรัฐบาลจึงมีพรรคพันธมิตรของ NDA ถอนตัวจำนวนมาก นโยบายหลายๆ เรื่องส่งผลให้พันธมิตรของพรรคบีเจพีล่มในหลายรัฐ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนส่งผลลบต่อการเลือกตั้งโลกสภาที่กำลังจะมาถึง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นพรรคบีเจพีพยายามดึงพรรคการเมืองใหม่ๆ เข้ามาทดแทนทำให้การเลือกตั้งรอบนี้ NDA มีพรรคพันธมิตรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึงกว่า 40 พรรค และพรรคที่น่าสนใจที่สุดคือพรรค All India Anna Dravida Munnetra Kazhagam (AIADMK) พรรคการเมืองที่ครองอำนาจมากกว่า 15 ปี และกวาดที่นั่งส.ส.ได้ถึง 36 จาก 39 ที่นั่งในรัฐทมิฬนาดู

ในขณะที่ NDA พยายามแสวงหาพันธมิตรใหม่ ๆ ในการเลือกตั้ง UPA ก็พยายามไม่น้อยในการแสวงหาพันธมิตรใหม่ และปรับกลยุทธการสู้ศึกเลือกตั้ง โดยเฉพาะการร่วมมือกับพรรคการเมืองท้องถิ่น และพันธมิตรขั้วที่สามมากยิ่งขึ้น เพราะพรรคคองเกรสรู้ดีว่าความพ่ายแพ้ของตนในปี 2014 ส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นที่เคยมีมาในอดีต ที่สำคัญผู้นำของพรรคคองเกรสเองก็ยังไม่มีบารมีและความสามารถมากเพียงพอที่พรรคการเมืองอื่นๆ จะให้ความเชื่อถือจนยอมอยู่ใต้สังกัด UPA

ฉะนั้นยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคคองเกรสจึงต่างจากพรรคบีเจพีที่พยายามหาพรรคการเมืองใหม่ๆ เข้ามาอยู่ใต้เงา NDA ในทางตรงกันข้ามพรรคคองเกรสกลับเน้นการให้อิสระและเลือกเดินสายพูดคุยกับพรรคท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้ความร่วมมือมีความยืดหยุ่น และลดปัญหาความพยายามในการควบคุมทิศทางนโยบายของพรรคการเมืองท้องถิ่นเหล่านั้น ที่สำคัญคือไม่ทำให้พรรคการเมืองเหล่านั้นดูเหมือนอยู่ข้างเดียวกับพรรคคองเกรสมากเกินไป ซึ่งเรื่องเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อการเลือกตั้งในบางพื้นที่

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั้ง NDA และ UPA ส่งผลให้พันธมิตรขั้วที่สามมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ กระแสขวานิยมภายใต้รัฐบาล NDA ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ส่งผลให้พรรคการเมืองท้องถิ่นขนาดใหญ่ต่างๆ ทั่วประเทศ เล็งเห็นความท้าทายดังกล่าว จึงเกิดการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรอย่างเป็นทางการในชื่อ Federal Front ซึ่งประกอบด้วยพรรคท้องถิ่นที่มีที่นั่งในโลกสภา อย่างพรรค All India Trinamool Congress และ Telugu Desam Party เป็นต้น ในรัฐอุตตรประเทศมีการรวมตัวของพรรคการเมืองต่างๆ ในชื่อ Mahagathbandhan ที่แปลว่าพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่ ประกอบด้วยพรรคการเมืองที่เคยยิ่งใหญ่ในรัฐนี้อย่าง Bahujan Samaj Party และ Samajwadi Party เป็นต้น แน่นอนว่าการที่พรรคการเมืองท้องถิ่นต่างๆ ร่วมมือกันเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศอินเดีย

 

อาจไม่มีใครชนะขาดและโอกาสของขั้วที่สามในการเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองอินเดียอีกครั้ง

 

ถึงแม้หลายฝ่ายมองว่า NDA มีคะแนนนิยมสูงมากในปัจจุบัน แต่ความเป็นจริงกลับต่างออกไป โดยเฉพาะคะแนนนิยมของพรรคคองเกรสที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่รัฐใหญ่ๆ ที่มีที่นั่ง ส.ส. จำนวนมาก อย่างในรัฐราชาสถาน คุชราต และมัธยประเทศ ในขณะเดียวกันพรรคบีเจพีเองก็ประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ภายในพรรค ส่งผลให้ในการเลือกตั้งรอบนี้มีส.ส. หลายคนย้ายพรรค และยังไม่มีการประกาศชื่อนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย พรรคพันธมิตรใน NDA เองก็เผชิญความท้าทายไม่ต่างกัน โดยเฉพาะความล้มเหลวในการบริหารจัดการเรื่องการเกษตรของพรรค Shiv Sena และพรรคบีเจพี ในรัฐมหาราชตะ เช่นเดียวกันกับความนิยมที่ลดลงของพรรค All India Anna Dravida Munnetra Kazhagam หลังจากการจากไปของผู้นำพรรค สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเชิงลบที่จะทำให้ตัวเลขที่นั่งในโลกสภาของ NDA ลดลง

อย่างไรก็ตามผู้เขียนประเมินว่า NDA จะยังคงมีที่นั่งในโลกสภามากที่สุด แต่ยังต้องมาลุ้นกันอีกทีว่าจะสามารถไปถึงฝันได้เกินครึ่งหรือไม่ เพราะยังมีปัจจัยลบอื่นๆ อีก โดยเฉพาะคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นของ UPA และพรรคคองเกรส ถึงแม้ความนิยมเหล่านั้นไม่สามารถช่วยผลักดันให้ที่นั่งของ UPA สามารถเกินครึ่งหนึ่งของโลกสภาได้ แต่หากผลการเลือกตั้งออกมาว่า NDA มีเสียงไม่ถึงครึ่ง  UPA จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลโดยอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรขั้วที่สาม

ดูเหมือนโชคชะตาจะเข้าข้างพรรคคองเกรสและ UPA เพราะการรวมตัวกันของพันธมิตรขั้วที่สามล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือกีดกันและสกัดกั้นไม่ให้พรรคบีเจพีกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง ถึงแม้พรรคเหล่านี้จะไม่ได้อยู่ภายใต้ร่มเงา UPA อย่างไรก็ตามพันธมิตรขั้วที่สามเหล่านี้ไม่ได้ปฏิเสธที่จะร่วมมือในการจัดตั้งรัฐบาล ฉะนั้นชัยชนะในระดับเขตเลือกตั้งของกลุ่มพันธมิตรขั้วที่สามทั้ง Federal Front และ Mahagathbandhan จะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งในรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งมีที่นั่งในโลกสภาสูงถึง 80 ที่นั่ง และในการเลือกตั้งปี 2014 พรรคบีเจพีกวาดไปได้ถึง 71 ที่นั่ง

แต่เกมการเมืองในอุตตรประเทศได้เปลี่ยนไปแล้ว หลังการก่อตั้ง Mahagathbandhan เพื่อสกัดกั้นพรรคบีเจพี พรรคการเมืองพันธมิตรในกลุ่มนี้แบ่งส่งผู้สมัครตามเขตเลือกตั้งต่างๆ เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกัน หลังจากที่พรรคเหล่านี้เคยตัดคะแนนซึ่งกันและกันมาในรอบก่อนจนทำให้พรรคบีเจพีได้ชัยชนะด้วยคะแนนเสียงไม่มากนักในแต่ละเขต ฉะนั้นหากมีการเทคะแนนรวมกัน อาจเป็นไปได้ว่ากลุ่ม Mahagathbandhan จะสามารถลดจำนวนที่นั่งในโลกสภาของพรรคบีเจพี และหาก Federal Front สามารถรักษาเสียงในโลกสภาได้ตามเดิม มีความเป็นไปได้ว่าที่นั่งในโลกสภาของกลุ่มพันธมิตรขั้วที่สามจะมีมากเกินกว่า 100 ที่นั่ง ฉะนั้นเราไม่อาจมองข้ามกลุ่มพันธมิตรขั้วที่สามนี้ได้

ฉะนั้นหากมองสถานการณ์ที่เป็นอยู่ข้างต้น มีสามารถประเมินแนวทางความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการนับคะแนนวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 คือ

1. NDA ได้เสียงเกินครึ่งของโลกสภาสามารถกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกสมัย โดยหากบีเจพียังคงได้เสียงเกินครึ่งของโลกสภา นายกรัฐมนตรีโมดี อาจได้อยู่ต่ออีกสมัย แต่หากคะแนนส่วนใหญ่มาจากพรรคพันธมิตร เราอาจได้เห็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่จาก NDA

2. พรรคคองเกรสขึ้นมาเป็นรัฐบาลผสมภายใต้การหนุนของ UPA และพันธมิตรขั้วที่สาม แต่นายกรัฐมนตรีอาจไม่ใช่นายราหุล คานธี เพราะปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นและศักยภาพทางการเมืองที่ยังมีไม่มากเพียงพอ และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทุกวันนี้พรรคคองเกรสยังไม่ประกาศชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

3. นายกรัฐมนตรีมาจากกลุ่มพันธมิตรขั้วที่สาม ภายใต้การหนุนของ UPA เพื่อสกัดการเข้าสู่อำนาจของพรรคบีเจพี ดังที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 1996

เห็นได้ชัดว่า 2 ใน 3 ของความเป็นได้มีกลุ่มพันธมิตรขั้วที่สามเป็นตัวแปรที่สำคัญทั้งสิ้น ฉะนั้นไม่ว่าสูตรการตั้งรัฐบาลจะออกมาในรูปไหนคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้งอินเดียรอบนี้ ขั้วการเมืองที่สามจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการตั้งรัฐบาล ดูๆ ไปแล้วสถานการณ์การเมืองอินเดียก็มีความคล้ายคลึงการเมืองประเทศละแวกนี้อยู่ไม่น้อย แต่ต่างกันที่เขาประกาศตัวเป็นพันธมิตรกันชัดๆ ก่อนการเลือกตั้งนั่นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save