fbpx
'ราคา' ของการใช้อินเทอร์เน็ต

‘ราคา’ ของการใช้อินเทอร์เน็ต

วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพ

 

สิ่งแรกที่คนในบ้านเราเกินกว่า 5 ใน 10 คนควานไปหาเมื่อตื่นนอน ก็คือสมาร์ทโฟน เพื่อติดต่องาน ติดตามข่าวคราวของบ้านเมือง ของเพื่อนฝูง และของตนเองว่ามีใครติดต่อมา มีคนกดไลค์สิ่งที่เราเขียนหรือรูปที่โพสต์ไว้มากน้อยเพียงใด

สิ่งเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึง 10 ปี แต่โลกดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ความคิด ประสบการณ์ ความเป็นตัวตนของเรา การรับรู้รับทราบ นิสัยใจคอ ฯลฯ ของเราและของคนที่เราติดต่อด้วยไปอย่างมาก จนน่าจะถึงจุดที่ควรใคร่ครวญกันสักที ดังที่มีข้อเสนอโดย Sven Birkerts ในหนังสือ Changing the Subject : Art and Attention in the Internet Age (2015)

ประเด็นที่ควรพิจารณาไตร่ตรองมีดังต่อไปนี้ (1) การได้มาซึ่งข้อมูลอย่างง่ายดาย ทำให้เรามีประสบการณ์ที่ไม่อิ่มใจ และทำให้ชีวิตเรามีความหมายน้อยลง เราสามารถหาข้อมูลและคำตอบต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายด้วยอินเทอร์เน็ต ข้อมูลและความรู้ที่ได้มาง่ายดายเช่นนี้ไม่ได้มาฟรีๆ แต่มันมี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่ายอย่างนึกไม่ถึง

การได้รับความรู้มาง่ายๆ ทำให้รู้สึกว่าชีวิตของเรามิได้ถูกเติมให้เต็ม เดิมกว่าจะค้นหาคำตอบหรือข้อมูลใดสักชิ้น ต้องเสียเวลาค้นคว้าด้วยตนเอง เมื่อได้มาก็รู้สึกภาคภูมิใจและเต็มอิ่มกับมัน อีกทั้งตลอดการเดินทางค้นคว้านั้น ก็ได้เรียนรู้อะไรต่างๆ มากมาย

ยกตัวอย่างเช่น GPS ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเศษ ช่วยให้ค้นหาที่หมายบนถนนในเมืองที่ไม่คุ้นเคยได้รวดเร็ว แต่มันก็ทำให้เราไม่คุ้นเคยกับพื้นที่รอบข้าง ก่อนหน้านี้กว่าจะหาที่หมายได้ก็ต้องเสี่ยงผิดเสี่ยงถูกจนคุ้นเคยกับบริเวณรอบๆ แต้ GPS ทำให้เราต้องพึ่งพิงมันในลักษณะที่ต่างจากแผนที่ ซึ่งต้องใช้สมอง ใช้สัญชาตญาณ และจินตนาการ จนเราได้รับการฝึกฝนและประสบการณ์ เมื่อถึงที่หมายก็รู้สึกภาคภูมิใจลึกๆ และรู้สึกว่าตนเองมีความหมาย

ความรู้สึกว่าตนเองประสบผลสำเร็จ และพึงพอใจผลงานของตนเอง เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ การลงมือค้นคว้าจนได้มาซึ่งข้อมูลและความรู้ ช่วยเพิ่มพูนความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ (self esteem)

(2) โลกดิจิทัลทำให้เราพึ่งตนเองได้น้อยลง และกีดกันตัวเราจากการเผชิญกับความรู้สึกของตัวเราเอง การมีประสบการณ์ภาคภูมิใจดังกล่าวนั้นสำคัญ แต่ยิ่งกว่านั้นคือการมีความรู้สึกเชื่อมต่อไปยังตัวตนของเราข้างใน (inner self) กล่าวคือ การมีความนึกคิดถึงสิ่งที่อยู่ในใจเรา ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความห่วงอาลัย ความดีงาม ความรับผิดชอบ ความเห็นแก่ตัว ฯลฯ มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมีเวลาและโอกาสที่จะนึกคิดตรึกตรองเช่นนี้ เพื่อให้เกิดการตระหนักและเกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้น

อย่างไรก็ดี โซเชียลมีเดียซึ่งเชื่อมต่อตัวเรากับภายนอกอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้เราเกิดความคิดคำนึงอย่างไตร่ตรองในใจดังกล่าวได้ยากขึ้น และทำให้เราพึ่งพิงตนเองได้น้อยลง เพราะต้องอาศัยความเชื่อมต่อกับข้างนอกอยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นอาจ ‘ตกข่าว’ หรือไม่ทันโลก

ในสมัยก่อนที่จะมีโซเชียลมีเดีย การเชื่อมต่อกับข้างนอกมีน้อยกว่ามาก เรามีเวลาและโอกาสที่จะนึกคิดถึงสิ่งที่อยู่ในใจเรา มีการตรึกตรองและใคร่ครวญมากกว่า เมื่อทุกคนมิได้เชื่อมต่อกับโลกข้างนอกเหมือนกัน มันจึงไม่มีความเหลื่อมล้ำของการได้รับข้อมูลหรือข่าวสาร ความสงบในใจของเราก็มีมากขึ้น รู้สึกว่าเราพึ่งพิงตนเองได้ด้วยสิ่งที่เรามีและเป็นอยู่

การสูญหายไปของระยะทาง ด้วยปาฏิหาริย์ของอินเทอร์เน็ตนั้น ดูเหมือนเป็นสิ่งวิเศษ แต่แท้จริงแล้วเป็นเสมือนปีศาจที่แปลงร่างมา ใครๆ ไม่ว่าเจ้านายหรือลูกน้อง เพื่อนหรือเจ้าหนี้ ลูกค้าหรือลูกเรา ก็สามารถเข้าถึงเราได้แบบ 24/7 และเราก็คาดหวังเช่นเดียวกันกับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรา

เมื่อทั้งสองฝ่ายเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับทุกคน ก็คือการไม่มีเวลาที่จะไปนึกถึงความคิดคำนึงของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น เราคาดหวังและรอคอยการตอบกลับ การยอมรับจากคนอื่นอยู่ตลอดเวลา (“จะมีคนกดไลค์ให้เรากี่คนนะ” “เขาจะตอบกลับมาไหมนะ”) แทนที่จะพิจารณามองเข้าไปภายในจิตใจของเราว่า เรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ การได้อยู่ตัวคนเดียวเพื่อได้ยิน ‘the sound of silence’ หรือมีความสุขกับสโลว์ไลฟ์ จึงเกิดขึ้นได้ยาก

ทุกวันในโลกโซเชียลมีเดีย เราจะรู้สึกรุ่มร้อน คอยปฏิกิริยาตอบกลับจากโลกภายนอก ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการรอคอยการยอมรับโดยบุคคลอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ ในดีกรีที่ต่างกันในแต่ละช่วงชีวิต การพึ่งพิงเช่นนี้จากโลกภายนอก จึงเป็นการตัดขาดความเป็นตัวของตัวเอง และความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ของตัวเรา

ปัจจุบันเวลาผู้คนรู้สึกเบื่อ เหงา หรือไม่รู้จะแก้ไขปัญหาตัวเองอย่างไร ก็จะหันไปหาสมาร์ทโฟนทันที พยายามหลีกหนีความรู้สึกเหล่านี้แทนที่จะหาทางเข้าใจและเผชิญกับมัน คิดคำนึงว่าอะไรเป็นสาเหตุ และจะแก้ไขมันได้อย่างไร พูดอีกอย่างก็คือผู้คนใช้สมาร์ทโฟนเป็นยาแก้สาระพัดโรคอย่างทันด่วน โดยหลีกหนีการเผชิญหน้ากับความจริงที่อาจเป็นผลจากพฤติกรรม หรือบุคลิกภาพของตนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสมควรได้รับการแก้ไข

เมื่อหนีความรู้สึกลบเหล่านี้ และหันไปใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือแก้ไขชนิดทันใจ ก็จะวิ่งไปเจอปัญหาอื่นๆ ที่ผูกพันกับอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียเข้าอีก จนเป็นวงจรไม่รู้จบ

(3) การเสพติดดิจิทัล มีผลด้านลบต่อกระบวนการจัดการสารสนเทศ เราได้ยินเสียงบ่นกันอยู่บ่อยๆ ว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีเวลาสำหรับอ่านหนังสือเลย ตัวการสำคัญที่กินเวลาไป ก็คือสารพัดเครื่องมือในการหาประโยชน์จากโลกอินเทอร์เน็ต เช่น สมาร์ทโฟน ไอแพด แล็บท็อป ฯลฯ

ในการจัดการสารสนเทศที่ได้จากการอ่านหนังสือ เราจำเป็นต้องมีสมาธิและให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับอินเทอร์เน็ตแล้ว การทำงานของมันเป็นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือมันทำงานโดยทำให้เราขาดความสนใจที่ต่อเนื่อง เราต้องย้ายความสนใจจากลิงค์หนึ่งไปอีกลิงค์หนึ่ง จากหน้าที่กล่าวถึงเรื่องหนึ่งไปยังอีกหน้าของอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งหมดนี้ให้เวลาเราน้อยมากที่จะคิดหรือตรึกตรองในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

เมื่อเราอ่านในลักษณะนี้มากๆ เข้า ก็จะติดเป็นนิสัย ให้ความสนใจจากหน้าหนึ่งไปยังอีกหน้าหนึ่งอย่างขาดความต่อเนื่องในความคิด เมื่อกระทำนานเข้า เราก็จะมีนิสัยในการอ่านเพื่อรับรู้ อ่านลวกๆ เร็วๆ โดดไปหน้าต่อไป จากโน่นไปนี่ โดยมิได้มุ่งสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งเหมือนดังที่เราอ่านหนังสือ

โลกดิจิทัลทำให้เรารีบร้อน ไม่ให้เวลาเรามากพอที่จะคิดและเน้นความสนใจอย่างลึกซึ้ง เราพอใจกับการอ่านเรื่องต่างๆ อย่างเร็วๆ เพื่อรับทราบสิ่งที่เกิดขึ้น และต่อไปเราก็จะพอใจกับการอ่านเพียงสิ่งที่พาดหัวข่าวและบทสรุป เราจะไม่ชอบอ่านข้อเขียนหรือบทความเต็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ข่าวสารความรู้ และให้เวลาเพียงพอที่จะสามารถพัฒนาความคิดคำนึงและความคิดเห็นของตัวเราเองขึ้นได้ ไม่ถูกยัดเยียดให้ต้องรีบร้อนอ่าน จนไม่มีเวลาที่จะให้กระบวนการจัดการสารสนเทศทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การอ่านหนังสือที่ใช้ภาษางดงามและมีเนื้อหาที่สร้างสรรค์ เป็นการสร้างจินตนาการ พัฒนาความคิดและค่านิยม การจะได้ประโยชน์เช่นนี้ต้องมีเวลาและเงื่อนไขของการอ่านที่เหมาะสม

ในเชิงวิทยาศาสตร์ มีการทดลองโดยนักวิจัยในปี 2006 เพื่อศึกษาการพัฒนาของสมองของคนขับรถแท็กซี่ และผลกระทบจากเทคโนโลยี โดยก่อนหน้าที่จะมี GPS คนขับเหล่านี้ตัองจำเส้นทางถนน ตรอกซอกซอย ทางลัด เพื่อรับส่งผู้โดยสาร ผู้ศึกษาพบว่าส่วนของสมองที่เรียกว่า hippocampus (ใช้จดจำสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์) มีขนาดโตกว่าปกติ

งานศึกษานี้แสดงว่าพฤติกรรมของเรา สามารถเปลี่ยนแปลงกายภาพของสมองได้ ไม่ว่าดีขึ้นหรือเลวลงก็ตาม ถ้าเรามีพฤติกรรมที่ไม่ใช้สมอง ไม่ใช้ความคิดอย่างลึกซึ้ง ก็หมายความว่าเราละเลยการพัฒนากายภาพของสมองเรา

การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่ดีและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็มีผลเสียอยู่มากอย่างคิดไม่ถึง ควรใช้อย่างระมัดระวังและอย่างรู้เท่าทัน เพราะมันมี ‘ราคา’ ที่มองไม่เห็นที่ต้องจ่ายเสมอ ส่วนจะแพงหรือถูกนั้น ผู้ใช้แต่ละคนเป็นคนกำหนดเองทั้งสิ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save