fbpx

ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์จารีตประเพณี: “ไม่มีคุณค่าทางจารีตประเพณีใดที่ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ด้วยการกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใน 2 คดีสำคัญในเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้แก่ คดีการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคดีสมรสเท่าเทียมภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์กฎหมายและการเมืองไทยในฐานะพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความถดถอยอย่างน่าตกใจของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดที่รัฐธรรมนูญในสังคมเสรีประชาธิปไตยมุ่งให้ความคุ้มครอง และยังแสดงให้เห็นถึงความสับสนในบทบาทหน้าที่ขององค์กรตุลาการในฐานะ ‘ผู้พิทักษ์คุณค่าสูงสุดของรัฐธรรมนูญ’ และบทบาทของ ‘ผู้ค้นหาคุณค่าในทางจารีตประเพณี’ ที่สามารถดำรงอยู่อย่างเป็นเหตุเป็นผลเคียงคู่กับคุณค่าสูงสุดในสังคมเสรีประชาธิปไตย

เหตุผลธรรมชาติกับจารีตประเพณี

นักประวัติศาสตร์กฎหมายไม่เคยปฏิเสธบทบาทของ ‘จารีตประเพณี’ ในฐานะกฎเกณฑ์ทางกฎหมายรูปแบบแรกในสังคมมนุษย์ แต่ในขณะเดียวก็ไม่เคยลืมว่า ความไม่แน่นอนของกฎหมายจารีตประเพณีเป็นเหตุผลสำคัญที่สังคมมนุษย์ต้องมีกฎเกณฑ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคภายใต้กฎหมายของคนในสังคม

พัฒนาการทางกฎหมายนับพันปีของสังคมยุโรปทำให้นักกฎหมายเรียนรู้ว่ากฎหมายควรเป็นระบบเหตุผลที่ถูกต้องสอดคล้องกับธรรมชาติกับมนุษย์ (‘เหตุผลธรรมชาติ’) แต่ก็ไม่อาจตัดขาดจากกฎเกณฑ์ในทางจารีตประเพณีซึ่งเกิดจาก ‘อารมณ์และความรู้สึก’ ของมนุษย์ ด้วยเหตุที่คุณค่าในทางจารีตประเพณีเกิดขึ้นจากอารมณ์และความรู้สึกของคนในสังคมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งและถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อมา คุณค่าในทางจารีตประเพณีจึงดำรงอยู่ได้เมื่อคนในรุ่นหลังของสังคมยังคงมีอารมณ์และความรู้สึกร่วมกับคนรุ่นก่อนหน้า

ด้วยเหตุที่พลวัตของจารีตประเพณีถูกขับเคลื่อนด้วยความ ‘รู้สึก’ มากกว่า ‘เหตุผล’ จารีตประเพณีจึงมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไป ตามอารมณ์และความรู้สึกของคนในสังคมในแต่ละช่วงเวลา เฉพาะฉะนั้นการรักษาคุณค่าในทางจารีตประเพณีให้ยั่งยืน จึงต้องทำให้คุณค่าดังกล่าวมีความเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุด (rationalisation) เพื่อให้มนุษย์ไม่รู้สึกว่าคุณค่าในทางจารีตประเพณีมีความแปลกแยกจากระบบเหตุผลที่ถูกต้องมากจนเกินไป ในขณะเดียวกันนักกฎหมายต้องสร้างเครื่องมือในทางกฎหมาย ที่เรียกว่า ‘นิติวิธี’ (juristic methods) เพื่อควบคุมความแปรปรวนของอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์และความไม่แน่นอนของการตีความคุณค่าในทางจารีตประเพณี และวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุด คือเพื่อควบคุมไม่ให้การตีความคุณค่าในทางจารีตประเพณีละเมิดต่อ ‘เหตุผลธรรมชาติ’ ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค

การสร้างความเป็นเหตุเป็นผลให้กับคุณค่าในทางจารีตประเพณี (rationalisation)

อังกฤษเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่สามารถทำให้ระบบกฎหมายและสถาบันการเมืองซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นเพียงคุณค่าในทางจารีตประเพณี ดำรงอยู่ได้โดยเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่มาอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบพันปี สถาบันทางกฎหมายและการเมืองของอังกฤษ นับตั้งแต่ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ สถาบันกษัตริย์ สภาขุนนาง และสถาบันการเมืองอีกมากมาย แม้จะยังคงมีชื่อเรียกไม่ต่างจากเดิม แต่ได้ผ่านการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นระบบที่ดำรงอยู่ได้อย่างสมเหตุสมผลและกลมกลืนกับเหตุผลธรรมชาติของสังคมอังกฤษ

ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ของอังกฤษเริ่มต้นเป็นเพียงความพยายามในการรวบอำนาจบริหารเข้าสู่ส่วนกลาง และการสร้างหลักกฎหมายอย่างสะเปะสะปะโดยคำพิพากษาของศาล ศาลค่อยๆ พัฒนาเกราะกำบังการแทรกแซงจากฝ่ายบริหารจนกลายเป็นหลักอิสระของฝ่ายตุลาการ ในขณะที่หลักกฎหมายอังกฤษที่สร้างขึ้นโดยคำพิพากษาได้รับการจัดระบบให้เป็นเหตุเป็นผลผ่านการศึกษาของเนติบัณฑิตสภา

ส่วนสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษได้ค่อยๆ มอบอำนาจทางการเมืองในความเป็นจริงให้กับสถาบันทางเมืองที่ยึดโยงกับประชาชน จนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือการเมืองเพราะไม่ต้องใช้อำนาจทางการเมืองใดๆ ด้วยตนเอง แต่ยังคงรักษาความรับผิดชอบต่อสังคมและยอมรับการตรวจสอบโดยสาธารณชน

สภาขุนนางของอังกฤษซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความไม่เท่าเทียมภายใต้หลักเหตุผลธรรมชาติ สามารถดำรงอยู่ได้ในฐานะคุณค่าในทางประวัติศาสตร์และจารีตประเพณีที่คนอังกฤษส่วนใหญ่ยังยอมให้อยู่ต่อไปได้ เพราะการปรับตัวให้เป็นเพียงสถาบันการเมืองที่มีบทบาทในทางนิติบัญญัติที่จำกัดและมีสมาชิกที่มาจากการเสนอชื่อตามสัดส่วนของสมาชิกพรรคการเมืองในสภาสามัญที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน สภาขุนนางอังกฤษในปัจจุบันจึงดำรงอยู่ได้เพราะความยึดโยงกับประชาชน

การควบคุมความแปรปรวนของคุณค่าในทางจารีตประเพณีโดยนิติวิธี

นักกฎหมายทราบกันดีว่ากฎหมายจารีตประเพณีจะต้องไม่ถูกตีความไปในทางจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะกฎเกณฑ์ทางจารีตประเพณีเป็นคุณค่าที่ไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของผู้ตีความ คุณค่าในทางจารีตประเพณีจึงควรดำรงอยู่ในระบบกฎหมายที่ไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสังคมในวงกว้าง เช่น กฎหมายเอกชน เท่านั้น แต่ไม่ควรถูกใช้ให้เป็นโทษกับบุคคลในกฎหมายอาญาและกฎหมายมหาชน ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน

กฎหมายที่ให้อำนาจรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อการรักษา ‘ความสงบเรียบร้อยของสังคม’ หรือ ‘ศีลธรรมอันดี’ จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่อันตรายต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและต้องห้ามตามหลักนิติวิธี เมื่อใดที่คุณค่าในทางจารีตประเพณีขัดหรือแย้งกับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคซึ่งเป็นเหตุผลธรรมชาติ ศาลจะต้องตีความคุณค่าในทางจารีตประเพณีในทางที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนเท่านั้น ศาลไม่อาจสังเวยสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อรักษาคุณค่าในทางจารีตประเพณีได้ การกระทำเช่นนั้นไม่เพียงแต่ไม่อาจสร้างเกราะป้องกันให้กับคุณค่าในทางจารีตประเพณีได้แล้ว ยังเป็นการลดคุณค่าความเป็นเหตุเป็นผลของจารีตประเพณี ทำให้คุณค่าในทางจารีตประเพณีถอยห่างออกจากเหตุผลธรรมชาติ จนอาจนำไปสู่การปฏิเสธของคนในสังคมในท้ายที่สุด

ความเสมอภาค vs จารีตประเพณี

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีสมรสเท่าเทียมว่า มาตรา 1448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ขัดแย้งต่อหลักความเสมอภาคที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มุ่งคุ้มครอง ศาลรัฐธรรมนูญชั่งน้ำหนักระหว่างการยืนยันหลักความเสมอภาคซึ่งเป็นเหตุผลสากล กับคุณค่าในทางจารีตประเพณีของสังคมไทย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเลือกคุ้มครองคุณค่าอย่างหลัง

นักนิติศาสตร์จำนวนมากตั้งคำถามว่า การอนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของคนในสังคมได้รับความกระทบกระเทือนอย่างไร และมีใครจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเกิดจากการสมรสเท่าเทียมที่มากไปกว่า ‘ความรู้สึกไม่พอใจ’ หรือไม่

ถ้าเป็นเช่นนี้หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังปกป้องคุณค่าในทางจารีตประเพณีซึ่งเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก มากกว่าการปกป้องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคซึ่งเป็นเหตุผลธรรมชาติและเป็นคุณค่าสูงสุดที่รัฐธรรมนูญมุ่งให้ความคุ้มครองและศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาใช่หรือไม่

ศาลเป็น ‘ผู้ค้นหา’ ไม่ใช่ ‘ผู้กำหนด’ คุณค่าในทางจารีตประเพณี

ศาลรัฐธรรมนูญไม่เพียงแต่สร้างข้อกังขาและการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองคุณค่าสูงสุดของรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยในคดีการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังแสดงให้เห็นถึงความสับสนของศาลรัฐธรรมนูญระหว่างบทบาทของ ‘ผู้ค้นหา’ และ ‘ผู้กำหนด’ คุณค่าในทางจารีตประเพณี

สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าในทางจารีตประเพณีและเหตุผลธรรมชาติอย่างลงตัวและเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยมาต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หรือแม้แต่ย้อนกลับไปในอดีต กฎหมายเก่าของไทยได้จัดวางสถานะของพระมหากษัตริย์ให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชน ทรงเป็น ‘อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ’ คือ ผู้ปกครองที่ได้รับการสถาปนาโดยที่ชุมนุมของหมู่ชน สถาบันพระมหากษัตริย์จึงดำรงอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมั่นคงเพราะความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชน

เพราะฉะนั้นความพยายามของศาลรัฐธรรมนูญในการอธิบายคุณค่าในทางจารีตประเพณีในลักษณะที่ทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจที่ไขว้เขวต่อความสัมพันธ์ดังกล่าวย่อมเป็นอันตรายต่อการรักษาคุณค่าในทางจารีตประเพณีในสังคมเสรีประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะการรักษาคุณค่าในทางจารีตประเพณีให้ยั่งยืนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมไทยและสังคมโลก คือการยืนยันการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สอดประสานกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ศาลมีเพียงหน้าที่ในการ ‘ค้นหา’ คุณค่าในทางจารีตประเพณีซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคมในเวลาที่ตัดสินคดี ไม่ใช่เป็น ‘ผู้กำหนด’ คุณค่าใดๆ ที่ตั้งอยู่บนอารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอง เพราะศาลไม่ใช่ผู้แทนของประชาชน ไม่มีอำนาจใดๆ ในการกำหนดเจตจำนงของประชาชน ไม่มีผู้พิพากษาหรือนักการเมืองคนใดที่สามารถรับประกันว่าคุณค่าในทางจารีตประเพณีใดสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้ชั่วกัลปาวสาน คุณค่าในทางจารีตประเพณีจะดำรงอยู่ได้เมื่อประชาชนในแต่ละยุคแต่ละสมัยยอมรับ และการทำให้ประชาชนยอมรับคือการทำให้คุณค่าในทางจารีตประเพณีสอดคล้องกับหลักเหตุผลธรรมชาติมากที่สุด

การรักษาคุณค่าในทางจารีตประเพณีต้องมองไปข้างหน้า ไม่ใช่เดินถอยหลัง

ศาลรัฐธรรมนูญพยายามรักษาคุณค่าในทางจารีตประเพณีโดยการอ้างประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาติ แต่หลงลืมไปว่าการดำรงอยู่ของคุณค่าในทางจารีตประเพณีขึ้นอยู่กับ ‘อารมณ์และความรู้สึกของคนรุ่นปัจจุบัน’ ไม่ใช่ ‘อารมณ์และความรู้สึกของผู้คนในอดีต’ และยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการมองเห็นอนาคตของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

การจมปลักอยู่กับอดีตแต่มองไม่เห็นสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นอันตรายต่อการรักษาคุณค่าในทางจารีตประเพณีให้ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ที่สำคัญการรักษาคุณค่าในทางจารีตประเพณีใดๆ จะต้องไม่แลกกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ไม่มีคุณค่าในทางจารีตประเพณีใดที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ด้วยการกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะในท้ายที่สุดประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะทวงคืนสิทธิเสรีภาพของตนกลับมาจนได้

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save