fbpx

วิภาษวิธีของนายทาสกับทาส: การต่อสู้ครั้งสุดท้ายระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล

จากวันที่ 7 ตุลาคมเป็นต้นมา คงไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่ตื่นตะลึงกับข่าวการบุกโจมตีอย่างสายฟ้าฟาดของขบวนการฮามาส ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนปาเลสไตน์ให้ทำหน้าที่ปกครองในฉนวนกาซาซึ่งมีขนาดเล็กด้วยพื้นที่รวมเพียง 365 ตารางกิโลเมตร เล็กกว่าจังหวัดที่เล็กสุดของไทยคือสมุทรสงครามที่มีเนื้อที่ 416 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรหนาแน่นสูงมากรวม 2.2 ล้านคน

คนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซากับในเขตเวสต์แบงก์อ้างสิทธิในความเป็นรัฐชาติของตน ในขณะที่อิสราเอลก็อ้างสิทธิเข้ายึดครองดินแดนเหล่านั้นเป็นของตน ควบคุมและปิดกั้นดินแดนเหล่านี้ภายใต้อำนาจรัฐที่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และยุโรป เพราะอิสราเอลเป็นห่วงโซ่สำคัญในระบบทุนนิยมโลก หลายปีที่ผ่านมามีการปะทะต่อต้านโดยคนปาเลสไตน์ มาถึงการใช้อาวุธและระเบิดโจมตีอิสราเอลนำโดยขบวนการฮามาสที่ยกระดับความรุนแรงและขยายขอบเขตปฏิบัติการทางทหารมากขึ้นเรื่อย ประเทศที่หนุนช่วยฮามาสคืออิหร่านซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ และอิสราเอล

ปฏิบัติการวันที่ 7 ตุลาคม จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ความรุนแรงของโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ในการบุกเข้าสังหารและจับเชลยชาวยิวและชาติอื่นๆ ในเขตชายแดนฉนวนกาซาเป็นตัวประกัน มีคนอิสราเอลตายราว 1,400 คนจากการโจมตีวันเดียว หลังจากตั้งตัวได้ กองกำลังป้องกันประเทศของอิสราเอลก็ออกมาปฏิบัติตอบโต้และยุติการโจมตีของฮามาส ตามมาด้วยการยิงถล่มทั้งระเบิดและจรวดนานัปการเข้าไปยังเมืองกาซาอันเป็นที่อยู่และหลบซ่อนของกลุ่มปฏิบัติการฮามาส ที่สำคัญคือมีการขุดสร้างอุโมงค์ใต้ดินยาวนับร้อยกิโลเมตรที่เชื่อมต่อกันเหมือนใยแมงมุมไปสุดพรมแดนอียิปต์ ผลคือชาวบ้านปาเลสไตน์ที่อาศัยในเมืองบาดเจ็บล้มตาย บ้านช่องรวมถึงโรงเรียน และล่าสุดโรงพยาบาลและโบสถ์ถูกระเบิดเสียหาย คนปาเลสไตน์ตายไปไม่น้อยกว่า 7,500 คน (ตัวเลขวันที่ 31 ต.ค. จากฝ่ายสาธารณสุขปาเลสไตน์) หากนับรวมคนตายทั้งสองชาติก็เป็นหมื่นคน ในจำนวนนี้เกือบครึ่งเป็นเด็ก นับว่าเป็นการเสียชีวิตของเด็กในสงครามที่สูงที่สุดในโลกในเวลาอันสั้น

ผมก็เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่ติดตามข่าวและพัฒนาการของสถานการณ์ด้วยใจจดจ่อ เพราะสันนิษฐานว่าการรุกโจมตีอย่างไม่คาดคิดนี้ต้องมีมูลเหตุปัจจัยอะไรเบื้องหน้าเบื้องหลังอยู่ไม่น้อย คงไม่ใช่การปะทุของเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างสองเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และการเมืองอย่างปกติที่ทำกันมา คือปาเลสไตน์ที่เป็นคนมุสลิมไร้รัฐฝ่ายหนึ่ง กับคนยิวที่มีรัฐอิสราเอลอันทรงพลังอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ต่อสู้ขับเคี่ยวกันมานับแต่แรกเกิดในปี 1948 ปะทุเป็นสงครามระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอลในปี 1967 ต่อมาสถานการณ์ความขัดแย้งทำท่าลงเอยด้วยการพบปะเจรจาระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายในข้อตกลงออสโลว์ ปี 1993 ที่กำหนดทางออกไว้ว่าให้มุ่งไปสู่การสร้าง ‘ทางออกสองรัฐ’ (the two state solution) ซี่งมีสหรัฐฯ เป็นผู้ประสานงานและไกล่เกลี่ย

แต่แล้วชะตากรรมไม่หนุน การเมืองในประเทศอิสราเอลดิ่งลงไปสู่ลัทธิชาตินิยมและอนุรักษนิยมขวาสุด เปิดฉากด้วยการลอบสังหารนายกรัฐมนตรี ยิตซ์ฮัก ราบิน ผู้ลงนามในข้อตกลงออสโลว์ โดยคนยิวอิสราเอลเอียงขวาเอง สลัดทิ้งพรรคกรรมกรที่เสรีนิยมออกไป พร้อมกับการเสนอนโยบายชาตินิยมใหม่ให้ขยายพื้นที่ใต้การยึดครองในฝั่งตะวันตกและฉนวนกาซา อิสราเอลทำตัวเหมือนเป็นเจ้าอาณานิคมที่รุกไล่ที่ดินของคนพื้นที่ด้วยกำลัง คนปาเลสไตน์ถูกกดขี่และบังคับด้วยกลไกทุกอย่างที่รวมแล้วทำลายความเป็นคนและพลเมืองแห่งชาติที่ฝันถึงเสรีภาพและเอกราชของตนในรัฐอธิปไตยที่เป็นของปาเลสไตน์ จนนานาชาติประณามว่าอิสราเอลกำลังทำตัวเป็นประเทศเหยียดหยามกดขี่ทางเชื้อชาติเรียกว่า ‘Apartheid’ เหมือนกับแอฟริกาใต้สมัยก่อน

อิสราเอลก็เหมือนประเทศเจ้าอาณานิคมที่มีความเหนือกว่าในทุกทาง ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐฯ และยุโรป เพราะอิสราเอลกลายเป็นฐานรองรับเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐทุนนิยมอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยมโลก รวมทั้งสร้างภูมิรัฐศาสตร์ในบริเวณตะวันออกกลางอันเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่เป็นคุณแก่โลกทุนนิยมตะวันตก อำนาจและการปกครองของอิสราเอลที่กระทำเหนือคนปาเลสไตน์ถูกนำเสนอในภาพของความเจริญรุ่งเรืองและสมัยใหม่ที่ตรงข้ามกับคนพื้นถิ่นที่ล้าหลังงมงายในศาสนาและช่วยตัวเองไม่ได้ นั่นคือภาพและเรื่องของความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับยิวอิสราเอลที่พวกเราบริโภคกันมา คือเป็นข่าวความรุนแรงที่ไม่สะเทือนความรู้สึกผู้รับข่าวภายนอกเลย กลายเป็นปัญหาที่ไม่เป็นปัญหาในสายตาของคนนอก จนถึงวันที่ 7 ตุลาคมนั่นเองที่ทันใดนั้นทุกอย่างก็ถูกโค่นล้มลงไปอย่างไม่มีเหตุผลและความศิวิไลซ์รองรับเลย

ผมคิดว่าการเกิดเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาฯ น่าจะทำให้สถานการณ์ทั้งในกาซาและอิสราเอลรวมถึงภูมิภาคนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อย่างน้อยก็ในระยะใกล้นี้จนกว่าทุกฝ่ายจะหาทางคลี่คลายสถานการณ์ลงไปได้ ผมจึงลองออกนอกพื้นที่และความชำนาญทางวิชาการของตัวเองไปสู่การวิเคราะห์และเสนอความคิดเห็นต่อปัญหาการระหว่างประเทศนี้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นด้วย

ทำไม ‘สงคราม’ ในฉนวนกาซาเกิด จากการลงมือโจมตีเข้าไปในเขตอาศัยของคนอิสราเอลอย่างโหดเหี้ยม ทั้งๆ ที่ฮามาสต้องรู้ว่าปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ไม่อาจเอาชนะอิสราเอลได้ ด้วยเหตุผลมากมายหลายประการ หลักๆ คือฮามาสเป็นแค่กองกำลังและองค์กรการเมืองหนึ่งเท่านั้น ไม่มีรัฐและประเทศที่ใช้เป็นฐานในการต่อสู้ได้ ดังนั้นการเรียกการปะทะกันว่า ‘สงคราม’ ก็ยังไม่น่าจะถูกต้องนัก นอกจากเติมว่าเป็น ‘สงครามกองโจร’ ‘สงครามจรยุทธ์’ หรือ ‘สงครามปลดแอก’ เพราะมันไม่ใช่สงครามระหว่างสองประเทศ ฝ่ายที่อยากเรียกว่า ‘สงคราม’ คือรัฐบาลอิสราเอล เพราะนั่นหมายความว่าเขาจะมีความชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศในการใช้กำลังความรุนแรงเพื่อรักษาความสงบปลอดภัยของประชาชนในดินแดนอิสราเอลได้อย่างเต็มที่

การลุกฮือและโจมตีของฮามาสครั้งนี้ ผมมองด้วยมุมมองปรัชญาวิภาษวิธีระหว่างนายทาสกับทาส (the master-slave dialectic) แนวคิดปรัชญานี้เป็นของนักปรัชญาเยอรมันชื่อโด่งดังก้องโลกคือเฮเกล (Hegel) เป็นบทหนึ่งในนิพนธ์เรื่อง ‘ปรากฏการณ์ของจิตหรือความคิด‘ (Phenomenology of Spirit) ที่มองว่าความเป็นตัวตน (selfhood) ของมนุษย์ไม่อาจเกิดขึ้นมาได้โดยอยู่อย่างโดดเดี่ยวคนเดียว หรือไม่อาจสามารถเกิดขึ้นมาได้โดยเป็นอิสระจากโลกทางวัตถุที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของมัน มนุษยชาติและความเป็นตัวตนของมนุษย์ต้องกำเนิดผ่านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ผ่านการต่อสู้ และสถานะของพวกเขานั้นได้มาจากการที่มีคนอื่นรับรอง (recognition) อัตลักษณ์ของมนุษย์และสำนึกโดยธรรมชาติเป็นภาวะสังคม (social) และเป็นสิ่งประวัติศาสตร์ (historical)

นี่คือความคิดพื้นฐานรองรับวิภาษวิธีของนายทาสกับทาส แนวความคิดที่มองสภาวะของการมีตัวตน (selfhood) ว่าเป็นสิ่งที่เป็นเหตุผล และการดำรงอยู่เป็นการต่อรองที่สูงยิ่งเกิดผ่านการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์และการต่อสู้ กับตัวเอง กับอดีตที่ผ่านไปของมัน กับคนอื่นๆ กับโลกทางวัตถุ และกับพลังทางประวัติศาสตร์ที่ใหญ่กว่านี้อีก ทั้งหมดนี้เป็นนิยามและความหมายของความมีตัวตนในยุคสมัยใหม่ของสำนักคิดทั้งปวง

ปัญหาเรื่องสภาวะของความเป็นตัวบุคคลนำไปสู่การอภิปรายและโต้แย้งกันมากมาย ในยุคแรกๆ แทบไม่มีการนำมาอภิปรายในบริบทของประวัติศาสตร์ระบบทาสที่ดำรงอยู่จริงๆ และปฏิบัติจริงในสังคมสมัยใหม่เช่นในสหรัฐฯ ที่ยังมีระบบทาสผิวดำในภาคใต้ จนถึงการปฏิวัติที่นำโดยอดีตทาสผิวดำ ตูแซ็ง ลูแวร์ตูร์ (Toussaint L’Ouverture) ในอาณานิคมฝรั่งเศสแซ็ง-ดอแม็งก์ ที่ทำลายระบบทาสและอำนาจผิวขาวของฝรั่งเศสแตกกระเจิงไป สถาปนามหาชนรัฐใหม่ที่เป็นเอกราชในชื่อว่า ‘เฮติ’ เป็นแห่งที่สองที่ได้เอกราชจากยุโรป แห่งแรกคือสหรัฐอเมริกาในปี 1803 นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเฮเกลเคยอ่านข่าวหนังสือพิมพ์เรื่องการปฏิวัติของทาสผิวดำในเฮติและคงเป็นที่มาของการอรรถาธิบายพัฒนาการของสปิริต (จิต) ไปสู่ภาวะสมบูรณ์ โดยสร้างอุปลักษ์ (metaphor) ให้เป็นเรื่องการต่อสู้ต่อรองระหว่างนายทาสกับทาส ซึ่งเข้าใจได้ง่ายว่านายทาสหมายถึงความเป็นอิสระ เป็นนายเหนือตัวเอง เป็นความมีเหตุผลและเหนือกิเลสตัณหา ในขณะที่ทาสเป็นตัวแทนของสภาวะที่ตกอยู่ใต้พันธนาการของสิ่งเลวร้ายทั้งปวง ไร้ซึ่งความเป็นอิสระ ไม่อาจเป็นเสรีได้ ถ้าอิงความคิดทางศาสนาพุทธ อาจพูดได้ว่านายทาสคือพุทธะ (ตื่น) ส่วนทาสคืออวิชชา

ในทรรศนะของเฮเกล จิตสำนึกของมนุษย์ค้นหารูปแบบต่างๆ ที่มันใช้และหนทางที่มันจะรับรู้ในท่ามกลางพัฒนาการไปสู่การรับรู้ที่สมบูรณ์ วิภาษวิธีของนายทาสกับทาสเป็นการแสดงออกในการเปลี่ยนผ่านของจิตสำนึกที่เริ่มต้นเป็นเพียงสำนึกธรรมดาไปสู่สำนึกของตนเอง (self-consciousness) รูปแบบที่เป็นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ในการมีสำนึกของตนเองคือความปรารถนา (desire) ความปรารถนาเป็นช่องทางสำหรับการที่เราทำลายความเป็นสิ่งภายนอกของวัตถุและทำให้มันกลายมาเป็นของเรา โดยผ่านการเป็นเจ้าของครอบครองและเปลี่ยนแปลงโลกวัตถุนี้เองที่ทำให้จิตสำนึกของตนเองสำแดงตนออกมาและตระหนักรู้ถึงตัวเอง นั่นคือด้วยการทำลายความเป็นอิสระของวัตถุที่ทำให้จิตสำนึกบรรลุถึง ‘ความแน่ใจของตัวตนเอง’

จิตสำนึกพบว่ามันทั้งเป็นและไม่เป็นจิตสำนึกอื่น และอันอื่นนี้เป็นสิ่งสำหรับตัวมันเองก็ต่อเมื่อมันขีดฆ่าตัวมันเองที่เป็นการดำรงอยู่เพื่อตัวมันเอง และมีการดำรงอยู่ของตัวตนก็แต่เพียงในการดำรงอยู่ของตัวตนของคนอื่น แต่ละห้วงขณะเป็นขอบเขตในการต่อรองไกล่เกลี่ย (mediating term) กับคนอื่น ซึ่งด้วยการผ่านกระบวนการนี้ที่แต่ละฝ่ายต่อรองและผนึกตัวมันเข้ากับตัวมันเอง พวกเขารับรู้ (การมีอยู่ของ) พวกเขาว่าเป็นการรับรู้ซึ่งกันและกันนั่นเอง ดังนั้นจิตสำนึกของข้าพเจ้าจึงสามารถดำรงอยู่ได้เพียงแค่เป็นอะไรบางอย่างที่ถูกไกล่เกลี่ยประนีประนอมโดยจิตสำนึกอื่น

ประเด็นที่ช่วยให้เราวิเคราะห์ปรัชญานี้ในบริบทของความขัดแย้งในสังคมได้ มาจากคำอธิบายที่บอกว่าตราบใดที่มนุษย์ปัจเจกยังไม่อาจก้าวพ้นระดับการมีชีวิตอย่างต่ำเตี้ยเรี่ยดิน พวกเขาก็จะเผชิญหน้าคนอื่นในฐานะของวัตถุ (object) จนกระทั่งเมื่อระดับชีวิตสูงขึ้นจนการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นทำให้พวกเขามองเห็นคนอื่นว่าเป็นประธานหรือนายตัวเอง (subject) ข้อคิดคือเราต้องเผยสำนึกของเราเองที่มีต่อคนอื่นอย่างที่มันดำรงอยู่เพื่อตัวมันเอง เป็นอิสระจากพันธนาการในโลกวัตถุ ข้อเตือนใจคือเราพึงปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนกับเป็นประธาน (คน) ไม่ใช่เป็นวัตถุที่ให้เราใช้งานเท่านั้น

ในกระบวนการแห่งความสัมพันธ์นี้ จิตสำนึกแต่ละคนต้องพิสูจน์ว่ามันไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อเป็นทาสของวัตถุในโลก ไม่ทำตามสิ่งที่ร่างกายต้องการ การพิสูจน์ตนเองเกี่ยวพันกับการปฏิบัติสองหน้า แต่ละหน้าแสวงหาความตายของคนอื่นและต้องเสี่ยงชีวิตของตนเองในการนี้ เฮเกลเรียกว่าเป็น ‘การต่อสู้เพื่อความเป็นกับความตาย’ และจากการเสี่ยงชีวิตนี้เองที่คนค้นพบเสรีภาพ และพิสูจน์ว่าธรรมชาติสำคัญของจิตสำนึกไม่ใช่การดำรงอยู่อย่างไร้ความหมาย ไม่ใช่เพียงรูปแบบที่ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ไม่ใช่เพียงแค่การซึมซับเข้าไปในชีวิตที่ขยายออกไป หากแต่คือการค้นพบความจริงของคนอื่น ซึ่งเป็นคนอื่นภายนอกตัวเรา ที่เราต้องต่อรองต่อสู้เพื่อที่ตัวตนบรรลุความมีอัตลักษณ์ของมัน

ทาสอเมริกันที่ถูกนำมาเป็นตัวแบบของการศึกษาปรัชญาวิภาษวิธีนายทาสกับทาส ได้แก่ เฟรเดอริก ดักลาสส์ อดีตทาสในไร่ฝ้ายในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ เขาหาทางหลบหนีออกจากไร่และนายทาสจนสำเร็จ ขึ้นไปอาศัยและทำงานในขบวนการต่อต้านทาสของวิลเลียม ลอยด์ การ์ริสัน ในภาคเหนือ ด้วยความสามารถในการอ่านและเขียน ดักลาสส์กลายเป็นนักพูดนักปาฐกมีชื่อในประเด็นเลิกทาส ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาที่โด่งดังระดับโลก นักประวัติศาสตร์พบวรรคที่ดักลาสส์บรรยายความรู้สึกหลังจากที่เขาต่อยชนะผู้คุมทาสได้ว่า ห้วงเวลานั้นเป็น ‘วาระหัวเลี้ยวหัวต่อ’ ในชีวิตเขา ที่ทำให้ความปรารถนาในเสรีภาพลุกโชติช่วงตลอดมา ในตอนนั้นแม้ว่าทุกวันเขาเป็นทาสในทางกาย และเขาอาจต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต ทว่าเขาไม่ลังเลใจต่อไปที่จะบอกตัวเองว่า คนผิวขาวผู้คาดหวังว่าจะได้รับความสำเร็จในการเฆี่ยนตีเขาจะต้องสำเร็จในการฆ่าเขาด้วยเช่นกัน

ในห้วงเวลาอันตรายนั้นเองที่ทั้งสองฝ่ายถูกตรึงไว้ด้วยกันในลักษณาการที่ตรงข้ามกัน ทาสต้องการเสรีภาพและจิตสำนึกของความมีตัวตน ส่วนนายต้องการเพียงแรงงานผลิตผลของทาสและการยอมจำนน ดักลาสส์ต้องการความตายเหนือความเป็นทาส คนที่ตกเป็นทาสคือคนที่ต่อสู้ภายในตัวเองกับการกดขี่จากภายนอก เราอาจมองเห็นยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ทาสใช้ในการหาทางมีชีวิตรอดภายใต้ภาวะทาส ท่ามกลางการต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายนี้เองที่อำนาจซึ่งมีด้วยกันทั้งสองฝ่ายฝังการดัดแปลงภายในให้แต่ละฝ่ายพัฒนาเติบโตไปท่ามกลางการต่อสู้ ในที่สุดด้านหรือภาวะที่ก้าวไปสู่จุดสูงสุดได้คือทาส ในบั้นปลายทาสจะกลายเป็นนายของตัวเองพร้อมกับเสรีภาพ ส่วนนายซึ่งไม่อาจตระหนักรู้ในจิตสำนึกคนอื่น ไม่รับรู้การมีอยู่ของสำนึกคนอื่นว่ามีส่วนในการสร้างจิตสำนึกของตัวเอง ก็จบลงด้วยการรับเอาภาวะทาสมาเป็นของตน การตีความที่ประทับใจคนอย่างมากคือ “ภาพเหมือนจริงของนายทาส จากจุดแรกเริ่ม คือภาพเหมือนซึ่งเป็นตัวแทนทาส อย่างน้อยในความฝันของนายทาสหรือที่ดีที่สุดคือทาสที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้ปรัชญาเฮเกล ภาพลักษณ์ของนายทาสเรามักพบทาส”

อาจเป็นการสุ่มเสี่ยงถ้าจะประทับป้ายว่าระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ใครเป็นนายและใครเป็นทาส ปล่อยให้เป็นวินิจฉัยของผู้อ่านเอง ผมเพียงต้องการขยายแว่นในการส่องดูและทำความเข้าใจปัญหาขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในโลกและในประเทศ ข้อสังเกตคือเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนี้ ทำให้ผมคิดว่า ‘ภาวการณ์ต่อสู้เอาเป็นเอาตาย’ ของเฮเกลนั้นมีความสำคัญ เพราะมันทำให้เราวิเคราะห์ถึงห้วงเวลาขณะหนึ่ง (moment) ที่เฮเกลบอกว่า แต่ละช่วงของจิตสำนึกมีพัฒนาการต่างๆ กันไป และห้วงเวลานี้เองที่วอลเตอร์ เบนยามินเรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์ในห้วงเวลาแห่งอันตราย’

ภาวะอันตรายนั้นมีผลต่อทั้งเนื้อหาของการปฏิบัติและผู้รับมันไว้ ภยันตรายอันเดียวกันนั้นครอบงำอยู่เหนือทั้งคู่ กล่าวคือการเป็นเครื่องมือของฝ่ายมีอำนาจคือชนชั้นปกครองและผู้ถูกปกครอง จากห้วงเวลานี้เองที่แต่ละฝ่ายจะพัฒนาไปสู่จิตสำนึกของตนเองที่สมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save