ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
เปิดหีบนับคะแนนจบสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการเลือกตั้งอินเดียในรอบเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน – 19 พฤษภาคม เป็นเวลากว่า 39 วันเต็ม ที่นอกจากคนอินเดียจะจับตารออย่างใจจดใจจ่อกับผลการเลือกตั้งแล้ว สำนักข่าวต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนทั่วโลก ต่างก็ตั้งตารอรัฐบาลใหม่ของอินเดีย ในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรเป็นอันดับสองเป็นรองเพียงแค่จีน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลกอีกด้วย
ความสำคัญทั้งในเชิงประชากรและเศรษฐกิจ ส่งผลให้ระบอบการเมืองอินเดียถูกจับจ้องตลอดเวลา เพราะมันมีผลอย่างมากต่อท่าทีการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักลงทุนข้ามชาติที่กำลังมองหาลู่ทางการลงทุน และวางฐานการผลิตสินค้าในประเทศใหม่ๆ ภายหลังจีนและสหรัฐอเมริกาทำสงครามการค้ากันอย่างดุเดือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อินเดียจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนและบรรษัทข้ามชาติจำนวนมาก ที่ต้องการหลีกหนีจากสภาวะความไม่มั่นคงทางด้านความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาและจีน ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า ศักยภาพของอินเดียก็มีความพร้อมมากยิ่งขึ้นต่อการรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน ทุน ที่ดิน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
ฉะนั้นผลการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงทิศทางการบริหารประเทศของรัฐบาลสมัยหน้า ที่จะกินเวลาการทำงานถึง 5 ปี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะพลาดเสียไม่ได้ คำถามคือเหตุปัจจัยเบื้องหลังใดบ้างที่ส่งผลให้การเลือกตั้งรอบนี้ พรรคบีเจพี และพันธมิตร กลับชนะเลือกตั้งอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้น จนมีการขนานนามกันว่า ‘Tsunamo’ (หมายถึงกระแสคลื่นความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่ถาโถมเข้าสู่อินเดีย) เพราะรอบนี้เฉพาะที่นั่งของพรรคบีเจพีเพียงพรรคเดียวก็สูงถึงกว่าครึ่งรัฐสภาไปแล้ว และอีกคำถามที่น่าสนใจคือ อินเดียจะเดินไปทางไหนภายใต้รัฐบาลชุดเดิมที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น
เสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจกับอุดมการณ์ชาตินิยมฮินดู
แม้ว่านโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของพรรคบีเจพีที่นำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีภาระหนี้สินล้นพ้นตัว อย่างไรก็ตามด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เข้มข้น ทำให้รัฐบาลชุดนี้ผ่านกฎหมายที่สำคัญหลายฉบับ ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการลงทุนจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการร่วมทุน กฎหมายเรื่องอัตราภาษี รวมถึงกฎหมายภาษีสินค้าและบริการ สิ่งเหล่านี้ทำให้อัตราการแข่งขันของอินเดียในเวทีโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เงินภาษีที่ไหลเวียนเข้าสู่ระบบที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ยังช่วยให้รัฐบาลสามารถนำเงินไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายๆ ส่วน อันช่วยเอื้อให้เกิดการขยายตัวของเมืองไปยังพื้นที่ชนบทมากยิ่งขึ้น
แนวทางการพัฒนาเช่นนี้ทำให้ชนชั้นกลางจำนวนมากได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเปิดประเทศรับการลงทุน เพราะตำแหน่งงานในบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ต้องการแรงงานมีทักษะและมีการศึกษา ซึ่งคนกลุ่มนี้ในประเทศอินเดียล้วนเป็นชนชั้นกลาง นี่ส่งผลให้ในพรรคบีเจพีได้เสียงจำนวนมากมาตลอดจากพนักงานออฟฟิศ รวมถึงชนชั้นกรรมกรที่มีการจ้างงานเพิ่มมากยิ่งขึ้น เห็นได้ชัดจากชัยชนะของพรรคบีเจพีในเมืองใหญ่อย่างนิวเดลี และมุมไบ
นอกจากการขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจที่เน้นแนวทางเสรีนิยมใหม่แล้ว ความเป็นฝ่ายขวาชาตินิยมฮินดูของพรรคบีเจพี ยังหยิบฉวยโอกาสนี้ในการขยายความคิดความเชื่อเรื่องชาตินิยมที่อิงแอบมากับศาสนาฮินดูลงไปด้วย ถึงแม้ว่านโยบายลักษณะนี้จะสร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงต่อชนกลุ่มน้อยและประชาชนต่างศาสนา แต่ต้องไม่ลืมว่าสุดท้ายแล้วคนอินเดียส่วนใหญ่ยังคงนับถือศาสนาฮินดู และจำนวนมากก็มีความเคร่งครัดในศาสนาอย่างมาก นี่จึงเป็นประโยชน์อีกหนึ่งเด้งที่พรรคบีเจพีได้รับจากฐานเสียงกลุ่มนี้ เห็นได้ว่า ส.ส. หลายคนที่ชนะในการเลือกตั้งรอบนี้ของพรรคบีเจพี เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ หรือเป็นพระในศาสนาฮินดู ที่สำคัญพรรคบีเจพียังชนะในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีคนฮินดูเป็นประชากรหลักด้วย
ลักษณะความเป็นชาตินิยมฮินดูของรัฐบาลโมดี ยังสะท้อนผ่านนโยบายต่างประเทศที่น่าสนใจหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการต่อต้านการก่อการร้าย และการเข้าไปโจมตีค่ายผู้ก่อการร้ายในปากีสถาน ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองอย่างมากมายให้กับพรรคบีเจพี ทั้งที่เพิ่งแพ้การเลือกตั้งในรัฐใหญ่ๆ ในดินแดนภาคเหนือและภาคกลางของอินเดีย จนทำให้กลับมาชนะอีกครั้งในการเลือกตั้งระดับชาติ การส่งเสริมวัฒนธรรมฮินดูผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐบาลต่อประชาคมโลก อาทิ การจัดงานวันโยคะสากล การส่งเสริมแนวคิดของนักคิดชาวฮินดูคนสำคัญต่างๆ เป็นต้น ก็ถือเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคบีเจพีสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวอินเดีย ปรากฏการณ์เหล่านี้จึงล้วนเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้พรรคบีเจพีได้รับความไว้วางใจอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะจากชาวฮินดูเคร่งศาสนา ซึ่งพรรคคองเกรสที่มีแนวทางแบบรัฐฆราวาสนิยมไม่อาจเข้าถึงได้
ความสามารถส่วนบุคคลของนเรนทรา โมดี และความพ่ายแพ้ของพันธมิตรพรรคฝ่ายค้าน
ถึงแม้นเรนทรา โมดี เหมือนจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง เพราะปัญหาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริง เขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับพรรคบีเจพี และการสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศอินเดียต่อประชาคมโลก ในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ต้องยอมรับว่าชัยชนะครั้งนี้ของพรรคบีเจพีมากกว่า 8 ใน 10 ส่วน เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นที่ประชาชนมอบให้นายกรัฐมนตรีโมดี ท่าทีของโมดีในเวทีโลกช่วยเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดียให้กลายเป็นประเทศที่กำลังคืบคลานขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของเอเชียและของโลกในอนาคต
สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากคือภาพลักษณ์ของโมดีในเวทีระหว่างประเทศ ดูจะสวนทางกับความเป็นจริงภายในประเทศที่นับวันการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลายคนถึงกับกล่าวว่าหากโมดีกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ชาวมุสลิมอาจต้องย้ายออกนอกอินเดีย และที่สำคัญอินเดียอาจไม่จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญเลยก็ได้ แต่นั่นก็เป็นแค่คำวิจารณ์ เพราะดูเหมือนว่านอกจากพรรคบีเจพีจะครองใจชาวฮินดูได้แล้ว ในหลายพื้นที่ซึ่งมีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ พรรคบีเจพีก็เอาชนะพรรคคองเกรสและพันธมิตรไปได้อย่างหน้าตาเฉย
ฉะนั้นความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ของโมดี ไม่เฉพาะกับฐานเสียงของพรรคบีเจพี แต่รวมถึงภาพลักษณ์ที่โมดีสร้างให้คนทั่วโลกเห็นเกี่ยวกับตัวเอง ถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญอย่างมากที่ทำให้โมดีสามารถสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆ ต้องยอมรับว่าถึงแม้อินเดียจะมีการเลือกตั้งที่อิงอยู่กับอุดมการณ์ของพรรคการเมืองที่ตนเองสนใจ แต่มีคนจำนวนมากที่ยังตัดสินใจลงคะแนนบนพื้นฐานของความเชื่อมั่นที่มีต่อผู้นำทางการเมือง หรือผู้นำพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จนมีสุภาษิตติดปากคนอินเดียว่า TINA (There is no alternative หรือ มันไม่มีทางเลือกอื่น)
แม้ว่าราหุล คานธี จะมีความโดดเด่นมากขึ้น จนคะแนนเสียงของพรรคคองเกรสเพิ่มขึ้นมา สุดท้ายในสายตาของประชาชน เขาก็ยังคงเป็นคนที่เข้าถึงยาก เป็นเด็กน้อยทางการเมืองที่อ่อนประสบการณ์ในการบริหารประเทศ เมื่อเทียบกับนายโมดีที่เคยสร้างความสำเร็จจากการทำงานเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราต และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเสียงข้างมากที่ท่วมท้นมาแล้ว
ถึงแม้ครั้งนี้พรรคคองเกรสจะมีผลงานที่ดีขึ้นกว่าครั้งก่อน แต่ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะความพ่ายแพ้ในพื้นที่หัวใจของประเทศ หรือ ฮินดีฮาร์ทแลนด์ ซึ่งพรรคคองเกรสเป็นรัฐบาลในระดับรัฐอยู่ เช่น รัฐราชาสถาน รัฐมัธยประเทศ รวมถึงรัฐฉัตรีคร เรียกได้ว่าความสำเร็จของพรรคคองเกรสรอบนี้เกิดขึ้นในภาคใต้ของอินเดียอย่างรัฐเกรละ และรัฐทมิฬนาดู เท่านั้น
นอกจากปัญหานี้แล้ว พรรคพันธมิตรของคองเกรสเอง แม้จะประสบความสำเร็จในรัฐอุตตรประเทศ แต่ในพื้นที่ภาคตะวันออก กลับไม่สวยหรูเท่าไหร่นัก เพราะพรรคใหญ่ๆ เสียที่นั่งให้กับพรรคบีเจพี ทำให้ผลงานที่โดดเด่นในรัฐอุตตรประเทศไม่ได้ช่วยให้พรรคบีเจพีอ่อนกำลังลงเลย
ปัจจัยเรื่องผู้นำจึงถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พรรคบีเจพีกลับมาได้อีกครั้ง แม้ว่านโยบายในการบริหารประเทศในหลายๆ เรื่องยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อินเดียจึงกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีของกระแสประชานิยม หรือ Populism
อินเดียจะไปทางไหนหลังการเลือกตั้ง
ชัยชนะครั้งนี้ของพรรคบีเจพีสามารถมองได้สองมุม คือความหวัง และฝันสลาย เพราะนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้อนของการปฏิรูปโครงสร้างประเทศอินเดียขนานใหญ่ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศ ที่เคยถูกครอบงำโดยความคิดของพรรคคองเกรสตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา แต่ในอีกทางหนึ่ง นี่คือจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของแนวคิดรัฐฆราวาสนิยมในอินเดีย ที่ต้องการสมานฉันท์ความหลากหลายทางศาสนาที่มีอยู่ ต้องยอมรับว่าพรรคบีเจพี เป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวา และชูความเป็นชาตินิยมฮินดูแบบชัดเจน การได้รับความไว้วางใจอีกสมัยเช่นนี้ ซึ่งยังไม่เคยมีพรรคไหนเคยทำได้มาก่อนนอกจากพรรคคองเกรส สะท้อนว่าคนอินเดียจำนวนมากยินดีที่จะเห็นประเทศมุ่งไปสู่รัฐแบบฮินดูนิยม
นั่นหมายความว่ารัฐบาลอินเดียอาจหันไปอุ้มชูกลุ่มทางสังคมและศาสนาที่มีความเชื่อมโยงโดยตรงต่อวิถีปฏิบัติแบบฮินดูมากขึ้น แน่นอนว่านโยบายการจำกัดสิทธิของประชาชนในหลายเรื่องจะถูกนำมาบังคับใช้ เช่น การสั่งแบนการกินเนื้อวัว ดังที่เคยเกิดขึ้นในหลายรัฐ ในช่วงที่พรรคบีเจพีได้เป็นรัฐบาลในรัฐเหล่านั้น ขณะเดียวกันยังอาจหมายรวมถึงการละเลยต่อปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงอันมีต้นสายปลายเหตุจากเรื่องทางศาสนาอีกด้วย เรียกได้ว่าสังคมอินเดียจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเราอาจได้เห็นความรุนแรงจากปัญหาเรื่องชาติพันธุ์และศาสนาเพิ่มมากยิ่งขึ้น จากที่ทุกวันนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวอยู่แล้วหลังจากการเข้าสู่อำนาจของพรรคบีเจพี
ในเรื่องของเศรษฐกิจ ต้องบอกว่าการกลับมาของรัฐบาลเดิม ย่อมทำให้นักลงทุนรายใหญ่ของประเทศรวมถึงนักลงทุนระหว่างประเทศยิ้มกันแก้มปริ เพราะมันหมายถึงความมีเสถียรภาพของการผลักดันนโยบายที่เคยวางไว้ก่อนหน้านี้ เห็นได้ชัดจากเมื่อมีการประกาศผล Exit Poll หุ้นอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และปิดตลาดเป็นบวกที่จำนวนหลายพันจุด
สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับวันที่ผลการเลือกตั้งออกมาหลังการนับคะแนน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อผลทางการเมืองนี้ย่อมช่วยส่งเสริมให้ตัวเลขการลงทุนของอินเดียเติบโต และสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าผู้คนตัวเล็กตัวน้อยรวมถึงเกษตรกรจะยังคงต้องเผชิญปัญหาวิกฤตทางการเงินต่อไป ธุรกิจขนาดย่อยจะค่อยๆ ล้มตายไปตามการขยายตัวของทุนใหญ่ และการขูดรีดภาษีที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งไปกว่านั้น การได้รับชัยชนะครั้งนี้พรรคบีเจพีจะช่วยให้ในอีกไม่เกิน 2 ปี ข้างหน้า พรรคบีเจพีจะมีเสียงข้างมากในทั้งโลกสภา (สภาผู้แทนราษฎร) และราชยสภา (วุฒิสภา) ปรากฏการณ์นี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยครั้งนักในประเทศอินเดีย เพราะรัฐธรรมนูญอินเดียออกแบบมาให้เกิดการสร้างสมดุลกันของสองสภา โดยกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งที่ไม่ตรงกัน ฉะนั้นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้จะทำให้การผ่านกฎหมายของพรรคบีเจพีทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น จากที่การเป็นรัฐบาลสมัยที่แล้วประสบปัญหาการเตะถ่วงการพิจารณากฎหมายในราชยสภา
โดยรวมอินเดียในอีก 5 ปีข้างหน้าจึงจะยังคงมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความต่อเนื่อง แต่จะเต็มไปด้วยปัญหาทางด้านสังคม มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มการเมืองและศาสนาต่างๆ ระหว่างคนรวยและคนจน ระหว่างชนบทกับเมือง ระหว่างอุดมการณ์แบบขวาและซ้าย และระหว่างค่านิยมแบบรัฐฆราวาสกับรัฐแบบฮินดู
ดูๆ ไปแล้วสถานการณ์แบบนี้ก็มีความอินเดียพอสมควร เพราะทั้งหลากหลายและลงตัว มีดี-มีร้ายในตัวเอง