fbpx
'การปะทะกันทางรัฐธรรมนูญ' (the constitutional clash) ในการถอดถอนประธานาธิบดี

‘การปะทะกันทางรัฐธรรมนูญ’ (the constitutional clash) ในการถอดถอนประธานาธิบดี

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในที่สุดคณะกรรมาธิการข่าวกรองในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรับผิดชอบกระบวนการสอบสวนและรับฟังการให้ปากคำของพยานกรณีการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็สามารถยุติการสอบสวนลงได้ หลังจากได้รับฟังข้อเท็จจริงและหลักฐานจำนวนไม่น้อยในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา โดยวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา อดัม ชิฟฟ์ (ส.ส.เดโมแครต แคลิฟอร์เนีย) ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรอง ได้เสนอคำรายงานการไต่สวนทั้งหมดยาว 300 หน้าต่อสาธารณชน เอกสารสำคัญนี้เรียกว่า ‘The Trump-Ukraine Impeachment Inquiry Report’

เป็นอันว่ากระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระยะแรก สามารถดำเนินการผ่านไปได้อย่างดีเกินความคาดหมาย ผมนั่งดูการถ่ายทอดสดหลายวันระหว่างที่พยานมาให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการ ได้เห็นสภาพของระบบการเมืองและการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรอย่างใกล้ชิด อันเป็นหัวใจของการต่อสู้ต่อรองและการขบเหลี่ยมกันระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ (รัฐสภา) กับอำนาจบริหาร (รัฐบาล) ผ่านการแสดงออกของแกนนำพรรคทั้งสองและประธานคณะกรรมาธิการสำคัญๆ ในการพยายามถ่วงดุลอำนาจของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งต้องยกนิ้วให้เป็นซูเปอร์ประธานาธิบดีของโลกก็ว่าได้ เพราะจะหาคนที่เล่นและแสดงบทของผู้นำฝ่ายบริหารที่มีอำนาจจริงๆ อย่างทรัมป์ได้ยากยิ่ง

ทั้งหมดนี้ทำให้การทำงานเพื่อควบคุมและถ่วงดุลอำนาจบริหารของฝ่ายสภาผู้แทนฯ เต็มไปด้วยความยากลำบาก และแม้คณะกรรมาธิการจะเรียบเรียงพฤติการณ์และการกระทำอันไม่ชอบของประธานาธิบดีออกมาถึง 300 หน้า คนจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่เชื่อมั่นว่ามันจะสามารถนำไปสู่การถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งได้

ย้อนไปเมื่อสองเดือนก่อน เมื่อเริ่มกระบวนการไต่สวนและสอบสวนหาข้อมูลในชั้นแรกโดยสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำไปสู่การดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐฯ อันเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ผมยังนึกภาพไม่ออกว่าสถานการณ์และหลักฐานข้อมูลที่ทางคณะกรรมาธิการข่าวกรอง อันมีพรรคเดโมแครตเป็นเสียงข้างมากและเป็นฝ่ายกำหนดกรอบการทำงานและไต่สวน ขณะที่สมาชิกกรรมาธิการพรรครีพับลิกันเป็นเสียงข้างน้อย ได้แต่คัดค้านและเสนออะไรที่ตรงข้ามเพื่อไม่ให้กระบวนการนี้ดำเนินไปจนได้ผลตามที่ต้องการนี้จะออกมาอย่างไร

ใครที่ดูการถ่ายทอดการให้ปากคำในการประชุมปิด แต่เปิดให้สื่อมวลชนถ่ายทอดสดได้ จะเห็นบทบาทที่เป็นหลักและมั่นคงหนักแน่นราวหินผาของ อดัม ชิฟฟ์ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรอง ได้เป็นอย่างดี เขาจับประเด็น คุมการอภิปราย และหมั่นซักถามสมาชิกคณะกรรมาธิการ โดยเฉพาะจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งพยายามตีรวน หาทางถ่วงการอภิปรายต่างๆ นานา เขาต้องตัดบท และใช้ค้อนไม้ทุบโต๊ะเมื่อต้องการให้หยุดพูดทันที ดวงตาของเขากร้าว สีหน้าเคร่งขรึม ผมคิดว่าเขาต้องมีความกดดันในตัวอย่างสูง แต่เขาผ่านเวทีและประสบการณ์ทำนองนี้ในสภาผู้แทนฯ มาแล้วไม่น้อย หากย้อนไปก่อนที่พรรคเดโมแครตจะได้ชนะเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ในปี 2018 เขาต้องเป็นกรรมาธิการข่าวกรองฝ่ายข้างน้อย โดยที่เดวิน นูเนส (ส.ส.รีพับลิกัน แคลิฟอร์เนีย) เป็นประธาน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ที่เดโมแครตพยายามดำเนินการสอบสวนพฤติการณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ถูกนูเนสกีดขวางและตัดบท เหมือนกับที่ชิฟฟ์กระทำต่อนูเนสในขณะนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่บัดนี้ทั้งสองคนนี้ผลัดกันฟาดฟันอีกฝ่ายอย่างไม่ไว้หน้า

เริ่มจากประเด็นอันเป็นที่มาของการตัดสินใจของพรรคเดโมแครตในการประกาศกระบวนการถอดถอน คือการพูดโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดีเซเลนสกีแห่งประเทศยูเครน ซึ่งเพิ่งได้รับการเลือกตั้งมาใหม่ๆ เขาเป็นม้ามืดจริงๆ เพราะอาชีพก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งคือเป็นดาราตลกที่มีชื่อเสียง เขาเคยแสดงล้อเลียนการเป็นประธานาธิบดียูเครนซึ่งสร้างความสนุกสนานให้แก่ชาวยูเครนยิ่งนัก นี่เองเป็นเหตุให้ผู้ลงคะแนนพากันเลือกเขาอย่างท่วมท้น

การพูดคุยโทรศัพท์ในวันนั้นต่อมาถูกใช้เป็นหลักฐาน โดยนักเป่านกหวีด (whistle-blower) ได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังฝ่ายความมั่นคงในทำเนียบขาว ว่าคำพูดตอนหนึ่งของประธานาธิบดีทรัมป์นั้นเป็นการละเมิดกฎหมาย และใช้อำนาจของตำแหน่งไปในทางหาประโยชน์ส่วนตัว โดยทรัมป์บอกให้เซเลนสกีไปขุดค้นการทำผิดกฎหมายของฮันเตอร์ ไบเดน และอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งกำลังเป็นตัวเก็งผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันในปี 2020 เพื่อแลกกับการให้ทรัมป์อนุมัติงบความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนต่อไป งบฯ ดังกล่าวนี้ได้รับการอนุมัติโดยสภาคองเกรสไปแล้ว เหลือแต่การลงนามโดยประธานาธิบดีเพื่อนำเงินนี้ออกไปให้ยูเครนได้ แต่หลังจากการร้องเรียน ทำให้รู้กันว่าจริงๆ แล้วทรัมป์ไม่ยอมลงนามเสียที แต่ดึงเรื่องนี้ไว้เพื่อเป็นการต่อรองกับเซเลนสกีก่อน

ทั้งหมดนี้คือมูลเหตุของการกระทำอันกล่าวได้ว่าละเมิดรัฐธรรมนูญและเป็นการใช้อำนาจที่ผิดๆ ฟังดูแล้วก็เข้าใจได้ว่าทรัมป์ได้กระทำการอันเป็นการหาผลประโยชน์ส่วนตัวในนามของการใช้อำนาจของประธานาธิบดีซึ่งเป็นของประชาชน ถือว่ากระทำผิดจริง แต่ปัญหาในทางกฎหมาย ก็มีการเถียงกันว่า เขาไม่ได้ทำผิดทางอาญา อย่างมากสุดคือทำผิดทางการเมือง ทำให้นำไปสู่ข้อถกเถียงว่า ความผิดทางการเมืองขนาดไหนถึงจะต้องถูกดำเนินการถอดถอน ถ้าความผิดลหุโทษ ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงอะไร อาจไม่ต้องถึงกับถูกถอดถอนก็ได้ นี่คือความยากลำบากของการเริ่มกระบวนการเพื่อเข้าสู่การถอดถอนอย่างเต็มขั้นของฝ่ายเดโมแครต ว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ข้อกล่าวหาทั้งหลายนี้มีน้ำหนักอันเหมาะสมกับการดำเนินการถอดถอนได้

 

หลังจากผ่านกระบวนการสอบสวนและให้ปากคำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐจากสำนักงานบริหารงบประมาณ สภาความมั่นคงและกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถูกเรียกมาเป็นพยานกว่า 12 คน ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่และผู้รับตำแหน่งของรัฐบาลระดับสูง ตั้งแต่เอกอัครรัฐทูตประจำสหภาพยุโรป (กอร์ดอน ซอนแลนด์) เอกอัครรัฐทูตประจำยูเครน (มารี โยวาโนวิช) ทูตพิเศษระดับสูงประจำยูเครน (เคิร์ต โวคเกอร์) รวมไปถึงนายทหารเหรียญกล้าหาญประจำสภาความมั่นคง พันโทอเล็กซานเดอร์ วินด์แมน  เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศระดับสูง ดร.ฟิโอนาฮิล เป็นต้น

คนเหล่านี้ล้วนให้ปากคำที่แสดงถึงพฤติการณ์อันไม่เหมาะสมของประธานาธิบดีทรัมป์ในการจัดการปัญหายูเครน และหลักการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่พึงกระทำ หลังจากนั่งฟังการให้ปากคำของพยานเหล่านี้แล้ว ทำให้เห็นถึงคุณภาพและการยึดมั่นในหลักการและวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในอเมริกาได้ค่อนข้างดี ต้องยอมรับว่าคนเหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงความมีวิจารณญาณ เหตุผล แลการเคารพเชื่อมั่นในตัวเอง ผมอดแปลกใจไม่ได้ว่าคนเหล่านั้นไม่กังวลหรือว่าจะกลับเข้าไปทำงานในหน่วยงานและสถาบันของรัฐบาลต่อไปได้ โดยไม่ถูกกระทบกระเทียบหรือกลั่นแกล้งจากคนร่วมงานอื่นๆ ซึ่งอาจไม่มีความคิดความเชื่อในทางการเมืองและอุดมการณ์เหมือนกับพวกเขาก็ได้

สองคนที่ประทับใจผมมาก คือมารี โยวาโนวิช อดีตเอกอัครรัฐทูตประจำยูเครน เธอถูกทรัมป์ปลดออกจากตำแหน่ง หลังจากที่คนของทรัมป์ เช่น จูดี้ จูเลียอานี่ ทนายอิสระที่ทำงานให้ทรัมป์ สร้างข่าวปลอมให้สื่อมวลชนในอเมริกาไปเผยแพร่เพื่อทำลายชื่อเสียงของเธอ ทั้งนี้เพราะพวกนั้นไม่อาจดึงให้เธอมาช่วยทำงานการเมืองให้ทรัมป์ในกรณียูเครนได้ กิตติศัพท์ในการต่อต้านคอร์รัปชันและรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้คนของทรัมป์ไม่กล้าออกปากให้เธอมาช่วยงาน ทางออกคือปลดออกแล้วแต่งตั้งคนใหม่ที่พูดกันรู้เรื่องให้มารับตำแหน่งแทน

มารี โยวาโนวิช เป็นพยานปากแรกที่มีน้ำหนัก และผู้คนรอคอยฟังปากคำของเธอมากที่สุด ซึ่งไม่ผิดหวัง เมื่อเธอให้รายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นในยูเครนหลังการเลือกตั้ง และทีมทรัมป์หาทางเล่นงานเธอ จนที่สุดกระทรวงการต่างประเทศในวอชิงตันส่งข่าวให้เธอบินกลับด่วน ก่อนที่จะเกิดเรื่องไม่คาดถึงได้

แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อทรัมป์ทวีตโจมตีมารี โยวาโนวิช ระหว่างการให้ปากคำ กล่าวหาเธอว่าเป็นคนไม่ได้เรื่อง ไปอยู่ที่ไหนก็ทำให้ที่นั่นมีปัญหา เป็นการโจมตีอย่างไร้มารยาทและไม่มีน้ำใจของผู้มีอำนาจและตำแหน่งแต่อย่างใด เธอกล่าวกับอดัม ชิฟฟ์ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองว่าเธอรู้สึกว่าถูกข่มขู่ ซึ่งชิฟฟ์ยืนยันว่าคณะกรรมาธิการจะพิจารณาการข่มขู่พยานครั้งนี้อย่างจริงจัง

อีกคนคือพันโทวินด์แมน คนนี้น่าสนใจมาก เขาเป็นคนเชื้อสายยูเครน พ่อแม่อพยพจากสหภาพโซเวียต ไปอยู่แคนาดาแล้วกลับมาอเมริกา เขาเติบโตในสหรัฐฯ และต้องการเป็นทหารอย่างยิ่ง ในที่สุดเขาได้เป็นทหารและไปรบในอิรัก อัฟกานิสถาน จนได้รับบาดเจ็บ ทำให้เขาได้รับเหรียญกล้าหาญหัวใจสีม่วง

วันที่มาให้ปากคำในห้องคณะกรรมาธิการ เขาแต่งชุดทหารเต็มยศ เขาเล่าว่าวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต่อโทรศัพท์ถึงประธานาธิบดีเซเลนสกี เขานั่งฟังอยู่ในอีกห้องหนึ่ง ทำงานตามหน้าที่เพื่อรวบรวมข่าวให้ฝ่ายสภาความมั่นคงที่เขาสังกัด เขาบอกว่าทันทีที่ได้ฟังคำสนทนา เขาตระหนักถึงความไม่เหมาะสมและผลสะเทือนที่จะมีต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เขาจึงทำรายงานให้หัวหน้าทราบ แต่ไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น จนหลังจากนักเป่านกหวีดออกมาเปิดโปง และพรรคเดโมแครตประกาศการถอดถอน เขาจึงกลายเป็นพยานปากสำคัญในเรื่องนี้ไป

ที่น่าคิดคือการที่พันโทวินด์แมน กล่าวอย่างภาคภูมิใจในความรักชาติอเมริกา และการทำหน้าที่อย่างสุดจิตสุดใจของเขาเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติและประเทศ มันเป็นความขัดกันอย่างไม่น่าเชื่อ ที่คนอย่างวินด์แมน เชื้อสายยูเครน เพิ่งตั้งรกราก กำลังกล่าวหาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพวกชนชั้นนำเก่า ยังไม่นับปู่ของทรัมป์ที่อพยพมาจากยุโรปเหมือนกัน แต่นานกว่าหน่อย ที่น่าสังเกตคือไม่มีใครสามารถผูกขาดความรักชาติได้ หัวใจสำคัญคือคติคนเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีฐานะและอภิสิทธิ์ใดๆ โดยเฉพาะที่มาจากครอบครัวและสายเลือด ทำให้คนอย่างวินด์แมน สามารถอ้างถึงความรักชาติได้เหมือนและเท่ากับของคนมีอำนาจในรัฐบาลได้อย่างไม่ต้องหวาดกลัว

กล่าวโดยรวม การสอบสวนและให้ปากคำของพยานทั้งหมด ให้น้ำหนักแก่การตั้งข้อกล่าวหาว่าทรัมป์ได้ใช้อำนาจของประธานาธิบดีในลักษณะที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ มีหลักฐานและความจริงรองรับ ทำให้การดำเนินการถอดถอนในขั้นต่อไป คือส่งรายงานและแนวทางในการผลักดันการถอดถอนให้แก่คณะกรรมาธิการฝ่ายยุติธรรมรับลูกต่อไป หมายความว่ากระบวนการถอดถอนนี้ จะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีความหมาย ไม่ใช่การปั้นเรื่องและกล่าวหาโคมลอยอย่างที่รีพับลิกันพากันออกมาโจมตี

 

สำหรับประเด็นใหญ่ที่คณะกรรมาธิการข่าวกรองสรุปออกมามีดังนี้ ประการแรก คือการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบ ในการใช้งบช่วยเหลือยูเครนมาบีบบังคับให้เซเลนสกีต้องทำการขุดคุ้ยเรื่องคอร์รัปชันของตระกูลไบเดนในยูเครนก่อน ประการที่สอง คือการที่ประธานาธิบดีทำการขัดขวางการทำงานเพื่อความยุติธรรม ขัดขวางการทำงานของสภาผู้แทนฯ ในการร้องขอให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ปากคำ ทำเนียบขาวออกคำสั่งห้ามไม่ให้คนเหล่านั้นไปให้ปากคำแก่กรรมาธิการ รวมทั้งยังกีดขวางไม่ยอมให้เปิดเผยเอกสารหลักฐานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายแก่สภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างบริหารกับนิติบัญญัติ

ทั้งสองข้อที่ว่ามาจะเป็นประเด็นใหญ่ที่คณะกรรมาธิการยุติธรรม จะนำไปร่างบทบัญญัติว่าด้วยการถอดถอนขึ้นมา (articles of impeachment) ในนั้นจะระบุว่าประธานาธิบดีกระทำความผิดบกพร่องในข้อใด เรื่องอะไร และนำไปสู่การละเมิดหลักการในรัฐธรรมนูญข้อไหน กระบวนการนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมันจะเป็นพื้นฐานให้แก่การพิจารณาถอดถอนโดยวุฒิสภาต่อไป

คณะกรรมาธิการยุติธรรมจะเปิดการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 4 ธันวาคม รูปแบบจะคล้ายกับของคณะกรรมาธิการข่าวกรอง คือมีพยานมาให้การในประเด็นที่ว่า ความผิดอะไรอย่างไรถึงจะเข้าข่ายการกระทำที่อาจถูกถอดถอนได้ คราวนี้พยานที่จะมาให้การได้แก่นักวิชาการด้านกฎหมายและศาสตราจารย์กฎหมายในมหาวิทยาลัยดังๆ ของอเมริกา ได้แก่ Pamela Karlan แห่งโรงเรียนกฎหมายมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด Noah Feldman จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Michael Gerhardt แห่งโรงเรียนกฎหมาย มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลน่า สุดท้ายคือ Jonathan Turley แห่งโรงเรียนกฎหมาย มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้อาจารย์กฎหมายมาอภิปรายกัน เพื่อหาข้อสรุปว่าพฤติการณ์และการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของทรัมป์นั้นเข้าข่ายการทำความผิดละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ สังเกตว่าประเด็นไม่ใช่แค่การทำความผิดทางอาญา แต่ที่ใหญ่และเป็นนามธรรมเพราะมันเป็นการกระทำทางการเมือง และความผิดในการละเมิดรัฐธรรมนูญก็เป็นความผิดทางการเมือง ทั้งหมดนี้ทำให้มีคนเรียกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกาว่า ‘การปะทะกันทางรัฐธรรมนูญ’ (the constitutional clash)

นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ตอนที่บิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ ร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่ทันได้เห็นการทำงานของประธานาธิบดีในอำนาจรัฐแบบใหม่ ก็รีบเขียนมาตราว่าด้วยการถอดถอนประธานาธิบดีออกมาเสียก่อน ทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่มีมาตรการและวิธีการในการถอดถอนผู้มีอำนาจรัฐอย่างศิวิไลซ์ สันติ และสงบ เพราะถ้าเป็นระบบปกครองฟิวดัล การถอดประมุขแบบจารีตคือการประหารชีวิต หรือใช้กำลังเข้าโค่นล้มรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามด้วยการทำการปฏิวัติรัฐประหาร

ถึงเวลาหรือยังที่รัฐธรรมนูญไทยควรมีมาตราว่าด้วยการถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างศิวิไลซ์กันเสียที

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save