fbpx

รัฐบาลใหม่ของไทยในวิกฤตพม่า, ทุกอย่างจะเหมือนเดิม?

“รัฐบาลจะสร้างบทบาทในเวทีโลก ให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ อย่างสมดุล ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และรักษาบทบาทนำของประเทศไทยในภูมิภาคและอนุภูมิภาค รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ องค์กรทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงของประเทศไทย”

ข้อความข้างต้นปรากฏอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ซึ่งก็เหมือนกับรัฐบาลอื่นๆ ทั่วไปที่นิยมระบุแนวนโยบายในกรอบกว้างๆ มากกว่าจะเฉพาะเจาะจงลงไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เห็นว่าสำคัญ

ดังนั้นหากจะค้นหานโยบายของรัฐบาลเศรษฐาต่อวิกฤตการณ์พม่าซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านก็คงจะตีความเอาว่า รัฐบาลใหม่ของไทยต้องการเพียงแค่กระชับความสัมพันธ์ที่มีต่อกันโดยที่ต้องการรักษาบทบาทนำของประเทศไทยทั้งในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค

ถ้าจะอาศัยมาตรฐานของรัฐบาลภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหารพม่าประเทศไทยคงจะไม่สามารถรักษาบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศได้ไม่ว่าระดับใด เพราะความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหารที่ไม่เป็นที่ต้อนรับในเวทีโลกย่อมมาซึ่งความตกต่ำของบทบาทระหว่างประเทศของไทย

บทความนี้ต้องการที่จะโต้แย้งว่า ถ้ารัฐบาลเศรษฐายังดำเนินนโยบายต่อวิกฤตการณ์พม่าในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนมากนัก จะทำให้ไม่มีโอกาสที่จะแสดงบทบาทนำในระดับภูมิภาคหรืออนุภูมิภาคได้ และในความเป็นจริงรัฐบาลใหม่มีองค์ประกอบของรัฐบาลเก่าอยู่ค่อนข้างมาก อีกทั้งไม่มีความเข้มแข็งมากพอจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้านโยบายของไทยต่อพม่าได้ จึงไม่น่าจะสร้างความโดดเด่นถึงขนาดจะมีบทบาทนำอะไรได้

กับดักของภาระแห่งความใกล้ชิด

ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ พูดถึงปัญหาวิกฤตการณ์ในพม่าชัดเจนที่สุดหลังการรับตำแหน่งเพียงครั้งเดียว คือเมื่อมีการพบปะกับสื่อมวลชนประจำกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 15 กันยายน ว่าประเทศไทยและพม่าถือเป็นมิตรประเทศกัน โดยสถานการณ์พม่าถือเป็นกิจการภายในประเทศที่ควรได้รับการแก้ไขตามกระบวนการกฎหมายของพม่าและตามกลไกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ประเทศไทยจะยึดถือการแก้ไขวิกฤตการณ์การเมืองพม่าตามฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียน

รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่ไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2021 เช่นปัญหายาเสพติด การลักลอบข้ามแดน ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่สองรัฐบาลจะต้องคุยกัน ปัญหาภายในของพม่ารวมทั้งปัญหาความขัดแย้ง กระบวนการทางประชาธิปไตย รวมไปถึงกรณีเกี่ยวข้องกับอองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลของพรรคสันติบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่พม่าต้องบริหารจัดการเอง โดยที่ไทยจะเข้าไปหารือกับอาเซียนเพื่อช่วยให้เกิดสันติภาพในพม่า

พิเคราะห์โดยคำพูดเช่นนี้จะพบว่าโดยเนื้อหาสาระแล้ว นโยบายต่อพม่าของรัฐบาลใหม่ของไทยไม่มีความแตกต่างจากชุดก่อนอย่างมีนัยสำคัญ เพราะยังให้ยึดมั่นกับหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน มองปัญหาการรัฐประหาร ความขัดแย้งซึ่งบัดนี้ได้ขยายตัวเป็นสงครามกลางเมืองไปแล้วว่าเป็นปัญหาภายในที่สามารถจัดการได้ตามกรอบกฎหมายของพม่าเอง และจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงตามแนวชายแดนเป็นลำดับต้นๆ แต่ก็เป็นการมองปัญหาอย่างแยกส่วน ทั้งที่ปัญหาทั้งหมดในพม่านั้นเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

ที่จะแตกต่างกันบ้างดูเหมือนจะเป็นเรื่องท่าทีต่อกลุ่มอาเซียน ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของไทยสัญญาว่าจะยึดมั่นตามแนวทางฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียน และถ้าหากมีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อกับรัฐบาลทหารพม่าอาจจะด้วยเรื่องปัญหาระดับทวิภาคีหรือประเด็นอันเกี่ยวเนื่องกับระดับภูมิภาคก็จะปรึกษาหารือกับอาเซียนก่อน จะไม่ดำเนินการเสมือนหนึ่งเป็นการสร้างเวทีเพื่อแสดงบทบาทแยกต่างหากจากอาเซียนเหมือนอย่างที่รัฐบาลก่อนเคยทำ

อันที่จริงถ้าจะว่าท่าทีต่ออาเซียนแตกต่างกับรัฐบาลก่อนก็คงจะไม่สามารถพูดได้เต็มปากนัก เพราะมองอย่างเป็นธรรม การจัดประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการของประเทศที่มีชายแดนติดกับพม่าหลายครั้งหลายคราระหว่างเดือนธันวาคม 2022 และเดือนมิถุนายนปีนี้ รวมถึงการประชุมที่เรียกว่า การเสวนา Track 1.5 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นั้นบอกกล่าวและเชิญผู้แทนของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยตลอด เพียงแต่ว่าสมาชิกจำนวนหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งประธานอาเซียนในปีนี้ คืออินโดนีเซีย และชาติสมาชิกที่มีท่าทีแข็งกร้างต่อพม่าอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมและวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

คำถามที่รัฐบาลใหม่ของไทยยังตอบไม่ชัดเจนคือ จะสืบต่อการประชุมซึ่งดูเหมือนกลายเป็นเวทีคู่ขนานของอาเซียนไปแล้วต่อไปอีกหรือไม่ และการตัดสินใจทางใดทางหนึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อฐานะในเวทีระหว่างประเทศและความสัมพันธ์กับมิตรประเทศในอาเซียนไม่น้อย และที่สำคัญดูเหมือนว่ารัฐบาลใหม่ของไทยจะไม่ได้มีเสรีภาพในการดำเนินนโยบายต่อพม่ามากมายนักด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรก พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลมีสภาพเสมือนตกอยู่ในวงล้อมของพันธมิตรทางอำนาจกลุ่มเก่า อย่างน้อยที่สุดพรรคการเมืองสองพรรคที่ได้ชื่อว่าเป็นฉากหน้าและตัวของทหารคือพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตั้งขึ้นมาโดยนักการเมืองที่ภักดีกับประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐของประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยังมีอิทธิพลอยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แม้ว่าจำนวนที่นั่งในสภาจะรวมกันได้เพียงครึ่งหนึ่งของพรรคแกนนำอย่างเพื่อไทยก็ตาม แต่ก็ยังมีพันธมิตรในวุฒิสมาชิกเกือบจะทั้งหมดรวมตลอดถึงกองทัพ

ประการที่สอง รัฐบาลไม่มีนโยบายและบุคลากรทางด้านความมั่นคงที่เข้มแข็งเพียงพอจะต้านทานอิทธิพลและอำนาจของกองทัพได้ อย่าว่าแต่จะกำหนดทิศทางเรื่องความมั่นคงเลย สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม เป็นตัวเลือกที่แสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยสยบยอมต่ออำนาจของกองทัพอย่างศิโรราบ เขาได้รับเลือกให้นั่งตำแหน่งที่เขาไม่มีพื้นฐานและความสนใจมาก่อนเพื่อให้กลายเป็นลูกไล่ของผู้นำเหล่าทัพที่นั่งคอยกำกับทิศทางความมั่นคงของประเทศในสภากลาโหม เลขานุการและที่ปรึกษาของรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนคือณัฐพล นาคพาณิชย์ และ สมศักดิ์ รุ่งสิตา นั้นคืออดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นคนโปรดของประยุทธ์ทั้งคู่ รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการ แต่มีพลอากาศเอก สุรพล พุทธมนต์ อดีตนายทหารราชองค์รักษ์พิเศษ เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี

ประการที่สาม แม้ว่าจะมีแนวโน้มว่าพลเรือนมีโอกาสจะได้รับตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่ในบรรดาผู้ที่เป็นแคนดิเดตจะได้ขึ้นสู่ตำแหน่งนี้นั้นล้วนเคยทำงานภายใต้การนำของทหารมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษหลังจากการรัฐประหารในปี 2014 ประยุทธ์ เลือกนายทหารคนโปรดของเขาให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเรื่อยมา จึงเป็นไปได้ยากที่เลขาธิการคนใหม่ที่แม้จะเป็นพลเรือนจะสามารถคิดนโยบายที่ออกนอกขนบของความมั่นคงแบบทหาร

เมื่อพิจารณาด้วยเหตุและปัจจัยดังกล่าวแล้ว เชื่อมั่นว่าความมั่นคงตามแนวชายแดนเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่ติดกับพม่าจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลในแนวทางเดิมโดยที่มีกองทัพเป็นคนกำหนด นั่นหมายความว่าจะมีการผ่อนปรนให้กับการปฏิบัติการของตัดมาดอว์ในการไล่ล่าฝ่ายต่อต้านเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในขณะที่จะเคร่งครัดอย่างยิ่งกับฝ่ายต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ กองกำลังพิทักษ์ประชาชนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือผู้อพยพหนีภัยสงครามจากพม่า

รัฐบาลมีโอกาสที่จะปล่อยให้กองทัพไทยกระชับความสัมพันธ์กับตัดมาดอว์ให้แนบแน่นและในบางกรณีอาจจะถึงขั้นให้ความร่วมมือในการกดดันฝ่ายต่อต้านที่อยู่ใกล้ชายแดนไทย อย่างน้อยที่สุดจะคอยเข้มงวดกับการส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจากฝั่งไทยไม่ให้หลุดลอดไปถึงมือฝ่ายต่อต้านหรือกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ แม้รัฐมนตรีต่างประเทศปานปรีย์จะบอกว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาและยินดีที่จะช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ชาวพม่าที่ประสบกับปัญหาจากการสู้รบและภัยธรรมชาติก็ตาม แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือกองทัพไทยมักไม่สู้จะอำนวยความสะดวกให้การส่งมอบความช่วยเหลือผ่านชายแดนไทยเท่าใดนัก ด้วยเกรงว่าสิ่งของเหล่านั้นจะตกไปถึงฝ่ายต่อต้านและทำให้ตัดมาดอว์ไม่พอใจจนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพต่อกองทัพด้วยกัน

ในกรอบอาเซียน?

การดำเนินนโยบายของไทยในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ต่อกรณีวิกฤตการณ์ในพม่านับแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 นั้นจัดได้ว่า ‘หลุดกรอบอาเซียน’ ไปไกลมากทีเดียว จนอาจจะเป็นการยากสำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะดึงให้การดำเนินการต่างๆ กลับเข้ามาอยู่ในกรอบเดิมได้

ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจว่ากลุ่มอาเซียนไม่ได้มีเอกภาพในการรับมือกับปัญหาวิกฤตพม่าตั้งแต่ต้น โดยอาจจะแยกแยะท่าทีของประเทศสมาชิกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ด้วยกันคือ

1. กลุ่มประเทศที่ปฏิเสธการรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย และมีท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐบาลทหารมาโดยตลอด ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เฉพาะอย่างยิ่ง อินโดนีเซียซึ่งปัจจุบันกำลังรับหน้าที่ประธานกลุ่มอาเซียน ได้ผลักดันให้มีการกดดันพม่าในหลายมิติตั้งแต่วันแรกๆ ที่มิน อ่อง หล่ายยึดอำนาจ เริ่มจากผลักดันให้บรูไนซึ่งเป็นประธานในปีนั้นออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศ วิ่งเต้นพบปะผู้นำประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกกลุ่มอาเซียน เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหา รวมถึงผลักดันมาตรการลงโทษ ห้ามผู้นำทางการเมืองของรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมประชุมรายการสำคัญได้แก่ การประชุมสุดยอดและการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจและแกนกลางของการขับเคลื่อนอาเซียน ประเทศในกลุ่มนี้อีกเช่นกันที่กดดันให้พม่าต้องสละตำแหน่งประธานอาเซียนที่ถึงคิวในปี 2026 ส่วนมาเลเซียนั้นเคลื่อนไหวติดต่อประสานกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์มาโดยตลอด เพื่อหวังจะดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ตามฉันทมติ 5 ข้อ

2. กลุ่มที่ยืนยันหลักการเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในและแสดงความเป็นมิตรรัฐบาลทหารพม่ามาโดยตลอด นำโดยไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ประเทศสมาชิกอาเซียนในกลุ่มนี้ต้องการที่จะดึงให้ผู้แทนรัฐบาลทหารพม่าเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมสำคัญของอาเซียนอีกครั้ง และปฏิเสธที่จะติดต่อกับฝ่ายต่อต้านอย่างเปิดเผย รวมทั้งเป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างเวทีใหม่ให้กับรัฐบาลทหารพม่ามาโดยตลอด การริเริ่มจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงกลางปีนี้ ส่งผู้แทนและนักการทูตทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารไปเยือนเนปิดอว์ พบปะหารือกับมิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลทหารราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ความไร้เอกภาพเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินนโยบายเกี่ยวกับพม่าเป็นไปด้วยความยากลำบากหรืออาจจะกล่าวได้ว่า ไม่ได้ผลเอาเสียเลย ฉันทมติ 5 ข้อซึ่งรวมถึงการให้ยุติความรุนแรงในทันที ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาโดยสันติ ให้ผู้แทนพิเศษอาเซียนเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกในการพูดคุย ให้การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ไม่เคยได้รับการปฏิบัติให้ได้ผลจริงจังเลยสักข้อเดียว ที่ประชุมผู้นำอาเซียนต้องทำการทบทวนกันทุกปี ครั้งล่าสุดคือระหว่างมีการประชุมสุดยอดที่กรุงจาการ์ตาเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาออกมาตรการหลายอย่างเพิ่มเติมเพื่อกดดันรัฐบาลทหารพม่า

หนึ่งในมาตรการที่นอกเหนือไปจากขอให้พม่ายอมเลื่อนการเป็นประธานอาเซียนตามวงรอบออกไปก่อนคือการตั้งกลไกที่เรียกว่า ทรอยกา (troika) คือองค์ประกอบของประธานอดีต ปัจจุบัน และอนาคตมาเป็นที่ปรึกษาเพื่อหาทางให้การบังคับใช้ฉันทมติ 5 ข้อให้เป็นจริงให้ได้ กลไกทรอยกานี้จะช่วยลดช่องวางและผสานความไร้เอกภาพได้บ้าง กล่าวคือ ลาวในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า จะถูกจำกัดเสรีภาพในการดำเนินการแก้ไขปัญหาในระดับหนึ่ง เพราะประเทศที่จะเข้ามาประกอบกันเป็นทรอยก้านั้นจะมีอินโดนีเซียในฐานะอดีตประธานและมาเลเซียในฐานะประธานถัดไปจะเข้าประกบลาว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีแนวทางในการรับมือวิกฤตพม่าใกล้เคียงกับประเทศอื่นที่อยู่ในแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์เช่นไทย และมีความใกล้ชิดกับพม่าไม่น้อยในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดกันอีกทั้งยังมีระบอบการเมืองในแบบอำนาจนิยมเหมือนกัน

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลใหม่ของไทยดำเนินนโยบายและรับมือวิกฤตพม่าได้ยากลำบากมากขึ้นคือปัญหาในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อันเนื่องมาจากการแข่งขันของมหาอำนาจระดับโลกและระดับภูมิภาค กล่าวให้ชัดเจนคือเกมการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯ รัสเซีย จีน และ อินเดีย ซึ่งมีนโยบายต่อพม่าแตกต่างกันตามผลประโยชน์ของเขาเองเป็นหลัก

สหรัฐฯ เป็นหัวหอกในการดำเนินนโยบายต่อพม่าแบบแข็งกร้าวและรุนแรงด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรลงโทษรัฐบาลทหารพม่าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ได้ประกาศคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อบุคคลและนิติบุคคลที่ส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับตัดมาดอว์ นับเป็นการคว่ำบาตรพม่าเป็นครั้งที่ 19 นับแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2021 การคว่ำบาตรดำเนินไปพร้อมกับการให้ความช่วยเหลือ (ที่ไม่ใช่อาวุธ) ให้กับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งก็รวมถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและองค์กรของกลุ่มชาติพันธุ์ ตาม Burma Act ซึ่งผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

จีนซึ่งมีผลประโยชน์และอิทธิพลในพม่าอย่างมาก ได้กระทำการที่ค่อนข้างจะตรงข้ามกับสหรัฐฯ เพราะไม่เพียงแต่ไม่มีความเห็นหรือไม่แสดงความกดดันอะไรต่อรัฐบาทหารเท่านั้น หากรัฐบาลในกรุงปักกิ่งยังดำเนินการติตต่อสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเป็นปกติราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น อีกทั้งยังส่งอาวุธขายให้กับตัดมาดอว์เพื่อใช้ในการประหัตประหารประชาชนและฝ่ายต่อต้านอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จีนเกี่ยวข้องกับวิกฤตพม่าอย่างกระตือรือร้น เพราะได้ตั้งผู้แทนพิเศษเข้าไปทำงานและพยายามจะอำนวยความสะดวกและเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพระหว่างกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนหนึ่ง (ซึ่งอยู่ในโอวาทของจีน) และตัดมาดอว์ การดำเนินการเช่นนี้แม้อาจจะไม่ช่วยให้เกิดสันติภาพจริงในพม่า แต่อาจจะทำให้รัฐบาลทหารสามารถอ้างความชอบธรรมเพื่อผลทางการเมืองระหว่างประเทศได้ว่ากำลังดำเนินกระบวนการสันติภาพอยู่ และจะทำให้บรรดาฝ่ายต่อต้านที่อยู่นอกวงการเจรจานี้ เช่นรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติถูกโดดเดี่ยว

อินเดียซึ่งมีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ในพม่าไม่น้อย เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความมั่นคงตามแนวชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือและในมหาสมุทรอินเดีย จึงได้ดำเนินนโยบายต่อพม่าในแนวทางที่ใกล้เคียงและแข่งขันกับจีนอยู่ในที อินเดียให้ความร่วมมือกับตัดมาดอว์ในการปราบปรามฝ่ายต่อต้านเพื่อแลกกับความร่วมมือของตัดมาดอว์เพื่อกดดันกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านอินเดีย หรือบางทีก็กลับกัน ซึ่งทำให้สถานการณ์มีความซับซ้อนยากต่อการแก้ไข กองทัพอินเดียพยายามซื้อใจตัดมาดอว์ในลักษณะเดียวกับจีนคือให้การช่วยเหลือทางด้านยุทโธปกรณ์ต่างๆ เช่นกัน

รัสเซียนั้นแม้ว่าจะอยู่ไกลจากพม่า แต่ให้การสนับสนุนทางทหารแก่ตัดมาดอว์อย่างมาก รายงานของสหประชาชาติที่ออกมาเพื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่านับแต่การรัฐประหาร รัสเซียขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ตัดมาดอว์คิดเป็นมูลค่าถึง 406 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ[1] ในนั้นก็รวมถึงเครื่องบินรบแบบต่างๆ เฮลิคอปเตอร์ เครื่องยนต์ไอพ่น และรถยนต์บรรทุก

นอกจากนี้แล้วการดำเนินการของรัฐบาลประยุทธ์ในระยะที่ผ่านมา ด้วยการเอาตัวเองไปผูกพันค่อนข้างใกล้ชิดกับจีน การให้ไมตรีกับรัสเซียในกรณีสงครามยูเครน และที่สำคัญการเชิญดึงเอาทั้งจีนและอินเดียเข้าร่วมเวทีระหว่างประเทศที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปลายปีที่แล้วและช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม ทำให้เรื่องยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

รัฐบาลใหม่น่าจะประสบปัญหายุ่งยากในการตัดสินว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร แม้ที่ผ่านมาประยุทธ์และรัฐมนตรีต่างประเทศของเขา ดอน ปรมัตถ์วินัย จะอ้างแบบไม่รับผิดชอบว่า การประชุมดังกล่าวไม่มีผลผูกพันอะไรกับประเทศไทย แต่เขาก็ละเลยความจริงที่ว่า ทั้งจีนและอินเดีย นั้นมีความคาดหวังว่า การประชุมเช่นว่านั้นจะเป็นเวทีพหุภาคีให้รัฐบาลทหารพม่ามีโอกาสได้ออกมาพบปะกับโลกภายนอกบนต้นทุนของประเทศไทย และน่าจะปรารถนาให้รัฐบาลใหม่ของไทยดำเนินการต่อไปเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง

ประเด็นนี้ทำให้ปานปรีย์กระอักกระอ่วนอย่างมากที่จะตอบคำถามของผู้สื่อข่าวและชุมชนนานาชาติ หากจะดำเนินการต่อคงทำให้สมาชิกอาเซียนจำนวนหนึ่งเฉพาะอย่างยิ่ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ไม่พอใจและประเมินค่ารัฐบาลใหม่แบบเดียวกับรัฐบาลเก่า โอกาสจะฟื้นฟูบทบาททางการทูตของไทยอย่างที่ลั่นวาจาไว้คงจะมีน้อย แต่หากจะโยนเรื่องนี้ทิ้งไปเสีย เขาอาจจะมีความยากลำบากในการอธิบายเรื่องนี้กับกองทัพและพันธมิตรฝ่ายอนุรักษนิยมในประเทศ และที่สำคัญประเทศมหาอำนาจสำคัญในภูมิภาคคือจีนและอินเดีย

ช่องว่างและทางออก

ถึงอย่างนั้นก็ตาม รัฐบาลใหม่ของไทยยังคงมีทางออก โดยที่ยังจะสามารถประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายได้ ด้วยการมุ่งไปที่การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นจุดเด่นของชื่อเสียงระหว่างประเทศของไทยมานาน แต่การดำเนินการในเรื่องนี้จะต้องทำอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายที่จะขยายไปสู่การแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าของมัน ไม่ใช่พูดแต่เพียงว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลเห็นด้วยและได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกรัฐบาล เพราะนั่นขัดความความเป็นจริงที่ว่ารัฐบาลชุดที่แล้วและกองทัพไทยไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับชุมชนนานาชาติหรือแม้แต่กลุ่มอาเซียนในการกระจายความช่วยเหลือเช่นว่านั้นให้ไปถึงมือผู้ที่ต้องการมันจริงและไม่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพหนีภัยอย่างเพียงพอ

ไม่ว่าจะเรียกสิ่งนั้นว่า ระเบียงแห่งมนุษยธรรม (humanitarian corridor) หรือ เขตปลอดภัย (safe zone) หรือ อย่างอื่นใดตามที่มีผู้เสนอขึ้นมามากมาย รัฐบาลใหม่ของไทยสามารถที่จะชูประเด็นนี้เป็นหลักในการดำเนินนโยบายต่อพม่า โดยการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญของชุมชนนานาชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาเซียนซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในห้าของฉันทมติที่จะต้องดำเนินการให้บรรลุให้จงได้ การมีส่วนร่วมเช่นว่านั้นและความโปร่งใสในการดำเนินการเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถกู้ชื่อเสียงระหว่างประเทศและสามารถลดความหวาดระแวงของฝ่ายต่างๆ ได้

การทูตในเชิงมนุษยธรรมเช่นนี้จะเป็นบันไดขั้นแรกไปสู่การแสวงบทบาทที่มากขึ้นในการสร้างกระบวนการสันติภาพในพม่า เพื่อในที่สุดจะต้องพิจารณาว่า กระบวนการประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่สามารถปล่อยให้เป็นเรื่องภายในของพม่าหรือให้อยู่ในกำมือของตัดมาดอว์แต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะคนส่วนใหญ่ในโลกนี้รู้แล้วว่า กองทัพพม่าไม่มีทางจะพาประเทศไปในทิศทางนั้น


[1] Human Rights Council 53rd session. The Billion Dollar Death Trade: The International Arms Networks that Enable Human Rights Violation in Myanmar. May 27, 2023 (https://www.ohchr.org/sites/default/files/documents/countries/myanmar/crp-sr-myanmar-2023-05-17.pdf)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save