fbpx
ภาพยนตร์ไทยไม่ต้องห้าม

ภาพยนตร์ไทยไม่ต้องห้าม

แมท ช่างสุพรรณ เรื่อง

 

ปีที่แล้วพี่ที่เคารพนับถือกันคนหนึ่งชักชวนให้ผมดูซีรีส์อเมริกันเรื่อง Succession ทาง HBO GO ซึ่งก็เหมือนทุกครั้งที่พี่คนนี้ชักชวน ผมติดงอมแงม

เนื้อหาของซีรีส์นั้นว่าด้วยการหักหลัง ชิงไหวชิงพริบในเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจและในครอบครัว ลูกวางแผนล้มล้างพ่อแต่ขณะเดียวกันก็ต้องเอาอกเอาใจ การชิงดีชิงเด่นระหว่างพี่น้อง รวมไปถึงบาดแผลในใจ

ระหว่างที่เพลิดเพลินไปกับเรื่องราว ผมก็คิดขึ้นมา (เหมือนใครต่อใครคิดเมื่อได้ดูภาพยนตร์หรือซีรีส์ดีๆ จากต่างประเทศ) ว่าทำไมบ้านเราไม่มีอะไรแบบนี้ให้ดูบ้าง (ลองคิดถึงคำตอบที่เคยหาทดไว้ก่อนนะครับ)

นี่เป็นประเด็นแรก

ปีที่แล้วก็เช่นกัน หนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ของณัฐพล ใจจริง ได้สร้างปรากฏการณ์หลายประการ ทั้งด้านยอดขาย ด้านมุมมองทางประวัติศาสตร์ และด้านวัตรปฏิบัติทางวิชาการ เรียกได้ว่าอ่านรีวิวและความเห็นกันไม่หวาดไม่ไหว

มีสิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างติดใจจากความเห็นของผู้อ่านหลายๆ คน คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้เหมาะกับการนำไปสร้างภาพยนตร์หรือสร้างซีรีส์เพราะเต็มไปด้วยเหลี่ยมเล่ห์เพทุบาย ถ้าจะสร้างได้นะ

ปัญหาของผมคือคำว่า “ถ้าจะสร้างได้นะ” เป็นการบอกไปในตัวอยู่แล้วว่าผู้อ่านคิดว่าสร้างไม่ได้ เพราะอะไร?

นี่เป็นประเด็นที่สอง

ถ้าผมบอกว่าทั้งสองประเด็นนี้เกี่ยวเนื่องกับ ‘ระเบียบรัฐ’ จะเชื่อมั้ยครับ? อย่าเพิ่งรีบเชื่อนะ เพราะผมจะชวนคุณอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ต้องห้าม’ ของภาพยนตร์ไทย

 

Censorship is advertising paid by the government

(Federico Fellini)

 

ก่อนจะเอ่ยถึงหนังสือ ผมอยากถามคุณว่าเคยสงสัยกันมั้ยครับว่าการเซนเซอร์ภาพยนตร์ไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่? เกิดขึ้นกับเรื่องอะไร? ด้วยเหตุผลอะไร? โดยใคร?

คำตอบคือ การเซนเซอร์เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2466 กับภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ (Suvarna of Siam) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถ่ายทำในประเทศไทยโดยชาวต่างประเทศ ผู้ที่ตรวจสอบเนื้อหาและขอให้มีการเซนเซอร์คือคณะกรรมการตรวจสอบภาพยนตร์ของรัฐ ด้วยเหตุผลว่ามีฉากการประหารนักโทษที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอาจสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ภาพลักษณ์ของประเทศ

Thai Cinema Uncensored (2563) โดย Matthew Hunt เปิดฉากด้วยข้อมูลนี้ เหตุผลว่าด้วยการรักษาหน้าจากสายตาของคนมอง ก่อนจะค่อยๆ ไล่เรียงมาตามรอยประวัติศาสตร์ว่ามีเหตุการณ์ต้องห้ามใดเกิดขึ้นบ้างกับการฉายภาพยนตร์ของไทย ที่น่าสนใจคือในช่วงก่อนการมีพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับแรกเมื่อ พ.ศ.2473 สิทธิในอนุญาตให้ฉายหรือห้ามฉายภาพยนตร์นั้นขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของกษัตริย์ด้วย

 

 

จากพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับแรกที่ให้สิทธิในการตีความค่อนข้างกว้างภายใต้จุดประสงค์เรื่องความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี Hunt ได้พาเราสำรวจถึงความเปลี่ยนแปลงของข้อกำหนดที่เกิดขึ้นในรัฐบาลต่างๆ ที่มีความละเอียดมากขึ้น แต่ก็ยังคงเปิดกว้างให้กับการตีความของคณะกรรมการผู้มีอำนาจ เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในการควบคุม คืออิทธิพลของภาพยนตร์จากต่างประเทศและความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ปัญหาทางสังคมถูกนำมาเผยแพร่มากขึ้นโดยผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเอง

การต่อสู้กันระหว่างผู้สร้างและผู้ควบคุมได้นำไปสู่การใช้ระบบเรตติ้งภาพยนตร์เมื่อ พ.ศ.2551 แต่แม้จะมีการปรับใช้ระบบที่เป็นสากลมากขึ้นแล้ว ปัญหาเรื่องวิจารณญาณในการควบคุมยังไม่หมดไป และกลับมาหลอกหลอนทุกครั้งถ้าภาพยนตร์มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของชาติ, ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ตลอดจนการเมืองการปกครองที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การใช้หลักสามประการนี้เป็นมาตรฐานในการพิจารณาภาพยนตร์อย่างเคร่งครัด หลายครั้งได้นำไปสู่เรื่องเหลือเชื่อแบบไทยๆ เช่น การให้เหตุผลว่าเราไม่สามารถยอมรับทุกสิ่งอย่างมืดบอดจากตะวันตก เราต้องปกป้องสังคม ภาพยนตร์ไทยบางเรื่อง เช่น แสงศตวรรษ นั้นดีมาก แต่คนไทยอาจจะยังไม่พร้อมกับมัน (คุ้นจัง ยืมความเห็นนี้มาจากเรื่องประชาธิปไตยของใคร ไหนบอกมา) หรือแม้แต่ “ไม่มีใครอยากไปดูหนังของอภิชาติพงศ์หรอก คนไทยอยากดูหนังตลก พวกเราชอบเสียงหัวเราะ” ของลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการกลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในขณะนั้น

 

What is Thainess?

 วิธีการให้คำจำกัดความถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดีที่สุดอีกวิธีคือการอ่านผ่านสิ่งที่เขาบอกว่าไม่ใช่

(ปฐม วัฒนประพันธ์)

 

จากความเป็นไทย (Thainess) ที่วางอยู่บนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (ไม่มีรัฐธรรมนูญและประชาชน น่าเศร้าเสียจริง) Hunt ได้นำเสนอการปะทะกันระหว่างภาพยนตร์กับมโนทัศน์เรื่องคนดีและ/หรือความดีผ่านหัวข้อแยกย่อยที่มักเป็นปัญหากับการเซนเซอร์อย่างเรื่องเพศ รวมไปถึงพฤติกรรมรายรอบ, กองทัพ, สถาบันกษัตริย์, การใช้อุปลักษณ์พูดถึงสิ่งที่ต้อง(ห้าม)พูด ทั้งที่บางครั้งไม่มีอะไรอ่อนไหวขนาดนั้นเลย และเรื่องของศาสนาที่มีศาสนาพุทธเป็นประเด็นหลัก

แกนหลักที่เป็นปัญหาหรือสิ่งที่ไม่เข้ากรอบความเป็นไทยเหล่านี้คือความหลากหลาย ความหลากหลายทางรูปแบบและทางความคิดที่กฎเกณฑ์แบบเก่าไม่สามารถควบคุมหรือคิดซับซ้อนไปไม่ถึง หรือคิดไปถึง แต่ต้องการปิดกั้นเพื่อป้องกันการก่อกวนที่อาจเกิดขึ้นกับระเบียบเก่า ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างไว้บางเรื่อง เช่น  การเซนเซอร์ฉากพระเล่นกีตาร์และฉากหมอจูบกับหญิงคู่รักในแสงศตวรรษ (อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล, 2549), ฉากร่วมเพศที่เห็นอวัยวะเพศเพียงไม่กี่เสี้ยววินาทีใน Insects in the Backyard (ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, 2553), ฉากซ่อนปืนไว้ในบาตรของมือปืนที่ปลอมเป็นพระในฝนตกขึ้นฟ้า (เป็นเอก รัตนเรือง, 2554) และฉากพระเกาะโลงศพแฟนเก่าร้องไห้ในไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 (สุรศักดิ์ ป้องศร, 2561)

ข้อมูลเหล่านี้ที่ Hunt รวบรวมไว้แสดงให้เห็นถึงมิติความเป็นไทยที่แตกต่างระหว่างความหมายที่ตายตัวกับความหมายที่เลื่อนไหล แต่ทั้งหมดยังเป็นเรื่องที่พูดตรงๆ ได้เมื่อเทียบกับเรื่องของการเมืองที่ทำได้เพียงการใช้อุปลักษณ์ หรือให้แต่ความหมายที่ดีในกรณีที่อยากเข้าฉาย (ถ้ายกตัวอย่างหัวข้อนี้ด้วย อาจต้องเขียนบทความขึ้นมาใหม่อีกบท เอาเป็นว่าอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดรอยเปื้อน หรือความสงสัยเกี่ยวข้องกับสถาบันที่ธำรงระเบียบอย่างตำรวจ, ทหาร ไปจนถึงสถาบันกษัตริย์จะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการพูดถึงไปอีกอย่างน้อยหนึ่งระดับ แต่ภาพนักการเมืองชั่วแทบจะไม่มีปัญหาเลยนะ แปลกใจมั้ย ไม่ต้องเกรงใจ ไม่แปลกหรอกที่จะไม่แปลกใจ) สำหรับผู้ที่สนใจหัวข้อนี้ บทที่ 3 ชื่อ The Untouchables: Films and Politics ซึ่งเป็นบทที่ยาวที่สุดในหนังสือ ได้ให้ภาพของการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเมืองการปกครองร่วมสมัยผ่านภาพยนตร์ได้อย่างค่อนข้างครบถ้วน

 

I would travel down to hell and wrestle film away from the devil if it necessary.

(Werner Herzog)

 

เมื่อการเซนเซอร์คือเครื่องมือของการห้ามปรามและตัดสินด้วยกฎเกณฑ์ที่ไม่มีมาตรฐานชัดเจนให้วางใจ สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการต่อสู้เพื่อยืนยันการแสดงออก Thai Cinema Uncensored เปิดเผยให้เห็นถึงวิธีการที่ทำให้ผลผลิตทางความคิดเหล่านี้เผยแพร่ออกมาได้ ทั้งวิธีการของเทคนิคทางภาพยนตร์และการเล่าเรื่อง สัญลักษณ์และอุปลักษณ์ต่างๆ ที่แยบยลและพุ่งชนซื่อๆ ได้ขยับขอบเขตของการแย่งชิงพื้นที่ออกไป และบางครั้งการเซนเซอร์เองก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับการแสดงออกของภาพยนตร์มากขึ้น เป็นเอก รัตนเรือง ได้ให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ไว้อย่างเจ็บแสบว่า “ทุกครั้งที่พวกเขาพยายามจะเซนเซอร์ พวกเขาหาเรื่องใส่ตัว”

สิ่งที่ทำให้ Thai Cinema Uncensored แข็งแรงขึ้นในการนำเสนอเรื่องของการเซนเซอร์ในภาพยนตร์ไทย นอกจากข้อมูลที่อัปเดตมากๆ (ถ้าไม่ติดตามวงการภาพยนตร์อย่างใกล้ชิดจะพบว่ามีหลายชื่อที่คุณไม่คุ้นเลย) คือการแสดงให้เห็นถึงการดิ้นรนต่อสู้ของผู้กำกับภาพยนตร์ 10 คนที่ประสบปัญหาอย่างมากกับการเซนเซอร์ผ่านบทสัมภาษณ์ทั้งแบบเจอตัวและทางอีเมล์ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของระบบเซนเซอร์อย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังได้เห็นแง่มุมที่ต้องอิงกับเรื่องธุรกิจ (ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเป็นแต้มต่อสำคัญเสมอ) รวมไปถึงการพูดถึงมือที่ต้องแกล้งทำเป็นว่ามองไม่เห็นซึ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ

ผู้กำกับแต่ละคนมีทางเลือกต่างกันไป บางคนยอมแก้ไขเพื่อให้ได้ฉาย บางคนเลือกไม่ฉายในประเทศไทย บางคนเลือกต่อสู้ในชั้นศาล และบางคนเลือกไม่ฉายมันออกมาที่ไหนเลย วิธีการทั้งหมดนี้คือมิติที่ลดหลั่นกันไปในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้จากบทสัมภาษณ์เองก็ดูเหมือนจะมีปัญหา เพราะถึงจุดหนึ่งดูเหมือนว่า Hunt เองไม่สามารถจัดการกับมิติของข้อมูลให้เป็นระบบได้ดีนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสิ่งที่ต้องการนำเสนอเป็นหลักคือภาพกว้างโดยใช้หลักฐานจากเหตุการณ์และบทสัมภาษณ์เป็นจุดกำกับภาพ ข้อมูลจากประเด็นใกล้เคียงที่ถูกนำมาใช้ในการร้อยเรื่องราวจึงเกี่ยวเนื่องกันไปมาจนทำให้มีลักษณะของการนำเสนอเรื่องเดิมซ้ำ บางครั้งผมจึงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าพลังนั้นถูกลดทอนลงไป

ความสำคัญอีกอย่างที่ส่งผลต่อเนื้อหาของบทสัมภาษณ์อย่างไม่พูดถึงไม่ได้ คือการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ของอานนท์ นำภา เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (หนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่ายในเดือนตุลาคม แต่เรื่องราวในหนังสือยังนำเสนอไปไม่ถึงช่วงนั้น) เพราะการทำลายเพดานการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาถึงสถาบันกษัตริย์ได้ทำให้ทัศนคติในช่วงเวลาที่ต้องพูดอย่างเจียมความคิดและการแสดงออกของผู้กำกับภาพยนตร์เหล่านั้นกลายเป็นตัวเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญต่อทั้งตัวเองและผู้อื่นในแวดวงศิลปะท่ามกลางยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงกำลังดิ้นรนเพื่อรุดไปข้างหน้า

 

Do you ever think that if you attack an artist long enough you will succeed in having him censor himself?

(Sir Kenneth Branagh – Peter McGowan)

 

ผมไม่รู้ว่าถึงตอนนี้คุณยังจำคำตอบที่ผมบอกให้ทดไว้ตั้งแต่ตอนที่เราเพิ่งพบกันได้มั้ย สำหรับผม สิ่งที่เป็นอุปสรรคให้เราไม่มีภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่เราคิดว่าน่าดู คือรูปแบบการปกครองแบบลำดับในแนวดิ่ง การตั้งคำถามแบบแนวราบจะทำให้เกิดความโกลาหล อะไรก็ตามที่นำมาซึ่งการต่อต้านจะถูกทำให้เป็นสิ่งแปลกแยก กลายเป็นอาการป่วยไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมรวมฝูง

เราจะไม่คิดล้มล้างเพราะกับดักของคำว่าบุญคุณ เราจะละเลยเรื่องบาดแผลเพราะเรามียาดีชื่อให้อภัย ถึงจะมีตัวอย่างจากที่อื่นให้เห็น แต่เราเป็นเราที่มีความปรองดองสามัคคี ความเชื่อแบบนี้ทำให้สิ่งที่ก่อให้เกิดความแตกต่างทางความคิดไม่ได้รับการสนับสนุน และเมื่อนานไป มันจะสะสมจนกลายเป็นความเชื่อที่ว่าความเป็นอื่นคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือถ้าคุณยังดื้อดึง คุณจะถูกกำราบด้วยมาตรการที่รุนแรงขึ้น ถ้าคุณอยากอยู่อย่างปลอดภัย คุณต้องรู้จักห่อและหดตัวให้กลายเป็นนิสัย เป็นนิสัยที่สุดท้ายจะกลายเป็นจิตใต้สำนึกให้คุณห้ามปรามตัวเองโดยไม่รู้ตัว

 

“ถ้าจะสร้างได้นะ”

At the Gate

 

ตรงกำแพงที่มีการไหลบ่าเข้ามาของเหตุผลจากคนภายนอก ผู้ที่คุมอำนาจกำลังทำทุกอย่างเพื่อปกป้องประตูเมืองไม่ให้แตกออก ทั้งที่เพลี่ยงพล้ำ พวกเขาก็ยังคงปิดบังไม่ให้คนในเมืองรับรู้เรื่องราว ยอมแม้กระทั่งฆ่าพวกเดียวกันเองที่ส่งข่าวหรือพูดถึงความจริงทิ้ง แต่พวกเขาเรียกพวกคนที่อยู่นอกกำแพงว่าคนเถื่อน

 

หมายเหตุ

รายชื่อผู้กำกับภาพยนตร์ทั้ง 10 คนในบทสัมภาษณ์ได้แก่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, เป็นเอก รัตนเรือง, ธัญสก พันสิทธิวรกุล, นนทวัฒน์ นำเบญจพล, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, สุรศักดิ์ ป้องศร, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, ขนิษฐา ขวัญอยู่, อิ๋ง กาญจนะวณิชย์ และยุทธเลิศ สิปปภาค

Matthew Hunt เป็นชาวอังกฤษที่ย้ายมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ.2547 เขามีข้อเขียนที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับสังคมไทยและศิลปวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Dateline Bangkok

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save