fbpx

Sulu VS Malaysia – หัวจะปวดเมื่อประวัติศาสตร์ตามทวงหนี้

กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีกรณีประหลาดเกิดขึ้นในวงการอนุญาโตตุลาการระดับโลก เมื่อบริษัทน้ำมัน 2 บริษัทในประเทศอาเซอร์ไบจาน ได้แก่ เปโตรนาส อาเซอร์ไบจาน (Petronas Azerbaijan หรือ Shah Deniz) กับเปโตรนาส เซาธ์ คอเคซุส (Petronas South Caucasus) ถูกยึดอย่างไม่คาดฝัน สร้างความตะลึงพรึงเพริดโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อรัฐบาลมาเลเซีย เนื่องจาก 2 บริษัทดังกล่าวคือบริษัทลูกของ ‘เปโตรนาส’ (Petronas) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัฐบาลมาเลเซียและหนึ่งในบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

เหตุเกิดหลังจากที่ศาลอนุญาโตตุลาการในฝรั่งเศสตัดสินในเดือนกุมภาพันธ์ ให้มาเลเซียต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวน 14,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 530,000 ล้านบาท ให้ทายาทของสุลต่านแห่งซูลู (Sulu) จำนวน 8 ราย เนื่องจาก ‘ขาดส่ง’ ค่าตอบแทนกรรมสิทธิ์เหนือเกาะซาบาห์ (Sabah) มูลค่าปีละ 5,300 ริงกิตมาเลเซีย หรือราว 42,000 บาท ตามสัญญาที่สุลต่านบรรพบุรุษของพวกตนทำขึ้นกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษตั้งแต่ปี 2421 หรือเมื่อ 144 ปีมาแล้ว

ในปี 2560 ทนายความของกลุ่มซูลู ซึ่งมีผู้นำคือนายมูเอดซุล เลล คีราม (Muedzul Lail Kiram) ผู้อ้างตนเป็นสุลต่านซูลูยุคใหม่ ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองโฮโล (Jolo) ในจังหวัดซูลู ประเทศฟิลิปปินส์ ได้แจ้งไปยังสำนักงานใหญ่ของธนาคาร 9 แห่งในลักเซมเบิร์กซึ่งเป็นประเทศที่บริษัทลูกทั้งสองจดทะเบียนก่อตั้ง ให้การระงับการทำธุรกรรมใดๆ ของบัญชีบริษัททั้งสอง และประกาศว่าหากมาเลเซียไม่ยอมรับการเรียกค่าเสียหายครั้งนี้ จะมีการเข้ายึดทรัพย์สินของบริษัทอื่นๆ ของรัฐมาเลเซีย เหมือนกับกรณีเปโตรนาสต่อไป 

ใครเลยจะไปรู้ว่าอิทธิฤทธิ์ของสัญญาระหว่างสุลต่านในดินแดนด้อยพัฒนากับพ่อค้าชาวตะวันตกจะร้ายแรงจนถึงวันนี้ เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อ พ.ศ. 2421 สุลต่านจามาล อัล อาลาม (Jamal Al Alam) แห่งอาณาจักรซูลู ได้ทำสัญญาฉบับหนึ่งกับบารอน กุสตาฟ เดอ โอเวอร์เบค (Baron Gustav de Overbeck) ชาวเยอรมันที่อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำมาค้าขาย เข้าซื้อที่ดินในแถบรัฐหมู่เกาะในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และนาย อัลเฟรด เด้นท์ (Alfred Dent) ชาวอังกฤษ แห่งบริษัทบริติช นอร์ธ บอร์เนียว (British North Borneo) สัญญาดังกล่าวสร้างความฮือฮาในหมู่เจ้าอาณานิคมยุคนั้นตั้งแต่ยุโรปยาวไปถึงสหรัฐอเมริกา ในแง่ความสำเร็จครั้งใหญ่ในการเป็นเจ้าของแผ่นดินอย่างถาวรและเบ็ดเสร็จ และได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นการโอนสิทธิการครอบครองดินแดนที่สำคัญที่สุดที่บริษัทการค้าได้รับหลังจากยุคบริติช อิสต์ อินเดีย (British East India) เป็นต้นมา

สัญญานี้มีเนื้อหาโดยสรุปอย่างคร่าวว่า สุลต่านจามาลได้มอบอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตนให้คู่สัญญาทั้งสอง โดยทั้งคู่ตลอดจนทายาทในอนาคตจะต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนให้สุลต่านและทายาทของสุลต่านทุกปี ปีละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยสิทธิเหนือเกาะซาบาห์ตามสัญญาไม่มีกำหนดสิ้นสุด และการจ่ายค่าตอบแทนก็ไม่มีกำหนดสิ้นสุดเช่นกัน คือจ่ายไปเรื่อยๆ จนกว่าเกาะซาบาห์จะหายไปจากแผนที่โลก 

เมื่อตอนที่ลงนามในสัญญา ฝ่ายตะวันตกอาจจะรู้อยู่ในใจว่าเกาะขนาด 74,000 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ร่ำรวยด้วยทรัพยากรมหาศาล แต่ก็อาจยังจินตนาการไม่ออกว่า ในอีกร้อยกว่าปีข้างหน้า ซาบาห์จะกลายเป็นแหล่งน้ำมันใหญ่ของประเทศที่ชื่อมาเลเซีย

อาณาจักรซูลูโบราณครอบคลุมหมู่เกาะซูลู ซึ่งปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของเกาะมินดาเนาและปาลาวันของฟิลิปปินส์ ส่วนหนึ่งของเกาะซาบาห์ กาลีมันตันเหนือและตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือของบอร์เนียว ชาวซูลูเป็นนักรบผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ ได้รับการขนานนามว่าเป็นเผ่าโจรสลัดที่ชอบปล้นเรือสินค้าตะวันตก ในช่วงที่อาณาจักรรุ่งเรือง อาณาจักรซูลูจึงมีอำนาจเป็นที่เกรงขามไม่น้อย

คู่สัญญาขอสุลต่านในสัญญาฉบับนี้อย่างกุสตาฟ เดอ โอเวอร์เบค เป็นชาวเยอรมันที่อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา ในยุคของการผจญภัยและการค้าทางทะเล เขาเป็นหนึ่งในนักการค้าตะวันตกที่เดินทางไปยังน่านน้ำต่างๆ ทั่วโลก จนกระทั่งมาทำงานให้กับบริษัทการค้าสัญชาติอังกฤษในฮ่องกงชื่อ Dent & Co ในยุคนั้นบริษัทตะวันตกมักพยายามสะสมความมั่งคั่งจากทรัพยากรธรรมชาติด้วยการครอบครองที่ดินผ่านสัญญาถือครองที่ดินกับผู้นำแว่นแคว้นต่างๆ โอเวอร์เบคและบริษัทของเขาก็เช่นเดียวกัน 

ใน พ.ศ. 2420 เขาเซ็นสัญญากับสุลต่าน อับดุล โมมิน (Abdul Momin) แห่งบรูไน เพื่อเข้าครอบครองที่พื้นที่บอร์เนียวเหนือ แล้วยังได้รับแต่งตั้งเป็นมหาราชาแห่งซาบาห์ (Maharajah of Sabah) และราชาแห่งพื้นที่กายากับซานดากาน (Rajah of Gaya and Sandagan) ไม่นานโอเวอร์เบคก็ร่วมทุนกับพี่น้องตระกูล Dent ตั้งบริษัท Dent & Overbeck Company เพื่อสำรวจทรัพยากรและหาวิธีครอบครองพื้นที่ไปเรื่อยๆ กระทั่งโชคมาถึงเมื่อเขาพบกับสุลต่าน จามาล อัล อาลาม แห่งซูลู สัญญาประวัติศาสตร์ครั้งนี้จึงเกิดขึ้น 

ซาบาห์และบอร์เนียวเหนือกลายเป็นดินแดนในการปกครองของอังกฤษเมื่อบริษัทเอกชนถอนตัวไป และกลายเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียหลังการประกาศเอกราช นับแต่การเซ็นสัญญากับสุลต่านแห่งซูลูในปี 2421 เจ้าอาณานิคมอังกฤษและรัฐบาลมาเลเซีย ไม่เคยพลาดในการจ่ายค่าถือครองที่ดินให้ทายาทหรือผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นทายาทตามกฎหมายของสุลต่านแห่งซูลู กระทั่งเกิดความผิดพลาดในปี 2556 ซึ่งจะเล่าถึงหลังจากนี้ 

ใน พ.ศ. 2479 สุลต่านพระองค์สุดท้ายของซูลูพระนามว่า สุลต่าน จามาล คีราม ที่สอง (Jamalul Kiram II) สิ้นพระชนม์อย่างปราศจากทายาทการจ่ายเงินประจำปีจึงหยุดชั่วคราวจากการพิพาทช่วงชิงสิทธิในกลุ่มผู้อ้างตนเป็นทายาทเอง จนกระทั่งผู้พิพากษา ชาร์ล เอฟ มาคัสกี้ (Charles F Macaskie) หัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงบอร์เนียวเหนือ ใช้คำสั่งศาลแต่งตั้งทายาทซูลูจำนวน 9 คน กระบวนการจ่ายเงินจึงเริ่มต้นใหม่ จากนั้นเมื่ออังกฤษเข้าครองบริติชมลายา (British Malaya) ก็รับไม้เป็นผู้จ่ายค่าที่ดินรายปีให้ทายาทสุลต่านอย่างไม่บิดพลิ้ว

เมื่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษจากไป มาเลเซียก็ประกาศเอกราชใน พ.ศ. 2500 แต่การรวมชาติก็มาหยุดชะงักลงเล็กน้อยจากการเข้ายึดในเวลาสั้นๆ ของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ญี่ปุ่นแพ้สงครามหลังจากนั้นไม่นาน กระบวนการรวมตัวของรัฐใหญ่น้อยจึงเดินหน้าต่อไป โดยที่เกาะซาบาห์ก็ได้เข้าร่วมมีสถานะเป็นรัฐหนึ่งของมาเลเซียใน พ.ศ. 2506 ทายาทซูลูจึงได้รับเงินค่าตอบแทนจากรัฐบาลมาเลเซียต่อไป แต่คราวนี้เปลี่ยนจากดอลลาร์สหรัฐมาเป็นริงกิตมาเลเซีย ซึ่งไม่มีใครโต้แย้งแต่อย่างไร 

ทุกอย่างคงดำเนินไปอย่างราบรื่นเหมือนเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาถ้าไม่เกิดเหตุไม่คาดฝันในปี 2556 ขึ้นเสียก่อน 

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ในสมัยที่ นายนาจิบ ราซัก (Najib Razak) เป็นนายกรัฐมนตรี  กลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธของชาวซูลูประมาณ 200 คน ที่เรียกตัวเองว่า ‘Royal Security Forces of the Sultanate of Sulu and North Borneo’ นั่งเรือเร็วบุกจากเกาะทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์เข้าโจมตีพื้นที่ลาฮัด ดาตู (Lahad Datu) บนแนวชายฝั่งตะวันออกของเกาะซาบาห์ เพื่อเรียกร้องซาบาห์คืนให้ฟิลิปปินส์ กองกำลังมาเลเซียเข้าล้อมพื้นที่เจรจากว่า 1 เดือน กองกำลังจึงถอนตัวไป โดยสมาชิกกองกำลังผู้บุกรุกเสียชีวิต 66 ราย ประชาชนเสียชีวิต 6 ราย และเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียเวียชีวิตอีก 10 ราย

รัฐบาลนาจิบ ราซัก ยุติการจ่ายค่าตอบแทนให้ทายาทซูลูนับแต่นั้น จนกระทั่งทายาทสุลต่านซูลูเปิดฉากเรียกร้องค่าเสียหายผ่านระบบอนุญาโตตุลาการที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนน่าปวดหัวในรูปแบบที่มาเลเซียไม่เคยพบเจอมาก่อน   

กลุ่มทายาทสุลต่านซูลูซึ่งเป็นชนชั้นกลางสัญชาติฟิลิปปินส์ธรรมดาๆ บางคนเป็นผู้เกษียณอายุแล้ว ซึ่งโดยปกติทุกๆ ปี ตัวแทนของกลุ่มจะเดินทางไปรับเงิน 5,000 ริงกิตที่สถานทูตมาเลเซีย ในการดำเนินคดีนี้ พวกเขาคงทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินในการดำเนินคดีจากกองทุนเธอเรียม (Therium) ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อดำเนินคดี (litigation fund) สัญชาติอังกฤษ โดยหนังสือพิมพ์ Financial Times รายงานว่า กองทุนนี้สนับสนุนการฟ้องเรียกค่าเสียหายมาแล้วหลายกรณี โดยทำเงินจากการ ‘ค้าความ’ คือจากส่วนแบ่งค่าเสียหายที่ลูกค้าของตนได้รับ ซึ่งมักจะอยู่ในระดับหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐฯ นับแต่ก่อตั้งในปี 2552 กองทุนเธอเรียมสามารถระดมทุนในการประกอบการได้ถึง 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกรณีซูลู และปัจจุบันก็ปาเข้าไปถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว

กองทุนเธอเรียมใช้สำนักกฎหมายในอังกฤษร้องขอต่อกระทรวงต่างประเทศอังกฤษเพื่อใช้ศาลอนุญาโตตุลาการที่นั่น แต่ถูกปฏิเสธ จึงย้ายไปใช้ศาลสเปน ซึ่งทางศาลได้รับคำร้องแล้วแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคือนาย กอนซาโล สแตมปา (Gonzalo Stampa) มาเลเซียร้องเรียนต่อศาลสเปนว่า สเปนไม่มีอำนาจศาลเหนือมาเลเซีย และอนุญาโตตุลาการก็ไม่มีการแจ้งนัดหมายการไกล่เกลี่ยอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรที่เหมาะสม ศาลสเปนจึงสั่งเพิกถอนคดี ทำให้นายสแตมปาและทนายความฝ่ายซูลูย้ายไปใช้ศาลในฝรั่งเศสแทน 

รัฐบาลมาเลเซียเดินหน้าอุทธรณ์คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการในฝรั่งเศสบนพื้นฐานว่ากรณีดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจศาลนอกประเทศมาเลเซียหากไม่ได้รับความยินยอม ศาลปารีสจึงสั่งระงับการยึดทรัพย์สินเพื่อจ่ายค่าเสียหายต่อกลุ่มทายาทซูลูจนกว่าการอุทธรณ์จะสิ้นสุดลง ในขณะที่ตัวแทนทางกฎหมายของมาเลเซียบอกว่าคำสั่งศาลที่ปารีสครอบคลุมเฉพาะทรัพย์สินของมาเลเซียทั่วโลก แต่ทนายความฝ่ายซูลูอ้างว่า คำตัดสินนี้ครอบคลุมทรัพย์สินมาเลเซียเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น และลูกความของตนมีสิทธิยึดทรัพย์สินรัฐบาลมาเลเซียในประเทศอื่นได้  

การถูกยึดบริษัทลูกของเปโตรนาสนับเป็นโรคซ้ำกรรมซัดของมาเลเซียที่กำลังสั่นคลอนทางการเมืองและเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2561 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอยู่ที่การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลักไม่กี่อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน ที่ได้อานิสงส์จากความต้องการน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นเพราะสงครามยูเครน ในไตรมาสแรกของปีนี้ ผลกำไรก่อนหักภาษีของเปโตรนาสพุ่งสูงถึง 114% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้มาเลเซียไม่เปิดเผยมูลค่าของบริษัทในอาเซอร์ไบจาน 2 บริษัท แต่กรณีที่เกิดขึ้นย่อมสร้างผลสะเทือนไม่มากก็น้อย

ในขณะที่รัฐบาลมาเลเซียวุ่นวายอยู่กับการแก้ปัญหาเรื่องทรัพย์สินถูกยึด ผู้ที่ออกมาสร้างความกระจ่างต่อสาธารณะได้ดีที่สุดคือนายทอมมี โธมัส (Tommy Thomas) อดีตอัยการสูงสุดในรัฐบาลมหาเธร์ โมฮัมหมัด-อันวาร์ อิบราฮิม (Mahathir Mohamad-Anwar Ibrahim) ซึ่งมีส่วนในการแก้ปัญหาในช่วง 19 เดือนของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2561

ทอมมี โธมัส ผู้ได้ชื่อว่าเป็นทนายความที่ปราดเปรื่องระดับหัวกะทิคนหนึ่งของมาเลเซีย ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา รื้อเอาสัญญาปี 2421 มาแจกแจงทีละข้อ แล้วฟันธงว่าคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการฝรั่งเศสที่ให้รัฐบาลมาเลเซียจ่ายค่าเสียหายเป็นเรื่อง “ไม่ชอบธรรม” และพฤติกรรมของอนุญาโตตุลาการสเปนก็เป็นพฤติกรรมที่น่าสงสัย และขัดต่อมาตรฐานระบบอนุญาโตตุลาการสากล

เขาชี้ว่าสัญญาปี 2421 ซึ่งเป็นเอกสารเพียงอย่างเดียวที่ทายาทของสุลต่านซูลูใช้ในการเรียกร้องค่าชดเชย ได้มอบความเป็นเจ้าของและอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนให้คู่สัญญาในยุคนั้น โดยไม่ปรากฏสัญญาในลักษณะนี้เลยในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นการเรียกร้องของทายาทซูลูจึงต้องมองในบริบทของยุคนครรัฐและยุคอาณานิคม ซึ่งเป็นเวลาที่การโอน ‘แผ่นดินของประชาชน’ โดยอาณาจักรหนึ่งหนึ่งให้อีกอาณาจักรหนึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่การตัดสินนำเอาเรื่องในอดีตมาตัดสินทางกฎหมายโดยอนุญาโตตุลาการสมัยใหม่ เป็นเรื่องไม่ปรากฏมาก่อน

เขาอ้างถึงถ้อยคำที่เขียนไว้ในสัญญาซึ่งลงนามในวันที่ 22 มกราคม 2421 ว่ามีการระบุชัดเจนอย่างไม่มีข้อสงสัยว่าสุลต่านแห่งซูลูได้มอบสิทธิและอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมดที่เป็นของตนให้แก่กุสตาฟ บารอน เดอ โอเวอร์เบค จากฮ่องกง และอัลเฟรด เด้นท์ เอสไควร์ แห่งลอนดอน ที่อยู่ในฐานะผู้แทนแทนของบริษัทอังกฤษตลอดไป โดยคู่สัญญาจะจ่ายค่าชดเชยสำหรับสิทธินี้เป็นเงิน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐทุกปี  (“We … Sultan of Sulu … hereby grant and cede of our own free and sovereign will to Gustavus Baron de Overbeck of Hong Kong and Alfred Dent Esquire of London as representatives of a British Company … forever and in perpetuity all the rights and powers belonging to us over all the territories and lands…”)

นอกจากนั้น ต่อมาในปี 2446 สุลต่านแห่งซูลูทรงลงพระนามในเอกสารยืนยันการโอนพื้นที่ (confirmation deed) กับผู้แทนของจักรภพอังกฤษในบอร์เนียวเหนืออีกครั้งหนึ่ง โดยในสัญญาระบุว่าเกาะแก่งที่ไม่ได้รับการระบุชื่อในสัญญาแรกทั้งหมด จะถูกรวมในการโอนนี้ด้วย ในขณะที่ค่าตอบแทนรายปีเพิ่มจาก 5,000 ดอลลาร์ เป็น 5,300 ดอลลาร์

โธมัสชี้ว่า สัญญาดังกล่าวไม่ใช่สัญญาเช่า แต่เป็นการยกดินแดนให้อย่างถาวร  ในขณะที่ค่าตอบแทนที่ต้องจ่าย ก็มีจำนวนที่ระบุไว้อย่างถาวร โดยไม่มีเงื่อนไขในการการปรับขึ้นเช่นเดียวกัน  สิทธิเหนือดินแดนได้รับการยืนยันตามกฎหมายอีกครั้งโดยศาลสูงบอร์เนียวเหนือในปี 2482 ในคำตัดสินกรณีแย่งชิงผลประโยชน์ค่าตอบแทนรายปีระหว่างทายาทซูลูด้วยกันเอง โดยผู้พิพากษาตัดสินว่า สิทธิของทายาทสุลต่านซูลูประการเดียวที่ยังมีอยู่ คือการได้รับค่าตอบแทนรายปี ปีละ 5,300 ดอลลาร์

เขาบอกว่าน่าเสียดายที่หลังยุคอาณานิคม รัฐบาลมาเลเซียยังตกลงจ่ายค่าชดเชยต่อ แทนที่จะโต้แย้งว่าสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องของอาณานิคม และผู้ต้องจ่ายต่อไปคือประเทศอังกฤษไม่ใช่มาเลเซีย ซึ่งสามารถทำได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตามมาเลเซียจ่ายค่าตอบแทนมาเป็นเวลากว่า 50 ปีอย่างต่อเนื่อง

จนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลมาเลเซียยุคนาจิบ ราซัก ไม่เคยชี้แจงต่อสาธารณะว่า เหตุใดจึงระงับการจ่ายค่าตอบแทนให้ทายาทซูลู  สร้างความกังวลให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชน โดยเหตุผลไม่เป็นทางการที่มักใช้กันคือมาเลเซียหยุดจ่ายค่าตอบแทนหลังการบุกของกองกำลังซูลู อย่างไรก็ตาม โธมัสชี้ว่าไม่พบหลักฐานว่าทายาทสุลต่านซูลูมีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อเป็นเช่นนั้น การระงับการจ่ายเงินโดยไม่ให้เหตุผลที่เหมาะสมและไม่ได้มาจากคำสั่งศาล จึงเท่ากับว่ามาเลเซียละเมิดข้อตกลงดังกล่าว ในขณะเดียวกัน ความเสียหายประการเดียวของที่ทายาทซูลูคือการไม่ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 5,300 ริงกิตมาเลเซีย เป็นเวลา 10 ปีนับตั้งแต่ปีที่รัฐบาลหยุดจ่ายมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มากและไม่น้อยกว่านั้น   

ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด โธมัสได้แจ้งไปยังทนายความของทายาทสุลต่านซูลู เสนอว่ามาเลเซียจะจ่ายค่าตอบแทนที่ติดค้างพร้อมทั้งดอกเบี้ยอีก 10% เพื่อชดเชยความเสียหายที่พวกเขาได้รับ พร้อมทั้งหลักประกันว่ารัฐบาลมาเลเซียจะไม่บิดพลิ้วเรื่องการจ่ายเงินรายปีในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทนายความฝ่ายซูลูตอบกลับมาว่า ประเด็นสำคัญคือความไม่เหมาะสมระหว่างค่าตอบแทนรายปีกับมูลค่าแท้จริงของซาบาห์ซึ่งเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะไฮโดรคาร์บอน ส่วนค่าเสียหายที่มาเลเซียเสนอมาถือเป็นการดูหมิ่นลูกความของตน พูดง่ายๆ คือทนายความฝ่ายซูลูเรียกร้องค่าเสียหายให้ลูกความบนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติของเกาะซาบาห์ยุคปัจจุบัน

แต่โธมัสโต้แย้งในแถลงการณ์ว่า การใช้มูลค่าของพื้นที่ในปี 2565 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในเงื่อนไขของสัญญาที่ลงนามเมื่อ 144 ปีที่แล้วเป็นเรื่องไม่ชอบธรรมและขาดความเข้าใจ เนื่องจากหลังการเซ็นสัญญา สุลต่านแห่งซูลูได้พ้นจากความเป็นเจ้าของพื้นที่นับแต่นั้น ทายาทจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยใดๆ บนฐานของมูลค่าของเกาะ หลังจากที่บรรพบุรุษของตนพ้นความเป็นเจ้าของพื้นที่

เขายังตีประเด็นการใช้ศาลในประเทศสเปนในการตัดสินให้มีอนุญาโตตุลาการว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะมาเลเซียไม่อยู่ในอำนาจศาลใดๆ รวมทั้งศาลอนุญาโตตุลาการของสเปน เขาอ้างสัญญาต้นฉบับ พ.ศ. 2421 ที่ระบุว่า ในกรณีเกิดข้อพิพาทให้คู่กรณีดำเนินการผ่านกงสุลใหญ่ของบอร์เนียว ในสัญญานั้นไม่มีการระบุถึงการใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทแต่อย่างไร แม้ว่าในช่วงที่มีการเซ็นสัญญา ระบบอนุญาโตตุลาการได้พัฒนาไปมากแล้ว แต่เนื่องจากกงสุลใหญ่ของอังกฤษประจำบอร์เนียวไม่มีอยู่ในปัจจุบัน การที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษปฏิเสธการร้องขอของผู้แทนฝ่ายทายาทซูลูเพื่อใช้อนุญาโตตุลาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าการใช้อนุญาโตตุลาการในกรณีนี้ทำไม่ได้ ซึ่งหมายความว่า ศาลสเปนและฝรั่งเศสได้กระทำการที่ขัดแย้งต่อกฎหมายและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

มาเลเซียเริ่มต้นสู้คดีด้วยการยื่นฟ้องหัวหน้ากลุ่มทายาทซูลูที่ศาลสูงในซาบาห์ในเดือนธันวาคม 2562 ด้วยข้อกล่าวหาว่าจำเลยใช้วิธีการไม่ชอบธรรมในการแสวงหาอนุญาโตตุลาการ ในเขตอำนาจศาลของประเทศอื่นโดยไม่ได้รับความตกลงจากมาเลเซีย ศาลสูงซาบาห์ตัดสินว่า สัญญาต้นฉบับไม่มีการกล่าวถึงกลไกอนุญาโตตุลาการ มาเลเซียไม่เคยให้สิทธิแก่ศาลสเปนใช้อำนาจศาลแทนตนในการนี้ ในขณะที่ผู้เรียกร้องค่าเสียหายมีพฤติกรรมแสวงหาพื้นที่ไกล่เกลี่ยที่ตนต้องการ และศาลในซาบาห์เท่านั้นเป็นศาลที่เหมาะสมในกรณีนี้

ในประเด็นการใช้ระบบอนุญาโตตุลาการในการตัดสินเรื่องนี้ โธมัสกล่าวว่า ในขณะที่ประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถบังคับใช้กฎหมายทั่วไปของตนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมของคู่กรณี แต่การไกล่เกลี่ยรวมทั้งการใช้อนุญาโตตุลาการ จำเป็นต้องมีข้อตกลงจากทั้งสองฝ่ายล่วงหน้า ซึ่งในกรณีซูลูไม่มีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร จึงถือว่าไม่สามารถทำได้

โธมัสยังอ้างหลักอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐในทางการศาล ว่ารัฐหรือประเทศใดๆ มีสิทธิในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับตนเองในศาลของตน นอกจากนั้นสัญญาปี 2421 ก็ระบุชัดเจนว่าให้กงสุลใหญ่ในบอร์เนียวเป็นผู้จัดการปัญหาข้อพิพาท  เหตุผลนี้เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะปฏิเสธอำนาจศาลสเปนในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ ซึ่งตัดสินให้มาเลเซียจ่ายเงินค่าชดใช้จำนวนมหาศาล โดยถือว่าเป็นการทำผิดสัญญาปี 2421 ซึ่งไม่มีระบบกฎหมายใดอนุญาตให้บุคคลที่สามทำเช่นนั้น นอกจากนั้นการกระทำของนายสแตมปา อนุญาโตตุลาการสเปนที่ย้ายไปใช้ศาลฝรั่งเศสเพราะศาลสเปนไม่รับไกล่เกลี่ย ทำให้คำตัดสินเรื่องจ่ายค่าเสียหายเป็นสิ่งที่ไม่ตรงไปตรงมา เป็นพฤติกรรมที่ไม่สามารถยอมรับได้ โธมัสยังเปิดเผยว่า นายสแตมปาได้ค่าตอบแทนในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยจากกองทุนเธอเรียมเป็นเงิน 2.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย

ขณะนี้มาเลเซียกำลังดำเนินคดีอาญาต่อนายสแตมปา และตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทกับทายาทสุลต่าน จามาล อัล อาลาม แห่งซูลูขึ้น ดูเหมือนว่า หากรัฐบาลปัจจุบันของมาเลเซียจะรับฟังคำแนะนำของอดีตอัยการสูงสุด ทอมมี โธมัส ยุทธศาสตร์ของมาเลเซียจะไปมุ่งอยู่ที่การทำลายความชอบธรรมของกระบวนการศาลอนุญาโตตุลาการที่เกิดขึ้น เพื่อล้มเลิกคำตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหายของนายแสตมปา ผู้เป็นอนุญาโตตุลาการเพียงผู้เดียวของข้อพิพาทนี้

นอกจากรัฐบาลมาเลเซียแล้ว ความรู้สึกของประชาชนอาจสะท้อนออกมาได้อย่างดี ในการให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ Financial Times ของนายยง เต็ก ลี  (Yong Teck Lee) อดีตมุขมนตรีรัฐซาบาห์ ผู้กล่าวว่าคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการที่ปารีสทำให้คนธรรมดาๆ ในฟิลิปปินส์รู้สึกว่าพวกเขามีโอกาสชนะ ในขณะที่ชาวมาเลเซียธรรมดาๆ ในซาบาห์ ก็รู้สึกตึงเครียดอยู่ลึกๆ ในใจ

ไม่มีใครรู้ว่ากลุ่มซูลูจะยังสามารถตามยึดทรัพย์มาเลเซียเพิ่มขึ้นได้หรือเปล่า และมาเลเซียจะป้องกันตัวจากสิ่งนี้ได้อย่างไร ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ที่แน่ๆ คือมาเลเซียต้องเสียเงินมากกว่า 5,300 ริงกิตแน่นอน

ช่างน่าเจ็บใจยิ่งนัก


อ้างอิง

Explain claim by Sulu sultan’s heirs in detail, govt told

The sultan, his family and a $15bn dispute over oil in Malaysia

Explaining the Sulu claim/www.theedgemarkets.com/article/explaining-sulu-claim

International Law and the Sabah Dispute: A Postscript

Malaysia won’t budge ‘an inch’ over Sabah as Philippine heirs chase US$15 billion claim

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save