ธิติ มีแต้ม เรื่อง
Shin Egkantrong ภาพประกอบ
นับตั้งแต่ความไม่สงบปะทุขึ้นมาเมื่อปี 2547 หากสวมแว่นตาประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เราเห็นอะไรในช่วงใกล้เลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 นี้
ผู้คนไม่น้อยหันซ้ายก็เจอความรุนแรง หันขวาก็เจอความไม่ไว้วางใจ ไปข้างหน้าก็เจอด่านความมั่นคง
ท่ามกลางระเบิดลูกแล้วลูกเล่า สูญเสียนับพันชีวิต ผู้แทนราษฎรอยู่ส่วนไหนของความพยายามคลี่คลาย ยุติปัญหา
นโยบายใดจะชี้ขาดว่าประชาชนจะเปิดประตูสู่ความหวัง หรืออยู่ในโลกใบเดิมต่อไป
ขณะที่ผลการสำรวจของเครือข่าย 20 องค์กรในนาม PEACE SURVEY ที่ขับเคลื่อนประเด็นการแสวงหาทางออกจากการใช้ความรุนแรงของสังคมไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้เสนอ ‘7 ข้อเสนอประชาชน สู่นโยบายชายแดนใต้’ ออกมาในวาระครบรอบ 6 ปี การพูดคุยสันติภาพระหว่างไทยกับบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2556 ที่มาเลเซียพอดี
PEACE SURVEY เริ่มทำการสำรวจตั้งแต่ปี 2559 จนถึง 2561 รวม 4 ครั้ง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในสงขลา ได้แก่ จะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย รวม 622 หมู่บ้าน ทั้งหมด 6,321 คน
ประเด็นในการทำสำรวจมีทั้งทัศนคติต่อสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ สาเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ความพยายามแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ และข้อเสนอแนะต่อแนวทางแก้ปัญหาในอนาคต
ในภาพใหญ่ของการสำรวจ รายงานระบุว่ามีประชาชนถึง 42.6 % รู้สึกว่าสถานการณ์ยังเหมือนเดิม และ 21.7 % ที่รู้สึกว่าสถานการณ์แย่ลง ส่วนอีก 25.6% ที่รู้สึกว่าสถานการณ์ดีขึ้น
เมื่อภาพใหญ่เป็นเช่นนี้ แล้วอะไรคือข้อเสนอ 7 ข้อ ที่อาจเป็นกุญแจ
ข้อเสนอที่ 1 : ยกระดับให้การพูดคุยสันติภาพเป็นแกนกลางในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง
รายงานสำรวจระบุว่า มีประชาชน 55.4 % ที่เคยได้ยินข่าวกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และมีประชาชน 41.8 % ที่สนใจติดตามข่าว กล่าวได้ว่าในแง่การรับรู้ของประชาชนนั้น ยังคงมีจำกัด
เมื่อถูกถามว่า สนับสนุนการใช้การพูดคุยเป็นแนวทางแก้ปัญหาหรือไม่ มีประชาชนถึง 65.4 % ที่สนับสนุน ขณะที่มีผู้ไม่แน่ใจ 28.4 % และมีผู้ไม่สนับสนุนเลย 6.3 %
อาจกล่าวได้ว่าการพูดคุยเป็นทิศทางการแก้ไขปัญหาที่ชอบธรรม ซึ่งทั้งรัฐ ขบวนการฯ และฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องให้ข้อมูลเรื่องนี้เพื่อให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น
ขณะที่ผลสำรวจว่าด้วยกลุ่มบุคคลที่ประชาชนคิดว่ามีความสำคัญต่อการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ระบุว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ รัฐบาล 34 %, ผู้นำศาสนาอิสลาม 16.4 %, สถาบันการศึกษา 10.4 %
PEACE SURVEY เสนอว่ารัฐบาลไม่เพียงแต่ต้องจริงจังกับการพูดคุยสันติภาพเท่านั้น แต่ยังต้องเอื้อให้ทั้งผู้นำศาสนา สถาบันการศึกษา นักการการเมืองท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญ ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม มีประชาชนมากถึง 64.4 % ที่มีความหวังว่าจะเกิดข้อตกลงสันติภาพได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ข้อเสนอที่ 2 : เร่งปกป้องพลเรือนจากความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ์
จากการสำรวจของ PEACE SURVEY พบว่าผู้คนทุกศาสนาต่างเห็นตรงกันว่า แนวทางหรือมาตรการที่รัฐบาลและขบวนการฯ ควรเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกในพื้นที่ 4 อันดับแรก ได้แก่ 1. การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน 2. การหลีกเลี่ยงการก่อเหตุรุนแรงกับเป้าหมายอ่อน 3. การป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน 4. ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง
การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนนั้น ระบุว่าต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพลเรือนเป็นอันดับแรก โดยเน้นให้พื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน, ตลาด, โรงพยาบาล, ศาสนสถาน ปลอดจากความรุนแรง
ส่วนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประชาชนเห็นว่าการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ 1. ชาวบ้านถูกสุ่มตรวจค้นและถ่ายรูปโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล 2. ชาวบ้านถูกซ้อมทรมานระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และ 3. เจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม PEACE SURVEY ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีการผ่านด่านตรวจ คนมุสลิมจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและรู้สึกว่าตนโดนละเมิดสิทธิ์ ในขณะที่คนพุทธรู้สึกปลอดภัยกว่า ด้วยเหตุนี้การกำหนดนโยบายใดๆ จึงต้องรอบคอบและระมัดระวังต่อความรู้สึกของคนกลุ่มต่างๆ และต้องพิจารณาถึงกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือในกรณีความรุนแรงต่างๆ อีกด้วย
ข้อเสนอที่ 3 : ทบทวนประสิทธิผลการแก้ปัญหายาเสพติด และเร่งตั้งกลไกพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหตุรุนแรง
ปัญหายาเสพติดเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ประชาชน 77.9 % เห็นว่าจำเป็นต้องจัดการ หากต้องการจะยุติความรุนแรงให้ได้ในระยะยาว
รายงานระบุว่า ในมุมมองของประชาชนจำนวนไม่น้อยเห็นว่า นอกเหนือไปจากขบวนการฯ และเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มอิทธิพลยาเสพติดมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งสะท้อนว่าเหตุรุนแรงในพื้นที่มีความสลับซับซ้อนจนยากจะแยกแยะและทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อ
นอกจากนี้ ประชาชน 60 % ชี้ว่าสาเหตุของความรุนแรงในพื้นที่ เกิดจากหลายประเด็นปะปนกัน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐเลี้ยงไข้ กลุ่มอิทธิพลยาเสพติดและของเถื่อน นโยบายรัฐเลือกปฏิบัติ การบิดเบือนประวัติศาสตร์ และสยามยึดครองปาตานีเป็นอาณานิคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของสถานการณ์จริงในพื้นที่
PEACE SURVEY เสนอว่าข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่าเมื่อเกิดเหตุรุนแรง โดยเฉพาะกรณีที่มีข้อกังขาอย่างกว้างขวางในสังคม ภาครัฐจำเป็นต้องมีกลไกในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โปร่งใสและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้ความจริงปรากฏต่อสาธารณะ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ในขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้แต่ละฝ่ายอาศัยความคลุมเครือไปใช้ประโยชน์ได้
ข้อเสนอที่ 4 : ตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบประมาณรัฐด้านการพัฒนาในพื้นที่
รายงานระบุว่า การส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ เป็นประเด็นสำคัญที่สุดอันดับที่ 2 รองจากปัญหายาเสพติด ที่ประชาชน 68.5 % เห็นว่าจำเป็นต้องทำ หากต้องการจะแก้ปัญหาความรุนแรงให้ได้ในระยะยาว
ขณะที่สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ตอบแบบสอบถาม สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาพื้นฐานในเรื่องสภาพชีวิตความเป็นอยู่และฐานะทางเศรษฐกิจ โดยประชาชน 74.8 % มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และอีก 7.5% ที่ไม่มีรายได้เลย
ผลการสำรวจยังพบว่ารายได้ของประชาชนในพื้นที่ไม่สอดคล้องกับวุฒิการศึกษาอีกด้วย แม้แต่คนที่จบปริญญาตรีขึ้นไป ก็ยังมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน สูงถึง 33.9% ในขณะที่ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยปี 2560 สำหรับผู้จบปริญญาตรีอยู่ที่ 23,090.68 บาทต่อเดือน
จากตัวเลขข้างต้น สะท้อนว่าคนในพื้นที่ยังคงมีรายได้น้อย แม้จะมีการใช้จ่ายงบประมาณด้านการพัฒนาในพื้นที่เป็นจำนวนมากกว่า 130,000 ล้านบาท ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา
คำถามคือการใช้จ่ายงบประมาณด้านการพัฒนาของรัฐที่ผ่านมานั้น มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่เพียงใด
ข้อเสนอที่ 5 : ออกแบบระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ และสะท้อนวิถีอัตลักษณ์วัฒนธรรม
รายงานระบุว่าคนในพื้นที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนมุสลิม 48 % เป็นคนมลายู 19.3 % เป็นคนพุทธ 7.1 %
ส่วนภาษาที่คนใช้พูดในครอบครัวนั้น มีทั้งภาษามลายู 59.6 % ภาษาไทยและภาษาใต้ 25.6 % และภาษามลายูปนไทย 13.4 %
ข้อน่าสังเกตจากการสำรวจคือ ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม มีสัดส่วนการจบการศึกษาสายสามัญในระดับที่ต่ำกว่าประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจข้อที่พบว่า ประชาชนที่พูดภาษามลายูในครัวเรือน มีสัดส่วนการจบการศึกษาสายสามัญในระดับที่ต่ำกว่าประชาชนที่พูดภาษาไทยใต้และไทยกลาง และภาษามลายูถิ่นปนไทย
มีประชาชนร้อยละ 40.6 % ระบุว่าการปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ หากต้องการแก้ปัญหาระยะยาว
นอกจากนี้ คุณภาพการศึกษาในชายแดนใต้ยังอยู่ในกลุ่มที่มีระดับต่ำที่สุดของประเทศ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า จังหวัดนราธิวาสอยู่ในลำดับสุดท้ายที่ 77 ขณะที่ปัตตานีและยะลาอยู่ในลำดับที่ 76 และ 70 ตามลําดับ
PEACE SURVEY เสนอว่าแนวทางการจัดการศึกษาในพื้นที่ นอกจากจะคำนึงถึงคุณภาพในการจัดการศึกษาแล้ว ควรมีการยอมรับอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมที่หลากหลาย และต้องให้อัตลักษณ์ดังกล่าวสะท้อนออกมาในระบบการศึกษาของรัฐอย่างเป็นรูปประธรรม
อย่างไรก็ตาม จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนว่าสถาบันการศึกษาที่ถือเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ไม่ได้รับการเคารพเชื่อถือ ซึ่งจะทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจที่ประชาชนมีต่อรัฐได้
ข้อเสนอที่ 6 : กระจายอำนาจมากขึ้น ด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่
ผลสำรวจถึงทัศนะต่อแนวทางการปกครองพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่
1. รูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มีประชาชนที่รับไม่ได้เลย 11.1 % ไม่ชอบแต่ทนได้ 18.1 % พอรับได้ 49.4 % อยากให้เป็นอย่างนั้น 17.1 % จำเป็นอย่างยิ่ง 4.3%
2. รูปแบบที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่เหมือนกับส่วนอื่นๆ ของประเทศ มีประชาชนที่รับไม่ได้เลย 6.7 % ไม่ชอบแต่ทนได้ 12.6 % พอรับได้ 46.2 % อยากให้เป็นอย่างนั้น 27.1 % จำเป็นอย่างยิ่ง 7.5 %
3. รูปแบบที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้น ด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย มีประชาชนรับไม่ได้เลย 8.7 % ไม่ชอบแต่ทนได้ 12.7 % พอรับได้ 39.8 % อยากให้เป็นอย่างนั้น 27.6 % จำเป็นอย่างยิ่ง 11.1 %
4. รูปแบบที่เป็นอิสระจากประเทศไทย มีประชาชนรับไม่ได้เลย 33 % ไม่ชอบแต่ทนได้ 12.8 % พอรับได้ 31.5% อยากให้เป็นอย่างนั้น 15.8 % จำเป็นอย่างยิ่ง 6.9 %
ข้อสังเกตคือเมื่อเปรียบเทียบทั้ง 4 แบบแล้ว การกระจายอำนาจตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่มาเป็นอันดับ 1 กระจายอำนาจมากขึ้นแบบที่เหมือนกับส่วนอื่นๆ ของประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ตามมาด้วยเอกราช และรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นที่ต้องการน้อยที่สุด ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น
PEACE SURVEY ระบุว่าผลสำรวจยืนยันได้เพียงทิศทางที่ต้องมีการกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้ แต่ยังไม่มีรูปแบบชัดเจนในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร
ข้อเสนอที่ 7 : เปิดพื้นที่ให้คนได้ถกเถียงเรื่องอ่อนไหวทางการเมือง โดยไม่ถูกคุกคามจากทุกฝ่าย
PEACE SURVEY ระบุว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกิจกรรมธรรมดาหลายอย่างที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในหมู่ประชาชนในพื้นที่ ประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกไม่ปลอดภัยหากต้องพบปะกับคนแปลกหน้าและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคู่ขัดแย้ง
ผลสำรวจระบุว่ามีประชาชนร้อยละ 61.4 รู้สึกเช่นนี้ เมื่อต้องพบปะพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จัก ร้อยละ 51.5 รู้สึกเมื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปัตตานี ร้อยละ 51 รู้สึกเมื่ออยู่ใกล้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอาวุธ ร้อยละ 41.5 รู้สึกเมื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐบาล ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และร้อยละ 41.5 รู้สึกเมื่อเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมที่บ้าน
ขณะเดียวกัน ข้อค้นพบสำคัญของการสำรวจทั้ง 4 ครั้ง คือมีผู้ “ขอไม่ตอบ” และตอบว่า “ไม่รู้” ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเสียงเงียบ เป็นสัดส่วนที่สูงมากในบางข้อ ได้แก่ ร้อยละ 54.6 ว่าด้วยเป้าหมายหลักของกลุ่มคนที่ใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐในปัจจุบันคืออะไร ร้อยละ 46.4 ว่าด้วยทัศนะต่อสาเหตุความรุนแรงในพื้นที่ที่มองว่าเกิดจากสยามยึดครองปัตตานีเป็นอาณานิคม
ร้อยละ 49.2 ว่าด้วยทัศนะที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางการเมืองหรือเอกราช และร้อยละ 41.2 ว่าด้วยทัศนะสาเหตุความรุนแรงในพื้นที่ที่มองว่าเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐเลี้ยงไข้เพื่อเอางบประมาณ เป็นต้น
เสียงเงียบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่สบายใจที่จะพูด
PEACE SURVEY เสนอว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมี ‘พื้นที่’ ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี โดยไม่ถูกจับจ้อง คุกคาม หรือตีตราจากฝ่ายใด โดยพื้นที่ดังกล่าวอาจรวมถึงการจัดเวที การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง การใช้สื่อออนไลน์ หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ
“ยิ่งมีพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้มีทางเลือกที่หลากหลาย จะทำให้เกิดการถกเถียงและนำมาสู่ข้อสรุปที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ดังนั้นการเปิดพื้นที่ย่อมเป็นผลดีต่อรัฐและขบวนการฯ ที่จะได้รับรู้ความกังวลและความต้องการที่แท้จริง”
ข้อเสนอจากพรรคการเมือง
พรรคการเมืองที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าจะมีนโยบายเพื่อดับไฟใต้อย่างไร อาทิ พรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ต่างเสนอนโยบายที่มีบางประเด็นสอดคล้องกับข้อเสนอ 7 ข้อของ PEACE SURVEY
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุว่า เรื่องการปฏิรูปกฎหมาย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมายเท่ากับคนที่บังคับใช้ ปัจจุบันกฎหมายพิเศษอาจจะเอาออกไม่ได้ทันที แต่จะทำอย่างไรให้เปลี่ยนจากที่ทหารตำรวจใช้ มาให้ประชาชนใช้แทน เช่น การขจัดทุจริตคอรัปชั่น ซึ่ง กอ.รมน. ต้องหยุดทำหน้าที่ได้แล้ว
“โจทย์ของประชาชาติคือความมั่นคง แปลว่าความอยู่ดีมีสุข เราต้องทำให้การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มีความสมดุลกัน เพราะชายแดนใต้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ต้องสร้างการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย”
พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าสิ่งที่อนาคตใหม่จะทำคือ 1.การพูดคุยสันติภาพ เสนอให้มีประชาชาชนเป็นฝ่ายที่ 3 เข้าร่วม ทั้งชาวพุทธ มุสลิม สถาบันการศึกษา นักธุรกิจ คนธรรมดาที่ไร้ตำแหน่ง 2.การสร้างเซฟตี้โซนต้องใช้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหา ไม่ใช้อารมณ์ เบื้องต้นต้องปลอดอาวุธ ถอนทหารออก ฝึกพลเรือนให้เข้าใจสถานการณ์เพิ่มขึ้น เปลี่ยนการใช้กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจทหารมาใช้กฎหมายปกติที่ให้อำนาจตำรวจแทน 3.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคนภายนอก ที่มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย 4.การจัดซื้อจัดจ้าง ให้ประชาชนและสื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ กำหนดราคา ประเมินได้ 5.แก้ระบบการศึกษา ให้เอางบประมาณไปอยู่ที่โรงเรียน เพื่อที่จะสร้างงานให้ตรงกับการเรียนการสอนได้
“เมื่อสร้างเซฟตี้โซนได้ ธุรกิจก็จะเดินหน้าได้ เมื่อการสร้างงานสร้างรายได้เป็นปกติ ประชาชนก็สามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์ได้ตามที่สหประชาชาติกำหนด”
ส่วน พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ระบุว่าพรรคฯ มีนโยบายระยะเร่งด่วนคือ 1.การสร้างการรับรู้และความเข้าใจถึงความรุนแรงของชายแดนใต้ต่อคนส่วนรวมทั้งประเทศ ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหา 2.เร่งยุติความรุนแรง โดยสันติวิธี
ขณะที่แผนระยะกลางและยาวคือ 3.ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม 4.เปิดพื้นที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นให้มีส่วนในการบริหาร ปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงให้มีความกะทัดรัด ให้ฝ่ายพลเรือนเป็นเจ้าภาพหลัก 5.ส่งเสริมความสัมพันธ์กับชาติเพื่อนบ้านและประเทศมุสลิม 6.สร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ความคิดริเริ่มในทุกมิติ ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม 7.ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยการการเคารพความแตกต่างทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม
ขณะที่ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ระบุว่าพรรคฯ กำลังศึกษาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้ (SBEC) ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ประชาชนมีปัญหาเรื่องปากท้องเป็นหลัก นอกจากนี้พรรคฯ จะเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ไปพร้อมๆ กับเรื่องสันติภาพ กระบวนการยุติธรรม การเยียวยา และการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นอกจากนี้ พรรคฯ ยังจะผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งมีจุดเด่นทั้งภาษาอาหรับ มลายู และอาหารฮาราล ที่สำคัญภูมิใจไทยจะขอเสนอเปลี่ยนงบลับมาเป็นงบลงทุนที่ประชาชนมีส่วนร่วม
ด้าน นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การแก้ปัญหาชายแดนใต้ต้องใช้การเมืองนำการทหาร การพูดคุยสันติภาพต้องเดินหน้า รัฐบาลสมัยประชาธิปัตย์ได้เริ่มต้นการพูดคุยในแบบไม่เป็นทางการ เพราะรู้ว่าความขัดแย้งทางความคิดยุติไม่ได้ด้วยสงคราม ต้องอยู่บนโต๊ะเจรจาเท่านั้น
จากนั้นก็ต้องแยกทหารออกจากการพัฒนา โดยใช้ศอ.บต.เป็นฝ่ายดำเนินการ เน้นการมีส่วนร่วม ด้วยการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
“ประชาธิปัตย์ขอประกาศว่า จังหวัดไหนพร้อมก็ให้จัดการตนเอง ให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ยกเว้นทางการทหาร การเงิน การต่างประเทศ และศาล”
แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แต่ละพรรคจะพูดถึงการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นเหมือนๆ กัน แต่ภายใต้ข้อเสนอของ PEACE SURVEY เรื่องการเปิดพื้นที่ให้คนได้ถกเถียงเรื่องอ่อนไหว อาจเป็นข้อที่ท้าทายที่สุดของผู้แทนราษฎร ว่าจะทำอย่างไรในรายละเอียดตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หมายเหตุ – เก็บความจากรายงาน ‘7 ข้อเสนอประชาชน สู่นโยบายชายแดนใต้’ และวงเสวนา ‘ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อพรรคการเมือง’ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 จัดโดยเครือข่าย PEACE SURVEY เช่น ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, สภาประชาสังคมชายแดนใต้, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล, สำนักสันติวิธีและธรรมภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ฯลฯ