fbpx
จะรับได้ไหม ถ้าไฟใต้ต้องดับ? : เสียงประชาชนกับ 'นโยบาย'​ ดับไฟใต้

จะรับได้ไหม ถ้าไฟใต้ต้องดับ? : เสียงประชาชนกับ ‘นโยบาย’​ ดับไฟใต้

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

นับตั้งแต่ความไม่สงบปะทุขึ้นมาเมื่อปี 2547 หากสวมแว่นตาประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เราเห็นอะไรในช่วงใกล้เลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 นี้

ผู้คนไม่น้อยหันซ้ายก็เจอความรุนแรง หันขวาก็เจอความไม่ไว้วางใจ ไปข้างหน้าก็เจอด่านความมั่นคง

ท่ามกลางระเบิดลูกแล้วลูกเล่า สูญเสียนับพันชีวิต ผู้แทนราษฎรอยู่ส่วนไหนของความพยายามคลี่คลาย ยุติปัญหา

นโยบายใดจะชี้ขาดว่าประชาชนจะเปิดประตูสู่ความหวัง หรืออยู่ในโลกใบเดิมต่อไป

ขณะที่ผลการสำรวจของเครือข่าย 20 องค์กรในนาม PEACE SURVEY ที่ขับเคลื่อนประเด็นการแสวงหาทางออกจากการใช้ความรุนแรงของสังคมไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้เสนอ ‘7 ข้อเสนอประชาชน สู่นโยบายชายแดนใต้’ ออกมาในวาระครบรอบ 6 ปี การพูดคุยสันติภาพระหว่างไทยกับบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2556 ที่มาเลเซียพอดี

PEACE​ SURVEY เริ่มทำการสำรวจตั้งแต่ปี 2559 จนถึง 2561 รวม 4 ครั้ง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในสงขลา ได้แก่ จะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย รวม 622 หมู่บ้าน ทั้งหมด 6,321 คน

ประเด็นในการทำสำรวจมีทั้งทัศนคติต่อสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ สาเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ความพยายามแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ และข้อเสนอแนะต่อแนวทางแก้ปัญหาในอนาคต

ในภาพใหญ่ของการสำรวจ รายงานระบุว่ามีประชาชนถึง 42.6 % รู้สึกว่าสถานการณ์ยังเหมือนเดิม และ 21.7 % ที่รู้สึกว่าสถานการณ์แย่ลง ส่วนอีก 25.6% ที่รู้สึกว่าสถานการณ์ดีขึ้น

เมื่อภาพใหญ่เป็นเช่นนี้ แล้วอะไรคือข้อเสนอ 7 ข้อ ที่อาจเป็นกุญแจ

 

ข้อเสนอที่ 1 : ยกระดับให้การพูดคุยสันติภาพเป็นแกนกลางในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง

 

รายงานสำรวจระบุว่า มีประชาชน 55.4 % ที่เคยได้ยินข่าวกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และมีประชาชน 41.8 % ที่สนใจติดตามข่าว กล่าวได้ว่าในแง่การรับรู้ของประชาชนนั้น ยังคงมีจำกัด

เมื่อถูกถามว่า สนับสนุนการใช้การพูดคุยเป็นแนวทางแก้ปัญหาหรือไม่ มีประชาชนถึง 65.4 % ที่สนับสนุน ขณะที่มีผู้ไม่แน่ใจ 28.4 % และมีผู้ไม่สนับสนุนเลย 6.3 %

อาจกล่าวได้ว่าการพูดคุยเป็นทิศทางการแก้ไขปัญหาที่ชอบธรรม ซึ่งทั้งรัฐ ขบวนการฯ และฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องให้ข้อมูลเรื่องนี้เพื่อให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น

ขณะที่ผลสำรวจว่าด้วยกลุ่มบุคคลที่ประชาชนคิดว่ามีความสำคัญต่อการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ระบุว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ รัฐบาล 34 %, ผู้นำศาสนาอิสลาม 16.4 %, สถาบันการศึกษา 10.4 %

PEACE​ SURVEY เสนอว่ารัฐบาลไม่เพียงแต่ต้องจริงจังกับการพูดคุยสันติภาพเท่านั้น แต่ยังต้องเอื้อให้ทั้งผู้นำศาสนา สถาบันการศึกษา นักการการเมืองท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญ ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม มีประชาชนมากถึง 64.4 % ที่มีความหวังว่าจะเกิดข้อตกลงสันติภาพได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

ข้อเสนอที่ 2 : เร่งปกป้องพลเรือนจากความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ์

 

จากการสำรวจของ PEACE​ SURVEY พบว่าผู้คนทุกศาสนาต่างเห็นตรงกันว่า แนวทางหรือมาตรการที่รัฐบาลและขบวนการฯ ควรเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกในพื้นที่ 4 อันดับแรก ได้แก่ 1. การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน 2. การหลีกเลี่ยงการก่อเหตุรุนแรงกับเป้าหมายอ่อน 3. การป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน 4. ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนนั้น ระบุว่าต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพลเรือนเป็นอันดับแรก โดยเน้นให้พื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน, ตลาด, โรงพยาบาล, ศาสนสถาน ปลอดจากความรุนแรง

ส่วนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประชาชนเห็นว่าการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ 1. ชาวบ้านถูกสุ่มตรวจค้นและถ่ายรูปโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล 2. ชาวบ้านถูกซ้อมทรมานระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และ 3. เจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม PEACE​ SURVEY ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีการผ่านด่านตรวจ คนมุสลิมจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและรู้สึกว่าตนโดนละเมิดสิทธิ์ ในขณะที่คนพุทธรู้สึกปลอดภัยกว่า ด้วยเหตุนี้การกำหนดนโยบายใดๆ จึงต้องรอบคอบและระมัดระวังต่อความรู้สึกของคนกลุ่มต่างๆ และต้องพิจารณาถึงกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือในกรณีความรุนแรงต่างๆ อีกด้วย

 

ข้อเสนอที่ 3 : ทบทวนประสิทธิผลการแก้ปัญหายาเสพติด และเร่งตั้งกลไกพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหตุรุนแรง

 

ปัญหายาเสพติดเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ประชาชน 77.9 % เห็นว่าจำเป็นต้องจัดการ หากต้องการจะยุติความรุนแรงให้ได้ในระยะยาว

รายงานระบุว่า ในมุมมองของประชาชนจำนวนไม่น้อยเห็นว่า นอกเหนือไปจากขบวนการฯ และเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มอิทธิพลยาเสพติดมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งสะท้อนว่าเหตุรุนแรงในพื้นที่มีความสลับซับซ้อนจนยากจะแยกแยะและทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อ

นอกจากนี้ ประชาชน 60 % ชี้ว่าสาเหตุของความรุนแรงในพื้นที่ เกิดจากหลายประเด็นปะปนกัน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐเลี้ยงไข้ กลุ่มอิทธิพลยาเสพติดและของเถื่อน นโยบายรัฐเลือกปฏิบัติ การบิดเบือนประวัติศาสตร์ และสยามยึดครองปาตานีเป็นอาณานิคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของสถานการณ์จริงในพื้นที่

PEACE​ SURVEY เสนอว่าข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่าเมื่อเกิดเหตุรุนแรง โดยเฉพาะกรณีที่มีข้อกังขาอย่างกว้างขวางในสังคม ภาครัฐจำเป็นต้องมีกลไกในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โปร่งใสและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้ความจริงปรากฏต่อสาธารณะ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ในขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้แต่ละฝ่ายอาศัยความคลุมเครือไปใช้ประโยชน์ได้

 

ข้อเสนอที่ 4 : ตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบประมาณรัฐด้านการพัฒนาในพื้นที่

 

รายงานระบุว่า การส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ เป็นประเด็นสำคัญที่สุดอันดับที่ 2 รองจากปัญหายาเสพติด ที่ประชาชน 68.5 % เห็นว่าจำเป็นต้องทำ หากต้องการจะแก้ปัญหาความรุนแรงให้ได้ในระยะยาว

ขณะที่สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ตอบแบบสอบถาม สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาพื้นฐานในเรื่องสภาพชีวิตความเป็นอยู่และฐานะทางเศรษฐกิจ โดยประชาชน 74.8 % มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และอีก 7.5% ที่ไม่มีรายได้เลย

ผลการสำรวจยังพบว่ารายได้ของประชาชนในพื้นที่ไม่สอดคล้องกับวุฒิการศึกษาอีกด้วย แม้แต่คนที่จบปริญญาตรีขึ้นไป ก็ยังมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน สูงถึง 33.9% ในขณะที่ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยปี 2560 สำหรับผู้จบปริญญาตรีอยู่ที่ 23,090.68 บาทต่อเดือน

จากตัวเลขข้างต้น สะท้อนว่าคนในพื้นที่ยังคงมีรายได้น้อย แม้จะมีการใช้จ่ายงบประมาณด้านการพัฒนาในพื้นที่เป็นจำนวนมากกว่า 130,000 ล้านบาท ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา

คำถามคือการใช้จ่ายงบประมาณด้านการพัฒนาของรัฐที่ผ่านมานั้น มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่เพียงใด

 

ข้อเสนอที่ 5 : ออกแบบระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ และสะท้อนวิถีอัตลักษณ์วัฒนธรรม

 

รายงานระบุว่าคนในพื้นที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนมุสลิม 48 % เป็นคนมลายู 19.3 % เป็นคนพุทธ 7.1 %

ส่วนภาษาที่คนใช้พูดในครอบครัวนั้น มีทั้งภาษามลายู 59.6 % ภาษาไทยและภาษาใต้ 25.6 % และภาษามลายูปนไทย 13.4 %

ข้อน่าสังเกตจากการสำรวจคือ ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม มีสัดส่วนการจบการศึกษาสายสามัญในระดับที่ต่ำกว่าประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจข้อที่พบว่า ประชาชนที่พูดภาษามลายูในครัวเรือน มีสัดส่วนการจบการศึกษาสายสามัญในระดับที่ต่ำกว่าประชาชนที่พูดภาษาไทยใต้และไทยกลาง และภาษามลายูถิ่นปนไทย

มีประชาชนร้อยละ 40.6 % ระบุว่าการปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ หากต้องการแก้ปัญหาระยะยาว

นอกจากนี้ คุณภาพการศึกษาในชายแดนใต้ยังอยู่ในกลุ่มที่มีระดับต่ำที่สุดของประเทศ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า จังหวัดนราธิวาสอยู่ในลำดับสุดท้ายที่ 77 ขณะที่ปัตตานีและยะลาอยู่ในลำดับที่ 76 และ 70 ตามลําดับ

PEACE​ SURVEY เสนอว่าแนวทางการจัดการศึกษาในพื้นที่ นอกจากจะคำนึงถึงคุณภาพในการจัดการศึกษาแล้ว ควรมีการยอมรับอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมที่หลากหลาย และต้องให้อัตลักษณ์ดังกล่าวสะท้อนออกมาในระบบการศึกษาของรัฐอย่างเป็นรูปประธรรม

อย่างไรก็ตาม จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนว่าสถาบันการศึกษาที่ถือเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ไม่ได้รับการเคารพเชื่อถือ ซึ่งจะทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจที่ประชาชนมีต่อรัฐได้

 

ข้อเสนอที่ 6 : กระจายอำนาจมากขึ้น ด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่

 

ผลสำรวจถึงทัศนะต่อแนวทางการปกครองพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่

1. รูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มีประชาชนที่รับไม่ได้เลย 11.1 % ไม่ชอบแต่ทนได้ 18.1 % พอรับได้ 49.4 % อยากให้เป็นอย่างนั้น 17.1 % จำเป็นอย่างยิ่ง 4.3%

2. รูปแบบที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่เหมือนกับส่วนอื่นๆ ของประเทศ มีประชาชนที่รับไม่ได้เลย 6.7 % ไม่ชอบแต่ทนได้ 12.6 % พอรับได้ 46.2 % อยากให้เป็นอย่างนั้น 27.1 % จำเป็นอย่างยิ่ง 7.5 %

3. รูปแบบที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้น ด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย มีประชาชนรับไม่ได้เลย 8.7 % ไม่ชอบแต่ทนได้ 12.7 % พอรับได้ 39.8 % อยากให้เป็นอย่างนั้น 27.6 % จำเป็นอย่างยิ่ง 11.1 %

4. รูปแบบที่เป็นอิสระจากประเทศไทย มีประชาชนรับไม่ได้เลย 33 % ไม่ชอบแต่ทนได้ 12.8 % พอรับได้ 31.5% อยากให้เป็นอย่างนั้น 15.8 % จำเป็นอย่างยิ่ง 6.9 %

ข้อสังเกตคือเมื่อเปรียบเทียบทั้ง 4 แบบแล้ว การกระจายอำนาจตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่มาเป็นอันดับ 1 กระจายอำนาจมากขึ้นแบบที่เหมือนกับส่วนอื่นๆ ของประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ตามมาด้วยเอกราช และรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นที่ต้องการน้อยที่สุด ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น

PEACE​ SURVEY ระบุว่าผลสำรวจยืนยันได้เพียงทิศทางที่ต้องมีการกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้ แต่ยังไม่มีรูปแบบชัดเจนในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร

 

ข้อเสนอที่ 7 : เปิดพื้นที่ให้คนได้ถกเถียงเรื่องอ่อนไหวทางการเมือง โดยไม่ถูกคุกคามจากทุกฝ่าย

 

PEACE​ SURVEY ระบุว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกิจกรรมธรรมดาหลายอย่างที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในหมู่ประชาชนในพื้นที่ ประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกไม่ปลอดภัยหากต้องพบปะกับคนแปลกหน้าและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคู่ขัดแย้ง

ผลสำรวจระบุว่ามีประชาชนร้อยละ 61.4 รู้สึกเช่นนี้ เมื่อต้องพบปะพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จัก ร้อยละ 51.5 รู้สึกเมื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปัตตานี ร้อยละ 51 รู้สึกเมื่ออยู่ใกล้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอาวุธ  ร้อยละ 41.5 รู้สึกเมื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐบาล ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และร้อยละ 41.5 รู้สึกเมื่อเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมที่บ้าน

ขณะเดียวกัน ข้อค้นพบสำคัญของการสำรวจทั้ง 4 ครั้ง คือมีผู้ “ขอไม่ตอบ” และตอบว่า “ไม่รู้” ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเสียงเงียบ เป็นสัดส่วนที่สูงมากในบางข้อ ได้แก่ ร้อยละ 54.6 ว่าด้วยเป้าหมายหลักของกลุ่มคนที่ใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐในปัจจุบันคืออะไร ร้อยละ 46.4 ว่าด้วยทัศนะต่อสาเหตุความรุนแรงในพื้นที่ที่มองว่าเกิดจากสยามยึดครองปัตตานีเป็นอาณานิคม

ร้อยละ 49.2 ว่าด้วยทัศนะที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางการเมืองหรือเอกราช และร้อยละ 41.2 ว่าด้วยทัศนะสาเหตุความรุนแรงในพื้นที่ที่มองว่าเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐเลี้ยงไข้เพื่อเอางบประมาณ เป็นต้น

เสียงเงียบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่สบายใจที่จะพูด

PEACE​ SURVEY เสนอว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมี ‘พื้นที่’​ ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี โดยไม่ถูกจับจ้อง คุกคาม หรือตีตราจากฝ่ายใด โดยพื้นที่ดังกล่าวอาจรวมถึงการจัดเวที การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง การใช้สื่อออนไลน์ หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ

“ยิ่งมีพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้มีทางเลือกที่หลากหลาย จะทำให้เกิดการถกเถียงและนำมาสู่ข้อสรุปที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ดังนั้นการเปิดพื้นที่ย่อมเป็นผลดีต่อรัฐและขบวนการฯ ที่จะได้รับรู้ความกังวลและความต้องการที่แท้จริง”

 

ข้อเสนอจากพรรคการเมือง

 

พรรคการเมืองที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าจะมีนโยบายเพื่อดับไฟใต้อย่างไร อาทิ พรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ต่างเสนอนโยบายที่มีบางประเด็นสอดคล้องกับข้อเสนอ 7 ข้อของ PEACE​ SURVEY

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุว่า เรื่องการปฏิรูปกฎหมาย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมายเท่ากับคนที่บังคับใช้ ปัจจุบันกฎหมายพิเศษอาจจะเอาออกไม่ได้ทันที แต่จะทำอย่างไรให้เปลี่ยนจากที่ทหารตำรวจใช้ มาให้ประชาชนใช้แทน เช่น การขจัดทุจริตคอรัปชั่น ซึ่ง กอ.รมน. ต้องหยุดทำหน้าที่ได้แล้ว

“โจทย์ของประชาชาติคือความมั่นคง แปลว่าความอยู่ดีมีสุข เราต้องทำให้การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มีความสมดุลกัน เพราะชายแดนใต้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ต้องสร้างการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย”

พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าสิ่งที่อนาคตใหม่จะทำคือ 1.การพูดคุยสันติภาพ เสนอให้มีประชาชาชนเป็นฝ่ายที่ 3 เข้าร่วม ทั้งชาวพุทธ มุสลิม สถาบันการศึกษา นักธุรกิจ คนธรรมดาที่ไร้ตำแหน่ง 2.การสร้างเซฟตี้โซนต้องใช้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหา ไม่ใช้อารมณ์ เบื้องต้นต้องปลอดอาวุธ ถอนทหารออก ฝึกพลเรือนให้เข้าใจสถานการณ์เพิ่มขึ้น เปลี่ยนการใช้กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจทหารมาใช้กฎหมายปกติที่ให้อำนาจตำรวจแทน 3.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคนภายนอก ที่มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย 4.การจัดซื้อจัดจ้าง ให้ประชาชนและสื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ กำหนดราคา ประเมินได้ 5.แก้ระบบการศึกษา ให้เอางบประมาณไปอยู่ที่โรงเรียน เพื่อที่จะสร้างงานให้ตรงกับการเรียนการสอนได้

“เมื่อสร้างเซฟตี้โซนได้ ธุรกิจก็จะเดินหน้าได้ เมื่อการสร้างงานสร้างรายได้เป็นปกติ ประชาชนก็สามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์ได้ตามที่สหประชาชาติกำหนด”

ส่วน พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ระบุว่าพรรคฯ มีนโยบายระยะเร่งด่วนคือ 1.การสร้างการรับรู้และความเข้าใจถึงความรุนแรงของชายแดนใต้ต่อคนส่วนรวมทั้งประเทศ ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหา 2.เร่งยุติความรุนแรง โดยสันติวิธี

ขณะที่แผนระยะกลางและยาวคือ 3.ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม 4.เปิดพื้นที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นให้มีส่วนในการบริหาร ปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงให้มีความกะทัดรัด ให้ฝ่ายพลเรือนเป็นเจ้าภาพหลัก 5.ส่งเสริมความสัมพันธ์กับชาติเพื่อนบ้านและประเทศมุสลิม 6.สร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ความคิดริเริ่มในทุกมิติ ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม 7.ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยการการเคารพความแตกต่างทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม

ขณะที่ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ระบุว่าพรรคฯ กำลังศึกษาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้ (SBEC) ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ประชาชนมีปัญหาเรื่องปากท้องเป็นหลัก นอกจากนี้พรรคฯ จะเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ไปพร้อมๆ กับเรื่องสันติภาพ กระบวนการยุติธรรม การเยียวยา และการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นอกจากนี้ พรรคฯ ยังจะผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งมีจุดเด่นทั้งภาษาอาหรับ มลายู และอาหารฮาราล ที่สำคัญภูมิใจไทยจะขอเสนอเปลี่ยนงบลับมาเป็นงบลงทุนที่ประชาชนมีส่วนร่วม

ด้าน นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การแก้ปัญหาชายแดนใต้ต้องใช้การเมืองนำการทหาร การพูดคุยสันติภาพต้องเดินหน้า รัฐบาลสมัยประชาธิปัตย์ได้เริ่มต้นการพูดคุยในแบบไม่เป็นทางการ เพราะรู้ว่าความขัดแย้งทางความคิดยุติไม่ได้ด้วยสงคราม ต้องอยู่บนโต๊ะเจรจาเท่านั้น

จากนั้นก็ต้องแยกทหารออกจากการพัฒนา โดยใช้ศอ.บต.เป็นฝ่ายดำเนินการ เน้นการมีส่วนร่วม ด้วยการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

“ประชาธิปัตย์ขอประกาศว่า จังหวัดไหนพร้อมก็ให้จัดการตนเอง ให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ยกเว้นทางการทหาร การเงิน การต่างประเทศ และศาล”

แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แต่ละพรรคจะพูดถึงการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นเหมือนๆ กัน แต่ภายใต้ข้อเสนอของ PEACE​ SURVEY เรื่องการเปิดพื้นที่ให้คนได้ถกเถียงเรื่องอ่อนไหว อาจเป็นข้อที่ท้าทายที่สุดของผู้แทนราษฎร ว่าจะทำอย่างไรในรายละเอียดตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 


 

หมายเหตุ – เก็บความจากรายงาน ‘7 ข้อเสนอประชาชน สู่นโยบายชายแดนใต้’ และวงเสวนา ‘ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อพรรคการเมือง’​ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 จัดโดยเครือข่าย PEACE​ SURVEY เช่น ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, สภาประชาสังคมชายแดนใต้, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล, สำนักสันติวิธีและธรรมภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ฯลฯ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save