fbpx
สมชัย สุวรรณบรรณ : เมื่อกระจกร้าวและตะเกียงไม่สาดแสง

สมชัย สุวรรณบรรณ : เมื่อกระจกร้าวและตะเกียงไม่สาดแสง

ธิติ มีแต้ม, สมคิด พุทธศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

สมชัย สุวรรณบรรณ หลุดออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ Thai PBS หลังรัฐประหาร 2557 ไปได้ปีเศษ ท่ามกลางความเงียบงันของสื่อมวลชนไทยที่ถูกลิดรอนเสรีภาพในการรายงานข่าวลงทุกวัน

แม้ว่าบรรยากาศเสรีภาพคล้ายจะเปิดกว้างขึ้นหลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 แต่อุตสาหกรรมสื่อไทยกลับอยู่ในสภาพป่วยไข้จนยากจะฟื้นตัว หนังสือพิมพ์หลายหัวทยอยปิดตาย คนข่าวและบุคลากรที่เกี่ยวข้องถูกเลิกจ้าง กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไร้คำตอบว่าสังคมไทยจะเอาอย่างไรกับสภาพดังกล่าว

101 ชวน ‘สมชัย’ สนทนาถึงโจทย์ดังกล่าวซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะหวนกลับไปทบทวนอดีตและพยายามมองหาที่ทางในอนาคต

ในฐานะที่เขาเริ่มงานสื่อมวลชนมาตั้งแต่ยุคทหารครองเมืองเมื่อ 40 กว่าปีก่อน และขยับตัวเองไปสู่สนามสื่อระดับโลกอย่าง BBC เคี่ยวกรำกับวิชาชีพ-ผ่านคลื่นลมแห่งยุคสมัย จนตำแหน่งหน้าที่สุดท้ายในสื่อระดับโลกคือบรรณาธิการบริหารภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันนี้แม้จะไม่ได้เป็นผู้บริหารสื่อแล้ว แต่สมชัยยังคงวางตัวเป็นสื่ออิสระ คอยให้คำปรึกษากับสื่อใหม่ๆ ในต่างประเทศ ขณะเดียวกันประสบการณ์อันยาวนานของเขา คงยากจะหลับตาหรือเบือนหน้าหนีปรากฏการณ์การปรับตัวครั้งใหญ่ของสื่อไทย ซึ่งกำลังเผชิญคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างแสนสาหัส

สังคมไทยให้ค่าว่าสื่อเป็น ‘กระจก’ คอยส่องสะท้อนความเป็นไปของสังคม กระทั่งตั้งความหวังให้เป็นดั่ง ‘ตะเกียง’ คอยสาดแสงเข้าไปในที่มืด แต่ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่

แน่นอน, จุดตั้งต้นที่เหมาะที่ควร อาจไม่มีทางอื่นนอกจากเริ่มด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

 

รูปจาก สมชัย สุวรรณบรรณ

 

สถานการณ์สื่อมวลชนประเทศไทยในสายตาคุณตอนนี้เป็นอย่างไร 

น่าเป็นห่วงครับ ทั้งปัญหาเรื่องธุรกิจที่ต้องพยายามเพื่อความอยู่รอด พอมีปัญหานี้ การต่อสู้แข่งขันแย่งลูกค้าหรือแย่งยอดวิว แย่ง engagement มันก็รุนแรงขึ้นตลอด เป็นแรงกดดันให้สื่อแต่ละค่ายต้องพยายามหาลูกค้าให้มากขึ้น ในสถานการณ์ที่เค้กผลประโยชน์ของสื่อยังก้อนเท่าเก่า แต่มีผู้เล่นมาแย่งกันมากขึ้นโดยเฉพาะดิจิทัลมีเดีย มันก็ทำให้มาตรฐานคุณภาพของสื่อลดน้อยลงไปมาก ถ้าเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน

อีกปัจจัยคือสื่อบางสื่อผันตัวเองไปเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมืองเพื่อแย่งชิงคะแนนเสียง มันก็ทำให้ความน่าเชื่อถือและมาตรฐานของสื่อลดลง และเกิดความเสื่อมโดยรวมต่อคุณภาพของประชาธิปไตยที่เราใฝ่ฝัน แต่ผมคิดว่าสื่อที่ไม่ได้สร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเองก็จะอยู่ได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะความไม่น่าเชื่อถือนั้นจะทำลายสื่อโดยตัวมันเอง

 

ถ้าสื่อมีจำนวนมากขึ้น แข่งขันกันมากขึ้น ในทางเศรษฐศาสตร์ก็น่าจะมีคุณภาพมากขึ้นหรือเปล่า

เวลาเราพูดถึงสินค้าต่างๆ ถ้ามีการแข่งขันกันมากขึ้น มันจะมีการปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้มากขึ้นเพื่อแย่งลูกค้ากัน แต่สื่อมวลชนเป็นสินค้าที่แปลก คือเมื่อมีการแข่งขันกันมาก มันกลับลดมาตรฐานบางอย่างลงไป เช่น เลี่ยงการพูดถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นถ้ามันจะกระทบกับผลประโยชน์ของตัวเองหรือกลุ่มการเมืองที่สื่อนั้นสนับสนุน ลดมาตรฐานความสมดุล ความไม่ลำเอียง ความเป็นธรรม เพื่อหวังประโยชน์ระยะสั้นจากเจ้าของทุน

สิ่งเหล่านี้ซึ่งผมเรียกว่า objectivity เคยเป็นหลักการของสื่อ กำลังหายไปพร้อมกับการแข่งกันทางธุรกิจ ในเวลาที่สังคมมีความอยากรู้และอยากเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ข่าวปลอม fake news กำลังระบาด แต่การแข่งขันของสื่อไม่ได้ตอบโจทย์นี้ ไม่เหมือนสินค้าอย่าง consumer products ที่เขาแข่งกันเพิ่มคุณภาพเพื่อดึงลูกค้า

 

ความแปลกที่คุณว่านี้ มีให้เห็นในแวดวงสื่อต่างประเทศไหม

อาจมีในบางประเทศ แต่ผมไม่ค่อยเห็นนะ อย่างเช่นสื่อในอังกฤษ ผมเห็นว่ามันมีระบบที่เป็นตัวงัดตัวคานกันเองอยู่ มีสื่อที่เป็นมาตรฐานที่ยืนหยัดอยู่กับมาตรฐานความเป็นมืออาชีพ และยังมีสื่อสาธารณะที่ไม่ได้หาเงินจากกลไกตลาดหรือกลุ่มการเมือง ทำให้เขาสามารถรักษามาตรฐานไว้ได้ อย่างเช่น BBC เพราะการอยู่รอดของเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลไกตลาดและอำนาจรัฐ

สังเกตได้ว่าหลายประเทศแถบยุโรป จะมีสื่อสาธารณะที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลไกตลาด โดยเขามีประโยชน์สาธารณะเป็นธงนำ สื่อเหล่านี้สามารถรักษาคุณภาพของตนได้ ทำให้สังคมมีลักษณะพหุนิยมตาสว่าง (well informed pluralistic society) ดีกว่าประเทศที่ไม่มีสื่อสาธารณะ

พอกลับมามองสื่อในไทย ผมคิดว่าคุณภาพมาตรฐานสื่อไทยมีแนวโน้มจะลดลงไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีกลุ่มบุคคลหรือองค์การมืออาชีพที่ยืนหยัดเพื่อรักษามาตรฐานสื่อไว้ สามารถป้อนเนื้อหาที่มีคุณภาพให้ผู้บริโภคในระยะยาว สื่อที่ไม่รักษามาตรฐานจะค่อยๆ ลดจำนวนลงไป สื่อจำพวก fake news ก็อาจยังมีอยู่ ผู้บริโภคก็อาจจะยังติดตามสื่อเหล่านั้นอยู่บ้าง แต่ผมเชื่อว่าเขาจะไม่เอามาเป็นเนื้อหาสาระในการตัดสินใจของตัวเอง เมื่อสื่อมืออาชีพสามารถตีแผ่ข้อมูลหรือข่าวที่เป็นจริงออกมาให้สังคมเทียบเคียง

 

Fake news ถูกพูดถึงเยอะมากในแง่ที่ทำให้วงการสื่อดูแย่ลง แต่ในมุมหนึ่งคนเราไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลตลอดเวลา สื่อที่มีมาตรฐานจะอยู่ได้จริงหรือไม่ ในเมื่อคนอาจจะยังเสพ fake news เพื่อความบันเทิงต่อไป

อิทธิพลของ fake news ที่ขยายตัวในระยะหลัง ส่วนหนึ่งเพราะการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย และเราเห็นว่ามีคนจำนวนหนึ่งถูกชักจูงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ในอเมริกาที่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง หรือในอังกฤษที่ออกจากสหภาพยุโรป ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากกลไกของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ ขณะเดียวกันความตระหนักของกลุ่มคนที่เห็นอันตรายจาก fake news ก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันทำให้องค์กรอย่างรัฐสภาไปจนถึงกลุ่มสื่อมืออาชีพอย่าง PBS ของสหรัฐฯ หรือ BBC ของอังกฤษ ช่วยกันหามาตรการคัดคานขึ้นมา ด้วยการตั้งทีมงาน Fact-check ตรวจสอบข้อมูล และทวนกระแส fake news ด้วยการรายงานข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงผ่านโซเชียลมีเดียแบบหนามยอกหนามบ่ง

ผมมีความเชื่อว่าสำนักข่าวขนาดใหญ่ที่เป็นสื่อสาธารณะ มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องคัดคานหรือทวนกระแส fake news ต้องตรวจสอบ fake news ที่มีค่อนข้างเยอะในทุกสังคม ไม่ใช่เฉพาะในไทย อย่างในอินเดียก็มีกรณีที่เมื่อมีการแก้กฎหมายเพื่อเข้าครอบครองแคชเมียร์ ก็มีการใช้ fake news มาสร้างกระแสชาตินิยมในหมู่คนฮินดู ทำให้การใช้อำนาจรัฐนั้นสัมฤทธิ์ผล มีการต่อต้านน้อย มันจึงเป็นหน้าที่ของสื่อมืออาชีพและสื่อสาธารณะที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐ อำนาจทุน ที่จะลุกขึ้นมาเสนอข้อเท็จจริงอีกด้าน เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกชักจูงโดยง่ายจาก fake news หรือ IO

 

คุณคิดว่าเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ fake news ถูกผลิตขึ้น

ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจรัฐกัน ตอนนี้ในโลกมันมีการต่อสู้กันทางความคิดระหว่างค่ายเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) กับกลุ่มเผด็จการอำนาจนิยม (Fascism-Neo Nazi) ที่ต้องการครองความคิดคนในสังคม ผมคิดว่าคนกลุ่มหลังจะใช้ fake news หรือ IO เพื่อกล่อมหรือสร้างชุดความคิดบางอย่างกับสังคม เพื่อวัตถุประสงค์ที่เขาพยายามผลักดัน

ถ้าติดตามดูข่าวจากสหรัฐ และยุโรป จะเห็นว่าเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่าง Liberalism กับ Fascism ซึ่งกำลังขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ เห็นได้จากชัยชนะในการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ชูเรื่องเชี้อชาติสีผิวของคนขาวเป็นใหญ่ (White Supremacy) รังเกียจคนต่างผิวต่างเผ่าพันธุ์ว่าต่ำต้อยกว่า และในยุโรป เช่น ฮังการี และออสเตรีย ก็มีการเลือกผู้นำที่มีแนวคิดเหยียดคนต่างชาติต่างผิว กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาจัดเหล่านี้ใช้ fake news และ IO ผ่านโซเชียลมีเดีย ใช้ hate speech ปลุกเร้าสร้างกระแสนิยมอย่างได้ผล มันมีบรรยากาศเหมือนย้อนกลับไปในยุค 1930-1940 ตอนที่พรรคนาซีและอุดมการณ์แบบ Fascism ได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับจนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

 

ในกรณีนี้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Facebook, Google ควรมีบทบาทอะไรไหม เพราะตัวมันเองก็มีระบบป้อนเนื้อหาให้คนเสพสื่อ

ก่อนหน้านี้พวกกลุ่มคนที่มีแนวคิดเสรีประชาธิปไตย มองว่าโซเชียลมีเดียสามารถช่วยเผยแพร่ความคิดประชาธิปไตยให้ขยายไปได้ เพื่อสู้กับพวกอำนาจนิยม อย่างเช่นกรณี ‘อาหรับสปริง’ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่ากลุ่มอำนาจนิยมก็ใช้โซเชียลมีเดียในการทวงคืนพื้นที่และเผยแพร่แนวคิดด้วยเช่นกัน

บรรดาโซเชียลมีเดียใหญ่ๆ ถึงแม้จะอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา ต่างก็ถูกตั้งคำถามว่าปล่อยให้ฝ่ายอำนาจนิยมใช้สื่อสังคมเผยแพร่ hate speech และโฆษณาชวนเชื่อ เปิดทางให้นักการเมืองขวาจัดเข้ามามีอำนาจหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้กำลังถูกตั้งคำถามว่าพวกบริษัทที่สร้าง platform ปล่อยให้มีพื้นที่แบบนี้เพื่อทำลายล้างแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย หรือละเมิดสิทธิบุคคลกันหรือเปล่า

 

รูปจาก สมชัย สุวรรณบรรณ

 

หากมองในมุมการสร้างมาตรฐานสื่อ อนาคตของโซเชียลมีเดียควรเป็นอย่างไร รัฐควรกำกับดูแลมากน้อยขนาดไหน

ตอนนี้มีกลุ่มภาคประชาชนที่เรียกร้องให้พวกเจ้าของ platform ยักษ์ใหญ่กำกับดูแลตนเอง และถอนเนื้อหาประเภท hate speech ออกไป ในขณะเดียวกันก็มีคนคัดค้านว่าการกำกับดูแล platform เหล่านี้ จะเลยเถิดไปถึงขั้นควบคุมเสรีภาพของสื่อมวลชนหรือไม่ แต่สิ่งที่เราเห็นได้ชัด อย่างเรื่องของการก่อการร้าย การใช้ hate speech หรือการเหยียดสีผิวเชื้อชาติ มันชัดเจนเพียงพอที่จะทำข้อกำหนดบางอย่างเพื่อควบคุมดูแลได้ ถ้าสื่อไม่กำกับตัวเองให้อยู่ในกรอบวารสารศาสตร์

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีเด็กฆ่าตัวตายที่อังกฤษจากสาเหตุการใช้โซเชียลมีเดีย ทำให้รัฐสภาอังกฤษต้องถกเถียงประเด็นนี้และเรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่วางแผนกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของคอนเทนท์ใน platform ของตัวเองมากขึ้น หาไม่แล้วก็อาจจะจำเป็นที่รัฐบาลต้องออกกฎหมาย

 

ในไทยจริงจังกับเรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ในสภาฯ ไทยก็ยังไม่ได้ถกกันในเรื่องนี้

ในไทยยังเป็นเรื่องใหม่พอสมควรสำหรับฝ่ายการเมือง แต่ฝ่ายความมั่นคงเขาทำล่วงหน้าไปแล้วนะ คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ (หัวเราะ) ในอังกฤษยังไม่มีกฎหมายเฉพาะแบบนี้เข้ามาควบคุมโดยตรงแบบในประเทศไทย

สมัยหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสื่อสารมวลชนไทย ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2540 มีหลายมาตราที่ออกมาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ยังพอมีบางส่วนปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2560 อยู่บ้าง แม้จะมีการออกกฎหมายลูกมาทีหลังเพื่อควบคุมการแสดงความคิดเห็นในบางเรื่องบางประเด็น แต่ผมคิดว่าโดยรวมแม้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีการลดทอนสิทธิเสรีภาพของสื่อออกไปบ้าง แต่สื่อมวลชนไทยก็ยังสามารถผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพได้ ถ้าหากสื่อปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตระหนักถึงภารกิจอันแท้จริง คือการรักษาผลประโยชน์สาธารณะและทำความจริงให้ปรากฏ

 

โดยข้อเท็จจริง คุณคิดว่าสื่อไทยตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน

ผมคิดว่าสื่อไทยยังไม่ได้ใช้สิทธิเสรีภาพของตนอย่างเต็มที่ อาจพูดได้ว่าสื่อไทยอยู่ในวัฒนธรรมของการเซ็นเซอร์ตนเองเพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวเองไว้ก่อน สื่อมวลชนบางค่ายพยายามรายงานข่าวในกรอบของกฎหมายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็โดนคุกคามอยู่ดี ไม่ว่าเป็นการคุกคามจากการทำมาหากินหรือการใช้อำนาจแฝง ทั้งที่กรอบกฎหมายไทยให้เสรีภาพไว้มากพอควร แต่สื่อมวลชนยังต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่

 

ตอนคุณทำงานที่ BBC เรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่ถูกพร่ำสอนกันไหม ถ้าเป็นในไทยมักจะอ้างถึงกันมาก แต่ปฏิบัติตามจริงค่อนข้างยาก

มันมีความต่างทั้งในวัฒนธรรมของอังกฤษเองและในวัฒนธรรมองค์กรเองด้วย หลังจากผมทำงานสื่อในไทยมาสิบกว่าปี พอไปอยู่ที่ BBC ทำให้ต้องปรับตัวพอสมควร

อย่างแรกคือวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมในสังคมแตกต่างกัน อย่างที่สองคือกฎหมายที่กำกับสื่อมวลชนก็แตกต่างกัน ที่อังกฤษแทบไม่มีกฎหมายครอบงำการทำงานของสื่อมวลชนเลย มีกฎหมายหมิ่นประมาทและการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ในประเทศไทยเราบอกว่าบุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ภายใต้กฎหมาย แล้วเราก็มีกฎหมาย 2-3 ฉบับที่ทำให้สื่อมวลชนในไทยไม่อาจเปลี่ยนแนวทางการทำงานให้เหมือนสื่อในต่างประเทศได้ เพราะว่ากรอบความคิดความเชื่อบางอย่างที่ครอบคลุมสังคมไทยอยู่ ซึ่งต่างจากอังกฤษ

มันไม่ใช่เฉพาะเรื่องของกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของสำนึกที่ต่างกันด้วย เช่นข่าวเนื้อหาเดียวกัน ถ้าอยู่ใน BBC ก็เป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้าต้องอยู่ภายใต้การกำกับอยู่ในกฎหมายไทย เนื้อหาก็แตกต่างกันทันที การไปคาดหวังให้สื่อบางคนในประเทศไทยทำเนื้อหาออกมาให้สอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในต่างประเทศอาจเป็นไปได้ยาก เพราะมันมีความรู้สึกทางวัฒนธรรมกดทับอยู่

 

BBC สอนอะไรคุณ ที่คิดว่าสื่อไทยสอนไม่ได้

หลักคิดในเรื่องประโยชน์สาธารณะ และมาตรฐานของการทำข่าวที่ต้องมีความชัดเจน มีข้อมูลตรงชัด (accuracy) ต้องอยู่ในภววิสัย (objectivity) เอาอัตตาของตัวเองออกไป ต้องยุติธรรมและเปิดให้กับความหลากหลายทางความคิด เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนที่มีความคิดที่ขัดแย้งกันให้เขาได้แสดงความคิดเห็นในพื้นที่ข่าวเดียวกัน เพื่อสังคมจะได้เข้าใจความรู้สึกของเขา นี่คือหลักการที่ BBC ให้คุณค่า จริงๆ สื่อมวลชนไทยบางส่วนเองก็ยึดถือคุณค่าแบบนี้ แต่มันอาจยังมีกรอบบางอย่างที่ครอบทับคนทำงานสื่อไทยอยู่

ผมคิดว่าเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สังคมอังกฤษ มีความเป็นเสรีประชาธิปไตยมาก เพราะสื่อมวลชนหลักของเขายึดหลักการอย่างที่ว่ามา แม้จะเป็นสื่อพาณิชย์ก็ตาม เขาก็ยึดหลักใกล้เคียงกับสื่อสาธารณะแบบ BBC ทำให้สังคมอังกฤษมีลักษณะของความอดทนอดกลั้น (tolerance) ต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ทำให้คนสามารถแสดงความเห็นที่หลากหลาย เกิดการปะทะทางความคิดกันบนพื้นที่สื่อได้โดยไม่ต้องมากล่าวหาอีกฝ่ายแบบ hate speech ว่าเป็นคนหนักแผ่นดิน

แหล่งทุนของ BBC มาจากสาธารณะ ทำให้เขาเป็นสื่อสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่างยั่งยืนได้ ด้วยประเพณีการทำงานที่สืบทอดมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และการรักษามาตรฐานขององค์กรไว้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคัดง้างกับบางสื่อที่สร้างกระแสพาสังคมออกไปในทางสุดโต่งได้

ที่ผ่านมา BBC เก็บเงินจากเจ้าของเครื่องรับโทรทัศน์ แต่เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็เปลี่ยนช่องทางการเสพสื่อ หันไปดูในคอมพิวเตอร์แทน แต่ถ้าคุณดูในคอมพิวเตอร์ก็มีข้อจำกัด คุณจะไม่สามารถดูรายการบางอย่างเช่นการถ่ายทอดสดได้อย่างมีรสชาติ หรือบางครั้งคุณจะต้องดูรายการย้อนหลังเอา ตอนนี้สื่อในอังกฤษก็เป็นการต่อสู้กันระหว่าง broadcast media กับ streaming media

จากการสำรวจปัจจุบันก็พบว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มคนที่อายุราวๆ 16-30 ปี จะใช้เวลากับ streaming กับ broadcast พอกันๆ คือประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ ต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะใช้ streaming เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ BBC ทำก็คือเอาเนื้อหาจาก broadcast media ใส่เข้าไปใน streaming เพิ่มด้วย ทำให้คนที่จ่ายเงินค่าเครื่องรับโทรทัศน์ แบบ broadcast ก็เข้าถึงคอนเทนต์แบบ streaming ได้ด้วย ก็จะได้รับเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้นไปอีก ไม่ขึ้นกับเงื่อนเวลา

 

ถ้ามองสื่อสาธารณะในไทย คุณคิดว่า ThaiPBS ทำหน้าที่บทบาทสื่อสาธารณะได้ดีหรือยัง

ต้นกำเนิดและแหล่งเงินทุนของ ThaiPBS ค่อนข้างจะต่างกับ BBC ส่วนวัฒนธรรมองค์กรของเราที่สะสมมายังมีน้อยไป แค่สิบกว่าปีเอง วิธีหาเงินทุนและการบริหารจัดการก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งในการต่อสู้กับ fake news และให้ข้อเท็จจริงกับสังคม ซึ่งขณะนี้ยังทำไม่ได้ตามเจตนารมณ์ในการก่อตั้งสื่อสาธารณะไว้

การก่อตั้งสื่อสาธารณะขึ้นในไทย เรามีต้นแบบมาจากต่างประเทศคือ BBC และสถานี PBS ของอเมริกา ปัญหาคือเมื่อก่อตั้งมาได้แล้วสิบกว่าปี ThaiPBS ยังไม่สามารถวางตัวเป็นผู้สร้างมาตรฐานของวงการสื่อได้ มันทำให้สังคมอาจขาดความอดทนเพื่อรอว่าเมื่อไหร่สื่อจะพัฒนาขึ้นมาให้น่าเคารพนับถือสำหรับประชาชนผู้บริโภคสื่อ

ผมคิดว่าสังคมไทยในฐานะที่เป็นผู้เสียภาษีให้กับ ThaiPBS ก็ต้องมีหน้าที่คอยติดตามวิพากษ์วิจารณ์ เรียกร้องท้วงติงและช่วยกันผลักดันในสิ่งที่เขายังไปไม่ถึง เพื่อให้เกิดการสร้างมาตรฐานสื่อมวลชน กรณี BBC นั้นก็ถูกสื่อสิ่งพิมพ์และประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา เพราะ BBC เป็นสื่อที่ใช้เงินภาษีประชาชน ดังนั้น ThaiPBS ก็สามารถที่จะถูกท้วงติงได้ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ได้เงินภาษีจากประชาชนว่ายังทำงานได้ไม่ตรงตามมาตรฐาน

ที่อังกฤษ BBC เขาถูกวิจารณ์จากสื่อมวลชนอื่นๆ แทบทุกวัน อย่าง The Guardian แทบจะทุกอาทิตย์ เขาจะมีข่าวและคอลัมน์ที่เขียนท้วงติง BBC ว่าเอาเงินภาษีประชาชนมาใช้ ดังนั้นเขามีสิทธิที่จะท้วงติง เพราะเนื้อหาที่ได้ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป 150 กว่าปอนด์ต่อครัวเรือนต่อปี

ในอังกฤษเป็นเรื่องปกติที่สื่อจะวิพากษ์วิจารณ์กันเอง สื่อสิ่งพิมพ์ก็จะวิจารณ์สื่อ broadcast โดยเฉพาะสื่อสาธารณะ แต่ก็มักจะวิจารณ์กันด้วยหลักการวิชาชีพ คนอ่านจะมีความเข้าใจว่าเขาจะไม่เล่นเรื่องส่วนตัว แต่จะอยู่ในหลักการ มันเป็นวัฒนธรรมและมารยาทของสื่อมวลชน แต่ในสังคมไทยมันจะมีการแซะเรื่องส่วนตัวกันมากกว่า ซึ่งในอังกฤษถ้าใครแซะเรื่องส่วนตัว ก็จะถูกเมินเฉยจากผู้บริโภคและถูกมองว่าไม่มีมารยาท

พอเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กัน เรตติ้งโดยรวม BBC กลายเป็นดีกว่าคู่แข่งสื่อพาณิชย์อื่นๆ ด้วยซ้ำ ที่ทำอย่างนี้ได้เพราะ BBC มีความหลากหลาย รายการแบบช่องบันเทิงที่เขาทำ เขาไม่ได้มองว่าเขาสู้แค่กับช่องทีวีด้วยกัน แต่เขากำลังสู้กับ Netflix ด้วย อย่างรายการพวก Natural History ก็ได้รับความนิยมมากและสามารถขายในตลาดโลกได้โดยรักษามาตรฐานรักษาจำนวนผู้ชมไว้ได้ด้วย

แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องเข้าใจว่า BBC เป็นองค์กรที่มีมายาวนาน และได้รับสิทธิในการถ่ายทอดสดทั้งกีฬา ดนตรี ทำให้คนยังนิยม แต่ที่สำคัญเขาปรับตัวตลอดเวลา เช่นการทำช่องออนไลน์มาให้ผู้ชมสามารถดูย้อนหลังออนไลน์ได้ ทำให้สามารถรักษาเรตติ้งไว้ได้ เขาไม่ต้องกังวลปัญหา disruption of digital technology แต่เขาใช้มันให้เกิดประโยชน์กับเขา

 

รูปจาก สมชัย สุวรรณบรรณ

 

การที่ BBC สามารถแข่งกับ Streaming อย่าง Netflix ได้ เป็นเพราะมีทุนมากพอที่จะผลิตเนื้อหาได้เอง อย่างเช่น ซีรีย์ ‘Sherlock’ ถ้ามอง ThaiPBS สามารถผลิตเนื้อหาที่พรีเมียมออกมาอย่างนั้นได้ไหม

ในปีสุดท้ายก่อนที่ผมจะออกมาจาก ThaiPBS ได้กำหนดแผนงานสามอย่างที่จะดำเนินงานในปีถัดไป คือผมได้ตั้งทีมงานมาศึกษาเรื่อง OTT และคิดเรื่องการเปิดแพลทฟอร์มที่จะทำให้เราสามารถสร้างความหลากหลายทางด้านเนื้อหาที่จะเข้าถึงกลุ่มคนต่างๆ ได้อีกหนึ่งแพลทฟอร์ม ที่สามารถสร้างรายได้เข้าองค์กรได้ สองคือเรากำลังทดสอบผังรายการเด็กสำหรับช่อง ThaiPBS 4 Family ที่กำลังจะออนแอร์ไตรมาสสองในปีถัดมา และสาม จัดหางบประมาณเพื่อตั้ง ThaiPBS Studio 4 เพื่อลดต้นทุนการจัดจ้างภายนอก และผลิตงานระดับส่งออกหาเงินได้ตอนนั้นยังไม่ทันได้เริ่มทำกัน ก็ต้องยุติบทบาทก่อนกำหนด

ตอนนี้ผมไม่ทราบว่ามีคนทำต่อหรือเปล่า ผมคิดว่า ThaiPBS ที่ได้เงินทุนคงที่จากการเก็บภาษีบาปปีละ 2,000 ล้านบาท ถ้าคุณไม่มีแหล่งรายได้จากที่อื่นเข้ามาเสริมเลย การขยายบทบาทสื่อสาธารณะให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศแบบ BBC คงจะยาก

ก่อนหน้านั้นผมสามารถทำรายได้เสริมด้วยการทำโครงข่ายดิจิทัล (Mux) โดยให้ช่องอื่นเช่า โครงข่ายเหล่านี้ก็นำเงินเข้ามา แต่ขณะเดียวกันเราต้องมีวิธีหาเงินแบบที่ BBC ทำ เช่น การขายเนื้อหา ผมคิดว่าถ้าเรามี OTT ขึ้นมาอีกหนึ่งแพลทฟอร์ม แล้วลงทุนสร้างคอนเทนท์ใหม่ๆ สื่อสาธารณะไทยจะไปได้ไกลกว่าเดิม

ตอนนั้นจำได้ว่าให้มีการจัดสรรงบประมาณเบื้องต้น 50 ล้านบาทเพื่อจะสร้างสตูดิโอใหม่ เรียกว่า ThaiPBS Studio 4 เอาไว้สำหรับลดต้นทุนการจ้างผลิตภายนอก และผลิตเนื้อหาทั่วไปและขายในต่างประเทศได้ด้วย เข้าใจว่าตอนนี้เลิกไปหมดแล้ว และไปซื้อรายการเนื้อหาคุณภาพเข้ามาแทน แต่ผมคิดว่ามันไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาที่คุณภาพดีจะต้องใช้เงินเยอะเสมอไป เราอาจสามารถผลิตเนื้อหาบางอย่างที่ลงทุนน้อยแต่มี Creativity มาก ก็ได้ อย่างซีรีย์ Mr.Bean ของอังกฤษก็ลงทุนน้อย แต่สามารถหารายได้จากทั่วโลก มันเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ และวิธีคิด

 

คุณพูดถึงวัฒนธรรมการวิจารณ์ มองเห็นการวิพากษ์วิจารณ์กันเองของสื่อไทยบ้างไหม

มันยังไม่เกิดขึ้น ผมก็สงสัยอยู่ว่าทำไมคนทำสื่อมักจะไม่วิพากษ์วิจารณ์กันในเรื่องมาตรฐานทางวิชาชีพ เขาอาจทะเลาะกันเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าการลงทุน แต่เรื่องมาตรฐานของเนื้อหาผมยังไม่เห็นการวิจารณ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

สมัยที่ผมยังอยู่ ThaiPBS ผมเคยคุยกับทีมงานเรื่องจัดให้มีรายการเสียดสีเนื้อหาข่าวและรายการของสื่อมวลชนด้วยกัน ก็มีเสียงคัดค้านว่าเป็นการเปิดประเด็นให้คนอื่นเขามาหาเรื่องเรา (หัวเราะ) เขาอ้างว่าเมื่อไหร่ที่เราไปเปิดแผลคนอื่น คนอื่นก็จะต้องมาเปิดแผลเรา มันแปลว่าอะไร ผมคิดว่าคนทำสื่อก็อย่าทำให้ตัวเองมีแผลเยอะสิ เรากลัวขนาดนั้นเลยเหรอ

ผมคิดว่ามันมีความคิดหลายอย่างที่เราไม่สามารถผลักดันได้ เพราะว่าคนในองค์กรที่โตมากับวัฒนธรรมสื่อไทย จะรู้สึกว่าเป็นการทำอะไรที่ไม่คุ้นเคย ไม่เหมือนสิ่งที่เคยทำมาก่อนหน้า มันผิดวัฒนธรรมของเขา เขาก็ไม่อยากทำ มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมไทยด้วย อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการเปลี่ยนสำนึกของคน

 

นอกจากไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเองของสื่อไทยแล้ว ว่ากันว่าตัวสื่อเองก็แทบไม่ได้แข่งขันกันในทางเนื้อหาจริงๆ เพราะสุดท้ายเนื้อหาที่ออกมาก็เหมือนกันหมด

ผมเห็นการแข่งขันกันในลักษณะที่เป็นรูปแบบมากกว่าการแข่งขันในเรื่องเนื้อหาสาระ เช่น พอมีช่องหนึ่งประสบความสำเร็จในการทำรายการเล่าข่าว ก็จะมีอีก 20 ช่องทำรายการในลักษณะที่คล้ายกันออกมา มันทำให้คุณภาพของเนื้อหาตกลงไปกว่าเก่า เพราะบางทีคุณก็ไปเอาเรื่องที่ไม่ใช่ข่าวมาเล่าด้วย

แต่ตอนนี้เริ่มเห็นว่าในบรรดาสื่อออนไลน์ เริ่มมีการแข่งกันในเชิงเนื้อหาแล้ว เพราะประชาชนตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่จะมีการปฏิรูปมาตรฐานสื่อไทยเสียที เริ่มมีคนที่ประกอบวิชาชีพสื่อแล้วแยกตัวออกจากสื่อกระแสหลักมาทำสื่อเล็กๆ ก็มี ผมคิดว่านี่เป็นความคิดเริ่มต้นที่ดี แต่เป็นห่วงว่าเขาจะอยู่รอดได้ทางธุรกิจหรือไม่ แม้ว่าโซเชียลมีเดียทำให้สื่อทำงานได้ในต้นทุนที่ต่ำลง และคนในประเทศไทย 80% มีสมาร์ทโฟนสามารถเข้าถึงสื่อได้ เราก็หวังว่าสื่อเล็กๆ ที่ถือมาตรฐานที่ดี จะสามารถพาตัวเองเติบโตไปได้เรื่อยๆ

ผมคิดว่าสำหรับวงการสื่อ ไม่ว่าจะในไทยหรือในต่างประเทศ ถ้าต้องการต่อสู้กับสื่อที่ไม่ได้มาตรฐานและ fake news เราต้องอาศัยสื่อมืออาชีพ ซึ่งมีเงินทุนมากพอสมควร ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐและอำนาจทุนพาณิชย์ โดยมีทุนจากสังคมที่ยอมเสียสละให้องค์กรนั้นสามารถพัฒนาและสร้างเนื้อหาขึ้นมาเป็นมาตรฐานที่ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบกับเนื้อหาของสื่อที่ไม่ได้มาตรฐานได้ ผู้บริโภคจะเห็นว่าอย่างน้อยยังมีสื่อที่ทำเนื้อหาคุณภาพ และที่สำคัญผู้บริโภคที่ชอบบ่นว่าสื่อไทยไร้มาตรฐาน ต้องลุกขึ้นมาประกาศว่าต้องการสื่อคุณภาพ และสนับสนุนคนทำสื่อคุณภาพ

 

ในไทยมีกลุ่มผู้บริโภคสื่อที่ต้องการสื่อคุณภาพอยู่จริงไหม

มันมีอยู่เป็นพักๆ แต่เรายังไม่เห็นการรวมตัวกันเป็นขบวนการที่มีแรงกดดันชัดเจน ที่จะสามารถคัดง้างกับสื่อไร้คุณภาพที่สร้างความเสื่อมให้กับสังคมได้ ในอังกฤษมีขบวนการผู้บริโภคที่สามารถกดดันธุรกิจขนาดยักษ์ให้ถอนโฆษณาจากหนังสึอพิมพ์ที่ละเมิดจริยธรรมสื่อ จนหนังสือพิมพ์นั้นต้องปิดตัวเองแม้ว่าเป็นกิจการที่มีประวัติยาวนานกว่าร้อยปี

 

แปลว่าสื่อสาธารณะยังคงจำเป็นในสังคมไทย ?

ถ้าพูดในแง่หลักการ ผมคิดว่าจำเป็น ยิ่งมี fake news และสื่อประเภทน้ำเน่าจำนวนมากเท่าใด สื่อสาธารณะยิ่งจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น เราต้องมีสื่อที่ไม่ขึ้นกับกลไกตลาด ส่วนขีดความสามารถในการสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพหรือความกล้าหาญทางจริยธรรมนั้น เป็นประเด็นที่เราต้องไปว่ากันต่อ

ตอนที่ผมยังอยู่ ThaiPBS ก็ยังไม่สามารถทำสำเร็จได้ในเวลา 2-3 ปี แต่ผมคิดว่าในระยะยาวต้องทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง ถ้าหากเราต้องการสังคมที่มีความอดทนต่อความหลากหลายแตกต่างทางความเชื่อความคิด เราต้องทำให้มีสื่อที่สามารถตรวจสอบสื่อที่มีลักษณะชี้นำทางการเมืองด้านเดียว และสร้างประเพณีการวิพากษ์วิจารณ์กันเองของสื่อให้ได้

 

ในเชิงทัศนะทางการเมืองของสื่อ คุณเคยเขียนสเตตัส Facebook เสนอให้ ThaiPBS เป็นเจ้าภาพจัดรายการนายกฯ พบประชาชน โดยให้นายกฯ พูด 30 นาที และให้ฝ่ายค้านหรือภาคประชาชนในเวลาที่เท่ากัน เลยทำให้นึกถึงบทบาทของ ThaiPBS ในช่วงห้าปียุค คสช. คุณมองอย่างไร

หลังการยึดอำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มันมีการบังคับให้ทุกสื่อต้องกลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐประหาร ส่วนตัวผมพยายามที่จะคัดง้างกับผู้มีอำนาจในช่วงนั้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กรรมการนโยบายในยุคนั้นก็มีความเห็นหลากหลาย ไม่ใช่กำแพงที่จะมาปกป้องคนทำสื่อ อาจจะมีบางคนลำเอียงเข้าข้างรัฐประหารด้วยซ้ำไป

ผมเคยเขียนจดหมายไปถึงสำนักนายกรัฐมนตรีว่าการบังคับแบบนั้นควรจะยกเลิก เพราะมันขัดแย้งกับ พ.ร.บ.สื่อสาธารณะ หลังจากนั้นจำได้ว่านายกรัฐมนตรีก็ไปพูดกับสื่อที่ทำเนียบว่า ThaiPBS เอาเงินรัฐบาลไปใช้แล้วทำไมขัดแย้งกับรัฐบาล แสดงว่าท่านไม่เคยเข้าใจเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สื่อสาธารณะ มันไม่ใช่เงินรัฐบาล มันเป็นเงินมาจากประชาชน และตอนนั้นผมก็ถูกตำหนิจากผู้มีอำนาจทั้งภายนอกและภายในองค์กรด้วย

แต่ผมมองว่ามันผิดหลักสื่อมวลชนโดยทั่วไป ตอนนั้นเราอยู่ในภาวะที่จำยอม ถ้าเกิดเราทำอะไรผิดใจผู้มีอำนาจ จะมีเสียงโทรศัพท์เข้ามาทั้งตั้งคำถามและพูดทำนองว่าขอความร่วมมือ แต่โทนเสียงมันเป็นการขู่บังคับ ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามเท่ากับเราทุบหม้อข้าวตัวเอง แล้วคนงาน 900 กว่าคนคงจะลำบาก มันไม่มีประโยชน์ที่จะไปคัดง้างอะไร ตอนนั้นถ้าเราโต้แย้งอะไรออกไป ก็จะมีโทรศัพท์เข้ามา หรือมีรถจี้ปทหารมาจอดหน้าตึก

 

ในมุมกลับกัน ถ้าให้บรรณาธิการ BBC มานั่งอยู่ใน ThaiPBS ในวันที่ทหารยึดอำนาจ คุณคิดว่าเขาจะทำความเข้าใจอย่างไร

จริงๆ แล้วเรามีไกด์ไลน์ขององค์กรที่อนุมัติโดยคณะกรรมการนโยบายชุดแรก ที่มีอาจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม เป็นประธานบอร์ด ว่าในภาวะที่เกิดการยึดอำนาจรัฐประหารในประเทศ ThaiPBS จะทำหน้าที่สื่อจนถึงวาระสุดท้าย

ผมจำได้ว่าในวันนั้นผมลงไปเป็นประธานในที่ประชุมห้องข่าว ทีมข่าวเราส่วนใหญ่ก็ยังบอกว่าเราจะทำหน้าที่รายงานข่าวตามขั้นตอนไกด์ไลน์ของเรา เมื่อเราถูกสั่งไม่ให้ออกอากาศทางโทรทัศน์แล้ว เราก็ไปออกอากาศทาง YouTube เราทำหน้าที่ไปจนถึงสองทุ่มกว่า เราจัดตั้งหน่วยข่าวโอบีตามที่ต่างๆ ที่มีการชุมนุมของทั้งฝ่ายเสื้อแดงและ กปปส. แล้วก็รายงานสดเข้ามาที่สถานี ทั้งจากราชประสงค์ พุทธมณฑล

ผมจำได้ว่ามีการสัมภาษณ์สดนักวิชาการสลับการรายงานสดโอบีจากสนาม นักวิชาการคนสุดท้ายที่สัมภาษณ์สดคือ อาจารย์โคทม อารียา อดีต กกต. มาให้ความเห็นสดๆ แล้วอยู่ๆ ก็ถูกตัดสายกลางอากาศ

สุดท้ายก็ต้องหยุดเพราะทหารเข้ามาเต็มสตูดิโอ แล้วก่อนหน้านั้นระหว่างที่ผมประชุมกับทีมงานข่าว ก็มีทหารระดับพันตรี โทรเข้ามาที่โทรศัพท์มือถือผม อ้างว่ามีหน้าที่มาคุ้มครองความปลอดภัยของผมด้วย (หัวเราะ) ผมจึงมอบหมายงานกระจายให้ผู้บริหารระดับรอง ผอ. รับหน้าที่ตามเนื้องาน สุดท้ายผมโดนถล่มในที่ประชุมพนักงานว่าทำให้องค์กรตกอยู่ในสภาพสุ่มเสี่ยงจะทำให้เขาตกงาน ผมก็บอกว่าเราทำตามไกด์ไลน์ที่เรามีอยู่ปกติ ไม่ได้ทำอะไรผิดจากนั้น

ที่เล่ามานี้ก็เพื่อจะบอกว่า BBC เขาจะมีการกำหนดกระบวนวิธีการทำงานในสถานการณ์ต่างๆ และก็จะทำตามขั้นตอนนั้น แล้วสะสมกันมาเป็นประเพณีติดต่อกันมาเป็นรุ่นๆ ผิดถูกประการใดก็จะมีการสรุปบทเรียนเป็นระยะๆ แล้วก็อัพเดทไกด์ไลน์นั้น เป็นแนวปฏิบัติต่อๆ กัน กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรต่อไป

 

รูปจาก สมชัย สุวรรณบรรณ

 

รัฐประหารผ่านมา 5 ปี คุณคิดว่าวงการสื่อไทยได้รับบทเรียนหรือยังว่าการรัฐประหารเป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วย

ผมคิดว่าสื่อกระแสหลักคิดแค่ว่าพอรัฐประหารแล้วสื่อทำมาหากินลำบากขึ้น (หัวเราะ) ถ้าหากพูดถึงบทบาทของสื่อ มันก็มีข้อเท็จจริงว่าสื่อเองก็มีส่วนทำให้เกิดการรัฐประหารด้วย ช่วงที่ กปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพฯ เขาสามารถที่จะกำหนดประเด็นข่าว และสื่อก็ถูกชี้นำให้ตามประเด็นของ กปปส. แล้ว ThaiPBS ก็ถูกขบวนผู้ประท้วง กปปส. บุกมายึดด้วย จำได้ว่าตอนนั้นมีคนขึ้นเวที กปปส. สั่งปลด ผอ.ไทยพีบีเอส ด้วย

จริงๆ ตั้งแต่ที่เขาประกาศปิดกรุงเทพฯ มันก็ค่อนข้างชัดว่าสิ่งที่จะตามมาคือการยึดอำนาจรัฐประหาร ตอนนั้นเราอาจจะยังไหวตัวไม่ทัน แต่พอถอยหลังออกมามองภาพใหญ่ เราเห็นว่ามันเป็นขบวนการเอื้อให้เกิดรัฐประหาร โดยที่สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดประเด็นข่าวจากกลุ่ม กปปส. มาตลอด

การที่สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือ จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม มันทำให้การยึดอำนาจสามารถทำได้อย่างราบรื่นง่ายดาย มันจึงสำคัญมากที่เราต้องเรียกร้องให้สื่อทำหน้าที่เป็นสื่อมืออาชีพอย่างแท้จริง มีความระมัดระวังในการไม่ถูกดึงเข้าไปในขบวนการของผู้ที่ต้องการรัฐประหาร

บทเรียนนี้ก็คือว่า ถ้าหากเราระแวดระวังกันสักหน่อย การยึดอำนาจครั้งนั้นอาจจะไม่สามารถทำได้ง่ายขนาดนั้นก็ได้ บางคนอาจจงใจใช้สื่อทำให้เกิดเงื่อนไขการยึดอำนาจ บางสำนักค่อนข้างกระตืนรือร้นในการกระตุ้นให้ยึดอำนาจ สื่อกระแสหลักก็ถูกดึงเข้าไปในการกำหนดประเด็นข่าวในทุกๆ วัน โดยไม่มีโอกาสที่จะหาข้อมูลอื่นมาคัดง้างข้อมูลจาก กปปส. เลย

 

สื่อตกอยู่ในวาทกรรมการตรวจสอบนักการเมืองเกินไปไหม จนลืมการตรวจสอบตัวละครทางการเมืองกลุ่มอื่นๆ

ถ้าเราพูดถึงนักการเมือง ไม่ว่าเขาจะมาในชุดสูทหรือชุดทหาร หรือมาในคราบนักวิชาการ ถ้าเขาต้องการอำนาจ พวกเขาก็คือนักการเมืองทั้งนั้น ถ้าเรามองว่าการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้งเป็นเรื่องชั่วร้าย แล้วเราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม นักการเมืองที่ชั่วร้ายมันมีทั่วโลก ในประเทศไทยก็มี ในยุโรปก็มี แต่ในการต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตย มันเป็นหน้าที่ของสื่อที่จะต้องแยกแยะให้เห็นว่านักการเมืองแต่ละคนมีจุดมุ่งหมายอะไร มีมูลเหตุจูงใจอะไร นี่คือหน้าที่ของสื่อที่จะต้องสะท้อนภาพให้ชัด แต่สื่อไทยอาจมองไม่ออกหรือตั้งใจมองข้ามไป เลยเห็นแต่นักการเมืองใส่สูทเท่านั้นที่ควรถูกตรวจสอบ ทั้งที่นักการเมืองที่มาในรูปแบบอื่นนั้นอาจจะชั่วร้ายกว่า

ทหารก็เป็นนักการเมือง เพียงแต่เขาไม่ได้พูดว่าเขาเป็นนักการเมือง การที่เขาเข้าสภาโดยการสวมเครื่องแบบหรือได้รับการแต่งตั้งเข้าไป เขาก็เป็นนักการเมืองอยู่แล้ว ยิ่งผู้บัญชาการทหารบกออกมาให้สัมภาษณ์ บอกว่าทหารจะไม่ยุ่งการเมือง มันจะเป็นรูปธรรมก็ต่อเมื่อทหารแสดงสัจจะด้วยการลาออกจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภา เพราะในสภาเป็นเรื่องการเมือง คุณต้องถอนตัวออกมาจากสภา ถึงจะเกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรม

 

เวลาที่คุณพูดถึงมาตรฐานสื่อ หลักสูตรนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยไทยควรเรียนรู้อะไรเป็นลำดับต้นๆ 

ผมไม่เคยเรียนวารสารศาสตร์หรือนิเทศศาสตร์ แต่เท่าที่ติดตามมาในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ ผมคิดว่าต้องถือหลักประโยชน์สาธารณะมาก่อน แล้วต้องพยายามมองทะลุไปถึงมูลเหตุจูงใจของตัวละครแต่ละคน ไม่ว่าจะเข้าใจได้มากน้อยขนาดไหน แต่ก็ต้องพยายามที่จะศึกษามูลเหตุจูงใจเหล่านั้น

คำพูดที่บอกว่าวารสารศาสตร์ตายแล้ว ผมว่าไม่จริง ยิ่งเกิดเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้ โซเชียลมีเดียที่มีการบิดเบือน มีการสร้าง fake news วารสารศาสตร์ยิ่งมีความจำเป็นมากกว่าเดิม ต้องเสริมเขี้ยวเล็บนักวารสารศาสตร์เพื่อสร้างการรู้เท่าทัน และสร้างความจริงให้ปรากฏ การต่อต้าน fake news ต้องเริ่มตั้งแต่ในการเรียนการสอนวารสารศาสตร์เลย ครูบาอาจารย์ในวงการสื่อสามารถปูพื้นฐานหลักการไว้ให้เด็กๆ ได้ แม้ว่าในการทำงานจริงจะต้องใช้ประสบการณ์ก็ตาม เราต้องผลิตนักวารสารศาสตร์คุณภาพออกมาให้มากเพื่อคัดง้างกับสื่อเทียม สื่อที่สร้าง fake news และ hate speech

 

ในฐานะคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์มา คุณมองเห็นความคุ้มค่าในการลงทุนสร้างองค์กรสื่อไทยระดับประเทศใหม่ๆ อยู่บ้างไหม ไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อสาธารณะก็ได้

ผมคิดว่ามีนักลงทุนที่มองเห็นคุณค่าของสื่อมาตรฐานอยู่ ไม่แน่ใจว่าในเมืองไทยมีมากน้อยแค่ไหน แต่ในสหรัฐอเมริกา เจ้าของ Amazon ก็เข้าไปซื้อหนังสือพิมพ์ Washington Post  ซึ่งมีปัญหาด้านการเงินมาก แล้วเขาก็อัดฉีดเงินเข้าไป และตัวเจ้าของก็ไม่เข้าไปยุ่งในกองบรรณาธิการเลย ตอนนี้เขาสามารถกลับมายืนได้ด้วยตัวเองแล้ว เนื้อหาที่มีมาตรฐานก็ออนไลน์ไปทั่วโลก หารายได้ทางดิจิทัล

สำหรับประเทศไทย ผมไม่มั่นใจว่านักลงทุนในประเทศไทยจะมีความคิดถึงเรื่องนี้มากน้อยขนาดไหน ส่วนใหญ่แล้วเป็นการลงทุนแบบค้ากำไรหรือเสริมธุรกิจอื่นๆ บ้าง และที่เห็นเด่นชัดตอนนี้เป็นการลงทุนในสื่อเพื่อเป็นฐานเสียงการเมืองของตนเอง และทำลายล้างคู่ต่อสู้

ผมคิดว่าการลงทุนสร้างสื่อไทยให้มีคุณภาพจะมีความคุ้มค่า เพราะคุณภาพสื่อสร้างคุณภาพของประชาธิปไตย ถ้ากลุ่มทุนที่คิดว่าการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง จะมีผลให้สังคมและระบบเศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้นมา แล้วส่งผลต่อเนื่องเป็นประโยชน์ต่อการค้าขาย พวกเขาก็ควรเริ่มต้นด้วยการสนับสนุนให้สื่อมีคุณภาพ ผมคิดว่านั่นคงเป็นแรงจูงใจให้นักธุรกิจใหญ่อย่างเจฟ เบซอส เจ้าของกิจการ Amazon ให้เงินทุนสนับสนุน Washington Post ทั้งนี้คงเพราะสโลแกนของ WP คือ ‘Democracy Dies in Darkness’ เบซอสเป็นนักธุรกิจที่มองโลกยาวๆ เขาคงคิดว่าสื่อคุณภาพจะสร้างความเข้มแข็งให้ประชาธิปไตย และประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจะทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง

ผมอยากเห็นการก่อร่างขบวนการกลุ่มผู้บริโภคให้มาสนับสนุนสื่อที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้สื่อดำรงอยู่ได้ อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ The Guardian เขาก็เปิดขอสนับสนุนจากการบริจาคสาธารณะ เขาจะมีข้อความต่อท้ายทุกๆ เนื้อหาว่าการที่เขาสามารถนำเนื้อหาที่ดีมาให้อ่านกันได้ เพราะการสมัครสมาชิกหรือบริจาคเงินของผู้อ่าน ซึ่งเขาประสบความสำเร็จ มันสะท้อนว่าในสังคมอังกฤษ ผู้บริโภคสื่อมีความคิดว่าต้องการสื่อที่มีคุณภาพ เขาจึงพร้อมจ่าย แบบที่เขาพร้อมจ่ายปีละร้อยกว่าปอนด์ เพื่อมีสื่อสาธารณะที่มีคุณภาพแบบ BBC

 

รูปจาก สมชัย สุวรรณบรรณ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save