fbpx
สุเทพโดนเท? : ที่มาที่ไปของขบวนการ 'ภาคประชาสังคมฝั่งอนุรักษนิยม' ในไทยและเทศ

สุเทพโดนเท? : ที่มาที่ไปของขบวนการ ‘ภาคประชาสังคมฝั่งอนุรักษนิยม’ ในไทยและเทศ

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

 

ข้าพเจ้าได้ยินเรื่องราวความผิดหวังของชาว กปปส. เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองและบทบาททางการเมืองของลุงกำนันอยู่สักพัก แต่เพิ่งเห็นเป็นข่าวออกสื่อ เมื่อลุงกำนันถูกชาวบ้านตะโกนต่อว่า แสดงความผิดหวัง ขณะที่เจ้าตัวเดิน ‘คารวะแผ่นดิน’ หาเสียงสนับสนุนให้พรรครวมพลังประชาชาติไทยในย่านธุรกิจใจกลางนครหลวง

นี่อาจเป็นจังหวะดี ให้เราย้อนคิดถึงที่มาที่ไปของขบวนการภาคประชาสังคมฝั่งอนุรักษนิยม อย่าง กปปส. (และกลุ่มก่อนหน้าอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พธม.) รวมถึงสะท้อนความผิดหวังของผู้ที่เคยสนับสนุน กปปส. ว่ามาจากฐานวาทกรรมของ กปปส. อย่างไร โดยข้าพเจ้าอยากสรุปเปรียบเทียบ กปปส. กับขบวนการภาคประชาสังคมฝั่งอนุรักษนิยมในอินเดียและบราซิล

ช่วงหลายปีมานี้ มีงานศึกษาเกี่ยวกับ ‘อนารยะประชาสังคม’ (uncivil society) ทั้งในยุโรป ลาตินอเมริกา และเอเชีย[1] งานศึกษาเรื่องนี้ในสังคมไทยมักชี้ว่า พธม. และ กปปส. ถือเป็นอนารยะประชาสังคม คือเป็นการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อต้านระบอบประชาธิปไตย มีวาระชาตินิยม และเลือกใช้ยุทธวิธีรุนแรงในหลายสถานการณ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตน ได้แก่ การพิทักษ์ระเบียบทางการเมืองแบบดั้งเดิมซึ่งกลุ่มเหล่านี้เห็นว่ากำลังถูกคุกคามจากทั้งภายในและภายนอก[2] งานเหล่านี้มักสืบสาวรากทางประวัติศาสตร์ของอนารยะประชาสังคมไทยไปยังกลุ่มกระทิงแดง หรือนวพล ซึ่งปฏิบัติการต้านคอมมิวนิสต์ (โดยเฉพาะการปราบปรามนักศึกษาวันที่ 6 ตุลาคม 2519) โดยชี้ว่ากลุ่มเหล่านี้สัมพันธ์กับชนชั้นนำดั้งเดิม กลุ่มก้อนในหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงได้รับสนับสนุนจากสหรัฐฯ อย่างไร[3]

พธม. และ กปปส. มีลักษณะหลายประการร่วมกับฝ่ายขวาเก่า โดยเฉพาะความพยายามอนุรักษ์ระเบียบทางการเมืองดั้งเดิม แต่ก็มีลักษณะต่างออกไปอย่างน้อยสามประการ ได้แก่

 

  • พธม. และ กปปส. เป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมขนาดใหญ่ มีพันธมิตรจากกลุ่มซึ่งมิใช่ขวาเก่า หรือกระทั่งเคยต้านขวาเก่าเสียด้วยซ้ำ เช่น กลุ่มเอ็นจีโอด้านการพัฒนา หรือสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงกลุ่มศาสนาอย่างสันติอโศก นอกจากนี้ยังมีชนชั้นกลางจำนวนมากเป็นฐานสนับสนุนต้านระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง (หรือที่ถูกขนานนามว่า ‘เผด็จการรัฐสภา’)

 

  • เหตุที่ พธม. และ กปปส. ขยายฐานสนับสนุนได้กว้างขวางและหลากหลายเช่นนี้ ก็เพราะกระแสต้านอดีตนายกฯ ทักษิณ และสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าระบอบทักษิณ ซึ่งแม้ยึดโยงเสียงประชาชนจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีพฤติกรรมและนโยบายออกไปในทาง ‘อเสรีนิยม’ เช่น มุ่งปราบปรามกลุ่มเอ็นจีโอและสื่อที่ค้านนโยบายพัฒนาทางเศรษฐกิจ ละเลยการตรวจสอบจากองค์กรอิสระ การคอร์รัปชันและเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามปราบปรามยาเสพติดและในสามจังหวัดชายแดนใต้ ฉะนั้นกลุ่มที่ไม่พอใจต่อนโยบายของทักษิณและพรรค จึงขยายไปยังภาคประชาสังคมส่วนที่ส่งเสริมหลักการและคุณค่าเสรีนิยมเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส[4]

 

  • การพิทักษ์คุณค่าดังกล่าวให้ ‘พ้นภัย’ จากเงื้อมมือนักเลือกตั้ง จึงกลายเป็นเป้าหมายทางศีลธรรม ซึ่งขับเคลื่อน พธม. และ กปปส. ทั้งสองกลุ่มผนวกวิธีคิดแบบเสรีนิยมว่าด้วยความโปร่งใสและธรรมาภิบาล เข้ากับโลกทัศน์แบบไทยๆ ว่าด้วย ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ ในฐานะผู้นำทางการเมืองอันชอบธรรม[5] ประดิษฐกรรมทางวาทกรรมเช่นนี้ยิ่งช่วยขยายฐานมวลชนของ พธม. และ กปปส. เพราะการต้านทุนสามานย์และรัฐบาลโกง ถูกผนวกเข้ากับการปกป้องระเบียบทางการเมืองดั้งเดิมที่ยกย่องผู้นำซึ่งมีศีลธรรม มากกว่าผู้นำซึ่งมาจากการเลือกตั้งอัน ‘ฉ้อฉล’ ผู้นำอันทรงศีลนี้จึงอยู่เหนือการเมือง และมีความ ‘สะอาด’ เพราะการเมืองเป็นเรื่องสกปรก

 

ลักษณะข้างต้นเป็นคำมั่นสัญญาของแกนนำ กปปส. ต่อมวลมหาประชาชน ถ้ายังจำกันได้ ลุงกำนันและเพื่อนๆ เรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองเพื่อ ‘ล้าง’ และ ‘ทำความสะอาด’ ระบอบเลือกตั้งเดิมและสร้างการเมืองใหม่ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับการเลือกตั้ง) เพื่อให้สังคมไทยพ้นภัย ‘นักการเมืองชั่ว’ คำสัญญานี้สร้างความหวังมหาศาลแก่ผู้สนับสนุน กปปส. และกลายเป็นฐานความชอบธรรมแก่การรัฐประหารเมื่อปี 2557

ผ่านไปสี่ห้าปี ความหวังนี้ดูจะริบหรี่ เพราะสำหรับคนจำนวนมาก รัฐบาลรัฐประหารแทบไม่ต่างจากรัฐบาลเลือกตั้ง คือมีกระแสข่าวคอร์รัปชันอยู่เนืองๆ แต่ไม่มีการสืบสวน คนโกงยังคงลอยหน้าหรือกระทั่งครองอำนาจต่อไป ความหวังว่าจะเกิด ‘การปฏิรูป’ จึงกลายเป็นความผิดหวัง

ความผิดหวังดอกที่สอง ปรากฏขึ้นเมื่อลุงกำนันเดินออกหาเสียงให้พรรคการเมืองที่ตนสนับสนุน ไม่ว่าจะอ้างอย่างไร ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเห็นว่าผู้นำซึ่งเคยปวารณาตนว่าจะอยู่เหนือ/ไม่ยุ่งกับการเมืองสกปรก กลับตระบัดสัตย์เสียเอง ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าวลีซึ่งผู้คนริมทางตะโกนใส่ลุงกำนัน คือ “ไหนว่าไม่ยุ่งการเมือง” หรือ “โกหก” การจะเข้าใจภาวะทางอารมณ์ของคนเหล่านี้ได้ ต้องเข้าใจตรรกะและวาทกรรมหลักของ กปปส. ที่แยกขบวนการตนออกจากความเป็นการเมือง ซึ่งถือว่าสกปรก ฉะนั้นอดีตผู้นำ กปปส. ที่ลงมาคลุกฝุ่นการเมือง จึงมิเพียงกลับคำเท่านั้น แต่กลับไปหาสิ่งสกปรกซึ่งครั้งหนึ่งเคยพยายามชำระล้าง

คลื่นความหวังและความผิดหวังที่โหมใส่ กปปส. และแกนนำ ยังสะท้อนภาพใหญ่ของขบวนการภาคประชาสังคมฝั่งอนุรักษนิยมในบริบทโลก[6] ปรากฏการณ์ กปปส. เป็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งของขบวนการเหล่านี้ ในหลายประเทศ เช่นตุรกี ยูเครน และอูกานดา ภาคประชาสังคมฝั่งอนุรักษนิยมอยู่ฝ่ายเดียวกับประชาธิปไตย เพราะส่งเสริมนโยบายรัฐบาลเลือกตั้ง แม้นโยบายดังกล่าวจะถือว่า ‘อนุรักษนิยม’ ในสายตาของคนในโลกสมัยใหม่ เช่น ส่งเสริมบทบาทของกลุ่มศาสนาให้สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ หรือโอบอุ้มกลุ่มชาตินิยมให้ต่อสู้กับภัยคุกคามจากเพื่อนบ้านซึ่งต้านระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น

กรณีที่คล้าย กปปส. ทั้งในแง่บริบทการเมืองและองค์ประกอบของภาคประชาสังคมอนุรักษนิยม คืออินเดียและบราซิล ขบวนการในสองประเทศพัฒนาขึ้นในบริบท ‘ความกระวนกระวายทางวัฒนธรรม’ (cultural anxiety) ผู้คนรู้สึกว่าวิถีชีวิตและคุณค่าดั้งเดิมกำลังถูกคุกคามโดยการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม

ในอินเดีย กลุ่มประชาสังคมฐานของพรรครัฐบาลปัจจุบัน ส่งเสริมวาระ ‘ฮินดูชาตินิยม’ ซึ่งมุ่งขจัด ‘ความสกปรกทางศีลธรรม’ ออกจากสังคมอินเดีย ความสกปรกดังกล่าวมาจากชนกลุ่มน้อย ซึ่งขัดขืนต่อมาตรฐานทางศีลธรรมของชาวฮินดูส่วนใหญ่ รวมถึงนักการเมืองฉ้อฉลและวิถีชีวิตสมัยใหม่ ซึ่งกำลังกลืนกินความบริสุทธิ์ทางวัฒนธรรมของอารยธรรมฮินดู

ส่วนในบราซิล ชนชั้นกลางในเมืองและคนรุ่นใหม่ ผิดหวังกับนโยบายพรรคฝ่ายซ้ายซึ่งครองอำนาจมายาวนาน รวมถึงข่าวฉาวว่าอดีตประธานาธิบดีและพรรคพวกคอร์รัปชัน ผู้คนยังกังวลว่านโยบายพรรคฝ่ายซ้าย จะสนับสนุนคนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และเพศสภาพให้มีสิทธิเสียงมากขึ้นในสังคมบราซิล ภาคประชาสังคมเหล่านี้รวมตัวสนับสนุนอดีตนายทหารขวาจัดอย่าง Jair Bolsonaro ให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อปลายเดือนตุลาคม ประธานาธิบดี Bolsonaro เคยกล่าวสนับสนุนระบอบเผด็จการทหาร และใช้วาทะเหยียดเชื้อชาติ สีผิว และเพศในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ประกาศตนพิทักษ์ศาสนาคริสต์จากวัฒนธรรมไร้รากไร้ศาสนา

ความกระวนกระวายข้างต้น ผนวกกับความล้มเหลวของพรรคการเมืองกระแสหลัก และการที่พรรคขวาจัดขยับใช้วาทกรรมส่วนกลางมากขึ้น (โดยเฉพาะเรื่องการต้านคอร์รัปชัน) ส่งผลให้ฐานมวลชนของภาคประชาสังคมอนุรักษนิยมในอินเดียและบราซิล ขยายวงกว้างและมีความหลากหลายคล้ายกับกรณีไทย แม้ว่าทั้งสองสังคมยังรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ได้อยู่ แต่ในอินเดีย พรรคและมวลชนอนุรักษนิยมส่งผลให้คุณภาพประชาธิปไตยถดถอย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีเอ็นจีโอ นักข่าว ศิลปินและนักเขียน ปัญญาชน และขบวนการต่อสู้ชนกลุ่มน้อยถูกปราบปรามโดยรัฐบาล ‘ตำรวจศีลธรรม’ ซึ่งเป็นกองกำลังพลเมืองจับจ้องพฤติกรรมประชาชนทั่วไป และหลายครั้งลงมือทำร้ายคนที่พวกเขาเห็นว่าละเมิดเกณฑ์ทางศีลธรรมของฮินดูชาตินิยม

ส่วนในบราซิล การที่ประธานาธิบดีคนใหม่ประกาศสนับสนุนระบอบเผด็จการทหาร สร้างความกังวลให้แก่คนอีกครึ่งค่อนประเทศ ซึ่งต่อสู้ให้บราซิลพัฒนาระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980

เป็นไปได้ว่าประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้ อาจไม่ล้มพับไปด้วยการรัฐประหารอย่างไทย แต่สถาบันประชาธิปไตยอาจถดถอยและแปลงร่างเป็นระบอบผสม (hybrid regime) อย่างช้าๆ ด้วยน้ำมือพรรคและภาคประชาสังคมต้านประชาธิปไตย

 

เชิงอรรถ

[1] Petr Kopecký and Cas Mudde, Uncivil Society? Contentious politics in post-communist Europe (London: Routledge, 2003); Bob, Clifford, “Civil and Uncivil Society,” in Oxford Handbook of Civil Society, ed. M.D. Edwards (Oxford: Oxford University Press), 209-219.

[2] ดูตัวอย่างเช่น Phuangthong R. Pakawapan, State and Uncivil Society in Thailand at the Temple of Preah Vihear (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2013); Somchai Phatharathananunth, “Civil Society Against Democracy,” Cultural Anthropology (September 23, 2014) ; Bencharat Sae Chua, “Revisiting ‘People’s Politics,” Cultural Anthropology (September 23, 2014), and Prajak Kongkirati, “Thailand’s Failed 2014 Election: The Anti-Election Movement, Violence and Democratic Breakdown,” Journal of Contemporary Asia 46(3): 467-485.

[3] ดูเพิ่มเติมใน Katherine Bowie, Rituals of National Loyalty: An Anthropology of the State and Village Scout Movement in Thailand (New York: Columbia University Press, 1997); Prajak Kongkitari, “Counter-movements in democratic transition: Thai right-wing movements after the 1976 popular uprising,” Asian Review 19(2008): 101-134; Desmond Ball and David Scott Mathieson, Militia Redux, Or sor, and the Revival of Paramilitary in Thailand (Chiangmai: White Lotus, 2007), 24-49; and Jeremy Kuzmarov, Modernizing Repression: Police Training and National Building in the American Century (Massachusetts: University of Massachusetts, 2012), 99-120.

[4] Kasian Tejapira, “The Irony of Democratization and the Decline of Royal Hegemony in Thailand,” Southeast Asian Studies 5(2) (2016): 219-237.

[5] ประจักษ์ ก้องกีรติ, “ธรรมาธรรมะสงคราม: ความรุนแรงเชิงศีลธรรมและอานารยะขัดขืน, รายงานวิจัยสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย, 2560.

[6] ส่วนนี้มาจากรายงานวิจัยว่าด้วยขบวนการภาคประชาสังคมอนุรักษนิยมซึ่งข้าพเจ้าร่วมโครงการอยู่ ดู Richard Youngs, ed. The Mobilization of Conservative Civil Society (Brussels: Carnegie Endowment for International Peace Europe, 2018).

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save