fbpx

ว่าด้วยเรื่องอื้อฉาวของสแกนดิเนเวีย

ว่ากันว่า ด้วยความที่การเมืองในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียนั้นมีความโปร่งใสเป็นอย่างยิ่ง มีผลดัชนีวัดการคอร์รัปชั่นต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงน่าจะทำให้เรื่องอื้อฉาว (scandal) ทางการเมืองและสังคมย่อมจะต้องต่ำตามไปด้วย เพราะไม่มีใครอื้อจึงไม่มีอะไรจะฉาว ก็เมื่อนักการเมืองซื่อสัตย์ โปร่งใส มีจริยธรรม ตรวจสอบได้ และตรงไปตรงมาแล้ว ย่อมไม่มีเรื่องอะไรมาให้สื่อสารมวลชนขุดๆ ค้นๆ มารายงานข่าวกันได้ทุกเมื่อเชื่อวัน

แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงหมดสนุกกันพอดี เพราะถ้าจะกล่าวถึงอะไรที่ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา มีจริยธรรมอย่างสมบูรณ์ไม่มีที่ติแล้วล่ะก็ เราก็คงจะกำลังพูดถึงพระพุทธรูปที่ท่านประดิษฐานอยู่เฉยๆ หรือรูปพระเยซูตรึงกางเขนที่แขวนอยู่บนผนังเท่านั้นเอง มนุษย์ผู้มีกรรมและมีบาปอย่างเราๆ ท่านๆ ย่อมจะต้องมีอะไรที่หันเหไปจากเส้นทางของพระผู้เป็นเจ้า หรือเส้นทางสู่พระนิพพานอยู่เสมอ

มีนักวิชาการชาวสแกนดิเนเวียเขาศึกษาข่าวอื้อฉาวในฐานะกระบวนการ และเขามีอะไรฉาวๆ จากสแกนดินเวียมาเล่าให้ฟัง ผมขออนุญาตหยิบยกมากระซิบกระซาบท่านผู้อ่านครับ

คำว่า scandal

คำนี้ในภาษานอร์เวย์ (skandale) และภาษาสวีเดน (skandal)  มีความหมายว่า ‘บางสิ่งที่ทำให้เกิดความขุ่นเคืองหรือความอับอายใจ’ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากที่เดียวกันคือ skandalum ในภาษาละติน แปลประมาณว่า ‘เหตุของความขุ่นเคือง’ และ skandalon ในภาษากรีกซึ่งหมายความถึง ‘กับดัก’ หรือ ‘การสะดุด’

หากว่ามีการสะดุด นั่นก็หมายความว่าเรากำลังเดินทางไปที่ไหนสักที่ใช่ไหมครับ การสะดุดในที่นี้จึงแสดงให้เห็นว่า คำว่า scandal มีรากศัพท์มาจากศาสนายิว-คริสต์ โดยหมายความถึงบางสิ่งบางอย่างที่เป็นอุปสรรคขัดขวางบนถนน ถึงอุปสรรคนี้มีขึ้นเพื่อจะทดสอบผู้ศรัทธาถึงความเชื่อต่อพระยาห์เวย์ (Yahweh) และต่อมาในเทววิทยาของคริสต์ศาสนาคำละติน skandalum ก็ถูกใช้เพื่อหมายถึงการกระทำที่เป็นบาปโดยตรง ซึ่งการกระทำนี้คุกคามความศรัทธาของสมาชิกชุมชนศาสนา เป็นการกระทำที่มีความเกี่ยวข้องกับความปรารถนา (desire) ซึ่งสร้างอุปสรรคต่อเส้นทางสู่การไถ่บาป (salvation) เป็นการละเมิด (transgression)

เรอเน ณีราร์ด (1923-2015)

ดังนั้น ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ข่าวอื้อฉาวก็จะมีมิติของบาป ความอับอาย การลงทัณฑ์ และการไถ่โทษ ประกอบอยู่ด้วยเสมอไป นักมานุษยวิทยาศาสนา เรอเน ณีราร์ด (René Girard) เสนอไว้ว่า อาการช็อคที่เกิดจากการเปิดเผยข่าวอื้อฉาว เป็นความปรารถนาอันเร่าร้อน (hectic desire) ที่จะแยกแยะระหว่างผู้บริสุทธิ์และผู้มีความผิด เพื่อเปิดเผยการกระทำอันน่าอับอาย และเหตุการณ์อื้อฉาวเพื่อให้เห็นผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งมวล ทั้งหมดเพื่อขจัดขัดขวางอุปสรรคเส้นทางสู่การไถ่บาปนี้

ก่อนจะไปสู่หัวข้อถัดไป ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อคำว่า scandal เดินทางเข้ามาถึงในภาษาไทยแปลเป็น ‘ความอื้อฉาว’ แล้ว (ซึ่งผมชอบกว่ามากเพราะเป็นคำเลียนเสียงธรรมชาติ [onomatopoeic] ‘อื้อ’, ‘อื้ออึง’ ไม่ได้มีร่องรอยศาสนาอยู่เลย) สะท้อนให้เห็นความแตกต่างของรากฐานของสังคมทั้งสองสังคม อันนำมาซึ่งความแตกต่างกับการจัดการกับเรื่องข่าวอื้อฉาว ซึ่งเราอาจจะได้ยินคำประชดประชันว่า “ถ้าอื้อฉาวขนาดนี้เป็นสังคมอื่นเขาลาออกไปนานแล้ว” เป็นต้น

ประเภทของความอื้อฉาวทางการเมือง

กลับมาที่โลกคริสต์ศาสนา และเจาะจงลงไปที่เรื่องอื้อฉาวทางการเมือง (political scandal) มีผู้ที่ศึกษาประเด็นนี้และอธิบายส่วนประกอบของข่าวอื้อฉาวทางการเมืองว่ามีห้าอย่าง

1) มีการกระทำการละเมิดคุณค่าที่ตายตัว บรรทัดฐาน หรือศีลธรรมของสังคม ซึ่งในหัวข้อก่อนหน้าเราได้คุยกันไปแล้วนิดหน่อย

2) การละเมิดดังกล่าวต้องเป็นที่รับรู้ของคนหรือกลุ่มคนที่อยู่ข้างนอกวงของกลุ่มผู้ละเมิด ความอื้อฉาวจะไม่เกิดขึ้นหากคนสองคนสมคบกระทำการละเมิด แต่จะเกิดขึ้นเมื่อคนหนึ่งในนั้นนำเรื่องไปประกาศสู่สาธารณะ เป็นต้น

3) จะต้องมีผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากการเปิดเผยเรื่องอื้อฉาวนั้นๆ แค่เพียงรับรู้เรื่องเฉยๆ ไม่ได้ ต้องช็อคด้วย

4) จะต้องมีผู้ที่พร้อมจะลุกขึ้นประนามเรื่องอื้อฉาวนั้นในที่สาธารณะ และนี่เป็นองค์ประกอบที่สื่อสารมวลชนเข้ามามีบทบาทหลัก

5) เรื่องอื้อฉาวทางการเมืองนั้นจะมีพลังที่สามารถทำลายอาชีพและทุนทางการเมืองของผู้ที่อยู่ในเรื่องนั้นได้

ประเด็นที่สำคัญคือ เรื่องทุกเรื่องที่จะเป็นเรื่องอื้อฉาวได้ต้องผ่านตัวกลาง (mediated) และไม่ใช่เรื่องละเมิดทุกเรื่องจะกลายเป็นความอื้อฉาวทางการเมืองได้ทั้งหมด แรกสุดเรื่องหนึ่งๆ อาจจะเริ่มเล็กๆ แล้วก็หายไป หรือลดระดับลง แต่บางเรื่องเริ่มแล้วบานปลายกลายเป็นวาระแห่งชาติได้

กระบวนการนี้เป็นสองทาง คือในทางบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวและทางการรับของสังคม นักการเมืองในสแกนดิเนเวียที่มียุทธศาสตร์ เมื่อเรื่องหนึ่งๆ ถูกเปิดโปงขึ้น จึงรีบจัดการด้วยการทำให้เรื่องนั้นๆ ผ่านไปให้เร็วที่สุด ด้วยการยืดอกรับผิดและขอโทษทันที ในภาษาสวีเดนมีสำนวนว่า ‘ทำเป็นหมาพุดเดิ้ล’ (att göra en pudel) เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องนั้นใหญ่โตบานปลายควบคุมไม่ได้ มาจากเหตุการณ์การขอโทษและลาออกของนายกรัฐมนตรี ยาน คาร์ลส์สัน (Jan O Karlsson) ในปี 2002 เป็นต้น

ส่วนในทางการรับของสังคม บางเรื่องที่ถูกเปิดเผยขึ้นอาจจะไปเกาะเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้ความจริงของเรื่องนั้น ไม่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่สังคมต้องการจะรับรู้ สถานการณ์นี้ทำให้บรรทัดฐานของสังคมต่อเรื่องการละเมิดเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท ตัวอย่างเช่นในอังกฤษ กับเหตุการณ์อื้อฉาวโพรฟูโม (Profumo scandal) ในปี 1963 เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงสงคราม จอห์น โพรฟูโม (John Profumo) ถูกเปิดโปงว่ามีชู้รักกับผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่เคจีบี (KGB) ทำให้เรื่องอื้อฉาวนี้กลายเป็นประเด็นทางความมั่งคงมากกว่าจะเป็นเรื่องอื้อฉาวทางเพศทันที ดังนั้นเรื่องจริงที่ว่าการมีชู้นั้นมีจริงหรือไม่ อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าว่าอะไรที่เป็นความลับแห่งชาติที่รั่วไหลหรือเปล่า เป็นต้น

เรื่องอื้อฉาวที่เพิ่มขึ้น

สำหรับผู้ที่สังเกตการณ์เรื่องเล่าทางการเมืองในสแกนดิเนเวีย มีการเสนอว่าในช่วงทศวรรษ 1980-2010 เรื่องอื้อฉาวทางการเมืองได้เข้ามาครองพื้นที่สาธารณะมาก เป็นปรากฏการณ์ใหม่อย่างที่ไม่ได้เป็นมาก่อนหน้า คือหลายสิบปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ข่าวอื้อฉาวมักจะเป็นเพียงประเด็นเรื่องการตัดสินใจนโยบายทางการเมืองหรือพฤติกรรมส่วนตัวบางประการ แต่เมื่อเข้าทศวรรษที่ 1980 ลงมา ดูเหมือนว่าเรื่องอื้อฉาวจะขยายออกไปมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

มีความน่าสนใจตรงที่ว่า เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1980-2010 เรื่องอื้อฉาวที่มีจำนวนมากที่สุดนั้นเป็นเรื่องเศรษฐกิจการเงิน เช่น การเลี่ยงภาษี การยักยอกเงิน และการคอร์รัปชั่น

ซึ่งสถานการณ์นี้ อาจจะไม่ใช่เหตุผลที่ว่านักการเมืองคอร์รัปชั่นจำนวนมากขึ้น มากเท่ากับว่า บรรทัดฐานทางสังคม (norms) เปลี่ยนแปลงไปสู่การไม่ยอมรับเรื่องการเลี่ยงภาษี และยักยอกเงินเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว พร้อมๆ กับเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการระบบราชการ (เช่นการเปลี่ยนเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างรวดเร็ว) ทำให้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินของพนักงานรัฐและนักการเมืองถูกติดตามและตรวจสอบได้อย่างชัดเจน

ปืนใหญ่วิถีโค้ง ประเภทที่เรื่องอื้อฉาวกรณีบริษัทค้าอาวุธสวีเดนบูฟอสจะขายให้รัฐบาลอินเดียช่วงปลายทศวรรษ 1980

ควรจะเป็นที่ต้องเสริมตรงนี้ว่า เรื่องอื้อฉาวในทางการใช้เงินนั้นเป็นเรื่องทางศีลธรรมด้วย เช่นเรื่องรัฐมนตรีที่โกงค่าแท๊กซี่ ไม่ว่าจะโกงน้อยแค่ไหนก็ตาม เรื่องราวที่ว่านี่ก็จะบานปลายกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองได้ไม่ยาก ตัวอย่างเช่นในปี 2007 แพร์ ดีตเลฟ-ไซมอนเซน (Per Ditlev-Simonsen) นักการเมืองพรรคอนุรักษนิยมของนอร์เวย์ ผู้เคยเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยและเป็นผู้ว่าเมืองออสโลว์หลายต่อหลายปีถูกเปิดโปงว่าเขาซ่อนเงินมรดกในธนาคารสวิสเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเมื่อหลายปีก่อน ในทางภาษีนั้นเรื่องนี้หมดอายุไปนานแล้ว แต่ในทางเรื่องศีลธรรมเรื่องนี้กลายเป็นจุดจบอาชีพทางการเมืองของเขาลงทันที

หรือในกรณีอื้อฉาวครั้งใหญ่ของสวีเดน คือกรณีบูฟอส (Boforsaffären) บริษัทผลิตอาวุธของสวีเดนที่ลงนามในสัญญาขายอาวุธกับรัฐบาลอินเดียในปี 1986 โดยบริษัทบูฟอสติดสินบนนักการเมืองอินเดียเพื่อให้ตนได้ขายปืนใหญ่วิถีโค้งให้แก่รัฐบาลอินเดีย เรื่องอื้อฉาวนี้กลายเป็นเรื่องหนึ่งที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของนาย ราจีฟ คานธี (Rajiv Gandhi) ในการเลือกตั้งทั่วไปในไม่กี่ปีถัดมา เป็นความน่าอับอายของที่พรรคคองเกรสถือว่าเป็นความด่างพร้อยของตน ส่วนในสวีเดนนั่นคือปีของนายกรัฐมนตรี โอลอฟ พาลเม (Olof Palme) ผู้มีส่วนเจรจากับนายกคานธีเกี่ยวกับข้อตกลงซื้อขายอาวุธนี้ด้วย หลังจากการตรวจสอบ มีการใช้เงินหลายสิบล้านดอลล่าห์สหรัฐฯ โอนเข้าในบัญชีธนาคารสวิส เพื่อเกี่ยวข้องกับการติดสินบนนี้

ขณะที่ในอินเดียเป็นความอับอาย ก็น่าแปลกอยู่เหมือนกันว่าในสวีเดน  กรณีอื้อฉาวบูฟอสนี้ไม่ได้มีผลกระทบทางตรงต่อรัฐบาลสวีเดน แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะอย่างหนักก็ตาม

ปั๊มน้ำมันของบริษัทสตัดออยล์ของรัฐบาลนอร์เวย์ ซึ่งเคยมีเรื่องอื้อฉาว

หรือเรื่องอื้อฉาวทางการเงินอีกเรื่องหนึ่งคือบริษัทน้ำมันแห่งชาตินอร์เวย์สตัดออยล์ (Stadsoil) ในปี 2003 มีการเปิดเผยว่าบริษัทติดสินบนนักการเมืองแถวหน้าของอิหร่าน เพื่อจะให้ได้สัญญาการซื้อขายพลังงานระหว่างนอร์เวย์และอิหร่าน เนื่องจากบริษัทนี้เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ผู้ที่รับผิดชอบคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันและพลังงาน ซึ่งก็แก้ไขด้วยการเรียกประชุมบอร์ดบริหารและไล่ผู้ที่เกี่ยวข้องออก เพื่อลดแรงกดดันจากเรื่องอื้อฉาวนี้

เหล่านี้เป็นเพียงบางตัวอย่าง ที่ผู้ศึกษาเรื่องอื้อฉาวของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียชี้ให้เห็นว่า เรื่องอื้อฉาวนั้นมีพัฒนาการในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ และสะท้อนให้เห็นพลวัตของบรรทัดฐานทางสังคมและบทบาทของสื่อสารมวลชนในการเป็นสื่อกลาง ประเทศกลุ่มสแกนดินเวียก็มีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น ซึ่งแม้จะไม่มากโดยเปรียบเทียบ แต่อาจจะช่วยทำให้เกิดภาพที่สมดุลขึ้นกว่าการร่างภาพภูมิภาคนี้เป็นพระพุทธรูปที่ท่านประดิษฐานอยู่เฉยๆ หรือรูปพระเยซูตรึงกางเขนที่แขวนอยู่บนผนัง

สื่อสารมวลชนมีบทบาทในการตรวจสอบเรื่องความโปร่งใสในสแกนดิเนเวีย

อ้างอิง

Sigurd Allern & Ester Pollack (eds), Scandalous! The Mediated Construction of Political Scandals in Four Nordic Countries (2012)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save