fbpx
ทันสมัยกับ Sandbox และ Algorithm

ทันสมัยกับ Sandbox และ Algorithm

วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง

 

นอกจากจะต้องจำอักษรย่อในภาษาไทยที่มีอยู่มากมาย เช่น ปปช. / กกต. / กลต. / ปยป. ฯลฯ เพื่อติดตามข่าวให้รู้เรื่องแล้ว ในปัจจุบันยังมีคำในภาษาอังกฤษอีกมากซึ่งฟังดูแปลกๆ ในความหมายต่างๆ แต่จำเป็นต้องเข้าใจเพื่อก้าวให้ทันโลก เช่น Sandbox / Algorithms / Start-up / Platform เป็นต้น

วันนี้ขอเล่าขยายความสองคำแรกให้อ่านกันครับ ​

คำว่า sandbox มีมาแต่ดั้งเดิมเป็นเวลานับร้อยปีโดยหมายถึงกระบะหรือบริเวณที่กันไว้เป็นพิเศษเพื่อใส่ทรายให้เป็นที่เล่นของเด็กเล็ก ซึ่งเด็กก็จะเล่นไปตามจินตนาการ เห็นเป็นปราสาท เป็นลูกบอล เป็นใบไม้ เป็นบ้าน ฯลฯ อย่างสนุกและเสรี ​

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็มีการใช้คำว่า sandbox ในเรื่อง IT โดยเฉพาะเรื่อง security กล่าวคือ sandbox หมายถึง การทดสอบซอฟต์แวร์ใหม่โดยให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัด ซึ่งจะไม่มีผลออกไปกระทบระบบการทำงาน (operating system) ซึ่งอาจส่งผลเสียได้

​sandbox มีนัยยะของการทดสอบ การทดลองอย่างตัดขาดจากส่วนอื่น โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อส่วนอื่น ​

ต่อมาก็มีการนำคำนี้มาใช้ในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ไช่ IT เช่นเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ 6 ธนาคารใช้ QR Code ประกอบกับระบบ prompt-pay ในการชำระเงินได้หลังจากที่ได้ทดลองใช้ regulatory sandbox อยู่พักหนึ่งแล้ว และเห็นว่าได้ผลดี ​

ความหมายก็คือธนาคารได้ออกกฎระเบียบพิเศษเกี่ยวกับการใช้ระบบจ่ายเงินดังกล่าวเป็นการเฉพาะแก่ 6 ธนาคารนี้ในช่วงเวลาทดลอง โดยที่ในช่วงเวลาดังกล่าว การใช้ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ จนอาจเกิดความเสียหาย

เข้าใจว่าหากธนาคารอื่นต้องการใช้ระบบชำระเงินเช่นนี้ อาจต้องเข้าไปอยู่ในกฎเกณฑ์นี้เพื่อเป็นการทดลองก่อนแล้วจึงจะให้ใช้ได้ หรือเมื่อทดลองไปหลายธนาคารจนเข้าใจสายสนกลไกของมันดีแล้ว ธนาคารอื่นๆ ที่ขออนุญาต ในอนาคตก็อาจได้รับการอนุญาตเลยก็เป็นได้

​อีกตัวอย่างก็คือ รัฐบาลต้องการให้หน่วยงานจำนวนหนึ่งอยู่ใน sandbox ซึ่งหมายถึงว่าต้องการให้มีการทดลองใช้กฎเกณฑ์ใหม่ที่ผ่อนปรน หรือมีการใช้นวัตกรรมต่างๆ เป็นพิเศษ เช่น ทำให้เกิดระบบดิจิทัลให้มากที่สุด หรือใช้วิธีการที่ช่วยให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยระบบการบริหารบุคลากรใหม่สำหรับหน่วยงานเหล่านี้ ทั้งหมดนี้จะต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อส่วนอื่นๆ ในระหว่างทดลอง และเมื่อได้บทเรียนมาแล้วก็จัดเอาไปใช้กับหน่วยงานที่เหลือ

​การเอาหน่วยงานเหล่านี้ไปอยู่ใน sandbox นั้น สื่อถึงการมีจินตนาการใหม่ๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด (เสมือนเด็กเล่นทรายใน sandbox) เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยระหว่างการทดลองนี้ต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบโดยส่วนรวม เนื่องจากเสมือนถูกตัดขาดมาทดลองโดยเฉพาะ ​

sandbox ให้นัยยะของการสร้างนวัตกรรม การสร้างสรรค์ทางความคิด การสร้างเสริมประสิทธิภาพ การกล้าทดลองสิ่งใหม่ ฯลฯ ดังนั้นคำนี้จึงแพร่หลายอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดีบางครั้ง sandbox มีความหมายเพียงการกันออกมาเป็นพิเศษเพื่อศึกษาและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ​

อีกคำหนึ่งในด้านเทคโนโลยีที่เห็นกันอยู่ทุกวันก็คือ algorithm มีบางคนที่ทำให้คำนี้น่ากลัวยิ่งขึ้น โดยกล่าวว่า algorithm นี่แหละจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้หุ่นยนต์ครองโลก

algorithm อธิบายอย่างง่ายๆ ว่าคือชุดของกฎกติกาหรือคำสั่งที่มีลำดับก่อนหลังตามตรรกะเพื่อแก้ไขปัญหาโดยดำเนินไปทีละขั้นตอนจนกระทั่งบรรลุวัตถุประสงค์

ตัวอย่างเช่นการเจียวไข่ก็เป็น algorithm อย่างหนึ่ง เริ่มต้นตั้งแต่ตั้งกะทะให้ร้อน ตีไข่ในถ้วย เทลงไปในกะทะ รอจนสุกจึงตักขึ้นมา หรือการซักผ้า การแต่งตัวไปทำงาน กระทั่งการเปิดล็อกกระเป๋าที่เป็นรหัสตัวเลขซึ่งได้ลืมไปแล้ว ​

จะเปิดกระเป๋าได้ต้องใช้ algorithm โดยเริ่มจาก 000 และก็กดปุ่ม หากรหัสถูกต้องกระเป๋าก็จะเปิดได้ เมื่อลองตัวเลข 000 ไปแล้วยังเปิดไม่ได้ก็ต้องมี algorithm ใหม่คือ 001 และมี algorithm ใหม่ไปเรื่อยๆ จนถึง 999 ซึ่งแน่ใจว่าจะเปิดได้จากเลขรหัสหนึ่ง ​

การใช้ algorithm เช่นว่านี้เรียกได้ว่าไม่ฉลาดเพราะใช้เวลานาน หากจะทดลองตัวเลขที่เป็นวันเกิด ปีเกิด เลขประจำตัว ฯลฯ ไปก่อน ก็อาจเปิดกระเป๋าได้หลังจากใช้ algorithm ไม่กี่ครั้ง

รหัสเช่นนี้คอมพิวเตอร์จะค้นหาได้ในเวลาไม่กี่วินาที เนื่องจากสามารถใช้ algorithm ได้อย่างรวดเร็วมากโดยทดลองรหัสต่างๆ เรื่องนี้น่ากลัวเนื่องจากการกระทำซ้ำๆ ตามชุดคำสั่งที่ฉลาดจะบรรลุวัตถุประสงค์เกือบทุกครั้ง เช่น password ใดก็แล้วแต่ หากไม่มีตัวอักษรเล็กใหญ่สลับซับซ้อนกับเลขและสัญลักษณ์แปลกๆ อย่างซับซ้อนแล้ว คอมพิวเตอร์จะใช้ algorithm เพียงไม่กี่ครั้งก็ค้นหาพบ

algorithm ซึ่งใช้ในโลก IT ก็อยู่บนหลักการเดียวกัน เช่น ซอฟต์แวร์ที่ค้นหาใบหน้าคนซึ่งเรียกว่า Facial Recognition ซึ่งก้าวหน้าไปไกลมาก เพียงใบหน้าปรากฏในกล้อง CCTV ก็สามารถใช้ algorithm ค้นหาชื่อของเจ้าของใบหน้าได้ทันที ดังเช่นในเมืองใหญ่ของจีน

​บนใบหน้าแต่ละคนจะมีจุดให้สังเกตนับเป็นพันๆ จุด และยังมีลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างจุดบนใบหน้าอีก (เช่น ระยะห่างระหว่างจุดเด่นบนจมูกกับใบหู) คอมพิวเตอร์ก็จะเก็บบันทึกไว้เป็นข้อมูลในรูปดิจิทัล เมื่อต้องการค้นหาว่าภาพหน้าที่ปรากฏนั้นตรงกับภาพของใครที่เก็บบันทึกไว้ คอมพิวเตอร์ก็จะใช้ algorithm ตรวจสอบจุดสำคัญที่เหมือนกันในตำแหน่งต่างๆ หลายครั้งหลายหนไล่ไปทีละจุด ทีละ algorithm เพื่อให้ได้คำตอบว่าเป็นใบหน้าเดียวกันกับเจ้าของคนใดที่มีข้อมูลบันทึกไว้ ​​

หุ่นยนต์โดรน รถยนต์ไร้คนขับ สมาร์ทโฟน ฯลฯ ล้วนใช้ algorithm เป็นเครื่องมือในการบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์อาศัย algorithm กล่าวคือการก้าวของขาหรือการขยับแขนจะต้องมีหลายชุดคำสั่งทางอิเล็กทรอนิกส์สั่งให้ทำงานในแต่ละครั้ง เช่น เคลื่อนไหวครั้งละ 1 เซนติเมตร ก็มาจาก algorithm หลายร้อยครั้ง ตรวจสอบอุปสรรคข้างหน้า และสั่งให้มีการเคลื่อนไหวไปยังล้อและโลหะซึ่งประกอบเป็นมือและแขนขา สำหรับการคิดก็เช่นเดียวกัน algorithm จะถูกใช้เป็นพันเป็นหมื่นครั้งในสมองกลเพื่อให้ทำงานตามคำสั่ง ​

หากไม่มี algorithm ก็ไม่สามารถมีการพัฒนา IT และมีเครื่องใช้ที่อาศัย IT ได้เลย สิ่งน่ากลัวก็คือ algorithm กำหนดให้หุ่นยนต์ทำงาน แต่ถ้าหากมันเกิดการพัฒนาขึ้นจนสามารถสร้าง algorithm ได้เองแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์ ถ้ามันมีพฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนา ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถบังคับได้ โลกจะเกิดอะไรขึ้น ​

sandbox ก็ต้องใช้ algorithm เนื่องจากการดำเนินงานต้องอาศัยชุดของคำสั่ง ซึ่งต้องเป็นไปอย่างมีขั้นตอนก่อนหลังตามหลักตรรกะ มิฉะนั้น sandbox จะเละเทะ ทรายกระเด็นออกมาข้างนอกรบกวนคนอื่นๆ และหากไม่ต้องการให้ทรายกระเด็นก็อาจต้องหันไปใช้ soap box แทน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดจินตนาการแต่อย่างใด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save