ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง
ไม่ว่าจะติดตามการเมืองอินเดียหรือไม่ก็ตาม หลายคนคงเคยได้ยินชื่อคองเกรสแห่งอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองแรกๆ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากรัฐบาลอังกฤษ
คองเกรสแห่งอินเดียได้พัฒนาจากกลุ่มความเคลื่อนไหวทางการเมือง สู่การเป็นพรรคการเมืองในที่สุดภายหลังรัฐบาลอังกฤษเริ่มเปิดโอกาสให้ชาวอินเดียเข้ามาร่วมบริหาร กล่าวได้ว่า พรรคคองเกรสถือเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศอินเดีย เรียกง่ายๆ ว่าประวัติศาสตร์ของพรรคคองเกรสเทียบเคียงมากับประวัติศาสตร์การเรียกร้องเอกราชของประเทศอินเดีย มรดกตกทอดชิ้นนี้ส่งผลให้พรรคคองเกรสคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป และนับเป็นเวลารวมกว่า 55 ปี ที่อินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคนี้นับตั้งแต่ได้รับเอกราช
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเสียชีวิตของราจีพ คานธี อย่างกระทันหัน ส่งผลให้พรรคคองเกรสต้องเผชิญปัญหาความท้าทายจากพรรคการเมืองใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพรรคบีเจพี ซึ่งสามารถคว้าชัยชนะได้ในช่วงปี 1998-2004 และกลับมาชนะอีกครั้งในสมัยของนายกรัฐมนตรีโมดีในปี 2014 ซึ่งเป็นชัยชนะที่เหนือความคาดหมายด้วยการสร้างเสียงข้างมากในรัฐสภาแบบพรรคเดียว
นี่ถือเป็นจุดตกต่ำที่สุดของพรรคคองเกรสนับตั้งแต่ตั้งพรรคการเมืองมา ผลลัพธ์ดังกล่าวเกิดจากปัญหาความไม่ชัดเจนของการเสนอผู้นำทางการเมืองในสนามเลือกตั้ง ถึงแม้พรรคจะได้พยายามเสนอลูกชายนายราจีพ คานธี คือราหุล คานธี แต่ด้วยความด้อยประสบการณ์ทางการเมือง ส่งผลให้เขาไม่สามารถต่อกรกับนักการเมืองผู้มากประสบการณ์อย่างโมดีได้ แต่ในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ภายในพรรคคองเกรสได้เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น ราหุล คานธี เองก็มีพัฒนาการทางการเมืองในทางที่ดี การเลือกตั้งในปี 2019 ที่กำลังจะมาถึงนี้จึงเป็นที่น่าจับตายิ่ง และครั้งนี้เราจะมาเจาะลึกสถานการณ์พรรคคองเกรสก่อนสู้ศึกเลือกตั้ง 2019 กัน
ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรค
ต้องยอมรับว่าพรรคคองเกรสเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญเมื่อนายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์ ก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพรรคไม่สามารถแสวงหาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ทันท่วงที ถึงแม้ว่าหลายคนในอินเดียจะทราบว่าบุคคลผู้กุมบังเหียนพรรคคือนางโซเนีย คานธี ภรรยาของอดีตนายกรัฐมนตรีราจีพ คานธี แต่ด้วยชาติกำเนิดที่พื้นเดิมเป็นคนอิตาลี ส่งผลให้โซเนียไม่กล้าลงสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค เพราะลึกๆ แล้วคนอินเดียก็ยังมีความชาตินิยมสูง นี่ส่งผลให้สภาพการเมืองเมื่อปี 2014 พรรคคองเกรสค่อนข้างเสียเปรียบคู่แข่งอย่างพรรคบีเจพี ซึ่งนอกจากปัญหาการคัดเลือกแคนดิเดตแล้ว พรรคคองเกรสเองก็ประสบปัญหาข่าวเสียเกี่ยวกับการทุจริต

การส่งราหุล คานธี ลงแข่งขันทางการเมือง จึงไม่อาจยื้อชีวิตให้พรรคสามารถกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้ง อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าในเชิงประสบการณ์ทางการเมือง ราหุลค่อนข้างด้อยกว่านายกรัฐมนตรีโมดีอยู่มาก โดยเฉพาะความชำนาญในการใช้ภาษาฮินดี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภาษาหลักในการสื่อสารทางการเมืองของอินเดีย และเป็นภาษาที่คนอินเดียโดยมากเข้าใจ เนื่องจากชีวิตส่วนตัวของราหุลเองต้องใช้ชีวิตร่วมกับน้องสาว (ปรียังการ์ คานธี) อยู่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ จากเหตุผลทางด้านความปลอดภัย ต้องไม่ลืมว่าย่าของเขา อินทิรา คานธี ถูกลอบสังหารในบ้านพรรค ในขณะที่บิดาของเขา ราจีพ คานธี ก็ถูกลอบสังหารเช่นเดียวกัน
นอกจากประสบการณ์ในเชิงวาทศิลป์แล้ว ราหุลเองก็ไม่มีอำนาจและบารมีเฉกเช่นเดียวกับพ่อ หรือแม้แต่ย่าของเขาที่เคยยิ่งใหญ่ภายในพรรค ส่งผลให้ในช่วงแรกเขาต้องอยู่ใต้ร่มเงาของแม่ ซึ่งตอนนั้นนั่งเป็นประธานพรรคคองเกรส
ด้วยความรู้และประสบการณ์ทางการเมืองที่แทบเป็นศูนย์ของราหุล ส่งผลให้ในช่วงแรกนั้น เขากลายเป็นตัวตลกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการออกเสียงสำเนียงฮินดีผิด ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งนับตั้งแต่ก่อนและหลังการเลือกตั้งปี 2014 เขาถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนของพรรคมากกว่าที่จะมาช่วยให้พรรคแข็งแกร่งขึ้น แต่ความโชคดีของราหุล คือเขาเป็นสายเลือดที่ยังหลงเหลืออยู่ของตระกูลเนห์รู-คานธี แต่จุดแข็งนี้ก็เป็นเป็นจุดอ่อนเช่นกัน เพราะในช่วงที่ย่าและพ่อของเขาปกครองประเทศ ได้เกิดการนองเลือดจำนวนมาก
การเรียนรู้ บททดสอบ และพัฒนาการสู่การเป็นผู้นำพรรคเก่าแก่ของอินเดีย
หลังจากความพ่ายแพ้อย่างราบคาบในการเลือกตั้งปี 2014 พรรคคองเกรสเกิดการสังคยานาภายในขนานใหญ่ เพื่อปรับกลยุทธ์ในการต่อสู้เพื่อหวังการกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง แม้ว่าราหุลจะสามารถชนะเลือกตั้งเข้าไปเป็น ส.ส. ในสภาได้สำเร็จ แต่ทักษะทางการเมืองของเขาก็ยังไม่สมบูรณ์นัก เห็นได้ชัดว่าในช่วง 1-2 ปีแรกในรัฐสภาอินเดีย ราหุลไม่มีความโดดเด่น และยังไม่สามารถปะทะคารมณ์กับโมดีได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ การรณรงค์หาเสียงในรัฐใหญ่ๆ ระหว่างทางการเลือกตั้งทั่วไปในช่วง 2-3 ปีแรก เห็นแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดเจนว่าพรรคบีเจพีสามารถเอาชนะได้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในรัฐใหญ่อย่างอุตตรประเทศ ที่พรรคพันธมิตรของคองเกรสเกิดปัญหาภายใน จนส่งผลให้พรรคแตกออกเป็นพรรคเล็ก พรรคน้อย และในที่สุดก็พ่ายแพ้การเลือกตั้ง

นี่ถือเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนปัญหาการขาดเอกภาพและอำนาจบารมีที่ผู้นำพรรคคองเกรสหลายๆ คนเคยมี นอกจากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งระดับรัฐที่เกิดขึ้นระหว่างทางแล้ว จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยสำนักข่าวต่างๆ เกี่ยวกับคะแนนนิยมของพรรคการเมืองในประเทศอินเดีย ก็พบว่าพรรคบีเจพีมีคะแนนนิยมอย่างต่อเนื่อง กระนั้นในช่วงปี 2016 ทิศทางการเมืองอินเดียเริ่มเปลี่ยนแปลง พรรคบีเจพีเริ่มดำเนินนโยบายแบบสุดโต่งมากยิ่งขึ้นในหลายด้าน ทั้งการเริ่มออกนโยบายห้ามกินเนื้อวัวและฆ่าวัวในหลายรัฐที่ตนเองเป็นรัฐบาล การยกเลิกธนบัตรมูลค่า 500 และ 1,000 รูปี ซึ่งสร้างผลกระทบคนทุกระดับชั้น ตลอดจนการปรับฐานภาษีสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเท่ากันทั้งประเทศ นโยบายเหล่านี้เองที่กลายเป็นช่องว่างใหญ่ของพรรคบีเจพี
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2014-2017 ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่เพียงฝั่งรัฐบาลเท่านั้น แต่สำหรับฝ่ายค้านอย่างคองเกรสเอง หลังจากที่ราหุลได้ฝึกปรือทักษะทางการเมือง ทั้งในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในหลายท้องที่ และการถกเถียงสาธารณะ ส่งผลให้เขาได้พัฒนาและเรียนรู้ความผิดพลาดจากหน้าสื่อ และการเรียนรู้คุณสมบัติการเป็นผู้นำจากอดีตผู้นำพรรคหลายๆ คน ในปี 2017 โซเนีย คานธีได้ประกาศลงจากตำแหน่งประธานพรรคคองเกรส และสมาชิกทั้งหมดได้ตัดสินใจเลือกราหุล คานธี ให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ และหลังจากที่ราหุลขึ้นเป็นประธานพรรค เขาได้มีการปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ มีการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งที่สำคัญๆ โดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาบริหารพรรคมากขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของคองเกรส เห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งในรัฐคุชราตที่พรรคได้ส่งผู้สมัครรุ่นใหม่จำนวนมาก
เมื่อปัจจัยทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ ทั้งที่เกิดในฝ่ายรัฐบาล และพรรคคองเกรสเอง โดยเฉพาะความโดดเด่นของราหุล คานธี ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นในช่วงการอภิปรายงบประมาณของรัฐบาลในช่วงต้นปี 2018 ส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรครัฐบาลมีแนวโน้มลดลงอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะสึนามิทางการเมืองของพรรคบีเจพีที่เกิดขึ้นจากการแพ้เลือกตั้งในรัฐใหญ่ๆ ของประเทศ ที่ตัวเองเคยเป็นรัฐบาลอยู่หลายสมัยในปลายปี 2018
นอกจากนี้ ด้านโมดีเองก็ยังติดข้อครหาเรื่องการทุจริตงบประมาณในการซื้อเครื่องบินรบ Rafale ที่คาดว่าเอื้อประโยชน์ให้นักธุรกิจใหญ่ของประเทศอินเดียอย่าง นายอานีล อาบานี สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้การสำรวจความนิยมของสำนักข่าวต่างๆ ในอินเดีย พบว่าพรรคบีเจพีมีคะแนนนิยมตกลงอย่างรวดเร็ว โดยตัวเลขนับแต่เดือนธันวาคม 2018 ถึงปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยที่นั่งในสภาของพรรคบีเจพีอาจไม่ถึง 230 โดยบางสำนักคาดว่าจะไม่ถึง 200 ด้วย
รวมพลังพันธมิตรและการปฏิรูปพรรค ก่อนสู้ศึกเลือกตั้ง 2019
ถึงแม้ว่าสัดส่วนคะแนนนิยมของพรรคบีเจพีจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ทุกสำนักโพลก็ยังเห็นว่าพรรคคองเกรสยังคงมีคะแนนตามหลังอยู่ ฉะนั้นตัวชี้วัดในศึกเลือกตั้ง 2019 จึงไม่ได้อยู่ที่ใครจะได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภา แต่อยู่ที่ว่าใครสามารถสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการสู้ศึกเลือกตั้งได้มากกว่ากันต่างหาก
ต้องขออธิบายก่อนว่า ในระบบการเลือกตั้งของอินเดียนั้น พรรคการเมืองต่างๆ มีอยู่มากมาย โดยเฉพาะพรรคท้องถิ่นนิยมทั้งหลาย ซึ่งพรรคเหล่านี้ก็มักได้รับคะแนนนิยมในแต่ละรัฐ และส่งส.ส.เข้าไปอยู่ในรัฐสภาของอินเดีย ในขณะที่พรรคใหญ่ระดับประเทศมีเพียงสองพรรคเท่านั้น
ก่อนการเลือกตั้งในอินเดียเราจึงมักได้เห็นการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างกันของพรรคการเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อตัดปัญหาการส่งผู้สมัคร ส.ส. ซ้ำซ้อน และดึงคะแนนกันเอง ในขณะเดียวกันเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา พรรคการเมืองต่างๆ ที่ประกาศตัวเป็นพันธมิตรระหว่างกันก็จะรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ด้วยลักษณะเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคอันดับสองสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
ทั้งนี้ในระบบการเมืองของอินเดีย มีกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองขนาดใหญ่สองกลุ่ม คือ United Progressive Alliance (UPA) ซึ่งมีพรรคคองเกรสเป็นแกนนำ และ National Democratic Alliance (NDA) ซึ่งมีพรรคบีเจพีเป็นแกนนำ โดยกลุ่มก้อนพันธมิตรทางการเมืองทั้งสองจะขับเคี่ยวกันเข้าสู่อำนาจทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ
แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา NDA จะได้เป็นรัฐบาล แต่ด้วยกลยุทธ์การผนึกกำลังพันธมิตรก็ส่งผลให้การเลือกตั้งในหลายรัฐของอินเดีย UPA สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แม้มีคะแนนเป็นอันดับสอง ยกตัวอย่างเช่นการเลือกตั้งในรัฐการ์นาตากาเมื่อต้นปี 2018 ในขณะที่พรรคบีเจพีสามารถได้คะแนนเสียงสูงถึง 104 ที่นั่งจากทั้งหมด 224 ที่นั่ง แต่ด้วยระบบพันธมิตรที่พรรคคองเกรสได้ประกาศจับมือกับพรรคจานาตาดัล ส่งผลให้สามารถขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้สำเร็จ เป็นต้น
สำหรับการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ พรรคคองเกรสได้เจรจาต่อรองและรวบรวมขุมกำลังพรรคท้องถิ่น เพื่อสู้กับพรรคบีเจพีที่กำลังขยายอำนาจอย่างรวดเร็ว และกำลังสร้างปัญหาให้พรรคเล็กพรรคน้อยเหล่านั้น ที่สำคัญคือในจำนวนพรรคเหล่านั้น หลายพรรคการเมืองมีฐานเสียงอยู่ในรัฐใหญ่ๆ เช่น รัฐอุตตรประเทศ รัฐเบงกอลตะวันตก รัฐอานธรประเทศ เป็นต้น นี่กลายเป็นโอกาสสำคัญที่อาจส่งผลให้พรรคคองเกรสอาจจัดตั้งรัฐบาลได้ หากพรรคพันธมิตรมีคะแนนเสียงที่มากเพียงพอ

ในขณะที่พรรคบีเจพีเองดูเหมือนการแสวงหาพันธมิตรจะประสบปัญหา เพราะการแก้กฎหมายเรื่องสัญชาติส่งผลให้พรรคพันธมิตรในกลุ่ม NDA จำนวนมากประกาศออกจากกลุ่มพันธมิตร โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ในรัฐอัสสัม นี่ถือเป็นเรื่องน่าจับตามองว่าชัยชนะที่พรรคบีเจพีเคยได้ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจะยังดำรงอยู่ได้อีกหรือไม่
นอกจากการใช้กลยุทธ์ผนึกกำลังพรรคพันธมิตรเข้ามาเสริมกำลังแล้ว พรรคคองเกรสก็ได้มีเปิดตัวปรียังการ์ คานธี น้องสาวของราหุล คานธี ในการลงเล่นการเมืองเป็นครั้งแรก โดยเธอขึ้นเป็นประธานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในรัฐอุตตรประเทศฝั่งตะวันออก ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนเกมสำคัญ เพราะผู้สนับสนุนพรรคคองเกรสจำนวนมาก รอวันรอคืนที่ปรียังการ์จะลงเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว เพราะเธอเป็นคนที่มีวาทศิลป์ มีอำนาจบารมี และที่สำคัญไปกว่านั้น หน้าตาของเธอยังคล้ายคลึงกับย่าของเธอคืออินทิรา คานธี อีกด้วย การลงสู่สนามการเมืองครั้งนี้ของเธอจึงเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงการเมืองอินเดีย ที่สำคัญคือทำเอาพรรคบีเจพีร้อนๆ หนาวๆ เพราะปรียังการ์มีความต่างหลายด้านจากราหุล เธอมีการศึกษาดี เป็นที่นิยมของกลุ่มคนรุ่นใหม่และชนชั้นกลาง ผ่านลักษณะนิสัยที่ฉีกกฎวัฒนธรรมหลายเรื่องของอินเดีย

ด้วยกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่พรรคคองเกรสหยิบขึ้นมาใช้นี้ ทำเอาการติดตามการเมืองอินเดียรอบนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด ถึงแม้ว่านักวิชาการในต่างประเทศหลายคนจะคาดการณ์ว่าพรรคบีเจพีจะกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีก แต่หากดูท่าทีของนักวิชาการอินเดียแล้ว หลายคนก็ยังไม่กล้าแม้แต่จะฟันธง เพราะถึงแม้พรรคคองเกรสจะไม่เป็นที่นิยมมากขึ้นนัก แต่ดูเหมือนว่าพรรคบีเจพีจะสร้างเรื่องสร้างราวจนลดคะแนนนิยมของตัวเอง นี่อาจทำให้คนกลุ่มกลางๆ ที่ยังไม่ตัดสินใจ อาจเทใจให้พรรคคองเกรสก็เป็นได้