fbpx
เจ้าชายฟิลิป

‘ฟิลิป’ ราชนิกูลพลัดถิ่น ผู้ปฏิรูปราชวงศ์วินด์เซอร์

ทันทีที่สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกคำแถลงว่า เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน รวมพระชนมายุ 99 พรรษา สื่อมวลชนในอังกฤษก็เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ หลากแง่หลายมุม ทั้งในด้านส่วนพระองค์และในด้านสาธารณะ วิทยุโทรทัศน์ของบีบีซีจัดรายการแบบรวมการเฉพาะกิจล้มผังรายการทุกช่องทุกคลื่นผูกเป็นรายการเดียว จนโดนร้องเรียนจากผู้ชมทางบ้านกว่าแสนคนว่ามากล้นเกินไป ขณะที่ทีวีช่องพาณิชย์อื่นๆ ก็ล้มผังแค่บางส่วนเพื่อจัดรายการพิเศษเช่นกัน  

เจ้าชายฟิลิปทรงสร้างผลงานในทางสาธารณะมากมายตลอดเวลา 73 ปีในฐานะพระสวามีของพระมหากษัตริย์ของประเทศที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมอันดับหนึ่งของโลก ในปัจจุบันยังมีประเทศในเครือจักรภพ 54 ประเทศ รวมประชากรมากกว่าสองพันล้านคน และบางประเทศยังคงถือว่าสมเด็จพระราชีนีทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่ผลงานที่โดดเด่นของเจ้าชายฟิลิปคือทรงเป็นเจ้าชายนักปฏิรูป นำราชวงศ์วินด์เซอร์เข้าสู่ศตวรรษใหม่

Much of this push for transparency can be traced back to Philip, an irascible outsider whose unconventional upbringing inspired him to modernize “a monarchy he feared could end up as a museum piece,” per the Guardian’s Caroline Davies

แม้ว่าสื่อมวลชนหลายแขนงจะบรรยายถึงผลงานอันหลากหลาย ทั้งในด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า การตั้งกองทุนอุดหนุนกิจกรรมของเยาวชนในชุมชนยากจน ตลอดจนความพยายามในการผลักดันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ใครจะรู้บ้างว่าเจ้าชายฟิลิปทรงเป็นนักปฏิรูปสถาบันฯ มาตั้งแต่ยุคต้นๆ มีบางสื่อกล่าวถึงผลงานของพระองค์ทางด้านการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความโปร่งใสใกล้ชิดกับราษฎรโดยปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ด้วยพระองค์ทรงเกรงว่า ถ้าสถาบันฯ ปล่อยตัวให้หลงยุค ไม่ยอมปรับตัวก็อาจจะกลายเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งที่ประดับอยู่ในพิพิธภัณฑ์ (“a monarchy he feared could end up as a museum piece”)

ภาพจาก www.royal.uk

การปฏิรูปชิ้นแรกๆ ที่เจ้าชายฟิลิปทรงผลักดันได้สำเร็จคือให้ล้มเลิกการจัดงาน Debutante ประจำปีที่พระราชวังบักกิงแฮม อันเป็นวันที่สาวๆ บุตรีของผู้คนในสังคมชั้นสูงอังกฤษต่างรอคอยบัตรรับเชิญไปปรากฏตัวในงานสังสรรค์ พบปะหาคู่กับหนุ่มๆ ในชนชั้นเดียวกันแบบที่เราเห็นในละครทีวีที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายของเจน ออสเตนที่โด่งดัง จากนั้นทรงมีบัญชาให้ทดแทนด้วยการจัดงาน Buckingham Garden Party ประจำปีโดยส่งบัตรเชิญถึงสามัญชนคนธรรมดาที่มีบทบาทในชุมชนต่างๆ อย่างเช่นบรรดาแพทย์ ครู พยาบาล นักกีฬา ที่มีผลงานโดดเด่น นอกจากนี้ยังได้เชิญอาสาสมัครหรือแอคทิวิสต์ที่ทำงานกับรากหญ้าหรือเอ็นจีโอที่เรียกร้องสิทธิและช่วยเหลือชุมชนที่เสียเปรียบในสังคม โดยไม่เคยถือว่านักเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นอันตรายต่อชาติ

สำหรับสามัญชนคนธรรมดาจำนวนหนึ่ง งานปาร์ตี้นี้นับว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้มีโอกาสได้เข้าวัง และเข้าเฝ้าสัมผัสใกล้ชิดกับสมาชิกราชวงศ์หลายพระองค์ ส่วนสมาชิกราชวงค์เหล่านั้นก็นับเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสรับฟังเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร และปัญหาสังคมต่างๆ ที่แต่ละชุมชนประสบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติเพราะสีผิว และนโยบายรัฐบาลที่ทำให้พวกเขาเดือดร้อน ในเวลาต่อมานักเคลื่อนไหวทางสังคมเหล่านี้บางคนได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับเครื่องราชอิสยาภรณ์จากสมเด็จพระราชินีในวาระสำคัญต่างๆ สร้างพลังกำลังใจให้พวกเขาทำงานต่อเนื่องแม้ว่าพวกเขาต้องคัดง้างกับอำนาจรัฐก็ตาม (นักฟุตบอลผิวดำชื่อดัง มาร์คัส แรชฟอร์ด ศูนย์หน้าทีมแมนยูเป็นตัวอย่างหนึ่ง)

เจ้าชายฟิลิปทรงมีบทบาทในการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ ของราชวงศ์ อย่างเช่นการหว่านล้อมให้ราชวงศ์ยอมรับกฎหมายให้เรียกเก็บภาษีรายได้จากกองทุนและรายรับที่ได้มาจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ การยอมรับให้ปลดระวางเรือยอร์ชพระที่นั่ง Royal Yacht Britannia อันเป็นเรืออเนกประสงค์ของราชวงศ์วินด์เซอร์ที่รับใช้สมาชิกราชวงศ์มายาวนาน เคยใช้เป็นราชพาหนะสำหรับการเสด็จประพาสต่างประเทศมาหลายยุคหลายสมัย เป็นเรือที่มีประวัติศาสตร์ผูกพันกับสมเด็จพระราชินีมาก แต่การบำรุงรักษาและค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงให้ทันสมัยต้องเป็นภาระเงินภาษีประชาชนเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นการปฏิรูปสถาบันฯ ทำให้โปร่งใสก้าวหน้าและแสดงให้เห็นว่าราชวงศ์รู้สึกเกรงอกเกรงใจราษฎรผู้เสียภาษีในเวลานั้น

เจ้าชายฟิลิปทรงติดตามความคืบหน้าทางเทคโนโลยีและพยายามนำมาใช้เพื่อลดทอนพิธีรีตองอันโอ่โถงล้าหลังภายในสำนักพระราชวังหลักๆ เช่น บักกิงแฮม วินด์เซอร์ แซนดริงแฮม และบัลมอรัล ตัวอย่างเช่น ทรงมีบัญชาให้ติดตั้งโทรศัพท์สายพ่วงไปตามห้องต่างๆ ของวังนั้นๆ เพื่อยกเลิกระบบที่ต้องให้ข้าราชบริพารประจำพระองค์ของสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงต้องเดินเข้าเฝ้านำสารและข้อความการสื่อสารต่างๆ มากราบทูล แล้วให้เปลี่ยนเป็นสื่อข้อความทางโทรศัพท์ภายในได้ การปฏิรูปเล็กน้อยขนาดนี้ก็ยังทำให้บรรดาผู้ใหญ่เคร่งขนบ รวมทั้งสมเด็จยาย (Queen Mum) ในขณะนั้นไม่พอพระทัย

Arguably Philip’s greatest legacy was his push to modernize the centuries-old monarchy. Progress was incremental, says royal biographer Ingrid Seward to NBC News, “as he had opposition from the old guard who wanted to keep [everything] as it was,” but nevertheless resulted in significant changes.

สถาบันฯ เก่าแก่โบราณที่มีประวัติยาวนานมานับพันปี แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปกันมาตลอดในประวัติศาสตร์ทั้งโดยสมัครใจหรือผ่านเหตุการณ์ที่เสียเลือดเนื้อ ก็ยังมักจะมีการแข็งขืนต่อแนวคิดใหม่ๆ โดยกลุ่มบุคคลผู้มีอิทธิพลและวิสัยทัศน์แคบในวังที่ได้ประโยชน์จากระบบอำนาจเก่าที่รุมล้อมถวายงานพระมหากษัตริย์ กลุ่มอิทธิพลนี้ในระยะยาวแล้วกลายเป็นผู้ที่ล้มเจ้าโดยปริยาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการล่มสลายของสถาบันกษัตริย์บางแห่งในยุโรป รวมทั้งที่กรีก โดยที่เจ้าชายฟิลิปเองทรงเป็นรัชทายาทอันดับหกของการสืบราชบัลลังค์กรีกในขณะนั้น ก็ทรงตระหนักชัดว่าถ้าราชวงศ์อยู่ในวังวนเก่าๆ ของพวกไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ก็จะนำไปสู่การล่มสลายในระยะยาว

เจ้าชายฟิลิปทรงเป็นเชี้อสายของเจ้ากรีกและเดนมาร์ก แต่ราชวงค์กรีกยุคนั้นประสบความตกต่ำเพราะพระมหากษัตริย์มัวแต่หมกมุ่นอยู่กับอำนาจการเมืองและการทหาร กำหนดนโยบายเข้าทำสงครามกับตุรกีแต่พ่ายแพ้ ทำให้สมาชิกราชวงศ์ต้องรับผิดชอบกับนโยบายผิดพลาดนั้นจนกระจัดกระจายลี้ภัยไปต่างประเทศในปี ค.ศ. 1922 รวมทั้งเจ้าชายฟิลิปซึ่งขณะนั้นยังทรงเป็นทารกมีพระชนมายุเพียง 18 เดือน กลายเป็นราชนิกูลพลัดถิ่น ทรงกลายเป็นผู้ลี้ภัยโดยมีพระญาติในราชวงศ์อื่นๆ ในยุโรปโอบอุ้มเลี้ยงดู จนในที่สุดทรงมารับการศึกษาเจริญวัยที่โรงเรียนประจำในสก็อตแลนด์ และเรียนต่อในโรงเรียนนายทหารเรือของราชนาวีอังกฤษ

ภาพจาก www.royal.uk

เมื่อจบจากโรงเรียนนายเรือ เจ้าชายฟิลิปทรงเข้าประจำการในเรือรบของราชนาวี ออกทะเลในสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ปะทะกับกองเรือของนาซีเยอรมันหลายครั้ง และเคยได้รับการยกย่องจากผู้บัญชาการกองทัพเรือครั้งหนึ่ง คราวนั้นทรงออกแบบใช้ทุ่นควันหลอกล่อกองเรือนาซีที่ปิดล้อม จนสามารถนำขบวนเรือของราชนาวีหลุดพ้นจากการปิดล้อมได้สำเร็จ ในขณะนั้นพระองค์ทรงวาดฝันว่าจะเติบโตไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงสุดในกองทัพเรืออังกฤษให้ได้ แต่ความฝันดังกล่าวยุติลงเพราะมีบทบาทหน้าที่ใหม่ เมื่อเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธในปี ค.ศ. 1947

ถ้าหากนับญาติกันแล้ว เจ้าชายฟิลิปทรงสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเช่นเดียวกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ถือว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องห่างๆ ระยะรุ่นที่สาม แต่ก่อนเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ เจ้าชายฟิลิปทรงต้องประกาศสละฐานันดรเจ้ากรีกและเดนมาร์ก แปลงสัญชาติเป็นสามัญชนอังกฤษก่อน เวลาต่อมาหลังพิธีอภิเษกแล้วสมเด็จพระราชินีจึงทรงสถาปนาให้ขึ้นเป็น เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ

ความที่เป็น ‘คนนอก’ แต่งงานเข้าสู่ราชวงศ์อันเป็นสถาบันเก่าแก่เต็มไปด้วยระเบียบพิธีรีตองที่ประดิษฐ์กันมาให้เจ้าอยู่สูงห่างจากสามัญชน ทำให้เจ้าชายฟิลิปผู้ที่มีบุคคลิกแบบ down to earth มีวิสัยทัศน์ไกล ประสงค์ที่จะปฏิรูปสถาบันฯ ให้ราษฎรจับต้องได้ พระองค์ทรงต้องวางบทบาทและแสดงความเป็นตัวของตัวเองจนหลายๆ ครั้งก็ปะทะกับกลุ่มอิทธิพลเคร่งศักดินาในวังที่ยึดมั่นอยู่ในขนบเดิมๆ โดยถือว่าถ้าเป็นคนนอกเข้ามาในวังก็ต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัว อย่ามาเรียกร้องเปลี่ยนแปลงอะไรให้ผิดจากโบราณราชประเพณี จึงทำให้พระองค์อึดอัดพระทัย ต้องออกแรงผลักดันทั้งบนดินและใต้ดิน

ว่ากันตามจริงก็คงไม่ต่างกับเจ้าหญิงไดอานาและเมแกน มาร์เคิลในเวลาต่อมา ที่เป็น ‘คนนอก’ ได้แต่งงานเข้าสู่ราชวงศ์ที่มีคนคอยกำกับให้อยู่ในกรอบ เมื่อเป็นคนนอกก็จะต้องนบนอบเข้ากับระบบที่วางไว้ แต่เจ้าหญิงไดอานาแสดงอาการ ‘จะไม่ทน’ ด้วยการออกทีวีบีบีซีในอังกฤษ ส่วนเมแกนออกรายการทีวีของ โอปราห์ วินฟรีย์ ในอเมริกา

สำหรับเจ้าชายฟิลิป ก็เคยแสดงอาการ ‘จะไม่ทน’ ด้วยการวางหมายกำหนดการแล้วเสด็จออกจากวังไปประพาสหลายประเทศในเครือจักรภพแบบขอฉายเดี่ยวเสด็จพระองค์เดียวเป็นเวลากว่า 5 เดือนในปี 1956 โดยใช้เรือยอร์ชหลวง Britannia เป็นราชพาหนะตลอดระยะเดินทางทั้งสิ้นกว่าสี่หมื่นไมล์ หลังจากอภิเษกสมรสอยู่คู่เคียงกันมาได้ 9 ปีซึ่งในเวลานั้นถึอว่าคงมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นในชีวิตสมรสเป็นแน่ ทำให้เกิดข่าวลือต่างๆ นานาในสื่อยุโรปและออสเตรเลีย ซึ่งทั้งสำนักพระราชวังและพระองค์เองปฏิเสธโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดีในการเสด็จประพาสครั้งนี้ก็มีผลในการเขย่า status quo ในวัง เพราะในเวลาต่อๆ มา พระองค์ได้มีโอกาสสร้างบทบาทใหม่ของพระองค์ในฐานะพระสวามีของพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญที่กำหนดบทบาทของสถานะดังกล่าวไว้ให้เป็นแนวทางเลย  

สำหรับคนรุ่นหลังๆ แบบเมแกนและเจ้าชายแฮร์รีซึ่งเรียกกันว่า รุ่นตื่นรู้ (woke generation) คงไม่ยอมรับว่าเจ้าชายฟิลิปตื่นรู้ในแบบของตน ทว่าผลงานหลายอย่างที่ผ่านมาก็ถือได้ว่าพระองค์ไม่ได้ทรงบรรทมปิดพระเนตรอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและค่านิยมในสังคมสหราชอาณาจักรหรือที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก 

เจ้าชายฟิลิปเป็นนักปฏิรูปในแบบฉบับตามบุคลิกของท่านเอง เพราะในฐานะที่พระองค์ประทับอยู่หัวแถวในสถาบันฯ ที่ยืนหยัดมาได้ยาวนานเป็นพันปี พระองค์ทรงเข้าใจบทเรียนทางประวัติศาสตร์การล้มลงหรือยืนอยู่ของราชวงศ์ต่างๆ และการติดตามข่าวสารที่มาจากทั่วโลก พระองค์ทรงสรุปว่าราชวงศ์วินด์เซอร์และสถาบันกษัตริย์ที่มีอายุยืนยาวมาได้จนทุกวันนี้ ก็เพราะราษฏรส่วนใหญ่ยอมรับนับถือ ไม่ใช่ด้วยการใช้ศักดินากดบังคับ และหากว่าจะทำให้สถาบันฯ มั่นคงยั่งยืนต่อไปได้ ก็ต้องสร้างความเชื่อถือศรัทธาด้วยการสนองตอบต่อความต้องการของราษฎร ซึ่งหมายความว่าสถาบันฯ จะต้องปรับตัวให้ก้าวทันกับอารมณ์ ความรู้สึกและจินตนาการใหม่ๆ ของผู้คนในรุ่นที่กำลังเติบโตไล่เรียงกันมา อีกทั้งต้องก้าวให้ทันกับวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย

ครั้งหนึ่งเจ้าชายฟิลิปเคยตรัสกับผู้สื่อข่าวว่า พระองค์มีพระประสงค์ที่จะปรับปรุงการดำเนินงานต่างๆ ในวังให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยไม่ต้องถึงกับไปรื้อระบบ แม้กระนั้นบรรดาผู้คนที่อยู่ในระบบเก่าๆ คงไม่พอใจ ออกอาการต่อต้านอยู่บ่อยๆ แต่พระองค์ก็คิดว่าการปฏิรูปแบบของพระองค์ เป็นความพยายามที่จะผลักดันพวกเคร่งขนบและบ้าศักดินาให้ออกจากกะลามาสู่โลกในศตวรรษที่ 20 แล้วจะได้ปรับรูปแบบของสถาบันกษัตริย์ให้ยืนอยู่ได้ในโลกอนาคต (future proof monarchy) แม้กระนั้นก็ตามกรณีผิวสีของเมแกน มาร์เคิล ก็ชี้ให้เห็นว่าทัศนคติของกลุ่มเคร่งขนบในวังยังคงปรับตัวกันอย่างเชื่องช้า

เจ้าชายฟิลิปเป็นนักอ่านนักค้นคว้าตัวยง พระองค์จัดให้มีห้องสมุดส่วนพระองค์โดยได้ทรงเก็บสะสมหนังสือต่างๆ ไว้กว่า 13,000 เล่มทั้งทางด้านศิลปะ อารยธรรม ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และทรงประพันธ์หนังสือหลากหลายหัวข้อไว้ถึง 14 เล่มด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น Birds from Britannia, Wildlife Crisis, The Environmental Revolution, A Windsor Correspondence, One and Off the Box Seat เป็นต้น ทรงเป็นสมาชิกราชวงศ์พระองค์แรกที่เริ่มใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (personal computer) รุ่นที่ผลิตในประเทศอังกฤษ

นักรบ นักกีฬา นักบิน นักวาดภาพสีน้ำมัน นักค้นคว้า นักอนุรักษ์สัตว์ป่า-สิ่งแวดล้อม นักเขียน นักปฏิรูป แม้กระทั่งเป็นนักออกแบบด้วย เจ้าชายฟิลิปก็ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้เห็นประจักษ์แล้ว พระองค์เคยออกแบบสร้อยข้อมือพลอยให้กับสมเด็จพระราชินีและออกแบบผังสวนพฤษชาติในพระราชวังด้วย ส่วนงานออกแบบที่ปรากฏต่อชาวโลกหลังสุดนี้ก็คือการดัดแปลงรถ Land Rover รุ่น Defender TD5 130 ผลิตในปี 2003 ให้เป็นรถบรรทุกพระศพในราชพิธีที่พระราชวังวินด์เซอร์เมื่อวันที่ 17 เมษายน โดยที่ผ่านมาราชวงศ์อังกฤษยังไม่เคยมีใครใช้รถกระบะในการขนศพ

ภาพจาก The Royal Family

เคยมีรายงานในสื่อมวลชนอังกฤษ เมื่อหลายปีก่อนว่าเจ้าชายฟิลิป ได้แสดงพระประสงค์กับสมเด็จพระราชินีว่าในพิธีศพของพระองค์นั้น ทรงไม่ต้องการให้จัดงานอะไรให้โอ่อ่าอลังการ ไม่ต้องใช้รถเทียมม้าเคลื่อนขบวนศพแบบที่เคยทำมาเป็นประเพณีแต่โบราณ พระองค์ตรัสว่า “Just stick me in the back of a Land Rover and drive me to Windsor” หลังจากนั้นมาพระองค์ทรงใช้เวลาออกแบบดัดแปลงส่วนกระบะท้าย Land Rover คันนั้น ให้เหมาะสำหรับการบรรทุกและเคลื่อนศพ ดังที่เราได้เห็นจากภาพข่าวทางทีวี นับว่าเป็นการแสดงอารยะขัดขืนต่อขนบประเพณีที่ยึดถีอกันมาแต่โบราณนับร้อยๆ ปีของเจ้าชายพลัดถิ่น ผู้พยายามสร้าง future proof monarchy ให้แก่ราชวงศ์วินด์เซอร์

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save