fbpx
อานุภาพแห่งกล้องวงจรปิด

อานุภาพแห่งกล้องวงจรปิด

วันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

วันนี้อุปกรณ์ที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างแพร่หลายที่สุด คงหนีไม่พ้น

“กล้องวงจรปิด”

คนทั่วไปรู้จักกล้องวงจรปิดมานานแล้ว ในฐานะอุปกรณ์ติดตั้งในบ้านและอาคาร เพื่อเห็นความเคลื่อนไหว ใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดคนร้าย หากมีใครเข้าโจรกรรมทรัพย์สิน

กล้องวงจรปิด หรือ CCTV ย่อมาจาก Closed Circuit Television คือระบบถ่ายทอดสัญญาณภาพจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ภายในวงจรเดียวกันมาเก็บไว้ยังเครื่องบันทึกภาพ

ในสถานที่ราชการ ตามท้องถนน สี่แยกไฟแดง และพื้นที่สาธารณะสำคัญจะมีกล้องวงจรปิดไว้บันทึกภาพ เผื่อมีเหตุการณ์สำคัญอะไร จะได้กลับมาย้อนดู

ตำรวจจราจรใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการตามจับและปรับบรรดาผู้กระทำผิดกฎหมาย อาทิ ขับรถฝ่าไฟแดง ฯลฯ

บริษัทหลายแห่งก็มีกล้องวงจรปิด นอกจากไว้ย้อนดู หากมีปัญหาหรือเรื่องราวเกิดในบริษัทแล้ว ยังเอาไว้ให้ฝ่ายบริหารคอยส่องดูพฤติกรรมของพนักงานว่าเป็นอย่างไร อาทิ แอบงีบในเวลาทำงาน หรือแอบนินทาเจ้านาย ฯลฯ

ในร้านค้าหรือศูนย์การค้า มีกล้องวงจรปิดไว้เพื่อบันทึก เผื่อมีการแอบขโมยของในร้าน หรือเผื่อมีเหตุการณ์สำคัญ

แนวคิดในการบันทึกเหตุการณ์ได้ทำให้ไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนขับรถยนต์เริ่มติดตั้งกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวไว้หน้ารถ เผื่อมีเหตุการณ์สำคัญบนท้องถนน โดยเฉพาะอุบัติเหตุ

ในความหมายนี้ กล้องติดหน้ารถก็พอจะอนุโลมเป็นกล้องวงจรปิดชนิดหนึ่งได้

และเนื่องจากมีราคาถูกเลยทำให้กล้องติดรถยนต์ได้รับความนิยมมากขึ้นจากผู้ขับขี่อย่างรวดเร็ว

รถบางคันมีมากกว่าหนึ่งกล้องเสียอีก

ความนิยมที่แพร่หลาย และการบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐานหากเกิดอุบัติเหตุชนกัน ได้ทำให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประกาศว่าประชาชนที่ติดตั้งกล้องภายในรถยนต์ทุกประเภทที่สามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหว จะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยภาคร้อยละ 5-10 มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งเเต่วันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา

ในอีกด้านหนึ่ง ข่าวที่ปรากฏทุกวันนี้ตั้งแต่ในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ สื่อออนไลน์ ไปจนถึงข่าวโทรทัศน์ คลิป กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ผู้คนต่างโหยหา

รายการทีวีเกือบทุกช่อง มีช่วงข่าวจากคลิปหรือกล้องวงจรปิดอย่างเดียวเลย

เคยมีข้อสังเกตจากคนทำข่าวว่า ข่าวที่ได้รับความนิยมจากคนดูมากเป็นพิเศษประเภทหนึ่ง คือ คลิปจากกล้องวงจรปิด

เพราะคนดูมั่นใจว่า หากเป็นคลิปที่นำมาออกเป็นข่าวแล้ว น่าจะมีอะไรที่ตื่นเต้นแน่นอน และหลายครั้งเป็นเรื่องราวที่ไม่มีคนเห็น

กล้องวงจรปิดหรือคลิปจึงเป็นหมาเฝ้าบ้านยุคใหม่ไปโดยปริยาย เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เห่า แต่เป็นพยานสำคัญบอกเล่าและถ่ายทอดให้กับผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น

ในหลายคดี หากได้คลิปจากกล้องวงจรปิด จะกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน รู้ได้ทันทีว่าใครเป็นจำเลย

เจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะใช้คลิปจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานสำคัญในการจับกุมผู้กระทำผิด

เวลาเกิดเรื่องขึ้น ตำรวจมักจะขอคลิปจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคลิปของเอกชน หรือของราชการไปตรวจสอบ คลิปจากกล้องวงจรปิดก็ทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยให้ตำรวจทำงานง่ายขึ้น

เกิดคดีขึ้นมา คำแรกของพนักงานสอบสวนคือ ถามหากล้องวงจรปิดทันที และต่อมาคลิปเหล่านี้ก็จะแพร่หลายออกสื่ออย่างรวดเร็ว

คลิปจากกล้องวงจรปิดดูเหมือนจะเป็นหลักฐานสำคัญที่มาเร็วและแรงที่สุดในขณะนี้ เพื่อการคลี่คลายคดีสำคัญในหลายกรณี

แต่หลายเหตุการณ์ คลิปจากกล้องวงจรปิดดูเหมือนจะมีปัญหา

กรณีการวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส เด็กหนุ่มชาวลาหู่ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนชาติพันธุ์ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยน้ำมือของทหาร จนถึงบัดนี้ คลิปจากกล้องวงจรปิดหลายตัว หลักฐานชิ้นสำคัญที่จะทำให้เห็นว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในช่วงเวลานั้น กลายเป็นความลับที่ทางทหารอ้างว่ามอบให้กับตำรวจไปแล้ว แต่ไม่ได้มีการเผยแพร่ออกมา

คดีนี้ไม่ซับซ้อนเลย หลักฐานชิ้นสำคัญที่หากคนได้ดูก็จะรู้ได้เลยว่า ทหารทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ กลายเป็นความลับขึ้นมาทันที ตำรวจอ้างว่าไม่สามารถให้ออกสื่อได้ เพราะเกรงเรื่องรูปคดี

แต่หลายคดี คลิปออกสื่อไปเรียบร้อยแล้วก่อนจะมีการพิจารณาคดีเสียอีก

หากคดีนี้เป็นคดียิงคนธรรมดาที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง คลิปจากกล้องวงจรปิดน่าจะได้รับการเผยแพร่ไปนานแล้ว

เมื่อครั้งมีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้ง มีการเดินขบวนบนท้องถนน มีการปะทะกัน เป็นคดีความกัน กล้องวงจรปิดตามท้องถนนก็จะมีปัญหาเสียขึ้นมาทันที  ไม่สามารถบันทึกเหตุการณ์สำคัญได้เหมือนปกติ ต่างจากเวลาจับคนขับรถฝ่าไฟแดง ซึ่งกล้องเหล่านี้ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม ในการนำคนที่ผิดกฏหมายมาเสียค่าปรับ

ล่าสุดเมื่อมีกรณีคนแอบขุดเอา “หมุดคณะราษฎร” ออกไป และเอาหมุดอันใหม่ หรือ “หมุดหน้าใส” มาทับแทนที่ แถวบริเวณพระบรมรูปทรงม้า ระหว่างวันที่ 2-8  เมษายน 2560 ซึ่งมีกล้องวงจรปิดจำนวนมากติดตั้งอยู่

ปรากฏว่า เมื่อมีคนไปร้องขอดูภาพจากกล้องวงจรปิดจากทางกรุงเทพมหานคร ผู้เป็นเจ้าของกล้อง

คำตอบที่ได้รับคือ

“กทม.” แจงกล้อง 11 ตัวรอบ “หมุดคณะราษฎร” ไม่มี เพราะเมื่อวันที่ 31 มีนาคม มีการปรับปรุงสัญญาณไฟจราจรบริเวณโดยรอบ ซึ่งกล้องจะผูกติดกับสัญญาณไฟจราจร และไม่สามารถใช้การได้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

หลักฐานชิ้นสำคัญว่าใครคือคนขุดหมุดสำคัญนี้ไป ก็มีเหตุให้อันตรธานไปทันที

อานุภาพของกล้องวงจรปิด จึงมีสองด้านเสมอ

ด้านที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา  กับด้านที่ขึ้นกับผู้มีอำนาจจะสั่งการมา

MOST READ

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

Politics

12 Sep 2018

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

อายุษ ประทีป ณ ถลาง

12 Sep 2018

Politics

14 Jul 2020

การเกิดอีกครั้งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ธนาพล อิ๋วสกุล เขียนถึงการเปลี่ยนความหมายของจอมพล ป. พิบูลสงครามจาก ‘ผู้ร้ายในประวัติศาตร์การเมืองไทย’ มาเป็นนายทหารฝ่ายคณะราษฎรที่สามารถกำราบฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติอย่างราบคาบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแหลมคมการเมืองร่วมสมัยของไทย

ธนาพล อิ๋วสกุล

14 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save