fbpx
ทำไมคนไม่พอใจทหาร

ทำไมคนไม่พอใจทหาร

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

หากสังเกตช่วงเวลานี้ ดูเหมือนกระแสผู้คนที่ไม่พอใจทหารเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญ

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า คนไม่พอใจทหารมาก เพราะทหารเข้ามายุ่มย่ามทางการเมืองมากไปและนานเกินไปหรือไม่

โดยปกติ ในอดีตที่ผ่านมา ทหารจะเข้ามายุ่งการเมืองอย่างเปิดเผยในช่วงเวลาสั้นๆ และหลบไปอยู่หลังฉาก มากกว่าที่จะครองอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างเปิดเผยและนานมากแบบรัฐบาลทหารปัจจุบัน

นายทหารที่ครองอำนาจนานๆ อย่างเปิดเผย ส่วนใหญ่จะถูกประชาชนเกลียดชังและเดินขบวนขับไล่ อาทิ จอมพลถนอม กิตติจร  จอมพลประภาส จารุเสถียร จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือพลเอกสุจินดา คราประยูร ที่อยากเป็นนายกรัฐมนตรีต่อภายหลังการรัฐประหาร และต่อมาถูกประชาชนขับไล่จากเหตุการณ์พฤษภาวิปโยค 2535

แต่รัฐบาล คสช. ที่ยึดอำนาจมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 กลับมีแนวคิดว่าจะต้องยึดอำนาจบริหารประเทศไปนานๆ เพื่อทำการปกครองบ้านเมืองตามแนวคิดของพวกตนเอง ตามความเชื่อที่ว่า “รัฐประหารทั้งทีอย่าให้เสียของ เหมือนรุ่นพี่ที่ทำ” โดยไม่สนใจกระแสสังคมที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งมาหลายปีแล้ว

ห้าปีที่ผ่านมา ความไม่พอใจรัฐบาล คสช. และกองทัพที่ยึดอำนาจมายาวนาน ทำให้คนจำนวนมากเริ่มรู้สึกอัดอั้น และวิพากษ์วิจารณ์ออกมาสู่ภายนอกผ่านโลกออนไลน์อย่างเผ็ดร้อน นับวันจะไม่เกรงใจผู้มีอำนาจ

เมื่อถนนทุกสายมุ่งไปสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง เราจะพบว่านอกจากนักการเมืองแล้ว ทหารได้ตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงที่คนทั่วไปไม่พอใจทหารมากที่สุด

แตกต่างจากช่วงสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554 ที่ทหารทำตัวเป็นทหารอาชีพ เป็นตัวหลักในการเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างยาวนาน ทำงานอย่างต่อเนื่องจนกระแสความนิยมทหารพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนจะลดลงภายหลังการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด

ห้าปีที่ คสช. เข้ามาปกครองประเทศ ถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีอายุยืนยาวนานกว่ารัฐบาลพลเรือนส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้แสดงฝีมือการบริหารให้เห็นว่า รัฐบาลทหารที่อ้างว่าเข้ามาปราบทุจริตคอร์รัปชันจากบรรดานักการเมือง เอาเข้าจริงแล้วก็เป็นแค่ราคาคุย ทำไม่ได้ตามที่พูด สถิติการคอร์รัปชันแทบไม่ได้ลดลง และยังมีข้อครหาการทุจริตคอร์รัปชันของพรรคพวกตัวเอง แต่ก็ถูกผู้มีอำนาจทำให้กลายเป็นเรื่องถูกต้องและเลือนหายไปในเวลาอันรวดเร็ว

ไม่มีการตรวจสอบจากฝ่ายใดอย่างจริงจัง เพราะสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของคนทั่วไปถูกละเมิดโดยสิ้นเชิง ไม่รวมถึงบรรดาสื่อมวลชนที่โดนคุมเข้มจากกฎหมายต่างๆ

รัฐบาลทหารเข้ามาพร้อมกับคำสัญญาที่จะปฏิรูป และปรองดองความแตกแยกของผู้คนในสังคม แต่ห้าปีผ่านไป การปฏิรูปก็ย่ำอยู่กับที่ ไม่กล้าแตะต้องการปฏิรูปสำคัญ อาทิ การปฏิรูปตำรวจ ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาการปรองดอง ก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะท่ามกลางสงครามสีของทั้งสองฝ่าย เป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาลทหารเลือกเข้าข้างฝ่ายใด

มิหนำซ้ำปัญหาปากท้องของประชาชน อันเป็นปัญหาพื้นฐานของทุกรัฐบาล กลับไม่ได้รับการเหลียวแล ขณะที่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนในประเทศถ่างออกไปมากขึ้น ประเทศไทยติดอันดับโลกเรื่องความเหลื่อมล้ำ กลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลกลับมีรายได้ก้าวกระโดดติดอันดับโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลทหารส่งคนของตัวเองจำนวนมากเข้าไปกินตำแหน่งสำคัญ กินเงินเดือนสูงๆ ในองค์กรอิสระ สภา สนช. รัฐวิสาหกิจต่างๆ มากมาย ไม่ต่างจากพรรคการเมืองที่ถูกโจมตีว่าส่งคนของตัวเองไปคุมตำแหน่งสำคัญเพื่อผลประโยชน์ของพวกตน

ทำให้องค์กรอิสระอย่าง ปปช. กกต. ถูกโจมตีว่าทำงานเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจอย่างชัดเจน อาทิ การพิจารณาเรื่องนาฬิกายืมเพื่อนของ ปปช. การออกกฎกติกาเลือกตั้งที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเสียเปรียบของ กกต. ฯลฯ

เมื่อคนของตัวเองยึดกุม สนช. ได้หมดสิ้น ทำให้การผ่านกฎหมายสำคัญ ไม่มีการตรวจสอบใดๆ อาทิ งบประมาณแผ่นดิน 3 ล้านล้านบาท ผ่านสภาอย่างรวดเร็วด้วยมติเป็นเอกฉันท์

พอฝ่ายทหารแสดงท่าทีชัดเจนว่า ต้องการสืบอำนาจต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง โดยการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ทำให้ตัวเองได้เปรียบเต็มที่ โดยเฉพาะประเด็นวุฒิสภา หรือ ส.ว. 250 คน ที่ คสช. เป็นคนตั้งขึ้นมา มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ส.ว. 250 เสียง ดูเหมือนจะเพิ่งเป็นที่รับรู้ออกมาในวงกว้าง ภายหลังมีการดีเบตพรรคการเมืองทางทีวีหลายครั้ง ยิ่งทำให้คนทั่วไปเห็นความไม่ยุติธรรมในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะฝ่ายที่สนับสนุน คสช. มีเสียงในมือแล้ว 250 เสียง

คสช. เป็นคนเลือกส.ว. 250 คน แล้วทำไมส.ว. 250 คนจะไม่เลือกคนของ คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี

คนไทยส่วนใหญ่เป็นคนใจนักเลง ชอบการเลือกตั้งแบบแฟร์ๆ ไม่เอาเปรียบกัน แต่การหมกเม็ด ส.ว. 250 เสียง ทำให้คลื่นความไม่พอใจทหารมีมากขึ้น

(ผู้เขียนเชื่อว่า คนไทยจำนวนมากยังไม่รู้ว่า รัฐบาลจากนี้ไปต้องดำเนินนโยบายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีนายทหารจำนวนมากนั่งเป็นกรรมการ หากผู้คนรู้มากกว่านี้ เชื่อว่าความไม่พอใจคงลุกลามขึ้นอีก)

ความไม่พอใจทหาร ยังรวมถึงท่าทีกร่างๆ พูดจาดูถูกคนอื่นของนายทหารหลายคน อันแตกต่างจากบุคลิกของผู้นำกองทัพในอดีตที่เป็นสุภาพบุรุษ สุขุม มีความอดกลั้นอดทนเป็นเยี่ยม

และเมื่อพรรคการเมืองหลายพรรคหาเสียงด้วยการชนกับทหารอย่างแรง จากนโยบายการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การตัดงบประมาณทหารที่เพิ่มขึ้นทุกปี แทนที่ผู้นำกองทัพจะมีท่าทีที่สุขุม เงียบสงบ กลับตอบโต้ด้วยการพูดถึงเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ อันเป็นเพลงที่สร้างความแตกแยกให้กับสังคมมายาวนาน และให้เปิดเพลงนี้ให้กระหึ่ม เพื่อสร้างสงครามจิตวิทยาให้กับคนที่คิดจะต่อต้านทหาร

หากไปสังเกตปฎิกิริยาในโลกออนไลน์ แทนที่คนจะกลัว คนจำนวนมากไม่ได้รู้สึกยำเกรงหรือเกรงกลัว เมื่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกมาข่มขู่ ผู้คนกลับตอบโต้ด้วยการขุดคุ้ยประวัติของบิดาท่าน อดีตหัวหน้าคณะปฏิวัติผู้ทิ้งมรดกไว้ 4,000 ล้านบาท ให้คนนินทาว่า อาชีพทหารทำไมรวยได้ขนาดนี้

ผู้เขียนเชื่อว่า คนจำนวนมากเริ่มเบื่อหน่ายทหารที่เข้ามายุ่งการเมืองมากเกินไป ไม่ได้แสดงฝีมือการบริหารบ้านเมืองให้ประจักษ์ โดยเฉพาะแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ และแทนที่จะรู้ตัวเองว่าไม่มีความสามารถพอ แต่ไม่ยอมถอยออกไป กลับพยายามจะสืบทอดอำนาจไปอีกนาน ด้วยวิธีการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ผู้คนจำนวนมากไม่ได้รังเกียจทหารอาชีพ ที่ทำหน้าที่ปกป้องประเทศ แต่เบื่อทหารการเมือง ที่เข้ามาแสวงหาอำนาจ แสวงหาผลประโยชน์ ทำตัวเองไม่ต่างจากนักการเมืองที่ตัวเองเคยด่า

อารมณ์ไม่พอใจของมวลชนนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ และจะลุกลามไปถึงไหน อีกไม่นานคงมีคำตอบ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save