fbpx
สำรวจภูมิทัศน์การเมืองฟิลิปปินส์ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี

สำรวจภูมิทัศน์การเมืองฟิลิปปินส์ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี

9 พฤษภาคม 2022 คือวันที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวฟิลิปปินส์มากกว่า 65.7 ล้านคนภายในประเทศ และอีกกว่า 1.8 ล้านคนทั่วโลก จะได้ลงคะแนนเลือกตั้งเพื่อสรรหาประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ

ในประเทศฟิลิปปินส์การเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งรองประธานาธิบดี เป็นการแยกกันลงคะแนน แน่นอนว่าผู้สมัครบางรายอาจจะฟอร์มทีมจับคู่ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในลักษณะ Running-mate หรือจะลงสมัครเลือกตั้งเฉพาะตำแหน่งเดียวโดดๆ ก็ได้ โดย ณ ปัจจุบัน (10 กุมภาพันธ์ 2022) มีผู้ลงสมัครเพื่อชิงชัยเป็นประธานาธิบดี 10 ตัวเลือก และผู้ลงสมัครเพื่อชิงชัยเป็นรองประธานาธิบดีอีก 9 ตัวเลือก ในกลุ่มนี้มีการจับคู่เพื่อฟอร์มทีมในการชิงชัยทั้ง 2 ตำแหน่งในลักษณะแพ็กคู่ไปแล้ว 8 ทีม ซึ่งบางทีมก็มาจากคนละกลุ่ม คนละพรรค

นอกจากการเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีแล้ว ในวันเดียวกันยังมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (Senate) จำนวน 12 ที่นั่ง (จากทั้งหมด 24 ที่นั่ง) ซึ่งปัจจุบันมีผู้สมัครลงตำแหน่งชิงชัยกัน 64 คน รวมทั้งจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแบ่งเป็นแบบ ส.ส. ตัวแทนตามเขตเลือกตั้ง 253 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (Party List) จำนวน 63 ที่นั่ง ร่วมกับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอีกทั้งหมดมากกว่า 18,000 ตำแหน่ง ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นในวันเดียวคือวันที่ 9 พฤษภาคมที่กำลังจะมาถึง ดังนั้นช่วงเวลาฤดูกาลการหาเสียงอย่างคึกคัก ท่ามกลางมาตรการเข้มงวดจากการระบาดของโควิด-19 กำลังจะเกิดขึ้น

จากการสำรวจคะแนนนิยม ณ ปัจจุบัน ทีมผู้สมัครประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี ที่มีคะแนนนิยมสูงที่สุด คือ ทีม BBMSara UniTeam 2022 ซึ่งเป็นการจับคู่ระหว่างวุฒิสมาชิก Ferdinand “Bongbong” Marcos Jr. ลูกชายของ Ferdinand Marcos อดีตผู้นำเผด็จการคอร์รัปชันในระหว่างปี 1965-1986 ของประเทศฟิลิปปินส์ ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีภายใต้พรรค Federal Party of the Philippines (PFP) จับคู่กับ Sara Duterte ลูกสาวของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Rodrigo Duterte โดยปัจจุบัน Sara ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด (Mayor) Davao City และเธอจะลงสมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีภายใต้พรรค Lakas ซึ่งเป็นพรรคการเมืองอุดมการณ์อนุรักษนิยมสายกลาง (ขวา-กลาง) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประชาธิปไตยคาทอลิกและประชาธิปไตยมุสลิม แต่ Sara เองก็ลงสมัครในนามพรรคการเมืองที่เป็นคนละพรรคกับคุณพ่อ ซึ่งสังกัดพรรค PDP–Laban ซึ่งมีอุดมการณ์ค่อนมาทางสังคมนิยมประชาธิปไตย และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ทีมที่ 2 ที่หลายๆ ฝ่ายจับตามอง คือ พรรค PROMDI (Progressive Movement for the Devolution of Initiatives) ที่สนับสนุนสุดยอดนักชกขวัญใจมหาชน Emmanuel “Manny” Pacquiao Sr. ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ปัจจุบัน Manny Pacquio ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก แต่ก่อนหน้านี้ เขาคือนักมวยแชมป์โลก 8 สถาบัน ที่เคยได้แชมป์โลกมาแล้วใน 12 ครั้ง จากการชก 5 รุ่น โดย Manny Pacquio จะจับคู่กับ Lito Atienza ซึ่งเป็น ส.ส.จากจังหวัด Buhay ลงชิงตำแหน่ง โดยอุดมการณ์ทางการเมืองของทีมนี้คืออนุรักษนิยม ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างรุนแรงในเรื่องการต่อต้านและการลิดรอนสิทธิกลุ่ม LGBTQI+ (กลุ่มคนที่ยอมรับในความหลากหลายทางเพศวิถี)

ทีมที่ 3 ที่หลายๆ ฝ่ายจับตาคือ Leni ซึ่งเกิดขึ้นจากการฟอร์มทีมของ Leni Robredo รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันของประธานาธิบดี Duterte ซึ่งเธอดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2016 และเป็นผู้สมัครหญิงเพียงคนเดียวที่ลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี โดย Leni ซึ่งลงสมัครในนามผู้สมัครอิสระ จะจับคู่กับวุฒิสมาชิก Francis Pegilinan จากพรรค Liberal ซี่งมีอุดมการณ์เสรีนิยม

ทีมที่ 4 ที่ถือว่าก็เป็นที่นิยม โดยเฉพาะในโลกโซเชียล นั่นคือทีมของผู้ว่าราชการกรุงมะนิลาคนปัจจุบัน Francisco “Isko Moreno” Demagoso จากพรรค Aksyon ซึ่งเป็นกลุ่มหัวก้าวหน้าทางการเมืองในฟิลิปปินส์ ที่เน้นการปฏิรูปต่อต้านกลุ่มอำนาจเดิม (Establishment) ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มนี้มีฐานเสียงหลักคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมือง โดย Isko Moreno จะจับคู่กับนายแพทย์ Willie Ong นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ที่มีชื่อเสียงในโลกโซเชียล จากการทำ Facebook และ YouTube ตอบปัญหาสุขภาพ โดยคุณหมอได้รับความเชื่อมั่นมากจากคนฟิลิปปินส์ที่ยังเข้าถึงระบบสวัสดิการด้านสุขภาพได้ไม่ทั่วถึงเพียงพอ

นอกจาก 4 ทีมหลักแล้ว ยังมีทีมผู้สมัครอื่นๆ อีก นั่นคือ

  • พรรค PLM ซึ่งเป็นพรรคแรงงานอุดมการณ์สังคมนิยมส่ง Leodegario de Guzman ผู้นำสหภาพแรงงาน จับคู่กับ Walden Bello ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค PLM
  • อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ระหว่างปี 1999-2001) ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา Panfilo Lacson รวมทีมกับอดีตพระเอกวงการบันเทิงฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานวุฒิสภา Vicente “Tito” Sotto III
  • พรรค Katipunan ซึ่งมีอุดมการณ์แบบ Federalism ส่งนักธุรกิจ Fisal Mangondato ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ดู่กับ ทนายความ Carlos Serapio ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี
  • สายประชานิยม อุดมการณ์ขวาจัด Democratic Party of the Philippines (DPP) ส่งนายแพทย์และทนายความ Jose Montemayor Jr. คู่กับผู้ประกาศและนักวิเคราะห์ข่าววิทยุ Rizalito David

และยังมีผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีที่ไม่ได้จับคู่กับใครอีก 2 ตัวเลือกคือ ผู้สมัครในนามอิสระ Ernesto Abella โดยในอดีตเขาเคยเป็นโฆษกประจำตัวของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Duterte และอีกคนหนึ่งคือ Norberto Gonzales อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของอดีตประธานาธิบดี Gloria Macapagal Arroyo โดยลงชิงชัยในฐานะตัวแทนพรรค PDSP ซึ่งถือเป็นพรรคหลักที่สนับสนุนการรณรงค์ขับไล่อดีตประธานาธิบดี Joseph E. Estrada เมื่อปี 2001 จนทำให้ Arroyo ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีอยู่ในเวลานั้นได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 14

สุดท้ายยังมีผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีอีก 1 คนคือ นายแพทย์ Manny SD Lopez ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรค WPP ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนของแรงงานและเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม เพื่อเข้าใจภูมิทัศน์การเมืองฟิลิปปินส์ อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องเข้าใจด้วยคือ ‘ครอบครัว’ หรือ ‘ราชวงศ์ทางการเมือง’ ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งประกอบขึ้นจากครอบครัวใหญ่ 9 ครอบครัวที่มีอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุดและต่อเนื่องยาวนานมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของประเทศ โดย 9 ครอบครัวนี้ประกอบไปด้วย

  • Marcos ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอาณาจักรการเมืองที่มีรากฐานที่มั่นคงหยั่งรากลึกมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นกลุ่มตัวแทนที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาตลอดช่วงสงครามเย็น แม้จะพังพินาศไปในปี 1986 จากการปฏิวัติพลังประชาชน (People Power Revolution) แต่ในยุคสมัยปัจจุบัน Imelda Marcos ภรรยาของอดีตประธานาธิบดี Marcos ก็ยังเป็น ส.ส. ในสภาของประเทศมาจนถึงปี 2019 และลูกๆ ของพวกเขาไม่ว่าจะเป็น Imee, Bongbong และ Irene ต่างก็ยังเป็นนักการเมือง เป็นวุฒิสมาชิก ส่วนอีกหนึ่งคนอย่าง Aimee ซึ่งเป็นลูกบุญธรรม แม้จะไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่ก็เป็นเซเลบริตีของประเทศ
  • Aquino แน่นอนว่ากลุ่มนี้เป็นคู่ปรับของกลุ่ม Marcos เพราะอดีตวุฒิสมาชิก Benigno “Ninoy” Aquino Jr. เป็นแกนนำในการต่อต้านอดีตประธานาธิบดี Marcos จนถูกจับกุมคุมขังและถูกลอบสังหาร ภรรยาของเขา Corazon “Cory” Aquino จึงขึ้นมาเป็นแกนนำในขบวนการ People Power Revolution ในปี 1986 จนขับไล่ Marcos ให้ลี้ภัยและไปเสียชีวิตที่เกาะฮาวาย จากนั้นเธอเองก็ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 11 ของประเทศ ในขณะที่บุตรชายอย่าง Benigno “Noynoy” Aquino III ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 15 ของประเทศในปี 2010-2016
  • Estrada นำโดยพระเอกขวัญใจมหาชน Joseph “Erap” Estrada ซึ่งเปลี่ยนมาเล่นการเมืองตั้งแต่ปี 1969 ก่อนที่จะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 13 ของประเทศในปี 1998 และถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งเนื่องจากการฉ้อฉลคอร์รัปชันในปี 2001 แต่ก็ยังคงอยู่ในเวทีการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงมะนิลาระหว่างปี 2013-2019
  • Macapagal ตระกูลการเมืองนี้เริ่มต้นจากประธานาธิบดีคนที่ 9 ของประเทศฟิลิปปินส์ Diosdado Macapagal ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1961-1965 ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคของ Marcos โดยลูกสาวของ Diosdado อย่าง Gloria Macapagal Arroyo ก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 14 ต่อจาก Estrada เธอถือเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดรองจาก Marcos คือตั้งแต่ปี 2001 ถึงปี 2010 แต่แล้วก็เช่นเดียวกับอดีตประธานาธิบดีอีกหลายคน เธอถูกจับกุมด้วยข้อหาการใช้เงินของรัฐในทางมิชอบในปี 2012 แต่ก็รอดมาได้ในปี 2016 โดยมีข้อครหาว่าที่รอดมาได้เพราะเธอสนับสนุนและใกล้ชิดกับประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Duterte และตอนนี้ Arroyo ก็ยังคงเป็น ส.ส.อยู่ในรัฐสภาของฟิลิปปินส์
  • Duterte กลุ่มนี้คือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ โดยมีฐานที่มั่นสำคัญคือ Davao City, Danao และ Cebu และแน่นอนว่าในปัจจุบัน กลุ่มนี้คือกลุ่มที่กุมอำนาจการเมืองในประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดี Rodrigo “Digong” Duterte
  • Ampatuan กลุ่มนี้มีฐานเสียงอยู่ในเขต Maguindanao ทางตอนใต้ของประเทศ คุมฐานเสียงโดยมีนักการเมืองอยู่ในกลุ่มประมาณ 80 คน และเป็นกลุ่มสำคัญที่สนับสนุน Gloria Macapagal Arroyo ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
  • Binay กลุ่มนี้คืออีกหนึ่งพลังสำคัญที่ร่วมกันกับกลุ่ม Aquino ในการต่อต้านกลุ่ม Marcos และเป็นผู้สนับสนุนสำคัญที่ทำให้ Noynoy สามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ในปี 2010 โดยลูกหลานของกลุ่มนี้เป็นทั้งวุฒิสมาชิก ส.ส. และ ผู้ว่าราชการจังหวัดสำคัญ นั่นคือจังหวัด Makati
  • Ortega กลุ่มตระกูลทางการเมืองซึ่งมีฐานเสียงที่เหนียวแน่นยาวนานต่อเนื่องทางตอนเหนือของประเทศบนเกาะ Luzon โดยมีจุดศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองอยู่ที่เมือง La Union โดยกลุ่มนี้มีนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ 2007 จนปัจจุบัน
  • Roxas ทายาทของอดีตประธานาธิบดีคนที่ 5 Manuel Acuña Roxas โดยเป็นตระกูลการเมืองที่สนับสนุน Estrada และได้คุมกระทรวงเศรษฐกิจ และสามารถอยู่ร่วมรัฐบาลมาได้อย่างต่อเนื่องในสมัยของ Noynoy Aquino

หากผู้สมัครประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีทีมไหนได้รับสารรับรอง (endorse) จากกลุ่มตระกูลการเมืองเหล่านี้ นั่นเท่ากับโอกาสในการได้รับเลือกตั้งย่อมมีสูง เพราะฐานเสียงทั้งจากการเมืองท้องถิ่น ส.ส. ส.ว. และผู้ว่าราชการจังหวัด ย่อมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการอำนวยให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของทีมมีประสิทธิผลสูงขึ้น โดยปัจจุบัน ทีม Bongbong-Sara ได้รับการ endorse แล้วจากทั้ง Joseph Estrada, Gloria Macapagal Arroyo และ Duterte อีกทั้งยังมีฐานเสียงจากบุคคลสำคัญในรัฐสภาและในระดับรัฐบาลท้องถิ่น

ดังนั้น หากการปลุกกระแสของคู่แข่งทางการเมืองในแนวทาง “ตัวคุณไม่ผิด แต่พ่อของคุณเคยทำผิด” ใช้ไม่ได้ผล รวมทั้งการดำเนินคดีการหนีภาษีของ Bongbong ในทศวรรษ 1990s ที่ดำเนินคดีอย่างล่าช้า ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมา สิ่งที่ไม่น่าจะได้เห็น อย่างเช่นการคืนสู่ทำเนียบประธานาธิบดี Malacañang ของครอบครัว Marcos ซึ่งเคยถูกขับไล่ออกไปจากทำเนียบแห่งนี้ในปี 1986 หรือแม้แต่การที่นาง Imelda Marcos จะได้กลับมานำรองเท้าคู่สวยมาไว้ในห้องเก็บรองเท้าในทำเนียบ ก็อาจเกิดขึ้นได้ หาก Ferdinand “Bongbong” Marcos Jr. และ Sara Duterte ควงคู่กันนำชัยชนะจากการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save