fbpx
จากใจกัลยาณมิตร พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : หมดเวลา 'ประชาธิปไตย' บุญเก่า

จากใจกัลยาณมิตร พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : หมดเวลา ‘ประชาธิปไตย’ บุญเก่า

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เกษียณราชการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาได้ราว 2 ปี แต่เป็นช่วงเวลา 2 ปีที่เขายอมรับว่าเริ่มถอยห่างออกมาจากพรรคพวกสายการเมืองที่เคยคลุกคลีกันมา ตั้งแต่สมัยสังคมไทยขัดแย้งแบ่งขั้วแยกข้างเป็นเผด็จการกับประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง

แน่นอน, ตัวตนและความคิดของพิชิตยังอยู่ข้างประชาธิปไตยไม่เคยเปลี่ยน หลายกรรมหลายวาระ เขายืนยันปะทะด้วยหลักการและเหตุผล เคียงข้างฝ่ายเสียเปรียบทางการเมืองมาเสมอ โดยเฉพาะ ‘คนเสื้อแดง’

แต่กรณีเหตุการณ์ ‘8 กุมภาฯ’ ทำให้เขาไม่มั่นใจว่าสองขั้วขัดแย้งของสังคมไทยจะยังแบ่งได้ชัดเหมือนเดิม

ยังไม่ต้องนับย้อนไปถึงเหตุการณ์นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ที่เขามองว่ามวลชนผู้สูญเสียต้องกลืนเลือดอีกไม่น้อย

วันนี้ พิชิตคิดอะไร

มีสำนวนหนึ่งที่ชอบพูดกันในแวดวงปัญญาชนอาวุโสว่า “กัลยาณมิตรมักพูดในสิ่งที่ฟังยาก”

ต่อไปนี้เป็นโพสต์ทางเฟซบุ๊กของพิชิตถึง 2 กรณีเมื่อต้นเดือนกุมภาฯ​ ที่หลายคนพยักหน้าปรบมือ และอีกหลายคนกระอักกระอ่วน โดยเฉพาะเพื่อนฝูง ‘สายเพื่อไทย’

โพสต์แรกว่าด้วยนายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. ได้หรือไม่

แถกันไปเรื่อยเรื่อง “นายกฯ คนนอก” สุดท้ายก็คือดูตัวบุคคลที่ศรัทธา แล้วก็หาเหตุผลมาแก้ตัวให้เท่านั้น

คำว่า “นายกฯ คนนอก” ตั้งแต่พฤษภา 35 ถึงประชามติ รธน. 60 เข้าใจตรงกันหมดว่า หมายถึงนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. มาจากสภาผู้แทนราษฎร นอกนั้นล้วนเป็น “นายกฯ คนนอก”

แต่มาวันนี้ ไถลไปนิยามใหม่ ถึงจะไม่ใช่ ส.ส. แต่ถ้าพรรคการเมือง “เสนอชื่อ” ก็ไม่เป็นคนนอก กลายเป็น “นายกฯ คนใน” สง่างาม “เป็นประชาธิปไตย” ขึ้นมาทันที !?!

ที่ล้มตายหายสูญเมื่อพฤษภา 35 ล้วนตายเปล่าทั้งนั้น! รณรงค์ประชามติโหวตโนร่าง รธน. 60 ก็แค่ตลกเรื่องโจ๊ก    

วันนั้นพูดว่า นายกฯ ต้องเป็นสส. แต่วันนี้พูดว่า “เออ ไม่เป็นไร” เพราะเห็นช่องว่า คนที่ตัวเชียร์จะได้ประโยชน์แค่นั้น!

แถว่า นักการเมืองที่ตัวเองเชียร์มีประวัติดี ฉลาด เก่ง ไม่ด่างพร้อย เป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ถึงวันนี้จะมาช่องเดียวกับประยุทธ์ ก็เอาไปเทียบกับประยุทธ์ไม่ได้ เพราะคนของฉันเป็น “คนดี”!

แล้วต่างกับตรรกะ “คนดีมีข้อยกเว้น” ของพวกเผด็จการตรงไหน จะใช้หลักการอะไร ขอดูหน้าคนก่อน ถ้าเป็นคนที่ฉันเชื่อว่า “คนดี” ก็ยกเว้นได้ แต่ถ้าเป็นคนที่ฉันเกลียด ต้องด่าไปถึงนรก

ประยุทธ์ทำรัฐประหาร 57 เป็นเรื่องเลวร้ายที่ต้องประณาม แต่เฉพาะเลือกตั้ง 62 วันนี้ พรรคการเมืองก็เชิญเขามาถูกต้องตามรธน. 60 แบบเดียวกับนักการเมืองที่คุณเชียร์นั่นแหละ ด่าเขาที่เคยเป็นหัวหน้า รปห.ได้ แต่ด่าเขาในฐานะนักการเมืองที่พรรคพลังประชารัฐเชิญมาได้ยังไง ก็วันนี้เขาเป็น “ประชาธิปไตย” แบบเดียวกับคนที่คุณเชียร์แล้วนี่?

อ้างว่า รธน. 60 ให้ประยุทธ์ทำได้ ไม่ผิด เราก็ต้องทำได้! แล้วเรื่องยกเลิก รธน. 60 ร่างใหม่ให้เป็น ปชต. เอาไปหมกไว้ที่ไหน? ถ้าพรรคเพื่อไทยทำแบบเดียวกันแล้วได้ “นายกฯ คนนอก” คุณเชื่อหรือว่าเพื่อไทยจะแก้รัฐธรรมนูญ? เขาได้ประโยชน์จากจุดนี้ เขาจะแก้ทำไม? อย่าบอกนะว่า “เชื่อใจเขา เพราะเป็นพวกเดียวกัน เป็นคนดี”

ใจจริงๆ อยากให้พรรคเพื่อไทยทำแบบพรรคพลังประชารัฐ อยากให้นักการเมืองคนนั้นไม่ลง ส.ส.แต่เอาชื่อมาแปะตำแหน่งนายกฯ ไว้แบบเดียวกับประยุทธ์ อยากให้ “คนพิเศษ” ที่ลือกันมาลงการเมืองค่ายพท.-ทษช เต็มตัว หลายคนจะได้ “ขีดเส้นแบ่งให้ชัด” กันเสียที เรื้อรังมานานแล้ว

แต่มันอดไม่ได้ ถึงต้องร้องเตือนกัน ซึ่งก็คงไม่มีประโยชน์ เพราะคนตัดสินคือตระกูล “นายใหญ่” ไม่ใช่สมาชิกพรรค มวลชน แฟนคลับ หรือนักวิชาการที่อยู่ในรู!

โพสต์ที่สองเขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ ‘8 กุมภาฯ’

ทักษิณทวิตแบบเท่ๆ ว่า “เรียนรู้จากประสบการณ์อดีต” ถามว่า ทักษิณเรียนรู้อะไรบ้างนอกจากดีลใต้โต๊ะและเกมลักไก่ที่ตัวเองถนัดจนรวยหมื่นล้าน แต่ฉิบหายทางการเมืองทุกครั้งเพื่อประโยชน์ตัวเองโดยเอาชีวิตคนอื่นเป็นของแลกเปลี่ยน?

ถ้าทำแล้วเสียหายเฉพาะตัว มันก็เรื่องของทักษิณ ไม่มีใครว่า แต่ทุกครั้งคือ เอาประชาชนไปแลก ปี 53 ชีวิตคนเสื้อแดงนับพันคน ดีลเหมาเข่ง 56 จนเกิดรัฐประหาร 57 เผด็จการทหารที่เลวร้ายที่สุด และดีลครั้งนี้ที่ความเสียหายต่อ ปชช.กำลังมาระลอกใหญ่

ทักษิณ “เรียนรู้จากอดีต” แค่ว่า ดีลล้มเหลวเพราะไพ่ในมือไม่ใหญ่พอ ต้องเดิมพันให้หนักขึ้นๆ จากสมัคร สุนทรเวช (ต่อสายข้างในได้) ถึงยิ่งลักษณ์ (แก้ไขไม่แก้แค้น) และคราวนี้ยิ่งมั่นใจว่า มี Straight Flush สุดท้ายเจอไพ่เหนือ Royal Flush!

ทำกับคนในค่ายตัวเองเป็น “กระดาษทิชชู่” ขยี้ขยำยังไงก็ได้ ตอนนิรโทษกรรมเหมาเข่ง แกนนำนปช.ไม่ยกมือให้ ก็กระทืบไล่ส่งทั้งที่เขาสู้ติดคุกมาแทบตาย คราวนี้ทั้งสุดารัตน์ ชัชชาติ จาตุรนต์ ยอมเสี่ยงเป็นเบอร์ 1 ลุยเต็มที่ นาทีสุดท้ายเป็นคนนอกพรรคเข้ามา ทั้งสามคนใบ้กิน! แต่นี่เป็นเรื่องภายในของเขา

เสนอคนนอกเป็นนายกฯ ทำลายหลักประชาธิปไตย เอาราชวงศ์มาลงการเมืองทำลายเจตนารมณ์ปฏิวัติ 2475

เตรียมเข้าไปลักไก่ในสภา เพื่อไทยแทนที่จะยกมือโหวตนายกฯ ให้สุดารัตน์ กลับโหวตให้ไทยรักษาชาติที่เสียงน้อยกว่า ผิดประเพณีทางรัฐสภาอีก เหมือนลักไก่ยัดไส้ผ่าน พรบ.นิรโทษกรรม ตอนตีสี่นั่นแหละ

ผลคราวนี้ก็เหมือนปี 56 ความเสียหายระยะยาวกำลังมา คนเกลียดทักษิณที่เคยกระจัดกระจายกลับมารวมตัวหนุนประยุทธ์เต็มที่ ประยุทธ์เข้มแข็งขึ้นทันที คนที่โดนบูชายัญคือแกนนำ ทษช. และ ปชช.ที่เสียโอกาสไล่เผด็จการ

ทักษิณเองต่อไปนี้แก้ตัวกับสาธารณชนไม่ได้แล้วว่า ไม่ได้เอาการเมืองมาวุ่นวายกับพระราชวงศ์ แต่ข้อนี้เป็นผลกระทำของทักษิณเอง ปชช.ไม่เกี่ยว

เราเรียนรู้ว่า การได้ประชาธิปไตยนั้นหวังพึ่งอำนาจวิเศษ พระเครื่องศักดิ์สิทธิ์ และเกี้ยเซี้ยข้อตกลงลับไม่ได้ มีแต่ ปชช. ต้องสู้ให้ได้มาด้วยตัวเองเท่านั้นไม่ว่ามันจะยาก ห่างไกลและยาวนานสักเท่าใด

นอกจากคำถามใหญ่ๆ ว่าพิชิตคิดอะไรกับเหตุการณ์ฝุ่นตลบที่เพิ่งเกิดขึ้น

101 ชวนเขาคุยก่อนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ 3 วัน เพื่อทบทวนความเปลี่ยนแปลงของมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย การเกิดใหม่ของ New Voter และการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 24 มีนาฯ

 

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

อาจารย์เห็นบรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างไร ถือว่าตื่นตัวกว่าครั้งที่ผ่านวิกฤตความขัดแย้งมาแต่ละช่วงไหม

บรรยากาศมันคนละอย่างกัน อย่างตอนหลังปี 2535 มันเป็นกระแสของคนเมืองที่ต่อรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร มันต่างจากครั้งนี้ที่ความขัดแย้งลงไปถึงประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งเหลือง แดง กปปส. แต่ละฝ่ายแบ่งค่ายกันชัด มีมวลชนของตัวเอง ตอนนั้นมันเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายทหารกับคนเมืองเป็นหลัก คนต่างจังหวัดมีบทบาทน้อยในช่วงนั้น ขณะที่ความขัดแย้งครั้งนี้ก่อตัวมาในช่วงรัฐประหารปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

ผมคิดว่าปัจจุบัน ‘ภูมิทัศน์ทางการเมือง’ กำลังเปลี่ยน หลายคนยังเอาการเลือกตั้งปี 2554 เป็นตัวคำนวณว่าดูจากคะแนนปีนั้น แล้วคนนั้นคนนี้จะได้กี่เสียง ผมคิดว่าการคำนวณอย่างนั้นโอกาสผิดเยอะ

อย่างแรก เราไม่ได้มีการเลือกตั้งมา 8 ปี  คนอยู่ภายใต้เผด็จการทหารมานานถึง 5 ปี และความขัดแย้งระหว่างเผด็จการทหารกับประชาชนก็กลับเข้ามาใหม่ แต่ลักษณะพิเศษของเผด็จการทหารวันนี้ก็ต่างจากอดีต เพราะวันนี้ทหารมีมวลชนสนับสนุน เช่น กปปส. หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นจึงดูเบาเขาไม่ได้ เพราะเขามีประชาชนจำนวนหนึ่งอยู่ข้างหลังเขา

ที่คล้ายกันอย่างหนึ่งคือ ฝ่ายเผด็จการทำอะไรก็ไม่ผิด หรือถ้าผิดก็ไม่รู้ไม่ชี้ ส่วนอีกฝ่ายคือมวลชนของพรรคเพื่อไทย ก็มองว่าตัวเองไม่เคยผิด คิดว่าใช้วิธีการใดก็ได้ในการต่อสู้ทางการเมือง ความซับซ้อนนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งแค่ทหารกับประชาชน แต่เป็นประชาชนด้วยกันเอง

อย่างที่สองคือ New Voter ประมาณ 7 ล้านคนที่อายุเฉลี่ย 18-26 ปีที่ไม่เคยเลือกตั้งเลย และเด็กนักเรียนมัธยมที่เราเริ่มเห็นว่าเขาตื่นตัว แสดงออกกันทางการเมืองมากขึ้น คนกลุ่มใหม่นี้เขาโตมากับอินเทอร์เน็ตและชุมชนอีกแบบ ผมคิดว่าเขาได้รับอิทธิพลการโฆษณาชวนเชื่อที่ตกทอดกันมาหลายสิบปีก่อนนี้น้อยมาก ระบอบอนุรักษนิยมชวนเชื่อเขาแบบเดิมๆ ได้น้อยมาก รวมทั้งความขัดแย้งจากเหลือง แดง กปปส. คนรุ่นนี้ได้รับอิทธิพลจากกรณีเหล่านี้น้อย

พวกเขามองปัญหาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องเผด็จการทหาร และจะมากำหนดอนาคตของพวกเขา สถาบันไหนที่เป็นเผด็จการล้าหลังก็จะถูกพวกเขามองว่าทำให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ ทำให้พวกเขาโตมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ผู้ใหญ่ทำอะไรทิ้งไว้ ทำไมเขาต้องมาแบกรับด้วย

แล้วขุมกำลังทั้งฝ่ายเผด็จการและประชาธิปไตยรุ่นเก่าๆ เองเปลี่ยนไปบ้างไหม

คะแนนนิยมของทั้งสองฝ่าย แม้ว่าปัจจุบันจะมีมวลชนสนับสนุนอยู่เยอะ แต่ถ้าเทียบกับ 5-6 ปีที่แล้วถือว่าน้อยลงไปเยอะ โดยเฉพาะกรณีพรรคเพื่อไทย เดี๋ยวจะอธิบายต่อไป

ฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีมวลชนเข้มแข็งสุดขั้วก็หายไปเยอะ อาจมีกลับมาใหม่โดยคนที่กลัวผีทักษิณจากกรณีเหตุการณ์ ‘8 กุมภาฯ’

ฝั่งที่ผมเคยเรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตย เช่น เครือข่ายทักษิณ ผมเห็นว่ามวลชนหายไปส่วนหนึ่งด้วยหลายสาเหตุ ผมพูดกับเพื่อนๆ ที่ไปลงการเมืองในพรรคเล็กๆ ว่า จุดพีคของฝ่ายทักษิณเข้มแข็งที่สุดคือตอนปี 2554 นั่นคือครั้งที่ยิ่งใหญ่และรวมพลังได้มากสุด ตอนที่นับคะแนนแล้วเราก็เห็นเปอร์เซ็นต์เยอะกว่าตอนที่ชนะเลือกตั้งปี 2544 แต่หลังจากปี 2556 มา ผมคิดว่าเขาอยู่ในช่วงขาลงอย่างช้าๆ และคนในนั้นคงแทบไม่รู้สึกอะไร

แต่สำหรับคนที่ถอยออกมา มองจากข้างนอกและไม่เอาอารมณ์เข้าไปเกี่ยว จะเห็นได้ว่ามันเป็นขาลง แต่ลงแบบช้าๆ ถ้าเป็นหุ้นก็ค่อยๆ ตกลงไปเรื่อยๆ

สาเหตุคืออะไร

มาจากปัจจัยภายในพรรคเองและปัจจัยภายนอกด้วย

ปัจจัยภายใน เช่น ตอนนิรโทษเหมาเข่ง การเลือกตั้งล้มเหลว บริหารจัดการมวลชนไม่ดี และต่อมาโดนรัฐประหารไปง่ายๆ เป็นต้น รวมถึงช่วงแรกของการรัฐประหาร ท่าทีของทักษิณคือให้ทุกคนนิ่งเงียบ ไม่หือไม่อือ มันเป็นการเปิดทางให้โดยสะดวกโยธิน ในทางกลับกันก็เป็นการเอื้ออำนวยให้กลายๆ ทักษิณพูดเองว่าจะให้เวลา คสช. บริหารประเทศ

จากนั้นมาครั้งหลังสุดคือ เหตุการณ์ ‘8 กุมภาฯ’ คนทั่วไปก็รู้ว่าต้นคิดมาจากไหน มันทำให้คนจำนวนหนึ่งที่เคยอยู่ในค่ายทักษิณถอยออกมา และความศักดิ์สิทธิ์ในบารมีทักษิณก็น้อยลง

หลังปี 2554 มา ผมเห็นว่าเขากินบุญเก่า แต่ไม่สร้างบุญใหม่ ไม่มีนโยบายใหม่ มีแค่ ‘30 บาท’ ก็ถือเป็นนโยบายเกือบ 20 ปีที่แล้ว มีแค่ ‘ชัชชาติ’ ที่เป็นตัวละครใหม่ในช่วงนี้ แต่คนอื่นก็ไม่ใหม่ เครือข่าย ส.ส. ที่ใช้ก็คือคนเก่าๆ ทีมเดิมที่อายุ 60-70 เช่น เสนาะ เทียนทอง, เฉลิม อยู่บำรุง คนพวกนี้เราเห็นว่าเขาพยายามดึงลูกหลานตัวเองเข้ามาสืบทอดอำนาจ แต่มันไม่เด่น ยังเทียบรุ่นพ่อแม่ไม่ได้ แถมยังใช้ฐานคะแนนเสียงเดิม หลักๆ คือภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งส่วนหนึ่งมันก็หายไปบ้างด้วยซ้ำ

คนที่ยังจำได้ว่าสมัยไทยรักไทย 1 กับ 2 ทักษิณเก่งยังไง ทำอะไรไว้บ้าง คนที่ว่าเศรษฐกิจดีตอนนั้นก็อายุ 50 กว่าแล้ว คนกลุ่มนี้อาจยังเหนียวแน่น มีแบรนด์เนม ไม่ว่าส่งใครมาเขาก็ยินดีเลือก ไม่ว่าจะ ‘ชัชชาติ’ หรือ ‘สุดารัตน์’

จะว่าไป นโยบายตั้งแต่ยุคแรกนับเป็นจุดแข็งวันนี้ได้ไหม

การเดินแบบนี้ของพรรคเพื่อไทยมันเหมือนเป็นองค์กรธุรกิจที่เถ้าแก่รุ่นแรกสร้างมา แล้วไม่มีการคิดค้นอะไรใหม่ คำถามคือในอนาคตถ้าหมดทักษิณแล้วจะเป็นใคร ยิ่งลักษณ์หรือลูกทักษิณก็ไม่มีทาง แกนนำก็ไม่มีใครโดดเด่น พอเจอเหตุการณ์ 8 กุมภาฯ ก็เห็นแล้วว่าทั้งชัชชาติ สุดารัตน์ จ๋อยหมด เพราะมันเป็นองค์กรที่อิ่มตัวแล้ว และกินกำไรบุญเก่า ซึ่งวันนี้บุญเก่ากำลังหมดแล้ว

แต่มวลชนฝั่งประชาธิปไตยไม่ได้ปฏิเสธนโยบาย

วันนี้เราเห็นว่าเขาชูเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ได้ชูเรื่องประเด็นทางการเมือง ชูป้ายที่ไหนก็หวังเรื่องเศรษฐกิจจะมาดึงคะแนนเสียงเป็นหลัก นี่คือจุดแข็งเก่าของเขา ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพหรือประชาธิปไตย มันอาจจะเล่นได้กับคนจำนวนหนึ่ง คนอายุ 50-60 หรือคนที่ได้รับอิทธิพลเรื่องเล่าสมัยทักษิณ เพราะว่าการบริหารด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เด่นที่สุดของพวกเขา

ส่วนปัจจัยภายนอกที่เล่นงานพรรคเพื่อไทยก็คือรัฐบาลทหาร ด้วยการพยายามลดอิทธิพลของเครือข่ายเพื่อไทยมาตลอด 5 ปี ผมคิดว่าเราจะไปดูเบาไม่ได้ เช่นการดูด ส.ส.ไปได้กว่า 30 คน ซึ่งเป็นระดับเกรดเอนะ

อีกประเด็นคือการเลือกตั้งครั้งนี้มันมีบัตรอยู่ใบเดียว ถ้า ส.ส. ที่ตัวจะเลือกอยู่คนละพรรค คนเลือกก็ต้องเลือกระหว่างจะเอาพรรคหรือเอาคน ถ้าเป็นชาวบ้านก็ต้องนึกแล้วว่าจะเอาพรรคเดิมหรือเอา ส.ส. ที่มีความสัมพันธ์กันมาเป็นสิบๆ ปี  ยิ่งไม่ต้องพูดว่าการใช้อำนาจรัฐจากฝ่ายทหารที่ไปสร้างเครือข่ายไว้ตลอด 5 ปี พยายามตะล่อมให้ประชาชนเทคะแนนให้

และปัจจัยที่มีผลอย่างเลี่ยงไม่ได้คือโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ซึ่งเครือข่ายเพื่อไทยก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรืออิทธิพลกับคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน หรือมีน้อยมาก ผลคือเปอร์เซ็นต์คะแนนเสียงฝั่งเพื่อไทยจะลดลงแน่นอน

 

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

เหตุการณ์ 8 กุมภาฯ จะนับเป็นบทเรียนอะไรได้บ้าง

8 กุมภาฯ สะท้อนว่าเครือข่ายทักษิณทำพลาด ผมเชื่อว่าครั้งนี้ฝั่งทักษิณจ่ายในราคาที่แพงมาก แต่ถ้าจะสรุปบทเรียน ผมเชื่อว่าส่วนตัวทักษิณเองคงไม่ไปสรุปบทเรียน และเขาคงเล่นการเมืองแบบเดิมต่อไป

ทักษิณคิดว่าการเล่นแบบนั้นคือได้ไพ่ใบใหญ่ที่สุดมา ซึ่งเป็นการคิดที่ผิด และผมไม่เชื่อว่าเขาจะเปลี่ยนวิธีคิด เพราะตัวตนเขาเป็นแบบนี้

เราเห็นมาหลายครั้งตั้งแต่ตอนนิรโทษเหมาเข่ง มันเป็นวิธีคิดแบบเถ้าแก่ แบบคนที่สร้างบริษัทมาแล้ว ถ้าใครบอกว่าทักษิณมีความคิดก้าวหน้าที่สุด ผมบอกว่าใช่ แต่นั่นมัน 15 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้เขาเป็นแค่เถ้าแก่คนหนึ่งที่เริ่มตกยุคแล้ว

คลิปที่ออกทุกวันจันทร์ก็มีอิมแพคน้อยมาก มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ทักษิณพูดอะไรแล้วใครก็รอฟัง เดี๋ยวนี้คนที่ตามฟังมีแค่แฟนคลับรุ่นเก่า และจริงๆ ทุกคนก็สามารถพูดอย่างทักษิณได้ บางคนก็ล้ำหน้าไปไกลกว่าแล้วด้วยซ้ำ

เทียบเคียงได้กับตอนพันธมิตรฯ เสนอมาตรา 7 แล้วมวลชนบางส่วนก็เดินออกมาไหม ที่เรียกกันว่า ‘สองไม่เอา’

ได้ส่วนหนึ่ง หลังรัฐประหารปี 2549 คนเสื้อเหลืองจำนวนหนึ่งก็ถอยออกมาเพราะว่าสู้กันไปแล้ว สุดท้ายคุณเลือกรัฐประหาร มาปี 2557 พอยิ่งลักษณ์ยุบสภา กปปส. บางส่วนก็พอใจเลิกไป แต่อีกบางส่วนก็ยังลากไป คนกลุ่มแรกนั้นคือเขาไม่เอา พ.ร.บ.เหมาเข่ง และเขาก็ไม่ชอบยิ่งลักษณ์ แต่เขาไม่เอารัฐประหาร เขาก็ถอยออกมาเหมือนกัน ส่วนกลุ่มที่ยังเป็นสลิ่มเหลืองสุดขั้ว ยังตามกำนันสุเทพ พวกนี้อยากให้ทหารยึดอำนาจ

ขบวนการ ‘สองไม่เอา’ สมัยนั้นมันอยู่ในหมู่นักวิชาการ-ปัญญาชนจำนวนหนึ่ง ยังเป็นกลุ่มที่ไม่มีฐานมวลชน ไม่มีฐานคะแนนเสียง นักวิชาการก็เป็นรุ่นใหญ่ที่คนนอกวงการไม่รู้จัก

แต่วันนี้ไม่เหมือนกัน มวลชนมันโตขึ้น นอกจากนักวิชาการใหม่ๆ ที่มีท่าทีและหลักการชัดเจน อีกส่วนก็คือคนที่ถอยออกมาจากเสื้อแดง แม้จะน้อยแต่ก็เห็นบทบาทอยู่ บวกกับการเกิดพรรคการเมืองทางเลือกใหม่ๆ เป็นพลังที่สามที่ไม่ได้อินกับเหลืองหรือแดง

วันนี้อาจารย์ทำความเข้าใจมวลชนที่ยังรักทักษิณอยู่ยังไง

คนกลุ่มนี้มีหลายเฉด ตั้งแต่กลุ่มแบบสุดขั้ว ผมเชื่อว่ามีไม่เยอะ สุดขั้วชนิดแบบบูชาพ่อทักษิณ แตะต้องไม่ได้ เป็นบุคคลที่สมบูรณ์แบบ สุดยอด เป็นอัศวินที่ไม่มีผิด เป็นผู้ที่คิดวางแผนซับซ้อนไม่มีใครตามทัน แม้แต่กรณี 8 กุมภาฯ ทุกวันนี้ก็ยังมีคนพูดอยู่ว่าทักษิณวางแผนได้ละเอียดลึกซึ้ง ต่อให้พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ คนกลุ่มนี้ก็จะบอกว่าทักษิณวางแผนไว้แล้ว รู้ว่าจะต้องเกิด ที่ผมเรียกว่าพวกนี้ว่าสุดขั้ว คือมีอาการคลั่งชนิดที่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ผมเขียนวิจารณ์ทักษิณ ก็จะส่งข้อความมาด่าผมทันที พวกนี้ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มคลั่งอีกฝั่ง

ส่วนกลุ่มที่อ่อนลงมา ก็คือคนที่วิจารณ์ได้ แต่ยังมีใจให้ รู้ว่าทักษิณผิด แต่มันมีความผูกพันกันอยู่ มันเป็นความรู้สึกว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา มีความสงสาร เนื่องจากเขาถูกรังแกด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาถูกกระทำ มันทำให้คนกลุ่มนี้สงสารและเห็นใจ

อารมณ์ตัดไม่ขาด ?

ไม่ต้องพูดถึงเสื้อแดงที่ถอยออกมาแล้ว เพราะเขาคงไม่เอาด้วยแล้ว

แต่กลุ่มที่ยังตัดไม่ขาด เขามีเพื่อนที่เคยเคลื่อนไหวและผ่านประสบการณ์เดียวกันมา เหมือนผ่านสนามรบด้วยกันมา ดังนั้น ถึงแม้เพื่อนจะทำผิดพลาดก็ยังให้อภัยกัน

พวกนี้อาจมีการสรุปบทเรียน แต่เนื่องจากมีความสงสารและร่วมชะตากรรมกันมา มันเลยทิ้งกันไม่ได้ เราต้องเข้าใจคนกลุ่มนี้ ให้เวลาและเห็นใจ คนกลุ่มนี้แม้ไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ 8 กุมภาฯ แต่ก็ต้องยืนยันว่าการยุบพรรคไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะสมาชิกเขาไม่ได้ทำอะไรผิดด้วย

อาจารย์ทำความเข้าใจยังไงกับวิธีคิดฝ่ายทักษิณ ตั้งแต่เหมาเข่งจนมาถึง 8 กุมภาฯ

เป็นลักษณะของกลุ่มธุรกิจรุ่นเก่าที่อาศัยการเติบโตจากเครือข่ายอำนาจเก่า คุณต้องเข้าไปเป็นคนในของเขาถึงจะเติบโตได้ ถ้าคุณเป็นคนนอกคุณไม่มีทางโต กลุ่มทักษิณเขาโตจากธุรกิจด้วยการเข้าไปในแวดวงนั้น และพยายามทำตัวเป็นคนใน ไม่ว่าจะเป็นการดีล การทำสัมปทาน การใช้กฎหมายให้ตัวเองได้ประโยชน์ เป็นการโตมาแบบเดียวกันกับฝ่ายอำนาจเก่า

แต่ทักษิณเขาทำธุรกิจเครือข่ายมือถือ ในยุคนั้นยังเป็นของใหม่ ลักษณะต่างแต่วิธีการเดิม เขาไม่ได้ไปยุ่งกับธุรกิจเดิมของกลุ่มอำนาจเก่าก็จริง ตรงจุดนี้ทักษิณก็พยายามพิสูจน์ตัวเองว่าฉันเป็นคนในนะ เป็นพวกเดียวกับคุณนะ คุณเข้าใจผิดที่มาทำร้ายผม ผมอยู่ฝ่ายเดียวกับคุณ ซึ่งเราเห็นความพยายามมาตลอด 10 กว่าปี เพื่อบอกว่าตัวเองอยู่ฝ่ายเดียวกับเขา แต่ไม่เคยรู้ตัวว่าเขาไม่นับคุณเป็นพวกเดียวกันด้วย

ส่วนมวลชนที่เป็นฐานคะแนนเสียง เขาเลือกเพื่อไทยจากผลงานเก่า ทั้ง 30 บาท กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มนี้ผมเรียกว่ามวลชนฐานคะแนนเสียง ไม่นับว่าเป็นเสื้อแดง เขาได้รับประโยชน์โดยตรงมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย เขาซื่อสัตย์เพราะไทยรักไทยพิสูจน์ตัวเองแล้ว ผลงานจับต้องได้

แต่มวลชนเสื้อแดงคือกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง มีเครือข่ายอะไรต่อมิอะไร หลายคนบอกว่าเสื้อแดงคือทั้งเหนือและอีสาน ผมว่าไม่ใช่ขนาดนั้น ต้องบอกว่ามันมีคนที่ active คือคนที่ออกมาเคลื่อนไหว กับคนที่ passive คือรอการเลือกตั้ง เอาใจช่วยแต่ไม่เคลื่อนไหว กลุ่มหลังคือฐานคะแนนเสียง

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

วันนี้กลุ่มเสื้อแดงเป็นอย่างไรในสายตาอาจารย์

เสื้อแดงถึงจุดพีคตอนปี 2554 แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่าไม่ได้ยิ่งใหญ่แล้ว เพราะถูกเผด็จการทหารคอยกัดกร่อนส่วนหนึ่ง และจากการกร่อนกันเองส่วนหนึ่ง

เฉดเสื้อแดงที่เห็นปัญหาแต่ยังผูกพัน คนพวกนี้เขายังไม่เห็นทางเลือกที่ดีกว่าในแง่ที่จะบรรลุซึ่งประชาธิปไตยกับการทวงความเป็นธรรมให้กับยิ่งลักษณ์ ทักษิณ เพราะเขาเห็นว่าสองคนนั้นถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรม และก็เป็นสิ่งที่พวกเขาเองก็โดนมาเหมือนกัน ดังนั้นมันเป็นความเป็นธรรมที่คนถูกกระทำต้องได้เหมือนกัน

ถ้าอย่างนั้น พรรคอนาคตใหม่หรือพรรคทางเลือกฝั่งประชาธิปไตยอื่นๆ ทำไมยังไม่ใช่ทางเลือก

หนึ่ง เป็นเรื่องวัย และสอง เรื่องสไตล์

อีกอย่างคือ mind set ก็ต่างกันมาก คนที่ไปฟังปราศรัยเพื่อไทย ไทยรักษาชาติ เขารู้สึกว่าสองกลุ่มแรกมันมีอารมณ์ความรู้สึกของปี 2553-2554 มีความสะใจที่ได้เสียดสีประชดประชัน แต่พรรคอื่นมันเป็นพรรคแบบคนเมือง พูดกันเรื่องนโยบาย คอนเซ็ปต์สิทธิเสรีภาพ ลีลาการพูดมันก็เป็น gap ทางชนชั้น

ภาพพจน์ของคนทั่วไปกับคนเมือง มันไม่สามารถสื่อกันได้ เวลาเขาเจอแกนนำกลุ่มเพื่อไทย ไทยรักษาชาติ เขากอดกันไม่รู้กี่ครั้ง ร้องไห้เจ็บปวดด้วยกัน กับอีกฝั่งใครก็ไม่รู้ อายุแค่ 30-40 พูดกันคนละภาษา ไทยคำอังกฤษคำ เขาเลยยังไม่สามารถเอาใจไปฝากได้

ถ้าอาจารย์เห็นฝ่ายทักษิณอยู่ในช่วงอ่อนกำลัง แล้วพอจะมองการเลือกตั้งรอบนี้ออกไหมว่ามันจะนำไปสู่อะไร

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น ฝั่งทักษิณอ่อนตัวลง ขณะเดียวกันพลังฝ่ายประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นก็เพิ่งก่อตัว ผมมองเป็นการเลือกตั้งแบบซ้อมรบ และเลือกตั้งครั้งที่สองจะตามมาอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลรอบนี้ไม่มีเสถียรภาพจนต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในอีกหนึ่งถึงสองปี อันนั้นคือสนามรบของจริง 24 มีนาฯ นี้เป็นแค่มวยยกที่หนึ่ง

ผมเชื่อว่านายกฯ คนต่อไปน่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งจาก ส.ว.250 คน รวมกับ ส.ส.จากพรรคสนับสนุน แต่การตั้งรัฐบาลให้มีเสถียรภาพ มันต้องการ ส.ส. เกินครึ่งในสภาผู้แทน ปัจจัยชี้ขาดก็คือพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมาเราก็เห็นประชาธิปัตย์เหยียบเรือสองแคม และผมก็คิดว่าเขารู้ทันเกมนี้ เขาจะต่อรองผลประโยชน์มากที่สุด รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องอาศัยเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์

แต่ ส.ส. ฝั่งตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะเกิน 200 เสียง แค่นี้รัฐบาลก็เหนื่อยแล้ว คนที่เป็นนายกฯ น่าจะคุมไม่อยู่ โดยเฉพาะคนที่มีภูมิหลังมาจากทหาร ไม่เคยดีลกับนักการเมืองแบบเด็ดๆ ที่พลิกแพลงตลอดเวลา ผมว่าทหารเล่นเกมการเมืองในสภาไม่ทัน สุดท้ายเวลาจะยกมือโหวต ก็ต้องล็อบบี้กันหนักหน่วงมาก เพื่อให้ได้คะแนนเสียงผ่านกฎหมายแต่ละฉบับ ผมมองว่าอยู่ได้ไม่นานหรอก

คุณไปดูย้อนหลังได้ นายกฯ ที่มาจากรัฐประหาร เป็นทหารมาก่อนแล้วมาเป็นนายกฯ ต่อหลังเลือกตั้ง ล้มเหลวทุกคน ไม่มีใครประสบความสำเร็จในการคุมการเมืองหลังเลือกตั้ง ล้มเหลวทุกราย ครั้งนี้ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะว่าการเมืองโดยภาพรวมมันไม่เอาแนวคิดแบบทหาร

ถ้าอย่างนั้นจุดแข็งของ คสช. วันนี้คืออะไร

จุดแข็งคือยังมีกองทัพหนุนหลังอย่างเข้มแข็ง มีปืนอยู่ข้างหลัง

ถ้าอาจารย์เห็นความผิดพลาดของฝั่งทักษิณ วันนี้การเมืองยังเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายเผด็จการอย่างเดียวได้อยู่ไหม

ความซับซ้อนมันเยอะกว่านั้น มากขึ้นทุกปีตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ช่วงนั้นเรายังเห็นแค่สองฝ่าย แต่ตอนนี้มีหลายขั้ว หลายสี หลายเฉด ฝ่ายเผด็จการเขาก็เกาะเกี่ยวกันมากขึ้น เล็กแต่ความเหนียวแน่นสูง ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยมันใหญ่ขึ้นแต่อ่อนแรง แถมยังกระจายเป็นหลายเฉด มีเฉดสลิ่มแดง ซึ่งพวกนี้ผมยังสงสัยเลยว่าจะเรียกเป็นฝ่ายประชาธิปไตยได้ยังไง

คนที่เชียร์ให้ฝ่ายตัวเองชนะเลือกตั้งแล้วจะทำอะไรก็ได้หมด คนกลุ่มนี้ยังเห็นว่าถ้าทหารยึดอำนาจแล้วจะให้ทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ ก็เอา

ส่วนกลุ่มที่วิจารณ์ได้แต่ยังโหยหาอาลัย ยังมีความหวังว่าทักษิณจะได้กลับมา เพื่อนๆ ที่โดนคดีความจะได้ออกมา เพื่อนเราต้องลี้ภัยไปก็จะได้กลับมา ได้ความเป็นธรรมกลับมา คนกลุ่มนี้คิดว่าถ้าทิ้งพวกเขาก็เสียคน

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

อาจารย์คิดว่าฝ่ายประชาธิปไตยที่มีขั้วทักษิณอยู่ด้วย สามารถเตือนสติกันเองได้ไหมว่าอะไรผิดอะไรถูก

เหตุการณ์มันผ่านมานานมากตั้งแต่นิรโทษกรรมเหมาเข่ง มันสายไปแล้วที่จะมาถามว่าทำไมคิดไม่ได้สักที แต่อย่างที่บอก เขาก็มองว่าทางเลือกที่เพิ่มขึ้นมามันยังไม่ใช่ จะไปโทษเขาก็ไม่ได้ เพราะประสบการณ์ที่เขาผ่านมา เขามองว่าคนรุ่นใหม่ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเอง ไม่ได้ร่วมรบกันมา อาจจะเห็นใจ เอาใจช่วย แต่ไม่กระโดดข้ามรั้วมา ดังนั้นกลุ่มหลังต้องสร้างฐานของตัวเองขึ้นมา

ถ้าอย่างนั้นอะไรคือความท้าทายของกลุ่ม New Voter

ความท้าทายอย่างแรกคือจำนวนคนยังไม่เยอะ 8-9 ล้านคนมันแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด และยังต้องดูว่ามาใช้สิทธิจริงเท่าไหร่ แต่ตามสถิติทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย คนกลุ่มนี้ออกมาใช้สิทธิน้อยที่สุด คะแนนเสียงพวกเขายังไม่มากพอที่จะพลิกเวทีทางการเมืองให้หลุดพ้นจากสองขั้วแดงเหลืองที่ยังมีคะแนนเป็นส่วนใหญ่ การเลือกตั้ง 24 มีนาฯ น่าจะยังไม่พลิกอะไร แต่มันจะเริ่มเปลี่ยนจริงคือหลังเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งจะมีคนจำนวนนี้เพิ่มเข้ามาอีก และคนรุ่นเก่าก่อนก็จะหายไปบางส่วน

อีกส่วนคือองค์กรทางการเมืองใหม่ เช่น พรรคอนาคตใหม่ ที่ยื่นขอจัดตั้งพรรคตั้งแต่เดือนมีนาคม ได้รับอนุมัติตอนเดือนกันยายา เวลามันนิดเดียว ฐานรากมันยังไม่ลง เทียบกับเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เขาเก่ากว่ามาก พรรคใหม่ยังมีเครือข่ายที่ไม่กว้าง ไม่แน่น เป็นฐานที่ไหลไปไหลมา เป็นกระแส ถ้าเป็นดินคือยังปั้นไม่ติด นี่เป็นเงื่อนไขทางเวลาและจำนวน

เงื่อนไขที่สามคือ รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อทำลายพรรคใหญ่ ด้วยการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว ตัดคะแนน party list พรรคใหญ่ และก็เป็นอันตรายแก่พรรคเล็กที่ไม่มีเครือข่าย ส.ส.ในพื้นที่

ผมเชื่อว่า 24 มีนาฯ อนาคตใหม่ได้แจ้งเกิด แต่แจ้งเกิดแล้วจะใหญ่แค่ไหนต้องคอยดู อย่างที่บอกว่ามันเป็นแค่จุดเริ่มต้นของภูมิทัศน์ที่เริ่มเปลี่ยน

นอกเหนือปัจจัยภายนอก อาจารย์เห็นจุดอ่อนอะไรของพรรคอนาคตใหม่อีกบ้าง

ผมขอไม่พูด เพราะมันเป็นเรื่องของพรรคว่าเขาจะทำอย่างไรกันต่อไป ผมไปสอนเขาไม่ได้ ผมอายุมากแล้ว 62 แล้ว คงยากจะเอาประสบการณ์ผมไปสอนพวกเขา รุ่นผมเราถนัดการเดินบนถนน จะเอาจุดอ่อนจุดแข็งแบบผมไปมองเขายังไม่ได้

ตัวแปรที่เราเห็นคือคนนอกสถาบันการศึกษาที่เริ่มทำงานไปแล้ว หรืออยู่นอกระบบการศึกษา เช่น ทำงานในร้านค้าที่ธุรกิจเปลี่ยนไปแล้ว หรือเป็นแรงงาน เป็น SME คนเหล่านี้ได้อิทธิพลแค่ไหนจากพรรคอนาคตใหม่ ผมไม่แน่ใจ คนเหล่านี้อาจได้รับอิทธิพลจากรุ่นพ่อแม่และเลือกตามพ่อแม่ไป ซึ่งอาจเป็นเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ คนกลุ่มนี้ไม่มีใครรู้ว่าเวลานี้ว่าจะเลือกอะไร

อยากชวนมองจุดแข็งของประชาธิปัตย์

ความเป็นสถาบันของเขาลงหลักปักฐานมานานมาก มีการจัดตั้งในพื้นที่อย่างจริงจัง หากคุณไปดูการเลือกตั้งที่ผ่านมา คะแนนในเขตไม่เคยต่ำกว่าหมื่นสองหมื่น ต่อให้เป็นยุคที่แพ้เลือกตั้ง แต่พอมาดูคะแนนเขตก็ยังเยอะอยู่ดี เขามีคะแนนจัดตั้ง

ส่วนภาคใต้ อาจมีคนใต้ที่หงุดหงิดมาหลายปี แต่สุดท้ายก็เลือกให้ เหมือนเสื้อแดงเฉดที่เป็นห่วงเพื่อน ร่วมรบกันมา มันมีความอัดอั้นตันใจกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่สุดท้ายก็เข้าคูหากาเพื่อไทย

ทางใต้เวลาเขากาให้ประชาธิปัตย์ ไม่ใช่กาให้อภิสิทธิ์ เขากาให้ชวน ชวนเป็นปูชนียบุคคลของคนภาคใต้ แม้กระทั่งสุเทพยังสู้ไม่ได้ แล้วกลับเข้าไปในนั้นไม่ได้ ต้องไปตั้งใหม่

ชวนยังเป็นที่เคารพรัก ได้รับการมองว่าซื่อสัตย์ สะอาด ตราบใดที่ชวนยังอยู่ คนก็จะเลือกประชาธิปัตย์ และตราบใดที่ชวนอยู่กับอภิสิทธิ์ อภิสิทธิ์ก็จะยังได้เป็นหัวหน้าพรรค ดังนั้นในภาคใต้ คะแนนเสียงเดิมยังอยู่ ยกเว้นคนรุ่นใหม่ของภาคใต้ที่อิทธิพลของรุ่นพ่อแม่ไปไม่ถึง แบบก่อนตายต้องสั่งลูกให้สืบทอดเจตนารมณ์ คนรุ่นนี้ไม่เจอแบบนั้น

อาจารย์เห็นอะไรใหม่ๆ ของการเลือกตั้งรอบนี้บ้าง ทั้งการหาเสียงหรือแม้กระทั่งการโจมตีฝั่งตรงข้าม

อย่างที่บอก ภูมิทัศน์แบบเดิมกำลังเปลี่ยนไป การเลือกตั้งนับแต่ปี 2544 ที่ไทยรักไทยชนะมาได้ เพราะเน้นนโยบายเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ทุกพรรคต้องเอานโยบายมาแข่งกัน แล้วทุกวันนี้คนก็ตั้งคำถามกับนโยบายมากขึ้น การหาเสียงเชิงนโยบายมันสำคัญมาก เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาเราถูกปกครองโดยทหาร มันก่อปัญหาเศรษฐกิจและสังคมเยอะมาก และไม่ได้รับการแก้ไข นโยบายเลยยิ่งเป็นเรื่องใหญ่

การสู้กันด้วยเรื่องนโยบายปีนี้ดุเดือดกว่าทุกครั้ง ส่วนการเมืองแบบสาดโคลนมีผลน้อยกว่าครั้งก่อนๆ ยกเว้นพวกสุดขั้ว ทั้งสลิ่มแดงและเหลืองที่แชร์ข้อมูลเท็จบ้างจริงบ้าง พรรคใดก็ตามที่หาเสียงแบบกระแนะกระแหนสาดโคลนจะถูกตีกลับ นี่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ที่กำลังเปลี่ยน

การเมืองแบบเดิม แบบแยกสีชัดเจนจะเริ่มถอยออกไป และการเมืองแบบพรรคเพื่อไทยจะค่อยๆ ถอยไป เพราะสุดท้ายปัจจัยที่ชี้อนาคตพรรคเพื่อไทยก็คือทักษิณนั่นเอง ที่เป็นทั้ง asset และ liability คือเป็นตัวเลือกคะแนน มวลชนหวงยิ่งลักษณ์ รักทักษิณ เห็นผลงานที่ผ่านมา ยี่ห้อทักษิณคือบริหารเก่ง คิดนโยบายเก่ง นี่คือ asset ที่ดึงคะแนนได้ แต่ก็เป็น liability ด้วย เพราะส่วนหนึ่งหัวใจของความแตกแยก นอกจากการกระทำของฝ่ายอำนาจเก่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทักษิณเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสมการ เป็นปัจจัยหนึ่งในความแตกแยกทางการเมืองด้วย เพราะฉะนั้น ผมมองว่าเพื่อไทยจะไม่ได้ใหญ่ขึ้น แต่คนจะน้อยลงอย่างช้าๆ

curve ของเพื่อไทยที่อาจารย์ว่ากำลังลงอย่างช้าๆ มีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ไหม

ขึ้นอยู่กับเขาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจากการเป็นพรรคเถ้าแก่ที่มีนายใหญ่สองสามคน สั่งแล้วทุกคนทำตามในแถวหมดได้ไหม ถ้าคุณยังอยู่สภาพนี้ ไม่มีทางเปลี่ยน เพราะแนวทางพรรคสุดท้ายคือแนวทางของนายใหญ่และนายหญิง และเขาก็โตมาด้วยแนวทางธุรกิจแบบนี้

ถ้าเหตุการณ์มันเปลี่ยนไป แต่คุณอยู่แบบนี้ คุณจะไม่โตขึ้น มีแต่เล็กลง สุดท้ายแล้วผมมองว่ามันยากมากที่เขาจะเปลี่ยน เว้นแต่เขาจะฉุกคิดว่าพรรคนี้ไม่ใช่เครื่องมือของตัวเองในการรักษาผลประโยชน์ แต่เป็นองค์กรทางการเมืองของประชาชน มีประชาชนสนับสนุนเป็นล้าน ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัว

แม้วันหน้าคุณอาจไม่อยู่แล้ว หรือผลประโยชน์ของคุณจะเสียไป แต่ถ้าทำให้พรรคนี้เป็นของประชาชนอยู่ต่อไปไม่ดีกว่าเหรอ แต่ถามว่ามันมีวี่แววแบบนั้นไหม ผมว่าไม่มี

แม้วันนี้เขาพยายามเอาคนรุ่นใหม่ออกมาขายช่วงหนึ่ง ทั้งลูกหลาน ส.ส.เก่า หรือลูกหลานในตระกูล แต่มันไม่โดดเด่น เพราะทุนและการบริหารยังเป็นของเถ้าแก่ คนรุ่นใหม่เลยเป็นแค่เครื่องประดับ พอพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบไป คนกลุ่มนี้ก็ต้องออกไปเลย ขณะที่คนรุ่นใหม่พรรคอื่นเขาวิ่งไปถึงไหนๆ แล้ว ดังนั้นความเสียหายวันนี้มันเยอะและยาวมาก

วันนี้บอกได้เลยว่า ผมไม่มีเพื่อนในพรรคฝั่งไหนแล้ว ไม่ได้เจอกันมาเป็นปีๆ ดังนั้นผมไม่มีความสัมพันธ์กับใครที่จะทำให้ผมวิจารณ์ไม่ได้

วันนี้อาจารย์เห็นพลังอะไรของขั้วอำนาจเก่าที่ไม่ยอมรับทักษิณ แม้ว่าทักษิณอยากพิสูจน์มาตลอดว่าเขาไม่ใช่ศัตรูทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นเสาหลัก และมีทหารเป็นหลักในการค้ำจุนระบบการเมืองไทย

กองทัพวันนี้มีเอกภาพสูง ไม่ได้แตกเป็นก๊กเหมือนช่วงปี 2530 วันนี้ทหารเป็นทหารอาชีพมากขึ้น ในแง่ที่ว่าอยู่ในสายบังคับบัญชาของตัวเองและทำตามผู้บังคับบัญชา ไม่ค่อยออกนอกแถว ไม่ได้หมายความว่าเป็นอาชีพที่ไม่ยุ่งกับการเมือง แต่ว่าทหารทุกวันนี้อยู่ในแถว ถ้ายึดอำนาจก็ยึดเหมือนกัน ถ้าหัวไม่ทำ หางก็ไม่ทำ

เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญปี 60 มันแข็งตัวแน่นอน เพราะทหารมารองรับ คงอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ เว้นแต่การเลือกตั้งครั้งที่ 2 หรือ 3 เกิดการพลิกอย่างมาก แล้วได้คนฝ่ายตรงข้ามทหารเข้ามาอย่างถล่มทลายจนเสียง ส.ว. ไม่อาจต้านทานได้ เมื่อนั้นอาจเกิดแผ่นดินไหวทางการเมืองอย่างมาก ที่เหลือผมเดาอะไรไม่ได้ ต้องคอยดูกันไป

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save