fbpx
หมดยุคร้องเพลงวิ่งข้ามเขา หนังอินเดียแบบเก่ากำลังเปลี่ยน

หมดยุคร้องเพลงวิ่งข้ามเขา หนังอินเดียแบบเก่ากำลังเปลี่ยน

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

หนังรักโรแมนติกที่วิ่งข้ามทุ่งข้ามเขา ผลุบๆ โผล่ๆ ตามต้นไม้ คลอด้วยท่วงทำนองร้องเพลงโต้ตอบกันไปมาระหว่างชาย-หญิง การเต้นหมู่ในจังหวะต่างๆ ไปจนถึงหนังบู้ที่หลายต่อหลายฉากดูเหลือเชื่อ เกินกว่าจินตนาการของคนทั่วไป คงเป็นหนึ่งในความทรงจำของใครหลายคนเกี่ยวกับภาพยนตร์อินเดีย หรือที่รู้จักกันในนาม ‘บอลลีวู้ด’ (Bollywood) ซึ่งมีอิทธิพลกับสังคมไทยเอามากๆ โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น ที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียกำลังขยายตัวเข้ามาในสังคมไทย ก่อนที่จะหายไปพักใหญ่ๆ หลังจากการทำตลาดของอุตสาหกรรมหนังจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

การกลับมาของหนังอินเดียในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จึงอาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับคนในรุ่น 20+ ลงมา แต่สำหรับคนรุ่น 40-50 ปีแล้ว นี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่คุ้นเคย ภาพยนตร์อินเดียจึงมีกลุ่มเป้าหมายใหญ่ในไทยคือคนรุ่นนี้ เพราะพวกเขาเติบโตมากับภาพยนตร์แบบนี้ ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่า เหตุใดทุกวันนี้หลากหลายช่องจึงมีการฉายซีรี่ส์และหนังอินเดียกันอยู่เนืองๆ ซึ่งก็ทำเรตติ้งได้ใช่ย่อย

หลายปีมานี้แนวทางหนังของอินเดียเปลี่ยนแปลงไปมาก ถึงแม้ว่าจะยังคงเอกลักษณ์เรื่องการร้องและเต้นอยู่ตามเดิม แต่เราแทบไม่เจอการวิ่งข้ามทุ่งข้ามเขาเท่าไหร่แล้ว หนังอินเดียหันมาทำประเด็นทางสังคมมากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะยังสอดแทรกเรื่องรักโรแมนติกเอาไว้ แต่หนังหลายเรื่องของอินเดียกำลังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และที่สำคัญ มันกำลังสร้างภาพใหม่ให้อินเดียในฐานะเครื่องมือทางด้านนโยบายต่างประเทศ

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอินเดียไม่ได้มีแค่บอลลีวู้ด

ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอินเดียกันก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ประวัติศาสตร์หนังอินเดียโดยเฉพาะบอลลีวู้ดสามารถย้อนได้เป็นร้อยปี นับตั้งแต่อินเดียยังถูกปกครองโดยอังกฤษ แต่ภาพยนตร์ฟิล์มของอินเดียนั้นได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงทศวรรษที่ 1940-1960 ซึ่งเรียกว่าเป็นยุคทองเลยก็ว่าได้ โดยส่วนใหญ่แนวทางการทำภาพยนตร์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยเฉพาะการทำหนังรักโรแมนติก

จุดเปลี่ยนสำคัญของภาพยนตร์อินเดียคือช่วงทศวรรษ 1970 เพราะเป็นจุดเริ่มต้นการทำหนังแนวร้องเพลงรักโรแมนติก ซึ่งส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการสร้างภาพยนตร์ของอินเดียนับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน โดยดาราในตำนานที่หลายคนคงรู้จักในยุคนั้น คงหนีไม่พ้น อมิตาภ พัจจัน (Amitabh Bachchan) หนึ่งในซุปเปอร์ดาวค้างฟ้าที่ทุกวันนี้ยังแสดงหนังอยู่เนืองๆ แม้จะไม่รับบทหนักๆ แล้วก็ตาม หนังกลุ่มนี้เองที่ทะลักเข้ามาในไทย ทำให้เราติดภาพการวิ่งข้ามภูเขา ร้องเพลงผลุบๆ โผล่ๆ

อย่างไรก็ตาม เป็นความเข้าใจผิดๆ ว่า อุตสาหกรรมอินเดียคือบอลลีวู้ดเท่านั้น จริงอยู่ว่าแม้จะมีเพียงหนังบอลลีวู้ดที่เป็นที่รู้จักภายนอกประเทศ แต่ด้วยความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและภาษา ในแต่ละรัฐของอินเดียจึงมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของตนเอง ทั้งในเบงกอล ทมิฬนาดูร์ หรือในเตลังคานาเองก็ตาม พูดได้ว่าหนังอินเดียเองก็มีความหลากหลาย ถ้าบอลลีวู้ดเน้นหนังรักโรแมนติค หนังทมิฬก็เน้นไปที่การบู้ล้างผลาญ โชว์ความแข็งแกร่งที่บางทีก็เกินความเป็นจริงไปมากโข

ทุกวันนี้อุตสาหกรรมหนังอินเดียที่ส่งออกนอกประเทศ ไม่ได้มีแค่หนังบอลลีวู้ดที่ใช้ภาษาฮินดีเป็นสื่อกลางอีกแล้ว แต่อุตสาหกรรมหนังในส่วนอื่นๆ ของประเทศ ก็กำลังสร้างปรากฎการณ์ใหม่ นำเทคนิควิธีใหม่ๆ มาใช้เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้สามารถทำตลาดต่างประเทศ ยกตัวอย่างภาพยนตร์เตลูคูเลื่องชื่ออย่าง บาฮูบาลี (Baahubali) ที่สร้างรายได้จากการออกฉายต่างประเทศได้สูงเป็นอันดับสองของหนังอินเดียทั้งหมดที่ออกฉายในต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.8 หมื่นล้านรูปี หรือ 9 พันล้านบาท นี่เป็นหนังนอกอุตสาหกรรมบอลลีวู้ดที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้อินเดีย

ฉะนั้นหนังอินเดียจึงไม่ได้มีแค่บอลลีวู้ดอย่างที่เราเข้าใจ แต่มีหลากหลายค่ายตามแต่ละภูมิภาคของประเทศ ที่สำคัญแนวการทำหนังก็ไม่เหมือนกันด้วย การใส่ลูกเล่นหรือการสอดแทรกเนื้อหาความเป็นชาตินิยมของพื้นที่ ก็จะแอบแฝงอยู่ในหนังแต่ละเรื่องด้วย

ทำไมหนังอินเดียจึงเป็นมากกว่าความบันเทิง

ในช่วงหลายปีที่ผู้เขียนติดตามหนังอินเดียมา อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียปรับโฉมหน้าจากแต่ก่อนไปมาก โดยเฉพาะความพยายามของผู้กำกับในการสอดแทรกบทเรียนบางอย่างเข้าไปในตัวหนัง ให้เป็นมากกว่าเพียงเรื่องความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นหนังลักษณะไหน ประเภทไหน หรือภาษาไหนของอินเดีย ต่างก็มุ่งหวังที่จะให้หนังเป็นมากกว่าความบันเทิง โดยหวังให้เป็นแรงหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมอินเดียให้ก้าวพ้นค่านิยมดั้งเดิม ที่บางครั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

หนึ่งในภาพยนตร์ที่ไม่คาดหวังว่าจะได้เห็นเลย ก็คือเรื่อง พีเค (PK) หนังรักปนตลก ที่นำแสดงโดยซุปเปอร์สตาร์อย่าง Aamir Khan และ Anushka Sharma คำว่า พีเค ในภาษาฮินดี แปลได้ว่า ‘เจ้าทึ่ม’ หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของมนุษย์ต่างดาวที่มาเยือนโลก แล้วดันถูกขโมยรีโมทสำหรับกลับดาวทำให้ต้องตามหากันให้วุ่น ซึ่งวิธีที่มนุษย์โลกแนะนำคือให้ขอพรกับพระเจ้า

หนังเรื่องนี้เล่นกับประเด็นทางศาสนาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นปัญหาแตกแยกของสังคมอินเดียในช่วงปี 2014 ภายหลังอินเดียได้รัฐบาลใหม่ อย่าง BJP ที่ชูนโยบายฮินดูนิยม

หรือจะเป็นเรื่อง 3 Idiots อีกหนึ่งหนังรักปนตลก ที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาของอินเดียแบบองค์รวม ตั้งแต่ระบบครอบครัวที่มุ่งหวังให้ลูกชายเรียนวิศวกรรมศาสตร์ อยากให้ลูกสาวเรียนแพทย์ รวมถึงปัญหารูปแบบการเรียนการสอนในชั้นเรียน ที่เน้นการท่องจำและการสอบแข่งขัน มากกว่าที่จะเน้นการคิดวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคใหญ่และสร้างปัญหาการฆ่าตัวตายของเยาวชนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากความกดดันจากทั้งครอบครัวและระบบการศึกษาที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์อย่าง IIT

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือภาพยนตร์กีฬาอย่าง Dangal ที่สร้างรายได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อินเดียที่ออกฉายในต่างประเทศ มีรายได้รวมถึง 2.1 หมื่นล้านรูปี คิดเป็นเงินไทยกว่า 1.05 หมื่นล้านบาท หนังเรื่องนี้สร้างความประทับใจอย่างล้นหลามในจีน โดยโกยรายได้เฉพาะในจีนคิดเป็นเงินราว 1.2 หมื่นล้านรูปี เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาของวงการกีฬาอินเดีย ความเหลื่อมล้ำระหว่างนักกีฬาชายและหญิง ที่สำคัญยังสอดแทรกปัญหาการบังคับเด็กผู้หญิงให้แต่งงานแต่เยาว์วัย โดยนำเรื่องราวความสำเร็จของนักกีฬามวยปล้ำหญิงอินเดียมาเป็นพื้นเรื่อง

หนังอินเดีย, Dangal

แน่นอนว่านอกเหนือจากภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องที่ว่ามานี้ ยังมีภาพยนตร์อีกมากมายของอินเดียที่พยายามฉายภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของอินเดีย ฉายภาพปัญหาแม่หม้ายในสังคมอินเดีย หรือแม้กระทั่งปัญหาสิทธิของสตรี

หนังอินเดียในวันนี้จึงเดินมาไกลมากแล้วเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา บอลลีวู้ดยังคงความคลาสิคของการเต้นประกอบเพลงไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถผลักดันปัญหาของสังคมผ่านตัวภาพยนตร์ อันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมอินเดียในช่วงที่ผ่านมา

หลังจากภาพยนตร์เรื่อง Dangal ออกฉาย รัฐบาลทบทวนงบประมาณเรื่องกีฬา และหันมาใส่ใจปัญหาการแต่งงานของเด็กมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ PK ช่วยกระตุ้นให้คนในสังคมอินเดียตระหนักถึงความหลากหลายของความเชื่อ ส่วนหนังเรื่อง 3 Idiots ก็ทำให้สังคมอินเดียเริ่มเปิดกว้างเรื่องการศึกษามากขึ้น และเกิดการทบทวนเรื่องระบบการเรียนในหลายรัฐ

สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากกระแสภาพยนตร์สะท้อนสังคมที่วิพากษ์ปัญหาสังคมอย่างตรงไปตรงมา ทุกวันนี้หนังอินเดียจึงเป็นมากกว่าความบันเทิง แต่เป็นเครื่องมือสำคัญของผู้กำกับและคนเขียนบทที่อยากเห็นสังคมอินเดียดีขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถพิสูจน์ได้ว่า หนังสะท้อนสังคม ถ้าทำให้ดี ก็สามารถทำเงินได้เหมือนกัน เห็นแบบนี้ก็ได้แต่หวังว่าหนังไทยจะมาถึงจุดเดียวกับหนังอินเดียได้บ้าง

เราไม่ได้กำลังดูหนัง แต่กำลังซึมซับวัฒนธรรมผ่านหนัง

นอกจากภาพยนตร์จะเป็นเครื่องมือในการสร้างความบันเทิงและสะท้อนปัญหาสังคมแล้ว สำหรับวงการนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาพยนตร์ยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางด้านการต่างประเทศ ในลักษณะอำนาจละมุน (Soft Power) ที่ประเทศหนึ่งๆ ต้องการเปลี่ยนแปลงแนวคิด หรือภาพจำบางอย่างของประเทศอื่นที่มีกับตนเอง

เหตุที่ภาพยนตร์สามารถทำหน้าที่เช่นนั้นได้ เพราะการที่เรารับชมหนัง เราไม่เพียงดูเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่เรารับเอาค่านิยมของหนังมาไว้กับตัวเราด้วย เหมือนที่หนังฮอลลีวู้ดสร้างภาพความเจริญรุ่งเรืองของอเมริกาและความเป็นเสรีประชาธิปไตยของประเทศ ส่งผลให้ในช่วงสงครามเย็น หนังฮอลลีวู้ดโดนแบนในประเทศสังคมนิยมคอมนิวนิสต์

แน่นอนว่าอินเดียเองก็พยายามใช้หนังเป็นเครื่องมือหนึ่งของตนเองเช่นกัน นับตั้งอินเดียเปิดประเทศในทศวรรษที่ 1990 ภาพยนต์บอลลีวู้ดเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่อินเดียพยายามส่งเสริมให้กระจายไปยังต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ใหม่ๆ ของประเทศ หนังอินเดียสามารถทำตลาดในภูมิเอเชียกลาง และเอเชียใต้ได้สำเร็จ ขณะเดียวกันยังเจาะตลาดในประเทศอื่นๆ ได้ด้วย รวมถึงประเทศไทย

โดยเฉพาะหนังเรื่อง 3 Idiots ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาคเหนือของอินเดีย จนมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่มาตามรอยภาพยนตร์เรื่องนี้

จะเห็นได้ว่า ภาพยนตร์ไม่ได้เป็นเพียงความบันเทิง แต่ยังสร้างภาพลักษณ์ของประเทศด้วย เสียดายที่หนังอินเดียยังเข้ามาไทยไม่มากเหมือนหนังเกาหลี ญี่ปุ่น หรือฮอลลีวู้ด ไม่เช่นนั้นค่านิยมเรื่องแขกขายถั่ว ขายผ้า รวมถึงการเก็บหนี้โหดของคนไทยคงหายไปได้เร็วกว่านี้

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ต้องยอมรับว่าหนังอินเดียเดินมาไกลกว่าแค่การวิ่งข้ามภูเขา ร้องเพลงเกี้ยวพาราสีกันแล้ว แต่กำลังปรับบทบาทตัวเองมาเป็นตัวขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากยิ่งขึ้น ผ่านรูปแบบความบันเทิง ที่ค่อยซึมลึกเข้าสู่ผู้ชมโดยที่ไม่รู้ตัว และแน่นอนว่าผู้เขียนเองก็เป็นผลผลิตจากภาพยนตร์เหล่านั้นเหมือนกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save