fbpx
'ฝ่ายประชาธิปไตย-ฝ่ายเผด็จการ' 'คนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่': ขั้วความขัดแย้งในการเมืองไทยหลังคสช.

‘ฝ่ายประชาธิปไตย-ฝ่ายเผด็จการ’ ‘คนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่’: ขั้วความขัดแย้งในการเมืองไทยหลังคสช.

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

บทความนี้ผิดวิสัยจากบทความเดิมๆ ของข้าพเจ้าใน The101.world สองประการ หนึ่งผิดแผน คือตั้งเป้าว่าจะเขียนเรื่อง AI และการคุมพฤติกรรมกับความเห็นพลเมืองแบบ ‘โมเดลจีน’ ต่อจากบทความเดือนที่แล้ว (ขอเลื่อนไปเขียนเดือนหน้า) สองผิดสไตล์การเขียน คือปกติบทความวิชาการเน้นบทวิเคราะห์ที่มีหลักฐานรองรับ โทนของการเขียนออกแนว ‘ทื่อๆ’ ไร้อารมณ์ แต่บทความนี้อยากลองใช้ความรู้สึกนำการเขียน

ข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย และไม่ได้ติดตามการเมืองไทยอย่างใกล้ชิดเพราะสนใจการเมืองเปรียบเทียบระดับโลก รวมถึงส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ต่างประเทศ กลับมาเมืองไทยเที่ยวนี้อยู่ในช่วงเลือกตั้งพอดี เลยได้สังเกต ‘อุณหภูมิทางการเมือง’ และความรู้สึกนึกคิดของคนไทย จากที่ได้พูดคุยพบปะในโลกออฟไลน์และกระแสเสียงในโลกออนไลน์

รู้กันทั่วไปว่าสังคมไทยอยู่ในความขัดแย้งเสื้อเหลือง-แดงมากว่าทศวรรษ

รู้กันทั่วไปอีกว่าคสช.ก่อรัฐประหาร โดยได้รับความชอบธรรมจากคนไทยจำนวนหนึ่งเพราะอ้างว่าสังคมกำลังอยู่บนขอบเหวของสงครามกลางเมือง ฉะนั้นต้องเข้ามาสร้างความสามัคคี ปรองดอง ฟื้นฟูความรักชาติอันเป็นหนึ่งเดียวของคนไทย

แต่เราก็รู้กันอีกว่าตลอดห้าปีที่ผ่านมา ‘ความปรองดอง’ แบบคสช. แลกมาด้วยการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม (เสื้อแดง) ด้วยกำลังกฎหมายและบุคลากรของรัฐ ขณะเดียวกันก็ออกแบบกติกาไล่บี้ฝ่ายตรงข้ามมิให้กลับมามีอำนาจเหมือนการเมืองหลังปี 2549 มิเช่นนั้นจะ ‘เสียของ’

ผลของแนวทางปรองดองเช่นนี้ คือฝ่ายหนึ่งถูกตวาดข่มขู่ให้เงียบเพราะเป็นพวกเกเร เขาถูกบอกว่าสิ่งที่พวกเขาเป็น สีเสื้อที่พวกเขาสมาทานไม่พึงควร หรือกระทั่งเป็นสิ่งชั่วร้ายในสังคมไทยอันมีระบอบการปกครองและธรรมเนียมเก่าแก่ดีงาม ชาวบ้านทั่วไปซึ่งไม่อยู่ในภาวะจะต่อกรอะไรมากก็ก้มหน้าทำมาหากินต่อไป บ้างก็เสนอแนวทางอยู่รอดในภาวะไม่ปกติ เช่น ‘อยู่เป็น’ หรือ ‘เช่าเขาอยู่’ เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้มิได้ช่วยสร้างความปรองดอง สลายความขัดแย้ง หรือสร้างความสงบสามัคคีถาวรแต่อย่างใด

จริงอยู่ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ไม่มีการประท้วงบนท้องถนน ความเป็นเสื้อเหลือง-แดงไม่ถูกเน้นย้ำ ทว่าความรู้สึกว่าเราเป็นพวกไหนและฝ่ายตรงข้ามเราคือใครยังคงอยู่ เพราะสังคมไทยหลังทศวรรษแห่งความขัดแย้งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พูดอีกอย่างหนึ่งโดยอาศัยข้อเสนอของอาจารย์เกษียร เตชะพีระว่า อำนาจนำ (hegemony) ที่เคยกำกับเอกภาพของวิธีคิดเรื่องอำนาจอันชอบธรรมในสังคมไทยได้เสื่อมถอย เพราะเหตุนี้ ชุดความคิดอื่นจึงเริ่มท้าทายอำนาจนำนี้ได้ ‘ความเป็นเสื้อแดง’ (ไม่ว่าเราจะนิยามมันว่าอะไร) ถือเป็นชุดความคิด หรือกระทั่ง ‘อัตลักษณ์’ ที่มีบทบาทเช่นนี้อย่างน้อยในช่วงปี 2549 ถึง 2557

ข้าพเจ้าขอเสนอว่า ‘ความเป็นเสื้อแดง’ คือความคิดพฤติกรรมแบบ anti-establishment ซึ่งมีองค์ประกอบหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องรักทักษิณอย่างเดียว แต่รวมอารมณ์ความรู้สึกอย่างอื่นที่ไม่เอา establishment ทั้งในแง่การเมือง โครงสร้างสังคม และคุณค่าทางวัฒนธรรม

การปกครองตลอดห้าปีของคสช. มิได้สลาย ‘ความเป็นเสื้อแดง’ แต่เปลี่ยนรูปร่างหน้าตามันไปเป็นอย่างอื่น อีกทั้งยังสร้างฐานมวลชนอันมีเจตจำนงแน่วแน่ในการต่อต้าน establishment ชนิดที่ไม่ยอมประนีประนอมกับชนชั้นนำเหมือนนักเลือกตั้งในพรรคการเมืองใหญ่ คนเหล่านี้นิยามตัวเองในสองมิติคือความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นรุ่นใหม่

ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่าคนกลุ่มแรกต่อต้านการปกครองของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จากมุมหลักพื้นฐานของประชาธิปไตยซึ่งโยงใยอำนาจการปกครองสูงสุดกับเสียงประชาชน รวมถึงใส่ใจเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาค กระบอกเสียงของคนเหล่านี้มีไม่มากในสังคมไทยหากเทียบสัดส่วนกับฝ่าย establishment กระนั้นก็ดี เป็นไปได้หรือไม่ว่ามวลชนที่ถูกบังคับให้ ‘ถอดเสื้อสีแดง’ ได้มาสวมเสื้อ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ แทน ฉะนั้นฝ่ายตรงข้ามกับคนเหล่านี้คือชนชั้นนำในรัฐบาลปัจจุบัน และมวลชนที่สนับสนุนชนชั้นนำเหล่านี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสวมเสื้อสีเหลืองในการประท้วงบนท้องถนน  จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อถ้อยคำหลายอย่างของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้รับเสียงเชียร์จากฝ่ายประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็กระตุก ‘ปุ่มกลางหลัง’ (ขอยืมคำจากอาจารย์เกษียรอีกที) ของอีกฝ่ายให้ออกมาปกป้องสถาบันหลักและธรรมเนียมไทย ในแง่ฝักฝ่ายของคู่ขัดแย้งไม่ต่างจากช่วงก่อนปี 2557 มากนัก

อย่างไรก็ดี เส้นแบ่งฝ่ายความขัดแย้งใหม่ที่เริ่มปรากฏคือ ความเป็นคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ แม้ว่านิยามของรุ่นสัมพันธ์กับอายุ ทว่าใจความหลักคือโลกทัศน์มากกว่า คนรุ่นใหม่สนใจอนาคตแบบเปิด เช่นเปิดรับวัฒนธรรมอื่น โดยไม่คิดว่ารากเหง้าแบบไทยๆ สำคัญที่สุด รวมถึงเปิดรับการเปลี่ยนแปลงในแง่หน้าที่การงาน เทคโนโลยีอันรุดหน้า ตลอดจนนโยบายใหม่ๆ ที่เปลี่ยนโครงสร้างสังคมและการเมืองแบบถอนรากถอนโคน ส่วนคนรุ่นเก่าคือด้านกลับ ฝักใฝ่กับระบบปิด เน้นรากเหง้า ธรรมเนียม และกลัวการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ตลอดจนไม่วางใจบทบาทของเทคโนโลยี

ข้าพเจ้าเห็นการปะทะระหว่างรุ่นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะคนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เวลาอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านปรับทุกข์ให้ฟัง มักเริ่มว่า “เด็กสมัยนี้นะ…” จากนั้นก็ร่ายปัญหาเรื่องการที่นักศึกษาไม่อ่านหนังสือ ไม่เข้าใจตัวอย่างของอาจารย์ที่พาดพิงไปถึงภาพยนตร์ช่วงทศวรรษ 80 หรือ 90 รวมถึงนักศึกษามักนั่งกดมือถือตลอดการฟังบรรยาย และภาษาที่ใช้สื่อสารก็แก่นแก้วมากขึ้น กระทั่งขาด ‘ความเป็นอารยะ’ (civility) และไร้สัมมาคารวะ ส่วนนักศึกษาก็ไปบ่นกันเอง (ใครจะกล้านินทาอาจารย์ให้อาจารย์ฟัง) ว่าวิธีการสอนของอาจารย์ผู้ใหญ่น่าเบื่อ เน้นการบรรยายไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ตนหาอ่านได้ใน Wikipedia ทั้งยังคาดหวังให้ยึดมั่นในการแต่งตัว วิถีทางเพศ และมารยาทแบบเก่าๆ ทั้งที่โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว นักศึกษาหลายคนอยากไปทำงานต่างประเทศ ไม่ใช่เพราะไม่รักประเทศไทย แต่อยากเห็นโลกกว้าง

แน่นอนว่ามีหลายคนที่อยู่ระหว่างสองขั้วนี้ แต่ระบอบการเมืองช่วงห้าปีที่ผ่านมาสร้างบรรยากาศอนุรักษนิยมทางวัฒนธรรม ทั้งผ่านวาทะของผู้นำและนโยบาย (จำค่านิยม 12 ประการกันได้ไหม) จนคนรุ่นใหม่จำนวนมากอึดอัด หายใจไม่ออก เหมือนไม่มีที่ทางของตนในพื้นที่สาธารณะ ยิ่งบรรยากาศอนุรักษนิยมพวยพุ่งเท่าไหร่ วัยรุ่นก็วิ่งหาแนวคิดตรงกันข้ามกับสิ่งที่พวกเขานิยามว่าเป็นโลกของคนรุ่นเก่า ถ้าอยากเห็นตัวอย่าง ให้เข้าไปอ่านทวิตเตอร์กัน เช่นเมื่อ #ฟ้ารักพ่อ กลายเป็นกระแส กระบอกเสียงของฝั่งอนุรักษนิยมและคนรุ่นเก่าต่างออกมากระแนะกระแหนคนรุ่นใหม่ว่าไม่ฉลาด ขาดรสนิยม ผู้ใช้ทวิตเตอร์ตัวแทนคนรุ่นใหม่กลับชี้แจงด้วยเหตุผลว่าพวกเขาตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจเชื่อนักการเมืองเสมอ ไม่เหมือนกับคนรุ่นเก่าที่สนับสนุนรัฐประหารแบบไม่ลืมหูลืมตา หรือเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม คนรุ่นใหม่จำนวนมาก (ซึ่งเข้าใจว่าสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่) พร้อมใจกันขึ้น #ยุบให้ตายก็ไม่เลือกลุง จนกลายเป็นแฮชแท็กอันดับหนึ่งของวันนั้น

การครองอำนาจของคสช.ไม่ได้สลายเส้นแบ่งความขัดแย้งเพียงแต่เปลี่ยนรูปร่างหน้าตา ขณะเดียวกันก็ทำให้เส้นแบ่งระหว่างฝ่ายเรา ฝ่ายเขา เข้มข้นขึ้นด้วยซ้ำ ข้าพเจ้าเห็นว่าความขัดแย้งที่แบ่งคนเป็นสองขั้วอาจจำเป็นสำหรับการต่อสู้ทางการเมืองไทย โจทย์คือทำอย่างไรให้การถกเถียงระหว่างสองฝ่ายไม่เป็นการไล่ด่า ไล่บี้ ไล่ฟ้อง หรือใช้กลไกรัฐปิดปากคนเห็นต่าง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save