fbpx
แม่แห่งจัตุรัสมาโย : แม่ที่ลุกขึ้นสู้กับเผด็จการ เพราะลูกโดนอุ้มหาย

แม่แห่งจัตุรัสมาโย : แม่ที่ลุกขึ้นสู้กับเผด็จการ เพราะลูกโดนอุ้มหาย

โกษม โกยทอง เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

เมื่อลูกหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ท่ามกลางบ้านเมืองที่ผู้นำเผด็จการมีอำนาจล้นฟ้าไร้กฎหมายควบคุม กลุ่มแม่บ้านที่ประเทศอาร์เจนตินาจึงต้องลุกขึ้นสู้กับอำนาจเผด็จการด้วยมือเปล่า เพื่อค้นหาความจริงและเรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกของพวกเธอ

 

ลูกหายเพราะ ‘สงครามสกปรก’

 

“จะฆ่าใครก็ได้ ยังไงก็ไม่ผิด” ประโยคสั้นๆ ที่นิยามถึงบรรยากาศการเมืองประเทศอาร์เจนตินาในปี 1976 ภายใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการ พลตรี จอร์จ ราฟาเอล วิเดลา (Jorge Rafael Videla) ได้เป็นอย่างดี เพราะหลังจากการก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีการรัฐประหารและก่อตั้ง ‘กระบวนการปฏิรูปแห่งชาติ’ วิเดลาก็เริ่มประกาศสงครามกับประชาชนที่มีความคิดต่างทางการเมือง ด้วยข้ออ้างง่ายๆ คือเพื่อความมั่นคงของประเทศ

“เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงของรัฐ คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องตาย” คำกล่าวของวิเดลาที่บอกผู้สื่อข่าวถึงนโยบายของรัฐบาลเผด็จการ ซึ่ง ‘คนที่เกี่ยวข้อง’ ที่วิเดลาหมายถึง คือคนที่เห็นต่างทางการเมืองกับรัฐบาล โดยกองทัพเริ่มต้นทำสงครามลับๆ กับประชาชนมาตั้งแต่ก่อนทำรัฐประหารในปี 1976 คนที่โดนอุ้มหาย ลักพาตัว ทำร้ายร่างกาย ตามรายงานของคณะกรรมการติดตามสอบสวนกรณีผู้สูญหายแห่งชาติ (CONADEP) มีถึง 10,000 – 30,000 คน มีการจัดตั้งค่ายกักกันกว่า 340 แห่งทั่วประเทศ เพื่อจับกุมและทรมานประชาชนที่เห็นต่าง การทำสงครามกับประชาชนในครั้งนี้จึงถูกขนานนามว่า ‘สงครามสกปรก’ (the Dirty War)

แม้สังคมจะปกคลุมด้วยความมืดหม่นไร้ความยุติธรรม กลับมีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะลุกขึ้นสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมเพื่อคนที่เธอรัก

 

ลูกพวกเราหายไปไหน! จุดเริ่มต้นของแม่แห่งจัตุรัสมาโย

 

พวกเธอไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่ใช่นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสังคม พวกเธอเป็นแม่บ้านธรรมดาที่ประกอบอาชีพรับจ้างเย็บผ้า ทำความสะอาด ฯลฯ เหมือนผู้หญิงทั่วไปในสังคมที่ชีวิตประจำวันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง

แต่เมื่อลูกหายตัวไป พวกเธอก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

กลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโย (Mothers of the Plaza de Mayo) ก่อตั้งขึ้นในปี 1977 มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มแม่บ้าน 14 คน ซึ่งออกมาตามหาลูกๆ ที่ถูกลักพาตัวจากสงครามสกปรก พวกเธอเริ่มต้นจากการทวงถามหน่วยงานราชการให้ช่วยตามหาลูก ทั้งตำรวจ ทหาร ทำเนียบรัฐบาล แต่สิ่งที่พวกเธอได้รับคือความเงียบงัน

เมื่อไม่ได้รับคำตอบ พวกเธอจึงรวมกลุ่มกันที่จัตุรัสมาโยซึ่งตั้งอยู่ใกล้ทำเนียบรัฐบาล และนัดเดินเป็นวงกลมรอบจัตุรัสทุกวันพฤหัสบดี เริ่มเดินครั้งแรกวันที่ 30 เมษายน 1977 โดยใช้ผ้าสีขาวผูกผมเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม ปักชื่อลูกของพวกเธอไว้บนผ้า พร้อมทั้งถือภาพถ่ายของลูกๆ ที่สูญหายเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำเผด็จการออกมาให้คำตอบว่า ลูกของพวกเธอหายไปไหน

นอกจากการนัดเดินรอบจัตุรัสทุกอาทิตย์แล้ว กลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโยยังเดินหน้ากระจายข่าวให้สังคมรับรู้ ด้วยการซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์ในวันที่ 10 ธันวาคม 1977 โดยตีพิมพ์ชื่อลูกๆ ที่สูญหายในสงครามสกปรก และลงชื่อถึงประธานาธิบดี ศาลฎีกา ผู้บัญชาการทหาร ผู้นำคณะรัฐประหาร เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูกของพวกเธออีกครั้ง

ค่ำคืนวันเดียวกัน หลังจากโฆษณาตีพิมพ์ได้ไม่นาน แกนนำของกลุ่มก็หายตัวไป

 

แกนนำถูกอุ้มหาย แต่แม่จะเดินหน้าต่อ

 

หลังจากท้าทายผู้มีอำนาจด้วยการซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์ ส่งผลให้แกนนำของกลุ่มสามคน คือ อาซูซีนา (Azucena Villaflor de DeVincenti) มาเรีย (Maria Eugenia Ponce de Bianco) และเอสเธอร์ (Esther Bllestrino de Careago) ถูกลักพาตัวหายไปอย่างไร้ร่องรอย กิจกรรมของกลุ่มต้องหยุดชะงักลง แม่บ้านทุกคนเกิดความหวาดกลัวภัยอันตรายที่เข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น

แม้แกนนำคนสำคัญจะถูกอุ้มหาย แม้พวกเธอจะเป็นเพียงแม่บ้านธรรมดาที่ไม่มีอาวุธใด ๆ ไปต่อกรกับอำนาจเผด็จการ แต่พวกเธอก็เลือกที่จะทิ้งความกลัวและเดินหน้าทำกิจกรรมต่อ จากจุดเริ่มต้นที่มี 14 คนก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนเป็นหลายร้อยคน จากที่มีเพียงแค่แม่ก็มี ‘ย่ายายแห่งจัตุรัสมาโย’ (Grandmothers of the Plaza de Mayo) เพิ่มเข้ามาเป็นแนวร่วมในการต่อสู้

ในอาร์เจนตินากลุ่มผู้นำเผด็จการได้ครอบครองอำนาจในการปกครองแทบทั้งหมด ทั้งตำรวจ ทหาร ข้าราชการ ทำให้การต่อสู้ของพวกเธอไม่ง่ายเลยสักนิด และลำพังการเรียกร้องให้คนในประเทศรับรู้อาจไม่เพียงพอ

ดังนั้น พวกเธอเลยต้องหาวิธีใหม่ในการต่อสู้กับเผด็จการ

 

สื่อสารให้โลกกดดัน

 

เมื่อเผด็จการปิดตายหนทางในการเรียกคืนความยุติธรรม พวกเธอจึงต้องสื่อสารให้คนต่างประเทศรับรู้ถึงความเลวร้ายของเผด็จการ และโอกาสทองก็มาถึง เมื่ออาร์เจนตินาได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 1978 มีนักฟุตบอลชาวยุโรปเข้าร่วมเดินขบวนกับพวกเธอ เพราะเห็นด้วยกับการเรียกร้องความยุติธรรม ทำให้ข่าวการเดินขบวนเพื่อตามหาลูกในอาร์เจนตินา ได้รับความสนใจจากนักข่าวทั่วโลก

นอกจากนั้น วิธีการสื่อสารของกลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโย ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและคำแนะนำจากองค์กรสิทธิมนุษยชน SERPAJ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองในลาตินอเมริกา ทำให้กลยุทธ์ในการต่อสู้ของพวกเธอ มีความหลากหลายและเข้าถึงคนในต่างประเทศ เช่น การประสานงานกับสหประชาชาติ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อบอกเล่าถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับพวกเธอ หรือการติดต่อขอการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในสมัยของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ที่มีนโยบายสนับสนุนสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ยิ่งสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลเผด็จการทหารของอาร์เจนตินามากขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะเดียวกัน พวกเธอก็ไม่ละเลยที่จะสื่อสารกับคนในอาร์เจนตินา เพื่อขอแรงสนับสนุนจากประชาชนให้มากที่สุด พวกเธอช่วยกันแจกจ่ายเอกสารและโปสเตอร์ตามสถานที่สาธารณะ บนรถประจำทาง รถไฟ รัฐสภา รวมถึงจัดพิมพ์จดหมายข่าวรายเดือน เพื่อให้ประเด็นการถูกอุ้มหายไม่เงียบหายไปจากสังคม

ระหว่างที่ออกมาเรียกร้อง พวกเธอรู้ดีว่าชีวิตนี้คงไม่ได้เจอลูกๆ อีกต่อไปแล้ว แต่เป้าหมายสำคัญคือการโค่นล้มเผด็จการที่พรากชีวิตลูกของพวกเธอไป พวกเธอจึงทุ่มเทแรงกายแรงใจ ออกมาเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า อดทนต่อความหวาดกลัวที่จะถูกทำร้ายหรือดำเนินคดี และในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไป ความทุ่มเทของพวกเธอก็ไม่สูญเปล่า

 

จุดจบของเผด็จการ

 

ตั้งแต่วิเดลาขึ้นมามีอำนาจ เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ประชาชนเริ่มตั้งคำถามถึงการปกครองของคณะรัฐประหารว่าจะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการอ้างความมั่นคงของชาติและเข้ามายึดอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้องตนเอง

เมื่อความนิยมเริ่มลดลง รัฐบาลหวังจะปลุกกระแสความรักชาติเพื่อเรียกความนิยมจากประชาชน จึงตัดสินใจประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษในปี 1982 ด้วยการส่งกองกำลังทหารเข้ายึดหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (Falklands) ซึ่งเป็นหนึ่งในอาณานิคมของอังกฤษ แต่การทำสงครามที่ใช้เวลาเกือบ 3 เดือนในครั้งนี้ จบลงที่ความพ่ายแพ้ของกองทัพอาร์เจนตินา

หลังพ่ายแพ้สงคราม ประชาชนเริ่มไม่พอใจรัฐบาลเผด็จการทหารและหันมาสนับสนุนกลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโยมากขึ้น ทำให้พวกเธอประกาศการเดินครั้งใหญ่รอบจัตุรัสติดต่อกัน 24 ชั่วโมง ในชื่อว่า ‘การเดินขบวนแห่งการต่อต้าน’ (March of Resistance) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1982 โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่าพันคน การเดินขบวนครั้งนี้นับเป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่า จุดจบของรัฐบาลเผด็จการทหารใกล้มาถึงแล้ว

เมื่อต้านกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ไหว รัฐบาลเผด็จการจึงตัดสินใจยอมลงจากอำนาจและจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 1983 เริ่มต้นสู่เส้นทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และปิดฉากระบอบเผด็จการทหารในอาร์เจนตินา และหลังจากได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว กระบวนการเรียกคืนความยุติธรรมก็เริ่มขึ้น มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์สงครามสกปรก เพื่อหาผู้กระทำผิดในยุคเผด็จการมาลงโทษตามกฎหมาย

จากแม่บ้านธรรมดา 14 คนที่ออกมาสู้กับเผด็จการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูกๆ จนแกนนำสำคัญถูกอุ้มหายไป แต่พวกเธอก็ไม่ย่อท้อ เลือกที่จะเดินหน้าสื่อสารให้สังคมรับรู้ถึงความโหดเหี้ยมของเผด็จการอย่างต่อเนื่อง ทำให้สังคมตื่นตัวและนำไปสู่การล่มสลายของอำนาจเผด็จการในที่สุด การต่อสู้ของพวกเธอจึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ว่า อำนาจเผด็จการแม้จะแข็งแกร่งเพียงใดก็ตาม แต่ก็สามารถล่มสลายลงได้

ด้วยพลังของประชาชน

 

 

 

 

 

อ้างอิง

https://prachatai.com/journal/2016/05/65904

https://prachatai.com/journal/2010/11/31728

#saveวันเฉลิม: บทเรียนละตินอเมริกา 5 ปัจจัยการเมือง‘เช็คบิลย้อนหลัง’การละเมิดสิทธิยุคเผด็จการทหาร

The Mothers of the Disappeared: Challenging the Junta in Argentina (1977-1983)

 

 

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save