fbpx

อ่านสุนทรพจน์โมดี อ่านอนาคตอินเดีย

Presidencia de la República Mexicana ภาพประกอบ

อันที่จริง 2021 นับเป็นปีที่นับเป็นหมุดหมายสำคัญของอินเดีย เพราะเป็นปีที่ครบรอบการประกาศเอกราช 75 ปีพอดิบพอดี (วันที่ 15 สิงหาคมนับเป็นวันเอกราชของอินเดีย) แต่อินเดียกลับต้องเฉลิมฉลองวาระสำคัญเช่นนี้ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 โดยอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างรุนแรง

กระนั้นก็มิได้หมายความว่า วาระครบรอบเอกราชปีที่ 75 ของอินเดียจะไม่มีความหมายใดเลย ตรงกันข้าม สถานการณ์โรคระบาดทำให้อินเดียต้องหันกลับมาทบทวนที่ทางของตัวเองทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างเข้มข้น

บทความสั้นๆ ชิ้นนี้อยากชวนผู้อ่านสำรวจอนาคตของอินเดียผ่านสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ในวันเอกราชของอินเดียปีที่ 75 แม้สุนทรพจน์นี้จะผ่านไปแล้วสักระยะหนึ่ง (โมดีกล่าวสุนทรพจน์นี้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2021) แต่ผู้เขียนเห็นว่านัยสำคัญของสุนทรพจน์นี้กลับเกี่ยวกับอนาคตอินเดียได้อย่างแหลมคมน่าสนใจ โดยเฉพาะการสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างแนวคิดการพึ่งพาตนเอง การเอาใจใส่กับจิตวิญญาณของความเป็นอินเดีย เพื่อการมุ่งสู่เป้าหมายในอนาคตของประเทศอินเดีย

ชาตินิยมฮินดู

หนึ่งในความน่าสนใจของสุนทรพจน์ของโมดีในวันเอกราชคือการแนบอิงกับประวัติศาสตร์ในอดีตและแนวคิดความเป็นอินเดียเพื่อรวมจิตใจของชาวอินเดียและการผ่านอุปสรรคต่างๆ ในปัจจุบัน โดยเขาได้ประกาศวันสำคัญของอินเดียขึ้นอีกวันหนึ่ง คือ ‘วันรำลึกความเจ็บปวดของการแบ่งแยก’ (Partition Horrors Remembrance Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 14 สิงหาคมของทุกปี

การเลือก ’14 สิงหาคม’ มีนัยสำคัญทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศอย่างแหลมคม เพราะวันดังกล่าวก็เป็นวันเอกราชของปากีสถานด้วย

ในทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ทราบกันดีว่าอินเดียและปากีสถานเคยเป็นประเทศเดียวกันมาก่อน แต่จากรากฐานการแบ่งแยกแล้วปกครองของอังกฤษ ที่แบ่งพื้นที่ของชาวมุสลิมและชาวฮินดู จนเกิดเป็นความขัดแย้ง นำไปสู่การแยกประเทศระหว่างอินเดียกับปากีสถาน (ในเวลาต่อมา บังคลาเทศก็แยกตัวเองออกจากปากีสถานอีก) โดยผลพวงของการแบ่งแยกประเทศในครั้งนั้นยังตกเป็นมรดกมาจนถึงปัจจุบัน

การประกาศ ‘ระลึกความเจ็บปวด’ ของโมดีจึงอาจเป็นการสร้างความขัดแย้งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน เนื่องจากความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน รวมทั้งความสัมพันธ์อันย่ำแย่ระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมในสังคมอินเดียก็ยังมิได้ทุเลาลงเท่าใดนัก

นอกจากการประกาศวันสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว ในสุนทรพจน์ของโมดีครั้งนี้ยังมีการกล่าวสอดแทรกถึงอนาคตของนักชาตินิยมอินเดียในอดีต เช่น สวามี วิเวกานันท์ และสุภาษ จันทระ โพส โดยโมดีพยายามขับเน้นแนวทางการพัฒนาอินเดียโดยจิตวิญญาณของชาวอินเดียที่มาจากนักคิดสำคัญเหล่านี้ ในช่วงเวลาของการเรียกร้องเอกราช

ที่ผ่านมา พรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party: BJP) ของโมดีเองก็ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์และแนวทางชาตินิยมฮินดูเป็นสำคัญ และสุนทรพจน์นี้ก็ตอกย้ำแนวทางนี้ของโมดีอีกครั้ง

อมฤต กาล: แผนพัฒนาแห่งอนาคตของอินเดีย


ความน่าสนใจประการที่สองและน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการกล่าวสุนทรพจน์ในครั้งนี้ คือเรื่องการปฏิรูปประเทศและแนวทางการพัฒนาในอนาคต การประกาศสำคัญในเรื่องนี้คือวิสัยทัศน์ของโมดีที่มองอินเดียในอีก 25 ปีข้างหน้า (ตรงกับวาระครบรอบ 100 ปีเอกราชอินเดีย) โดยเขาเลือกใช้คำว่า ‘อมฤต กาล’ (Amrit Kaal) หรือ ‘เวลาอันอมตะ’ เป้าหมายดังกล่าวเป็นความพยายามของรัฐบาลในการปฏิรูปและสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ ที่จะสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท และการสนับสนุนกิจการสตาร์ทอัพ เป็นต้น

โมดีกล่าวว่ารัฐบาลกำลังจะเตรียมแผนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 1.35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาการคมนาคม 3 มิติ ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งเขาเชื่อว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากเมืองสู่ชนบทของอินเดียได้ นอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคภายในประเทศของอินเดียแล้ว โมดียังมองถึงการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะภูมิภาคเบงกอลและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

นอกจากนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมยังเป็นการพยายามแสดงสถานะของอินเดียในฐานะมหาอำนาจในมหาสมุทรอินเดีย ยิ่งไปกว่านั้น ในทางภูมิรัฐศาสตร์ การเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทำให้อินเดียกลายเป็นหนึ่งผู้เล่นหลักในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ขณะที่อินเดียก็กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงมหาศาลจากการขยายอิทธิพลของจีน

อีกหนึ่งแผนการพัฒนาที่โดดเด่นซึ่งโมดีประกาศไว้ก็คือการเป็นศูนย์กลางของสร้างผลิตภัณฑ์ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen Production) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่พยายามแก้ไขปัญหามลพิษในอินเดีย อันเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจและกิจการอุตสาหกรรมซึ่งนำไปสู่การใช้พลังงานมากมายและก่อมลพิษมหาศาล เป้าหมายนี้ยังได้รับการตอกย้ำความสำคัญในการกล่าวสุนทรพจน์ของโมดี ณ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 76 (76th UN General Assembly: UNGA76) เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา โดยเขาต้องการให้อินเดียเป็นศูนย์กลางของการผลิตและการส่งออกพลังงานสีเขียว ในขณะเดียวกันก็สร้างสังคมอินเดียที่กลมกลืนกับธรรมชาติ เข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้โมดียังเน้นย้ำถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบขนส่งและคมนาคมที่สะอาดมากกว่าพลังงานดีเซล ซึ่งสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมการผลิตยานยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

พึ่งพิงตนเอง

นโยบายการพี่งพิงศักยภาพของอินเดียได้ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในการกล่าวสุนทรพจน์ของโมดีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่อินเดียกำลังประสบกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 โดยโมดีชูนโยบายอินเดียที่พึ่งตัวเองได้หรือที่รู้จักกันในนาม Atmanirbhar Bharat Abhiyaan หรือนโยบาย Self-Reliant India ในการฝ่าวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ที่อินเดียกำลังเผชิญ การดำเนินนโยบายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้อินเดียสามารถขยับเป็นประเทศผู้นำโลกที่สำคัญอีกประเทศหนึ่งหรือเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อป้อนตลาดโลก หลังวิกฤตการระบาดสิ้นสุด

ในการกล่าวสุนทรพจน์วันชาติ โมดีก็กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เขาเน้นย้ำว่านโยบายการพี่งพิงศักยภาพตนเองไม่ใช่การหันไปดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า (Protectionism) หรือโดดเดี่ยวตัวเองออกจากประชาคมโลก (Isolationism) ในทางกลับกัน นโยบายดังกล่าวมุ่งเน้นในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอินเดียในห่วงโซ่อุปทานโลกในโลกหลังโควิด-19 ที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับอินเดียในฐานะผู้ผลิตผลิตหน้ากาก N95 และชุด PPE-Kits ที่ได้มาตรฐานสู่ตลาดโลก ทั้งที่ก่อนหน้าการระบาดยังไม่มีการผลิตสินค้าดังกล่าวในอินเดีย

อันที่จริง โลกได้เห็นการปรับทิศทางนโยบายของอินเดียมากสักพักแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมา อินเดียมีการนำเข้าสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งยาและเวชภัณฑ์จากประเทศจีนในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก จนขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาล รัฐบาลอินเดียจึงดำเนินนโยบาย ‘Make in India’ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในอินเดีย

การกล่าวสุนทรพจน์ในวันเอกราชในปีนี้ โมดีตอกย้ำนโยบายการพึ่งพิงศักยภาพของอินเดียเองอีกครั้ง นักวิเคราะห์เชื่อว่า การพึ่งพิงตนเองของอินเดียจะปรากฏเป็นรูปธรรมมากขึ้นในรูปแบบของการผลิตยุทโธปกรณ์เอง เช่น เรือบรรทุกเครื่องบิน เรือดำน้ำ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีด้วยตนเอง นอกจากนี้อินเดียยังตั้งเป้าที่จะพี่งพาตนเองด้านพลังงานด้วยการประกาศเป้าหมายเป็นฐานการผลิตและส่งออกพลังงานโฮโดรเจนสีเขียวของโลก ซึ่งนอกจากจะทำให้อินเดียสามารถหันมาพี่งตนเองด้านพลังงานได้แล้ว ยังเป็นการจุดประกายการหันมาใช้พลังงานสะอาดให้กับโลกได้ด้วยอีกทางหนึ่ง

แม้ว่าวิสัยทัศน์ต่ออนาคตอินเดียของโมดีจะประจักษ์ชัดแจ้ง แต่อีกด้านหนึ่ง แผนการต่างๆ ยังขาดรายละเอียดในทางปฏิบัติ อีกทั้งยังถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้ให้น้ำหนักกับการกล่าวถึงข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในการรับมือกับโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายอย่างมากในสังคมอินเดีย รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่อีกภาคหนึ่งของอินเดีย ที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล

จึงน่าติดตามต่อไปว่า วิสัยทัศน์ของโมดีจะนำไปสู่แนวนโยบายรูปธรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร เหนือสิ่งอื่นใด แนวนโยบายเหล่านี้จะช่วยให้อินเดียสามารถผ่านความท้าทายทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศไปได้ขนาดไหน ท่ามกลางการแข่งขันของมหาอำนาจต่างๆ อย่างเข้มข้นบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน

อินเดียกับความเป็นเอกราช

อินเดียเริ่มตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 จากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างจักรวรรดิโมกุล (Mughal Empire) กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (British East India Company) กระทั่งเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ในปี 1857 อังกฤษจึงประกาศใช้กฎหมายก่อตั้งรัฐบาลอินเดีย (Government of India Act) ในปี 1858 จากนั้นรัฐบาลอังกฤษก็เข้าปกครองอินเดียโดยตรง แทนที่บริษัทอินเดียตะวันออกที่มีบทบาทอยู่เดิม

การปกครองของอังกฤษดำเนินกว่าร้อยปี ขณะเดียวกันก็เกิดขบวนการชาตินิยมต่างๆ ในสังคมอินเดียเพื่อเรียกร้องเอกราช โดยหนึ่งในขบวนการที่สังคมไทยรู้จักดีคือขบวนการของมหาตมะ คานธี ที่เน้นแนวทางการต่อสู้บนหลักการสัตยาเคราะห์ และเมื่อเข้าสู่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอังกฤษกำลังอยู่ในสภาวะเสื่อมถอยบนเวทีระหว่างประเทศ อินเดียจึงได้รับเอกราชในวันที่ 15 สิงหาคม 1947

ปัจจุบัน วันเอกราชเป็นหนึ่งในสามวันหยุดราชการระดับประเทศของอินเดีย ซึ่งประกอบด้วย วันสาธารณรัฐอินเดีย (ทุกวันที่ 26 มกราคม) วันเอกราช (ทุกวันที่ 15 สิงหาคม) และวันเกิดของมหาตมะ คานธี (ทุกวันที่ 2 ตุลาคม)


อ้างอิง

Bangkok post. (14 August 2021). 75 years of India’s Independence. Retrieved from https://www.bangkokpost.com/world/2165311/75-years-of-indias-independence?fbclid=IwAR34pbIF7ySAyQ2gOjIRL51HmxdCAK0U7fpG-tk90xoUbvcrrfXqNrE-kn4

PIB Delhi. (15 August 2021). English rendering of the text of PM’s address from the Red Fort on 75th Independence Day. Retrieved from https://pib.gov.in/PressReleseDetail.aspx?PRID=1746062

กรุงเทพธุรกิจ. (1 พฤศจิกายน 2564). เปิดภารกิจ “อินเดีย” พิชิตเน็ต ซีโร่ อย่างยั่งยืน. เข้าถึงจาก https://www.bangkokbiznews.com/world/969140?fbclid=IwAR3iD03Di3hsJoS-hXh-K5rLM4EdzDMgm0QRzXaclJs-qSUE0G8hopPDjHA

ศิลปวัฒนธรรม. (15 สิงหาคม 2564). 15 สิงหาคม 1947 อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ. เข้าถึงจาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1547

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก. (19 ตุลาคม 2564). ยุทธศาสตร์ ‘พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว’ ของอินเดีย โอกาสการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลก. เข้าถึงจาก https://www.the101.world/green-hydrogen-strategy-india/

สุรัตน์ โหราชัยกุล. (30 สิงหาคม 2560). 15 สิงหาคม 1947 วันเอกราชอินเดียอันขื่นขม. เข้าถึงจาก https://mgronline.com/daily/detail/9600000089128?fbclid=IwAR1xb6wjmP5BjYARsuoWUK8jPEPIfpqBRgfqao6gZBH9c2WmxOVeu2-IPNQ


หมายเหตุ: ข้อความและข้อคิดเห็นต่างๆ เป็นของผู้เขียนบทความ ไม่ถือเป็นความเห็นของศูนย์อินเดียศึกษา และศูนย์ฯ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับข้อความและข้อคิดเห็นใดๆ ของผู้เขียน 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง ศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ The101.world

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save