fbpx

สูตรการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของไทยเป็นธรรมแล้วหรือ?

ในช่วงที่ผ่านมา ประเด็น ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นประเด็นที่สังคมไทยให้ความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นประเด็นถกเถียงหลักตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งเมื่อในช่วงเดือนธันวาคม 2566 เมื่อคณะกรรมการไตรภาคีมีมติปรับขึ้นเงินค่าจ้างขั้นต่ำ 2-18 บาท 

บทความนี้จะเปรียบเทียบสูตรการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันกับสูตรการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมตามหลักเศรษฐศาสตร์ และแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการใช้สูตรปัจจุบันต่อความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยหวังว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มเติมบทสนทนาและข้อถกเถียงประเด็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำในสังคมไทยให้มีความรอบด้านมากขึ้น

หลักคิดของค่าจ้างที่เป็นธรรม

ตามหลักเศรษฐศาสตร์และหลักความเป็นธรรม (fairness) ค่าจ้างของแรงงานควรแปรผันตามผลผลิตที่แรงงานผลิตได้หรือ ‘ผลิตภาพแรงงาน’ และระดับราคาของสินค้า เช่น หากสมชายสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น 10% สมชายก็ควรได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 10% ในทำนองเดียวกัน หากราคาของสินค้าที่สมชายผลิตมีราคาเพิ่มขึ้น 5% สมชายก็ควรได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 5% เช่นกัน จากแนวคิดนี้ เราเขียนสูตรการปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมได้ดังนี้

การปรับขึ้นค่าจ้างที่เป็นธรรม = การเติบโตของผลิตภาพแรงงาน + อัตราเงินเฟ้อ

ผลิตภาพแรงงานของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ

ค่าจ้างขั้นต่ำ’ เป็นอัตราค่าจ้างที่จ่ายให้กับแรงงานแรกเข้าทั่วไป หรือมีประสบการณ์ทำงานไม่เกิน 1 ปี ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า แรงงานเหล่านี้มีความสามารถในการผลิตเท่าเดิมตลอดทั้งปีทั้งชาติ แรงงานเหล่านี้จึงไม่ควรได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างในส่วนของการเติบโตของผลิตภาพ 

แต่แท้จริงแล้วมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่แสดงว่า ผลิตภาพของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มสูงขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น แรงงานไร้ฝีมือในประเทศจีนมีผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้นถึง 461% ซึ่งสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานมีฝีมือในสหรัฐอเมริกาที่ 31% เสียอีก (ตารางที่ 1 และ 2)

ตารางที่ 1 การเติบโตของผลิตภาพแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ

ตารางที่ 2 การเติบโตของผลิตภาพแรงงานในประเทศจีนเปรียบเทียบกับในสหรัฐอเมริกา

ความไม่เป็นธรรมของค่าจ้างขั้นต่ำไทย

แม้ประเทศไทยจะคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำโดยคำนึงถึงผลิตภาพแรงงาน แต่สูตรการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของไทยที่ใช้ในปัจจุบัน (ตารางที่ 3) ไม่เป็นไปตามสูตรที่เป็นธรรมตามหลักเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากการเติบโตของผลิตภาพแรงงาน ‘ถูกถ่วง’ ด้วยอัตราการสมทบของแรงงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือค่า L เช่น ในกรณีของกรุงเทพฯ ตัวถ่วงนี้มีค่าเท่ากับ0.32 หมายความว่า หากสมชายมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือ 100% เขาจะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพียง 32% เท่านั้น ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างนี้จึงไม่เป็นธรรมกับแรงงาน

ตารางที่ 3 สูตรที่เป็นธรรมกับสูตรของไทยในปัจจุบัน

การพิจารณาความเป็นธรรมของสูตรค่าจ้างอาจทำได้จากการเทียบเคียงกับสูตรสูตรที่ประเทศอื่นใช้ได้เช่นกัน โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้จัดทำรายงานไว้จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส สาธารณรัฐคอสตาริกา บราซิล และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ฝรั่งและคอสตาริกามีบริบททางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่ต่างจากประเทศไทยมากเกินไปจึงไม่เหมาะกับการนำมาเทียบเคียง

เมื่อพิจารณาสูตรที่บราซิลและมาเลเซียใช้จะพบว่า ทั้งสองประเทศคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำสอดสอดคล้องกับสูตรที่เป็นธรรม กล่าวคือ ไม่ได้นำ ‘ตัวถ่วง’ การเติบโตของผลิตภาพแรงงานอย่างอัตราการสมทบของแรงงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ดังเช่นสูตรที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน 

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น ผู้เขียนได้จำลองการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพฯ (รูปที่ 1) โดยใช้ปี 2543 เป็นจุดเริ่มต้น หากใช้สูตรที่เป็นธรรม ค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพฯ จะปรับขึ้นดังเส้นสีแดง แต่หากใช้สูตรปัจจุบันจะปรับขึ้นดังเส้นสีเขียว จะเห็นว่า การปรับขึ้นของค่าจ้างโดยใช้สูตรปัจจุบันของไทยต่ำกว่าสูตรที่เป็นธรรมโดยตลอด และต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำจริงนับตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นสมัยที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ออกนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดมาเป็น300 บาท (ยกเว้นปี 2562 ที่ค่าจ้างจริงต่ำความค่าจ้างที่ปรับตามสูตรปัจจุบัน) 

รูปที่ 1 สูตรการปรับค่าจ้างที่ควรเป็น Vs. สูตรปรับค่าจ้างปัจจุบัน

ที่มา: การคำนวณของผู้เขียน

ภาพจำลองข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมและความไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ของสูตรค่าจ้างขั้นต่ำของไทยในปัจจุบัน และความเป็นธรรมเหล่านี้อาจมีส่วนในการอธิบายได้ด้วยว่า เหตุใดนักการเมืองจึงมักนิยมหาเสียงด้วยนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 

ผลลัพธ์ของการใช้สูตรปัจจุบันต่อความเหลื่อมล้ำ

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีแรงงานในระบบประกันสังคมที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ประมาณ 5 ล้านคน สมมติค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 353 บาท รายได้ต่อปีของแรงงานกลุ่มนี้ตกประมาณ 7 แสนล้านบาท (5 ล้านคน x 365 วัน x 353 บาท) ซึ่งคิดเป็น 3.8% ของ GDP ในปี 2562 หากประเทศไทยใช้สูตรปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันผลิตภาพแรงงานก็เพิ่มขึ้น 70% ในช่วง 20 ปี อ้างอิงตามข้อมูลในอดีต สัดส่วนของรายได้ของแรงงาน 5 ล้านคนนี้จะลดลงเหลือ 2.7% ของผลผลิตมวลรวมในปี 2585 นั่นหมายความว่าสัดส่วนรายได้ของแรงงานกลุ่มนี้ต่อ GDP จะลดลงประมาณ 30% ซึ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ดังแสดงในตารางที่ 4

ตารางที่ 4 สัดส่วนรายได้ของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอีก20 ปีข้างหน้า

ทั้งหมดนี้เห็นได้ว่า สูตรการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ไทยใช้ในปัจจุบัน เป็น กับดักที่เหนี่ยวรั้งการเติบโตของค่าจ้างขั้นต่ำไทย’ ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มใช้สูตร และส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยให้สูงขึ้น

อ.ป๋วย’- ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยกล่าวว่า แพทย์รักษาผู้ป่วยผิดพลาด จะส่งผลต่อชีวิตของผู้ป่วยหนึ่งคนและครอบครัว วิศวกรสร้างตึกผิดพลาด จะส่งผลต่อชีวิตคนหลายสิบหลายร้อยคนที่ใช้ตึก แต่นักเศรษฐศาสตร์ทำนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาดจะส่งผลต่อชีวิตของคนทั้งประเทศ

ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องทบทวนสูตรการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของไทยทั้งระบบ ตั้งแต่การถกเถียงว่าจะใช้ข้อมูล GDP หรือ อัตราเงินเฟ้ออ้างอิงจากปีไหน ฐานคิดในการปรับค่าจ้างคืออะไร โดยต้องพูดคุย หาฉันทมติ เพื่อตกผลึกถึงเป้าหมายของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งต้องคิดอย่างรอบคอบและส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่สนับสนุนเชิงวิชาการ เพื่อลดความผิดพลาดของการจัดทำมาตรการที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง 


อ่านเพิ่มเติม

วิธีการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

Data File 

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save