fbpx
Magna Carta หลักศิลาประชาธิปไตย ปฐมบทปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

Magna Carta หลักศิลาประชาธิปไตย ปฐมบทปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

สมชัย สุวรรณบรรณ เรื่อง

 

เสียงเรียกร้องจากประชาชนในประเทศไทยจำนวนกว่าแสนคน และจากพรรคการเมืองบางพรรคในรัฐสภาขอให้มีการแก้ใขรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนในพื้นที่แคบๆ ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญอัปยศฉบับนี้สร้างอุปสรรคไว้

โดยแท้จริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นี้ก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับที่ (อ้างกันว่า) มีการลงประชามติ (กว่าสิบหกล้านเสียง) ด้วยซ้ำไป เนื่องมีการ (ลักไก่) แก้ไขบางมาตราหลังผ่านกระบวนการประชามติไปแล้ว ถ้าถือตามหลักกฎหมายแล้วย่อมเป็นโมฆะ ไม่ควรประกาศบังคับใช้เพราะฝ่าฝืนหลักนิติธรรม (rule of law) ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่จะสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

การเขียนกฎหมายสูงสุดของประเทศจะต้องยึดหลักนิติธรรม หลักสำคัญที่รับรองสิทธิเสรีภาพมนุษย์ทุกผู้ทุกนามให้มีความเท่าเทียมกันภายใต้กฏหมาย โดยมีมาตรฐานเดียว ผิดไปจากนี้ไปจะเรียกว่าเป็นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยไม่ได้

แผ่นดินใดที่ปกครองโดยฝ่าฝืนหลักนิติธรรม แผ่นดินนั้นก็ยากที่จะอยู่ร่วมกันได้โดยสงบสุข

หลักนิติธรรมดังกล่าวระบุว่า พลเมืองทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองสูงสุดหรือประชาชนทั่วไป จะต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน หลักการนี้เป็นมรดกที่ Magna Carta (The Great Charter) ค.ศ. 1215 ส่งทอดมากลายเป็นหลักในการร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกากว่าห้าร้อยปีต่อมา  ซึ่งมีบันทึกไว้ว่า ในการประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐเมื่อปี ค.ศ. 1787 (Philadelphia Constitution Convention) ที่ประชุมได้บรรจุหลักนิติธรรมที่กล่าวถึงนี้โดยอ้างอิงมาตรา 39 และ 40 จาก Magna Carta ในการกำหนดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย

หลังจากนั้นสี่ปีต่อมามีการแก้ใขรัฐธรรมนูญสหรัฐเพิ่มเติม 10 มาตราซึ่งต่อมาเรียกรวมๆ ว่า Bill of Rights โดยส่วนใหญ่ก็มีต้นธารมาจากมาตราต่างๆ ใน Magna Carta นั่นเอง

 

Magna Carta ภาพจาก The British Library

 

จะเรียกว่า Magna Carta เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกๆ ของอังกฤษก็ว่าได้ ถือว่าเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองที่ในเวลาต่อมายอมรับกันทั่วโลก ทว่าโดยความจริงแล้วเอกสารนี้เป็นข้อตกลงสงบศึกระหว่างกษัตริย์จอห์นกับเหล่าขุนนางเจ้าของที่ดิน (Baron)  25 คน ที่รวมตัวกันแข็งขืนยื่นข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปอำนาจกษัตริย์ให้เป็นธรรม โดยพวกเขาไม่มีเจตนาจะล้มเจ้า แต่ขอลดทอนอำนาจของกษัตริย์ลงให้อยู่ภายใต้กฎหมาย คงคล้ายๆ กับการยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้กฎหมายไว้

สาเหตุที่เหล่าเจ้าที่ดินเหล่านี้รวมตัวกันแข็งขืนต่อกษัตริย์ เพราะพระเจ้าจอห์นมีพฤติกรรมที่ประชาชนในยุคนั้นเรียกว่าเป็นทรราชย์ ใช้อำนาจกดขี่ปราบปราม ลักพา คุมขัง ทรมาน ประชาชนที่แข็งข้ออย่างทารุณ และยังขูดรีดภาษีตามอำเภอใจ ทั้งนี้เพราะหลังจากที่พระองค์ไปทำสงครามในดินแดนฝรั่งเศสแล้วพ่ายแพ้กลับมาจนเงินทองท้องพระคลังไม่พอใช้

 

กษัตริย์จอห์น

 

พฤติกรรมลุแก่อำนาจอย่างอย่างป่าเถื่อนของกษัตริย์จอห์นสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทุกหย่อมหญ้า จนกลายเป็นภาพลักษณ์ที่มีตำนานเล่าขานต่อมาว่าพระเจ้าจอห์นเป็นกษัตริย์ทรราชย์ที่ประชาชนไม่ยอมรับ และน่าสังเกตุว่าในเวลาต่อๆ มาอังกฤษไม่เคยมีกษัตริย์ที่มีพระนามว่าจอห์น อีกเลย

เนื้อหาใจความของข้อตกลงปฏิรูปอำนาจกษัตริย์นี้มีอยู่ด้วยกัน 63 ข้อ/มาตรา แต่หลักใหญ่ที่ตกทอดมาจนกลายเป็นหลักศิลาประชาธิปไตยคือ หลักการที่ว่าพลเมืองทุกคนรวมทั้งกษัตริย์จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน โดยรับรองสิทธิพลเมืองให้เท่าเทียม มีสิทธิเสรีภาพทั้งในตัวบุคคลและในการครอบครองทรัพย์สิน มีกำหนดให้จัดกระบวนการไต่สวนอย่างเป็นธรรม (มาตรา 39)  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการไต่สวนคดีแบบอิสระโดยมีคณะลูกขุน (trial by jury)

ตลอดจนถึงเรื่องหลักการที่ต่อมาเรียกว่า “No taxation without representation” ที่ระบุไว้ในมาตรา 12 และ 14 ที่ว่ากษัตริย์จะเรียกเก็บภาษีจากประชาชนได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากประชาชนส่วนใหญ่เท่านั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา

ในเบื้องต้นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษเมื่อแปดร้อยปีนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นผลจากการต่อสู้ของประชาชน แต่เป็นการต่อรองทางอำนาจในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันมากกว่า แต่ถ้าจะเปรียบก็คงเสมือนการ ‘ดันเพดาน’ เปิดหน้าต่างให้มีพัฒนาการไปสู่การปกครองที่มีส่วนร่วมจากประชาชนมากขึ้นตามลำดับในหลายร้อยปีถัดๆ มา จนกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจบริหารประเทศผ่านทางรัฐสภาที่สืบเนื่องมาจนถึงวันนี้

Magna Carta ความจริงแล้วเป็นเอกสารข้อตกลงที่เขียนด้วยภาษาละติน ความยาว 3,550 คำ รวมข้อตกลง 63 ข้อ/มาตรา กางเต็นท์กลางทุ่งลงนามกันที่ ตำบล Runneymede ใกล้ๆ เมือง Windsor ระหว่างกษัตริย์จอห์นและเหล่าเจ้าที่ดินประมาณ 25 คน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1215 คือเมื่อประมาณ 805 ปีมาแล้ว แม้ว่าหลังจากลงพระปรมาภิไธยแล้วก็ตาม กษัตริย์จอห์นก็พยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงบางข้อตลอดรัชสมัยของพระองค์จนสิ้นพระชนม์

 

 

หลังจากสิ้นสุดรัชสมัยของกษัตริย์จอห์น เจ้าชายเฮนรีเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เฮนรีที่สาม พระองค์ทรงหันกลับมายอมรับข้อตกลงที่พระบิดาของพระองค์ได้ลงพระปรมาภิไธยไว้  โดยพระองคค์ทรงมีโองการขอแก้ไขปรับปรุงบางมาตรา คล้ายกับการแก้ใขรัฐธรรมนูญนั่นเอง โดยมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อจะได้เก็บภาษีได้มากขึ้น แต่ยังคงรักษาหลักการสำคัญใหญ่ๆ เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและความเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมายเอาไว้แบบเดิม แล้วประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1225  สิบปีหลังจากฉบับแรกออกประกาศใช้

หลายร้อยปีต่อมา หลักการสำคัญหลายมาตราใน Magna Carta ถูกนำมาเป็นฐานในการสร้างจารีตทางการเมืองการปกครองที่เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร และมีการใช้อ้างอิงเพื่อพัฒนาการและสร้างกลไกที่เรียกว่า จารีตการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในสหราชอาณาจักรเป็นเวลาต่อเนื่องกันมากว่าแปดร้อยปี

ทุกวันนี้ก็ยังมีคนอังกฤษนำหลักการสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่ระบุไว้ใน Magna Carta มาอ้างอิงเวลาที่ต้องการจัดชุมนุมประท้วง เช่นเมื่อเร็วๆ นี้มีการประท้วงมาตรการริดรอนเสรีภาพที่รัฐบาลประกาศใช้เพื่อสะกัดไวรัสโคโรนาระบาด กลุ่มคนอังกฤษจำนวนหนึ่งจัดชุมนุมประท้วงต่อต้านมาตรการ lockdown-social distancing ซึ่งควบคุมเสรีภาพในการเดินทางไปมาหาสู่ และการพบประสมาคม พวกเขาก็อ้างหลักการจาก Magna Carta

นักวิชาการทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และประวัติศาตร์ยอมรับว่า Magna Carta คือหลักศิลาที่กำหนดหลักนิติธรรม ให้เป็นรากฐานของการเมืองการปกครองที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตย ภายใต้หลักการนี้ มนุษย์ทุกผู้ทุกนามมีความเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย แม้แต่กษัตริย์ก็ต้องยอมรับว่าอยู่ภายใต้กฎหมาย จะปกครองตามอำเภอใจไม่ได้ เป็นหลักการที่คณะผู้สถาปนาสหรัฐอเมริกา (Founding Fathers of the United States) นำมาอ้างอิงในการร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นหลักการที่นายเนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษของแอฟริกาใต้ นำมาใช้ในการสู้คดีเมื่อครั้งถูกคุมขังในปี ค.ศ. 1964

รัฐบุรุษอีกท่านหนึ่งคือ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร วีรบุรุษสงครามโลกกล่าวถึง Magna Carta ว่า

“Here is a law which is above the King and which even he must not break. This reaffirmation of a supreme law and its expression in a general charter is the great work of Magna Carta; and this alone justifies the respect in which men have held it” – Sir Winston Churchill, Prime Minister of Britain 1940 – 1945, 1951 – 1955.

“นี่คือกฎหมายที่อยู่เหนือพระมหากษัตริย์ แม้กระทั่งพระองค์ก็จะทรงฝ่าฝืนมิได้ เจตนารมณ์และเนื้อหาสาระหลักของ  Magna Carta เป็นการยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ของกฎหมายสูงสุด และนี่เป็นเหตุผลที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามให้ความเคารพตลอดมา”- เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

ความจริงทั้งกษัตริย์จอห์น และเหล่าบารอนทั้ง 25 คนดังกล่าวคงไม่ได้คาดคิดว่า เอกสารภาษาละตินความยาวกว่าสามพันคำที่พระองค์ทรงลงพระปรมาธิไธยคราวนั้น จะกลายเป็นเอกสารสำคัญของโลกที่มีผลต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบันแม้เวลาจะผ่านไปกว่าแปดร้อยปี นอกจากมีหลายประเทศที่นำเอาหลักการสำคัญไปใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สหประชาชาติยังได้ใช้เป็นหลักการใน คำประกาศสิทธิมนุษยชนสากล (Universal Declaration of Human Rights) เมื่อปี 1948 อีกด้วย

Magna Carta ได้กลายเป็นหลักศิลาประชาธิปไตย ที่บรรดานักร่างรัฐธรรมนูญทั้งหลายจักต้องใช้เป็นฐานในการกำหนดมาตราสำคัญๆ โดยแบ่งเป็นสามเสาหลักคือ

– กำหนดการรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน การริดรอนสิทธิใดๆ จะต้องมีระเบียบ ตามกระบวนยุติธรรมที่ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานสากล

– รัฐบาลจะปกครองประเทศได้ด้วยความชอบธรรมก็ต้องได้รับการยอมรับจากผู้ถูกปกครอง โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่เท่าเทียม เสรีและเป็นธรรม

– ผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกัน

เมื่อห้าปีที่แล้วมีพิธีฉลองครบรอบแปดร้อยปี Magna Carta ตลอดเวลาหลายเดือนช่วงกลางปี 2015 มีสถาบันการศึกษา พิพิธภัณฑ์และหน่วยราชการหลายแห่งทั่วโลก ทั้งในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในประเทศจีน มีการจัดนิทรรศการ มีการประชุมสัมนาวิชาการ เป็นมหกรรมขนาดใหญ่ว่าด้วยมรดกที่ศิลาประชาธิปไตยนี้มอบให้แก่มวลมนุษยชาติ

ความจริงแล้ว Magna Carta ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ แล้วพัฒนามาสู่การปกครองประเทศด้วยระบบรัฐสภา ที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นระบอบที่ยั่งยืนน่าเคารพ

หากย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1215 แล้วลองจินตนาการดูว่า ถ้าหากกษัตริย์จอห์นไม่ยอมรับข้อเสนอปฏิรูปอำนาจกษัตริย์ที่เหล่าบรรดาอำมาตย์เจ้าของที่ดิน 25 คนเรียกร้องในครานั้น ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของอังกฤษ จะยังคงเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่

หรือว่าจะมีรูปแบบกลายเป็น ออสเตรีย ฮังการี อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยเป็นราชอาณาจักรที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อันยิ่งใหญ่เกรียงไกรในอดีต

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save