fbpx
The Graduation : ค้นฟ้าคว้า ‘ความเป็นมนุษย์’

The Graduation : ค้นฟ้าคว้า ‘ความเป็นมนุษย์’

ทุกวันนี้ถ้ามีน้องๆ มัธยมคนไหนมาขอคำปรึกษาเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย สิ่งที่ผมทำได้คงมีเพียงอย่างเดียวคือการส่ายหน้าพร้อมถอนหายใจอย่างปลงๆ ก่อนจะบอกว่า “พี่จำอะไรไม่ได้แล้วน้องเอ๋ย”

 

แต่ถ้ายังอยู่ในยุคเดียวกันนับย้อนกลับไปเมื่อเจ็ดแปดปีก่อน (แหม นับย้อนไปอย่างนี้แล้วดูนานจังเลย) สมัยเตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยด้วยการเป็นเด็กรุ่นแรกที่ประเดิมการสอบแกทแพท – ซึ่งตอนนี้ก็น่าจะเปลี่ยนระบบไปอีกแล้ว – ภาพยนตร์ที่ผมจะแนะนำให้ดูเพื่อเติมกำลังใจ เปิดบูชา บิลด์ตัวเองฟิตอ่านหนังสือคงหนีไม่พ้น Final Score 365 วันตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (โสรยา นาคะสุวรรณ, 2550) หนังสารคดีเรื่องแรกและเรื่องเดียวของค่าย GDH สมัยที่ยังใช้ตัว T อยู่

ภาพของซับเจ็กต์หลักทั้งสี่คนที่ผู้กำกับเฝ้าติดตามชีวิตชั้นปีสุดท้ายในรั้วโรงเรียนของพวกเขา ความกดดันจากคนรอบตัว การจัดการกับความสัมพันธ์ และที่ขาดไม่ได้คือช่วงเวลาของการเรียนพิเศษ ติวเข้มโจทย์เอาไปใช้ในห้องสอบ เพื่อคำว่า ‘เอ็นท์ฯติด’ ที่มันค้ำคออยู่ ทั้งหมดยังเป็นมวลความรู้สึกที่ส่งผ่านจากเด็กมัธยมจากรุ่นสู่รุ่นไม่เปลี่ยนแปลง

ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ในหนังเรื่องนั้นยังเป็นช่วงที่ใช้ระบบ O-NET และ A-NET อยู่เลยก็ตาม

เรื่องเปลี่ยนระบบการสอบไปมาของเหล่าผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในแวดวงการศึกษาไทยจนเอาแน่เอานอนไม่ได้ก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องที่ยังคงเป็นประเด็นคาใจแม้จะไม่ใช่วัยอ่านเว็บ Dek-D อีกแล้ว คือคำถามที่ว่า ระบบการคัดเลือกเด็กๆ ที่จะ ‘เปลี่ยนผ่าน’ จากวัยมัธยมเข้าสู่อุดมศึกษาด้วยการฝนคำตอบปรนัยบนกระดาษ วัดค่าออกมาเป็นตัวเลข เพื่อเอามาจัดอันดับว่าพวกเขาจะได้เข้าเรียนที่ไหน เป็นระบบที่ ‘สร้าง’ บุคลากรที่มีคุณภาพออกมาได้จริงหรือเปล่า

 

The Graduation คือภาพยนตร์สารคดีจากประเทศฝรั่งเศสโดย Clair Simon ผู้กำกับหญิงสัญชาติเดียวกัน ประเด็นหลักของทั้งเรื่องไม่มีอะไรมากไปกว่าการตามไปดูขั้นตอนสอบเอ็นท์ทรานซ์ของ La Fémis โรงเรียนสอนภาพยนตร์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความโด่งดังและการสอบเข้าสุดจะโหดหิน

จากผู้สมัครกว่าพันคนในแต่ละปี ตั้งแต่วัยรุ่นเรียนมหา’ลัยจนถึงวัยใกล้สามสิบ ทุกคนต้องผ่านหลายต่อหลายด่านเพื่อพิสูจน์ตัวเองกับคณะกรรมการว่าทั้งความสามารถและใจที่พวกเขามีว่า ‘เหมาะสมคู่ควร’ กับการเป็นนักเรียนของ La Fémis มากแค่ไหน ก่อนที่ผู้ชนะจำนวน 40 คนในแต่ละรุ่นจะได้เข้ามาเป็นตัวจริงในปีการศึกษานั้นๆ

มองข้ามความเนิบช้าและนิ่งๆ ตามแบบฉบับหนังฝรั่งเศส ไม่มีดนตรีประกอบภาพเค้นอารมณ์อย่างที่เรามักจะสเตอริโอไทป์กัน – The Graduation อาจจะไม่ได้มีบรรยากาศกดดัน ให้เห็นถึงความฝ่าฟัน พยายามกันแทบเป็นแทบตายเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จอย่าง Reach for the Sky (Wooyoung Choi และ Steven Dhoedt, 2558) หนังสารคดีในประเด็นคล้ายกันที่เล่าเรื่องราวการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กๆ ในประเทศเกาหลีใต้

ในทางตรงกันข้าม ถึงเราจะเห็นความพยายามของคนที่อยากเข้ามาเรียนที่ La Fémis อยู่บ้างจากการที่ผู้กำกับพยายามถ่ายทอดขั้นตอนการสอบเข้า ไม่ว่าจะเป็นการเขียนวิจารณ์หนังในรอบแรก พรีเซนต์ตัวเองในด่านทดสอบแยกตามสาขาวิชา หรือจะเป็นการสอบสัมภาษณ์กับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์และศิลปะทั่วประเทศ แต่เหนือสิ่งอื่นใด น้ำหนักของการเล่าเรื่องที่แคลร์เทไปให้มากกว่า คือ ‘ความเอาจริง’ ของฝั่งที่เป็นคนคัดเลือก ผู้กุมชะตาว่าใครจะเป็น 40 คนสุดท้ายที่ได้เข้ามาเรียนที่นี่

“ฉันบอกกับผู้บริหารว่ามันเป็นสิทธิ์ของพลเมืองที่จะรู้ถึงขั้นตอนทั้งหมดในการรับนักเรียนเข้ามาเรียนที่ La Fémis เพราะพวกคุณได้เงินเดือนจากภาษีของพวกเขา [ปัจจุบัน La Fémis เป็นสถานศึกษาของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสารของรัฐบาลฝรั่งเศส] คุณไม่มีสิทธิ์จะทำลับๆ ล่อๆ หรอก พอพูดจบ ผู้บริหารคนนั้นก็เห็นด้วย ใครบอกว่าคุณมีสิทธิ์ปฏิเสธได้เหรอคะ” แคลร์บอกในบทสัมภาษณ์ของ Film Comment

เมื่อผู้กำกับเองก็เป็นหนึ่งในอาจารย์ผู้เคยแวะเวียนมาสอนที่โรงเรียนแห่งนี้ ภาพของการสัมภาษณ์ผู้สมัคร กระบวนการสอบปฏิบัติในสตูดิโอ และการถกเถียงอย่างเอาเป็นเอาตายของเหล่ากรรมการคัดเลือกที่ฉายอยู่บนจอให้เราได้เห็นจึงมีความ ‘สมจริง’ และ ‘ใกล้ชิด’ อยู่มาก อย่างที่พวกเขาก็ไม่ได้แคร์ว่าภาพที่จะออกไปจะเป็นอย่างไร มุกตลกอย่าง ‘ภาวนาให้รายชื่อที่ผ่านมีคนผิวสีและเอเชียด้วยเถอะนะ’ หรือการเมาท์ผู้สมัครที่กรรมการไม่ชอบหน้าอย่างไม่สนว่าเด็กคนนั้นจะได้มาดูหนังหรือเปล่า อาจทำให้ชาวฝรั่งเศสผู้เสียภาษีและคนที่ได้ดูรู้สึกว่า ‘อะไรกันเนี่ย สรุปแล้วโรงเรียนเรียนนี้เลือกเด็กจากความสามารถหรืออะไรกันแน่’

แต่ในความเป็นจริง นอกเหนือจากความสามารถที่ La Fémis มองหา อีกปัจจัยที่สำคัญคือ ‘ทัศนคติ’ และ ‘ส่วนผสมความเป็นมนุษย์’ ในผู้สมัครแต่ละคน ที่จะทำให้ 40 คนสุดท้ายของรุ่นกลายเป็นส่วนผสมใหม่ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความเป็นมนุษย์ และความฝันของตัวเองกับเพื่อนร่วมรุ่น และอาจารย์จากแวดวงภาพยนตร์ในประเทศ ที่จะได้เจอกันตลอดทั้ง 4 ปีของการศึกษา

เพื่อความหวังให้พวกเขาสร้างสรรค์วงการศิลปะฝรั่งเศสให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต

 

เมื่อ La Fémis ตั้งเป้าหมายเพื่อค้นหา ‘ความเป็นมนุษย์’ ในตัวของนักศึกษา กระบวนการคัดเลือกจึงไม่ใช่การนั่งในห้องสอบ แจกกระดาษคำตอบและดินสอสองบีให้กับผู้สมัคร จับเวลา 90 นาทีต่อวิชา ก่อนจะเอากระดาษนั้นเข้าเครื่องตรวจ และเอาข้อมูลใส่เข้าไปในคอมพิวเตอร์เพื่อเรียงลำดับคะแนนอย่างที่เราคุ้นเคยกันมาตลอด ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อเรียกข้อสอบไปเป็นอะไรก็ตาม

เพราะนั่นน่าจะเป็นการคัดเลือกคนไปฝึกซ้อม ก่อนส่งเข้าทำงานตามสายพานของระบบอุตสาหกรรม มากกว่าจะเป็นการค้นหา ‘บางอย่าง’ ในตัวคนคนหนึ่ง จากสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ของผู้ที่คัดเลือก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นกลุ่มคนที่จะเติบโตไปส่งเสริม ‘ความเป็นมนุษย์’ ให้กับคนอื่นๆ ในสังคม

ที่เราอาจไม่เคยมี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save