fbpx
สีผิวที่ถูกเหยียด จากอวกาศถึงแฟชั่น

สีผิวที่ถูกเหยียด จากอวกาศถึงแฟชั่น

1

ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูหนังเรื่อง Hidden Figure เมื่อไม่นานนี้ หนังเล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงผิวดำสามคนที่อยู่เบื้องหลังประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เน้นไปที่ช่วงการแข่งขันการสำรวจอวกาศกับสหภาพโซเวียตช่วงปี 1957-1958 ซึ่งถือเป็นช่วงที่สหภาพโซเวียตทำได้ดีกว่าสหรัฐอเมริกาในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งปล่อยดาวเทียม ส่งหมา ส่งคน ออกไปบนอวกาศได้ก่อนสหรัฐเป็นปี

ความสำเร็จนี้ทำให้โซเวียตใช้เป็นข้อได้เปรียบทางการเมือง คอยทับถมอเมริกาว่าประเทศสังคมนิยมนั้นดีกว่าประธาธิปไตย และสร้างข่าวเพื่อก่อให้เกิดความหวาดกลัวโดยเฉพาะการสอดแนมจากดาวเทียม แน่นอน สหรัฐอเมริกาก็ต้องกลัวเป็นธรรมดาและพยายามทุกทางในการพัฒนาการสำรวจอวกาศและสร้างความเชื่อมั่นต่างๆ จนกระทั่งตัดสินใจตั้งองค์การนาซ่า (NASA) เพื่อพัฒนาการสำรวจอวกาศ

จะว่าไป นาซ่านี่ก็เป็นผลผลิตทางการเมืองล้วนๆ มากกว่าจะเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำนะครับ

นาซ่าเริ่มต้นในยุคของประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ใช้งบประมาณมากมายกว่า 3,700 ล้านเหรียญ คิดเป็นเงินในยุคนี้ก็ราวๆ 1.3 แสนล้านบาท ถือเป็นเรื่องเครียดสำหรับคนทำงานอย่างมากเพราะมีทางเลือกเดียวเท่านั้นคือต้องทำให้สำเร็จ อเมริกาตอนนั้นเต็มไปด้วยความกดดันทั้งจากนอกประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะการเอาภาษีมากมายมาใช้ ยังไม่รวมถึงปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ที่ยังแก้ไม่ได้ หนึ่งในนั้นสะท้อนมาจากคนในนาซ่าเอง นั่นคือการเหยียดผิว เรื่องเหยียดผิวนี่กลายเป็นหอกข้างแคร่ของสหรัฐจนถึงเดี๋ยวนี้ และดูแย่ลงด้วยซ้ำหลังจากมีประธานาธิบดีที่ชื่อโดนัล ทรัมป์

สถานการณ์ของคนดำในสหรัฐอเมริกาดูไม่แตกต่างจากสหภาพโซเวียตฯ ในอดีตนะครับ คือแม้จะสร้างอะไรดีๆ ไว้หลายอย่างแต่มักไม่ถูกพูดถึง ใน Hidden Figure ก็ชี้เห็นในข้อนี้ (แม้จะไม่พูดตรงๆ) ว่ากว่าที่คณิตกรผิวสีอย่างแคทเทอรีน จอห์นสัน (Katherine G.Johnson) (ในเรื่องนำแสดงโดย ทาราจี เฮนเซ่น Taraji P.Hensen) จะได้รับการยกย่องว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยให้สหรัฐประสบความสำเร็จในโครงการสำรวจอวกาศของสหรัฐ ก็ล่วงเลยมาจนเธออายุ 97 ปี

เมื่อเทียบกับการยกย่อง ‘คนขาว’ ที่มีส่วนร่วมในโครงการอวกาศก็เรียกว่าเทียบกันไม่ติด ทั้งผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินและชื่อเสียงที่พวกเขาได้รับ

2

50 ปี หลังแข่งขันเรื่องการสำรวจอวกาศ ผมมาเดินอยู่ในนิวยอร์ก เมืองแห่งผู้อพยพ และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการเรียกร้องเสรีภาพของคนผิวดำ ในยุค 1970-1980

บนถนน 7th Avenue ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจแฟชั่นของคนผิวสี มีร้านรวงของดีไซเนอร์และคลับดีๆ สำหรับคนผิวดำเปิดให้บริการ แต่แน่นอน มันไม่ได้โดดเด่นเหมือนถนนเพื่อนบ้านอย่างย่านไทม์สแควร์ หรือ 5th Avenue เท่าไหร่

ผมมีโอกาสแวะมาดูนิทรรศการ Black Fashion Design นิทรรศการที่จัดแสดงอยู่ที่ FIT-Fashion Institute of Technology ที่นิวยอร์ก เปิดแสดงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม เป็นการรำลึกถึง Black History Month ซึ่งก็คือเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930s

นิทรรศการเล่าถึงการต่อสู้และการเติบโตของดีไซเนอร์คนผิวดำในสังคมอเมริกัน เป็นช่วงเดียวกันกับยุคของการแข่งขันด้านอวกาศ มาจนถึงยุคปัจจุบัน เป็นนิทรรศการที่ทำให้ผมเห็นอีกด้านหนึ่งของสังคมอเมริกัน ว่าความรู้สึกแบ่งแยกแบบที่เราเห็นในหนัง ทั้งการแยกห้องน้ำ การทำงานในชั้นต่ำที่สุดในตึกหรือโอกาสในการมีชีวิตที่ดีกว่า ไม่ใช่เรื่องที่ถูกแต่งแต้มให้เกินจริง กว่าจะมีดีไซเนอร์ผิวสีดำที่สามารถเข้าไปขายเสื้อในห้างสรรพสินค้าได้ก็ต้องรอจนถึงช่วงทศวรรษ 1950s

Wesly Tann น่าจะเป็นดีไซเนอร์คนดำคนแรกๆ ที่มีโอกาสนั้น เขาสามารถก้าวข้ามเรื่องสีผิวไปได้ด้วยงานฝีมือที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะการทำชุดผู้หญิง

ขนาด Women’s Wear Daily (ซึ่งรู้กันว่าเจาะตลาดดีไซเนอร์ผิวขาว) ยังยกย่องเขาว่าเป็นหนึ่งนักออกแบบเสื้อผ้าที่ทำงานได้ละเอียด แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อเทียบกับบรรดาดีไซเนอร์ผิวขาวแล้ว สัดส่วนของดีไซเนอร์ที่เป็นคนดำกับคนขาวนั้นแตกต่างกันอย่างมาก ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น

แม้ชื่อเสียงของ Kanye West,Sean John, Pharrell  Williams, Olivier Rousteing (Head Designer ของแบรนด์ Balmain แห่งปารีส) และการเติบโตของอุตสาหกรรมดนตรีที่ผูกขาดโดยคนดำพอจะทำให้ ‘ดูเหมือน’ ว่าโอกาสของคนดำในโลกธุรกิจนั้นดูมีมากขึ้น แต่ก็แค่ ‘ดูเหมือน’ เท่านั้นเอง

“การทำธุรกิจแฟชั่นนั้นก็ว่ายากแล้ว แต่ยิ่งคุณเป็นคนผิวดำยิ่งยากไปอีกเพราะไม่มีธนาคารไหนหรอกที่อยากปล่อยเงินกู้ให้กับดีไซเนอร์ผิวดำ” คือคำพูดของ Austin Zuur ดีไซเนอร์ผิวดำที่เขียนไว้ใต้ชุดที่เขาออกแบบในปี 1976 ดูเป็นประโยคที่สะท้อนสภาพของปัญหาได้ดี และยิ่งน่าคิดว่าเมื่อมองสภาพสังคมในยุค 1980s ซึ่งถือว่าเป็นยุคหลังจาก Civil Rights Movement ในยุค 1970s มาแล้ว ก็ดูเหมือนว่าความพยายามนั้นไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าไหร่และอาจจะเลยมาจนถึงปัจจุบันด้วยก็ได้

การมีประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของสหรัฐอเมริกา มีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจแฟชั่นของดีไซเนอร์ผิวดำอยู่บ้าง เพราะมิเชล โอบาม่า พยายามอุดหนุนดีไซเนอร์รายเล็กๆ เหล่านี้อยู่ตลอด และได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้คนดังผิวดำหลายต่อหลายคนหันมาสนับสนุน บียองเซ่ หรือรีฮานน่า แม้แต่คิม คาร์เดเชี่ยนก็เริ่มหันมาให้ความสนใจกับการสนับสนุนและให้โอกาสดีไซเนอร์ที่ไม่ใช่คนขาวมากขึ้น

เราได้เห็นความพยายามของทั้งฮอลลีวู้ดและธุรกิจแฟชั่นว่า พยายามบอกทุกคนว่าความแตกต่างในเรื่องชาติพันธุ์ไม่ใช่เรื่องใหญ่ และเราในฐานะประชากรของโลกก็ควรปรับตัวให้เข้ากับจังหวะของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี เข้าใจกับความหลากหลายที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ปัญหาเรื่องนี้ คนผิวสีเองก็อาจต้องคิดให้ตกว่า คนผิวสีเองไม่ควรยกเรื่องสีผิวมาเป็นข้ออ้างในการเรียกร้องความเท่าเทียมจนเกินไปหรือมองว่าทุกอย่างคือการเอาเปรียบไปเสียหมด เพราะในโลกนี้ความเท่าเทียมไม่ได้หมายถึงความเท่ากันไปเสียทุกอย่าง หากอยากได้แบบนั้น เราก็อาจต้องกลับไปอยู่ยุคของสภาพโซเวียตฯ ที่รุ่งเรือง ซึ่งนั่นก็ไม่ได้เป็นตัววัดว่าเราจะได้ความเท่าเทียมกันมาจริงๆ

 

3

Hidden Figure เป็นหนังที่น่าจะได้ออสการ์มากกว่านี้ (เข้าชิงสามรางวัล และได้มาหนึ่งจากนักแสดงสมทบหญิงยิดเยี่ยมโดย Octavia Spencer จากบทของ Dorothy Vaughan) และถูกพูดถึงมากกว่านี้

แต่ด้วยประเด็นทางการเมืองที่อยู่ในหนัง ซึ่งดันไปเกี่ยวข้องกับ ‘ความภาคภูมิใจ’ ของอเมริกาและศักดิ์ศรีของการเป็นคนขาวอย่างการสำรวจอวกาศ จึงไม่แปลกใจนักที่หนังเรื่องนี้ (และรวมถึงความสามารถของคนผิวดำ) จะถูกพูดถึงอย่างเงียบๆ ทั้งที่มันเป็นหนังครบรส ทั้งประชดประชันเสียดสีอย่างมีชั้นเชิงและวางหมากมาไว้อย่างดีเพื่อเป็นหนังเต็ง แต่ฮอลลีวู้ดก็คือฮอลลีวู้ด อเมริกาก็คืออเมริกา ยังมีเรื่องที่เราไม่รู้ตื้นลึกหนาบางอีกมาก (รวมถึงการไปสำรวจดวงจันทร์นั่นก็ด้วย) และอเมริกาก็สามารถหาประโยชน์จากความกำกวมนี้ได้อีกมาก

ทุกวันนี้เรื่องอากาศยานไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง เรียกได้ว่ามันไปไกลกว่าแค่เป็นเรื่องการแข่งขันกันของมหาอำนาจ

 

แต่ในทางกลับกัน เรื่องสีผิวดูเหมือนอเมริกากลับยังไปไม่ไกลจากที่ผมได้ดูในหนังหรือเดินดูนิทรรศการเท่าไหร่เลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save