fbpx
การฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ภายใต้ระบอบโจราธิปไตย: อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติรูปแบบใหม่แห่งศตวรรษที่ 21

การฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ภายใต้ระบอบโจราธิปไตย: อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติรูปแบบใหม่แห่งศตวรรษที่ 21

เมื่อพูดถึงการกระทำความผิดฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติแล้ว หลายท่านคงระลึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีตที่มีการใช้ความรุนแรงทางทหารต่อประชาชนพลเรือนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพนาซีเยอรมันกวาดล้างชาวยิว เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงล่มสลายของประเทศยูโสลาเวียที่มีการกวาดล้างชาวบอสเนีย หรือเหตุการณ์ล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนต่อความมั่นคงของประชาคมโลกอย่างมีนัยสำคัญ จนเป็นเหตุให้ต้องมีการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) และธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) ไว้สำหรับจัดการกับอาชญากรรมระหว่างประเทศร้ายแรงนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ประชาคมระหว่างประเทศจะพัฒนาจนกระทั่งมีกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศดังกล่าวแล้ว แต่พัฒนาการของอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติก็ยังไม่ยุติและหายไปจากโลกของเราอย่างสิ้นเชิง หากแต่ยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่ลักษณะการกระทำรูปแบบใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าในอดีต ที่แม้จะไม่ได้ใช้ความรุนแรงทางการทหารเข้าโจมตีโดยตรงต่อประชนอย่างอุกอาจดังเช่นในอดีตแล้วก็ตาม แต่ก็ยังส่งผลให้เกิดการทำลายล้างโครงสร้างระบอบการเมืองการปกครอง ระบบกฎหมาย และเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างกว้างขวาง หรือเป็นระบบที่มีความรุนแรงทัดเทียมกับอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติรูปแบบดั้งเดิมที่เคยเกิดขึ้นอีกด้วย กล่าวคือ เป็นการอุบัติขึ้นของอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ภายใต้ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในสภาวะ ‘โจราธิปไตย’ อันเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับรัฐที่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ของชนชั้นปกครองและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่ไม่อาจตรวจสอบหรือดำเนินคดีได้ และอาจนำไปสู่การล่มสลายของประเทศชาติในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ ผู้เขียนจะอธิบายความหมายของปรากฏการณ์โจราธิปไตย อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ การฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ที่นำไปสู่ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศเหนือการกระทำความผิดดังกล่าว

 
ความหมายของปรากฏการณ์ ‘โจราธิปไตย’

ประเด็นปัญหาการเมืองการปกครอง กฎหมาย และเศรษฐกิจนับเป็นความท้าทายของรัฐสมัยใหม่ที่ต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเพื่อจัดการหรือปรับปรุงแก้ไข โดยรัฐมีหน้าที่ต้องจัดการการดำรงอยู่ร่วมกันของคนในสังคมให้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น ซึ่งถ้าปัญหาต่างๆ ทั้งหลายไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันหรือมีเนื้อหาสาระที่แยกจากกันแล้ว แม้จะมีความยากลำบากอยู่บ้างตามระดับความร้ายแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น แต่การจัดการแก้ไขก็คงทำได้ในท้ายที่สุดผ่านมาตรการทางกฎหมายและการดำเนินงานของผู้แทนรัฐที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

แต่จะเป็นอย่างไรหากปัญหาการเมืองการปกครอง กฎหมาย และเศรษฐกิจที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นพร้อมกันในนามของอาชญากรรม โดยมีผู้แทนของรัฐซึ่งควรจะต้องเป็นผู้จัดการแก้ไขปัญหากลับกลายเป็นอาชญากรเสียเอง จากการกระทำที่เป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยปราศจากการดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทั้งนี้ เมื่อรัฐตกอยู่ในสภาวะทางการเมืองที่ถูกควบคุมและขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งหรือกลุ่มบุคคลขนาดเล็กกลุ่มหนึ่ง โดยผู้ที่ใช้อำนาจทางการเมืองถ่ายโอนทรัพยากรจำนวนมหาศาลของสังคมไปเป็นของตนเองหรือกลุ่มของตนเองแล้ว กรณีดังกล่าวอาจเรียกได้ว่ารัฐนั้นตกอยู่ในภาวะ ‘ระบอบการปกครองโดยโจร (kleptocratic regimes)’[1] หรือเรียกว่าการปกครองแบบ ‘โจราธิปไตย (kleptocracy)’ นั่นเอง ซึ่งวิกฤตทางการเมืองนี้เป็นผลพวงของอาชญากรรม ‘การฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ (grand corruption)’ ที่เป็นการดำเนินการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง (high-ranking state officials)[2] พร้อมกับการจัดให้มีระบบการยกเว้นความรับผิดชอบของผู้กระทำ (impunity) ไว้อย่างสมบูรณ์[3] ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้ว่าผู้กระทำมีอำนาจรัฐไว้เป็นเครื่องมือเสมือนแชลงเหล็กที่งัดทำลายสิ่งกีดขวางต่างๆ เพื่อเข้าไปกอบโกยทรัพย์สินทั้งหลายในบ้านให้เป็นประโยชน์ส่วนตน และที่เลวร้ายที่สุดก็คือการใช้แชลงเหล็กนี้ทำลายกระบวนการยุติธรรมที่เสมือนเป็นการฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษาความปลอดภัยของสังคมไปเลยเสียทีเดียว บ้านที่เปรียบเสมือนรัฐจึงตกอยู่ใต้การปกครองของโจรโดยสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าวจึงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือโปร่งใสของการดำเนินงานขององค์กรรัฐ ดังเช่นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการปกติธรรมดาเพียงเท่านั้น หากแต่ยังสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานของการเมืองการปกครอง กัดกร่อนความบริสุทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม ขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือการทำลายชีวิต ความเป็นอยู่ ตลอดจนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างกว้างขวาง[4] ที่แม้แต่มาตรการทางกฎหมายที่มีความเป็นสากลอย่าง ‘อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต’ (United Nations Convention against Corruption – UNCAC) ก็ไม่อาจจัดการกับอาชญากรรมดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป[5] เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมภายในของรัฐที่เป็นภาคีของอนุสัญญาดังกล่าวพังทลายลงไปเสียสิ้นแล้ว

ต่อมาการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันจึงถูกหยิบยกขึ้นมาในทางวิชาการเพื่อยกระดับให้ควรถูกจัดเป็น ‘อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ’ ซึ่งเป็นฐานความผิดอาญาระหว่างประเทศร้ายแรงที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ[6] เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว


ความหมายของอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (crimes against humanity) เป็น 1 ใน 4 ฐานความผิดอาญาระหว่างประเทศร้ายแรงที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยมีการบัญญัตินิยามไว้ในธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 7 ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดอยู่ด้วยกัน 4 ประการ คือ

1) ผู้กระทำต้องมีการกระทำที่เข้าลักษณะรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือหลายรูปแบบตามที่บัญญัติไว้ใน ข้อ 7 (1)(a)-(k) ดังนี้ คือ (a) การฆาตกรรม

(b) การกำจัดให้สิ้นซาก

(c) การเอาคนลงเป็นทาส

(d) การเนรเทศ หรือบังคับประชากรให้ย้ายถิ่น

(e) การคุมขัง หรือการกระทำให้ปราศจากเสรีภาพทางร่างกายอย่างร้ายแรงในรูปแบบอื่นใด อันเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ

(f) การทรมาน

(g) การข่มขืน การเอาคนลงเป็นทาสทางเพศ การบังคับให้ค้าประเวณี การบังคับให้ตั้งครรภ์ การบังคับให้ทำหมัน หรือการกระทำในรูปแบบอื่นใดที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่มีความร้ายแรงเท่าเทียมกัน

(h) การกดขี่ข่มเหงต่อกลุ่มบุคคล โดยเหตุแห่งความแตกต่างการเมือง เผ่าพันธุ์ สัญชาติ หรือชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา เพศที่กำหนดไว้ในวรรคสาม หรือโดยฐานแห่งความแตกต่างอื่นที่ไม่อาจยอมรับได้ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ

(i) การบังคับบุคคลให้สูญหาย

(j) อาชญากรรมการแบ่งแยกชนชาติ

(k) การกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันโดยเจตนาทำให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมาก หรือได้รับบาดเจ็บสาหัสต่อร่างกายหรือจิตใจ

2) การกระทำดังกล่าวทั้งหลาย ตามธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 7(1)(a)-(k) นี้ จะต้องกระทำภายใต้องค์ประกอบเชิงบริบท (contextual elements) คือการกระทำนั้นต้องเป็นรูปแบบการโจมตีประชาชนพลเรือนอย่างกว้างขวาง หรือเป็นระบบ ซึ่งอธิบายได้ว่า

       2.1) การโจมตีอย่างกว้างขวาง (widespread attack) คือ การโจมตีขนาดใหญ่ และมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก (large scale nature of attack and the number of victims)[7] โดยอาจมีลักษณะสะสมต่อเนื่องทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง (cumulative of act) หรืออาจมีลักษณะครั้งเดียวแต่สร้างความเสียหายที่ใหญ่มากผิดปกติ (extraordinary magnitude)[8]

       2.2) การโจมตีอย่างเป็นระบบ (systematic attack) คือ การโจมตีที่มีการเตรียมการวางแผนบริหารจัดการ มีการใช้วิธีการที่ซับซ้อน หรือเกี่ยวพันอำนาจระดับสูง[9]และสร้างความเสียหายแก่บุคคลอย่างเป็นหมู่คณะโดยไม่ใช่การโจมตีอย่างสุ่มเลือก[10]โดยทั้งนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับจำนวนบุคคลที่ได้รับความเสียหายดังเช่นการโจมตีอย่างกว้าง[11]

3) การกระทำทั้งหลายตามธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 7(1)(a)-(k) อันเป็นการโจมตีโดยตรงอย่างกว้างขวาง หรือเป็นระบบนั้น ต้องได้ดำเนินการ หรือได้รับการส่งเสริมโดยนโยบาย (policy) ของรัฐ (state) หรือองค์กร (organization) คือ จะต้องมีนโยบายอยู่เบื้องหลังการโจมตี มีการเตรียมการและวางแผนของรัฐ หรือองค์กร โดยทั้งนี้ ‘นโยบาย’ ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเป็นทางการ ซับซ้อน หรือเคร่งครัดก็ได้[12]

4) ผู้กระทำต้องกระทำโดยมีเจตนา (intent) คือความตั้งใจให้การกระทำนั้นเกิดขึ้นพร้อมความปรารถนาหรือความตระหนักถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น และนอกจากนี้ผู้กระทำต้องมีความหยั่งรู้ (knowledge) คือการรับรู้ถึงข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่หรือคาดหมายได้ว่าผลความเสียหายจะเกิดขึ้นตามปกติธรรมดาจากการกระทำนั้น[13]

การฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ที่นำไปสู่การเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

แม้ในเบื้องต้นนั้น เมื่อเราพิจารณาจากลักษณะแห่งการกระทำตามธรรมนูญกรุงโรมข้อ 7(1)(a)-(k) แล้วจะไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดให้การฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่เป็นลักษณะการกระทำรูปแบบหนึ่งของอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติไว้โดยตรงอย่างชัดแจ้งก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากลักษณะ การกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอื่นๆ (other inhumane acts)” ที่ปรากฏในธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 7(1)(k) นั้น เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นการบัญญัติอย่างปลายเปิด ที่มีเหตุผลเบื้องหลังเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างของกฎหมาย (lacuna in law)[14] ในกรณีของการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนและไร้มนุษยธรรมซึ่งมีรูปแบบที่ไม่อาจที่จะคาดหมายในอนาคต และความพ้นวิสัยที่จะบัญญัติรูปแบบการกระทำดังกล่าวนั้นที่เกิดขึ้นทั้งหมดลงไปได้อย่างชัดแจ้ง[15]

ด้วยเหตุนี้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าพนักงานระดับสูงของรัฐมีการกระทำการทุจริตบิดเบือนงบประมาณ สูบงบประมาณรัฐบาลไปใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบ หรือใช้อำนาจทางการเมืองในทางที่มิชอบด้วยกฎหมายอื่นๆ อย่างเป็นระบบภายใต้นโยบายของรัฐ จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างร้ายแรงเป็นวงกว้างในลักษณะที่ทำให้ต้องตกทุกข์ได้ยากอย่างแสนสาหัส อยู่ในภาวะอดอยากจนกระทั่งเกิดความเจ็บป่วยล้มตาย หรือการล่มสลายของระบบรัฐสวัสดิการที่ไม่อาจดำเนินรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนได้อย่างทั่วถึง กรณีดังกล่าวจึงมีความเป็นไปได้ที่การฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ภายใต้การปกครองรูปแบบโจราธิปไตยจะเป็นการกระทำที่เข้าลักษณะของอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติได้ตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญกรุงโรมข้อ 7(1)(k)[16] เพราะเป็นความกระทำที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนเสมือนเป็นการกำจัดให้สิ้นซาก (extermination) ตาม ข้อ 7(1)(b) คือ เป็นการนำความตายมาสู่ผู้อื่นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม[17] ด้วยวิธีการอันเป็นการทำลายล้างอย่างกว้างขวาง (mass destruction)[18] จากการทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงรัฐสวัสดิการหรือสาธารณูปโภคได้ตามปกติธรรมดา

นอกจากนี้หากปรากฏว่าประชาชนต้องอพยพย้ายถิ่นออกจากประเทศเพื่อความอยู่รอดแล้ว กรณีดังกล่าวก็เสมือนการเนรเทศ หรือบังคับประชากรให้ย้ายถิ่น (Deportation or Forcible Transfer of Population) ที่เป็นการให้ประชาชนพลเมืองทั้งหมดหรือบางส่วนย้ายจากภูมิลำเนาของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมายและปราศจากความสมัครใจ[19] ซึ่งการบังคับนี้ไม่จำกัดเพียงแค่การใช้กำลังทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมไปถึงการทำให้เกิดความกลัวภยันตราย ความกดดันทางด้านจิตใจอื่นๆ หรือการบีบบังคับโดยอาศัยความกดดันจากสภาพแวดล้อม[20]

และเมื่อการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้นผู้กระทำตั้งใจกระทำการทุจริตด้วยลักษณะใดๆ โดยตระหนักหรือคาดหมายได้ว่าผลความเสียหายร้ายแรงนั้นจะเกิดขึ้นตามปกติธรรมดาจากการกระทำของตนแล้วผู้กระทำก็ย่อมกระทำไปโดยมีเจตนา[21] และเมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 4 ประการแล้วกรณีดังกล่าวก็ย่อมเป็นความผิดฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติที่จะต้องอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ

อนึ่ง แม้บทบัญญัติธรรมนูญกรุงโรมข้อ 7(1)(k) ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลัก ‘ความชอบด้วยกฎหมายอาญา’ (principle of legality) เนื่องจากขาดความชัดเจนแน่นอนว่าอะไรคือมาตรฐานของการกระทำอันไร้มนุษยธรรมอื่นๆ[22] แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศถาวร ผู้ร่างธรรมนูญกรุงโรมก็ตระหนักถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการเพิ่มเงื่อนไขของลักษณะแห่งการกระทำดังกล่าวเพิ่มขึ้น[23] คือ การกระทำนั้นต้องมีรูปแบบและความรุนแรงที่เทียบเคียงได้กับลักษณะแห่งการกระทำตามข้อ 7 (1)(a)–(j) ด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงรูปแบบการกระทำที่มีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องพร้อมกับความเสียหายต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงแล้ว ผู้เขียนเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้การตีความธรรมนูญกรุงโรมข้อ 7(1)(k) ให้ครอบคลุมไปถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ตามที่ได้นำเสนอไว้ข้างต้น


เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศเหนือการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ภายใต้การปกครองรูปแบบโจราธิปไตย

เมื่อการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ภายใต้การปกครองรูปแบบโจราธิปไตยนั้นทำลายกระบวนการยุติธรรมภายในของรัฐแล้ว กรณีดังกล่าวจึงต้องมีการอาศัยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศเข้ามาแก้ปัญหานี้ จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศจะมีอำนาจในการดำเนินคดีกับกรณีดังกล่าวหรือไม่เพียงใด โดยเฉพาะกรณีของรัฐที่ไม่ได้มีการให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม

ทั้งนี้ อธิบายได้ว่า แม้โดยหลักแล้วศาลอาญาระหว่างประเทศจะมีเขตอำนาจเหนือการกระทำความผิดฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติเฉพาะที่ได้กระทำขึ้นภายในดินแดนของรัฐภาคี บนเรือ หรืออากาศยานที่จดทะเบียนในรัฐภาคีก็ตาม[24] แต่อย่างไรก็ดี ศาลอาญาระหว่างประเทศก็อาจมีเขตอำนาจเหนือรัฐที่ไม่เป็นภาคีได้ใน 2 กรณี กล่าวคือ

1) กรณีรัฐที่ไม่เป็นภาคีนั้นทำการยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะคดี โดยประกาศต่อนายทะเบียนว่ายอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศกับความผิดอาญาที่เกิดขึ้น และทั้งนี้รัฐที่ยอมรับอำนาจเฉพาะคดีนั้นต้องให้ความร่วมมือกับศาลโดยไม่ชักช้า[25] โดยทั้งนี้เขตอำนาจรูปแบบดังกล่าวนี้ได้เคยนำมาใช้แล้วในทางปฏิบัติ ในเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศไอวอรี่โคสต์ (Ivory Coast) โดยการส่งเรื่องของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[26]

2) ในกรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council; UNSC) เห็นว่าสถานการณ์ใดที่เกิดขึ้นบนโลก ที่เข้าข่ายการกระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ 4 ฐานร้ายแรง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสามารถใช้อำนาจในการรักษาสันติภาพของโลกตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ Chapter VII[27] ส่งเรื่องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาคดีได้[28] แม้ว่าความผิดที่เกิดขึ้นจะไม่ได้กระทำภายในรัฐภาคีและไม่ได้กระทำโดยบุคคลสัญชาติของรัฐภาคีก็ตาม[29]

ด้วยหลักการดังกล่าว ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงสามารถมีเขตอำนาจเหนือการกระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศสี่ฐานร้ายแรงทั่วโลกหรือที่เรียกว่า ‘เขตอำนาจสากล’ (universal jurisdiction) โดยทั้งนี้เขตอำนาจอำนาจพิเศษโดยการส่งเรื่องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั้นไม่เพียงแต่มีแค่ในทางทฤษฎีเท่านั้นเช่นกัน หากแต่ได้เคยมีการบังคับใช้เขตอำนาจดังกล่าวแล้วในทางปฏิบัติ ในเหตุการณ์ความรุนแรงในเขตดาร์ฟูร์ (Darfur) ประเทศซูดาน (Sudan)[30]

ด้วยเหตุนี้ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติแห่งศตวรรษที่ 21 นี้อาจไม่ได้ปรากฏตัวในรูปแบบการใช้ความรุนแรงที่หักหาญต่อความเป็นมนุษย์ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดในอดีตแล้ว แต่ปรากฏตัวในลักษณะของการทำลายล้างสิทธิมนุษยชนโดยอ้อมผ่านการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ และเพื่อรักษาความมั่นคงของมวลมนุษยชาติให้คงอยู่แล้ว กระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศจึงต้องพัฒนาให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นอยู่เสมอเพื่อไม่ให้อาชญากรมีที่ยืนในโลกของเรา



อ้างอิง

[1] Daron Acemoglu, Thierry Verdier and James A. Robinson, ‘Kleptocracy and Divide-and-Rule: A Model of Personal Rule’ (2004), 2 Journal of the European Economic Association 162, 162.

[2] Naomi Roht-Arriaza and Santiago Martínez, ‘Grand Corruption and the International Criminal Court in the ‘Venezuela Situation’’ (2019), 17 Journal of International Criminal Justice 1057, 1059.

[3] Ibid 1060.

[4] ‘Grand Corruption’ accessed 10 March 2021.

[5] Ben Bloom, ‘Criminalizing Kleptocracy? The ICC as a Viable Tool in the Fight Against Grand Corruption.’ (2014), 29 American University International Law Review 627, 631.

[6] Rome Statute Article 5

[7] Robert Cryer et al., An Introduction to international criminal law and procedure (Cambridge University Press, 2007), 194.

[8] Ibid 195.

[9] Claire de Than and Edwin Shorts, International criminal law and human rights (Sweet & Maxwell, 2003) 92.

[10] Athanasios Chouliaras, ‘Discourses On International Criminality’ in Collective violence and international criminal justice : an interdisciplinary approach, ed. Alette Smeulers ( Intersentia, 2010) 81.

[11] ปกป้อง ศรีสนิท, คำอธิบายกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ (โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2556) 70.

[12] Marjolein Cupido, ‘The Policy Underlying Crimes Against Humanity: Practical Reflections on a Theoretical Debate’ (2011) 22 Criminal Law Forum 275, 290.

[13] Rome Statute Article 30

[14] Kriangsak Kittichaisaree, International criminal law (Oxford University Press, 2001) 126.

[15] Prosecutor v Blaškić paragraph 237 cited in Robert Cryer et al (เชิงอรรถ 7) 219.

[16] Ben Bloom (เชิงอรรถที่ 5) 651.

[17] Gerhard Werle, Principles of International Criminal Law (TMC Asser Press, 2005) 235.

[18] Simon Chesterman, ‘An Altogether Different order: Defining The Elements of Crimes Against Humanity’ (2000), 10 Duke Journal of Comparative & International Law 307, 334.

[19] Claire de Than and Edwin Shorts, (เชิงอรรถที่ 9) 100.

[20] Ibid.

[21] Ilias Bantekas, ‘Corruption as an International Crime and Crime against Humanity: An Outline of Supplementary Criminal Justice Policies’ (2006), 4 Journal of International Criminal Justice 466, 474-475.

[22] Prosecutor v Kupreskic and Others paragraph 565 cited in Kriangsak Kittichaisaree (เชิงอรรถที่ 14) 127.

[23] Robert Cryer et al (เชิงอรรถ 7) 219.

[24] Rome Statute Article 12 (2) (a)

[25] Rome Statute Article 12 (3)

[26] Republic of Côte d’Ivoire, “Declaration Accepting the Jurisdiction of the International Criminal Court,” accessed 10 March 2021.

[27] United Nation Charter CHAPTER VII: ACTION WITH RESPECT TO THREATS TO THE PEACE, BREACHES OF THE PEACE, AND ACTS OF AGGRESSION

[28] Rome Statute Article 13 (b)

[29] ปกป้อง ศรีสนิท (เชิงอรรถ 11) 223.

[30] Security Council, ‘SECURITY COUNCIL REFERS SITUATION IN DARFUR, SUDAN, TO PROSECUTOR OF INTERNATIONAL CRIMINAL COURT’ accessed 10 March 2021.

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save