fbpx
ปรีดี พนมยงค์ กับภาพยนตร์แสนเฉิ่มเชยของเขา

ปรีดี พนมยงค์ กับภาพยนตร์แสนเฉิ่มเชยของเขา

เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ เรื่อง

1.

อะไรมันจะเชยได้ขนาดนี้ผมเผลอคิดระหว่างนั่งดู พระเจ้าช้างเผือก ไปได้เกือบครึ่งเรื่อง

ความรู้สึกสุดจะเชยของผมที่มีต่อภาพยนตร์ซึ่ง ปรีดี พนมยงค์ นั่งแท่นผู้ประพันธ์ทั้งบทภาพยนตร์และนวนิยายชื่อเดียวกัน ควบกับโปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบที่มารวมกัน

ทั้งส่วนผสมของความเป็นหนังขาวดำ (ครับ – คนเจ็นวายอย่างผมมาเห็นหนังฟิล์มสองสีแบบนี้ก็ไม่ค่อยชินเท่าไหร่) วิธีตัดต่อแบบแปลกๆ การแสดงที่แข็งทื่อชวนตลกราวกับอ่านบท เอฟเฟคต์ฉากสงครามที่เวรี่ปลอม และพล็อตเรื่องสุดเรียบง่ายแบบที่มุมไม่ต้องโดนหักซ้ำหักซ้อนเหมือนที่หนังสมัยนี้ชอบทำ

ซึ่งพล็อตที่ว่าง่ายนั้นเชื่อไหมครับว่าสามารถสรุปได้ในไม่กี่บรรทัด!

 

เรื่องราวของกษัตริย์จักราแห่งอโยธยาผู้ยึดถือสันติธรรม กับกษัตริย์หงสาที่หาเรื่องทะเลาะจนเดือดร้อนไพร่ฟ้าทั้งแผ่นดินด้วยเหตุผลว่าอยากได้ช้างเผือกที่อโยธยาเพิ่งคล้องมาได้

เมื่อหงสาเข้าตี กษัตริย์จักราจึงยาตราไปต่อสู้ แต่ขอให้ทหารของตัวเองหยุดทำร้ายศัตรู เพราะเขาไม่ได้สู้กับชาวหงสา นี่เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างผู้นำเท่านั้น การทำยุทธหัตถีจบลงที่กษัตริย์หงสาสิ้นพระชนม์และพ่ายแพ้ กษัตริย์จักราจึงประกาศสงบศึก ขอให้เหล่าทหารได้เรียนรู้จากสงครามครั้งนี้ และประกาศเจตนารมณ์แห่งสันติสุขสืบไป

 

แต่เมื่อดูจนจบ พล็อตง่ายๆ จากปลายปากกาของปรีดีนี่แหละครับที่ทำให้ข้อบกพร่องเชิงเทคนิคของหนังไทยพูดอังกฤษเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องยิบย่อย (จนผมอยากเขกหัวตัวเองที่มัวแต่จับผิดตอนต้นเรื่อง) และทำให้ พระเจ้าช้างเผือก ขึ้นแท่นหนังไทยคลาสสิกที่สะท้อนแนวคิด ‘สงครามและสันติภาพ’ จากมุมมองของหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรอย่างปรีดีได้ชัดเจนที่สุด

 

 

 

2.

ปรีดีประพันธ์ The King of the White Elephant ขึ้นในช่วงปี 2483 เป็นผลงานเรื่องเดียวของเขาที่เขียนออกมาในรูปแบบนวนิยาย ท่ามกลางกระแสของลัทธิฟาสซิสม์-นาซีที่เริ่มแพร่กระจายเข้าสู่เอเชียจากชัยชนะของฝ่ายอักษะในสงครามที่ปะทุขึ้นในยุโรป คณะรัฐบาลไทยในช่วงเวลานั้นที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงครามเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เชื่อในแนวความคิดนั้น จนลัทธิชาตินิยม ฝักใฝ่สงครามกลายเป็นที่แพร่หลาย

เพื่อต้านทานกระแสการฝักใฝ่สงคราม ปรีดีเลือกที่จะใช้เครื่องมือทางศิลปวัฒนธรรมอย่างวรรณกรรมและภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการแสดงจุดยืน และประกาศให้ประชาคมโลกรวมถึงเพื่อนบ้านได้รับรู้ว่าในเสี้ยวหนึ่งของดินแดนนี้ ยังมีกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในสันติภาพและความเป็นกลาง (นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงเลือกเขียนงานและเลือกที่จะให้นักแสดงทุกคนพูดเป็นภาษาอังกฤษ)

ในเสี้ยวหนึ่งของบทคำนำ ปรีดีได้เขียนบอกไว้ว่า

“นวนิยายเรื่องนี้จึงเขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่ ‘สันติภาพ’ เพราะว่า ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้นมิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด”

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าในทัศนะของปรีดีจะมองว่าสันติภาพและการไม่มีสงครามเป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์ควรจะเป็น แต่ในอีกแง่หนึ่งที่ผลงานของเขาได้สะท้อนออกมาคือ ในห้วงเวลาที่สงครามเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญหน้า เราก็ยังต้องต่อต้านผู้รุกรานให้ถึงที่สุด ในฐานะของ ‘สงครามเพื่อความเป็นธรรม’

แนวคิดนี้สะท้อนออกมาในคาแรกเตอร์ของกษัตริย์จักราแห่งอโยธยา ถึงแม้จะเป็นกษัตริย์ที่ไม่ได้ฝักใฝ่ในการสงคราม แต่เมื่อเจอกับข้อเสนอขอช้างเผือก (เหตุผลที่ถูกอ้างเพื่อใช้ทำสงครามของกษัตริย์หงสา) ที่ไม่ชอบธรรม กษัตริย์จักราก็ทรงตรัสกับตัวแทนหงสาว่า “สิ่งที่ขอมาเป็นมงคลคู่บ้านคู่เมืองข้า หากใช้กำลังบังคับ ข้าก็จะตอบโต้ด้วยกำลัง” ทว่าเมื่อถึงซีนสนามรบ กษัตริย์จักราได้รับสั่งกับเหล่าทหารหงสาด้วยประโยค “ข้ามารบกับกษัตริย์ของเจ้า ไม่ใช่พวกเจ้า จงให้กษัตริย์ของเจ้าเสด็จออกมาต่อสู้กับข้าตัวต่อตัว”

 

 

ลองมองในบริบทสภาพเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น ฝ่ายอักษะเริ่มรุกรานเข้ามาในประเทศไทย สถานการณ์ในเรื่องกับเรื่องราวในโลกความจริงก็มีส่วนซ้อนทับกันอยู่ไม่น้อย เพราะในขณะที่กษัตริย์จักราประกาศกร้าวว่า ถ้าจะมาขอช้าง ก็จะไม่ให้และจะสู้คืนด้วย ปรีดีเองก็ยืนกรานที่จะสู้กับกองทัพญี่ปุ่นเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยเหมือนกัน

แม้ว่าไม่นาน จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะมีมติให้ไทยวางอาวุธและให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยด้วยเหตุผลว่าราษฎรได้ล้มตายเป็นอันมากจากการปกป้องอธิปไตย แต่นั่นก็ทำให้ปรีดีจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นมาลับๆ เพื่อติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรของประเทศตะวันตก จนท้ายที่สุดเมื่อฝ่ายอักษะพ่ายแพ้ ผลของขบวนการใต้ดินในตอนนั้นก็ทำให้ไทยไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม

ที่ยกประเด็นขึ้นมาว่าทั้งสองโลกมีส่วนซ้อนทับกัน ผมไม่ได้หมายความว่ากำลังจะยกย่องปรีดีให้เป็น ‘พระเอก’ อย่างกษัตริย์จักราในเรื่องหรอกนะครับ เพราะจะว่าไป เขาก็แต่งนวนิยายเรื่องนี้ก่อนหน้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในแง่นี้ โลกของนวนิยายจึงเป็นเหมือน ‘ตัวแทน’ ความเชื่อในการทำสงครามของปรีดีมากกว่า (ซึ่งถ้าเอามาวิพากษ์กันด้วยแนวคิดสันติภาพและสงครามในยุคนี้ ปรีดีเองอาจจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่ใช้ความ ‘รุนแรง’ ได้เหมือนกัน)

 

3.

ไม่ว่าโลกในจินตนาการและวิธีการจัดการกับความเป็นจริงของปรีดีกับห้วงเวลาของสงครามจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เรารับรู้ได้จากบทสรุปของ พระเจ้าช้างเผือก คือ เขาเป็นคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในสันติภาพที่ปลายทางอย่างแท้จริง

หลังพระเจ้าหงสาตกลงจากหลังช้างด้วยฝีมือของพระเจ้าจักรา สิ่งที่พระเอกของเรื่องคนนี้ทำไม่ใช่การนำทัพส่งเสียงไชโยโห่ร้อง สะใจกับชัยชนะที่เพิ่งได้มา แต่เป็นสปีชสอนใจกลางสนามรบให้กับเหล่าทหาร (และคนดูอย่างเรา) ว่า โลกแห่งสันติภาพต่างหากที่เป็นสิ่งนำพาความสุขของมวลมนุษย์มาให้

“จงเล่าขานให้ลูกหลานของเจ้าฟังถึงเรื่องในวันนี้ เรื่องของกษัตริย์ต่อกษัตริย์ทรงกระทำยุทธหัตถีเพื่อยุติกรณีพิพาท เพื่อว่าอนุชนรุ่นหลังจะได้รับรู้และกำชับผู้นำของตนให้ทำเยี่ยงนี้บ้าง หากพวกเขาจำต้องต่อสู้กัน ด้วยวิถีทางนี้เท่านั้น จึงจะทำให้ชนทั้งผองในโลกได้รอดพ้นจากสงครามอันไร้ประโยชน์ และความทุกข์ทรมานที่ไม่จำเป็นเลย

“พวกเจ้าหลายคนจะจดจำแผลจากการยุทธครั้งนี้ไปตลอดชีวิต ขอแต่อย่าให้รอยแผลเหล่านี้กินลึกเข้าถึงหัวใจของพวกเจ้า อย่าได้คิดร้ายต่อกันด้วยเหตุที่เกิดจากวันนี้ พวกเราที่ตายไปแล้วต้องการให้เราเป็นอย่างนี้”

กษัตริย์จักราประกาศก้อง

 

 

4.

ถ้าคุณลองไปเสิร์ชหาหนังเรื่องนี้ดูในยูทูบด้วยอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ไฮสปีด คงรู้สึกเหมือนกันตอนที่ดูไปเกือบครึ่งเรื่อง ว่าองค์ประกอบต่างๆ ของ พระเจ้าช้างเผือก ที่ปรากฏบนจอมันแสนจะดูเฉิ่มเชยอย่างที่ผมบอก

แต่เชื่อเถอะครับว่าเมื่อดูจนจบ พุทธศาสนสุภาษิต (คนยุคนี้คงมองว่าเชยอีกเหมือนกัน) ที่ปรีดียกมาก่อนจบเรื่องในฉบับนวนิยายอย่าง นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ หรือ ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสันติ –

ไม่เคยเชยเฉิ่มเลยสำหรับโลกที่แสนวุ่นวายใบนี้

 

ภาพประกอบจากหนังสือ พระเจ้าช้างเผือก ฉบับครบรอบ 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส เข้าถึงได้ทาง OPENBASE.in.th

ดู The King of the White Elephant ได้ที่นี่ หรือสั่งซื้อดีวีดีฉบับ Remastered ได้ที่ Thai Film Archive

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save