fbpx

ยะโฮร์ – เมื่อสุลต่านอยากแบ่งแยกดินแดน

พระดำรัสของสุลต่านอิบราฮิม อิสมาอิล อิบนี อัลมาห์รุม สุลต่าน อิสกานดาร์ (Ibrahim Ismail Ibni Almarhum Sultan Iskandar) ประมุขแห่งรัฐยะโฮร์ ที่ทรงประกาศก้องในวาระมีพระดำรัสเปิดสมัยประชุมสภาแห่งรัฐยะโฮร์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ยะโฮร์อาจแยกตัวออกจากมาเลเซียหากยังได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากรัฐบาลกลาง (federal government) อยู่ ตกเป็นข่าวทั้งในและต่างประเทศ ก่อนจะจางหายไปท่ามกลางกระแสข่าวการเมืองอื่นๆ อย่างรวดเร็ว 

แม้เรื่องการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ (secession) จะเคยเกิดขึ้นแล้วในมาเลเซีย แต่ยังเป็นที่กังขาอยู่ว่าสุลต่านอิบราฮิม ‘ทรงซีเรียส’ มากเพียงใดต่อพระดำรัสของพระองค์เอง

สุลต่านแห่งยะโฮร์เป็นหนึ่งในสุลต่าน 9 พระองค์จาก 9 รัฐ พระองค์ทรงตกเป็นข่าวบ่อยครั้ง เนื่องจากจริยวัตรที่เป็นตัวของพระองค์เอง ขณะที่ตุนกู อิสมาอิล ไอดริส (Ismail Idris) มกุฎราชกุมาร ก็ทรงเจริญรอยตามพระบิดาอย่างใกล้ชิด โดยจริยวัตรประการหนึ่งของพระองค์คือพระดำรัสที่ตรงไปตรงมายามวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกลาง เพราะแม้ระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐของมาเลเซียจะเอื้อให้รัฐบาลระดับรัฐทั้ง 13  รัฐมีอำนาจตัดสินใจในกิจการของตนได้อย่างเป็นอิสระ แต่อำนาจตัดสินใจบางประการก็ยังอยู่ในมือของรัฐบาลกลางในปุตราจายา จึงสร้างความขุ่นเคืองพระทัยให้องค์สุลต่านเป็นครั้งคราว

ความไม่พอพระทัยครั้งนี้มาจากการจัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาของรัฐบาลกลางต่อรัฐยะโฮร์ โดยสุลต่านอิบราฮิมตรัสต่อสภาฯ แห่งรัฐว่า ในขณะที่ยะโฮร์ส่งเงินจากรายได้ของรัฐให้รัฐบาลกลางปีละเกือบ 1.3 หมื่นล้านริงกิตมาเลเซีย แต่งบฯ พัฒนาที่รัฐได้รับกลับมาในปีนี้มีเพียง 4.6 พันล้านริงกิตเท่านั้น   

“ข้าพเจ้ารู้สึกประหนึ่งว่ายะโฮร์ได้รับการปฏิบัติต่อประหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรม แม้ว่าเราจะเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักให้กับเศรษฐกิจของชาติ”..   (ถ้าวิถีนี้ยังดำเนินต่อไป)  “ชาวยะโฮร์อาจต้องการให้แยกตัวออกจากมาเลเซีย เพราะยะโฮร์อาจพัฒนาได้มากกว่านี้ถ้าเรายืนหยัดอยู่ด้วยตัวเอง” 

สุลต่านยังทรงแจกแจงตัวอย่างความล้มเหลวของรัฐบาลกลางในโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐยะโฮร์ และทรงย้ำว่ายะโฮร์มีสิทธิแยกตัวออกจากมาเลเซีย หากรัฐบาลกลางฝ่าฝืนข้อตกลงที่ลงนามใน พ.ศ. 2491 และ พ.ศ. 2500 พระดำรัสของพระองค์เป็นภาษามลายูได้รับการเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนพระองค์ที่ใช้ชื่อ ‘Sultan Ibrahim Sultan Iskandar’

ยะโฮร์ในยุคโบราณเป็นรัฐอิสระที่ปกครองโดยระบบสุลต่าน โดยมีประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับไปได้ถึงศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นยุคที่ยะโฮร์ยังมีความเป็นอิสระ จนกระทั่งอิทธิพลของอังกฤษเริ่มแผ่เข้ามาในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ก่อนจะเข้าร่วมกับรัฐภายใต้อาณานิคมอังกฤษอีก 10 รัฐ ในการลงนามก่อตั้งสหพันธ์มลายา (The Federation of Malaya) ภายใต้อังกฤษในปี  2491 โดยข้อตกลงในการตั้งสหพันธ์มลายาข้อหนึ่งคือการยอมรับราชวงศ์มลายูใน 9 รัฐในสถานะประมุขของรัฐอีกครั้งหนึ่ง 

สหพันธ์มลายาเป็นเอกราชจากอังกฤษใน พ.ศ. 2500  และเปลี่ยนชื่อเป็นมาเลเซียใน พ.ศ. 2506 โดยมีรัฐใหม่อีก 3 รัฐคือสิงคโปร์ ซาราวัก และซาบาห์ (บอร์เนียวเหนือ) เข้าร่วมด้วย กลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ หรือ ‘ประเทศ’ หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยสมบูรณ์ ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียยังไม่เสร็จสิ้นภารกิจผนวกรวมดินแดนใกล้เคียงบางแห่งเป็นส่วนหนึ่งของตน แต่แล้วมาเลเซียก็กลับพบปัญหา secession เป็นครั้งแรก เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองผลักให้ ลี กวนยู จำต้องนำสิงคโปร์แยกตัวเป็นอิสระในปี 2506

รัฐยะโฮร์ในปัจจุบันที่มีประชากรราว 3.7 ล้านคน เป็นรัฐที่ร่ำรวยรัฐหนึ่งของมาเลเซีย ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศ โดยมียะโฮร์ บาห์รู (Johor Bahru) ซึ่งเป็นเมืองหลวง เป็นปราการด่านหน้าของชายแดนมาเลเซีย-สิงคโปร์ 

ในอดีตยะโฮร์เป็นเพียงรัฐเกษตรกรรม จนกระทั่งเมื่อมีการสร้างท่าเรือตันจุง เปเลปาส (Tanjung Pelepas) บริเวณปากแม่น้ำ ปุไลย (Pulai river) ใน พ.ศ. 2542 ยะโฮร์ บาห์รูก็เติบโตมีชีวิตชีวาในฐานะเมืองท่าสำคัญของประเทศ และความมีชีวิตชีวาก็เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อโครงการเศรษฐกิจพิเศษอิสกานดาร์ มาเลเซีย (Iskandar Malaysia) เปิดตัวใน พ.ศ. 2549  ยะโฮร์เปิดรับการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ ยกระดับขึ้นเป็นรัฐที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจระดับต้นๆ ของประเทศ และยังมีความสำคัญมากสำหรับสิงคโปร์เพราะเป็นที่ตั้งของแหล่งน้ำดิบที่สิงคโปร์ทำสัญญาระยะยาวซื้อจากมาเลเซีย

รัฐยะโฮร์ไม่เหมือนรัฐที่มีสุลต่านอื่นๆ อีก 8 รัฐอยู่ประการหนึ่ง ในปี 2558 เมื่อสุลต่านอิบราฮิมทรงขัดเคืองพระทัยต่อนโยบายรัฐบาลกลางที่กระทบธุรกิจของพระองค์ ตุนกู อิสมาอิล สุลต่าน อิบราฮิม (Tunku Ismail Sultan Ibrahim) มกุฎราชกุมาร ก็ทรงเอ่ยถึงสิทธิของยะโฮร์ที่จะแยกตัวเป็นอิสระจากมาเลเซียเป็นครั้งแรก โดยทรงกล่าวว่ายะโฮร์เข้าร่วมสหพันธ์มลายาบนฐานของข้อตกลงพื้นฐานหลายอย่าง  และถ้าหนึ่งในข้อตกลงนั้นถูกล่วงละเมิด ยะโฮร์ย่อมมีสิทธิทุกประการในการแยกตัวจากประเทศนี้

ข้อตกลงที่ว่านี้คือการให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของรัฐ, ให้รัฐบาลแห่งรัฐยะโฮร์มีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับที่ดินและน้ำของรัฐ, สุลต่านทรงเป็นผู้ถืออำนาจทั้งปวงของรัฐ (The Sultan holds all powers of state) และสุดท้าย กองทัพแห่งรัฐยะโฮร์ (The Royal Johor Military Forces) ต้องดำรงอยู่โดยไม่อาจล้มเลิกได้ ซึ่งข้อตกลงหลังสุดนี้เองทำให้ยะโฮร์เป็นเพียงรัฐเดียวในมาเลเซียที่มีกองทัพประจำรัฐ

ในมาเลเซีย นอกจากสุลต่านทั้ง 9 พระองค์จะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะประมุขของรัฐและองค์อุปถัมภกของศาสนาอิสลามตามประเพณีของรัฐมลายู ที่ทรงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ของประเทศทุก 5 ปีแล้ว แต่ละพระองค์ยังทรงมีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจในรัฐของพระเองอีกด้วย   

สุลต่านอิบราฮิมทรงเป็นนักธุรกิจผู้มีเครือข่ายการลงทุนที่กว้างขวาง แม้จะไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนเรื่องมูลค่าความมั่งคั่งของพระองค์ แต่ความร่ำรวยของมกุฎราชกุมารที่ตกเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ในฐานะหนึ่งบุคคลที่ร่ำรวยที่สุด 50 คนแรกของมาเลเซียเมื่อตอนที่มีพระชนมายุเพียง 30 พรรษา อาจสะท้อนให้เห็นความร่ำรวยของราชวงศ์ยะโฮร์ได้บ้าง 

รัฐยะโฮร์มีจุดที่ตั้งที่เป็นเงินเป็นทองเพราะเป็นประตูเปิดผ่านเข้าสู่เพื่อนบ้านที่มั่งคั่งอย่างสิงคโปร์ โครงการอิสกานดาร์ มาเลเซียที่มีเป้าหมายหลักประการหนึ่งคือการรองรับผลพวงทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาของประเทศสิงคโปร์เพื่อนบ้าน ทำให้ยะโฮร์สร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขนส่งข้ามพรมแดนที่มีประสิทธิภาพ นำพายะโฮร์ออกจากระบบเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมและบริการ ตามมาด้วยความเฟื่องฟูของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยเม็ดเงินลงทุนจากประเทศจีน จึงไม่น่าแปลกใจว่าหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นสุลต่านและสมาชิกของราชวงศ์ยะโฮร์นั่นเอง

หนึ่งในโครงการระดับเมกะโปรเจกต์ในในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอิสกานดาร์ มาเลเซีย คือโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรู ฟอเรสต์ ซิตี (Forest City) ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างนักลุงทุนจีนกับรัฐบาลยะโฮร์ ผ่านบริษัทร่วมทุนชื่อ Country Garden Pacific View Sdn Bhd (CGPV) ที่หน่วยงานด้านการลงทุนของรัฐยะโฮร์ หรือ Kumpulan Prasarana Rakyat Johor (KPRJ) ถือหุ้นร่วมกับกลุ่ม Country Garden Group ซึ่งเป็นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน ฟอเรสต์ ซิตี้ถือเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แนวคิด ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiatives) อันโด่งดังของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ระบบการเมืองของมาเลเซียซึ่งเป็นระบบพรรคการเมืองที่ต่อเนื่องมายาวนาน อนุญาตให้พรรคการเมืองและรัฐบาลทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งสามารถมีธุรกิจของตนเองได้ ในขณะที่รัฐบาลกลางมีบริษัทน้อยใหญ่ที่มีการลงทุนมหาศาลผ่านบริษัทเอกชนภายใต้กระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่นๆ มานับแต่อดีต รัฐบาลระดับรัฐก็มีหน่วยงานที่ใช้ในการลงทุนทางธุรกิจของตนเช่นเดียวกัน การลงทุนในโครงการฟอเรสต์ ซิตี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการลงทุนของรัฐบาลแห่งรัฐในโครงการระดับใหญ่ โดยครั้งนี้ฝ่ายจีนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร้อยละ 66 ของบริษัทร่วมทุน หน่วยงาน KPRJ ของรัฐบาลยะโฮร์เป็นเจ้าของหุ้นส่วนที่เหลือร้อยละ 34 ซึ่งถือผ่านบริษัทลูกคือ Esplanade Danga 88 Sdn Bhd    

พระนามของสุลต่านอิบราฮิมอาจไม่ปรากฏพบความเกี่ยวข้องกับโครงการฟอเรสต์ ซิตี้ หากว่าหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Malaysiakini.com ของมาเลเซียไม่บังเอิญไปพบว่า แม้บริษัท Esplanade Danga 88 Sdn Bhd จะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทในสังกัดหน่วยงานด้านการลงทุน KPRJ ของรัฐบาลยะโฮร์ก็ตาม แต่แท้ที่จริง KPRJ ถือหุ้นใน Esplanade เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น แต่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร้อยละ 64.4 ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากสุลต่านซึ่งทรงเป็นกรรมการบริษัทด้วย นอกจากนั้นผู้ถือหุ้นร้อยละ 15.6 ที่เหลือคือ นายดาอิง เอ มาเลค (Daing A Malek) ที่ปรึกษาของพระองค์ ซึ่งปรากฏชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการอื่นๆ ที่สุลต่านทรงเกี่ยวข้องอีกหลายโครงการ และย่อมไม่ใช่ความบังเอิญที่นายดาอิงนั่งเป็นกรรมการบริษัท CGPV บริษัทร่วมทุนผู้ดำเนินการโครงการฟอเรสต์ ซิตี   

โครงสร้างการถือหุ้นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้มีส่วนรับผลกำไรในโครงการฟอเรสต์ ซิตีที่แท้จริงคือองค์สุลต่าน หาใช่รัฐบาลแห่งรัฐยะโฮร์ไม่

ในบรรดาโครงการต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกานดาร์ มาเลเซีย โครงการ ฟอเรสท์ ซิตี้ ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเป็นพิเศษ เช่น การลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 10 ปี การจ้างแรงงานต่างชาติได้ไม่จำกัดจำนวน และการเสียภาษีเงินได้ในอัตราที่ต่ำสำหรับผู้พักอาศัยในอนาคต

โครงการฟอเรสต์ ซิตี้ผลิตอสังหาริมทรัพย์ระดับหรูโดยตั้งเป้าขายให้แก่ชาวจีนผู้มั่งคั่งเป็นพิเศษ โดยโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่สร้างบนเกาะเทียม 4 เกาะที่ครอบคลุมพื้นที่ 30 ตารางกิโลเมตร เว็บไซต์ของโครงการเขียนไว้ว่า เมืองใหม่แห่งนี้นี้จะเป็น “สมาร์ตซิตีแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังผสมผสานสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างระบบนิเวศสำหรับพื้นที่อาศัยและทำงานในอุดมคติที่งดงามและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี..”

ในปี 2555 ฟอเรสต์ ซิตี้ เปิดตัวโครงการเฟสแรกประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม ภายใน 3 เดือนมียอดจองคอนโดมิเนียมหรูสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนทั้งหมด 9,500 ยูนิต ดึงดูดให้เศรษฐีและนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์จากจีนจับเครื่องบินไฟลต์พิเศษสู่ยะโฮร์เพื่อมาเลือกจองคอนโดมิเนียมในฝัน ฉุดราคาที่ดินในยะโฮร์ให้พุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แต่ช่วงฮันนีมูนของฟอเรสท์ ซิตีนั้นสั้นเกินคาด ปัญหามาเยือนเมื่อเพื่อนบ้านอย้างสิงคโปร์ประท้วงไปยังรัฐบาลกลางมาเลเซีย แสดงความวิตกว่าการถมดินสร้างเกาะเทียมในทะเลอาจสร้างผลกระทบต่อแนวชายฝั่งสิงคโปร์ แรงกดดันจากสิงคโปร์ทำให้ใน พ.ศ. 2558 รัฐบาลมาเลเซียใช้อำนาจตามกฎหมายของรัฐบาลกลาง สั่งระงับงานถมดินสร้างเกาะเทียมแล้วให้บริษัทยื่นผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อพิจารณา เนื่องจากฟอเรสต์ ซิตีเริ่มสร้างเกาะเทียมในปี 2557 โดยไม่มีผล EIA โดยรัฐบาลยะโฮร์อ้างว่าการถมดินทำในขนาดพื้นที่ 49 เฮกตาร์ (306 ไร่) ซึ่งไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจัดทำ EIA ตามกฎหมายซึ่งกำหนดว่าต้องทำในกรณีที่กินพื้นที่ 50 เฮกตาร์ขึ้นไป

สิงคโปร์ไม่ได้เป็นฝ่ายเดียวที่อาจได้รับผลกระทบ ในยะโฮร์เองยังกังวลว่าการถมดินสร้างเกาะเทียมจะทำให้ทะเลช่วงใกล้ท่าเรือ ตันจุง เปเปาส ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีกิจกรรมขนส่งเป็นอันดับ 2 ของมาเลเซียต้องตื้นเขิน จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการเทียบเรือ ท่าเรือแห่งนี้บริหารจัดการโดยบริษัทของม็อคตาร์ อัล-บูคารี (Mokhtar Al-Bukhary) นักธุรกิจใหญ่คู่แข่งทางธุรกิจของสุลต่านอิบราฮิม ซึ่งใกล้ชิดสนิทสนมกับอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดผู้ไม่เคยลงรอยกับระบบสุลต่านของประเทศ

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ฟอเรสต์ ซิตีจะสร้างเกาะเทียมบนพื้นที่รวมกัน 1,386 เฮคตาร์ (8,662 ไร่) แต่ในความเป็นจริงโครงการดำเนินการไปได้เพียง 396 เฮกตาร์ (2,475 ไร่) ก็ต้องหยุดลง การประท้วงของสิงคโปร์และคำสั่งของรัฐบาลกลางเป็นเพียงปัญหาหนึ่ง แต่ปัญหาใหญ่ที่ตามมาอีกไม่นานคือยอดขายที่ตกลงเพราะการลงทุนจากผู้ซื้อจีนที่ชะลอตัว โดยสุลต่านอิสมาอิลทรงตำหนิรัฐบาลมาเลเซียว่าเป็นผู้ขัดขวางการพัฒนาของรัฐยะโฮร์มากกว่าใครอื่น

ในวาระเปิดสมัยประชุมสภาแห่งรัฐเดือนพฤษภาคม 2558 สุลต่านทรงเรียกร้องให้รัฐบาลแห่งรัฐยะโฮร์เข้ามีอำนาจควบคุมการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมเอง แทนที่จะเป็นรัฐบาลกลาง โดยทรงอ้างว่ารัฐบาลยะโฮร์มีความรู้กับสภาพแวดล้อมของรัฐตนเองมากกว่า พระองค์ทรงกล่าวด้วยว่า ในขณะที่โครงการต่างๆ ในรัฐยะโฮร์ต้องส่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม “แต่โชคร้ายที่มีผู้ขาดความรับผิดชอบบางฝ่ายที่ใช้อำนาจของตนเองที่มีเหนือ EIA เป็นอาวุธในการห้ามการพัฒนาที่ไม่ใช่ผลประโยชน์ของตน ฝ่ายเหล่านี้มีเจตนาชะลอการอนุมัติ (โครงการ) เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของรัฐ และทำให้นักลงทุนหนีหาย”

“ยะโฮร์เป็นสิทธิของคนยะโฮร์ มีแต่คนยะโฮร์เท่านั้นที่รู้สถานการณ์และความต้องการของยะโฮร์.. ทำไมจะต้องมีคนนอกที่พยายามแทรกแซงแล้วมาสอนเราว่าควรทำอะไรในรัฐของเราเอง” พระองค์ตรัส ขณะที่ในเเวลาไล่เลี่ยกัน ตุนกู อิสมาอิล ไอดริส มกุฎราชกุมาร ก็ทรงสนับสนุนพระบิดาด้วยการกล่าวถึงการแยกตัวเป็นอิสระจากมาเลเซียบนโซเชียลมีเดียของพระองค์

ฟอเรสต์ ซิตี  อาจเป็นเมกะโปรเจกต์แรกๆ ของสุลต่านอิบราฮิม แต่เป็นเพียงโครงการเกาะเทียมหนึ่งใน 3 โครงการที่พระองค์ทรงถือหุ้นอยู่ ราชวงศ์ยะโฮร์จัดว่าเป็น ‘ครอบครัวธุรกิจ’ มาหลายชั่วรุ่น มีธุรกิจรับถมดินผ่านบริษัทมาโดส (Mados Sdn Bhd) ซึ่งก่อตั้งโดยสุลต่าน อิสกานดาร์ สุลต่าน อิสมาอิล (Iskandar Sultan Ismail) พระบิดาของสุลต่านองค์ปัจจุบัน  ซึ่งเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ทรงถือหุ้นร้อยละ 99.95 และส่วนที่เหลือเป็นของโอรสธิดา 9 พระองค์ จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทมาโดสเซ็นสัญญารับเหมาถมดินสร้างเกาะเทียมในโครงการฟอเรสต์ ซิตีด้วย การประท้วงของสิงคโปร์และคำสั่งระงับสร้างเกาะเทียมของรัฐบาลกลางจึงสร้างความขุ่นเคืองพระทัยมิใช่น้อย

ในเวลาที่ฟอเรสต์ ซิตีชะงักงัน สุลต่านยังทรงมีโครงการอื่นอยู่ในพระหัตถ์ ทรงถือหุ้นร้อยละ 40 ในโครงการสร้างเกาะเทียม 3 เกาะในโครงการศูนย์กลางทางด้านน้ำมันและก๊าซ มหารานี เอเนอร์จี เกตเวย์ (Maharani Energy Gateway) บริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกของยะโฮร์ใกล้ช่องแคบมะละกา ขนาดพื้นที่ 1,295 เฮกตาร์ (กว่า 8,000 ไร่) รายงาน EIA ของโครงการระบุว่า เกาะเทียมทั้งสามต้องใช้ทรายในปริมาณ 300.4 ล้านลูกบาศเมตร ซึ่งเทียบได้กับปริมาณน้ำในสระว่ายน้ำโอลิมปิกจำนวน 120,192 สระ และมีบริษัทที่มีคุณสมบัติสามารถรับเหมาการสร้างเกาะเทียมนี้ได้จำนวนหนึ่ง รวมทั้งบริษัท สุริยา โพสิทีฟ (Suria Positif Sdn Bhd) ของนายดาอิง เอ มาเลค (Daing A Malek) ที่ปรึกษาของพระองค์ และบริษัท อิปซี โฮลดิงส์  (Ibxi Holdings Sdn Bhd) ที่สุลต่านทรงถือหุ้น 99 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อีก 1 เปอร์เซ็นต์เป็นของตุนกู อิสมาอิล มกุฎราชกุมาร 

หลังการเลือกตั้งรัฐยะโฮร์ในเดือนมีนาคมปีนี้ สุลต่านโปรดเกล้าแต่งตั้งนายออน ฮาฟีซ กาซี (Onn Hafiz Ghazi) จากพรรคอัมโน (UMNO) เป็นมุขมนตรีแทนมุขมนตรีคนเก่าจากพรรคเดียวกัน รัฐบาลรัฐยะโฮร์ภายใต้การนำของมุขมนตรีคนใหม่  อนุมัติโครงการมหารานี และออกใบอนุญาตใช้ที่ดินให้ ก่อนจะเปลี่ยนเนื้อหาในแผนพัฒนาของรัฐที่เรียกว่า Structure Plan 2030 ให้เอื้อต่อการดำเนินการของโครงการด้วย โดยให้เหตุผลว่าโครงการนี้จะนำเอาการพัฒนาเศรษฐกิจมาสู่ยะโฮร์

สุลต่านอิบราฮิมทรงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของวิถีแห่งระบบสุลต่านในมาเลเซียที่อำนาจทางวัฒนธรรมและการเมืองสามารถผสานกลมกลืนไปกับวิถีของธุรกิจสมัยใหม่ ตราบเท่าที่อำนาจนั้นไม่ขัดแย้งกับอำนาจการเมืองระดับชาติรุนแรงเกินไป แต่หากความไม่พอพระทัยของพระองค์นำไปสู่พระประสงค์แยกรัฐยะโฮร์ออกจากมาเลเซีย พระประสงค์นี้จะเป็นจริงได้แค่ไหน

มาเลเซียไม่มีกฎหมายใดที่กล่าวถึงกลไกในการแยกตัวของรัฐใดรัฐหนึ่งออกจากประเทศ กฎหมายฉบับเดียวที่กล่าวถึงเรื่องแบ่งแยกดินแดนคือ Sedition Act หรือกฎหมายต่อต้านการก่อความไม่สงบ ที่ระบุว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่เรียกร้องการแบ่งแยกรัฐใดรัฐหนึ่งจากมาเลเซีย ถือเป็นพฤติกรรมก่อความไม่สงบภายในประเทศ

ยะโฮร์ไม่ได้เป็นรัฐเดียวที่ผู้นำเอ่ยถึงการแยกตัวออกจากมาเลเซีย ผู้นำบางรายของรัฐซาบาห์และซาราวักก็เคยเรียกร้องเรื่องนี้เช่นเดียวกัน แต่รัฐบาลกลางไม่เคยใช้กฎหมายจัดการต่อผู้เรียกร้อง ในขณะเดียวกันผู้นำเหล่านั้นก็ไม่เคยเดินหน้าแยกประเทศอย่างจริงจังแต่อย่างใด ส่วนการแยกตัวของสิงคโปร์ในอดีตก็เป็นที่รู้กันว่าไม่ได้เกิดจากความประสงค์ของนาย ลี กวนยู (Lee Kuan Yew) ผู้นำในตอนนั้น แต่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างเขากับพรรคอัมโนที่ทรงอิทธิพล ก่อนจะลงเอยด้วยการ ‘ถูกขับ’ ออกจากสมาพันธ์

ผู้เชี่ยวชาญบางรายในมาเลเซียบอกว่ายะโฮร์อาจมีทางออกหากมาเลเซียแก้รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ แต่เรื่องนี้ต้องอาศัยเสียงกึ่งหนึ่งในรัฐสภา ซึ่งอำนาจควบคุมอยู่ในมือของพรรคการเมืองมากกว่าองค์สุลต่าน ทางออกอีกทางหนึ่งคือการเปิดให้ลงประชามติ แต่ข้อเสนอทั้งหลายไม่อาจเป็นจริงได้ หากรัฐบาลกลางไม่ให้ความร่วมมือ 

แต่คำถามที่สำคัญที่สุดคือ สุลต่านทรงจริงจังเพียงใดในกล่าวถึงการแยกตัวเป็นอิสระของยะโฮร์?

แม้ ‘ประเทศยะโฮร์’ ของพระองค์จะร่ำรวย แต่จะมีศักยภาพในการเป็นประเทศที่มีอธิปไตยของตนเองเพียงใด ประชาคมอาเซียนปรารถนาจะเห็นประเทศเกิดใหม่อีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคหรือไม่ พลเมืองยะโฮร์ปรารถนาจะถือหนังสือเดินทางประเทศยะโฮร์มากกว่ามาเลเซียแค่ไหน และตัวพระองค์เองมีพระประสงค์จะเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศยะโฮร์ หรือจะเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีของมาเลเซีย เมื่อโอกาสของพระองค์เวียนมาถึง มากกว่ากัน


อ้างอิง

Don’t treat Johor like stepchild, force us to leave

The case of Forest City and the Johor sultan

Johor sultan’s sea reclamation venture expands to Muar

https://www.forestcitycgpv.com/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save