fbpx

วิเคราะห์ความคิดของโจ ไบเดน ต่อนโยบายอัฟกานิสถาน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกำลังถูกศึกหนักโดนถล่มจากฝ่ายการเมืองและสื่อมวลชนในประเทศและนอกประเทศเป็นการใหญ่จากกรณีอัฟกานิสถานว่า เป็นการถอนกองกำลังออกอย่างไร้การวางแผนที่รอบคอบและปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่อเมริกันและชาวอัฟกันที่ทำงานร่วมมือกับทางการสหรัฐฯ ในหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งเมื่อมีการวางระเบิดพลีชีพเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 26 สิงหาคมในสนามบินกรุงคาบูล สังหารทหารอเมริกันไป 13 คนและคนอัฟกันอีก 170 คน ทั้งหมดนี้เหมือนกับระเบิดพลีชีพที่พุ่งเข้าใส่ประธานาธิบดีไบเดนกับรัฐบาลของเขา

ผมสนใจว่า ประธานาธิบดีไบเดนคิดอย่างไรและคิดอะไรถึงตัดสินใจกระทำการอย่างที่เรารับรู้จากข่าวสารทั่วไป ฟังคำวิจารณ์แล้วดูเหมือนแทบไม่คิดถึงความเป็นจริงเลยหรือว่า รัฐบาลนายกานีและฝ่ายความมั่นคงอัฟกันที่สหรัฐฯ ช่วยสร้างให้มานับสิบปีนั้นไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอะไรเลย ทำไมฝ่ายบริหารอเมริกันไม่เคยรู้จุดอ่อนเหล่านี้เลยหรือ

การประกาศถอนกองกำลังสหรัฐฯ ทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ มีผลให้รัฐบาลกานีทรุดลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการรุกคืบของตาลีบันเข้ายึดเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศได้และเข้ายึดครองกรุงคาบูลได้ในที่สุด ขณะที่มีการถอนกำลังและเจ้าหน้าที่อเมริกันรวมทั้งคนอัฟกันที่ทำงานร่วมกับอเมริกาออกจากกรุงคาบูลอย่างฉุกละหุก เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สหรัฐฯ ตกลงกับผู้แทนฝ่ายขบวนการตาลีบัน โดยประธานาธิบดีไบเดนรับลูกต่อโดยไม่ต่อรองปรับเปลี่ยนวันถอน ประกาศว่าวันที่ 31 สิงหาคมจะเป็นวันสุดท้ายของการอยู่ในดินแดนอัฟกานิสถาน

ระเบิดพลีชีพของกลุ่มไอซิสเค (ISIS-Khorasan) ที่กลายพันธุ์มาจากกลุ่มตาลีบันในปากีสถานและมีอุดมการณ์สุดขั้ว จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่พังทลายนโยบายถอนตัวออกของไบเดนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าไบเดนและทีมฝ่ายความมั่นคงและการต่างประเทศมีฐานรองรับการปฏิบัตินโยบายนี้ของพวกเขาอย่างน่าเชื่อถือและมีเหตุผลหนักแน่นพอรองรับหรือไม่

วิกฤตและปัญหาอัฟกานิสถานโดยไม่คาดฝัน ยกระดับขึ้นมากลายเป็นหมากตัวสำคัญที่อาจกระแทกรัฐบาลไบเดนให้เสียศูนย์ไปได้ นับแต่รับตำแหน่งมา ประธานาธิบดีไบเดนค่อนข้างประสบความสำเร็จในการเสนอนโยบายหลักในการนำพาประเทศให้ก้าวออกจากหลุมดำที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขุดไว้หลายหลุม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทุกอย่างดำเนินไปตามแผนและยุทธศาสตร์ของทีมไบเดนค่อนข้างดีกว่าที่คนคาดหวังไว้ ไม่ว่าการจัดการโควิด-19 ที่ได้ผลด้วยการระดมฉีดวัคซีนเป็นการใหญ่ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดมโหฬารที่ใช้จ่ายเงินงบประมาณนับล้านล้านเหรียญที่สร้างความประหลาดใจแก่ผู้สังเกตการณ์ เพราะไบเดนสามารถชักจูงสมาชิกรีพับลิกันซึ่งประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ให้ความร่วมมือในการผ่านกฎหมายสำคัญของไบเดนหรือพรรคเดโมแครตอย่างแน่นอน แต่ในที่สุดไบเดนก็สามารถกล่อมให้สมาชิกวุฒิสภาสิบคนของรีพับลิกันมาร่วมลงคะแนนผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจไปได้ในวาระแรก ในช่วงแรกกล่าวได้ว่าทีมไบเดนเก็บคะแนนการเดินนโยบายภายในประเทศได้เกือบเต็ม

เคียงข้างไปกับนโยบายในประเทศ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับสหรัฐฯ คือนโยบายต่างประเทศ เพราะอเมริกาที่ผ่านมายังคงดำเนินนโยบายและกลยุทธ์ทางสากลมากที่สุดในโลก มีการวางกองกำลังและปฏิบัติการทางความมั่นคงและการทหารในหลายภูมิภาคและประเทศ หนึ่งในนั้นคืออัฟกานิสถานหลังจากคลี่คลายสถานการณ์ในอิรักไปได้ระดับที่สหรัฐฯ จะถอนทหารทั้งหมดออกภายในปีนี้เหมือนกัน

ทำไมอเมริกาล้มเหลวในอัฟกานิสถาน สงครามที่ไบเดนเรียกว่า ‘good war’ จุดเริ่มต้นของปัญหาอัฟกานิสถานก็ยอกย้อนต่างไปจากปัญหาในประเทศอื่นๆ ที่อเมริกาเคยเข้าไปยุ่งเกี่ยว เช่น กรณีสงครามเวียดนาม เริ่มจากเมื่อสหภาพโซเวียตบุกเข้ายึดครองอัฟกานิสถานก่อนในปี 1979 เพื่อช่วยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ปราบฝ่ายค้านอันประกอบด้วยหลายกลุ่มต่อต้าน ในนั้นมีกลุ่มอิสลามต่างๆ ซึ่งหนึ่งนั้นกลายมาเป็นอัลกออิดะห์นำโดยบิน ลาเดน กลุ่มเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนทั้งทางอาวุธและการเงินจากสหรัฐฯ ผ่านหน่วยข่าวกรองซีไอเอ อันนี้เองที่เป็นเงื่อนงำอันประหลาด (paradox) ที่กลุ่มหัวรุนแรงอิสลามนั้นเกิดจากการบ่มเพาะของซีไอเอเอง

หลังจากสหภาพโซเวียตพ่ายแพ้ในสงครามอัฟกานิสถาน ที่คนล้อว่าเหมือน ‘สงครามเวียดนาม’ ของอเมริกา เปิดทางให้กับการขึ้นมามีอำนาจปกครองอัฟกานิสถานของกลุ่มตาลีบัน แต่อนาคตของรัฐบาลตาลีบันถูกตัดสั้นลงเพราะกลุ่มบิน ลาเดนซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศขณะนั้น วางแผนลับสุดยอดจนตาลีบันเองก็คงไม่รู้ คือการโจมตีสายฟ้าแลบบุกถล่มตึกเวิลด์เทรดในกรุงนิวยอร์กด้วยการยึดเครื่องบินโดยสารและบังคับให้บินชนตึก

จากนั้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสหรัฐฯ และโลกก็ก่อตัวขึ้น ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศนโยบายเฉพาะหน้าในการจัดการกลุ่มก่อการร้ายอิสลามเรียกว่า ‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ ที่นำไปสู่ปฏิบัติการในชื่อ ‘เสรีภาพอันคงทน’ (Enduring Freedom) เขากล่าวว่า “สหรัฐอเมริกามีอำนาจอันชอบธรรมในการใช้กำลัง(อาวุธ)ในการปกปักรักษาความมั่นคงของชาติตน” ทั้งนี้โดยอ้างความชอบธรรมจากการผ่านมติของรัฐสภาคองเกรสและผ่านองค์การสหประชาชาติด้วย ลัทธิก่อการร้ายกำลังจะเป็นปีศาจตนใหม่ ที่ทำหน้าที่คล้ายกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในอดีต ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ต้องเป็นหมอผีผู้มีเวทมนตร์และอำนาจลึกลับพอๆ กันหรือเหนือกว่าของปีศาจ จึงจะสามารถเข้ารับหน้าที่ในการเป็นหมอผีได้

บุชช่วยวาดภาพของศัตรูเหล่านั้นให้ชัดเจนขึ้น ด้วยการกล่าวถึงพวกนั้นว่า “เป็นพวกที่มีความทะเยอทะยานที่ไร้ความเมตตา ไม่อยู่ใต้กฎหมายหรือศีลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น พวกผู้ก่อการร้ายเกลียดชังศาสนาของผู้อื่น และทำให้ศาสนาของพวกตนเสื่อมทรามลง และพวกเขามุ่งมั่นที่จะขยายขอบเขตของการฆาตกรรมให้มากขึ้น ความน่ากลัวที่เกิดขึ้นกับนิวยอร์กและวอชิงตัน สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกศูนย์กลางของอารยธรรม ต่อศัตรูเช่นนี้ ไม่มีภูมิคุ้มกันอะไรได้ และก็ไม่อาจมีความเป็นกลางอะไรได้ด้วยเช่นกัน” ในตอนนั้น ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชกล่าวว่ามีทางเดียวที่จะจัดการต่อสันติภาพได้ ก็คือการจัดการคนที่ทำลายมันลงไป “สหรัฐฯ จะไม่หวั่นไหว เราจะไม่เหนื่อยล้า เราจะไม่ลังเล และเราจะไม่ล้มเหลว” (We will not waver, we will not tire, we will not falter, and we will not fail.”)

บัดนั้นสหรัฐฯ มีความชอบธรรมในการใช้กำลังเข้าจัดการกลุ่มก่อการร้ายในทุกประเทศได้ เพราะพวกนั้นไม่ใช่เพียงศัตรูของอเมริกาเท่านั้น หากยังเป็นศัตรูของ ‘เสรีภาพและประชาธิปไตย’ อันเป็นจุดหมายที่คนและประเทศทั่วโลกยอมรับและต้องการ อัฟกานิสถานจึงเป็นเป้าหมายแรกในการปฏิบัติการในปี 2001 ใช้เวลาบุกไม่กี่เดือน ทั้งระเบิดทางอากาศและภาคพื้นดิน รัฐบาลตาลีบันก็พังทลายลง แกนนำหนีไปหลบอยู่ในปากีสถาน ด้วยความอนุเคราะห์ของ ISI หน่วยข่าวกรองปากีฯ รอเวลากลับมาแก้คืนใหม่

ปี 2004 อเมริกาปิดฉากอัฟกานิสถาน ย้ายไปบุกอิรักเพื่อจัดการซัดดัม ฮุสเซนแทน จากนั้นข่าวก็ย้ายไปอิรักจนบัดนี้ ไม่มีใครได้ยินข่าวหรือรู้ว่ากองกำลังอเมริกาทำอะไรไปบ้างในอัฟกานิสถาน จนกระทั่งวันสุดท้ายของการถอนกองกำลังทั้งหมดออกมา

คราวนี้ลองมาเปรียบเทียบกับคำพูดของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่อธิบายเหตุผลว่า ทำไมสหรัฐฯ จึงต้องถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน เขาแถลงนโยบายการถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานในห้องเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชประกาศนโยบายบุกอัฟกานิสถานเพื่อทำลายอัลกออิดะห์และแหล่งพักพิงของขบวนการก่อการร้ายทั้งหลายลง ประเด็นใหญ่ที่ไบเดนนำมาอธิบายการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ของเขา ได้แก่ ประการแรก ภารกิจที่ตั้งไว้แต่แรกคือการกำจัดบิน ลาเดนและกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นอันตรายต่ออเมริกาได้สำเร็จลงแล้วตั้งแต่ปี 2011 สมัยประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งโจ ไบเดนเป็นรองประธานาธิบดีอยู่ด้วย จากนั้นมาแม้กลุ่มตาลีบันยังพยายามกลับมาต่อสู้ในอัฟกานิสถานอีก แต่ก็ไม่สามารถทำอันตรายแก่กองกำลังอเมริกันในนั้นได้ เพราะอเมริกามีอำนาจยิงทางอากาศเหนือกว่าอย่างไม่ต้องถาม

ประการที่สอง การสร้างอัฟกานิสถานให้เป็นประเทศสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยนั้น กองกำลังทหารอเมริกันทำแทนให้ไม่ได้ คนอัฟกันทั้งรัฐบาลและประชาชนต้องร่วมมือกันเองสร้างขึ้นมา จากเหตุผลในพื้นที่เป็นจริงดังกล่าวนี้ นำมาสู่ข้อสรุปสุดท้ายที่ไบเดนยึดถือเป็นหลักนำในการปกป้องนโยบายการถอนกำลังของเขาว่า ชีวิตของทหารอเมริกันและเจ้าหน้าที่ในภารกิจอัฟกานิสถานนั้นไม่ควรเสียอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียในชีวิตอีกต่อไป หนทางเดียวที่จะทำให้เป็นจริงได้ก็คือต้องออกจากพื้นที่อัฟกานิสถานโดยสิ้นเชิง และเมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ขั้นต่อไปคือต้องออกในทันที ไม่ต้องต่อรองและหาเหตุร้อยแปดพันประการ ซึ่งทางทหารมักเสนอไว้มากมายว่า ก่อนถอนกำลังจะต้องทำอะไรกี่สิบอย่างก่อนเพื่อประกันว่าจะไม่ถูกตีตลบหลัง ไบเดนปัดข้อเสนอของเพนตากอนแล้วยืนกรานว่า ออกเลย ออกเดี๋ยวนี้ ออกวันพรุ่งนี้ได้ก็ออกเลย

การตัดสินใจสำคัญครั้งนี้ของไบเดนจึงแสดงถึงความคิดความเชื่อของเขาเองจริงๆ ที่ไม่ใช่มาจากคำแนะนำของคณะที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงหรือต่างประเทศใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่เป็นความรู้สึกส่วนตัวโดยแท้จริง แน่นอนว่าเขายังต้องฟังและปรึกษากับบรรดาที่ปรึกษาและรัฐมนตรีทั้งหลายด้วยว่า มีเหตุผลและตรรกะไปถึงปรัชญาและยุทธศาสตร์อะไรที่อาจเปลี่ยนใจเขาได้ ทั้งเจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงทำเนียบขาว และแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ จัดประชุมภายในรวม 10 ครั้งเพื่อฟังความเห็นต่อนโยบายอัฟกานิสถาน 3 ครั้งในระดับรัฐมนตรี อีก 4 ครั้งกับหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ครั้งสุดท้ายโจ ไบเดนร่วมการประชุมด้วย ดังนั้นการตัดสินใจสุดท้ายของประธานาธิบดีไบเดนจึงผ่านการทดสอบและรับฟังอย่างหลากหลายรอบด้านที่สุดเท่าที่ทีมงานทำได้ ไบเดนจึงแอ่นอกตอบนักข่าวเมื่อมีการวิจารณ์การถอนกำลังอย่างกะทันหันว่า “ทุกอย่างจบลงที่ตรงนี้” คือที่ตัวเขา ไม่ต้องไปว่าเจ้าหน้าที่อื่นๆ เขาเองเป็นคนเชื่อและคิดแผนการนี้อย่างสุดตัว คนอื่นไม่เกี่ยว

ทำไมไบเดนจึงมีความรู้สึกต่อการสูญเสียทหารอเมริกันในอัฟกานิสถานมากขนาดนี้ หลังจากการแถลงถึงนโยบายการถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน วันรุ่งขึ้นไบเดนเดินทางไปสุสานวีรชนทหารผ่านศึกอาร์ลิงตัน เพื่อรำลึกถึงทหารที่เสียชีวิตไป เขาพูดถึงลูกชายที่ตายไปด้วยโรคมะเร็งในปี 2015 ซึ่งเคยไปเป็นทหารรบในอิรัก ไบเดนเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มีลูกไปเป็นทหารและรบในสงครามจริงๆ อีกปัจจัยคือประสบการณ์ในการเป็นวุฒิสมาชิกที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศหลายสมัย เขาไม่ค่อยสนับสนุนนโยบายการส่งทหารไปรบต่างประเทศ ลึกๆ แล้วเขาไม่ค่อยเป็นสายเหยี่ยวในทางการเมือง สมัยเป็นรองประธานาธิบดีกับโอบามา ได้เห็นความจริงในภารกิจในอิรักและอัฟกานิสถานว่าไม่ได้ผลอะไรมากนักเลยและได้บทเรียนว่าฝ่ายทหารไม่ให้ความร่วมมือในการไปเยี่ยมอิรักเลย ตอนนั้นโอบามาประกาศแล้วว่า หลังจากฆาตกรรมบิน ลาเดนได้แล้วจะทำการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานและอิรัก แต่ฝ่ายกองทัพยื่นเงื่อนไขหลายอย่างและการรบรุนแรงขึ้นอีก ทำให้ต้องส่งกำลังเพิ่มขึ้นไปอีก ไบเดนในตอนนั้นไม่เห็นด้วยกับโอบามาแต่ก็ต้องยอม สรุปได้ว่าถ้าต้องทำตามเงื่อนไขของเพนตากอน จะไม่มีวันที่การถอนกำลังจะประสบความสำเร็จได้ (น่าเปรียบเทียบกับการจัดการสันติภาพและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ไทยด้วย) คราวนี้เขาเป็นคนตัดสินใจเอง จึงปลดปล่อยจากการครอบงำของฝ่ายความมั่นคงได้ แล้วเดินหน้าในสิ่งที่เขายึดถือเป็นหลักการ จะเรียกว่าจากสามัญสำนึกของประชาชนก็คงได้ นี่เป็นตัวอย่างของการเมือง/พลเรือน นำการทหารได้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวสุนทรพจน์ปิดฉากสงครามอัฟกานิสถานในวันที่ 31 สิงหาคม เขาเลี่ยงไม่ประกาศเที่ยวบินสุดท้ายที่ถอนกำลังและเจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงในกรุงคาบูลออก ซึ่งเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของการขนย้ายผู้คนกว่า 124,000 คนออกจากประเทศภายในสองสัปดาห์ หากแต่แถลงยืนยันอย่างเร่าร้อนถึงการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ที่สุดต่ออเมริกาและชีวิตทหาร “ข้าพเจ้าขอทำความกระจ่างอีกครั้ง การถอนออกภายในวันที่ 31 สิงหาคมไม่ใช่มาจากเส้นตายที่ทำโดยพลการปราศจากเหตุผล มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรักษาชีวิตคนอเมริกัน” เขาระบุว่ารัฐบาลก่อนนี้ (โดนัลด์ ทรัมป์) ได้ทำสัญญากับตาลีบันไว้แล้วว่า จะถอนออกภายในวันที่ 1 พฤษภาคม ดังนั้นรัฐบาลของเขา “จึงถูกทิ้งให้รับการตัดสินใจที่ธรรมดาว่า จะดำเนินต่อไปตามข้อผูกพันที่ทำไว้และออกจากอัฟกานิสถาน หรือบอกว่าเราจะยังไม่ออกและผูกมัดในการส่งกองทหารอีกกว่าหมื่นคนกลับเข้าไปทำสงครามอีก นั่นคือสิ่งที่ให้เลือก ทางเลือกที่เป็นจริงระหว่างออกไปหรือกลับไป ข้าพเจ้าจะไม่ยืดขยายสงครามนี้ต่อไปอีกอย่างไม่สิ้นสุด ชาวอเมริกันที่รักของข้าพเจ้า สงครามในอัฟกานิสถานบัดนี้ได้ยุติแล้ว”

นั่นเป็นความคิดที่ชัดที่สุดของไบเดนต่อสงครามอัฟกานิสถาน ไม่มีคำศัพท์นามธรรมใหญ่ๆ ที่ฟังดีแต่ทำยากให้เห็นอีกต่อไป ที่เหลือคือคนอเมริกัน นักการเมืองและสื่อมวลชนจะทำความเข้าใจต่อการเลือกและการตัดสินใจของเขาอย่างไร หากพิจารณาจากกระบวนการตัดสินใจของโจ ไบเดน ข้อที่น่าสนใจคือการที่เขานำเอาความเป็นส่วนตัวขึ้นมานำความเป็นทางการได้ แม้ว่าความตายของคนอเมริกันในสงครามนี้ก็เป็นเรื่องส่วนรวมหรือของประเทศได้ แต่ลึกลงไปอารมณ์ความรู้สึกของเขาต่อความสูญเสียนี้มาจากประสบการณ์ทางตรงของเขาเองต่อการสูญเสียลูกชาย แม้จะไม่ใช่ความสูญเสียจากการรบในสงคราม แต่เขาเสียลูกชายคนนี้ที่เคยไปรบในสงครามในอิรักให้กับโรคมะเร็งหลังจากกลับจากสงคราม

ในที่สุด การตัดสินใจในการเลือกดำเนินนโยบายอะไรอย่างไรก็หนีไม่พ้นที่จะเกี่ยวพันถึงลักษณะทางธรรมชาติของผู้นำที่เรียกว่าจุดยืน ทรรศนะและวิธีการ จุดยืนในบุคลิกของไบเดนคือความเป็นเสรีนิยม ทางสายกลาง ประนีประนอม สมานฉันท์ เป็นคุณลักษณะประจำตัวของโจ ไบเดนมาตั้งแต่เขาเริ่มเข้าไปในวงการเมืองอเมริกัน แต่ถ้าสถานการณ์แวดล้อมทั้งในและนอกประเทศไม่เอื้อให้ ลำพังอาศัยความเชื่อมั่นโดยส่วนตัวก็อาจไม่สามารถแสดงออกอย่างเป็นประโยชน์ที่คนอื่นยอมรับได้ สภาพการณ์สมัยของไบเดนคือการที่อุดมการณ์ทางการเมืองแบบ ‘สงครามเย็น’ ที่มหาอำนาจอ้างหลักการและจุดหมายที่เป็นนามธรรมมาให้ความชอบธรรมแก่ปฏิบัติการของตนได้ เช่นในนามของ ‘สันติภาพ‘ ‘เสรีภาพและประชาธิปไตย‘ ได้ลดระดับและความชอบธรรมลงไปอย่างมาก แต่คราวนี้ไบเดนยอมรับว่า ประชาธิปไตยต้องปล่อยให้คนในพื้นที่ในประเทศนั้นสร้างกันเอง กองกำลังและเงินช่วยเหลือมหาศาลของอเมริกันไม่อาจทำแทนให้ได้

นี่เป็นการสารภาพหรือยอมรับความจริงที่ประชาชนในโลกที่สามพยายามบอกมาโดยตลอดว่า การใช้กำลังทั้งกายภาพและทางความคิดมาบังคับกล่อมเกลาให้คนอื่นเชื่อและยอมทำตามนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลง-แปลงกายไปเป็นคนใหม่ที่อเมริกันอยากให้เป็น คือเป็นแบบอเมริกันได้

นอกจากนั้น การปิดฉากสุดท้ายในอัฟกานิสถานด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตามที่ทำให้กำลังตาลีบันกลับเข้ามายึดอำนาจรัฐได้อีก แม้มองได้ว่าเป็นความพ่ายแพ้และล้มเหลวทางทหารของอเมริกา แต่ก็เปิดหน้าใหม่ของเวทีการเมืองโลกว่า ขบวนการและกองกำลังที่มีอุดมการณ์สุดขั้วแบบอัลกออิดะห์ ตาลีบัน ฯลฯ นั้น ไม่ใช่อำนาจที่จะทำลายการดำรงอยู่และความมั่นคงของประเทศต่างๆ ในโลกนี้ลงไปได้เสมอไป มันมีเงื่อนไขภายในของแต่ละประเทศอีกมากมาย อเมริกาไม่จำเป็นต้องไปตามล่าทำ ‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ แบบที่ผ่านมา หากแต่สามารถปล่อยให้พวกเขามีบทบาทในพื้นที่เฉพาะของแต่ละกลุ่มไป อเมริกาก็สร้างภูมิต้านทานในประเทศของตนเองขึ้นมา ส่งเสริมความคิดเสรีนิยมรวมทั้งศาสนานิยมให้แต่ละฝ่ายพิสูจน์ตนเองท่ามกลางการปฏิบัติที่เป็นจริงกับประชาชนว่าแบบไหนจะได้รับการยอมรับและสนับสนุน มากกว่ามุ่งไปที่การใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันแต่ถ่ายเดียว

สุดท้าย ปัญหาอัฟกานิสถานและการยุติความรุนแรงทางทหารลงไป เท่ากับเป็นการปิดฉากและหน้าประวัติศาสตร์ที่สหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีจอร์จ บุช (พ่อ) ผู้ประกาศเปิดสภาพการณ์ใหม่ในการเมืองโลกในระยะสงครามอ่าวเปอร์เซียว่าคือ ‘ระเบียบโลกใหม่’ (new world order) ว่าบัดนี้ระเบียบโลกใหม่นั้นได้ปลาสนาการไปแล้ว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save