fbpx
รู้จักโรค itai-itai จากพิษมลภาวะ

รู้จักโรค itai-itai จากพิษมลภาวะ 

วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง

 

คนทั่วไปมักเข้าใจว่าญี่ปุ่นประสบปัญหาสารพิษในสิ่งแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือเหมืองแร่ จนเกิดโรคที่เรียกว่า ‘Minamata’ เพียงโรคเดียวเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วมีถึง 4 โรค ใน 4 สถานที่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ปัจจุบันได้มีการเรียนรู้จากเหตุการณ์เหล่านี้เป็นอย่างดีจนสามารถใช้เป็นประโยชน์แก่ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราในปัจจุบัน

Minamata เป็นเมืองอยู่สุดทางตะวันตกของญี่ปุ่น ในจังหวัด Kagoshima บริษัท Chisso เริ่มผลิตสารเคมีตั้งแต่ปี 1908 โดยเริ่มจากปุ๋ยเคมี และตามด้วยสารเคมีต่างๆ เช่น Acetylene / Acetaldehyde / Acetic acid / Vinyl chloride / Octanol ฯลฯ โรงงานในบริเวณนี้มีความก้าวหน้ามากที่สุดในญี่ปุ่นในยุคนั้น และผลิตต่อเนื่องจนถึงต้นทศวรรษ 1970

ตลอดเวลาที่ผ่านไปก็ปล่อยน้ำเสียสารพัดสารพิษอันเป็นผลพวงจากการผลิตลงไปในอ่าว Minamata พอถึงปี 1932 บริษัทเริ่มผลิตสาร Acetaldehyde ซึ่งสามารถใช้ต่อยอดเป็นฟอร์มาลีน (น้ำยาดองศพ) ปุ๋ยยูเรีย พลาสติกใส น้ำยาล้าง น้ำหอม ฯลฯ สารพิษพลอยได้ตัวร้ายจากการผลิตในปี 1951 เป็นต้นมา ก็คือปรอทชนิดหนึ่งที่เรียกว่า methyl mercury

สิ่งมีชีวิตที่รับเอาปรอทนี้เข้าไปในร่างกายจะเกิดอาการต่างๆ อันเนื่องมาจากระบบประสาทถูกทำลาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพาต สูญเสียการได้ยิน การมองเห็นและการพูด ตลอดจนเป็นโรคทางจิต หรือตายได้ โดยขึ้นอยู่กับปริมาณที่บริโภคเข้าไป ทั้งหมดนี้ใช้เวลาถึง 17 ปี กว่าที่จะมีการยอมรับอย่างเป็นทางการว่า อาการที่พบเป็นผลจากการปล่อยสารพิษนี้ออกมาของโรงงาน จำนวนของการยืนยันว่าเป็นโรคนี้ถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 2,282 ราย

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ Niigata Minamata ที่จังหวัด Niigata ซึ่งอยู่ภาคเหนือสุดตอนกลางของญี่ปุ่น โรงงานผลิตสารเคมีของบริษัท Showa Electric ปล่อยสารพิษในลักษณะเดียวกันลงไปในแม่น้ำ Agano ในสมัยนั้นผู้คนดื่มน้ำจากแม่น้ำ เมื่อปลากินสารพิษที่มีปรอทก็มีผลถึงคน เกิดอาการคล้ายคลึงกับที่ Minamata มีการยืนยันจำนวนคนว่าเป็นโรค Minamata 714 คน โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน และทางการก็ยอมรับในปีเดียวกันคือ 1968 หลังจากเหตุการณ์ใหญ่ครั้งแรก 4 เดือน

เหตุการณ์ที่สามคือ Yokkaichi Asthma ที่เมือง Yokkaichi จังหวัด Mie มีการปล่อยก๊าซ sulfur oxide จากโรงงานปิโตรเคมีในช่วงปี 1960-1970 อันเกิดจากการเผาไหม้น้ำมันดิบและปิโตรเลียมจนมีหมอกควันหนัก ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจที่รุนแรงต่างๆ เช่น โรคหืด ซึ่งหมายถึงการอักเสบระยะยาวของหลอดลม (ในปี 2015 ทั้งโลกมีคนเป็นโรคหืด 358 ล้านคน เพิ่มจาก 183 ล้านคนในปี 1990 เฉพาะในปี 2015 มีคนตายจากโรคนี้เกือบ 400,000 คน) มีการยืนยันโดยแพทย์ว่ามีคนเป็นโรคนี้จากเหตุการณ์ครั้งนั้น 2,219 คน

เหตุการณ์ครั้งที่ 4 คือ itai-itai disease ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่ถือว่ารุนแรงไม่แพ้อีก 3 เหตุการณ์ ถึงแม้จะมีจำนวนยืนยันเพียง 200 คนก็ตาม เนื่องจากเป็นผลกระทบจากสาร Cadmium ที่มีผลทำให้กระดูกนิ่ม ไตวาย เหตุการณ์เกิดขึ้นริมแม่น้ำ Jinzugawa ในจังหวัด Toyama ซึ่งอยู่เหนือสุดทางตอนกลางของประเทศ มีการรับรองอย่างเป็นทางการว่าเป็นปัญหาในปี 1968

ชาวบ้านที่รับสาร Cadmium เข้าไปจากบริษัททำเหมือง จะมีอาการเจ็บอย่างมากที่กระดูกสันหลังและข้อต่อต่างๆ ถ้าดูวันเวลาของเหตุการณ์ใหญ่ของการปล่อยสารพิษในสิ่งแวดล้อมแล้ว โรค itai-itai (“มันปวด-มันปวด” ไปหมด) นับเป็นโรคแรกที่ทางการยอมรับ

มีการทำเหมืองทองคำในบริเวณนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1710 และเหมืองเงินใน ค.ศ. 1589 ต่อมาทำเหมืองทองแดง สังกะสี ตะกั่ว ฯลฯ ในยุคสงครามโลกครั้งที่สองมีการทำเหมืองในบริเวณนี้กันกว้างขวางและปล่อยสาร Cadmium มายาวนาน อาการของโรคปรากฏให้เห็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1912 โดยเกิดจากคนในแถบนั้นที่ดื่มน้ำในแม่น้ำ Jinzu และซักผ้า จนรับ Cadmium และสารหนักอื่นๆ ที่เป็นพิษเช่น Manganese / Nickle / Chromium ฯลฯ เข้าไป อีกทั้งผ่านปลาที่จับกินและข้าวที่บริโภคซึ่งใช้น้ำที่มีสารพิษเจือปน

นับตั้งแต่ปี 1968 มีกระบวนการยืนยันว่ามีผู้ตกเป็นเหยื่อของโรคนี้ โดยคณะแพทย์ 15 คนเป็นผู้ตรวจ ภายใต้ 4 เงื่อนไข คือ (1) เคยอยู่อาศัยในบริเวณที่สาร Cadmium แพร่กระจาย (2) เริ่มมีอาการตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว (3) มีปัญหาด้านการทำงานของไต (4) กระดูกอ่อนและตามด้วยโรคกระดูกพรุน

คนที่ได้รับการยืนยันจะได้รับเงินชดเชยคนละ 10 ล้านเยน (ประมาณ 3 ล้าน 3 แสนบาท) บวกค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด จ่ายโดยบริษัทเหมือง Mitsui Mining and Smelting ปัจจุบันเหยื่อตายไปเกือบหมดแล้วตามอายุขัย (ขณะมีชีวิต จะมีอาการเจ็บปวดตลอดเวลา) และจากอิทธิฤทธิ์ของโรค

นอกจาก 200 คน ที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโรค itai-itai จังๆ แล้ว ยังมีอีกประมาณ 300 คน ที่ทุกข์ทรมานจากโรคไตอักเสบ ซึ่งหลังจากต่อสู้กันมายาวนานก็ตกลงกันได้ บริษัทยอมจ่ายให้รายละ 600,000 เยน (ประมาณ 200,000 บาท)

เหมืองนี้เลิกการขุดและถลุงสังกะสีและตะกั่วในปี 2001 โดยหันมาผลิตสังกะสีจากการถลุงแร่เหล็กที่นำเข้า และผลิตตะกั่วจากแบตเตอรี่ที่โยนทิ้งแล้ว ปัจจุบันปริมาณของ Cadmium ในแม่น้ำ Jinzu ต่ำกว่าระดับมาตรฐานเป็นอันมาก

ทว่าผู้คนในแถบนั้นโดยเฉพาะเกษตรกร ในปัจจุบันก็ยังขมขื่นกับเหตุการณ์ไม่หาย เพราะถึงแม้จะมีการเยียวยาดินด้วยการเอาดินจากที่อื่นมาถมทับหน้าดินหนา 40 เซนติเมตร และฟื้นฟูสภาพที่ดินโดยรอบซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 9,400 ไร่ ใกล้เมือง Toyama แล้ว แต่ข้าวหรือผลผลิตเกษตรจากที่ดินแถบนี้มักถูกรังเกียจ เพราะคนยังไม่เชื่อใจว่าปลอดภัย

4 เหตุการณ์ครั้งนั้นกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น ในการรักษาสภาพแวดล้อมและระแวดระวังเรื่องสุขภาพของประชาชนในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวหลังสงคราม ขณะเดียวกันในช่วง 1960-1970 ผลกระทบจากเรื่องหมอกควันและสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมนั้น เป็นที่ปรากฏชัดเจนทั่วญี่ปุ่น สังคมก็มีความกังวลใจ เมื่อเกิด 4 เหตุการณ์ใหญ่ขึ้นใกล้กันจึงเปรียบเสมือนประกายไฟที่จุดให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

มีการออกกฎหมายถึง 14 ฉบับที่เกี่ยวพันกับการป้องกันและแก้ไขมลภาวะในปี 1970 และจัดตั้งองค์กรสิ่งแวดล้อมขึ้นในปีต่อมา โดยมีบทบาทและอำนาจจากส่วนกลางในการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการคิดทบทวนเป้าหมายในการเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเหนือการรักษาสิ่งแวดล้อม

คนรุ่นต่อๆ มาในญี่ปุ่น ได้รับรู้เรื่องราวของ 4 เหตุการณ์ที่เลวร้ายทั้งในห้องเรียนและจากแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน ภารกิจในการเรียนรู้จากความผิดพลาดเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสังคม

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่เกิดเหตุการณ์ ทำการจัดเก็บข้อมูลไว้เป็นพิเศษในห้องสมุด และหลายท้องถิ่นมีพิพิธภัณฑ์ บันทึกวิดีทัศน์ของคำบอกเล่าของเหยื่อผู้ถูกทรมาน เพื่อให้คนญี่ปุ่นและโลกได้เรียนรู้

หลายประเทศที่ถลุงแร่ทองคำโดยใช้ปรอทเพื่อดึงเนื้อทองคำออกมา เช่น อินโดนีเซีย มองโกเลีย บราซิล ฯลฯ สามารถเรียนรู้ความเจ็บปวดของคนท้องถิ่นตลอดจนการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดีจากเหตุการณ์เหล่านี้

การทำเหมืองทองคำของไทยมีปัญหาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เพราะมีผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ที่อยู่อาศัยในบริเวณเหล่านั้นมาเนิ่นนาน มีการร้องเรียนและต่อสู้กันครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างเจ็บปวด มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าชาวบ้าน แถบวังสะพุง จังหวัดเลยจำนวนหนึ่ง ได้รับโลหะหนักปนเปื้อนไม่ว่าจะเป็นไซยาไนด์ สารหนู ปรอท แคดเมียม ทองแดง ฯลฯ ในร่างกายเกินกว่ามาตรฐาน อีกทั้งพบสารพิษเหล่านี้ในห้วย ลำน้ำ และดินอีกด้วย

เมื่ออนุญาตให้ผู้ได้รับสิทธิบัตรขุดสินแร่ทองคำออกไปนั้น มันสูญไปโดยไม่กลับคืนมา แถมประชาชนเดือดร้อนเพราะสารพิษไปด้วย ต้องเสียน้ำตา เสียทรัพยากรอีกมากมายในการเยียวยา ค่าประทานบัตรที่ได้รับไม่คุ้มกับสิ่งที่สูญเสียไป การเก็บสินแร่ทองคำที่นับวันจะมีค่าเพิ่มขึ้นไว้ให้ลูกหลานได้ใช้บ้างในอนาคตน่าจะเป็นทางเลือกที่พึงปรารถนากว่า

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save