fbpx

วิธีสร้างประเทศใหม่

ในหนังสือ ‘แผ่นดินนี้เราจอง’ หรือ Pioneer, Go Home! ของริชาร์ด พาวเวล แปลโดย เทศภักดิ์ นิยมเหตุ มีครอบครัวหนึ่งชื่อควิมเพอร์ (Kwimper) วันหนึ่ง พวกเขาขับรถไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ แต่แล้วเกิดขับรถหลงทาง เลี้ยวเข้าไปบนไฮเวย์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ แล้วรถก็ดันน้ำมันหมดขึ้นมา

พ๊อพ – ผู้เป็นพ่อของครอบครัวนี้เป็นคนที่ไม่พึงพอใจรัฐบาลอย่างสูง เขาบ่นก่นด่ารัฐบาลอยู่เสมอว่าให้ความช่วยเหลือประชาชนต่างๆ ไม่พอ โดยเฉพาะเรื่องรัฐสวัสดิการ การให้เงินชดเชยการตกงาน

ถ้าพ๊อพเกิดในบางประเทศ รับรองว่าเขาต้องได้ชื่อว่าเป็นคนชังชาติแน่ๆ แต่บังเอิญในสมัยนั้นคอนเซ็ปต์นี้ยังไม่เกิด เขาเลยโชคดีไป เพราะที่จริงแล้ว พ๊อพไม่ถึงขั้นไม่อยากอยู่กับประเทศห่วยๆ เฮงซวย (ในสายตาของเขา) แล้ว แต่เขาคิดว่าประเทศนี้ควรให้ความยุติธรรมกับเขาบ้าง ทีนี้บังเอิญให้ว่า บริเวณที่รถไปจอดน้ำมันหมดอยู่นั้น มันเป็นที่ดินที่งอกออกไป ตามกฎหมายในหนังสือ ที่ดินงอกแบบนี้ใครจะไปถือกรรมสิทธิ์ก็ได้ ดังนั้น พ๊อพก็เลยถือครองกรรมสิทธิ์ตรงนั้นเสียเลย ทำให้เขาต้องสู้รบปรบมือกับรัฐบาลกลางขนานใหญ่ เพราะรัฐบาลเห็นว่าไม่ใช่ใครจะไปยึดที่ดินตรงไหนเป็นของตัวเองก็ได้ แล้วก็มีบางตอนในหนังสือ ที่พ๊อพถึงขั้นร่ำๆ จะประกาศว่า ดินแดนใหม่ที่เขาถือครองอยู่เป็นประเทศใหม่ไปเสียเลย แต่เขาก็ไม่ได้ทำ

ที่จริง เรื่องราวในหนังสือเป็นเรื่องที่มีฐานมาจากความจริงนะครับ ริชาร์ด พาวเวล เคยย้ายไปอยู่ที่ฟอร์ตไมเยอร์สในฟลอริดา เลยรู้เรื่องที่รัฐฟลอริดาเพิ่งสร้างสะพานข้ามไปยังเกาะแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าการเทดินถมลงไปทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยปรากฏบนแผนที่มาก่อน เลยมีกลุ่มคนอพยพเข้าไปอยู่ แล้วก็สร้างกระท่อม ทำธุรกิจเล็กๆ เช่น รับจ้างตกปลาอะไรกันไป แล้วในท้ายที่สุด รัฐเลยต้องยอมแพ้ ยอมมอบกรรมสิทธิ์ให้กับคนเหล่านี้ เขาจึงได้ไอเดียนำมาเขียนเป็นหนังสือ แต่เขียนด้วยท่าทีตลกขบขัน ทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูงจนมีการนำไปสร้างเป็นหนัง โดยมีเอลวิส เพรสลีย์ เป็นนักแสดงนำกันเลยทีเดียว

จำได้ว่า ตอนเด็กๆ สมัยอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมสงสัยอยู่ครามครันว่า – ก็แล้วถ้าเราจะประกาศตัวเองเป็นประเทศใหม่ไปเลย มันจะทำได้ไหม?

เคยมีบทความของ Foreign Policy บอกเอาไว้ว่า การสร้างประเทศใหม่นั้นมีขั้นตอน ‘ง่ายๆ’ อยู่ 4 ขั้นตอน (ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วไม่เห็นมีขั้นตอนไหนง่ายเลยสักขั้นตอน และที่บทความนี้จั่วหัวว่าง่ายก็เป็นการเสียดสี)

อย่างแรกสุดคือ ต้องทำให้ถูกกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่กฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่คือกฎที่เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างนานาประเทศ โดยต้องเป็นไปตาม ‘อนุสัญญากรุงมอนเตบีเดโอ’ (Montevideo Convention) อนุสัญญาชื่อยาวนี้ มีการลงนามกันในวันที่ 26 ธันวาคม 1933 หรือเกือบร้อยปีมาแล้ว อนุสัญญามีเนื้อหาว่าด้วย ‘สิทธิ’ และ ‘หน้าที่’ ของรัฐ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันว่า ความเป็นรัฐต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างจึงจะเรียกได้ว่าเป็นรัฐ ซึ่งก็คือที่เราเคยท่องจำกันสมัยเรียนประถม เช่น ต้องมีดินแดนที่แน่นอน ต้องมีพลเมืองหรือประชากร ต้องมีองค์กรปกครองที่เรียกว่ารัฐบาล และต้องมีอำนาจอธิปไตยเหนือประเทศของตัวเอง ซึ่งหมายรวมถึงการมีอำนาจในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย

ย้อนกลับมาที่ขั้นตอนแรกของการเป็นรัฐ (ที่ Foreign Policy บอกว่าง่าย) ว่าจะเป็นรัฐได้ ก็ต้องได้รับการยอมรับ (Recognition) ใน 4 เรื่องนี้เสียก่อน แต่จะได้รับการยอมรับขึ้นมาได้ ต้องบอกว่าในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แค่เรื่องดินแดนก็แทบหาไม่ได้แล้ว เพราะแผ่นดินทุกตารางนิ้วบนผืนโลกถูกผนวกเข้ากับประเทศใดประเทศหนึ่งหมดแล้ว จะมัวรอที่ดินงอกก็คงหนวดหงอกไปเสียก่อน ขนาดเกิดภูเขาไฟระเบิดในมหาสมุทรจนเกิดเกาะใหม่ขึ้นมา ก็มีประเทศต่างๆ ประกาศเข้าครอบครองในทันที บางเกาะเกือบเกิดข้อพิพาทด้วยซ้ำ แต่บังเอิญสัณฐานทางธรณีวิทยาเล่นตลกด้วยการทำให้เกาะยุบจมหายไปอย่างรวดเร็ว ข้อพิพาทจึงไม่เกิดก็มี

ตามอนุสัญญามอนเตบีเดโอ รัฐถือเป็น ‘บุคคล’ (หรือนิติบุคคล) ตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยทฤษฎีการยอมรับความเป็นรัฐมีอยู่ด้วยกันสองทฤษฎี ทฤษฎีแรกคือต้องมีองค์ประกอบครบ 4 อย่างตามที่ว่าไปข้างต้น แค่นี้ก็สามารถ ‘ประกาศ’ ได้แล้วว่าตัวเองเป็นรัฐใหม่ ทฤษฎีนี้เรียกว่า Declarative Theory ซึ่งก็เป็นไปตามอนุสัญญามอนเตบีเดโอนั่นเอง แต่นอกจากนี้ ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งเรียกว่า Constitutive Theory ทฤษฎีนี้บอกว่า แค่มีรัฐอื่นยอมรับรัฐนั้นๆ ว่าเป็นรัฐแม้เพียงรัฐเดียว ก็ให้ถือว่ารัฐนั้นเป็นรัฐได้แล้ว ทฤษฎีนี้มีที่มาจากการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ในปี 1815 ซึ่งประชุมกันเฉพาะในยุโรป และยอมรับกันใน ‘ระบบการทูต’ ของยุโรปว่ามีประเทศอยู่ด้วยกัน 39 ประเทศ โดยถ้ามีประเทศใหม่เกิดขึ้นมา ก็เพียงให้ประเทศอื่นๆ ยอมรับก็เท่านั้น แต่จะเห็นว่าทฤษฎีที่สองนี้มีปัญหาอยู่ เพราะแม้มีบางรัฐยอมรับ แต่ก็อาจมีอีกบางรัฐไม่ยอมรับก็ได้ กรณีที่เราเห็นชัดเจนก็อย่างเช่นการตั้งคำถามกันว่า ไต้หวันเป็นประเทศหรือเปล่า เป็นต้น

ขั้นตอนที่สองคือการ ‘ประกาศอิสรภาพ’ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรง่ายเลย ถ้าขั้นตอนแรกคือการหาที่ทางได้ (เช่น มีคนซื้อเกาะให้สักเกาะ) รวบรวมสมัครพรรคพวกมาอยู่ด้วยกันได้ (เท่ากับมีประชากร) จัดตั้งองค์กรปกครองขึ้นมา (มีรัฐบาล) และมีประเทศอื่นอย่างน้อยหนึ่งประเทศให้การยอมรับ (เท่ากับมีความสัมพันธ์ทางการทูต) ก็ไม่ได้แปลว่าการลุกขึ้นมาประกาศอิสรภาพจะเป็นเรื่องที่ทำได้ในลัดนิ้วมือเดียว

หนึ่งในตัวอย่างประเทศที่พยายามจะประกาศอิสรภาพ โดยมีองค์ประกอบความเป็นประเทศครบถ้วนแล้ว คือประเทศที่เรียกตัวเองว่า Transnistria (หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า Pridnestrovian Moldavian Republic) ซึ่งตอนนี้นานาชาติยังเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมอลโดวาอยู่ อีกประเทศหนึ่งก็คือ Somaliland ซึ่งอยู่ในแอฟริกา และได้ประกาศตัวเองไปแล้วว่าจะเป็นอีกรัฐหนึ่ง แต่นานาชาติก็ยังเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของโซมาเลียอยู่ดี

นอกจากนี้ ก็ยังมีประเทศเกาะเล็กๆ ที่พยายามประกาศตัวเองเป็นเอกราชอย่าง Principality of Sealand ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มีลักษณะเป็น ‘ไมโครเนชัน’ (Micronation) หรือประเทศจิ๋ว ตั้งอยู่ในทะเลเหนือ ห่างชายฝั่งซัฟโฟล์กราว 12 กิโลเมตร คล้ายๆ แท่นขุดเจาะน้ำมัน โดยมีการประกาศจำนวนประชากรอยู่ที่สองคน แต่เป็นเอกราชไม่ขึ้นกับที่ไหน และมีพาสปอร์ตของตัวเอง แต่กระนั้นคนก็ยังมองว่าเป็นประเทศที่ไม่ได้จริงจังอะไรนัก

ส่วนขั้นตอนที่สามและสี่ที่ระบุในบทความของ Foreign Policy ก็คือ พยายามให้ได้รับการยอมรับ และสุดท้าย ต้องมีสมาชิกภาพในองค์การสหประชาชาติให้ได้ด้วย แต่นั่นก็ออกจะเป็นเรื่องที่ไกลเกินไปหน่อย เพราะเอาแค่ขั้นตอนแรก ต่อให้มีดินแดนของตัวเอง การประกาศแยกประเทศก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย

เรื่องที่ยากที่สุดก็คือการหาดินแดนเป็นของตัวเองนี่แหละครับ เพราะบนโลกนี้มีเพียงแอนตาร์กติกาเท่านั้นที่ยังไม่มีผู้ครอบครอง แต่ก็มีประเทศมหาอำนาจเข้าไปดูแลจัดการหลายเจ้าแล้ว ใช่ว่าจะดุ่มๆ ไปปักธงประกาศความเป็นประเทศได้

ที่จริงยังมีดินแดนอีกแห่งหนึ่งที่มีพื้นที่ถึงกว่าสองพันตารางกิโลเมตรและยังไม่มีใครประกาศความเป็นเจ้าของนะครับ นั่นคือดินแดนที่เรียกว่า Bir Tawil อยู่ระหว่างอียิปต์กับซูดาน แต่ความที่มันทุรกันดารมากและไม่มีทางออกทะเล ทั้งอียิปต์และซูดานตอนที่ประกาศเขตแดนจึงไม่มีใครผนวกไว้กับตัวเองด้วย จึงเป็นดินแดนที่เรียกว่า Terra Nullius หรือ Nobody’s Land ถ้าใครสนใจเรื่องของ Bir Tawil สามารถอ่านบทความของ The Guardian ที่บอกว่านี่คือดินแดนที่ไม่มีใครต้องการได้ แล้วจะรู้เลยว่า Bir Tawil ไม่น่าไปอยู่ขนาดไหน

ดังนั้น ถ้าจะมีดินแดนของตัวเอง ก็ต้องไปยึดครองดินแดนของประเทศที่มีอยู่แล้ว (ซึ่งคงไม่มีใครยอม) หรือไป ‘ซื้อ’ ดินแดนของประเทศที่มีอยู่แล้ว เช่นเกาะต่างๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปเจรจาหรือบีบบังคับให้ประเทศเจ้าของเกาะยอมยกอธิปไตยบนเกาะให้ นอกจากนี้ อาจจะยังหาช่องโหว่บางอย่างได้เช่น เคยมี The Republic of Indian Stream ที่ตั้งขึ้นบนเกาะแห่งหนึ่งอยู่ระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดาในศตวรรษที่ 18 แต่ต่อมาก็ถูกผนวกเข้ากับสหรัฐอเมริกาไป กรณีนี้คล้ายๆ กับในหนังสือ ‘แผ่นดินนี้เราจอง’ อยู่เหมือนกัน

แต่ถ้าคุณรวยมากๆ ก็อาจหาวิธีสร้างเกาะของตัวเองขึ้นมา อย่างเช่น The Republic of Minerva เป็นเกาะที่ไมเคิล โอลิเวอร์ (Michael Oliver) เศรษฐีจากลาสเวกัสคนหนึ่งไปซื้อเกาะทางตอนใต้ของฟิจิ แล้วถมแนวปะการังของเกาะ พร้อมกับประกาศเป็นประเทศจิ๋วและตั้งมูลนิธิวิจัยสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรแปซิฟิกขึ้นมา โดยทำให้เกาะของตัวเองปลอดการแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลทั้งสิ้น เช่น ไม่มีภาษี ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีการอุดหนุนใดๆ แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว

การหาดินแดนของตัวเองว่ายากแล้ว แต่ที่ยากกว่าอีกขั้นหนึ่งก็คือจะมีผู้มาคอยขัดขวางการสร้างประเทศใหม่อยู่ตลอดเวลา เคยมีบทความของ CNBC บอกว่า รัฐบาลของประเทศเดิมนั้น แม้จะมีความขัดแย้งกับกลุ่มคนที่อยากแยกประเทศถึงขั้นอยากออกปากไล่ออกจากประเทศ แต่พอจะตั้งประเทศใหม่ขึ้นมาจริงๆ ก็มักจะขัดขวางเสมอ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือไต้หวัน ซึ่งมีรัฐธรรมนูญของตัวเองมาตั้งแต่ปี 1947 โน่นแล้ว มีการปกครองตัวเองและระบอบการปกครองที่แยกขาดจากจีนแผ่นดินใหญ่ชัดเจน และแม้จะมีถึง 19 ประเทศ ยอมรับว่าไต้หวันเป็นประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เมื่อจีนยังเห็นว่าไต้หวันเป็นจังหวัดหนึ่งอยู่ แล้วใครจะทำอะไรได้

ยังมีตัวอย่างทำนองนี้อีกหลายแห่ง อย่างเคอร์ดิสถาน ทางตอนเหนือของอิหร่าน ซึ่งมีการทำประชามติว่าจะแยกตัวออกจากอิหร่าน แต่เมื่อรัฐบาลของอิหร่านไม่ยอม ก็ไม่สามารถทำได้โดยง่าย ในสเปนก็มีปัญหานี้เรื้อรังต่อเนื่อง อย่างชาวบาสก์ทางตอนเหนือของสเปนก็อยากเป็นอิสระ ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นถึงขั้นต้องรบกัน

จะเห็นว่า การสร้างประเทศใหม่ในโลกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่คำถามที่น่าถามก็คือ แล้วทำไมจึงมีเสียงพูดให้ได้ยินบ่อยครั้งในระยะหลัง ถึงการแยกประเทศบ้าง ย้ายประเทศบ้าง รวมไปถึงการตั้งประเทศใหม่ไปอยู่กันเองบ้าง

ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เสียงอันอัดอั้นตันใจทำนองนี้กลับดังขึ้นเรื่อยๆ จนน่าสงสัยว่า ผู้ที่กำลังปกครองบ้านเมืองนี้อยู่เคยตั้งคำถามกันไหมว่าทำไมถึงมีคนไม่อยากอยู่กับคุณมากมายเหลือเกิน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save