fbpx
ชนใดไม่มีดนตรีกาลยาวเกินสามนาที: ทุนนิยมอุตสาหกรรมดนตรี และ Noise Music

ชนใดไม่มีดนตรีกาลยาวเกินสามนาที: ทุนนิยมอุตสาหกรรมดนตรี และ Noise Music

ในทุกๆ กลุ่มเพื่อน มักมีเพื่อนคนหนึ่งที่มีความเป็นเอกลักษณ์สูงจนเวลาเพื่อนคนดังกล่าวทำอะไรที่เหนือความเข้าใจของบรรทัดฐานสังคมโลก ทุกคนก็จะเพียงมองหน้ากันแล้วพูดว่าไอ้ X มันก็เป็นไอ้ X อย่างนี้แหละ แล้วเปลี่ยนไปคุยเรื่องประเด็นที่หาคำตอบง่ายกว่านี้ (เช่น การยุติความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในฉนวนกาซ่า)

เดวิด คือเพื่อนคนดังกล่าว ในบรรดานักศึกษาร่วมหลักสูตร Social and Political Thought เขาเรียนปริญญาโทมาแล้วหนึ่งใบด้านวัฒนธรรมศึกษาจากซูริก เมืองบ้านเกิด อย่างไรก็ตาม เดวิดเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่เป็น ‘พลเมืองของโลก’ โดยแท้จริง ในแง่ที่ว่าถ้าดูจากการบริโภคสินค้าและบริการของเขาเท่านั้น คุณไม่มีทางบอกได้เลยว่าเขามาจากประเทศอะไร

เขาเป็นคนประเภทที่วันดีคืนดีก็จะส่งแมสเสจมาถามคุณว่ารู้จักนักร้องหมอลำคนนี้หรือไม่ ตอนนี้เพลงนี้ดังในกรุงเทพมากนะ (ซึ่งผู้เขียนก็จะตอบไปว่า ขอโทษจริงๆ ปกติไม่ค่อยได้ฟังเพลงแนวนี้เลย) เดวิดเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่เห็นด้วยกับการเมืองที่ค่อนไปทางซ้ายด้วยเหตุผลที่เรียบง่ายอย่างที่สุด เพราะทุนนิยมทำให้โลกนี้น่าเบื่อ ความหมกมุ่นกับกำไรเหนือคุณค่าในแบบอื่นๆ ทำให้สินค้าและบริการในโลกทุนนิยมตอนปลายเต็มไปด้วยของไร้ประโยชน์และไร้จิตวิญญาณเหมือนเฟรนช์ฟรายส์ทอดค้างคืนอันจืดชืด

คลาสแรกของการเรียนวิชาปรัชญาของใครหลายคนมักเริ่มต้นด้วยการบอกว่าการเรียนปรัชญาที่ดีควรทำให้คุณมีความสงสัยใคร่รู้แบบที่เด็กน้อยมี ความสงสัยใคร่รู้แบบที่การเข้างานเก้าโมงเช้าเลิกห้าโมงเย็นต่อด้วยการเดินทางกลับบ้านในรถอีกสองชั่วโมง สัปดาห์ละห้าวันค่อยๆ กัดกร่อนไปจนหมดสิ้น เดวิดเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่ไม่เคยยอมให้ภาระของความเป็น ‘ผู้ใหญ่’ มาทำลายความสงสัยใคร่รู้แบบนี้ (หรือที่สังคมไทยอาจจะเรียกด้วยอีกชื่อว่าความไม่รู้จักโตนั่นเอง)

เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ (แต่ต่างจากเพื่อนคนอื่นๆ ในหลักสูตร ป.โท) เดวิดไม่เคยอธิบายการเมืองของตัวเองออกมาด้วยคำคุณศัพท์หนึ่งคำ (เช่น ฉันเป็นเหมาอิสต์!) แต่เขาร่วมโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่ค่อนไปทางซ้าย เช่น เปิดสหกรณ์ร้านชำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกแบบ fair-trade และราคาย่อมเยา ซึ่งเปิดให้ลูกค้าทุกคนซื้อหุ้นและร่วมกันบริหารโดยทุกคน ร่วมเมทัลเฟสติวัลกลางแจ้งที่จัดตอนกลางคืนฤดูร้อนฉลอง Summer Solstice ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายนำไปบริจาคให้กลุ่มรณรงค์ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กินอาหารจากพืชเป็นหลักด้วยเหตุผลทางสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

เขาชอบลองอะไรใหม่ๆ และชอบการคุยกับคนแปลกหน้า เดวิดใช้ชีวิตแบบนักมานุษยวิทยาเต็มเวลาและโลกนี้คือภาคสนามของเขา หลังจากเรียนจบไม่นาน กลุ่มเพื่อนปริญญาโทได้มีโอกาสมาเยี่ยมบ้านของผู้เขียนที่กรุงเทพฯ และเดวิดผู้ไม่เคยเยือนเอเชียมาก่อนประทับใจกับรสชาติของน้ำจิ้มซีฟู้ดมากจนขอให้แม่ของผู้เขียนจดสูตรให้ เขาลองชิมทุกอย่างที่ขวางหน้าตั้งแต่ผัดเผ็ดจระเข้ไปจนถึงชุดหมากพลูสำหรับศาลเจ้าที่ (ผู้เขียนพยายามเตือนแล้วว่าหมากพลูมีไว้สำหรับผีบ้านผีเรือน ไม่ได้มีไว้ให้คนกิน แต่เดวิดแย้งว่าถ้าอย่างนั้นคุณภาพก็น่าจะต้องดีมากกว่าแบบที่ให้คนปกติกินด้วยซ้ำ ไม่อย่างนั้นเจ้าที่จะต้องโกรธแล้วไม่คุ้มครองบ้านให้แน่ๆ ผู้เขียนหมดปัญญาจะเถียงจึงต้องปล่อยไปเลยตามเลย)

หลังจากเจอหน้าคาดตากันในห้องเรียนผ่านๆ พวกเราได้มีโอกาสคุยกับเดวิดอย่างจริงจังครั้งแรกในวงเบียร์ระหว่างเพื่อน ป.โท หลังดื่มกันไปสักพัก มีคนชวนคุยขึ้นมาว่า สมมติว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าของเราทุกคนหายไปเกือบหมด คงเหลือไว้ได้แค่เพียงหนึ่งอย่าง ทุกคนจะเลือกเก็บอะไรไว้ เพื่อนส่วนใหญ่เลือกเก็บการมองเห็นเพราะการอ่านและการเขียนเป็นกิจกรรมโปรดในชีวิต เดวิดเป็นคนเดียวที่เลือกโสตประสาทโดยให้เหตุผลอย่างเรียบง่ายว่า “ถ้าฟังเพลงไม่ได้อีกก็ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม” จากนั้น แก๊งนักศึกษาก็นั่งถกกันว่าการกลายเป็นอุตสาหกรรมของดนตรีทำให้เพลงหมดเสน่ห์อย่างไร

เดวิดบ่นว่าทุกวันนี้เพลงยาวแค่ไม่กี่นาทีเพราะระบบ streaming ซึ่งคิดค่า royalty ของแต่ละ stream โดยไม่สนใจความยาวของเพลง จึงทำให้เพลงในศตวรรษนี้มีแนวโน้มจะสั้นลงไปอีกเรื่อยๆ ซึ่งไปในทิศทางเดียวกับ attention span ของประชากรรุ่นนี้ซึ่งโตมากับการจำกัดตัวอักษรของ Twitter และการที่ต้องเจอโฆษณาคั่นทุกๆ สามสิบวินาทีเวลาดูวิดีโอบน YouTube

ไม่ใช่แค่ความยาวของเพลงที่โดนผลกระทบโดยตรงจากวิธีคิดแบบเอาธุรกิจนำหน้าศิลปะ แต่คุณภาพและความหลากหลายของเพลงในยุคนี้ก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ เช่นกัน เดวิดเล่าให้ฟังอย่างตั้งใจว่าจริงๆ แล้ว มีดนตรีหลายประเภทที่หล่นหายไปจากการรับรู้ของมนุษยชาติซึ่งถูกลดทอนลงมาให้เป็นแค่เพียงผู้บริโภคเท่านั้น

เพลงป๊อบที่ติดหู เสพย์ง่าย ไม่ต่างอะไรกับแม็กนักเก็ตที่รสชาติเหมือนเดิมทุกครั้งที่คุณสั่งไม่ว่าจะสั่งที่สาขาไหน เมื่อใดก็ตาม ความเข้าถึงง่ายนี้แลกมาด้วยการขาดความลุ่มลึกทางรสชาติและปราศจากคุณค่าทางสารอาหาร

ผู้เขียนไม่ใช่คนเข้าใจดนตรีอย่างลึกซึ้งเท่าไหร่ แต่ก็ฟังเพลงทุกวัน และออกจะรัก Brit Pop/Rock วงดังๆ บางวง เช่น Muse เป็นพิเศษ จึงพยายามมองหาข้อดีของอุตสาหกรรมดนตรีในปัจจุบันมาค้านเพื่อทำให้บทสนทนานมีความน่าสนใจมากขึ้น

ผู้เขียนแย้งว่าการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมสมัยนิยมแยกขาดจากการลงหลักปักฐานของ mass/popular politics ไม่ได้ พูดอย่างหยาบที่สุดก็คือ อะไรที่คนส่วนมากชอบไม่จำเป็นต้องเป็นของไร้รสนิยมเสมอไป อีกแง่หนึ่ง การมองว่าอะไรที่ ‘ป๊อบ’ เป็นของฉาบฉวยไม่มีคุณค่านั้นสะท้อนความเคลือบแคลงใจของผู้วิจารณ์ใน mass culture/politics หรือเปล่า เพื่อนอีกคนหัวเราะแล้วบอกว่าไม่เคยได้ยินใครปกป้อง Muse อย่างจริงจังขนาดนี้มาก่อนในชีวิต เดวิดบอกว่านี่คือเหตุผลที่มาร์กซิสต์หันไปมองมิติทางวัฒนธรรมของระบบทุนนิยมอย่างจริงจังมากขึ้น อุตสาหกรรมบันเทิงไม่ได้แค่ผลิตสินค้าและบริการแต่ผลิตนิยามสำเร็จรูปของการมีชีวิตที่ดีและ ‘ป๊อบ’ ด้วย รสนิยมของคนส่วนใหญ่ไม่ได้บังเอิญเกิดขึ้นมาแต่ผ่านการคิดมาอย่างดีแล้วโดยฝ่ายการตลาดและฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ เขาหยุดนิ่งนิดหนึ่งก่อนจะพูดต่อ

“ส่วนคำถามที่แท้จริงเกี่ยวกับวง Muse เอาจริงๆ ฉันว่าอัลบั้มแรกๆ พอฟังได้แต่หลังๆ มานี่ ดูจะไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นออกมาเลย” เดวิดยืนยันว่า Muse เป็นวงที่ดีในแง่ของความทุ่มเท ความจริงจังกับการฝึกซ้อมทักษะดนตรี การเตรียมคอนเสิร์ต และการทำการบ้านเกี่ยวกับคอนเซปต์ของแต่อัลบั้ม “แต่ Muse ไม่มีวันเป็นวงแบบที่ Queen เคยเป็นได้ เพราะ Muse ไม่เคยหัวเราะเยาะตัวเองเลย (self-ridicule)” การหัวเราะเยาะให้กับความซีเรียสของการทำดนตรีดูจะเป็นส่วนผสมที่เดวิดมองว่าสำคัญของการเป็นวงดนตรีที่มีจิตวิญญาณที่แท้จริง ผู้เขียนไม่ได้เห็นด้วยนัก (แต่เข้าใจมากขึ้นในเวลาต่อมา) อย่างไรก็ตาม ความสนุกในการคุยกับเดวิดที่เพื่อนทุกคนเห็นตรงกันคือเขาเป็นผู้ฟังที่ดีและเปิดกว้างมากๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่ใช้ศิลปะการ agree to disagree ได้ดีมากที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยเจอเช่นกัน

ประเด็นขยับมาที่ความเป็นสากลของดนตรีกับความเฉพาะและความหลากหลายทางวัฒนธรรมดนตรีที่เดวิดอ้างว่าหล่นหายไปในกลไกการผลิตเพลงแบบสมัยใหม่ ทุกคนถามเดวิดต่อไปว่าแต่ดนตรีมันก็มีความสากล (universality) อะไรบางอย่างอยู่ในแบบเดียวกับที่ระบบจำนวณในคณิตศาสตร์มีไม่ใช่หรือ ด้วยความที่ไม่มีความรู้อะไรด้านดนตรีเลย พวกเราจึงพยายามยกตัวอย่างเท่าที่พอจะนึกออกเช่น ระบบตัวโน้ต หนึ่งห้องดนตรีมีสี่จังหวะ อะไรเทือกนั้น เดวิดทำหน้าดีใจสุดๆ ที่เพื่อนๆ ยกเรื่องนี้มาพูด เขาหยิบแก้วตรงหน้าขึ้นมาจิบอย่างใจเย็นก่อนจะพูดว่า “เอาล่ะ คำว่าดนตรีมันเคยมีความหมายกว้างกว่าเพลงแบบที่เราได้ยินตามวิทยุมากนะ” ว่าแล้วเดวิดก็เริ่มเล่าด้วยตาเป็นประกาย

เพลงสมัยใหม่อิงกับเมโลดีเป็นหลัก แต่เมื่อก่อนการมีศาสนาแบบเอกเทวนิยม โดยเฉพาะตอนยุโรปยังเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติและฤดูกาลอะไรอยู่นั้น เสียงแบบอื่นๆ ซึ่งตอนนี้เป็นแค่ noise (เสียงดังรบกวน ไม่นับเป็นดนดรีในความเข้าใจแบบปัจจุบัน) ก็ถือเป็นดนตรีรูปแบบหนึ่งด้วย แน่นอนว่าทุกคนทำหน้างงมากๆ จนเดวิดหัวเราะออกมาดังๆ “ฉันนี่โง่เป็นบ้าเลย ฮ่าๆ ไม่รู้จะอธิบายทำไมให้เสียเวลา เอาหูฟังฉันไปฟังวงนี้เลยดีกว่า” ว่าแล้วเดวิดก็รีบหยิบมือถือขึ้นมาเล่น ‘เพลง’ อะไรบางอย่างพร้อมยื่นหูฟังให้ผู้เขียนลองฟัง

หน้าจอมือถือของเดวิดปรากฏชื่อวงดนตรีชื่อ Sunn O))) (ออกเสียงว่า ซัน เฉยๆ ตัวอักษรโอข้างหลังคือสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์) แต่เสียงที่ได้ยินไม่ได้อะไรที่คนปกติจะเรียกว่า ‘ดนตรี’ เสียงเบสหนัก แต่ไม่มีจังหวะใดๆ มีความเปลี่ยนแปลงช้ามากๆ เอาเป็นว่าตอนแรกผู้เขียนคิดว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา พอเห็นสีหน้าของทุกคนที่ได้ฟัง ‘เพลง’ ที่เขาว่าเดวิดก็ยิ้มดีใจ “ฉันบอกแล้วว่าคำว่าดนตรีจริงๆ ความหมายมันเคยกว้างกว่านี้มาก” เพื่อนชาวอังกฤษอีกคนน่าจะกลัวเดวิดเสียใจจึงให้ความเห็นว่าเป็นวงที่ “conceptually interesting” จริงๆ เดวิดระเบิดเสียงหัวเราะออกมาก่อนจะตอบว่า “ถึงฉันจะถือพาสปอร์ตอังกฤษด้วยแต่ไม่ต้องห่วง ฉันรับคอมเมนต์แรงๆ ได้ ไม่ต้องอ้อมค้อมหรอกน่า” เดวิดบอกว่าเข้าใจดีถ้าทุกคนไม่ ‘เก็ต’ Sunn O))) เพราะดนตรีแบบ noise music และ drone metal นั้น ควรดูสดถึงจะได้รับรู้ประสบการณ์ทางดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ของแนวนี้ก่อนจะเสนอว่า “พวกเราไปดู Sunn O))) ที่ลอนดอนกันเถอะ”

ด้วยความงกและความจนแบบนักศึกษา พวกเราตัดสินใจจองห้องใน youth hostel ราคาถูกที่สุดซึ่งปรากฏว่าสภาพก็ไม่ได้แย่ไปกว่าค่ายลูกเสือตอนมัธยมต้นมากนัก คอนเสิร์ตหรือ gig ของ Sunn O))) จัดที่ Royal Albert Hall นอกจากเดวิด ไม่มีพวกเราคนไหนรู้จักวงดนตรีวงนี้มาก่อนและทุกคนก็ยุ่งกับการเรียนเกินกว่าจะหาข้อมูลเกี่ยวกับ noise music และ drone metal ก่อนไปชมการแสดงจริง เมื่อวันเสาร์มาถึงกลุ่มนักศึกษาของพวกเราจึงเดินถือแก้วเบียร์เข้าไปในบริเวณโถงการจัดแสดงแบบงงๆ เหมือนคนสุ่มซื้อตั๋วหนังเข้าไปโดยไม่ได้ดูภาพยนต์ตัวอย่าง อ่านบทวิจารณ์ หรือแม้แต่รู้ประเภทของหนังเรื่องที่กำลังจะเข้าชมมาก่อน เช่นเดียวกัน พวกเรารู้แต่ว่าเรามาฟังวง Sunn O))) เล่นสดซึ่งเป็นการเสพย์ noise music ที่ถูกต้องที่สุดตามที่เดวิดยืนยัน

YouTube video


บนเวทีแสดงมีแอมพลิฟายเออร์อย่างน้อยสี่ตัวตั้งตระหง่านเหมือนสโตนเฮนจ์และมีควันจากน้ำแข็งแห้งปกคลุมอยู่ทั่วจนทำให้ดูเหมือนแท่นบูชามากกว่าคอนเสิร์ต นักดนตรีสวมชุดคลุมแบบนักบวชดรูอิดส์และ ‘เพลง’ ของ Sunn O))) นั้นพูดตามตรงเป็นประสบการณ์ที่ ‘น่าสนใจ’ มากกว่าอย่างอื่น ถ้าผู้เขียนบอกว่าสนุกกับการแสดงสด ก็คงเป็นคำโกหกคำโตที่สุดนับตั้งแต่เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน อย่างไรก็ตาม พอเหลือบมองไปทางซ้ายและขวา เพื่อนคนอื่นๆ ไม่กำลังงอตัวก็เอานิ้วชี้อุดหูทั้งสองข้างของตัวเองเช่นกัน เสียงเบสของ Sunn O))) สะเทือนไปถึงอวัยวะภายในทุกชิ้นในทุกซอกช่องท้อง ความโหดร้ายมากที่สุดก็คือคุณไม่รู้ว่า ‘เพลง’ นี้เริ่มตรงไหนหรือจะจบลงเมื่อไหร่ เพราะเพลงของวงนี้ไม่เน้นการเปลี่ยนโน้ตที่ชัดเจน แต่เน้นประสบการณ์ทางร่างกายที่รุนแรงจนก่อกวนจิตวิญญาณที่คุณอาจไม่เคยรู้ว่ามีอยู่ ผู้เขียนรู้สึกทรมานจากเสียงเบสอันทรงพลังซึ่งผนวกกับเสียงกรีดร้องเป็นระยะของนักร้องนำจนต้องกระดกเบียร์ในมือให้หมดแก้วแล้วพยายามหลับตาหวังว่าเรื่องร้ายมูลค่ายี่สิบห้าปอนด์นี้จะจบลงเสียที

นักดนตรียกเครื่องดนตรีในมือของตนประสานกันกลางเวทีเป็นสัญญาณว่า พิธีกรรมบูชาเทพเจ้าที่พวกเราไม่รู้จักและไม่อยากรู้จักนี้จบลงเสียที เดวิดลุกขึ้นยืนปรบมือพร้อมพึมพำว่า “เล่นครบทุกเทคนิคอย่างไม่มีที่ติจริงๆ” ตอนเดินออกมาจากโถง เดวิดบอกว่าการแสดงวันนี้ตลกดีมาก ทุกคนเกาหัวแกรกๆ “คนพวกนี้เล่นเป็นนักบวชเพแกนบูชาซาตานอะไรแบบนี้ไง ไม่เก็ตเหรอ”

ไม่ ไม่เลย เดวิด เอาค่าตั๋วคืนได้ไหม ยี่สิบห้าปอนด์ซื้อเบียร์ได้เกือบสี่ไพนท์เลยนะ เอาเป็นว่าผู้เขียนไม่ได้มีปัญหาอะไรถ้า ‘ดนตรี’ แบบนี้อาจจะตกหล่นไประหว่างกงล้อประวัติศาสตร์และบางทีทุนนิยมอุตสาหกรรมดนตรีอาจไม่ได้แย่มากนัก

อ้างอิง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save