fbpx

ฮาดี อาหวัง ชายบนยอดคลื่นสีเขียว

MOHD RASFAN / AFP: ภาพประกอบ

ข่าวการเข้าโรงพยาบาลอย่างกะทันหันของ อับดุล ฮาดี อาหวัง (Abdul Hadi Awang) หัวหน้าพรรคพาส (PAS: Parti Islam Se-Malaysia) วัย 76 ปี เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม เป็นข่าวใหญ่ที่สร้างการคาดคะเนทางการเมืองต่างๆ นานาไปทั่วทั้งมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความมั่นคงของพรรคพาส พรรคอิสลามหนึ่งเดียวของประเทศ

ผู้สนับสนุนพรรคพาสคงปริวิตกไม่น้อยเมื่อบุตรชายคนหนึ่งของฮาดีประกาศเรื่องอาการป่วยของพ่อผ่านโซเชียลมีเดีย  ขอร้องให้สาธารณะช่วยสวดมนต์ให้พ่อของเขา ผู้เป็นคนไข้โรคหัวใจที่ผ่านการผ่าตัดมาแล้วมากกว่าหนึ่งครั้ง ครั้งนี้เขาล้มป่วยการติดเชื้อกะทันหันในวันรายออีดิลอัฏฮา อันเป็นวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม หลังจากร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับกลุ่มยุวชนพรรค

ฮาดีล้มป่วยในเวลาที่ไม่ควรป่วย และเป็นเวลาที่การเมืองมาเลเซียแหลมคมอย่างยิ่ง เพราะเวลานี้พรรคการเมืองทุกพรรคในมาเลเซียกำลังหาเสียงอย่างดุเดือดสำหรับการเลือกตั้งระดับรัฐทั้งหมดห้ารัฐที่กำลังจะมาถึง ทั้งห้ารัฐนั้นได้แก่ สลังงอร์ กลันตัน ตรังกานู เนอเกอรีเซิมบีลัน เคดะห์ และปีนัง ซึ่งไม่ได้จัดการเลือกตั้งพร้อมๆ กับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนรัฐบาลของรัฐจะหมดวาระเดือนกันยายนปีนี้ การเลือกตั้งระดับรัฐครั้งนี้เข้มข้นดุเดือดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวบ่งชี้สถานะความเข้มแข็งทางการเมืองที่แท้จริงของรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim)  

หากรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำเสียอำนาจการจัดตั้งรัฐบาลในรัฐของตนให้ฝ่ายตรงข้าม ย่อมแสดงถึงความไม่มั่นคงของรัฐบาลที่อาจล่มก่อนหมดวาระ แน่นอนว่าส่งผลกระทบชิ่งไปซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจและค่าเงินที่กัดกร่อนประเทศอยู่ในเวลานี้ ในขณะเดียวกัน ถ้าแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านเสียรังวัดให้ฝ่ายรัฐบาลที่กำลังรณรงค์หาเสียงอย่างหนัก ก็เท่ากับว่าความฝันที่จะช่วงชิงอำนาจทางการเมืองกลับย่อมจะลอยออกไปห่างไกลเกินเอื้อม

ถึงแม้ว่าแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน เปอริกาตัน เนชันแนล (Perikatan Nasional: PN) จะมีอดีตนายกรัฐมนตรี มูห์ยีดดีน ยาซซีน (Muhyiddin Yassin) ประธานพรรคเบอร์ซาตู (Bersatu: Parti Pribumi Bersatu Malaysia) เป็นหัวหน้า แต่ฮาดี อาหวัง  มักเป็นผู้แสดงการนำและกำหนดวาระการเมืองที่โดดเด่นด้วยวาทะที่มักสร้างความอื้อฉาวเป็นระยะๆ 

ฮาดีเป็นนักการเมืองสายอิสลามนิยมที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาหลายทศวรรษ เป็นผู้นำที่กำหนดกรอบทางการเมืองของพรรคพาสและลามไปถึงแนวร่วม PN ทั้งหมด โดยใช้วาทกรรมอิสลามนิยม-มลายูนิยมโจมตีแนวร่วมพรรครัฐบาลปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan: PH) ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อย่างรุนแรงโจ๋งครึ่มมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปและไม่มีทีท่าที่จะลดลาวาศอก จนสร้างความวิตกในหมู่ชาวมาเลเซียหลายกลุ่มว่า การเติบโตของขั้วการเมืองแบบอิสลามสุดโต่งจะกระตุ้นความขัดแย้งทางสังคมให้ลงลึกมากขึ้น

ฮาดี อาหวัง เป็นใคร มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? 

ฮาดี อาหวัง
ภาพโดย AFP PHOTO / MANAN VATSYAYANA

ฮาดีเกิดที่รัฐตรังกานูใน พ.ศ. 2490 โดยมีบิดาเป็นครูสอนศาสนาและนักกิจกรรมทางการเมืองของพรรค Hizbul Muslimin Terengganu ซึ่งเป็นพรรคการเมืองอิสลามเก่าแก่ของมาเลเซียที่ตั้งขึ้นสมัยมลายาภายใต้อังกฤษ แต่ได้ยุติบทบาทไปแล้วในปัจจุบัน ฮาดีเดินตามรอยบิดาด้วยการเข้าโรงเรียนสอนศาสนาในชุมชนจนจบมัธยมปลาย ก่อนจะได้รับทุนรัฐบาลซาอุดิอาระเบียเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีในสาขากฎหมายอิสลามที่มหาวิทยาลัย Islamic University of Madinah เขาใช้เวลาสี่ปีในซาอุดีอาระเบียก่อนจะเดินทางไปต่อปริญญาโทสาขารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Al-Azhar University มหาวิทยาลัยอิสลามเก่าแก่ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์จนจบการศึกษาใน พ.ศ. 2519

มาเลเซียช่วงทศวรรษ 1970 คึกคักไปด้วยกิจกรรมทางการเมืองของคนหนุ่มสาวทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ในช่วงนั้น พอฮาดีกลับมาเลเซียไม่นาน บิดาของเขาก็เสียชีวิตลง เขาจึงรับหน้าที่เป็นครูสอนศาสนาแทนพ่อ จากนั้นไม่นานหลังจากกลับมาเลเซียใน พ.ศ. 2520 ฮาดีก็เข้าร่วมขบวนการยุวชนมุสลิมแห่งมาเลเซีย หรือ ABIM (Angkatan Belia Islam Malaysia) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia) และที่นั่น เขาก็ได้พบกับอันวาร์ อิบราฮิม นักศึกษาหนุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง ABIM

บางครั้งชีวิตจริงก็ยิ่งกว่านิยาย ในวัยเริ่มต้นชีวิต ฮาดีและอันวาร์เป็นสหายร่วมรบภายใต้อุดมการณ์ฟื้นฟูศาสนาอิสลาม (Islamic Revivalism) ที่เรียกร้องให้ชาวมุสลิมอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งในชุมชนศาสนาโดยไม่มีพรมแดนขวางกั้น กลับเข้าหาคำสอนที่แท้จริงของอิสลาม และมุ่งหน้าเผยแพร่ศาสนาอิสลามผ่านการทำงานทางสังคม เช่นการช่วยเหลือผู้ยากไร้และเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ผู้ด้อยโอกาส

ช่วงปลายทศวรรษ 1970 องค์กรของคนหนุ่มสาวมุสลิมอย่าง ABIM เป็นที่จับตามองของแนวร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคอัมโน (UMNO: United Malays National Organisation) เมื่อพรรคพาสถอนตัวออกจากแนวร่วมรัฐบาลและร่วมมือกับ ABIM ทั้งในทางอุดมการณ์ศาสนาและการเมือง ใน พ.ศ. 2521 ฮาดีร่วมกิจกรรมพรรคพาสด้วยการสอนหนังสือในโรงเรียนสอนศาสนาของพรรคแห่งหนึ่ง แต่ชีวิตในฐานะนักการเมืองของเขาก็ยังไม่เริ่มต้น จนกระทั่งเกิดเหตุใหญ่ใน ABIM ห้าปีต่อมา

ใน พ.ศ. 2526 นายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ซึ่งในขณะนั้นเป็นประธานพรรคอัมโนประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวอันวาร์ อิบราฮิม ประธาน ABIM เข้าพรรคอัมโนได้สำเร็จ อันวาร์คนหนุ่มไฟแรงได้รับการยอมรับนับถือในหมู่เยาวชนนักกิจกรรมมุสลิมมาเลเซียและนานาชาติ เป็นนักปราศรัยทางการเมืองที่เก่งฉกาจ และเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงอันดับหนึ่งของขบวนการนักศึกษาอิสลาม การดึงอันวาร์เข้าพรรคได้สำเร็จเป็นการหักเหลี่ยมเฉือนคมกับพรรคพาสได้อย่างเจ็บปวดอย่างที่ไม่มีใครทำได้นอกจากมหาเธร์

แต่ในขณะที่อัมโนได้ตัวอันวาร์ พาสก็ได้ฮาดีและพวกไป เขาและนักกิจกรรมจาก ABIM อีกสองคนตัดสินใจเข้าร่วมพรรคพาส ผันตัวเป็นนักการเมืองเต็มตัว การตัดสินใจของคนทั้งสามสร้างความแข็งแกร่งให้พาสไม่น้อย เพราะไม่นานคนหนุ่มแกนนำของ ABIM จำนวนหนึ่งก็ตามเข้าพรรค ฮาดีลงสนามเลือกตั้งในรัฐตรังกานูได้ชัยชนะในปีเดียวกัน ในขณะที่อันวาร์ชนะเลือกตั้งที่ปีนังบ้านเกิด และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในโควตาของพรรคอัมโนทันที ณ จุดนั้นเองที่อดีตเพื่อนร่วมอุดมการณ์แยกทางกัน       

ไม่นาน ทั้งฮาดีและอันวาร์ก็ก้าวขึ้นเป็นนักการเมืองระดับหัวกะทิของพรรคตน ฮาดีมีผลงานเข้าตาผู้อาวุโสในพรรคพาส  แม้ว่าเขาจะสังกัดพรรคฝ่ายค้าน แต่จังหวะก้าวทางการเมืองภายในพรรคก็เติบโตอย่างรวดเร็ว สิบปีผ่านไป เขาได้รับตำแหน่งรองประธานพรรค จากนั้นใน พ.ศ. 2545 เมื่อประธานพรรคคนเก่าเสียชีวิตลง ฮาดีก็ก้าวสู่ตำแหน่งประธานพรรคจนถึงปัจจุบัน 

ในขณะที่ทางเดินของฮาดีเคร่งครัดเป็นเส้นตรงตามแนวทางของพาส อันวาร์กลับเป็นเหมือนแมวเก้าชีวิต โตแล้วตายแล้วโตอีกหน จนกระทั่งเส้นทางของคนทั้งสองมาบรรจบกันอีกครั้งหลังผ่านไป 40 ปี ทว่ากลับเป็นการบรรจบในฐานะศัตรูทางการเมืองและศัตรูอุดมการณ์ที่แยกมาเลเซียออกเป็นสอง

ในฐานะพรรคอิสลามเพียงพรรคเดียวที่อยู่มายาวนานในประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และถูกมองจากประชาคมโลกว่าเป็นประเทศมุสลิมสายกลาง แนวทางของพรรคพาสจึงเป็นที่สนใจของนักวิเคราะห์ทั้งในและต่างประเทศเสมอมา  พาสผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งแต่ก่อนประกาศเอกราช แม้ในพรรคเองจะยึดอุดมการณ์ศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่งานวิชาการบางชิ้นระบุไว้ว่า แนวความคิดภายในพรรคในอดีตก็แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม นั่นคือกลุ่ม ‘reformist’ ที่มาจากสายอาชีพ เช่น อดีตนักวิชาการ และอดีตข้าราชการ ผู้หวังจะปฏิรูปพรรคให้เป็นพรรคอิสลามสายกลาง กับกลุ่ม ‘purist’ ที่ส่วนใหญ่เป็นครูสอนศาสนาซึ่งยึดมั่นแนวทางของรัฐอิสลามอย่างเคร่งครัด 

ใน พ.ศ. 2551 พาสเข้าร่วมกับแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านกับพรรคพีเคอาร์ (PKR: People’s Justice Party) ที่มีอันวาร์เป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ และพรรคดีเอพี (DAP: Democratic Action Party) ที่มีฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยครั้งหนึ่งที่ผ่านมา พาสเป็นพรรคการเมืองที่สามารถจับมือทำงานร่วมกับพรรคต่างเชื้อชาติและอุดมการณ์ได้โดยที่ไม่มีข้อวิจารณ์ว่าทำผิดหลักศาสนา 

ลิม กิต เซียง (อดีตหัวหน้าพรรค DAP) / อันวาร์ อิบราฮิม / ฮาดี อาหวัง ในปี 2551
ภาพโดย AFP PHOTO/KAMARUL AKHIR

แต่ในที่สุดอำนาจของกลุ่ม reformist ในพรรคพาสก็ถูกช่วงชิงโดยเหล่าอูลามาของกลุ่ม purist ที่ออกเสียงในการประชุมใหญ่พรรคให้พาสถอนตัวจากแนวร่วมฝ่ายค้านใน พ.ศ. 2558 โดยหัวหอกของการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือฮาดี อาหวัง เป็นเหตุให้แกนนำสายกลางในพรรคหลายคนลาออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ขณะที่ฮาดีสามารถทำให้พรรคพาสอยู่ในมือของอูลามาสาย purist แต่นั้นเป็นต้นมา

งานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า ฮาดีเชื่อว่าพรรคพาสจะต้องเป็นพรรคที่นำโดยผู้ที่มีความรู้ด้านศาสนาอิสลามหรืออูลามาเท่านั้น และพาสจะสามารถเติบโดได้โดยไม่ต้องอาศัยกลุ่มมืออาชีพ ฮาดียืนยันตัดสินใจทางการเมืองด้วยอุดมการณ์และวิธีการมองการเมืองส่วนตัวของตนเองโดยที่บ่อยครั้งขัดแย้งกับเพื่อนร่วมพรรคของตน จนสมาชิกพรรคบางคนมองว่าเขาเป็นคนเย่อหยิ่งจองหอง 

หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ฮาดีพลาดหวังอย่างหนักจากการที่แนวร่วมของเขาไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เขาเดินหน้าใช้ประเด็นเชื้อชาติและศาสนากล่าวโจมตีแนวร่วมปากาตัน ฮาราปันอย่างรุนแรงขึ้นทุกที และบางครั้งก็ลามไปถึงสถาบันกษัตริย์ เช่นครั้งหนึ่งในระหว่างความสับสนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจากการที่ไม่มีฝ่ายได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาฯ จนเปิดทางให้สถาบันสุลต่านเข้ามาเป็นตัวกลาง ฮาดีก็ตั้งคำถามในการแถลงข่าวว่า มันยุติธรรมหรือไม่ ถ้าในการแข่งขันเวิลด์คัพ กรรมการจะต่อเวลาให้ฝ่ายแพ้ โดย ‘กรรมการ’ ในที่นี้หมายถึงสมเด็จพระราชาธิบดี และ ‘ผู้แพ้’ คือแนวร่วมปากาตันฮาราปันของอันวาร์ อิบราฮิม ผู้กำลังจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

อูลามาพรรคพาสท้าทายสถาบันสุลต่านทั้งในระดับประเทศและระดับรัฐต่างกรรมต่างวาระ ตามรัฐธรรมนูญของมาเลเซีย  สมเด็จพระราชาธิบดีซึ่งเป็นองค์ประมุขของรัฐ ถือเป็นองค์อุปถัมภ์สูงสุดของศาสนาอิสลามของประเทศด้วย แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมขัดต่อแนวคิดในการผลักดันให้มาเลเซียเปลี่ยนจากรัฐโลกวิสัย (secular state) เป็นรัฐอิสลาม (Islamic state) ที่เป็นอุดมการณ์ของพรรค การ ‘ลองของ’ จึงเกิดขึ้นเป็นระยะ

ฮาดีนำพรรคพาสเปิดศึกสองด้าน ทั้งต่อรัฐบาลอันวาร์และสถาบันสุลต่าน แม้เป็นศึกที่ดูเกินกำลัง แต่ฮาดีอาจมั่นใจอยู่ไม่น้อยว่าพลัง ‘คลื่นสีเขียว’ (Green Wave) หรือคลื่นของชาวมุสลิม ผู้มีสิทธิออกเสียงที่ลงคะแนนสนับสนุนพรรคพาสและเบอร์ซาตูอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งระดับรัฐใน พ.ศ. 2561 จนชนะในรัฐกลันตัน เปอร์ลิส และตรังกานู จะออกมาลงคะแนนให้อีกครั้งในการเลือกตั้งระดับรัฐครั้งนี้ พาส-เบอร์ซาตู ทุ่มเทพลังพยายามเจาะไข่แดงของรัฐปีนังและสลังงอร์ภายใต้พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งถ้าหากพาส–เบอร์ซาตูรักษารัฐของตนเองและยึดที่นั่งของสภาระดับรัฐในปีนังและสลังงอร์ได้ในขณะนี้ ย่อมเป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนถึงพลังของพรรคพาส และความไม่มั่นคงของแนวร่วมพรรครัฐบาล

ฮาดี อาหวังออกจากโรงพยาบาลหลังจากใช้เวลาในห้อง CCU ท่ามกลางความโล่งใจของนักการเมืองพรรคพาสทั้งหลาย  นาทีนี้ คนอย่างฮาดีคงปรารถนาจะเป็นผู้ยืนเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดคลื่นสีเขียวที่กวาดถล่มรัฐบาลและใครก็ตามที่ขวางหน้าอุดมการณ์ของตน

ทุกฝ่ายในมาเลเซียเชื่อกันว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปในรัฐทั้งห้าจะตีกรอบการเมืองมาเลเซียภายใต้รัฐบาลอันวาร์ และจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสถาบันต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง ผลที่ได้อาจช่วยย้ำความมั่นคงของรัฐบาล หรืออาจเป็นสิ่งตรงข้าม  หรือหากไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็จะย้ำเตือนอีกครั้งว่า มาเลเซียยังแบ่งเป็นสองขั้วอย่างที่ยังมองไม่เห็นว่าจะสมานรอยแยกได้อย่างไร


เอกสารอ้างอิง

https://bnn.network/breaking-news/hadi-admitted-to-hospital-concerns-rise-over-pas-presidents-health/

http://eprints.usm.my/41922/1/Rencana_ttg_PAS.pdf

https://www.malaysiakini.com/news/645966

https://newslab.malaysiakini.com/greenwave-state-polls/en/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save