fbpx
ฟุตบอลกีฬาแห่งรากหญ้า ที่ไม่ได้รากหญ้าอย่างที่คิด

ฟุตบอลกีฬาแห่งรากหญ้า ที่ไม่ได้รากหญ้าอย่างที่คิด

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

 

“นักฟุตบอลหญิงในอังกฤษนั้นแตกต่างจากนักฟุตบอลผู้ชายอยู่อย่าง

ตรงที่พวกเธอไม่มีใครมาขอเซ็นต์สัญญาหลายล้านปอนด์ก่อนพวกเธออายุครบสิบหกปี”

แจ็ค เบอร์นาร์ด

นักเขียนและคอลัมนิสต์แนวตลกเสียดสีของอังกฤษ

 

1

 

ผมเป็นคนไม่ค่อยได้ดูฟุตบอลเท่าไหร่ พบว่าพอแก่แล้ว ความหวงแหนเวลานอนนั้นมีมากกว่าอย่างอื่น การอดตาหลับขับตานอนเพื่อดูฟุตบอลตอนตีสองแล้วตื่นมาตอนเช้าเพื่อใช้ชีวิตเหมือนช่วงวัยหนุ่มนั้นเป็นเรื่องฝันเฟื่องที่ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ฟุตบอลกับผมเลยเป็นเพื่อนที่ไม่ค่อยสนิทกันเหมือนแต่ก่อนและดูเหมือนจะห่างเหินไปทุกที

 

แต่แม้ว่าความสนใจในเกมจะลดลง แต่มิติทางวัฒนธรรมที่ฟุตบอลเข้าไปแตะต้องกับส่วนอื่นๆ ของสังคมกลับเป็นเรื่องที่ผมสนใจมากขึ้น ผมเริ่มตั้งคำถามกับฟุตบอลว่าทำไม และอะไรทำให้ฟุตบอลกลายเป็นกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะวัดจากตัวเลขทางธุรกิจ (ดูจากเงินรางวัลของฟุตบอลโลกปีนี้ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์) หรือวัดจากความนิยมในกีฬาชนิดนี้ ฟุตบอลน่าจะเป็นกีฬาประเภทเดียว ที่สามารถสร้างอาณาจักรขึ้นมาเป็นของตัวเองและแทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของชีวิตเราได้จริงๆ ผมมีเพื่อนบางคนตัดสินใจซื้อยางรถยนต์เพราะมีนักเตะที่เขาชอบเป็นพรีเซ็นเตอร์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสามารถในการเกาะถนนแต่ประการใด

ฟุตบอลได้สร้างตัวเองจากเกมกีฬามาเป็นความเชื่อ เป็นธุรกิจข้ามชาติ เป็นแบรนด์และสำหรับใครหลายคนฟุตบอลเป็น “ทั้งชีวิต” ของเขาเลยก็ว่าได้

ผมเคยคุยกันในหมู่เพื่อนฝูงว่าอังกฤษทุกวันนี้ อยู่ได้ด้วยสินค้าส่งออกสามอย่างคือ มหาวิทยาลัย วิสกี้ และฟุตบอล อังกฤษเริ่มเล่นฟุตบอลกันอย่างจริงจังมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 (ก่อนสมัยสุโขทัยโน่น) ปัจจุบันอังกฤษเป็นประเทศที่มีสมาคมฟุตบอลจดทะเบียนกว่า 40,000 สโมสร ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก (อันดับสองที่ตามมาอย่างห่างๆ คือบราซิลซึ่งมีอยู่ราว 29,000 สโมสร) สำหรับคนอังกฤษไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบฟุตบอล วัฒนธรรมฟุตบอลก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคุณเกือบทั้งหมด ถือเป็นหนึ่งสินค้าทางวัฒนธรรมที่สำคัญมากของประเทศ รัฐบาลอังกฤษได้รายได้จากธุรกิจนี้ไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี ธุรกิจการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทำรายได้กว่า 27,000 ล้านบาทต่อปี นี่ยังไม่นับรวมกับค่าลิขสิทธิ์ของสโมสรและนักเตะที่ได้จากการเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าต่างๆ อีก หรือธุรกิจรับพนัน คลับ บาร์ ฯลฯ

หันมาดูฟุตบอลโลกที่เริ่มเตะกันสัปดาห์นี้ เรียกได้ว่าศักดิ์ศรีแทบไม่แตกต่างจากโอลิมปิก มูลค่าของการลงทุนนั้นสูงมาก เต็มไปด้วยผลประโยชน์ ทั้งหมดนี้ยิ่งเสริมสร้างสร้างวัฒนธรรมฟุตบอลให้แข็งแกร่งขึ้นไปอีก

แต่เราก็ลืมไปว่าในอีกมิติหนึ่งวัฒนธรรมฟุตบอลก็ทิ้งโลกอีกครึ่งหนึ่งไว้ข้างหลัง เพราะฟุตบอลไม่ได้มีที่นั่งมากนักสำหรับผู้หญิง

 

2

 

มีการตั้งคำถามถึงความสำเร็จของฟุตบอลว่ามาจากอะไร นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาหลายคนก็ลงความเห็นคล้ายๆ กันครับว่า ด้วยรูปแบบของฟุตบอลที่เรียบง่ายทั้งการนับแต้ม (ทำประตูได้นับเป็น 1 แต้ม) กติกาที่ไม่ซับซ้อนเรียกว่าแค่ดูหนแรกก็เข้าใจ ทำให้เข้าถึงคนหมู่มากได้ง่าย อีกประการหนึ่งคือมันเป็นกีฬาที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ (human need) ได้ตรงเป้าที่สุด นั่นคือมันเข้ามาแทนที่การทำสงคราม วัฒนธรรมฟุตบอลได้หยิบยืมรูปแบบหลายอย่างมาจากรูปแบบการทำสงคราม ทั้งรูปแบบการเล่น ทั้งการกำหนดสี การสร้างตราสัญลักษณ์ การใช้คำ ที่เลียนแบบมาจากการรบพุ่ง การที่โค้ชต้อง “กำหนดกลยุทธ์” แบบแผนของการสอน หรือการบ่มเพาะความเป็นชาย สร้างคุณค่าเรื่องของการสู้กันอย่างยุติธรรม ความมีน้ำใจ การรู้แพ้รู้ชนะ การรู้หน้าที่ของตัวเองในแต่ละตำแหน่ง กระทั่งภาพของการลงแข่งขันในสนามฟุตบอล ก็ไม่ได้แตกต่างจากการเข้าสู่โคลีเซียม ของเหล่ากลาดิเอเตอร์

และในอดีตฟุตบอลใช้ต้นทุนน้อยกว่ากีฬาประเภทอื่นๆ คุณลองนึกถึงเด็กผู้ชายสักคนที่อยากเป็นนักเทนนิสกับอยากเป็นนักฟุตบอลสิครับ

หรือเทียบกับกีฬาที่คล้ายๆ กันก็ได้ เช่น รักบี้ (ลงทุนเรื่องความแข็งแกร่งทางร่างกายมากกว่า) ฟุตบอลนั้นเรียบง่ายและสร้างการมีส่วนร่วมได้มากเพราะใช้แรงงานในสังคมเยอะ หลังๆ เลยกลายเป็นกลยุทธ์ในการสร้างพรรคของนักการเมืองได้เป็นอย่างดี

นั่นเป็นเหตุผลและปัญหาที่ตามมาคือเมื่อสังคมยุคใหม่มองว่านี่เป็น “กีฬา” อย่างหนึ่งแล้วมันพอจะมีที่สำหรับผู้หญิงบ้างไหม

คุณผู้อ่านคิดว่ายังไง-สำหรับผมแล้วนี่เป็นเรื่องท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งไม่แพ้กับการส่งยานไปสำรวจดาวอังคารเพราะการจะเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยเป็นอาณัติของผู้ชายมาโดยตลอดประวัติศาสตร์ให้กับผู้หญิงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะรากฐานทั้งหมดล้วนพัฒนามาจากเงื่อนไขของผู้ชายป็นหลัก

หลักการคิดแบบ copy&paste ที่จะยกเอาโมเดลฟุตบอลชายมาไว้ในโลกผู้หญิงจึงไม่ใช่คำตอบ

ปัญหานี้เกิดขึ้นแทบจะทุกระดับของวัฒนธรรมฟุตบอลนะครับ ไม่ต้องไปมองไกลถึงการทำฟุตบอลลีกสำหรับผู้หญิง เอาแค่ว่าผู้หญิงที่มีบทบาทในธุรกิจฟุตบอล ก็น้อยมากและถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอดในทุกระดับ ตั้งแต่กรรมการ แพทย์สนาม เธอราพีส แม้กระทั่งในบอร์ดของฟีฟ่าเองเพิ่งจะมีสมาชิกบอร์ด (Executive Committee) เป็นผู้หญิงคนแรกก็เมื่อปี 2013 นี่เอง (Lydia Nsekera อ่านต่อได้ที่นี่) นิวยอร์ก ไทม์ส ก็เคยวิจารณ์เรื่องนี้ไว้ในช่วงที่มีข่าวคดีการทุจริตกันในฟีฟ่าว่า ฟีฟ่ามีสมาชิกที่เป็นผู้หญิงน้อยเกินไป โดยในระดับโลกมีไม่ถึงร้อยละ 1 และระดับประเทศมีไม่ถึงร้อยละ 2 กล่าวได้ว่าสัดส่วนของผู้หญิงในแวดวงฟุตบอลนั้นล้าหลังกว่าแวดวงทหารเสียอีก

บทบาทของผู้หญิงในกีฬาฟุตบอลจึงดูเป็นสิ่งแปลกปลอม ผู้หญิงในแวดวงฟุตบอลจึงโดนทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องอคติทางเพศ ค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมกัน ไปจนถึงการคุกคามทางเพศ สิ่งที่ท้าทายกว่าจึงไม่ใช่การตั้งลีกฟุตบอลหญิง แต่เป็นการเปลี่ยนทัศนคติของคนให้หันมาให้ความสำคัญกับฟุตบอลหญิง การเข้าไปดูฟุตบอลหญิง การตามเชียร์ทีมฟุตบอลหญิงที่ตัวเองชอบ ฯลฯ มิติทางสังคมว่ายากแล้ว มิติในมุมธุรกิจยิ่งกว่าครับ บอกตามตรงว่าจนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังคิดไม่ออกว่า ใครกันที่เป็นกลุ่มแฟนของฟุตบอลหญิง และจะทำอย่างไรให้ผู้ชายที่เคยดูฟุตบอลชายหรือผู้หญิงที่ไม่เคยสนใจกีฬาฟุตบอลหญิง หรือผู้หญิงที่ไม่เคยสนใจกีฬาหันมาให้ความสำคัญกับกีฬาฟุตบอล เริ่มเห็นความสำคัญของการมีทีมฟุตบอลหญิงในฐานะที่เป็นทั้งความบันเทิง และเป็นการเรียกร้องทางสังคมและเป็นทั้งการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

ยากมากกกก (ช่วยเติม ก ไก่ให้สักสามล้านตัว) แม้กระทั่งฟุตบอลลีกสำหรับผู้หญิงที่ถือว่าประสบความสำเร็จที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาก็เริ่มสงสัยถึงอนาคตของ NWSL (National Women Soccer League) ว่ามันจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนหรือเปล่า เพราะยอดของคนดูลดลง ผู้สนับสนุนก็ลดลงเรื่อยๆ

คำถามเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเฉพาะสหรัฐอเมริกานะครับ ในอังกฤษเอง ประเทศที่ธุรกิจฟุตบอลเติบโตสูงสุดก็มีการพูดถึงเรื่องนี้ในเชิงลึกว่าทำไม นักฟุตบอลหญิงถึงไม่สามารถก้าวขึ้นมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่ได้นักฟุตบอลชายหรือมีชื่อเสียงเหมือนกับนักกีฬาหญิงประเภทอื่นๆ อย่างเช่น เทนนิส กอล์ฟ หรือวอลเลย์บอล คำตอบที่เขาได้กันมาจากการลงไปเก็บข้อมูล ก็พบว่าส่วนมากมาจากกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (socialization) ในโรงเรียนที่ดูผิดทิศผิดทาง ยกตัวอย่างเช่น ในโรงเรียนไม่มีโค้ชฟุตบอลที่เป็นผู้หญิง เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วความเข้าใจเรื่องกายภาพและข้อจำกัดต่างๆ จึงมีน้อยตามไปด้วย ประการถัดมาเด็กผู้หญิงส่วนมากที่มีแววในการเล่นฟุตบอลมักถูกมองว่าเป็นพวกเบี่ยงเบนทางเพศ ย่ิงหากเริ่มเข้าสู่วัยสาวด้วยแล้ว ส่วนมากผู้หญิงบางคนแม้จะชอบกีฬาประเภทนี้ก็ไม่ค่อยจะกล้าเล่นเพราะทัศนคติของสังคมมองนักฟุตบอลหญิงแตกต่างจากนักกีฬาประเภทอื่นๆ ฉะนั้นคนที่มีแววเป็นนักกีฬา แม้ว่าอาจชอบฟุตบอล แต่ท้ายที่สุดอาจลงเอยด้วยกีฬาประเภทอื่นๆ มากกว่า

หนังสือพิมพ์ The Guardian เคยไปสัมภาษณ์เด็กผู้หญิงในอังกฤษที่ชอบเล่นฟุตบอลคนหนึ่ง เธอบอกว่าถูกเข้าใจผิดว่าเป็นทอมบอยเพราะแค่อยากเล่นฟุตบอล

 

3

 

ผมว่าฟีฟ่าเองก็มีความพยายามในการจัดตั้งฟุตบอลหญิงขึ้นมา ด้วยหลักคิดง่ายๆ เหมือนบริษัทขายเครื่องสำอางคือ “ขยายตลาด” ของคนดูให้กว้างออกไป เช่นเดียวกับกีฬาประเภทอื่นๆ แต่ดูเหมือนข้อจำกัดนั้นยากกว่าผู้ชายมาก เพราะหลายสังคมปฎิบัติต่อผู้หญิงแตกต่างกันไป และไม่สามารถทำให้เป็นสากลได้จริงๆ เหมือนผู้ชาย ยกตัวอย่างเช่น การเห็นผู้หญิงในประเทศมุสลิมต้องใส่ฮิญาบลงเล่นฟุตบอลจนสุดท้ายฟีฟ่าเองก็ไม่เห็นด้วยกับการแต่งกายเช่นนี้

ที่มากกว่านั้นคือ แม้จะพยายามให้เกิดการเรียกร้องสิทธิสตรีมากแค่ไหน แต่สัญลักษณ์นี้ก็ดูจับเคลื่อนลำบากเหลือเกิน เพราะส่วนอื่นของสังคมดูเหมือนไม่ได้ขับเคลื่อนไปตามสิ่งที่มันควรจะเป็น ดังที่ แจ็ค เบอร์นาร์ด นักเขียนและคอลัมนิสต์แนวตลกเสียดสีของอังกฤษ กล่าวไว้ว่า “นักฟุตบอลหญิงในอังกฤษนั้นแตกต่างจากนักฟุตบอลผู้ชายอยู่อย่าง ตรงที่พวกเธอไม่มีใครมาขอเซ็นต์สัญญาหลายล้านปอนด์ก่อนพวกเธออายุครบสิบหกปี”

ต่อให้ไปถึงรากหญ้าแค่ไหน ก็ไม่พอที่จะทำให้ฟุตบอลเป็นกีฬาของทุกคนได้จริงๆ

 

หากใครมีข้อเสนอแนะหรือความคิดเห็นกับเรื่องนี้ ผมยินดีออยากแลกเปลี่ยนนะครับ เพราะคิดว่าน่าจะดีหากเราจะได้เห็นพื้นที่ของผู้หญิงที่มีมากขึ้นในโลกของกีฬา

 

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/football/2017/mar/21/womens-football-needs-to-stand-on-its-own-readers-on-the-fas-new-plans

https://www.theguardian.com/notesandqueries/query/0,,-200765,00.html

https://www.bloomsbury-international.com/blog/2014/05/16/british-culture-why-is-football-so-popular-in-england/

https://www.theguardian.com/education/2008/may/01/universityguide.anthropology

https://www.quora.com/From-an-anthropological-perspective-what-do-you-see-in-the-Super-Bowl

http://scholarship.claremont.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1168&context=cmc_theses

https://www.jstor.org/stable/1412309?seq=1#page_scan_tab_contents

https://www.nytimes.com/2015/11/20/opinion/fifa-needs-more-women.html

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save