fbpx
Fauxpology: ขอโทษตอแหล

Fauxpology: ขอโทษตอแหล

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

การขอโทษมีด้วยกันหลายแบบ

ที่จริงแล้ว การขอโทษเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ไม่เพียงต้องฝึกเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นการแสดงออกที่มาจากเบื้องลึกของหัวจิตหัวใจอย่างแท้จริงด้วย

คำขอโทษประเภท “ขอโทษด้วยก็แล้วกัน” ไม่เพียงมีนัยบ่งชี้ว่า ผู้ขอโทษไม่ได้สำนึกในความผิดของตัวเอง แต่คำพูดสั้นๆ ประโยคนี้ แสดงให้เห็นสำนึกซับซ้อนของผู้พูด ว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่ ‘เหนือกว่า’ และยอม ‘ลดตัว’ ลงมากล่าวคำขอโทษ ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดในวลี ‘ก็แล้วกัน’ ประหนึ่งว่าแม้ในการขอโทษนั้น ก็ยังเป็นการทำบุญทำคุณให้ และผู้ที่รับคำขอโทษ ก็จำต้องยอมรับมันโดยดุษฎี

ในบทความนี้ของ The Atlantic บอกว่าคำขอโทษที่ลือลั่นที่สุดในโลก – ลือลั่นว่าไม่ใช่การขอโทษ, ก็คือคำขอโทษของ บิล คลินตัน ในกรณีโมนิกา ลูวินสกี้ โดยคลินตันบอกว่า การกระทำของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ ‘ผิด’ และเป็น ‘ความล้มเหลวส่วนบุคคล’ ซึ่งเขาจะต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ เขาบอกด้วยว่า มันคือการที่เขาชักนำบุคคลอื่นไปในทางที่ผิด แล้วเขาก็บอกว่า “I deeply regret that” ซึ่งถ้าอ่านดูจากตัวอักษรแล้ว มันฟังดูเหมือนการรับสารภาพยอมรับผิดนั่นแหละ

สำหรับหลายคน นี่เป็นคำขอโทษที่แม้ยอมรับได้ – แต่ก็ยังมีอะไรบางอย่างตะขิดตะขวงใจอยู่ในคำขอโทษนั้น เพราะมันใช้ศัพท์แสงที่อ้อม มันไม่ใช่การ ‘ขอ’ รับโทษ แต่เป็นเพียงการบอกว่าตัวเขา regret ซึ่งก็คือเสียใจ

ในวงการนักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องการขอโทษ (psychology of apologies) ยังถกเถียงกันต่อมาอีกเกือบยี่สิบปี ว่านี่คือการขอโทษหรือเปล่า หรือโดยเนื้อแท้แล้ว นี่ตัวอย่างของวิธีขอโทษแบบไม่ต้องขอโทษกันแน่ สัดส่วนของความ ‘สำนึกผิด’ ที่ปรากฏในคำพูดของ บิล คลินตัน นั้น มีอยู่มากน้อยแค่ไหนกันแน่

การขอโทษโดยไม่ได้ขอโทษนั้น มีศัพท์เรียกหลายอย่าง เช่น non-apology apology หรือ nonpology รวมไปถึงเรียกกันว่า fake apology หรือ fauxpology ซึ่งเรียกเป็นไทยๆ ได้ว่า ‘ขอโทษตอแหล’ นั่นเอง

ความหมายของ ‘ขอโทษตอแหล’ ก็คือมีคำกล่าวหรือ statement ที่อยู่ในรูปแบบของการขอโทษต่างๆ นานา แต่กลับไม่ได้ ‘แสดงออก’ ให้เห็นถึงความรู้สึก ‘สำนึกผิด’ (remorse) อย่างแท้จริง ซึ่งพบเห็นได้มากที่สุดในสองวงการ คือ วงการการเมืองกับวงการประชาสัมพันธ์

แล้วขอโทษจริงๆ เป็นอย่างไรกันแน่

เรื่องนี้ แอรอน ลาซาเร (Aaron Lazare) ซึ่งเคยเขียนหนังสือชื่อ On Apology หรือ ‘ว่าด้วยการขอโทษ’ และเคยเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสซาชูเสทส์ บอกเอาไว้ว่า การขอโทษที่จริงใจทั้งปวงในโลก จะมีลักษณะร่วมกันอยู่ชุดหนึ่ง ซึ่งก็มีรายละเอียดต่างๆ นานาหลายอย่าง เช่น จังหวะเวลาในการคำโทษ คำพูดที่เลือกใช้ น้ำเสียง การส่งสัญญาณของกล้ามเนื้อบนใบหน้า ฯลฯ แต่ลำพังการพูดว่า ‘ขอโทษ’ หรือเสียใจอะไรทำนองนั้น ยังไม่ได้แปลความได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงความเสียใจที่แท้จริงและ ‘มีความหมาย’ (meaningful regret)

รูปแบบของการ ‘ขอโทษตอแหล’ มีด้วยกันหลายแบบ ตัวอย่างเช่น การขอโทษแบบ ‘ความผิดพลาดได้เกิดขึ้นแล้ว’ (mistakes were made) (โปรดสังเกตว่า ประโยคนี้มีลักษณะแบบ passive voice คือไม่มีประธานมาเป็นผู้กระทำ) ซึ่งผู้พูดรับรู้แล้ว (เออ – กูรับรู้แล้วเว้ย ว่ามันมีเหตุผิดพลาดเกิดขึ้น แต่ใครทำนี่กูไม่รู้) แปลว่ารับรู้แล้วว่ามีการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างย่ำแย่หรือไม่เหมาะสม แต่กระนั้นก็ไม่ได้บอกออกมาชัดๆ ว่าใครเป็นคนผิด หรือใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ

การขอโทษตอแหลแบบ mistakes were made นี้ มักเป็นการขอโทษตอแหลที่เกิดขึ้นจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่า เช่น เจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาที่ต้องเอ่ยขอโทษกับลูกน้อง และมักเป็นเจ้านายหัวแข็งประเภทที่ไม่ยอมรับหรอกว่าตัวเองทำผิดพลาด หรือควร ‘มีส่วน’ ในการรับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงมักออกมาบอกประเภท – มีความผิดพลาดเกิดขึ้น และอาจจะเอ่ยขอโทษก็ได้

ขอโทษตอแหลยังมีอีกหลายรูปแบบ อีกแบบหนึ่งที่พบได้มากก็คือ if apology หรือ ifpology ซึ่งเรื่องนี้ ลอเรน บูลม (Lauren Bloom) ผู้เขียนหนังสือ The Art of the Apology บอกไว้ว่า มันคือรูปแบบการขอโทษที่นักการเมืองชอบใช้เป็นที่สุด

การขอโทษประเภท ifpology ก็คือคำพูดประเภท “I apologize if I offended anyone.” หรือ “ขอโทษก็ได้ ถ้าไปทำให้ใครรู้สึกไม่ดี”

มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า คำขอโทษแบบ ifpology ที่น่าจะโด่งดังที่สุด คือการขอโทษของนักแสดงตลกเดี่ยวไมโครโฟนอย่าง หลุยส์ ซี.เค. (Louis C.K.) ซึ่งต้องออกมายอมรับว่าตัวเองล่วงละเมิดทางเพศกับผู้หญิงหลายคน จนเกิดขบวนการ #MeToo ทำให้หลายคนออกมาเปิดโปง

หลุยส์เขียนข้อความขอโทษตีพิมพ์ในนิตยสาร The New York Times โดยบอกว่า “ความรู้สึกเสียใจที่ยากเย็นที่สุดที่ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยต่อไป ก็คือสิ่งที่คุณทำได้ทำร้ายคนอื่น” แต่อีกหนึ่งปีถัดมา เขาไปพูดในอีกที่หนึ่ง แล้วคร่ำครวญด้วยความโมโหว่างานของเขาจบเห่เพราะเรื่องนี้ และบอกประมาณว่าชีวิตของเขาจบสิ้นลงก็เพราะคนอื่น ‘ถูก offended’ ทำให้คนเหล่านั้นมาระบายความโกรธใส่เขา จึงมีผู้วิเคราะห์ว่า แท้จริงแล้ว คำขอโทษที่เกิดขึ้นเมื่อหนึ่งปีก่อน ก็ถือเป็น fauxpology เหมือนกัน เพราะเขาไม่ได้สำนึกผิดจริงๆ แต่เป็นการขอโทษในแบบ ifpology คือขอโทษก็เพราะเขาเห็นว่าคนอื่นๆ รู้สึกว่าตัวเองขุ่นเคืองไม่พอใจ (ซึ่งแม้ตัวเขาเองเป็นต้นเหตุของความขุ่นเคืองนั้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาสำนึกผิดจริงๆ)

จะเห็นได้เลยว่า คำขอโทษประเภท “ขอโทษด้วยก็แล้วกัน” เป็น ‘ขอโทษตอแหล’ ชั้นสูงมากๆ เนื่องจากกินความกว้างไปถึงทั้งการขอโทษตอแหลแบบ mistakes were made และการขอโทษตอแหลแบบ ifpology ด้วย

อย่างแรกก็คือ ผู้พูดก็เห็นเหมือนกับคนสติปัญญาดีๆ ทั่วไปเห็นนั่นแหละ ว่ามันมีความเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้น แต่เมื่อมีอำนาจและคุณงามความดี (ที่คิดไปเองว่ามี) ค้ำคออยู่ ก็เลยเกิดอาการคล้ายๆ ‘งอน’ ประมาณว่า แหม! กูทำดีมาตลอด พลาดแค่ครั้งเดียวพวกมึงมารุมกระหน่ำกูเลยเหรอ เง้อ…แล้วก็เลยต้องบอกว่า – เออ, งั้นกูขอโทษมึงก็ได้

สำนึกในการขอโทษแบบนี้ จึงแสดงให้เห็นสำนึกซับซ้อนของผู้พูด รวมไปถึงการคาดหมายว่า ผู้ที่รับคำขอโทษจะต้องยอมรับคำขอโทษนั้นด้วย

ส่วนในกรณีของ ifpology นี่ซับซ้อนหน่อย เพราะ แอรอน ลาซาเร เคยบอกไว้ว่า การแสดงออกถึงการขอโทษอย่างจริงใจนั้น ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ‘จังหวะ’ หรือ timing ในการขอโทษ ซึ่งไม่ได้แปลว่าขอโทษเร็วแล้วจะแสดงว่าสำนึกผิดจริงๆ เสมอไป เพราะมันซับซ้อนกว่านั้นเยอะ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ที่ชิดใกล้ แต่ในกรณีที่เป็นความเสียหายสาธารณะ การมัวแต่เอ้ออ้านั่งตีขิมอยู่บนกำแพง ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รับผิดชอบ โบ้ยกันไปโบ้ยกันมา กว่าจะออกมาพูดกับประชาชนหรือออกมาเอ่ยคำขอโทษ ก็ใช้เวลาไปหนึ่งวันเต็มๆ แสดงให้เห็นว่า การขอโทษนี้เกิดขึ้นเพราะ ‘ถูกกดดัน’ นั่นคือเห็นว่าผู้คนขุ่นเคืองไม่พอใจ ซึ่งก็คือการออกมาขอโทษแบบ “I apologize if I offended anyone.” นั่นเอง

แต่ประเด็นก็คือว่า ในฐานะผู้นำ ในฐานะคนที่รับผิดชอบเต็มที่ทั้งเรื่องสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ความละเอียดอ่อนต่อการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนอยู่ในระดับ ‘ต่ำ’ มากถึงเพียงนี้เลยหรือ จึงทำให้ timing ในการออกมาขอโทษผิดพลาด ซ้ำยังเลือกใช้คำได้แสดงวุฒิภาวะไม่ต่างอะไรกับเด็กขี้งอนอีกต่างหาก

ในบทความ The Perfect Non-apology Apology ของ บรูซ แม็คคอล (Bruce McCall) ที่ตีพิมพ์ใน The New York Times เขาให้นิยาม ‘ขอโทษตอแหล’ เอาไว้แบบเสียดสีเย้ยหยันว่าเป็น sufficiently artful double talk หรือการพูดกลับกลอกไม่จริงใจที่มีศิลปะมากเพียงพอ ซึ่งในกรณีของบิล คลินตัน เราอาจจะพอบอกได้ว่า ถึงเป็นขอโทษตอแหล แต่ก็ยังพอจะมีศิลปะในการพูดอยู่บ้าง

ทว่าในกรณี “ขอโทษด้วยก็แล้วกัน” นี้ – ขอโทษด้วยก็แล้วกันนะ, ที่จะต้องบอกว่าเป็น ‘ขอโทษตอแหล’ ที่ไร้ศิลปะอย่างสิ้นเชิง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save